...คิดว่ายังมีความหวัง ตราบที่ยังมีลมหายใจ...
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
5 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
ลุงบูลย์เล่าเรื่องอดีต






ทดสอบเรตติ้ง

เรื่องนี้เคยเขียนไว้หลายที่ ในเวบพันทิพนี้ก็เคย แต่คราวนี้เป็นตอนที่นำประสบการณ์ชีวิตจริงของ "คนเขียนลายข้างโลง" มาโพสต์

เรื่องนี้เคยส่งประกวดสารคดีแพรวสำนักพิมพ์ มีข่าวลอดมาตอนประกาศผลการประกวด(เข้ารอบ)ว่าทาง สนพ.จะพิมพ์ แต่ป่านนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อ สงสัยว่าจะปิ๋วไปแล้ว เพราะแว่ว ๆ มาว่ายังมีจุดบกพร่องในการเล่าเรื่องอีกมาก

วันนี้ลุงนำมาขัดคัดกรอง เกลา กลึง ใหม่ ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก แล้วขอทดลองนำเสนอ เผื่อ สนพ.ใดสนใจ และถ้ามีเรตติ้งจากผู้อ่านคอมเมนท์ไว้มากพอก็จะเสนอตอนต่อ เชิญทดลองอ่านได้ครับ
(ขออภัยหากว่าจะส่วนตั๊ว ส่วนตัวไปนิด)


๑.
ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ผมอายุ ๑๗ ปี เข้าอยู่วัดบวชเณรที่วัดข้างบ้าน สาเหตุที่บวชเพราะตอนกำลังเรียนชั้น ม.๑ ผมป่วยเป็นโรคประหลาด คืออยู่ ๆ ก็เดินขากะเผลก พอสอบได้ ม.๓(เท่ากับ ป.๗ ในสมัยถัดมา)แม่ก็ให้ออกมาอยู่บ้าน เพื่อให้น้องชายคนถัดจากผมเรียนต่อ


สมัยนั้นทุกคนถ้าไม่อยากเป็นชาวนาชาวสวน ก็จะต้องเรียนหนังสือให้ได้เป็นครู ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ… ซึ่งชาวบ้านถือว่า ได้เป็นเจ้าเป็นนายคน และคนที่จะเป็นเจ้าเป็นนายคนได้ มีแต่คนที่ร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์เท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์

ผมไม่รู้จะไปทำอะไรให้เหมาะกับสถานภาพของร่างกาย จึงขอเข้าบวชเณร ตั้งใจจะเรียนให้ได้นักธรรมเอก และกะจะให้ไปถึงขั้นมหาเปรียญ ผมอยากเป็นนักเทศน์ เพราะการเป็นพระมหาเปรียญและพระนักเทศน์ ไม่ใช่สิ่งที่พระเณรทั่วไปจะเป็นกันได้ง่ายๆ

ทว่าตอนที่บวชเณร ผมเห็นพระเณรที่วัดในเมืองเรียนวาดรูป และมีการสอบวาดเขียนตรี โท เอกกัน ด้วยใจที่รักการวาดรูปอยู่ก่อน ผมหันมาสนใจการวาดรูปแทนการเรียนเปรียญธรรม แต่ก็ยังมุ่งมั่นที่จะสอบนักธรรมเอกให้ได้ แต่ไม่ได้สอบ เพราะไปมีปัญหากับสามเณรอายุเท่าพระ ที่ถูกส่งมาสอนนักธรรมที่วัด...(วัดบ้านนอก)

ปีที่ผมสอบนักธรรมโท ผมสอบได้ที่ ๑ ของสำนักวัด...(ในเมือง) แต่ผมไม่ชอบการสอนของสามเณรรูปนี้ จึงไม่ไปนั่งฟังที่เขาสอน แต่ผมไปหลบซุ่มอ่านหนังสือสอบเอง ทำให้เขาเสียหน้าเพราะพระเณรที่เรียนกับเขาสอบตกเกือบเกลี้ยงชั้น

