Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
22 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
เปิดคำวินิจฉัยส่วนตัว 'จรัล ภักดีธนากุล' “ผมเห็นด้วยกับคำตัดสิน 100%”


การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเป็นประเด็นร้อนที่สุ่มเสี่ยงต่อวิกฤตการเมืองที่อาจปะทุขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' จะทำให้สถานการณ์ทางเมืองที่กำลังขมึงเกลียวคลายตัวลงไปได้ แต่เหตุการณ์ข้างหน้าจะเดินไปในทิศทางใด ก็ยังไม่มีใครตอบได้ เนื่องเพราะรัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีคอร์รัปชั่น และมีเป้าหมายที่จะปูทางสร้างฐานอำนาจต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าปฏิบัติการดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดแรงต้านจากสังคมอย่างหนัก และสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การปะทะระหว่างมวลชนที่สนับสนุนและคัดค้าน !!

       ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังหวั่นวิตกและพยายามหาทางออกที่จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง

       'ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ' จึงได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ 'จรัล ภักดีธนากุล' หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถึงทางออกและมุมมองด้านกฎหมายที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์เมืองในครั้งนี้

**ขอย้อนถามถึงเหตุผลที่อาจารย์ตัดสินใจถอนตัวออกจากองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณาคดีแก้รัฐธรรมนูญ มาตร 291 จริงๆแล้วกลัวเขา หรือมีเหตุผลอะไร

       แหม...ถามแบบนี้ ตอบแล้วเหมือนท้าทาย ความจริงต้องขอบคุณท่านชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ถ้าท่านอาจารย์ชูศักดิ์ไม่ยกประเด็นการให้สัมภาษณ์ของผมสมัยที่เป็น ส.ส.ร.(สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ซึ่งได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ผมก็จำไม่ได้หรอกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วเคยพูดเรื่องนี้ไว้อย่างไร พออาจารย์ชูศักดิ์ยกประเด็นนี้ขึ้นมาถามในที่ประชุมศาล ผมก็ชี้แจงไปเฉพาะประเด็นที่จำได้ แต่พอไปขอต้นฉบับของเก่าที่เจ้าหน้าที่ค้นมาให้ดูก็ปรากฎว่าเราได้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการต่อประชาชน เพราะฉะนั้นเท่ากับได้แสดงอคติหรือความเห็นล่วงหน้าไปแล้ว ซึ่งโดยมารยาทและประเพณีปฏิบัติของวงการตุลาการเราไม่ควรไปอยู่ร่วมในการตัดสิน ผมจึงขออนุญาตถอนตัว แต่การถอนตัวกระทำการด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับอนุมัติจากองค์คณะของศาล และเนื่องจากเหตุการณ์มันมีความชัดเจน ทางองค์คณะก็เลยอนุมัติ

**อาจารย์คิดว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีนัยสำคัญอย่างไร

       ผมมองว่าโดยภาพรวม มันออกมาเป็นทางสายกลางในท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมไทยที่ค่อนข้างจะรุนแรง และเป็นทางสายกลางที่ค่อนข้างจะรับได้ของทุกฝ่าย แต่ไม่ได้ทำให้แต่ละฝ่ายได้ในสิ่งที่ต้องการเต็มร้อย ดังนั้นมันจึงไม่เป็นที่ถูกใจของใครเลย

**สำหรับคำวินิจฉัยใน ข้อ 1.ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีอำนาจในการรับพิจารณาคดี อาจารย์มองยังไง

       ข้อนี้ผมเห็นด้วยกับคำตัดสิน 100% ว่าถูกต้องชอบธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย เป็นประโยชน์ต่อระบอบเสรีประชาธิปไตย เป็นประโยชน์ต่อการที่จะป้องกันไม่ให้คนที่มีอำนาจมากๆในสังคมไทยใช้อำนาจตามอำเภอใจ ก็เริ่มต้นตั้งแต่กฎหมายก่อน ตัวบทบัญญัติกฎหมาย มาตรา 68 วรรค 2 ซึ่งประเด็นนี้ก็ตรงกับ 63 วรรค 2 ซึ่งเริ่มแรกทีเดียวถูกเสนอโดยฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องจาก ในกรณีที่พบว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองใดจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มันเป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องใหญ่ เขาก็เสนอว่าหากจะมีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งกรรมาธิการฯก็เสนอในกรอบที่จำกัดว่าต้องไปผ่านการกลั่นกรองของอัยการสูงสุดก่อน แล้วจึงให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระต่อศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่ไปรบกวนการทำงานของรัฐบาลมากเกินไป

