Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
1 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

“ยึดทรัพย์” 76,000 ล้านบาท “ทักษิณ” มากเกินไป หรือน้อยเกินไป?

จากการสืบสวนคดีเพื่อเข้าสู่กระบวนการ “ยึดทรัพย์” ทักษิณนั้น มี 2 องค์ประกอบ

1) การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยผิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากฝ่าฝืนถือหุ้นกิจการเอกชน โดยเฉพาะเป็นกิจการที่มีสัมปทานผูกขาดตัดตอน และ

2) การมีนโยบายเอื้อประโยชน์กิจการของตน อันทำให้รัฐเสียประโยชน์เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

ในส่วนแรก คือ การ “ซุกหุ้น” จากข้อมูลข่าวสารทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ติดตามน่าจะตัดสินได้ว่า ฝ่าย คตส. ที่นำสืบหลักฐาน เมื่อเทียบกับฝ่ายครอบครัวที่คัดค้านนั้น ใครจะน่าเชื่อถือกว่ากัน

1)นายพานทองแท้ ได้รับโอนหุ้นมูลค่า 733.95 ล้าน จากพ่อแม่ โดยทำตั๋วสัญญาใช้เงิน ในวันที่ 1 กันยายน 2543 แต่ต้องทำตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มพิเศษอีก 4,500 ล้านบาท ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2543 เพียง 1 วัน ก่อนวันโอนหุ้น โดยครอบครัวชินวัตรได้เบิกความให้การว่า เป็นค่าหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) 150 ล้านหุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ฯ (TMB-C1) 300 ล้านหน่วย รวม 4,500 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อขายทุกหลักทรัพย์ทำที่ “ราคาทุน” แต่ความจริง TMB-C1 นั้นเป็น “ของฟรี” ที่แม่ได้มาเปล่าๆ พร้อมหุ้น ในอัตรา 2 TMB-C1 ต่อ 1 หุ้น TMB จึงไม่ใช่โอนที่ทุนอย่างที่ให้การ เพราะราคาทุนของแม่เพียง 1,500 ล้านบาทเท่านั้น

และหากมองมุมที่อ้างว่า นายพานทองแท้ รับโอนอย่างเป็นอิสระในฐานะบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่หุ้น TMB และ TMB-C1 มีราคาตลาดเพียง 5.70 และ 1.30บาทเท่านั้น คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,245 ล้านบาทเท่านั้น แต่นายพานทองแท้กลับใช้อ้างว่าซื้อจากแม่ที่มูลค่ารวม 4,500 ล้านบาท ในเมื่อเป็นหนี้ “อุบาย” อย่างน้อย 3,000 ล้านบาท ก็เป็นหลักฐานว่าการคืนปันผลและค่าขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้แม่ด้วยหนี้อุบายนั้น เป็นหลักฐานการใช้ชื่อถือหุ้นแทนพ่อแม่อย่างชัดเจน

2)ยอดของขวัญวันเกิด น.ส.พิณทองทา ชินวัตร จำนวน 370 ล้านบาท เป็นจำนวนที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นการอำพราง ด้วยใกล้เคียงกับยอดซื้อหุ้นจากพี่ชายจำนวน 367 ล้านบาทพอดี ซึ่งทำให้ พิณทองทาถือหุ้น 367 ล้านหุ้น และพานทองแท้ถือหุ้น 366.95 ล้านหุ้น เท่าๆ กัน พอดีๆ โดยหากไม่ใช่ทำรายการเพื่อการปรับโครงสร้างการถือหุ้นแทน ก็น่าจะมีของขวัญวันเกิด เมื่อพานทองแท้อายุครบ 20 ปี หรือ แพทองธารอายุครบ 20 ปีด้วยในลักษณะคล้ายกัน

