" คื อ ไ ท ย . . . คื อ วั ฒ น ธ ร ร ม "
 
กันยายน 2551
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
15 กันยายน 2551
 
 

หัวข้อ



เครื่องดนตรีไทยประเภทต่าง ๆ
ประเภทที่ใช้ในวงดนตรีไทย ในปัจจุบันเมื่อพูดถึง เครื่องดนตรีไทย เรามักจะเข้าใจกันแต่เพียง เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ใน วงดนตรีไทย ทั่ว ๆ ไปเท่านั้น ความจริงแล้ว เครื่องดนตรีไทย ยังมีอีกมากมาย รวมถึง เครื่องดนตรีไทย โบราณที่เลิกใช้แล้ว หรือ เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ และเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อที่จะได้รู้จัก และมีความรู้เกี่ยวกับ เครื่องดนตรีไทย กว้างขวางขึ้น ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึง เครื่องดนตรีไทย โดยแยกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือเครื่องดนตรีไทย ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ใน วงดนตรีไทย ในปัจจุบัน เครื่องดนตรีไทยโบราณ และเครื่องดนตรีไทยที่ใช้ในงานพระราชพิธี เครื่องอดนตรีไทยพื้นเมือง
เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ในวงดนตรีไทยในปัจจุบัน ได้แก่
เครื่องดีด
เครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องดีด ที่ยังนิยมใช้บรรเลงกันอยู่ใน วงดนตรีไทย ในปัจจุบันนี้ มีอยู่ชนิดเดียว คือ
จะเข้ เป็นเครื่องดีดที่มีเสียงกันวานไพเราะมาก เข้าใจกันว่า จะเข้ ได้รับการปรับปรุงมาจากพิณ เพื่อให้นั่งดีดได้สะดวกและไพเราะ จึงวางราบไปตามพื้น ตัวจะเข้ ทำด้วยไม้แก่นขนุนท่อนเดียวกัน มีเท้ารองตอนหัว 4 อัน และปลายหางอีก 1 อัน มี 3 สาย เป็นลวดทองเหลือง 1 สาย และสายเอ็น 2 สาย ใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลม ทำด้วยกระดูกสัตว์หรืองา เวลาดีดเคียนไม้ดีดด้วยเส้นด้าย ติดกับปลายนิ้วชี้ของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลาง ช่วยกันจับเพื่อให้มีกำลัง จะเข้ ใช้บรรเลงร่วมใน วงเครื่องสาย และ วงมโหรี หรือใช้บรรเลงเดี่ยวประกอบการแสดง "ฟ้อนแพน"


