หวู่โหวฉือ ศาลเจ้านักรบที่เสฉวน









“ซานกว๋อสู่เต้า” 三國蜀道
เส้นทางสามก๊กสู่เสฉวน






คำนำ


บทความที่จะลงต่อไปนี้ ได้รับการอนุญาติ จากคุณปริวัฒน์ จันทร เจ้าของบทความที่ได้เดินทางตามเส้นทางตามรอยสามก๊ก หรือซานกว๋อสู่เต้า นี้ด้วยตนเอง และได้ถ่ายทอดเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์การเดินทางเหมือนดั่งเล่าสู่กันฟังด้วยความประทับใจ


โดยการลงบทความจะนำมาลงโดยไม่มีการตัดต่อ หรือเปลี่ยนแปลงในส่วนของบทความต้นฉบับ เว้นแต่ในส่วนการเพิ่มเติมภาษาจีนในบางตอนประกอบ/ภาพสถานที่ที่นำมาลงประกอบเพิ่มเติม และมีบทความเพิ่มเติมที่เราได้ค้นหาข้อมูลและภาพมาให้ (ซึ่งหากเป็นส่วนของเรื่องราวเพิ่มเติม จะระบุว่าเป็นบทความเพิ่มเติม)

เพื่อเป็นการสะดวกในการอ่านข้อมูล ดังนั้นจึงขอแยกส่วนของบทความโดยแบ่งเป็นหน้า สถานที่ละหน้า ทั้งหมด 8 สถานที่หลักๆ ตามลำดับ การไปเยือน เส้นทางนี้


หวังว่าบทความนี้จะได้ช่วยเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่องราวในสถานที่ต่างๆ ของจ๊กก๊ก ให้กับเพื่อนๆและน้องๆ ที่สนใจเรื่องราวของสามก๊ก



แตะที่วีดิโอ แล้วกดปุ่ม stop หากต้องการหยุดการเล่นเพลง auto



“น้ำแยงซี รี่ไหล ไปบรูพา คลื่นซัดกวาดพา วีรชน หล่นลับหาย ถูกผิดแพ้ชนะ วัฎจักรเวียนว่างดาย
สิขรยังคง ตะวันยังฉาย นานเท่านาน เกาะกลางชล คนตัดฟืนผมขาว เฒ่าหาปลา สารทวสันต์เห็นมา เหลือหลาย ที่กรายผ่าน สรวลสุราขุ่น ป้านใหญ่ ให้ตำนาน เก่าๆ ใหม่ๆ เสพสราญ ว่ากันไป”



เพลง滚滚长江东逝水
เสียงร้องโดย หยางหงจี 杨洪基




บทโคลงเปิดเรื่อง ซานกว๋อเหยียนอี้ 三国演义หรือ สามก๊ก ฉบับหลอกว้านจง ชำระโดย เหมาหลุน/เหมาจงกั่ง
ประพันธ์โดย หยางเชิงอาน สำนวนแปล เป็นไทยโดย โชติช่วง นาดอน


โคลงบทนี้ หยางเชิงอาน (พ.ศ. ๒๐๓๑ – ๒๑๐๒) จอหงวนชาวเมืองเฉิงตู สมัยราชวงศ์หมิง ประพันธ์ไว้ใน “เอ้อสืออีสื่อถานฉือ” หรือ “บทโคลง ๒๑ สมัย” และเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันดีเพราะ

ภาพยนตร์จีนชุด "สามก๊ก" 三国演义 ของสถานีโทรทัศน์ CCTV (ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๓๗) นำมาใช้ขับร้องเป็นฉากเปิดเรื่อง ด้วยมีความหมายลุ่มลึก ฉายถึงสัจธรรมของชีวิตท่ามกลางความวุ่นวายของบ้านเมืองและสังคมที่แก่งแย่งชิงอำนาจในยุคสมัยนั้นได้อย่างดี


สามก๊ก เป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์จีนสมัยเมื่อ ๑,๘๐๐ ปี ก่อน เมื่อแผ่นดินจีนแบ่งแยกออกเป็น สามก๊ก คือ