และหากถือเป็นการแบ่งสมบัติจำนวนใกล้ๆ กันให้บุตรทั้งสาม เมื่อขายหุ้นแล้ว ก็น่าจะได้แบ่งเงินสดให้ น.ส.แพทองธารไปด้วย เพราะไม่มีปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งของบิดาอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้โอนแบ่งแต่อย่างใด ทำให้เชื่อได้มากกว่าว่าเป็นกระบวนการใช้ชื่อบุตรถือหุ้นแทนมากกว่า และที่ไม่ได้แบ่งให้ ก็เพราะภารกิจถือหุ้นแทนจบสิ้นแล้ว พ่อลงจากตำแหน่งแล้ว โดยเมื่อโอนไปที่ต่างๆ เช่น ประไหมสุหรี ซื้อหุ้นสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อเหมืองเพชร ก็เป็นที่เห็นประจักษ์กันทั่วโลกว่า ผู้เป็นเจ้าของคือ ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้เงินที่ผ่านจากการซุกหุ้นเหล่านี้มาใช้ในฐานะเจ้าของแท้จริง

3)นายบรรพจน์ ดามาพงศ์ ได้หุ้นมาโดยไม่มีหลักฐานการชำระเงินค่าหุ้นชินคอร์ปฯ ด้วยเงินของตนเองเลย โดยมีตัวอย่างหนี้จำนวน 102,135,225 บาท เพื่อชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนหุ้น SHIN เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 เป็นเงินที่คุณหญิงพจมาน เป็นผู้ออกเงินชำระทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งแม้นายบรรณพจน์มีเงินเข้าบัญชีหลายสิบล้านบาท ก็มิได้คืนเงินเลย แม้เศษๆ 135,225 บาทก็ไม่ได้คืนนานถึง 3-4 ปีด้วยเงินของตนเอง รอจนรับปันผลหุ้น SHIN จึงนำมาชำระคืน ในช่วงท้าย ก็มีการเปิดบัญชีแยกเงินรับปันผลและค่าขายหุ้นจากบัญชีสำหรับชีวิตปรกติของตัว

4)น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ค้างหนี้เพียง 20 ล้านบาท โดยมิได้คืนเงินเลย เป็นเวลา 3-4 ปี ทั้งที่ก็มีเงินไม่น้อย แล้วจึงทยอยชำระด้วยปันผลที่ได้รับจากหุ้นที่ได้รับโอนนั้น โดยไม่ใช้เงินของตนเองเลยเช่นกัน และก็มิได้เคยคืนเงินแต่อย่างใดเป็นเวลาประมาณ 3 ปี แล้วจึง ชำระคืนหนี้ค่าหุ้นดังกล่าว จากปันผลที่ได้รับ 2 ครั้งแรก 9 ล้านบาท และ 11 ล้านบาท โดยครั้งที่ 2 นั้น ได้รับปันผลมา 13.5 ล้านบาท ก็สั่งจ่ายเต็มจำนวน หลังจากนั้นจึงขีดฆ่า (ด้วยคงรู้ตัวว่า จ่ายเกินหนี้แล้ว) และแก้ไขเป็น 11 ล้านบาท นับว่าเป็นการจ่ายด้วยสัญชาตญาณนอมินีจริงๆ และส่วนที่เหลือจากเข้าบัญชี พิณทองทา ซึ่งต่อมาบอกว่าเป็นค่านาฬิกาหรูหลายเรือน ก็คงแล้วแต่ว่าใครจะเต็มใจเชื่อว่า หลานเป็นคนซื้อนาฬิกาหลักล้านบาทหลายเรือน แล้วขายต่อให้หรืออย่างไร และช่างเป็นเวลาที่ประจวบพอดีกับการคืนปันผลอย่างเหลือเชื่อ

5)วินมาร์ค (WM) มีพฤติกรรมซุกหุ้นกลุ่ม SC และบริษัทอสังหาฯ อีก 5 บริษัท คตส. เห็นว่าผิดปรกติด้วยซื้อทุกหุ้น ขายทุกหุ้น ทุกครั้ง ที่ราคาพาร์ ทั้งๆ ที่มูลค่าทางบัญชีไม่เหมือนกันเลย กำไร/ขาดทุนไม่เหมือนกัน ไม่เคยเปลี่ยนแปลงกรรมการ นอกจากนั้น ยังจ่ายเงินให้ พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน หลายงวด จ่ายกว่า 550 ล้านบาท ในช่วงเดือนพฤษภาคม ล่วงหน้าร่วม 3 เดือนกว่าจะได้หุ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2543 พิรุธคือ ระยะเวลาชำระเงิน ตรงกับที่ต้องใช้จองหุ้น ธ.ทหารไทย และ กลต. ตรวจสอบพบว่า ในยอดรวม 1,500 ล้านบาทค่าหุ้น 5-6 บริษัทที่วินมาร์คซื้อจากทั้งคู่นั้น เงินประมาณ 1,200 ล้านบาทมาจากบัญชีที่ใช้ชื่อวินมาร์ค แต่ประมาณ 300 ล้านมาจากบัญชีของตนเอง แต่อ้างชื่อวินมาร์ค!!