เครื่องสี
เครื่องสี เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลง หรือเล่นโดยใช้คันชักเข้ากับสาย เกิดขึ้นภายหลังเครื่องดีด อันได้แก่ เครื่องดนตรีไทย ที่เรียกว่า "ซอ" .. ซอที่ใช้อยู่ในวงดนตรีไทยมี 3 ชนิด คือ ซอสามสาย ซออู้ และ ซอด้วง
ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก แต่เป็นที่นิยมกันว่า ไพเราะและสอดคล้องเข้ากับเสียงขับร้องของนักดนตรีไทย ได้สนิทสนามดี ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่นเทียบเคียงได้ กระโหลก ซอสามสาย ทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดพิเศษ คือมีกะลานูนเป็นกะพุ้งออกมา 3 ปุ่ม คล้ายวงแหวนสามอัน วางอยู่ในรูปสามเหลี่ยม จึงเป็น 2 เส้า ผ่ากะลาให้เหลือปุ่ม 3 เส้าเป็นกะโหลกซอ แล้วขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลา ส่วนประกอบที่สำคัญของ ซอสามสาย มี "หย่อง" เป็นไม้สำหรับหนุนสายตรงหนังหน้าซอ และ "ถ่วงหน้า" ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญมาก ใช้ติดตรงหนังหน้าซอตอนบนด้านซ้าย ช่วยให้เสียงซอมีความไพเราะขึ้น ปกติทำด้วยเงินลงยา หรือทำด้วยทองคำฝังเพชรก็มี คันชัก ซอสามสาย เป็นรูปโค้ง โคนตรงมือถืองอน แยกต่างจากตัวซอ ซอสามสาย ใช้บรรเลงร่วมใน วงมโหรี หรือบรรเลงคลอกับคนร้อง
ซออู้ เป็นซอ 2 สาย ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าว ชนิดกลมรีขนาดใหญ่ ใช้หนังแพะ หรือหนังลูกวัวขึงขึ้นหน้า คันซอ หรือ ทวน ทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้แก้ว หรือ ทำด้วยงาตันก็มี ที่หน้าซอที่ตรงกลางที่ขึ้นหนัง ใช้ผ้าม้วนกลม ๆ เป็นหมอนหนุนสายให้พันหน้าซอ คันชัก ทำด้วยไม้จริง หรืองา ใช้ขนหางม้าประมาณ 160-200 เส้น สำหรับขึ้นสายคันชัก เหมือนสายกระสุน หรือ หน้าไม้ ซออู้ ใช้บรรเลงร่วมใน วงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม และ วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
ซอด้วง เป็นซอ 2 สาย เช่นกัน ทั้งทวนและคันชักทำอย่างเดียวกับ ซออู้แต่ขนาดย่อมกว่าและสั้นกว่าเล็กน้อย กะโหลกซอด้วงเดิมทำด้วยกะโหลกไม้ไผ่ ต่อมาใช้ไม้จริงและงา ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น ทำด้วยไม้ลำเจียก ใช้หนังงูเหลือมขึงหน้าซอ เนื่องจากลักษณะกะโหลกซอด้วง คล้ายเครื่องดักสัตว์ที่เรียกว่า "ด้วง" เช่น เครื่องดักแย้ จึงเรียกเครื่องสีชนิดนี้ตามรูปร่างลักษณะนั่นเอง ซอด้วงมีเสียงสูง ดังแหลมกว่าซออู้ ใช้บรรเลงวงเครื่องสาย และ วงมโหรี
เครื่องตี
เครื่องตี เป็นเครื่องดนตรีที่เข้าใจว่า เกิดขึ้นก่อนเครื่องดนตรีประเภทอื่น ๆ ซึ่งได้มีการแก้ไข ปรับปรุงวิวัฒนาการ มาโดยลำดับ เครื่องตีที่ใช้ใน วงดนตรีไทย แบ่งออกเป็น 3 จำพวกคือ
เครื่องตีทำด้วยไม้
กรับพวง ทำด้วยไม้บาง ๆ หรือแผ่นทองเหลือง หรืองา และมีไม้แก่นหรืองา 2 อัน เจาะรูตรงหัว ร้อยประกบไว้สอบข้างอย่างด้ามพัด เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดอีกข้างหนึ่งลงบนฝ่ามือ กรับพวง เดิมใช้เป็นอาณัติสัญญาณ การเสด็จออกพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน อย่างที่เรียกว่า รัวกรับ ภายหลัง นำมาใช้ตีเป็นจังหวะประกอบการเล่นพื้นเมือง เช่น เพลงเรือ ดอกสร้อย และสักวา และการขับร้องประกอบการแสดงนาฎกรรม
กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น โดยปกติทำด้วยไม้ชิงชัน เหลาเป็นรูปสี่เหลี่ยม เสียนิดหน่อย เพื่อมิให้บาดมือ และให้สามารถ กลิ้งตัวกระทบกันได้สะดวก ใช้ประกอบใน การขับเสภา ผู้กล่าวขับคนหนึ่ง จะต้องใช้กรับ จำนวนสองคู่ กล่าวขับไปพลาง มือทั้งสองแต่ละข้าง ก็ขยับกรับ ให้กระทบ เข้าจังหวะกับเสียงกรับไปพลาง ภายหลัง นิยมใช้ตีประกอบจังหวะ ในวงดนตรีไทย ประเภทต่าง ๆ อีกด้วย
ระนาด เป็นเครื่องตีที่วิวัฒนาการมาจากกรับ โดยใช้ไม้กรับขนาดลดหลั่นกัน เรียกว่า "ลูกระนาด" ใช้เชือกร้อยให้ติดกันเรียกว่า "ผืนระนาด" และใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายของลูกระนาด ถ่วงเสียงให้มีระดับเสียงต่างกัน เวลาเล่นขึงแขวนไว้บนรางลูกระนาด แต่ก่อนทำด้วยไม้ไผ่ชนิดที่เรียกว่า ไผ่บง หรือไผ่ตง ต่อมามีผู้นำเอาไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พยุง มาเหลาใช้ แต่ที่นิยมกันว่าเสียงเพราะก็คือ ไม้ไผ่ตง ระนาด มี 2 ชนิด คือ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม
ระนาดทุ้ม เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเลียนแบบระนาดเอก ลูกระนาดทำด้วยไม้ชนิดเดียวกับระนาดเอก แต่เหลาลูกระนาดให้มีขนาดกว้าง และยาวกว่าลูกระนาดเอก ประดิษฐ์วางให้มีรูปร่างแตกต่างจากรางระนาดเอก คือมีรูปคล้ายหีบไม้ แต่โค้งด้านบน มีโขนปิดด้านหัวและท้าย มีเท้าเตี้ย ๆ รอง 4 มุมราง ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 - 18 ลูก มีเสียงทุ้มต่ำกว่าระนาดเอก จึงเรียกว่า "ระนาดทุ้ม" ใช้เป็นเครื่องบรรเลงทำนองเพลงแบบหยอกล้อ ล้วง และขัดจังหวะไม้ตีระนาดทุ้ม ใช้ไม้ชนิดเดียว คือ ไม้นวม
ระนาดเอก รางระนาดโค้งคล้ายเรือ ลูกระนาดมีจำนวน 21-22 ลูก เสียงเล็กแหลมดัง ใช้บรรเลงทำนองเพลงแบบเก็บละเอียด และบรรเลงนำวงในการขึ้นต้นและจบเพลง ไม้ตีระนาดเอกมี 2 ชนิดคือ ไม้แข็ง ทำให้เกิดเสียงดังเกรี้ยวกราด และไม้นวมทำให้เสียงนุ่มนวลไพเราะ
เครื่องตีทำด้วยโลหะ
ฉิ่ง เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะประเภทเครื่องกำกับจังหวะ รูปร่างคล้ายถ้วยชาไม่มีก้น เว้ากลาง ปากผายกลม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อความสะดวกในการถือตีกระทบกัน เมื่อต้องการตีเสียง "ฉิ่ง" ก็เอาขอบของฝาหนึ่งกระทบเข้ากับขอบอีกฝาหนึ่ง เมื่อต้องการตีเสียง "ฉับ" ก็เอาทั้งสองฝาตีประกบกัน ฉิ่งนับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก เพราะผู้เล่นจะต้องมีความสามารถในเรื่องจังหวะ และรู้อัตราจังหวะของเพลงที่บรรเลงเป็นอย่างดี
ฉาบ รูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่หล่อบางกว่าฉิ่ง มีขนาดใหญ่กว่า และกว้างกว่า ตอนกลางมีปุ่มกลมทำเป็นกระทุ้ง ขอบนอกแบนราบออกไปโดยรอบ เจาะรูตรงกลางไว้ร้อยเส้นเชือก หรือเส้นหนังสำหรับถือ มี 2 ขนาด คือ ฉาบใหญ่ตีตรงจังหวะ และฉาบเล็กตีขัดจังหวะ
ฆ้องโหม่ง เป็นฆ้องที่มีหน้ากว้าง วันผ่าศูนย์กลางราว 30 - 45 ซม. เมื่อตีได้เสียงดัง "โหม่ง - โหม่ง" จึงเรียกชื่อตามเสียงว่า ฆ้องโหม่ง เครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่มีคู่มากับกลอง เดิมใช้ตีบอกเวลากลางวัน จึงเรียกเวลากลางวันว่า "โมง" ติดปากมาทุกวันนี้ ฆ้องโหม่ง ใช้ตีเป็นจังหวะในการบรรเลงดนตรี
ฆ้องราว เป็นฆ้อง 3 ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน ใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีตีเรียงไปตามลำดับแล้วย้อนกลับ จะได้ยินเสียง (เสียงตีฆ้อง) โหม่ง -โม่ง - โม้ง - โมง - โหม่ง เคยใช้บรรเลงในการเล่นมหรสพโบราณ ชื่อ "ระเบง" หรือโอละพ่อ ในงานพระราชพิธี บางครั้งจึงเรียกว่า "ฆ้องระเบง"
ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงใหญ่ใช้ต้นหวายดัดโค้งเป็นวงล้อมไปเกือบรอบตัว คนนั่นตีเรียกว่า "ร้าน" เปิดช่องไว้สำหรับเป็นทางเข้าด้านหลังคนตี ลูกฆ้องวงใหญ่มี 16 ลูกขนาดตั้งแต่ใหญ่ไปหาเล็ก เรียงลำดับ ตั้งแต่เสียงต่ำไปหาเสียงสูง ฆ้องวงใหญ่ใช้บรรเลงทำนองหลักของเพลง ผู้ที่จะหัดปี่พาทย์ควรเริ่มหัดตีฆ้องวงใหญ่ก่อน เพื่อจะได้เป็นรากฐานทางดนตรีที่มั่นคง
ฆ้องวงเล็ก สำหรับฆ้องวงเล็ก สร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 3 โดยมีลักษณะเหมือนฆ้องวงใหญ่ทุกอย่าง แต่มีขนาดย่อมกว่า และมีลูกฆ้องมากกว่า คือ 18 ลูก ใช้บรรเลงเก็บเช่นเดียวกับระนาดเอก
ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้ง 2 ข้าง ไม่วางลงราบไปกับพื้น เหมือนฆ้องไทย ฆ้องมอญวงหนึ่งมีจำนวน 15 ลูก ร้านฆ้องวงมักประดิษฐ์แต่งกันอย่างสวยงาม เช่น แกะสลักเป็นลวดลาย ปิดทองประดับกระจก ฆ้องมอญใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ซึ่งในปัจจุบัน นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ ฆ้องมอญมี 2 ชนิด เช่นเดียวกับฆ้องวงของไทย คือ ฆ้องมอญวงใหญ่ และฆ้องมอญวงเล็ก
ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เดิมเรียกระนาดทอง เพราะเมื่อประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้ทองเหลืองทำลูกระนาด ปัจจุบันนิยมใช้เหล็ก หรือสแตนเลสทำลูกระนาด ใช้วางเรียงบนรางไม้มีผ้าพัน หรือใช้ไม้ระกำวางพาดไปตามขอบราง สำหรับรองหัวท้ายลูกระนาดแทนการร้อยเชือก เนื่องจากมีน้ำหนักมาก รางไม้ที่ใช้วางลูกระนาดนึ้นทำเป็นรูปหีบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีวิธีการบรรเลงเช่นเดียวกับระนาดเอกไม้
ระนาดทุ้มเหล็ก เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้สร้างขึ้น ลูกระนาดคงทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก แต่ทำเขื่องกว่า เป็นเสียงทุ้มเลียนอย่างระนาดทุ้ม มีจำนวน 16 - 17 ลูก วิธีบรรเลงเช่นเดียวกับระนาดทุ้มไม้

