กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
21 กรกฏาคม 2553

Autism Part I

เห็นว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นฮอตฮิตในยุคปัจจุบัน และเด็กกว่า 90% ที่ปุ้มดูแลก็เข้าข่ายกลุ่มอาการนี้ เลยตัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากรายงานที่เคยทำสมัยเรียนมาให้อ่านกันเป็นความรู้นะคะ



What is Autism ?

Autism คือ กลุ่มอาการที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางพฤติกรรมแบบจำเพาะ โดยพฤติกรรมที่ผิดปกตินั้น จะเป็นความบกพร่องเกี่ยวกับการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม, ภาษาและการสื่อความหมาย, จินตนาการในการเล่นและความคิดสร้างสรรค์





Characteristics

การสังเกตว่า เด็กมีลักษณะอยู่ในกลุ่มอาการออทิสติกหรือไม่นั้น สามารถทำได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ โดยสังเกตตามขั้นตอนของพัฒนาการที่เด็กควรจะเป็นไปตามวัย



ลักษณะพฤติกรรมที่บ่งชี้ในช่วงขวบปีแรก ได้แก่

เด็กดูดนมได้ไม่ดี

เงียบเฉย ชอบอยู่คนเดียว

แสดงท่าทางเฉยเมย หรือ ไร้อารมณ์ เมื่อถูกชักชวนให้เล่น

ไม่สนใจให้ใครกอดรัด หรือ อุ้ม หรือ หงุดหงิดงอแงโดยไม่มีเหตุผล

ไม่แสดงท่าทางหรือส่งเสียงเรียก

ไม่สนใจใคร แต่บางรายอาจติดคนมากจนผิดปกติ

ไม่สบตาคน หรือ สบตาอย่างเลื่อนลอย

ไม่ตอบสนองทางด้านอารมณ์ เข้ากับคนอื่นได้ยาก หรือ ไม่ได้เลย

ไม่ลอกเลียนแบบ

ไม่ส่งเสียง ไม่อ้อแอ้

ชี้นิ้วไม่เป็น

เรียกให้คนอื่นเล่นด้วยไม่เป็น รวมถึงไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกของคนอื่น

ไม่แสดงอาการดีใจให้เห็น หรือ ทักทายคนที่เด็กชอบ หรือ หากแสดงออกก็มากเกินไป

ผูกพันกับสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ เช่น ผ้าอ้อม ถ้าดึงสิ่งของนั้นออกก็จะส่งเสียงกรีดร้องอยู่นาน

มีพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อกระตุ้นตัวเอง เช่น หมุนตัว สะบัดมือ ปิดเปิดไฟ กัดนิ้ว



นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่สามารถบ่งชี้เด็กที่อายุเกิน 1 ปีขึ้นไป ได้แก่



เด็กไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและบุคคล

ชอบแยกตัว เล่นกับคนอื่นไม่เป็น เช่น เข้ามาในห้องก็ไม่สนใจว่ามีใครอยู่ วิ่งเล่นกับสิ่งของ หรือ อยู่ในโลกของตัวเอง

ไม่กลัวใคร หรือถ้ากลัวก็จะออกอาการกลัวมากเกินไป

เด็กไม่สามารถชี้นิ้วบอกถึงความต้องการของตนเองได้ แสดงความต้องการโดยการคว้า

เด็กเล่นสมมติไม่เป็น เช่น เล่นตุ๊กตา หรือ ไม่เข้าใจว่าควรจะจับตุ๊กตาในลักษณะใด

ไม่สามารถแสดงความสนใจร่วมกับบุคคลอื่นได้ เมื่อมีกิจกรรมกลุ่ม เด็กจะไม่สนใจ



*** ตัวสีแดง คือ พฤติกรรมที่ปุ้มสามารถพบได้ร้อยละ 99 ของเด็กที่ดูแลอยู่ทั้งหมด ซึ่งเด็กเหล่านี้ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก (Autistic Spectrum Disorder) จริงๆ พฤติกรรมตัวอื่นก็มีพบบ้างนะคะ เพียงแต่ ปุ้มจะเจอตัวสีแดงมากกว่า ***