โดย ดีเอสไอ และ ก.ล.ต. พบหลักฐานชัดแล้วตรงกันว่า วินมาร์คและแอมเพิลริชเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิง พจมาน ผ่านกองทุนซิเนตร้าทรัสต์ และบลูไดมอนด์ และพบตรงกับ คตส. อีกประการ คือ วินมาร์ค มีรหัสบัญชี 121751 ที่ ธ.ยูบีเอส สิงคโปร์ เคยถือหุ้น SHIN ประมาณ 54 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท = 5.4 ล้านหุ้นช่วงพาร์ 10 บาท) ด้วย!!

6) แอมเพิลริช เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปี 2548 ตามหนังสือรับรองบริษัท มีเงื่อนไขว่า “Any withdrawal is to be authorised by Dr. T. SHINAWATRA solely.” แสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียวในช่วงเวลาดังกล่าว จนถึงปี 2548 จึงได้มีชื่อบุตรทั้งสองปรากฏเป็นผู้มีอำนาจลงนาม ไม่ตรงกับที่ได้อ้างว่าโอนหุ้น ARI ให้นาย พานทองแท้ ชินวัตร ในวันที่ 1 ธันวาคม 2543

นอกจากนั้น ในวันที่ 24 สิงหาคม 2544 UBS ทำรายงาน 246-2 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยนับหุ้น SHIN จำนวน 10,000,000 หุ้น ของ ARI รวมกับหุ้นอีกจำนวนอีก 5,405,913 หุ้น ทั้งนี้ มีหลักฐานว่าเป็นหุ้นของวินมาร์ค รวมเป็น15,405,913 หุ้น (พาร์ 10 บาท) คิดเป็นร้อยละ 5.24 ก็เป็นหลักฐานยืนยันการนับหุ้น 10 ล้านหุ้นของ ARI และอีกกว่า 5 ล้านหุ้นของ WM เป็นของเจ้าของเดียวกันตามมาตรา 258 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

ในการจะยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวนั้น มีโทษมาจากการ “โกงชาติ” ถือหุ้นกิจการสัมปทานผูกขาดอย่างผิดรัฐธรรมนูญผ่านตัวแทนถือหุ้น แล้วใช้นโยบายเอื้อประโยชน์ธุรกิจส่วนตัวนั้น ทำให้รัฐเสียหายนับหมื่นนับแสนล้านบาท ก็เป็นการสร้างความเสียหายไม่น้อยกว่าการทุจริตฉ้อโกงอื่นๆ มีคำถามว่า การที่รัฐจะยึดเงิน 7.6 หมื่นล้านบาทนั้น มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ?

รัฐน่าจะมีโอกาสประเมินว่า การทุจริตนั้นๆ เป็นกระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐโดยมิชอบ และใช้อำนาจเอื้อประโยชน์หุ้นที่ถือไว้โดยผิดรัฐธรรมนูญ ผ่านการใช้ชื่อคนใกล้ชิด และผ่านกองทุนลับที่ซ่อนในต่างประเทศนั้น มีความเสียหายเท่าใดก่อน ซึ่งมีหลายส่วน (1) ส่วนที่เป็นตัวเงินชัดเจน ว่ารัฐเสียรายได้หรือเสียหายเท่าใดให้เอกชน (2) ส่วนที่เป็นความเสียหายของสังคม ทั้งการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม การปลอมการเลือกตั้ง การไม่ต่อสู้คดีด้วยหลักฐานในศาลแต่ใส่ร้ายกระบวนการยุติธรรมทั้งในและต่างประเทศ ฯลฯ เป็นความเสียหายของชาติที่มากกว่านั้นมากมายหลายเท่านัก

ในส่วนแรกที่เป็นตัวเงินชัดเจน ว่ารัฐเสียรายได้หรือเสียหายเท่าใดให้เอกชน รวบรวมได้คร่าวๆว่า