*จ๊กก๊กสู่กว๋อ ( 蜀) ของเล่าปี่*
* วุยก๊กหรือเว่ยกว๋อ ( 魏) ของโจโฉ*
*ง่อก๊กหรือหวูกว๋อ ( 吳)ของ ซุนกวน*



credit Mv : Thanks to UltraVolor who share this wonder MV





สามก๊ก จัดเป็น ๑ ใน ๔ วรรณกรรมสุดยอดของจีน ร่วมกับ "ไซอิ๋ว", "ซ้องกั๋ง" และ"ความฝันในหอแดง" ถือเป็น “เพชรน้ำเอก” ของวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์จีนที่มีความคลาสสิกและไม่มีวันเสื่อมความนิยมจากผู้อ่าน




สำหรับผมแล้วชื่นชอบ สามก๊ก มาตั้งแต่สมัยวัยเด็ก จำได้ดีว่าหนังสือนอกตำราเรียนเล่มแรกที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่คือ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรณาคาร ซึ่งผมยังใช้อ่านอยู่ถึงทุกวันนี้ และเป็นที่มาของความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะเดินทางตามรอยสามก๊กในสถานที่จริงให้ได้




จนกระทั่ง เมื่อ ๒ ปีก่อน ผมมีโอกาสเดินทางสานฝันตามรอย สามก๊ก บนเส้นทาง ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สามก๊กอย่างยิ่ง ซึ่งนักเดินทางบ้านเราน้อยคนนักจะได้มาสัมผัส ชาวจีนเรียกเส้นทางนี้ว่า “ซานกว๋อสู่เต้า” ( Sanguo Shudao) หรือ เส้นทางสามก๊กสู่เสฉวน เส้นทางนี้ในสมัยสามก๊ก ขงเบ้งใช้เดินทัพสู่ภาคเหนือเพื่อไปตีวุยก๊ก และในปลายสมัยสามก๊กแม่ทัพวุยก๊กใช้ย้อนรอยกรีธาทัพเข้ายึดเสฉวนของจ๊กก๊ก



ผมตั้งต้นการตามรอยสามก๊ก ที่ ศาลเจ้านักรบ ในนครเฉิงตู (chengduo) มณฑลเสฉวน (Sichuan) จากนั้นเดินทางไปตามเส้นทางและสถานที่ซึ่งยังคงหลงเหลือรูปรอยของเมืองโบราณ ด่านปราการ อนุสรณ์สถาน ศาลเจ้า รวมถึงสุสาน และตำนาน เรื่องเล่าขานของบุคคลสำคัญที่ผู้อ่าน สามก๊ก รู้จักกันดี ทั้งพระเจ้าเล่าปี่ มหาอุปราชขงเบ้ง ทหารเสือเตียวหุย ม้าเฉียว แม่ทัพเกียงอุย กุนซือบังทอง ฯลฯ





โดยเฉพาะเรื่องราวของ “ขงเบ้ง” ผู้เป็นดั่งตัวละครเอกในใจ ผู้อ่านแทบทุกคน


司马德操(水镜先生) 说 "興周八百年的姜子牙, 開漢四百年的张子房"



ปัจจุบันเสฉวนเป็นมณฑลที่เก็บรักษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สามก๊กไว้มากที่สุด ด้วยเป็นที่ตั้งของจ๊กก๊กซึ่งมีผุ้นำคือ เล่าปี่ พร้อมด้วยวีรชนผู้เลี่องลือ เช่น ขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย ม้าเฉียว เกียงอุย ฯลฯ



ศาลเจ้านักรบและสุสานเล่าปี่


ในประเทศจีนมีศาลเจ้าวีรชนสามก๊ก ทั้งขงเบ้ง เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ฯลฯ กระจายอยุ่ในหลายมณฑลภาคกลาง ตามสถานที่ซึ่งเคยเป็นบ้านเกิด ด่านปราการ สถานที่สิ้นชีพ หรือสมรภูมิรบสำคัญ ฯลฯ