และพอผมไปสอบนักธรรมเอก ไม่มีชื่อผมในสำนักวัด... ทั้ง ๆ ที่ผมเดินทางไปที่วัด....ในตัวจังหวัด เพื่อจะสอบแต่ไม่มีชื่อ ผมถูกสามเณรครูสอนนักธรรมตัดสิทธิการสอบ ผมไปสนามสอบเก้อ

ผมโยนหนังสือธรรมะลงกล่อง แล้วหยิบหนังสือทางโลกหลักสูตร ม.๔ ม.๕ และ ม.๖ มาเรียนใหม่ พอดีช่วงนั้น ที่วัดในเมืองมีโรงเรียนมัธยมอยู่ในวัด และอนุญาตให้พระเณรเรียนชั้นมัธยมได้ ทำให้ผมได้เรียนชั้นมัธยมอีกครั้ง(ในคราบสามเณร)

ระหว่างเรียนมัธยม ผมได้พบครูวาดเขียนที่เรียนจบมาจากเพาะช่าง ท่านเช่าห้องแถวรับสอนวาดรูป อยู่ที่ถนนซอยลึกเข้าไปจากถนนใหญ่



มีอยู่วิชาหนึ่งในหลักสูตรวาดเขียนโท ที่ค่อนข้างจะยากกว่าวิชาอื่น ๆ คือ “วิชาวาดลายไทย” ผมเคยซื้อตำรามาดูแล้วหัดวาดตามแต่ออกลายเองไม่ได้ พอไปเรียนกับครู ท่านสอนผมวันเดียว ผมวาดได้ และออกลายเป็น ผมมองว่าวิชานี้มีอาถรรพณ์คือต้องมีครู คล้าย ๆ กับพวกครูโนรา ครูหนังตะลุง… ที่จะต้องมีคนครอบให้



สมัยที่ผมยังเด็ก การเขียนลายไทยถ้าไม่ใช่คนที่ทำงานประเภทหัตถกรรม ลายปูนปั้น แกะสลักไม้เป็นลายบานประตูหน้าต่างโบสถ์ หรือลายหน้าจั่ว หน้าบรรณวิหาร ศาลา ก็มีอยู่ประการเดียว คือ วาดลายข้างโลงศพ
ตามบ้านนอกจึงพอใครตายลง ชาวบ้านจะอาสามาช่วยกันต่อโลง ช่วยกันอย่างเต็มใจไม่ต้องจ้าง



ช่วงที่ผมกลับมาวัดบ้านนอก หรือวัดที่อยู่ช้างบ้านผม หลวงตาทอง พระที่ผมเคารพ รักและนับถือมากรูปหนึ่งมรณภาพลง ตอนนั้นยังไม่มีใครในวัดหรือชาวบ้านใกล้วัดสักคนที่จะรู้ว่า ผมสามารถเขียนลายไทยถึงขนาดคิดออกลายเองได้ โดยไม่ต้องดูแบบ เมื่อผมไปนั่งพับเพียบบนพื้น



(ยอดใบเทศ)


กางกระดาษตะกั่วที่ด้านหนึ่งเป็นกระดาษขาวผิวมัน อีกด้านหนึ่งมีสีดำแวววาว ผมร่างลายด้วยดินสอดำลงด้านที่เป็นสีขาว พลางคิดออกแบบลาย ชาวบ้านที่อาสามาช่วยกันแต่งลายโลงศพ ต่างมองแล้วถามว่า
“นั่นเณรจะวาดลายโลงเหรอ” แล้วพูดต่อไปว่า “งั้นมาช่วยผมซี ผมจะทำให้ดู”



(ยอดใบเทศแบ่งซอยละเอียด)

แล้วเขาก็ดึงกระดาษจากผมไป เขาเอาไปพับจนกระดาษแผ่นใหญ่เหลือเท่าฝ่ามือ ก่อนแกะลายดอกตอกด้วยใบมีดปลายแหลมที่ใช้แกะตัวหนังตะลุง เขาแกะเป็นลายกลีบบัว หรือตาอ้อย แต่ผมพูดว่า