1)มีการแก้ไขสัญญาให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายให้รัฐ จากเดิมที่กำหนดไว้อัตราก้าวหน้า 25% และต้องเพิ่มเป็น 30% หลังจากนั้น สัญญาสัมปทาน เปลี่ยนเป็นอัตราคงที่ 20% ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้บริษัท เอไอเอส ได้รับประโยชน์กว่า 7 หมื่นล้าน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทำให้รัฐ (บริษัท ทศท) สูญเสียรายได้ที่ควรได้รับกว่า 7 หมื่นล้านนั่นเอง

2)ให้มีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่อนุญาตให้บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วม (โรมมิ่ง) กับผู้ให้บริการรายอื่นได้ ส่งผลให้เอไอเอสได้รับประโยชน์เพราะไม่ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ที่ควรจ่ายให้บริษัท ทศท และบริษัท กสท เป็นจำนวนเกือบ 1.9 หมื่นล้านบาท ฯลฯ

3)มีการแก้กฎหมายให้มีการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งนอกจากจะเอื้อประโยชน์แก่บริษัท เอไอเอส แล้ว ยังเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกีดกันคู่แข่งหรือผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ แถมยังทำให้บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท ของรัฐอ่อนแอลงด้วย โดยให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบต่อภาษีสรรพสามิตแต่เพียงฝ่ายเดียว แทนที่จะเป็นสัดส่วนรายได้ตามสัญญาการร่วมการงาน และเป็นการทำให้ดูเหมือนเป็นการจ่ายเงินจากภาคเอกชนเท่านั้น ละเลยเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้นว่า เป็นกิจการของ ทศท. หรือ กสท. ของรัฐ โดยในช่วงที่เอกชนลงทุน ให้สิทธิจัดการสินทรัพย์ของรัฐ แบบ Build-Transfer-Operate (BTO) โดยเอกชนผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนในระยะเวลา 25-30 ปี ด้วยส่วนแบ่งรายได้สำหรับเอกชน/ภาครัฐ 85/15% ช่วง ต.ค. 33 – ก.ย. 38, 80/20% ช่วง 38-43, 75/25% ช่วง 43-48 และ 70/30% ช่วง 48-58 และหลังจากแบ่งประโยชน์ 25 ปีแล้ว กิจการก็ตกกลับมาเป็นของรัฐ (เว้นแต่มีกติกาให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมต่อไป) แทบจะเป็นการยึดกิจการสัมปทานแบบ BTO นี้กลับไปเป็นของเอกชนของตนแล้ว

4)รวมทั้งกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนให้รัฐบาลสหภาพพม่าวงเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งภายหลังยังได้สั่งการให้เพิ่มวงเงินกู้ให้พม่าอีก 1 พันล้าน รวมเป็น 4 พันล้าน เพื่อให้พม่านำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ ในเครือชินคอร์ปฯ

5)มีการให้บีโอไอดาวเทียมโดยมิชอบ เพราะปกติต้องเป็นการส่งเสริมการจ้างงาน หรือการใช้สินค้าจากในประเทศ แต่ดาวเทียมนำเข้าล้วนๆ และอาจให้ได้กับกรณีการต้องมีดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของชาติ เพื่อใช้ในประเทศโดยไม่เป็นภาระเกินไป แต่บีโอไอของไอพีสตาร์นั้น แทบไม่ใช้ของในประเทศ ส่วนจ้างคนไทยน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการ ไม่ใช่ความจำเป็นของประเทศ แต่เอื้อให้มีกิจการส่วนตัวทำธุรกิจโดยไม่ต้องเสียภาษีมากกว่า ดูจะพยายามใช้อีกครั้งกับไทยแอร์เอเซียด้วย

คตส.พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเงินที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าว บวกกับเงินที่ชินคอร์ปจ่ายเป็นค่าปันผลตั้งแต่ปี 2546-2548 กว่า 6,800 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 7.6 หมื่นล้าน เป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม เป็นเงินที่ได้มาจากการใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ กระทำการที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร และเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ จึงขอให้ศาลฎีกาฯ สั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ. 2542 มาตรา 80