       โดยกรรมาธิการฯเสนอข้อความไว้อย่างนี้ครับ....ให้ประชาชนชาวไทยที่ทราบเรื่องดังกล่าวเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีคำอธิบายชัดเจนว่าเพื่อให้ผ่านการกลั่นกรองของอัยการสูงสุดเท่านั้น ประชาชนจะมาร้องตรงต่อศาลไม่ได้ แต่มีคนอภิปรายคัดค้านหลายจุด ซึ่งจุดหนึ่งก็คือถ้าผ่านอัยการสูงสุดได้คนเดียวแล้วประชาชนที่อยู่ทั่วประเทศจะมาเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดได้อย่างไร ให้ผ่านพนักงานอัยการได้ทุกคนไม่ได้หรือ จุดที่ 2 มีผู้ขอแปรญัตติว่าควรให้คนที่ทราบเรื่องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย มันก็เลยเป็นความเห็น 2 ด้าน ซึ่งในที่สุดรัฐธรรมนูญก็ออกมาในเวอร์ชั่นใหม่ ไม่ใช่คำว่า...”เพื่อ” ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ใช้คำว่า...”และ” ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแปลว่าผู้ที่ทราบเรื่องนี้ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบ และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

       เพราะฉะนั้นข้อความที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมันจึงเหมือนกับประนีประนอมความเห็นทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเราก็เข้าใจว่าถ้ารัฐธรรมนูญต้องการให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวต้องไม่มีการแก้ถอยคำจาก 'เพื่อ' เป็น 'และ' แล้วก็ต้องเขียนให้ชัดเลยว่ายื่นเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบและให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเขียนอย่างนั้นก็ชัดเจนอย่างที่ฝ่ายผู้ถูกร้องโต้แย้ง แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเช่นนั้น และดูจากที่มาที่ไปจะเห็นว่าเป็นแนวคิดต้องการประนีประนอมทั้ง 2 ความเห็น คือเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบ แล้วอัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ หรือประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธินี้จะเสนอเรื่องต่ออัยกาสูงสุด หรือจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

**นี่คือความชอบธรรม

       ใช่ครับ ประเด็นเรื่องความชอบธรรมถือเป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่ง ความชอบธรรมในการที่จะแปลความกฎหมายในความหมายที่กว้างขึ้นก็เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แยกกฎหมายมาตราเดียวบทนี้ขึ้นมาตั้งเป็นส่วนของตัวมันเอง แล้วให้ชื่อว่า...สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทย อยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิของปวงชนชาวไทย ถามว่าสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 นี้เป็นของใคร ก็ต้องตอบว่าเป็นของชนชาวไทย ดังนั้นถ้าเราไปแปลความตามความเห็นของผู้ถูกร้องว่าต้องให้อัยการสูงสุดเพียงคนเดียวเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยประชาชนผู้มีสิทธิไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วมันก็เหมือนกับว่าไปตัดสิทธิที่สำคัญยิ่งของชนชาวไทยแล้วเอาไปให้กลายเป็นอำนาจเด็ดขาดอยู่ในดุลยพินิจของบุคคลคนเดียวในประเทศคืออัยการสูงสุด ถ้าอย่างนี้มันจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 68 ซึ่งถูกยกฐานะขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งโดยเอกเทศ ชื่อว่าสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