หากแต่เมื่อกล่าวถึง “หวู่โหวฉือ (Wu hou Ci Temple of Marquis) หรือศาลเจ้านักรบแล้ว ชาวจีนรู้จักกันดีว่าเป็นชื่อเรียกเฉพาะของศาลเจ้าเซ่นสรวงบูชามหาอุปราช ‘ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร” ของจ๊กก๊ก นั่นคือ จูกัดเหลียง 诸葛亮(จูเก๋อเลี่ยง พ.ศ. ๗๒๔ – ๗๗๗ ) ขงเบ้ง (ข่งหมิง) ซึ่งในประเทศจีนนั้นมีอยุ่ทั้งหมด ๗ แห่ง แต่ที่ๆมีชื่อเสียงและมีผู้เดินทางมาเยี่ยมชมมากที่สุดคือที่ หวู่โหวฉือ กลางนคร เฉิงตู มณฑลเสฉวน





ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกเพื่อเป็นสุสานฝังร่าง พระเจ้าเล่าปี่ (หลิวเป้ย พ.ศ. ๗๐๔ – ๗๖๖ ) หลังจากพระองค์พ่ายศึกให้แก่ทัพง่อก๊ก แล้วทรงล่าทัพมาตรอมใจจนล้มป่วยที่เมืองเป๊กเต้เสีย ในช่วงสุดท้ายได้โปรดให้มีหนังสือไปยังเซงโต๋ (เฉิงตู)


เชิญขงเบ้งมาหาและฝากโอรสให้ขงเบ้งช่วยดูแล ทรงกำชับสั่งเสียก่อนสิ้นลมว่า ‘ถ้าเห็นลูกเราไม่อยู่ในสัตย์ในธรรม ทำผิดประเพณีไม่ฟังท่าน ก็ให้ท่านรักษาเมืองเสฉวนบำรุงแผ่นดินเองเถิด”


ขงเบ้งได้ยินความในใจของพระเจ้าเล่าปี่ ดังนั้นถึงกับตัวสั่นคุกเข่าคำนับหลายครั้งจนเลือดไหลอาบหน้าผาก แล้วกราบทูลว่า “ข้าพเจ้าคิดบำรุงบุตรของพระองค์ไปกว่าจะตาย อย่าได้คิดว่า ข้าพเจ้าจะเบียดเบียนบุตรของพระองค์เลย”

และขงเบ้งก็ได้ปฎิบัติตามคำสัญญา ทำงานสนองคุณพระเจ้าเล่าปี่ และสนับสนุนพระเจ้าเล่าเสี้ยน (หลิวฉาน พระโอรสของพระเจ้าเล่าปี่) อย่างสุดกำลัง แม้พระเจ้าเล่าเสี้ยนจะทรงอ่อนแอและเบาปัญญาเพียงใด แต่ขงเบ้งก็ยังคงรัรบใช้พระองค์จนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต


จากนั้นอีก ๒ เดือน พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ที่เมืองเป๊กเต้เสีย ขณะมีพระชนมายุได้ ๖๓ ชันษา ขงเบ้งเชิญพระศพของพระองค์กลับมาฝังอย่างสมพระเกียรติ ณ สุสานฮุ่ยหลิง (Huiling) ใจกลางเมืองเซงโต๋ ตั้งชือว่า “ฮั่นเจาเลียเมี่ยว” หรือศาลพระเจ้าเล่าปี่ผู้เกรียงไกรแห่งราชวงศ์ฮั่น”




ต่อมาสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (พ.ศ. ๘๖๐ –๙๖๓) ได้มีการบูรณะสุสานและสร้างศาลพระเจ้าเล่าปี่ขึ้น ครั้นสมัยต้นราชวงศ์หมิง (พ.ศ ๑๙๑๑) จึงมีการสร้างศาลเจ้าขงเบ้งขึ้นภายในบริเวณเดียวกัน นับเป็นศาลเจ้าเดียวในประเทศจีน ที่ศาลเจ้ามหาอุปราชคนธรรมดาอยู่ร่วมกับศาลเจ้าพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยในเวลานั้น ประชาชนนับถือและศรัทธาขงเบ้งมากกว่าพระเจ้าเล่าปี่