เครื่องตีขึงด้วยหนัง
กลองทัด ตัวกลองทำด้วยไม้แก่น เนื้อแน่นแข็ง ใช้กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง ตรงกลางป่องออกนิดหน่อย ขึ้นหน้าทั้ง 2 ข้าง ด้วยหนังวัวหรือหนังควายตรึงด้วยหมุด ซึ่งเรียกว่า "แส้" ทำด้วยไม้ หรืองา หรือกระดูกสัตว์ หรือโลหะ ตรงกลางหุ่นกลองด้านหนึ่งมีห่วงสำหรับแขวน เรียกกันว่า "หูระวิง" เวลาใช้บรรเลงตีเพียงหน้าเดียว หน้าหนึ่งติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าปิดตรงใจกลาง แล้ววางกลองทางด้านนั้นคว่ำตะแคงขอบไว้บนหมอนหนุน มีขาหยั่งสอดค้ำตรงหูระวิง ใช้ตีด้วยท่อนไม้ 2 อัน กลองทัด นิยมใช้ 2 ลูก ลูกหนึ่งเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ตีเสียงดัง "ตูม" อีกลูกหนึ่งเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ตีเสียงดัง "ต้อม"
กลองชาตรี มีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับกลองทัดทุกอย่าง แต่ขนาดเล็กกว่ามาก เรียกอีกอย่างหนึ่งตามเสียงดังว่า "กลองตุ๊ก" ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ ประกอบการแสดงละครชาตรี จึงเรียกว่า กลองชาตรี และใช้ตีประกอบเพลงชุด "ออกภาษา" ในเพลงสำเนียงภาษาจีนและตะลุง
ตะโพน ตัวตะโพนทำด้วยไม้สัก หรือไม้ขนุน เรียกว่า "หุ่น" ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง 2 หน้า ดึงด้วยสายหนังโยงเร่งเสียงที่เรียกว่า "หนังเรียด" หน้าหนึ่งใหญ่ เรียก "หน้าเท่ง" ใช้ติดข้าวสุกบดผสมขี้เถาเสียง อีกหน้าหนึ่งเล็กเรียก "หน้ามัด" ตรงรอยขอบหนังขึ้นหน้าถักด้วยหนังตีเกลียวเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า "ไส้ละมาน" แล้วขึงเอาหนังเรียดร้อยในช่องของไส้ละมานทั้ง 2 หน้า โยงเรียงไปโดยรอบจนไม่เห็น "ไม้หุ่น" มีหนังพันตอนกลางเรียกว่า "รัดอก" ตรงรัดอกข้างบนทำเป็นหูหิ้ว ตะโพนใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ มีหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ
ตะโพนมอญ มีส่วนประกอบเช่นเดียวกับตะโพนไทย แต่มีขนาดใหญ่กว่า กล่าวคือ ตะโพนไทยรูปร่างป่องกลาง ส่วนตะโพนมอญรูปร่างใหญ่ด้านหนึ่ง และเรียวเล็กลงอีกด้านหนึ่ง ใช้ตีคู่กับเปิงมางคอกในวงปี่พาทย์มอญ
โทนชาตรี ทำด้วยไม้ เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน หรือ ไม้กระท้อน สายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียด ใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย หรือวงมโหรีที่เล่นเพลงภาษาเขมร หรือตะลุง กับใช้ตีคู่กับกลองชาตรี ประกอบการแสดงละครชาตรีและมโนราห์
โทนมโหรี ตัวโทนทำด้วยดินเผา ด้านที่ขึ้นหนังโตกว่าโทนชาตรี สายโยงเร่งเสียงใช้ต้นหวายผ่าเหลาเป็นเส้นเล็ก หรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว หนังที่ขึ้นหน้าใช้หนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้าง ใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี จึงเรียกว่า โทนมโหรี โทนมโหรีใช้ลูกเดียวแต่ตีสอดสลับคู่กับรำมะนา ซึ่งเป็นกลองขึงหน้าเดียวเช่นกัน รำมะนามโหรีมีขนาดเล็ก หนังที่ขึงตรึงด้วยหมุดโดยรอบ ตีด้วยฝ่ามือ
กลองแขก รูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้ารุ่ย" อีกหน้าหนึ่งเรียกว่า "หน้าต่าน" หุ่นกลองทำด้วยไม้จริงหรือไม่แก่น เช่น ไม้ชิงชัน หรือไม้มะริด ขึ้นหนัง 2 หน้าด้วยหนังลูกวัว หรือหนังแพะ มีสายหนังโยงเร่งเสียง สำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" เดิมใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชวา ประกอบการเล่นกระบี่กระบอง ฟันดาบและชกมวย แล้วภายหลังจึงนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ของไทย ใช้ตีกำกับจังหวะแทนตะโพน และใช้แทนโทนกับรำมะนาในวงเครื่องสาย หรือวงมโหรีด้วย
กลองมลายู รูปร่างคล้ายกับกลองแขก แต่ตัวกลองสั้นและอ้วนกว่า หน้ากลองกว้างกว่า กลองมลายูที่สร้างในระยะหลัง ๆ บางทีทำอย่างกลองแขก เพียงแต่มีขนาดย่อมกว่า การตีกลองชนิดนี้ หน้าใหญ่ตีด้วยไม้งอ ๆ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ แต่เดิมใช้ตีในขบวนพยุหยาตรา ขบวนแห่พระบรมศพ และศพเจ้านาย ภายหลังนำมาใช้บรรเลงประโคมศพในวงบัวลอย และวงปี่พาทย์นางหงส์ โดยบรรเลงคู่กัน 2 ลูก คือ ตัวผู้และตัวเมีย เช่นเดียวกับกลองแขก
เปิงมางคอก คือเปิงมางที่ใช้กันอย่างในวงปี่พาทย์มอญ โดยใช้เปิงมางจำนวน 7 ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป และติดข้าวสุกผสมขี้เถ้า ปิดหน้ากลองแต่ละลูกเทียงเสียงสูงต่ำ แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวล้อมตัวคนตี คอกที่ทำสำหรับแขวนเปิงมางนั้น มักประดิษฐ์อย่างสวยงาม เช่นประดับกระจกสี ใช้ตีคู่กับตะโพนมอญในวงปี่พาทย์มอญ
สองหน้า คือ เครื่องหนังที่สร้างเลียนแบบเปิงมางนั่นเอง แต่ขยายให้โตขึ้นกว่าเปิงมาง หน้าข้างที่กว้างกว่าใช้ตีด้วยมือซ้าย หน้าที่เล็กกว่าตีด้วยมือขวา ติดข้าวสุกผสมขี้เถ้าเพิ่มขึ้น เพื่อถ่วงเสียงให้ต่ำ จนคล้ายตะโพน ใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ไม้แข็งที่บรรเลงประกอบการขับเสภา หรือร้องส่งอย่างสามัญ