(นกคาบ ส่วนที่จะแตกลาย - เป็นคล้าย ๆ ตาของต้นไม้)



(นกคาบ ๒)


“ลายแบบนั้นมันง่ายเกินไป ผมไม่เอาแบบนั้น” คำพูดของผมทำให้หลาย ๆ คนที่กำลังขะมักเขม้นแกะลาย มองผมเป็นตาเดียว


(ตัวกนกและใบเทศ)


(แล้วก็มาเป็นเรื่องสั้น "ลายข้างโลง)


ตอนที่ ๒



(ลายตาอ้อย)

“เอาซี เณรจะทำแบบไหน” ลุงคนหนึ่งพูดเป็นการปรามคนอื่น ๆ ไปในด้วยตัว ว่าปล่อยให้ผมทำไปก่อนแล้วเขาคอยดู
“งั้น ต่างคนต่างทำ” ลุงคนหนึ่งยังไม่ยอม “ถ้าของเณรดีกว่าเรายอมให้ของเณรได้ติด ส่วนของเราไม่ติดก็ได้” เขาหมายถึงว่า ถ้าของเขาไม่ดีก็ไม่ต้องใช้ ซึ่งผมยิ้มอยู่ในใจ เพราะทุกคนยังไม่รู้ว่าผมไปเรียนลายไทยกับครูมา จนสอบได้วาดเขียนโท


(ถ้าแบ่งย่อยละเอียดจะเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์)

การวาดลายประดับโลงศพสมัยนั้น นอกจากเขียน หรือแกะกระดาษเป็นลายนำไปติด ยังมีศิลปะการแกะลายไทยอีกแบบหนึ่งคือการแทงหยวก แต่ถ้างานไม่ใหญ่จริง ๆ และเจ้าภาพไม่ใช่คนที่กว้างขวาง จะหาคนมาทำยาก

เพราะการแทงหยวกผู้ทำต้องมีฝีมือระดับครูสอนลายไทย มีทีมงาน ทำกันเป็นทีมห้าหกคนขึ้นไป (ช่างแทงหยวกมักอยู่ตามในเมืองหรือมีเป็นบางที่ บางจังหวัด) แทงแล้วจะต้องนำไปประกอบกันเข้าเป็นชุด ตามความยาวของโลงศพและแท่นหรือฐานที่วางโลง บ้างประดับเป็นมณฑป เป็นซุ้ม เป็นปราสาท เป็นกนกรอบฐาน


(นกคาบดัดแปลงเป็นเศียรพญานาค)

ช่างทุกคนจะต้องมีฝีมือลายไทยที่เก่งพอๆ กัน ไม่เช่นนั้นลายจะเข้ากันไม่ได้ และเนื่องจากการแทงหยวก ผู้แทงจะต้องใช้ปลายมีดที่แหลมเปี๊ยบแทงลงไปให้เป็นตัวลาย โดยไม่ต้องร่างดินสอเหมือนที่วาดในกระดาษ จึงยิ่งทำให้หาคนทำยากขึ้นไปใหญ่

ผมชอบแบบเขียนและชอบทำแบบ “ข้ามาคนเดียว” ไม่ชอบทำเป็นทีม(เพราะหาทีมยาก) ผมออกแบบลายเป็นลายก้านขด จุดที่ออกลายมี “นกคาบ” ก่อนจะผูกลายขึ้นเป็นช่อโดยเอากาบ ใบเทศ ยอดใบเทศ และกนก เป็นลายสลับต่อ ๆ กันไป สะบัดส่วนยอดเหมือนเปลวไฟ ทุกจุดที่แยกลายจะมีนกคาบ และทุกที่ว่างจะมีลายออกไปรับพอเหมาะกับเนื้อที่ ที่เรียกว่า ช่องไฟ อย่างพอดิบพอดี


(ยอดใบเทศแตกเป็นลายกนก)