>


เมื่อผมเดินจากประตูหน้าศาลเจ้าเข้าไปที่ตำหนักกลางด้านหน้า

รูปปั้นพระเจ้าเล่าปี่ตั้งเคียงข้างด้วยเล่าขำ (หลิวเฉิน) พระราชนัดดา

ผุ้ยอมตายพร้อมครอบครัวต่อหน้าสุสานพระเจ้าเล่าปี่

แต่มิยอมศิโรราบต่อกองกำลังข้าศึกที่บุกมาประชิดเมือง

น่าสังเกตว่าภายในศาลเจ้านี้ไม่มีรูปปั้นพระเจ้าเล่าเสี้ยน

ผู้ยอมยกเมืองให้ศัตรูอย่างน่าอดสูหลังจากขงเบ้งถึงแก่อสัญกรรม

ไปแล้ว ๒๙ ปี




สองปีกตำหนัก ด้านตะวันออกเป็นรูปกวนอู (กวนหวี่) ในชุดจักรพรรดิ เนื่องจากในสมัยราชวงศ์ชิง กวนอูได้รับการสถาปนาเป็น กวนตี้ (จักรพรรดิกวนอู) ด้านตะวันตกเป็นรูปเตียวหุย (จางเฟย) ผู้หาญกล้าและจงรักภักดี ด้วยสองขุนพลเอกคือพี่น้องร่วมสาบาน “แม้ไม่ได้เกิดวันเดียวกัน แต่ขอตายวันเดียวกัน” กับพระเจ้าเล่าปี่




เมื่อผมเดินเข้าไปด้านในจึงพบศาลเจ้านักรบของขงเบ้ง ปรากฏบทตุ้ยเหลียน (คำกลอนคู่) ที่มีชื่อเสียงจารึกบนแผ่นไม้ประดับว่า

“อีตุ้ยจู่เซียนชิว” บทสนทนาที่หลงจง ยืนยงพันปี และ

“เหลียงเปี่ยวโฉวซานกู้” สองบทตอบแทนการเยือนกระท่อมหญ้าสามครั้ง

นับเป็นการบอกกล่าวถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่ของขงเบ้งไว้ในตุ้ยเหลียนเพียง ๑๐ อักษร




孔明ขงเบ้งเป็นชาวมณฑลชานตง กำพร้ามารดาตอนอายุ ๓ ขวบ พออายุ ๘ ขวบสูญเสียบิดา เมื่ออายุ ๑๒ ติดตามอามาอาศัยอยู่ในกระท่อมหญ้าที่หลงจง เขาโงลังกั๋ง ทำไร่ไถนา ศึกษาตำรา พิชัยยุทธ์กับอาจารย์บังเต็กกง (ผ่างเต๋อกง) อาจารย์แว่นน้ำ สุมาเต็กโช (ซือหม่าเต๋อเชา หรือซือหม่าเฮวย)

และร่วมเสวนากับผองเพื่อน ตั้งแต่อายุ ๑๗ – ๒๗ ปี จนได้รับฉายา 臥龍“ฮกหลง” (ว่อหลง) หรือ มังกรซ่อนกาย ก่อนรับคำเชิญเล่าปี่ที่ขึ้นเขาเยือนกระท่อมหญ้า ๓ ครั้ง ไปเป็นกุนซือฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น



บทสนทนาที่หลงจง ระหว่างเล่าปี่กับขงเบ้งนั้น ขงเบ้งได้ฉายแววอัจฉริยภาพ โดยเสนอ “แผนยุทธศาสตร์บันไดสามชั้นครองแผ่นดิน” แก่เล่าปี่ คือ หนึ่ง ยึดเกงจิ๋ว สอง ตั้งตัวที่เสฉวน และ สาม ครองแผ่นดินจีน ถือเป็นการชี้ทางสว่างให้เล่าปี่เชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ฮั่นผู้ยังไม่มีแผ่นดินของตนเองอยู่อาศัยประหนึ่งมัจฉาได้วารี เริงร่าสุ่สายชล