       เหตุผลประการที่ 3 การแปลความของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนที่ทราบพฤติกรรมที่ร้ายแรงต่อประเทศชาติอย่างนี้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของสิทธินี้มีส่วนร่วมในการที่จะปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้มากขึ้น และไม่ไปตกอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดคนหนึ่ง ปัญหาก็คงมีเพียงว่าการเลือกให้ประชาชนมีสิทธิกว้างขึ้นอย่างนี้จะเป็นการขยายขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไปอย่างไม่มีขอบเขตใช่หรือไม่ ตอบว่าไม่ใช่เช่นนั้นเลย ขอบเขตอำนาจก็ยังคงอยู่ที่ 2 เหตุใหญ่ในวรรคหนึ่ง ประเด็นที่ร้องต้องเป็นพฤติกรรมเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเพื่อให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้เป็นไปตามวิธีทางที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้หมายถึงรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยังไม่ได้ร่างขึ้น

       ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมที่ร้องเรียนให้มีการวินิจฉัยมักเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงในบ้านเมือง เพราะฉะนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนั้นจึงถือว่าถูกต้องทั้งตามตัวบทกฎหมาย ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และมีความชอบธรรมที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างได้ผลจริงๆ

**อันนี้ก็แปลว่าตรงกันข้ามกับสิ่งที่คณะนิติราษฎร์ พรรคเพื่อ และคนเสื้อแดงใช้เป็นเหตุผลในการคัดค้าน

       ข้อนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องเคารพตามระบอบเสรีประชาธิปไตย เราจะไปบอกว่าความเห็นของเราถูกต้องคนเดียว ส่วนความเห็นที่ของคนอื่นที่แตกต่างจากเรานั้นผิดมันไม่ได้ แต่เราต้องชี้แจงว่าเพราะเหตุผลอะไรเราจึงเห็นเช่นนี้

**แล้วข้อชี้แนะของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ถือว่ามีผลผูกพันต่อรัฐบาลไหม

       เห็นได้ชัดอยู่แล้วในคำวินิจฉัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านประสงค์จะให้เป็นแนวทางมากกว่าที่จะให้เป็นคำสั่ง คือศาลเห็นว่าถ้าจะยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเท่ากับว่าไปล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนสถาปนาขึ้นมา ซึ่งถ้าจะทำเช่นนั้นก็ควรจะไปขอประชามติจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญเสียก่อน แต่ถ้าคุณจะแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราก็สามารถทำได้เลย แต่อย่างไรเสียคำแนะนำนี้มันก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

**แล้วถ้ารัฐบาลจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยไม่ทำประชามติ จะเกิดอะไรขึ้น

       ก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้ตัดสินใจ เมื่อศาลไม่ได้สั่งห้ามก็ไม่มีผลที่จะไปบังคับได้ แต่เมื่อศาลได้มีคำวินิจฉัยแนะนำเช่นนั้นก็ขึ้นกับดุลพินิจและวิจารณญาณของผู้ที่ใช้อำนาจว่าจะปฏิบัติอย่างไร หากปฏิบัติตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไว้มันก็ปลอดภัยและมั่นใจได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเขาก็ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจนั้น

**แปลว่าอาจจะมีผู้มาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลวินิจฉัยอีกว่าทำอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

       เราไม่อาจคาดการณ์ได้ครับ นั่นเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องใช้วิจารณญาณเองว่าควรดำเนินการอย่างไร และมันจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งถ้าทำแล้วเกิดประโยชน์เขาก็รับความชอบไป แต่ถ้าทำแล้วเกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ก็จะต้องรับผิดไป

**ในกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าโหวตรัฐธรรมนูญ วารระ 3 นั้น ถ้าเขาทำจริงๆ จะเข้าข่ายขัดต่อคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำของศาลไหม

       ถ้าถามเจาะจงอย่างนี้ตอบไม่ได้ เพราะถ้าตอบไปแล้วผมก็จะโดนใบแดงคือโดนตำหนิรอบสอง และไม่ควรจะตอบเพราะมันเป็นคำถามที่ยังไม่เกิด

**การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว ผู้ร้องร้องในประเด็นโหวตรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ด้วยหรือเปล่า

       ร้องครับ คือศาลวินิจฉัยในประเด็นที่ 3 ว่าการกระทำที่ไต่สวนยังไม่ถึงกับเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือจะเป็นการเอื้อให้บุคคลใดได้มาซึ่งอำนาจในวิถีทางที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้จึงเป็นการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง

**อย่างนั้นเข้าใจได้หรือไม่ว่า เหตุที่ศาลไม่วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง เป็นเพราะความผิดยังไม่สำเร็จ จึงถือว่ายังไม่มีความผิดใช่ไหมครับ

       ผมเข้าใจอย่างนั้น

**แล้วถ้ารัฐบาลเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ความรับผิดชอบต้องตกอยู่กับนายกฯยิ่งลักษณ์ใช่ไหม

       เรื่องทางการเมืองมันเป็นเรื่องของวันข้างหน้า และผมก็ไม่คิดว่าจะมีการเลือกเดินในเส้นทางที่หล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงเช่นนั้น

**ข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราจะมีผลดีอย่างไร

       เหตุผลประการแรก คือการแก้เป็นรายมาตรา ซึ่งจะแก้ทีละ 20 มาตราก็ได้นะ แต่มันจะมีประเด็นของการแก้ไขซึ่งรัฐสภาจะได้อภิปรายวิเคราะห์กันให้ถ่องแท้ คนที่เขามีส่วนได้เสียในแต่ละประเด็นเขาจะได้แสดงความคิดเห็นทั้งในแง่เห็นด้วยและคัดค้านให้ตกผลึกแล้วค่อยตัดสินใจ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าแก้แบบเหมารวม เซ็นเช็คเปล่าให้ไปกรอกเองเนี่ยจะไม่มีใครมีโอกาสได้แสดงความเห็นและมีส่วนร่วม เหตุผลประการที่ 2 การแก้เป็นรายมาตรานั้น ไม่ว่าจะแก้ 10 หรือ 20 ประเด็น ฝรั่งเศสเขาเคยแก้ถึง 61 ประเด็น แต่ตรงนี้ถือเป็นการกระทำโดยความรับผิดชอบของรัฐสภาและผู้ที่ลงมติแก้ไข

       ตามหลักที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้คือการแกไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องกระทำโดยรัฐสภา หมายความว่ารัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจในการแก้ไข แต่สิ่งที่มาคู่กับอำนาจคือความรับผิดชอบ คุณต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าคุณไปมอบหมายให้คนอื่นแก้กฎหมายนั้นมันเป็นการกระทำโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นตามมาก็บอกว่าเราไม่ได้แก้อันนั้น เราแก้เฉพาะอันนี้ ตรงนี้มันก็เป็นเงื่อนไขให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเขาก็คัดค้านได้ ดังนั้นคำแนะนำในข้อนี้ของศาลรัฐธรรมนูญจึงน่าจะมีเหตุผลแลความชอบธรรม

**อย่างกรณีที่รัฐบาลอยากจะแก้ไขมาตรา 309 เพื่อลบล้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งจะมีผลต่อการนิรโทษกรรม หรือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนอำนาจของศาล คนเขาจะได้เห็นว่ารัฐบาลจะทำอะไร

       คือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้รับรู้และแสดงความคิดเห็นให้มันตกผลึก แล้วถ้าสังคมไทยเห็นว่าแนวทางใดจะเป็นประโยชน์ก็เลือกเดินแนวทางนั้น

**ดูเหมือนแกนนำรัฐบาลอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และคุณสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายเป็นรายมาตรา

       ก็ขึ้นอยู่กับว่าท่านมีเวลาคิดไตร่ตรองให้ครบถ้วนไหม ถ้าทำอย่างกระทันมันอาจจะมีความรู้สึกอารมณ์เข้าไปประกอบมากเกินไป ผมจึงอยากให้เวลากับเรื่องนี้มากพอสมควร จะทำการใดก็ใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบและเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก

**ในการแก้ไขกฎหมายเราสามารถแก้ไขเพื่อไปยกเลิกผลคำตัดสินของศาลได้ไหม

       โดยหลักการถ้าเป็นคำพิพากษาของศาลทั่วๆไปรัฐสภาก็มีอำนาจที่จะบัญญัติกฎหมาย เปลี่ยนแปลงกฎหมายเดิมให้ผิดไปจากที่ศาลพิพากษาไว้ได้ แต่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติว่าโดยความชอบธรรมนั้นไม่ควรออกกฎหมายไปล้มล้างคำพิพากษาของฝ่ายตุลาการที่ได้พิพากษาในคดีนั้นไปแล้ว แต่การแก้กฎหมายให้มีผลแตกต่างไปในอนาคตนั้นทำได้ แต่นั่นต้องเป็นคำพิพากษาของศาลปกติ ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญนี้ได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 116 วรรค 5 ว่ามีผลผูกพันคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าจะเปลี่ยนกฎหมายให้ผิดไปจากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญต้องทำโดยการแก้กฎหมายระดับรัฐธรรมนูญ จะออกเป็นพระราชบัญญัติธรรมดาไม่ได้ ในตัดสินในคดีอาญาก็เช่นกัน