พวกลูกหลานของหลวงตาทอง เห็นลายไทยในแบบของผมเข้า เขาบอกช่างชาวบ้านให้หยุดทำจะเอาลายแบบของผม ลายที่ชาวบ้านช่วยกันทำถูกทิ้งหมด ชาวบ้านบางคนยอมรับไม่ได้ ที่เด็กอายุ ๑๗ มาปฏิวัติการเขียนลายข้างโลง แบบที่พวกชาวบ้านเคยทำกันมานานลงหมดสิ้น วันนั้นถ้าผมไม่อยู่ในเพศของสามเณรผมคิดว่ามีเรื่อง แต่มีบางคนยอมรับและขอสมัครเป็นลูกมือ ช่วยนำลายที่แกะแล้วมาติดลงในกระดาษเปล่าอีกแผ่น ก่อนนำไปติดบนผนังโลงทั้งสี่ด้าน


(ยอดใบเทศในลายก้านขด)

ลายที่ผมแกะออกมามีลักษณะคล้าย ๆ ลายพ่นหรือลายฉลุ เมื่อเอากระดาษมาคลี่ออกก็จะได้ลายที่เหมือนกัน ๔ แผ่น ๒ แผ่นแรก คือลายด้านซ้ายและด้านขวาของโลงด้านยาว อีก ๒ แผ่นหลังสำหรับลายด้านยาวของโลงอีกด้าน เมื่อเอากระดาษที่แกะลายเสร็จด้านสีดำไปทาบกับกระดาษเปล่าด้านสีขาว แล้วติดแป้งเปียก สีขาวของกระดาษที่ไม่ได้แกะจะโผล่ขึ้นมาเป็นลายสีขาวบนพื้นดำ หรือถ้าจะให้มีลายดำบนพื้นขาวก็เพียงกลับหรือพลิกกระดาษตัวลายก็จะเป็นสีดำบนพื้นขาว

ผมเว้นที่ว่างตรงกลางโลงไว้เพื่อแกะตัวอักษร เป็นชื่อของหลวงตาทอง บอกอายุ วันเกิด(ชาตะ)และมรณะ(วันตาย)โดยแกะตัวเลขไทยในรูปลักษณ์ของลายไทย สะบัดหางเป็นกนก หัวท้ายโลงผมแกะเป็นเทพนมหรือเทพประนมมือไหว้ ผมวาดและแกะรูปเดียวแต่ซ้อนกระดาษ ๒ แผ่น ก็กลายเป็นลายเทพนม ๒ ด้าน พอทุกอย่างเสร็จก็นำไปติดติดเสร็จก็เป็นที่ฮือฮา เพราะเป็นลายที่ไม่มีชาวบ้านคนใดเคยทำมาก่อน

(ยอดใบเทศกลับขวา)

จากงานที่ทำเพื่อถวายความรักและเคารพต่อหลวงตาทอง ผมได้รับคำนิยมยกย่องมากมาย ต่อมาพอใครตายลงเขาก็เจาะจงไปหาผม และต้องให้ผมคนเดียวเท่านั้นทำคนอื่นทำเขาไม่เอา ผมก็เลยกลายเป็น “ช่างเขียนลายข้างโลง” ไปอย่างสมบูรณ์แบบ
0000000

(ลายหน้าขบ)

๓. ศพคุณยายกลายเป็นนางแบบ

ผมขึ้นหัวเรื่องไว้ไม่ผิดเพราะการเป็นนักวาดรูป หรือศิลปินที่วาดรูปจากคนเป็น ๆ ที่ยังมีเลือดมีเนื้อแถมมีความสวยงามอยู่ด้วยนั้น มีคนอยากวาดกันคึกคัก บางคนอยากจนใจสั่น(ผมก็เคยสั่น) สั่นเพราะอยากจะวาดนางแบบ(แก้ผ้า)แล้วผมจะเล่าให้ฟังตอนต่อ ๆ ไป แต่รายนี้ผมต้องวาดนางแบบที่กำลังเป็นศพ ตายมาแล้วสี่ห้าชั่วโมง แถมแก่ชราอายุ ๗๖ หนังเหี่ยว ทุกส่วนหย่อนยานโทงเทง และกำลังจะเปลี่ยนผิวจากขาวซีดเป็นเขียว บรื๊ออออ…