ด้วยแผ่นดินจีนขณะนั้น ทิศเหนือ โจโฉ (เฉาเชา) เป็นใหญ่ มีกำลังเข้มแข็งที่สุด ยากจะต้านทาน ทิศตะวันออก ซุนกวน(ซุนเฉวียน) เป็นใหญ่สืบทอดมาสามชั่วรุ่น แผ่นดินสงบร่มเย็น ซ่องสุมกำลังพล ปราชญ์ บัณฑิตไว้มากมาย อีกทั้งยังมีแม่น้ำแยงซีขวางกั้นเป็นปราการอันแข็งแกร่ง ส่วนทางทิศตะวันตกเป็นดินแดนแคว้นเสฉวนกว้างใหญ่ มีกำลังพลและพืชพรรณธัญญาหาร อุดมสมบูรณ์ แต่ผู้ปกครองคือ “เล่าเจี้ยง” (หลิวจัง) เป็นคนมีน้ำใจ โลเล ไร้สติปัญญา เหล่าทหารและขุนนางมีใจออกห่าง

ดังนั้นหากเล่าปี่ได้เกงจิ๋ว แคว้นหน้าด่านสำคัญแล้ว ก็เห็นจะยึดครองแคว้นเสฉวนทางด้านทิศตะวันตกได้ไม่ยาก จากนั้นขยายอาณาเขตผูกมิตรกับหัวเมืองโดยรอบ จับมือเป็นพันธมิตรกับซุนกวนให้มั่นคงตามแผนยุทธศาสตร์ “เป็นมิตรกังตั๋ง (ดินแดนของง่อก๊ก) ต่อต้านฮูโต๋(เมืองหลวงของวุยก๊ก) รอเวลา เมื่อแผ่นดินภาคกลางระส่ำระสายลงเมื่อใด ก็จะรวมแผ่นดิน ให้เป็นหนึ่งเดียวได้โดยง่าย




เรียกได้ว่า เรื่องราว สามก๊ก กว่าครึ่งที่สนุกสนานชวนติดตามนั้น ดำเนินไปตามแผนยุทธศาสตร์บันไดสามขั้นครองแผ่นดินจีนของพญามังกรแห่งเขาโงลังกั๋งนี้เอง



ห้องโถงแสดง《出师表》ซูซือเปี่ยว ฎีกาออกศึก


ส่วนสองบทตอบแทนฯ คือ “ฎีกาออกศึกสองบท” หรือ “เฉียนโฮ่วซูซือเปี่ยว” 《出师表》ที่ขงเบ้งเขียนขึ้นเสนอต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนเพื่อขอออกศึกภาคเหนือ รวมแผ่นดินสามก๊กให้เป็นหนึ่งเดียว สนองพระคุณพระเจ้าเล่าปี่ พร้อมฝากฝังงานราชการแผ่นดินให้แก่ขุนนางผู้ซื่อสัตย์ได้รับใช้แผ่นดิน

ฎีกาออกศึกนี้สะท้อนตัวตนของขงเบ้งอันเปี่ยมด้วยความจงรักภักดีต่อเล่าปี่อย่างหาที่สุดมิได้ เป็นบทที่ได้รับการยกย่องเทิดทูนมาช้านาน เพราะเป็นตัวอย่างอันเยี่ยมยอดถึงการที่ขุนนางข้าราชการจะถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทและบ้านเมืองอย่างจริงจังและจริงใจ






ฎีกาบทแรกเขียนขึ้นในปี พ.ศ ๗๗๐ ก่อนออกศึกกิสานครั้งที่ ๑ ในฤดูใบไม้ผลิปี ๗๗๑ บทหลังเขียนในปี ๗๗๑ ก่อนออกกิสานครั้งที่ ๒ ในฤดูหนาวปีเดียวกันนั้น ฉบับแรกเขียนไว้อย่างลึกซึ้งกินใจยิ่ง เชื่อกันว่าขงเบ้งเขียนขึ้นเอง