เครื่องเป่า
เครื่องเป่า ที่มนุษย์รู้จักใช้แต่เดิมก็คงเป้นหลอดไม้รวก ไม้ไผ่ ใช้เป่าเป็นสัญญาณในการล่าสัตว์ ภายหลังรู้จักเจาะรูและทำให้สั้น สามารถเปลี่ยนเสียงได้ จึงนำเอามาเล่นเป็นทำนองใช้เป็นเครื่องดนตรีอีกประเภทหนึ่ง เครื่องเป่าของไทยคือ ขลุ่ย และ ปี่
ขลุ่ย เป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทย เหตุที่เรียกว่า "ขลุ่ย" เข้าใจว่าเรียกตามเสียงเป่าที่ได้ยิน ขลุ่ยแต่เดิมทำด้วยไม้รวกปล้องยาว ๆ ไว้ข้อทางปลาย แต่เจาะรูทะลุข้อ และใช้ไฟย่างให้แห้ง ตบแต่งผิวให้ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม ต่อมาทำด้วยไม้จริงบ้าง งาบ้าง ขลุ่ยเลาหนึ่งมีรูสำหรับนิ้วปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง 7 รู แต่เดิมขลุ่ยชนิดเดียว ต่อมาเมื่อนำมาเล่นผสมวงดนตรี จึงมีผู้ทำเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก เรียกขลุ่ยหลิบเสียงเล็กแหลมสูง ขนาดกลางเรียก ขลุ่ยเพียงออ เสียงระดับกลาง และขนาดใหญ่ เรียกขลุ่ยอู้ เสียงต่ำ ในปัจจุบันนิยมใช้ขลุ่ยเพียงออกันโดยมาก
ปี่ ปี่ของไทยมีวิธีเป่า และลักษณะการเจาะรูไม่เหมือนกับปี่ของชาติใด ปกติทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พยุง กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ตรงกลางป่องเจาะภายในกลวงตลอดเลา ทางหัวเป็นช่องรูเล็กสำหรับใส่ลิ้น ทางปลายรูใหญ่ ตรงกลางป่องเจาะรู 6 รู สำหรับใช้นิ้วปิดเปิดเปลี่ยนเสียง ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อน 4 ชั้น ตัดกลมผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า "กำพวด" กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน หรือ นาค
ปี่ไทย มี 3 ขนาด คือ
ปี่นอก เป็นปี่ขนาดเล็ก เสียงเล็กแหลมสูง
ปี่กลาง เป็นปี่ขนาดกลาง เสียงระดับกลาง
ปี่ใน มีขนาดใหญ่ เสียงต่ำกว่า
ในการบรรเลงวงปี่พาทย์ในปัจจุบัน ปี่นอกกับปี่กลาง ไม่ค่อยได้ใช้ คงใช้แต่ ปี่ใน กันเป็นพื้น เครื่องเป่า จำพวกปี่ นอกจากปี่ของไทยแท้ ๆ แล้ว ในวงดนตรีไทย ยังมีปี่ของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมด้วย คือ
ปี่ชวา เดิมเป็นของชวา (แขก) เป็นปี่ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ "เลาปี่" ทำด้วยไม้และ "ลำโพงปี่" ทำด้วยไม้หรืองาก็มี ปี่ชวามีเสียงแหลม ดัง ใช้เป่าคู่กับกลองแขก ประกอบการเล่นกระบี่กระบอง การชกมวยไทย ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวา
ปี่มอญ เดิมเป็นปี่ของมอญ เป็นปี่ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน เช่นเดียวกับปี่ชวา แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่า ส่วนที่เป็น "เลาปี่" ทำด้วยไม้ และส่วนที่เป็น "ลำโพงปี่" ทำด้วยทองเหลือง ทั้งสองส่วนนี้สอดสวมกันหลวม ๆ จึงต้องมีเชือกผูกโยงเพื่อไม่ให้หลุดจากกัน ปี่มอญ เสียงโหยหวนชวนเศร้า ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ และบรรเลงเพลงประกอบการแสดงฟ้อนของภาคเหนือ

เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้ในพระราชพิธี
เครื่องดนตรีไทยโบราณ และ เครื่องดนตรีไทยที่ใช้ในพระราชพิธี หมายถึง เครื่องดนตรีไทย ที่ไม่ได้นำมา ใช้บรรเลง ในวงดนตรีไทย ในปัจจุบันนี้แล้ว หรือใช้เป็นบางโอกาส บางอย่างก็เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ และบางอย่าง ก็สำหรับใช้บรรเลง เฉพาะในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เท่านั้น เครื่องดนตรีไทย ประเภทนี้ ได้แก่
พิณ เป็นเครื่องดนตรีที่มีกล่าวถึงไว้ในหลักศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัย ตอนหนึ่งว่า "เสียงพาทย์" "เสียงพิณ" เข้าใจว่าไทยคงจะได้รับแบบอย่างมาจากอินเดีย เพราะดูตามรูปศัพท์ของคำว่า "พิณ" เป็นคำในภาษาบาลี ของอินเดียและเข้าใจว่า พราหมณ์เป็นผู้นำเข้ามาเล่นกันก่อน เพราะมีเพลงไทยโบราณ เพลงหนึ่งชื่อว่า "พราหมณ์ดีดน้ำเต้า" พิณมี 2 ชนิด คือ
พิณน้ำเต้า เป็นพิณสายเดียว กระโหลกพิณทำจากผลน้ำเต้าผ่าครึ่ง เอาทางจุกหรือขั้วมาเจาะตรึงติดกับไม้คันพิณ หรือ "ทวน" ใช้สายยาวประมาณ 78 ซม. (เดิมเป็นสายหวายต่อมาใช้สายเอ็น) ขึผ่านจากด้านปลายไปยังด้านโคน (ด้านที่มีกระโหลก) ซึ่งมีลูกปิด 1 อัน สำหรับปิดสายให้ตึง หรือหย่อน เพื่อทำให้เสียงสูง หรือ ต่ำ วิธีเล่น เอากระโหลกพิณประกอบติดกับอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น โดยใช้มือซ้ายจับคันทวน แล้วใช้มือกด หรือเผยอสายให้ตึงหรือหย่อน ใช้มือขวาดีดสายให้เกิดเสียง ดังนั้นผู้บรรเลงพิณจะต้องไม่สวมเสื้อ และคงจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้
พิณเพียะ หรือ พิณเปี๊ยะ มีสายจำนวน 2 - 4 สาย เข้าใจว่ามีวิวัฒนาการมาจากพิณน้ำเต้า โดยการเพิ่มจำนวนสายเข้าไป คันทวนยาวประมาณ 1 เมตร กระโหลกพิณทำด้วยผลน้ำเต้าตัดครึ่ง เช่นเดียวกับพิณน้ำเต้า หรือทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี วิธีเล่นก็เช่นเดียวกับการเล่นพิณน้ำเต้า ในสมัยก่อน ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือของไทย เคยปรากฏมีผู้เล่นพิณเพียะในขณะที่ไป "เกี้ยวสาว" โดยการดีดพิณคลอเสียงขับร้อง
กระจับปี่ เป็นเครื่องดีดมี 4 สาย เมื่อพิจารณารูปร่างของเครื่องดนตรีชนิดนี้แล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะมีวิวัฒนาการมาจากพิณ 4 สาย (พิณพื้นเมืองของภาคเหนือ และภาคอีสาน ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากพิณเพียะอีกทีหนึ่ง) โดยการประดิษฐ์ขัดเกลา รูปร่างให้ปราณีต สวยงามขึ้น เหมาะสมกับการที่จะนำไปใช้ในพระราชสำนัก สำหรับพระราชพิธีต่าง ๆ ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงกระจับปี่ไว้ในกฏมณเฑียรบาล ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยาว่า "...ร้องเพลงเรือ เป่าปี่ เป่าขลุ่ย สีซอ ดีดจะเข้ กระจับปี่ ตีโทน ทับโห่ร้องนี่นั่น..." คำว่า "กระจับปี่" คงจะมาจากคำว่า "กัจฉปิ" ในภาษาชวา โดยที่คำว่า กัจฉปิ ก็มาจากคำว่า "กัจฉปะ" ในภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งแปลว่า "เต่า" ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ กะโหลกมีรูปร่างคล้ายกระดองเต่า ต่อมาไทยจึงเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็น "กระจับปี่" ในที่สุด
เกราะ เป็นเครื่องตีทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ยาว 1 ปล้อง ไว้ข้อหัวท้าย คว้านกระบอกผ่าบากท้องปล้องยาวไปตามลำ ใช้ตีด้วยไม้ไผ่ ผ่าซีกหรือ ไม้แก่น มือหนึ่งถือเกราะ อีกมือหนึ่งถือไม้ตี อย่างที่เรียกว่า "ตีเกราะ เคาะไม้" เพราะใช้สำหรับตีบอกเวลา และเป็นอาณัติสัญญาณบอกเหตุ หรือนัดหมายการประชุมตามหมู่บ้านในสมัยก่อน ไม่เคยปรากฏว่าใช้บรรเลงร่วมในวงดนตรี
โกร่ง เป็นเครื่องรีทำด้วยไม้ไผ่ เช่นเดียวกับเกราะแต่ใช้ไม้ไผ่จำนวนหลายปล้อง (ยาวประมาณ 1 - 2 วา) ปากเป็นรูยาวไปตามปล้องไม้ไผ่ (เว้นตรงข้อ) ทุกปล้อง เวลาตีวางลำราบไปตามพื้นโดยมีไม้รองหัวท้าย (บางทีถ้าเป็นโกร่งขนาดยาวมาก ต้องมีไม้รองตอนกลางด้วย) ใช้ไม้ตีซึ่งเป็นซีกไม้ไผ่เกลากลมเกลี้ยง หรือจะใช้ซอไม้รวก หรือไม้แก่นเหลาขนาดเหมาะสมก็ได้ โกร่งใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงโขน และหนังใหญ่โดยเฉพาะในการบรรเลงเพลงกน้าพาทย์ตอนตรวจพบ และในสมัยก่อนใช้ตีประกอบการร้องเชิญแม่ศรี ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ฆ้องราง เป็นเครื่องตีที่เข้าใจว่าวิวัฒนาการมาจากฆ้องคู่ โดยเพิ่มจำนวนลูกเป็น 7 ลูก ผูกเรียงหนึ่งไปตามความยาวของราง เทียบเสียงเรียงต่ำไปหาสูงตามลำดับครบ 7 เสียง บางรางอาจมีฆ้อง 8 ลูก ปัจจุบันฆ้องชนิดนี้ไม่ได้นำมาใช้บรรเลงแล้ว
กลองชนะ มีรูปร่าง และส่วนประกอบเช่นเดียวกับกลองแขก และกลองมลายู แต่ตัวกลองสั้นและอ้วนกว่ากลองทั้ง 2 ดังกล่าวตามลำดับ และมีการทาสีปิดทองเขียนลายไว้ที่ตัวกลอง และที่หน้ากลองด้วย เวลาตีใช้ไม้งอโค้งตีเหมือนกลองมลายู แต่เดิมคงใช้กลองชนิดนี้ตีเป็นจังหวะ ในการฝึกหัดเพลงอาวุธสำหรับทหาร จึงเรียกชื่อว่า "กลองชนะ" เพื่อเป็นมงคลนิมิตแก่กองทัพ ต่อมาใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนเสด็จพยุหยาตรา และใช้ประโคมพระบรมศพ และศพเจ้านายด้วย
บัณเฑาะว์ เป็นกลองชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าไทยเราคงจะได้เครื่องดนตรีนี้มาจากอินเดีย เพราะคำว่าบัณเฑาะว์มาจากคำบาลีว่า "ปณวะ" ปรากฏหลักฐานมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ตัวกลองทำด้วยไม้จริง หัวและท้ายใหญ่มีหบังขึ้นหน้าไว้ทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางคอดและมีหลักยาว ทำด้วยไม้หรืองา ยึดติดไว้ด้านหนึ่งเป็นด้ามสำหรับถือ ตรงปลายด้ามใช้เชือกผูก โดยที่ปลายเชือกนี้ผูกลูกตุ้มเล็ก ๆ ไว้ เวลาเล่นใช้มือถือไกวด้วยการพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ลูกตุ้มที่ปลายเชือกโยนตัวไปมา กระทบหน้ากลองทั้ง 2 ข้าง บัณเฑาะว์ใช้ไกวเป็นจังหวะในการบรรเลง "ขับไม้" ในงานพระราชพิธี เช่น สมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือก เป็นต้น ทั้งนี้อาจใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว หรือ 2 ลูก ก็ได้
มโหระทึก เป็นกลองชนิดหนึ่ง มีหน้าเดียว และหล่อด้วยโลหะ ไม่ขึงหนังเหมือนกลองทั่ว ๆ ไป ตัวกลองเป็นโลหะผสมประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว และดีบุกผสมตามเกณฑ์ แล้วหลอมเทหล่อลงในแบบที่ทำไว้ บนหน้ากลองมีโลหะหล่อเป็นตัวกบอยู่ประจำ 4 ทิศ ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า กลองชนิดนี้แต่เดิมคงสร้างขึ้นสำหรับตีขอฝน เพราะเชื่อกันว่า เมื่อกบร้องแล้วจะเป็นเหตุให้ฝนตก (เสียงกลองเป็นเสมือนเสียงกบร้อง) กลองมโหระทึกนี้ ไทยเรานิยมใช้ตีประโคมทั้งงานหลวง และงานราษฎร์มาแต่โบราณ (ปรากฏหลักฐานมีกล่าวถึงไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย) และในปัจจุบันยังคงใช้ตีประโคมร่วมกับแตรสังข์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น ในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา เป็นต้น ในการใช้ไม้ตี 2 อัน ทำด้วยไม้รวก หรือไม้จริงเหลากลมเกลี้ยง ขนาดพอเหมาะ ตรงปลายที่ใช้ตีพันด้วยผ้าจนแน่นแล้วผูกเคียน หรือถักด้วยด้าย
ปี่อ้อ เป็นปี่โบราณของไทยอย่างหนึ่ง ตัวปี่ (เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียว ไม่มีข้อ ยาวประมาณ 24 ซม. เขียนลวดลายด้วยการลนไฟให้ไหม้เกรียมเฉพาะที่ต้องการ หัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลือง หรือเงิน เพื่อป้องกันมิให้แตกง่าย ด้านหน้าเจาะรูสำหรับปิดปรือเปิดนิ้ว เปลี่ยนเสียง 7 รู และด้านหลังมีรูนิ้วค้ำ (เช่นเดียวกับขลุ่ย) อีก 1 รู ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็ก ๆ ยาวประมาณ 5 ซม. ด้านหนึ่งเหลาให้บาง อีกด้านหนึ่งกลม และมีด้ายพันเพื่อให้กระชับพอดีกับรูปี่ เดิมเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงเครื่องสาย ภายหลังนิยมใช้ขลุ่ยในวงเครื่องสาย ปี่อ้อจึงหายไป
ปี่ไฉน เป็นปี่ 2 ท่อน สวมต่อกัน ท่อนบนเรียวยาวเรียก "เลาปี่" ท่อนล่างบานปลายเรียก "ลำโพง" ทำด้ายไม้และงาก็มี ที่เลาปี่มีรูสำหรับปิดเปิดนิ้วเปลี่ยนเสียง 7 รู รูนิ้วด้านหลังอีก 1 รู ลิ้นปี่ทำเหมือนลิ้นปี่ไทย คือ มีกำพวดผูกลิ้นใบตาลเหมือนกัน แต่มี "กระบังลม" ซึ่งทำด้วยโลหะหรือกะลา สวมไว้ด้วยสำหรับรองลมฝีปากในขณะเป่า เข้าจว่าไทยได้แบบอย่างปี่ชนิดนี้มา จากอินเดีย ปัจจุบันปี่ไฉนใช้ในงานพระราชพิธี เช่น ใช้เป่านำในขบวนแห่พระบรมศพ หรือศพเจ้านาย
แตร เป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยโลหะ ใช้ในงานพระราชพิธีมาแต่โบราณ มี 2 ชนิด คือ แตรงอน และ แตรฝรั่ง
แตรงอน มีรูปร่างโค้งงอน ตอนปลายบาน เข้าใจว่าประดิษฐ์ขึ้นโดยเลียนแบบมาจากเขาสัตว์ ซึ่งเป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของมนุษย์ ไทยเราคงจะได้แบบอย่างเครื่องดนตรีนี้มาจากอินเดีย เพราะอินเดียมีแตรรูปนี้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณในขบวนแห่ และในงานพระราชพิธี ปัจจุบันแตรงอนใช้เป่าร่วมกับสังข์ในงานพระราชพิธี เช่น ในงานเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตรา และในขบวนแห่อื่น ๆ ในการนี้จะต้อง "เป่าแตรสังข์" เป็นเครื่องประโคมสำหรับพระราชอิสริยยศด้วย
แตรฝรั่ง มีลักษณะปากบานคล้ายดอกลำโพง ในหนังสือ กฎมณเฑียรบาล โบราณเรียกแตรชนิดหนึ่งว่า "แตรลางโพง" และในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ 1 เรียกว่า "แตรวิลันดา" คงจะเป็นแตรที่ชาวฮอลันดานำเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก เข้าใจว่าคงเป็นแตรชนิดเดียวกันนี้ และเหตุที่เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า "แตร" นั้นคงจะเรียกตามเสียงที่ได้ยิน แตรฝรั่งใช้เป่าร่วมกับแตรงอน และสังข์ ในงานพระราชพิธีเช่นกัน
สังข์ เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง ทำจากเปลือกหอยสังข์ โดยนำมาขัดให้เกลี้ยงเกลา แล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุเป็นรูสำหรับเป่า ไทยเราคงได้แบบอย่าง และการใช้เครื่องดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย การเป่าสังข์ ถือว่าเป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์ ใช้เฉพาะงานทีมีเกียรติศักดิ์สูง และใช้เป่าคู่กันกับแตรมาตลอด

เครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องดนตรีไทยพื้นเมือง
เครื่องดนตรีไทยพื้นเมือง หมายถึง เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นกันเพื่อความบันเทิง หรือเล่นประกอบ การแสดงพื้นเมือง ตามท้องถิ่นต่าง ๆ เครื่องดนตรีพื้นเมือง จะมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้เนื่องจาก สภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และลักษณะนิสัย ของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น มีความแตกต่างกัน เครื่องดนตรีพื้นเมืองของไทย จำแนกตามภูมิภาคได้เป็น 3 ภูมิภาค คือ
เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ
เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคใต้

เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ ได้แก่
ซึง เป็นเครื่องดีด มี 4 สาย สันนิษฐานว่า น่าจะดัดแปลงแก้ไขวิวัฒนาการมาจากพิณเทียะ ลักษณะของซึงตัวกะโหลก และคันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ หรือ ไม้สักชิ้นเดียวกัน ชาวไทยภาคเหนือนิยมเล่นซึงกันมาช้านาน ตามปกติใช้เล่นร่วมกับปี่ซอ หรือพวกหนุ่ม ๆ ใช้ดีดเล่นขณะไป "แอ่วสาว"
สะล้อ เป็นเครื่องสี ลักษณะคลายซออู้ แต่ทำไม่ค่อยประณีตนัก คันทวนยาวประมาณ 64 ซม. กะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าว ใช้แผ่นไม้บาง ๆ ปิดหน้ากระโหลกแทนการใช้หนัง
ลูกบิดมี 2 อัน เจาะเสียบทแยงกัน มีสายเป็นสายลวดทั้ง 2 สาย คันชักแยกต่างหากจากตัวซอ สะล้อใช้เล่นผสมกับซึง และปี่ซอ ประกอบการขับร้องเพลงพื้นเมืองทางเหนือ
ตะโล้ดโป๊ด เป็นกลองขึ้นหนังสองหน้า มีรูปร่างลักษณะ และขนาดเช่นเดียวกับ "เปิงมาง" และ "สองหน้า" แต่ตัวกลองยาวกว่าเปิงมาง และสองหน้าตามลำดับ หน้ากลองข้างหนึ่งใหญ่ ข้างหนึ่งเล็ก ตีทางหน้าเล็ก กลองชนิดนี้ใช้ตีคู่กับกลองแอว์ในขบวนแห่ต่าง ๆ และใช้ตีประกอบการฟ้อน กับใช้ตีร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ในการเล่นเพลงพื้นเมืองภาคเหนือ
กลองแอว์ เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียวเช่นเดียวกับกลองยาวของภาคกลาง แต่มีขนาดยาวและใหญ่กว่าหลายเท่า เหตุที่เรียกว่ากลองแอว์ ก็หมายความว่า กลองมีสะเอวนั่นเอง (แอว์คือเอว) ตัวกลองกว้างใหญ่ เอวคอด ตอนท้ายเรียว และปลายบานคล้ายดอกลำโพง กลองชนิดนี้มีประจำตามวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือเกือบทุกวัด สำหรับใช้ตีเป็นสัญญาณประจำวัด นอกจากนี้ยังใช้ตีร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ประกอบการเล่นพื้นเมือง และใช้ตีเข้าขบวนแห่ในงานพิธี "ปอยหลวง" งานแห่ครัวทาน และงาน "ปอยลูกแก้ว" (บวชเณร)
ปี่ซอ ตัวปี่ทำด้วยไม้รวกปล้องยาว มีหลายขนาด ความยาวตั้งแต่ 45 - 80 ซม. สำรับหนึ่งมีจำนวน 3 เล่ม 5 เล่ม หรือ 7 เล่ม ปี่ซอถ้าใช้ 3 เล่ม มี 3 ขนาด เล่มเล็กเป็นปี่เอก เรียกว่า ปี่ต้อย เล่มกลางเรียกว่า ปี่กลาง และเล่มใหญ่เรียกว่า ปี่ใหญ่
ลักณะการใช้ปี่ซอ
ใช้กับทำนองเพลงเชียงใหม่ มักมีซึงร่วมบรรเลงด้วย
ใช้กับทำนองเพลงเงี้ยว ตามปกติใช้ปี่เอก หรือปี่ต้อยอย่างเดียวเล่น ร่วมกับซึง หรือบางครั้งอาจใช้ปี่ทั้ง 3 เล่ม ล้วนก็ได้
ใช้กับเพลงจ๊อย ซึ่งเป็นเพลงรำพันรักของคนหนุ่มในขณะไปแอ่วสาว (เกี้ยวสาว) ในเวลาค่ำ โดยใช้ปี่เอกเป่าคลอกับการสีสะล้อ
ใช้กับทำนองเพระลอ คือ ใช้เป่าประกอบการขับเรื่องพระลอ
ใช้กับทำนองเพลงพม่าที่มีสร้องเพลงว่า "เซเลเมา"


เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่
พิณ พิณพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ซุง หมากจับปี่ หมากต้องโต่ง และหมากตับแต่ง มีสายตั้งแต่ 2 - 4 สาย ชนิดที่มี 4 สาย ก็คล้ายกับซึงของภาคเหนือ แต่ปลายกะโหลกพิณป้านกว่า พิณพื้นเมืองภาคนี้ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งประดิษฐ์ขึ้นอย่างง่าย ๆ ไม่สู้จะประณีตนัก ใช่เล่นเดี่ยว หรือเล่นร่วมกับวงแคน และโปงลาง
โปงลาง เป็นเครื่องตี ทำด้วยไม้ร้อยต่อกันจำนวน 12 ท่อนด้วยเชือกเป็นผืน แต่ละท่อนมีขนาด และความยาวลดหลั่นกันตามลำดับ จากใหญ่ลงมาเล็ก เวลาเล่นใช้ด้านใหญ่ (ด้านบน) แขวนกับกิ่งไม้ หรือไม้ขาตั้ง ด้านเล็ก (ด้านล่าง) ใช้เท้าผู้เล่น หรือทำที่เกี่ยวยึดไว้ มักใช้ผู้เล่น 2 คน คนหนึ่งเล่นทำนองเพลงเรียก "หมอเคาะ" อีกคนหนึ่งทำหน้าที่เคาะประสานเสียงทำจังหวะเรียก "หมอเสิร์ฟ" โปงมีเสียง 5 เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา ไม่มีเสียง ฟาและที
แคน เป็นเครื่องเป่า ทำด้วยไม้ซางขนาดต่าง ๆ นำมาเรียงลำดับผูกติดกันเป็น 2 แถว ๆ ละ 6 ลำบ้าง 7 ลำบ้าง หรือ 8 ลำบ้าง สุดแท้แต่ว่าจะเป็นแคนหก แคนเจ็ด หรือแคนแปด โดยเรียงลำใหญ่ไว้คู่หน้า และลำเล็ก ๆ เป็นคู่ถัดไปตามลำดับ และต้องเรียงให้กลางลำตรงที่ใส่ลิ้นอยู่ในระดับเดียวกัน แล้วเอาไม้จริงมาถากเจาะรูสำหรับเป่า (เรียกส่วนนี้ว่า "เต้า") เอาลำไม้ซางที่เรียงไว้สอดลงในเต้าให้พอดีกับตรงที่ใส่ลิ้นไว้ แล้วเอาชัน หรือขี้ผึ้งพอกกันลมรั่ว เหนือเต้าขึ้นไปประมาณ 4 - 5 ซม. เจาะรูด้านข้างของลำไม้ซางตั้งแต่คู่ที่ 2 เป็นต้นไป ลำละ 1 รู สำหรับนิ้วปิดเปิดเปลี่ยนเสียง ส่วนคู่แรก เจาะรูด้านหน้าเหนือเต้าขึ้นไปประมาณ 2 - 3 ซม. สำหรับนิ้วหัวแม่มือปิดเปิด การเป่าแคนต้องใช้ทั้งเป่าลมเข้า และดูดลมออก โดยเป่าตรงหัวเต้าด้านที่เจาะรูไว้ อาจกล่าวได้ว่า แคนเป็นเครื่องดนตรีสัญลักษณ์ของภาคอีสาน ประชาชนแถบนี้นิยมเป่าเล่นสืบต่อกันมาช้านาน ทั้งเล่นเดี่ยวคลอการร้อง และเล่นเป็นวงโดยผสมกับเครื่องดนตรีอื่น เช่น พิณ โปงลาง กลอง ฯลฯ ประกอบการแสดงพื้นบ้านภาคอีสานต่าง ๆ
โหวด เป็นเครื่องเป่าไม่มีลิ้น ตัวโหวดทำด้วยไม้ไผ่รวก (หรือไม้เฮี้ย) ลำเล็ก ๆ สั้นยาวต่างกัน จำนวน 6 - 9 ลำ มัดติดกับกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นแกนกลาง โดยใช้ขี้สุดติด แต่ละลำจะมีระดับเสียงแตกต่างกันตามขนาดสั้น ยาว ตามปกติโหวดมีเสียง 5 เสียง แต่เดิมใช้เชือกผูกปลายด้านหนึ่ง แล้วเหวี่ยงหมุนกลับไปกลับมา ทำให้เกิดเสียงโหยหวล ต่อมาใช้ปากเป่าเล่นเพลงพื้นบ้าน เป็นที่นิยมกันทั่วไปในแถบภาคอีสาน
จ้องหน่อง หึน หรือหุน เป็นเครื่องดีด ทำด้วยไม้ไผ่เหลาบาง ๆ ยาว 12 - 15 ซม. กว้าง 11/2 ซม. หนา 1/2 ซม. ตรงกลางเซาะร่องเป็นลิ้นในตัว ปลายด้านหนึ่งสำหรับจับ อีกด้านหนึ่งใช้ดีดด้วยนิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วชี้ เวลาเล่นประกบลิ้นจ้องหน่องเข้ากับปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้มใช้เป็นกล่องเสียง สามารถทำเสียงได้ 2 - 3 เสียงเท่านั้น ดีดเป็นทำนองได้เล็กน้อย เครื่องดนตรีชนิดนี้ใช้เล่นกันมาแต่โบราณ โดยมากใช้เล่นคนเดียวยามว่าง เป็นที่นิยมกันทางแถบอีกสานเหนือ
พิณไห เป็นเครื่องประกอบจังหวะ ทำด้วยไหซอง หรือไหกระเทียม ใช้ยางเส้นหนา ๆ ขึงที่ปากไห เวลาเล่นใช้มือดึงเส้นยางให้สั่นเกิดเสียงสูง - ต่ำ อย่างไรขึ้นอยู่กับขนาดของไห และการขึงเส้นยางให้ตึงหย่อนต่างกัน พิณไหใช้เล่นประกอบจังหวะในวงโปงลาง แคน พิณ ปกติชุดหนึ่งมี 2 - 3 ลูก หรืออาจมากกว่าก็ได้ โดยมากมักให้หญิงสาวแต่งตัวพื้นเมืองสวยงาม ยืนเล่นด้วยลีลาอ่อนช้อยตามจังหวะ เป็นที่สะดุดตาในวง
ซอกระดองเต่า หรือซอเขาควาย เป็นเครื่องสี กระโหลกซอทำด้วยกระดองเต่าตัดส่วนหน้าออก หรือทำด้วยเขาควายตัดขนาดตามต้องการ แล้วขึงด้วยหนังงู คันซอทำด้วยไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 40 ซม. มีลูกบิดสำหรับขึงสาย 2 อัน สายซอเป็นสายลวด คันชักอยู่ระหว่างสายซอทั้ง 2 สาย ซอชนิดนี้เป็นที่นิยมในแถบอีสานใต้ ชาวบ้านทำเล่นกันมานานแล้ว ใช้บรรเลงเยวในวงกันตรึม และบรรเลงเพลงพื้นบ้านอีสานใต้
ซอบั้ง เป็นซอของชาวภูไท ทำจากกระบอกไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง (ชาวบ้านเรียกไม้โกะ) โดยใช้กระบอกไม้ไผ่ชิ้นเดียวกัน เป็นทั้งกะโหลกซอ และคันซอ ไปในตัว โดยช่างทำซอจะเหลากระบอกให้บาง ทำหน้าที่คล้ายหนังหุ้มกะโหลกซอ ซอบั้งมี 2 สาย เป็นสายลวด คันชักอยู่นอกสาย เวลาสีต้องสีให้ถูกสายทั้ง 2 สายตลอดเวลา เพื่อให้ได้เสียงที่เป็นทำนอง และเสียงประสานควบคู่กันไป ซอชนิดนี้นิยมใช้สีประสานเสียงกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ประกอบการฟ้อนภูไท
ซอปี๊บ เป็นซอ 2 สาย เป็นสายลวด กะโหลกทำจากปี๊บน้ำมันก๊าด หรือปี๊บขนม คันชักอาจจะอยู่ระหว่างสายทั้งสอง หรืออยู่ข้างนอกก็ได้ แต่ส่วนมากนิยมให้คันชักอยู่ข้างนอก ซอปี๊บใช้สีเดี่ยว หรือสีคลอเสียงหมอลำ
ซอกระป๋อง เป็นซอ 2 สายเช่นเดียวกับซอปี๊บ เพียงแต่กระโหลกทำด้วยกระป๋อง และคันชักอยู่ระหว่างสายทั้งสอง นิยมใช้สีประกอบการขับร้อง หรือสีเพลงลายพื้นเมืองของแคน

เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคใต้ ได้แก่
ทับ หรือ โทนชาตรี เป็นกลองชนิดหุ้มหนังหน้าเดียว หุ่นกลองนิยมใช้แก่นไม้ขนุนทำ หน้ากลองนิยมใช้หนังบาง ๆ เช่น หนังค่าง หรือหนังแมวขึงขึ้นหน้า โดยใช้เชือกหรือหวายผูกตรึงไว้กับหุ่น ทับใช้ตีให้จังหวะ ควบคุมกรเปลี่ยนจังหวะ เสริมลีลาท่าทางการแสดงละครชาตรี โนราและหนังตะลุง ตามปกติใช้ทับ 2 ลูก ตีประกอบกับกลองชาตรี ตำนานโนราเรียกทับลูกหนึ่งว่า "น้ำตาตก" และอีกลูกหนึ่งว่า "นกเขาขัน"
ปี่กาหลอ หรือ ปี่ห้อ เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง เลาปี่ทำด้วยไม้ยาวประมาณ 13 นิ้ว มีรูบังคับเสียง 7 รู และด้านล่างมีรูนิ้วหัวแม่มือ 1 รู ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลมีบังลมทำด้วยไม้ หรือเปลือกหอยมุก ด้านล่างเป็นลำโพงปี่ทำด้วยไม้ปากบาน เพื่อขยายเสียง (เช่นเดียวกับปี่ชวา) นิยมใช้ลูกปัดสีต่าง ๆ ร้อยห้อยที่เลาปี่เพื่อตกแต่งด้วย ปี่กาหลอใช้เป่าบรรเลงในงานศพ หรืองานบวชที่ผู้บวชจะไม่สึก
ปี่ไหน เป็นเครื่องเป่าที่มีรูปร่างเหมือนปี่ใน หรือปี่นอกของภาคกลาง แต่เล็กกว่าปี่นอก ระดับเสียงสูงกว่า ปี่รูบังคับเสียง 6 รู ลิ้นทำด้วยใบตาลผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ (กำพวด) ปี่ไหนนิยมใช้เป่าประสมในวงดนตรีประกอบการแสดง โนราและหนังตะลุง
กลองชาตรี หรือ กลองดตุ๊ก มีรูปร่างเช่นเดียวกับ "กลองทัด" แต่มีขนาดเล็กกว่าหลายเท่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10" - 12" สูงประมาณ 18 " หุ่นกลองนิยมใช้ไม้ขนุนทำ เพราะทำให้เสียงดังดี หน้ากลองขึงด้วยหนังวัว หรือหนังควาย โดยใช้หมุดไม้ (ชาวใต้เรียก "ลูกสัก") ตอกยึดไว้กับตัวหุ่น กลองชาตรีใช้ตีประกอบการแสดงละครชาตรี โนราและหนังตะลุง (โดยใช้เป็นจังหวะ เสริมลีลาท่าทางการแสดง) ตำนานโนราเรียกกลองชนิดนี้ว่า "กลองสุวรรณเภรีโลก" โนรารุ่นเก่าใช้ตีเวลาผ่านชุมชน หรือสถานที่ ๆ ควรเคารพบูชา ตีเป็นสัญญาณบอกคน หรือเรียกคนให้มาดูการแสดง
กราว หรือ กรับชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเหลาบาง ๆ กว้างประมาณ11/2 นิ้ว ยาวประมาณ 9 นิ้ว จำนวน 6 -10 อัน นำมาร้อยติดกันเป็นพวง (เช่นเดียวกับกรับพวง) โดยเจาะรูตรงกลาง สวมกับหลักซึ่งตรึงกับฐานไม้หนา ๆ อันบนสุดมีมือจับ กราวหรือกรับชัก นิยมใช้เล่นประกอบจังหวะการแสดงโนราอย่างเดียว เพราะเสียงดังหนักแน่นมาก
ฆ้องคู่ เป็นฆ้อง 2 ใบ ใบหนึ่งเสียงสูง อีกใบหนึ่งเสียงต่ำ แขวนขึงอยู่กับรางไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (สมัยโบราณใช้โหม่งฟาก ซึ่งทำด้วยแผ่นเหล็ก 2 อัน) ฆ้องคู่ใช้ตีประกอบการเล่นละครชาตรี โนราและหนังตะลุง โดยประสมกับกลองชาตรี ทับ ฉิ่ง และ ปี่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก //www.siamnt.com






 

Create Date : 15 กันยายน 2551
0 comments
Last Update : 16 กันยายน 2551 17:24:52 น.
Counter : 39430 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

 

mooniza
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับผู้ไม่ทอดทิ้งมรดกไทยค่ะ . . . ร่วมกันรณรงค์โดยแสดงความคิดเห็นด้วยนะคะ


ชายคาบ้าน...น้ำ
ชายคาบ้าน...ออฟ
ชายคาบ้าน...พี่เก่ง
ชายคาบ้าน...พี่กุ้ง
ชายคาบ้าน...พี่โอ
ชายคาบ้าน...พี่ต้อง
ชายคาบ้าน...ปอนด์
ชายคาบ้าน...จิ๊บ

ชายคาบ้าน...โตโต้
ชายคาบ้าน...พี่เก๋
: Users Online
cursor
[Add mooniza's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com