**อย่างในกรณีที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้แก้ไขกฎหมายบางมาตราเพื่อยกเลิกคดีที่เป็นผลพวงของ คตส.ซึ่งศาลตัดสินเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้วว่าคุณทักษิณมีความผิดในกรณีคอร์รัปชั่น ตัดสินให้ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน และให้จำคุก 2 ปี ซึ่งจะทำให้คดีของคุณทักษิณหายไปเลย ในทางกฎหมายทำได้ไหม

       ปัญหาที่ถามเนี่ยจะกลับมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต เพราะฉะนั้นถ้าผมตอบไปก็จะโดนกล่าวหาอีก

**หากจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดทอนอำนาจศาล อย่างที่พรรคเพื่อไทยบางคนระบุ อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร

       ถ้าทำอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมแล้วก็วิเคราะห์กันด้วยเหตุด้วยผล ข้อยุติออกมาเป็นประการใดสังคมต้องรับรู้ ไม่ว่าฝ่ายใดจะต้องเสียพื้นที่ไปบ้างแต่ถ้ามันเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าคือประโยชน์ของประเทศชาติ ของประชาชน ก็ทำได้ แต่อย่าทำเพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วสร้างความเสียหายต่อส่วนรวมของประเทศชาติเลยเสียประโยชน์ของประเทศชาติ

**อาจารย์คิดว่าการยุบองค์กรอิสระบางองค์กรอย่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอจะส่งผลอย่างไรกับประเทศไทยบ้าง

       ก็มีทั้งผลดีผลเสีย ข้อดีก็คือการมีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบมันเหมือนกับทำให้ฝ่ายบริหาร คนที่อยู่ในอำนาจบริหารประเทศต้องคอยระมัดระวัง ทำอะไรก็ไม่คล่องตัว บางเรื่องกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ แต่มองทางด้านผลเสีย ถ้าไม่มีระบบตรวจสอบที่ทรงประสิทธิภาพ ผู้ที่อยู่ในอำนาจก็มักจะใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ยิ่งมีอำนาจมากเท่าไรก็จะเหลิงอำนาจมากเท่านั้นแล้วก็อาจจะพาให้ประเทศสูญเสียอย่างใหญ่หลวงก็ได้ การมีระบบตรวจสอบที่ทรงประสิทธิภาพแม้จะทำให้การบริหารงานต้องขลุกขลักไปบ้างแต่มันก็ทำให้การบริหารประเทศ การตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ มีความรอบคอบ และยังเป็นหลักประกันให้แก่คนทำงานด้วยว่าถูกตรวจสอบแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย เขาก็จะได้ทำงานได้อย่างมั่นใจ

       แต่ถ้าไม่มีระบบตรวจสอบถึงผู้บริหารหรือคนที่ตัดสินใจจะทำอย่างตรงไปตรงมาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็อาจถูกใส่ร้ายป้ายสีว่ากล่าวได้โดยไม่มีใครสามารถชี้ให้เห็นความบริสุทธิ์ของเขาได้ ซึ่งก็ไม่ดีต่อผู้ที่ใช้อำนาจเอง เพราะฉะนั้นผมก็ไม่เห็นด้วายที่ประเทศไทยจะยกเลิกระบบตรวจสอบการใช้อำนาจ เพียงแต่ต้องช่วยดูหน่อยว่าฝ่ายตรวจสอบอย่าไปมีอคติ กลั่นแกล้ง หรือทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร

**แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายเสื้อแดงจะเป็นปฏิปักษ์กับองค์กรตรวจสอบมาตลอด

       ไม่แน่เสมอไปครับ ลองให้องค์กรตรวจสอบทำการใดเป็นประโยชน์ต่อใคร ฝ่ายนั้นก็ชื่นชม เอาดอกไม้มาให้ มีคำยกย่องสรรเสริญ 108 แต่ถ้าการทำงานขององค์กรตรวจสอบไปทำให้ฝ่ายใดเดือดร้อน ท่านก็เอาก้อนหินมาให้แทน รองเท้าบ้าง ก้อนหินบ้าง ระเบิดบ้าง อันนี้เป็นธรรมชาติของคนที่ทำงานในองค์กรตรวจสอบ ซึ่งทั้งฝ่ายชมและฝ่ายด่าต่างก็มีผลกดดันคนที่ทำงานองค์กรตรวจสอบ โดยหลักการแล้วก็ควรปล่อยให้องค์กรตรวจสอบทำงานอย่างสงบ ไม่วอกแวก ขอให้ท่านทำงานตรงไปตรงมา

**ไม่ทราบว่าในต่างประเทศมีการคุกคามองค์กรตรวจสอบเหมือนในประเทศไทยไหม

       ผมก็ไม่รู้นะ จะมีมากมีน้อยเราก็ไม่มีรายงานอยู่ในตำรา คือในการทำคดีแต่ละคดีเนี่ยคนชมเขาชมแล้วก็จบกัน แต่คนด่าเนี่ยด่าไปแล้วก็ยังไม่วันลืมเพราะคำตัดสินของเราไปสร้างผลกระทบให้เขา สภาพงานมันให้ทั้งคุณและโทษ

**แต่การคุกคามของไทยค่อนข้างรุนแรง ขู่ว่าจะเผาศาล ขู่ว่าจะจับตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถ้าตัดสินไม่ถูกใจ

       ก็ยังไม่ถึงขนาดน่าหวาดกลัวอะไรนะครับ ถือว่ายังดีกว่าบางประเทศเพราะบางประเทศเนี่ยเขาไม่ขู่แต่เขาทำเลย อย่างนักโทษคดีค้ายาเสพติดแถวอเมริกากลาง แต่ของเราแม้ว่าจะมีการข่มขู่บ้างแต่ไม่ได้ทำรุนแรงจริง ซึ่งต้องถือว่าเป็นความดีของคนไทย คือคนเราเมื่อต่อสู้กันในเดิมพันใหญ่ๆก็ต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อจะเอาชนะกัน

**แล้วเดิมพันใหญ่ที่ว่าคืออะไร

       เดิมพันนี้ใหญ่เพราะว่าการพิจารณากฎหมายครั้งนี้มันปูทางไปสู่การตัดสิทธิ์ทางการเมืองและการยุบพรรค มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องเห็นใจคนที่อยู่ภายใต้ภาวะกดดันอย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจเราก็จะพอรับได้ ไม่ไปตอบโต้อะไร

**ที่บอกว่ารัฐสภาต้องรับผิดชอบต่อการแก้ไขกฎหมายนั้น คำว่า 'รัฐสภา' หมายถึง 'นายกรัฐมนตรี' ด้วยหรือเปล่า

       ผมคิดว่าโดยลำพังรัฐสภาเองก็ไม่สามารถทำอะไรโดยเอกเทศได้ มันต้องมีการเชื่อโยงกันทางใดทางหนึ่ง แต่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรเรายังไม่รู้ หากพูดไปจะกลายเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า

**ในฐานะที่อาจารย์เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจารย์จะแนะนำรัฐบาลอย่างไร

       ผมอยากจะแนะนำไม่เฉพาะรัฐบาล แต่อยากแนะนำคนไทยทั้งหมดว่าท่ามกลางวิกฤตความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมไทยเราควรจะเลือกเดินในทางสายกลาง อย่าไปหลงในถ้อยคำหรือความเห็นในแนวทางที่สุดโต่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งจนกระทั่งอีกฝ่ายหนึ่งเขารับไม่ได้ นี่ก็คือแนวทางการใช้อำนาจไม่ว่าในระดับไหนก็ควรจะอยู่ในทิศทางอย่างนี้ เราควรจะใช้ธรรมะเป็นอำนาจ ให้พอเหมาะพอควรแก่กรณี มีที่อยู่ที่ยืนให้แก่ฝ่ายเสียงข้างน้อยบ้าง แล้วก็ประคับประคองไปด้วยกันได้ทั้งประเทศ เพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชนชาวสยาม

**การที่คุณทักษิณ ชินวัตร พูดครั้งล่าสุดว่าการนิรโทษกรรมจะนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งหมดของประเทศไทย อาจารย์คิดว่ามันจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า

       อันนี้ต้องถามผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ถ้าออกนอกศาลรัฐธรรมนูญไปเราก็ไม่มีความชำนาญด้านนี้

**อาจารย์คิดว่าการเมืองไทยมีแนวโน้มที่จะสงบบ้างไหม

       มีสิ คนไทยไม่ใช่คนที่ด้อยคุณภาพขนาดนั้น เราไม่ใช่คนเถื่อนขนาดนั้น โอกาสที่เราจะก้าวข้ามวิกฤตเหตุการณ์เหล่านี้น่ะมีแน่นอน ขอแต่ว่าเราต้องช่วยกันประคับประคอง ข้อสำคัญก็คือทุกฝ่ายอย่ายกคนที่นิยมความรุนแรงขึ้นมาเป็นแกนนำ สมมุติผมอยู่ฝ่ายที่ 1 เราทำยังไงก็ได้ที่จะกันคนหัวรุนแรงลงมาอยู่ข้าง แล้วเอาคนที่อยู่สายกลางๆและคนมีสติปัญญาขึ้นมาเป็นแกนนำ และคนที่อยู่ฝ่ายที่ 2 ก็ควรทำในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งสื่อสาธารณะทั้งหมดก็ควรกลั่นกรอง ลดการเสนอคำพูดหรือเหตุการณ์ที่มันกระตุ้นความรุนแรงลง อย่าไปขยายความโกรธแค้นเกลียดชัง นอกจากนั้นผู้นำทางความคิดต่างๆ ก็ต้องช่วยกันชี้นำสังคมไปในทางสายกลาง อย่ายุแยงด้วยแนวคิดแบบสุดโต่งจนกระทั่งนำไปสู่การเผชิญหน้าแตกหัก ซึ่งจะนำไปสู่ความสูญเสียต่อสังคมและประเทศชาติ

       การทำแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าทำผิดให้เป็นถูก ทำถูกให้เป็นผิด ผิดก็ต้องว่าผิด ถูกก็ต้องว่าถูก แต่ว่าอย่าปลุกปั่นให้เกิดความโกรธแค้น อาฆาต เกลียดชัง ถ้ามันโกรธแค้นกันจริงๆ ก็ไปว่ากันเฉพาะบุคคล ไม่ใช่มาปลุกระดมให้ประชาชนโกรธแค้นซึ่งกันและกัน ทำอย่างนั้นมันเห็นแก่ตัวมาก ผมว่าต่อสู้กันด้วยกฎหมายยังดีกว่าการใช้อาวุธต่อสู้กันบนท้องถนน ดีกว่าเผาศาลากลาง ดีกว่าวางระเบิด ดีกว่ายิงอาร์พีจี ดีกว่า M79







Create Date : 22 กรกฎาคม 2555
Last Update : 22 กรกฎาคม 2555 8:15:29 น. 3 comments
Counter : 1207 Pageviews.

 
ตามมาอ่าน


โดย: pringpring วันที่: 22 กรกฎาคม 2555 เวลา:9:18:34 น.  

 
ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมที่บล๊อคนะค่ะ ถึงอยู่นอร์เวย์ก็รักประเทศไทยเหมือนเดิมค่ะ ไม่เคยเปลื่ยน


โดย: skies วันที่: 22 กรกฎาคม 2555 เวลา:14:22:06 น.  

 
ขอบคุณค่ะ สำหรับคำชม

การเมือง การมึน พยายามทำความเข้าใจภาษาการเมือง

สงสัยนนนี่จะบื้อเกิน เอิ้กๆๆ


โดย: นนนี่จ๊ะจ๋า วันที่: 23 กรกฎาคม 2555 เวลา:10:44:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

I love Thailand
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add I love Thailand's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.