ส่วนฉบับหลังเขียนขยายความจากฉบับแรก แต่นักประวัติศาสตร์ยังไม่ยืนยันแน่ขัดว่าขงเบ้งเขียนขึ้นเองจริงหรือไม่ เพราะสำนวนการเขียนแตกต่างกัน และเนื้อหาหลายอย่างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์







ภายในศาลเจ้านักรบมีรูปปั้นขงเบ้ง สองข้างเป็นรูปปั้นของ诸葛瞻จูกัดเจี๋ยม (จูเก๋อจั่น) บุตรชายและ诸葛尚จูกัดสง(จูเก๋อส้าง) หลานชายผุ้เป็นบุตรของจูกัดเจี่ยม ทั้งสองต่างพลีชีพอย่างอาจหาญในการศึกต่อต้านวุยก๊กที่บุกเข้ายึกเซงโต๋



เมื่อแหงนหน้ามองเพดานภายในศาลเจ้า พบอักษรจีน 8 ตัว เป็นคำสอนที่ขงเบ้งฝากไว้แก่อนุชน คือ





宁静致远“หนิงจิ้งจวื้อหย่วน” จิตใจสงบ มองการณ์ไกลได้

澹泊明志“ด้านป๋อหมิงจื้อ” จิตใจไม่ยินดีร้ายต่อลาภสักการะ ก่อให้เกิดปัญญา









ด้านซ้ายของศาลเจ้านักรบเป็นที่ตั้งสุสานฮุ่ยหลิงอันเงียบสงบ สถานที่ฝังร่างพระเจ้าเล่าปี่มานานเกือบ ๑,๘๐๐ ปี ลักษณะเป็นเนินดินรูปหลังเต่า









บนผนังกำแพงหลังสุดสุสานฮุ่ยหลิงนี้เอง

บท ๒๑ สมัยโคลงเปิดเรื่อง สามก๊ก ตอนหนึ่งในบทโคลง ของหยางเชิงอาน จอหงวนชาวเมืองเฉิงตู จารึกอยู่บนผนังกำแพงหลังสุสานฮุ่ยหลิง ในศาลเจ้านักรบ นครเฉิงตู


ผมพบโคลงบทเปิดเรื่อง สามก๊ก ของหยางเชิงอาน จารึกอยู่บนผนังกำแพงสีเทาหม่นที่ค่อนข้างหลบสายตาผุ้คน

หลังจากเล่าปี่ได้ขงเบ้งมาเป็นกุนซือแล้ว ขงเบ้งวางยุทธศาสตร์จับมือกับซุนกวนและจิวยี้(โจวอวี๋) ต้านทัพบกและทัพเรือของโจโฉซึ่งบุกลงมาหมายกำราบเล่าปี่และยึดกังตั๋ง จนทัพโจโฉพ่ายกลศึกของทัพพันธมิตรเล่าปี่-ซุนกวนในยุทธการศึกเซ็กเพ็ก หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในตอน “โจโฉแตกทัพเรือ”



และเป็นผลให้เล่าปี่ฉวยโอกาสเข้ายึดครองแคว้นเกงจิ๋วได้ตามแผนยุทธศาสตร์บันไดขั้นที่ ๑ ของขงเบ้ง และขั้นต่อไปตามแผนยุทธศาสตร์ก็คือ การเข้ายึดครองเสฉวนซึ่งเล่าเจี้ยงปกครองอยู่

ภาพเพิ่มเติม

credit for these pics






























ภาพเพิ่มเติม credit link

Those addtional wonderful pictures took from this link:

//blog.naver.com/PostView.nhn?blogId=105man&logNo=110102817978&redirect=Dlog


“ไปต่อกันที่ ฟู่เล่อซาน




กด link ที่ภาพ & เพื่อไปยัง ฟู่เล่อซาน โป๋ยสิก๋วน




照片製作和謝謝 PHOTO CREDIT AND THANKS



บทความ : ได้รับการอนุญาติจากคุณปริวัฒน์ จันทร (เจ้าของบทความ)