The Diagnosis and Statistical Manual, Fourth Edition หรือ DSM VI (1994) ได้สรุปลักษณะสาระสำคัญของกลุ่มอาการไว้ ดังนี้



ความบกพร่องทางปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

เด็กมีความบกพร่องในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่สบตา ไม่มีการแสดงออกทางสีหน้า หรือ กิริยาท่าทาง ดังนั้น เด็กจะไม่มีความสามารถที่จะผูกสัมพันธ์กับใคร เล่นกับเพื่อนไม่เป็น ไม่สนใจที่จะทำงานร่วมกับใคร และมักจะอยู่ในโลกของตัวเอง



ความบกพร่องทางการสื่อสาร

เป็นความบกพร่องทั้งด้านการใช้ภาษา ความเข้าใจภาษา การสื่อสาร และการสื่อความหมายด้านการใช้ภาษา เด็กจะมีความล่าช้าทางภาษา และ การพูดในหลายระดับ ตั้งแต่ไม่สามารถพูดสื่อสารความหมายได้เลย หรือ บางคนสามารถพูดได้ แต่ไม่สามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจและเหมาะสม บางคนมีลักษณะการพูดแบบเสียงสะท้อน หรือ การพูดเลียนแบบ ทวนคำพูด หรือ บางคนพูดซ้ำแต่ในเรื่องที่ตนเองสนใจ การใช้ภาษาพูดมักจะสลับสรรพนาม ระดับเสียงที่พูด อาจจะมีความผิดปกติ บางคนจะพูดเสียงในระดับเดียวกันหมดทุกคำ



ลักษณะทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่บกพร่อง

เด็กจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ ผิดปกติ เช่น เล่นมือ โบกมือไปมา หรือ หมุนตัวไปรอบๆ ยึดติดไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน มีความสนใจแคบ หมกมุ่นอยู่กับสิ่งของบางอย่าง เด็กบางคนแสดงออกทางอารมณ์ได้ไม่เหมาะสมกับวัย บางครั้งร้องไห้ หรือ หัวเราะโดยไม่มีเหตุผล บางคนมีปัญหาด้านการปรับตัว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยจะอาละวาด หรือ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ร้องไห้ ดิ้น หรือกรีดร้อง เป็นต้น



ความบกพร่องด้านการเลียนแบบและจินตนาการ

เด็กบางคนมีความบกพร่องด้านการเลียนแบบ เด็กบางคนต้องการการกระตุ้นอย่างมาก จึงจะสามารถเล่นเลียนแบบได้ เช่น เลียนแบบการเคลื่อนไหว การพูด บางคนไม่สามารถเลียนแบบได้เลยแม้แต่การกระทำง่ายๆ และจากการขาดทักษะการเลียนแบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเล่น ทำให้เด็กขาดทักษะการเล่นในด้านจินตนาการ ไม่สามารถแยกเรื่องจริง และ เรื่องสมมติ ประยุกต์วิธีการจากเหตุการณ์หนึ่งไปอีกเหตุการณ์หนึ่งไม่ได้ เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม (abstract) ได้ยาก เล่นสมมติไม่เป็น จัดระบบความคิด ลำดับความสำคัญก่อนหลัง การวางแผน การคิดจินตนาการจากภาษาได้ยาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กทั้งสิ้น



ความบกพร่องด้านการเรียนรู้ทางประสาทสัมผัส

การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การรับรู้ทางสายตา การตอบสนองต่อการฟัง การสัมผัส การรับกลิ่น และ รส ล้วนมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางคนชอบมองวัตถุ หรือ แสงมากกว่ามองเพื่อน ไม่มองจ้องตาคนอื่น บางคนเอาของมาส่องดูใกล้ๆ ตา บางคนตอบสนองต่อเสียงผิดปกติ เช่น ไม่หันตามเสียงเรียกทั้งที่ได้ยิน บางคนรับเสียงบางเสียงไม่ได้ จะปิดหู ด้านการสัมผัส กลิ่น และ รส บางคนมีการตอบสนองที่ไว หรือ ช้ากว่า หรือ แปลกกว่าปกติ เช่น ดมของเล่น หรือ เล่นแบบแปลกๆ