6)ยังมีเงื่อนงำที่น่าจะตามไปดูว่า เงินในกองทุนลับนั้น มีการไหลถ่ายเทไปไหนมาไหนบ้าง อย่างการทำกำไรค่าเงินบาทช่วงปี 2540 โดยได้ส่งผู้บริหารกลุ่มตนเข้าไปนั่งกระทรวงการคลังช่วงนั้น และเข้าไปเป็นรองนายกฯ ดังที่นายเสนาะได้เปิดโปงไป อันเป็นที่มาของวินมาร์คนั้นประเทศก็ขาดทุนสว็อปนับแสนล้านบาท ยังอาจมีการใช้ข้อมูลภายในในเรื่องราคาน้ำมัน ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายกองทุนน้ำมัน การซื้อสัญญาล่วงหน้าน้ำมันของรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ก็ต้องตามตรวจสอบดูต่อไป

ในส่วนที่สอง ความเสียหายของชาติด้านอื่นๆ ด้วยความพยายามที่จะรักษาอำนาจ บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวกได้สร้างความเสียหายแก่สังคมอีกมากมาย ได้แก่

1)บิดเบือนและใส่ร้ายกระบวนการยุติธรรม ทนายทักษิณมีการนำเอากล่องขนมบรรจุเงิน 2 ล้านบาทไปศาล และเมื่อทราบว่า ศาลสถิตยุติธรรมไม่เอาด้วย ก็ใส่ร้ายว่าเป็น “กระบวนการยุติความเป็นธรรม” โดยมิได้มาให้การต่อศาล และเมื่อต้องให้การ ก็จะเริ่มเห็นว่าเป็นความเท็จไร้ข้อต่อสู้ นอกจากนั้น ยังใส่ร้ายกระบวนการยุติธรรมไทยต่อสังคมโลกด้วย

2)สร้างความแตกแยกในสังคม แทนที่จะยึดกติกาเดียวกัน เข้ากระบวนการยุติธรรม แต่กลับโกหกคนไทย ว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง “คนรัก” กับ “คนไม่รัก” คนเสื้อเหลืองไม่มีเหตุจะไม่รัก แต่รับไม่ได้กับการวางตัวเหนือกฎหมาย ทำเรื่องทุจริตจนเป็นเรื่องเรื่องธรรมดา

3)สร้างความปั่นป่วน การโฟนอินหลายๆ ครั้ง กระตุ้นความรุนแรง เช่น “วันใดเสียงปืนแตก ก็จะกลับมานำประชาชน” แต่แล้วครอบครัวกลับหนีไปก่อน และคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งถล่มงานประชุมผู้นำอาเซียน สร้างความเสียหายกับประเทศชาติมากมาย

มีประเด็นการคัดค้านว่า แม้จะบอกว่ามีการทุจริตในช่วงเข้ารับตำแหน่ง ก็น่าจะคงเหลือส่วนที่เขามีก่อนรับตำแหน่งคืนกลับให้กับเขา มีหลักการน่าคิดว่า หากมีผู้ทุจริต เช่น ค้ายาเสพติด เมื่อถูกจับได้ แล้วจะบอกว่า ก่อนค้ายาเสพติด ผมได้สร้างคฤหาสน์นี้ไว้ถึงชั้นล่างแล้ว เงินที่ได้จากค้ายาเสพติด เอามาใช้เพิ่มชั้น 2 และชั้น 3 ดังนั้น ถ้าจะยึด ก็เอาเฉพาะชั้นบนไปก็แล้วกัน เราจะเห็นกันว่าอย่างไร!?!? ยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติด ก็คงไม่ต้องคิดว่า ก่อนหน้านั้นมีเงินเท่าไร และยึดทรัพย์ผู้ทำชาติเสียหายเป็นแสนๆ ล้านบาท และยังทิ้งร่องรอยความเสียหายทั้งความแตกแยก การสร้างค่านิยมการทุจริต ก็คงไม่ต้องคิดว่าจะต้องเหลือคืนให้เท่าไร

ยึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ใครจะคิดว่ามากไป หรือน้อยไป ก็แล้วแต่ ... ไทยทนว่า มันน้อยไปครับ



โดย ไทยทน จาก //www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000145516




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2552
1 comments
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 13:18:15 น.
Counter : 564 Pageviews.

 



Merry X'mas
and a Happy New Year
to you ค่ะ

 

โดย: โสดในซอย 25 ธันวาคม 2552 11:38:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


I love Thailand
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add I love Thailand's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.