ภาพประกอบ : 特別感謝你,將這些美好的照片與我分享. Special thanks to the owner who share those wonderful pictures
credit : ภาพจากเว๊บไซด์ websiteและจากคุณปริวัตน์ จันทร

เรียบเรียงจัดทำใน Blog : เรียบเรียงบทความและภาพประกอบพร้อมทั้งใส่ภาษาไทยและภาษาจีนประกอบด้วยคำบรรยาย และภาษาจีนเพิ่มเติมในส่วนบทความ โดยแม่นางเตียว






 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2556
6 comments
Last Update : 24 สิงหาคม 2556 17:01:57 น.
Counter : 12777 Pageviews.

 

ตอนนี้ได้จัดทำเสร็จแล้ว
2.ฟู่เลอซาน
3.เนินหงส์ร่วง สุสานบังทอง

ส่วน 4.ด่านแฮบังก๋วน กำลังดำเนินการจัดทำอยู่ค่ะ หากทำเสร็จแล้วจะแจ้ง update ที่หน้าcomment อีกครั้ง

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมนะคะ

 

โดย: แม่นางเตียว 26 กุมภาพันธ์ 2556 23:57:10 น.  

 

สุดยอดมากๆครับพี่เตียวได้ความรู้ต้องเยอะครับ

 

โดย: จูเก๋อเหลียง IP: 125.27.187.113 14 มีนาคม 2556 0:09:16 น.  

 

ยินดีที่น้องเหลียงแวะมาเยี่ยมชม รูปที่ลงเพียงแค่ส่วนเดียวที่ยังไม่หมด ไว้จะลงเพิ่มในส่วนของหอนักรบแห่งจ๊กก๊ก 28 ท่านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาลเจ้านักรบที่เฉิงตู มาให้ชมอีก

ต้องขอบคุณบทความจากคุณปริวัตน์ อย่างยิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ ให้ได้ค้นหา สถานที่ต่างๆ ตามเส้นทางนี้ ได้อย่างได้น่าประทับใจ

 

โดย: แม่นางเตียว 17 มีนาคม 2556 16:04:20 น.  

 

มาเยี่ยมครับผม

 

โดย: bigso IP: 183.89.6.129 20 มิถุนายน 2556 23:34:24 น.  

 

ตอบ: bigso
ขอบคุณนะคะ ที่แวะมาเยี่ยมชม
หวู่โหวฉือ มีทั้งหมด 9 แห่ง
ซึ่งที่อยู่ในเส้นทางซานกว๋อสู่เต้า ก็จะมีอยู่ 2 แห่งคือศาลเจ้านักรบที่เฉิงตู ที่ลงในหน้านี้ และที่เหมี่ยนเสี้ยนใกล้ๆด่านยังเบงก๋วน ซึ่งถือเป็นศาลเจ้านักรบที่เก่าแก่ที่สุด

ไว้จะหาโอกาส นำที่เหลืออีก 7 สถานที่มาทยอยลงอีกค่ะ

 

โดย: แม่นางเตียว 24 มิถุนายน 2556 13:09:10 น.  

 

อ่านตอน คาราวะสุสานท่านขงเบ้งแล้ว
น้ำตาร่วงเลย ด้วยจิตสักการะ

 

โดย: ใบตอง IP: 1.179.146.145 16 กรกฎาคม 2557 14:23:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


เก้าเกสร
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




เวลาว่างๆ เราก็มักจะ ทำอะไรเรื่อยเปื่อย ที่ชอบก็คือฟังเพลง ดูหนัง ส่วนหนังสือนานๆ จะจับสักครั้ง ต้องอ่านเป็นเรื่องสั้น หรือ บทความ ตอนๆ
ถ้าอ่านยาวๆ เลย ไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไหร่คะ
นิสัยก็ติงต๋อง บ้าๆ บอๆ ^^


Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2556
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
20 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เก้าเกสร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.