ความบกพร่องด้านการใช้อวัยวะต่างๆ อย่างประสานสัมพันธ์

การใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงการประสานสัมพันธ์ของกลไก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และ กล้ามเนื้อมัดเล็กมีความบกพร่อง บางคนมีการเคลื่อนไหวที่งุ่มง่าม ผิดปกติ ไม่คล่องแคล่ว ท่าทางการเดิน หรือ การวิ่งดูแปลก การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการหยิบจับสิ่งของ เช่น ช้อนส้อม ไม่ประสานกัน เป็นต้น



ลักษณะอื่นๆ

เด็กบางคนจะมีลักษณะพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ซุกซนตลอดเวลา ในขณะที่บางคนมีลักษณะที่เชื่องช้า งุ่มง่าม บางคนแทบไม่มีความรู้สึกตอบสนองต่อความเจ็บปวด เช่น ดึงผม หรือ หักนิ้วตัวเองโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด





อย่างไรก็ตาม ลักษณะดังกล่าวข้างต้น เป็นภาพรวมของกลุ่มอาการออทิสติก แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กทุกคนจะต้องมีลักษณะทั้งหมดนี้ เด็กบางคนอาจมีเพียงบางลักษณะ และ ระดับความมากน้อยก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน



อีกประการหนึ่ง ในเด็กบางคนอาจจะมีลักษณะพิเศษ สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้ดีมาก เช่น สามารถบวกเลขในใจจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว บางคนมีทักษะทางเครื่องยนต์กลไก หรือ บางคนสามารถเปิดปิดเครื่องเล่นวีดีโอเทปได้ก่อนที่จะพูดได้เสียอีก















หวังว่า คงจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อยนะคะ



"ออทิสติก" ไม่ใช่โรค ไม่ใช่การเจ็บป่วย ดังนั้น พวกปุ้มจะไม่ใช้คำว่า "รักษา" เพราะมันจะไม่มีวันหายขาด แต่ เราสามารถพัฒนาเด็กได้ สอนได้ อย่างน้อยที่สุด เค้าก็สามารถเรียนรู้ทักษะการดำเนินชีวิตประจำวันได้ .. ซึ่งมันก็อยู่ที่ความร่วมมือกันระหว่างพวกปุ้มกับผู้ปกครองของเด็กๆ เหล่านี้เนี่ยแหล่ะค่ะ



หลายครอบครัวที่มีลูกอยู่ในกลุ่มอาการนี้ ที่ปุ้มได้รู้จัก .. ก็เข้าใจเค้านะว่า มีลูกสักคน ก็ย่อมตั้งความหวังนู่น นั่น นี่ ไว้มากมาย แต่พอวันนึง ได้รู้ความจริงว่า ลูกเราเป็นแบบนี้​ ก็ต้องช็อคเป็นธรรมดา



แต่ยิ่งพ่อแม่ตั้งตัวได้เร็วเท่าไหร่ ก็เป็นผลดีต่อลูกมากเท่านั้นนะคะ



พ่อแม่ที่ยอมรับได้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเพื่อมาดูแล สอน ช่วยเหลือลูก .. ทำให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้มากขึ้นทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และที่ศูนย์ฯ ..... เด็กจากครอบครัวกลุ่มนี้ จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากกว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ทุกข์โศก เฝ้าโทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง รวมถึงครอบครัวที่ปล่อยให้การสอน เป็นหน้าที่ของครู หรือ เจ้าหน้าที่ แต่เพียงฝ่ายเดียว



เอ้า .. สังเกตดูพฤติกรรมลูกเสียแต่วันนี้นะคะ เพราะไม้อ่อนยังดัดง่ายอยู่ค่ะ



The earlier, the better ^^




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2553
0 comments
Last Update : 21 กรกฎาคม 2553 19:00:22 น.
Counter : 520 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แม่ครู
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะ ^^ เป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการค่ะ สอนกระตุ้นพัฒนาการในเด็กพิเศษก่อนวัยเรียนในกรุงเทพ .. เป็นที่ปรึกษาให้ร้านขายของเล่น "แม่ครู" ด้วยค่ะ .. ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนค่ะ
[Add แม่ครู's blog to your web]