ลายหางหงส์

ผมอยากทราบว่า มีช่างวาดรูปคนไหนบ้างครับที่เคยทำอย่างผม
อย่างที่ผมเล่าในตอนแรกว่า ชาวบ้านไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องการเขียนลายไทย เพราะไม่เคยศึกษาจึงวาดได้แต่ลายหยาบ ๆ ส่วนผมตอนนั้นเพิ่งไปสอบวิชาลายไทย หลักสูตรวาดเขียนโทได้มาใหม่ ๆ เมื่อผมแสดงฝีมือในงานศพหลวงตาทอง พระที่ผมรักและเคารพ ผลงานออกมาสวยงาม ชนิดที่ไม่ค่อยมีใครในที่นั้นเคยเห็นมาก่อน

ต่อมาพอใครตายลงเขาก็มาตามตัวผม โดยที่เจ้าภาพบางคนไม่เคยรู้จักกับผมมาก่อนเลยก็มี ทว่าผมไม่กล้าปฏิเสธ

แต่รายที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นศพยาย(ยายเลี้ยง)หรือแม่เลี้ยงของแม่ของผม


(ลายหางหงส์ใบเทศ)

แม่เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับยายและแม่ ตอนแม่เป็นเด็กให้ผมฟัง แม่เคยถูกยายเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงของแม่กระทำทารุณกระทั่งคิดฆ่าแม่ซึ่งเป็นลูกเลี้ยง โดยการพาไปจะให้เดินข้ามคลองลึกเพื่อให้แม่จมน้ำตาย แต่ย่าของแม่รู้เข้าตามไปช่วยไว้ทัน

ยายเกลียดแม่ แบบแม่เลี้ยงเกลียดลูกเลี้ยง ไม่มีสาเหตุอะไรอื่น แต่ทำให้ผมนึกเกลียดและไม่ชอบยายไปด้วยและเกลียดมาตลอด แม่เป็นลูกคนเดียวของ “พ่อเฒ่า”หรือตา แม่ของแม่(แม่เฒ่า)หรือยายที่แท้จริงของผมตายตั้งแต่ตายังหนุ่ม ๆ ตาจึงหาเมียใหม่


(ใบเทศแบ่งซอยละเอียด)

ผมเองก็จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ อายุ ๗ - ๑๒ ขวบ ยายเลี้ยงไม่รักผมเลย แถมรังเกียจรังแกสารพัด ครั้งหนึ่งน้าชายอีกคนชื่อน้าชดจ้างผม ๒ บาทให้ผมเหยียบหลังไหล่ และแขน ขาให้เพื่อแก้เมื่อย แบบผู้ใหญ่ที่ชอบให้เด็กเหยียบแทนการบีบนวด พอเหยียบเสร็จผมดีใจ รีบเอาเงิน ๒ บาทจะไปกินขนมและไปซื้อของเล่นในตลาดนัด

ตลาดนัดวันเสาร์ที่สี่แยก...บ้านตา มีคนมาก มีขนมนมเนย และสินค้าต่าง ๆ มาขายมากมาย ยายเห็นน้าชดส่งเงิน ๒ บาทให้ผม ยายเข้ามาริบคืนแล้วจ่ายมาให้ผม ๒ สลึง(๕๐ สตางค์) ผมเอาไปกินขนมจีนได้แค่ ๑ จาน ทำให้ผมเกลียดยายเลี้ยงมาแต่ครั้งนั้น และต่อจากนั้นจนผมเป็นหนุ่มวัยรุ่น ถ้าไม่จำเป็นสุด ๆ ผมไม่ไปบ้านน้าหรือบ้านตาบ้านยายอีกเลย


(ใบเทศแตกออกจากกาบ)

แต่คราวนี้ผมจำเป็นต้องไป…

บ้านน้าหรือบ้านตาและบ้านยายอยู่คนละตำบลกับบ้านแม่ และวัดที่ผมอยู่ คือผมอยู่อำเภอเมืองติดถนนราชดำเนิน เป็นตลาดเล็ก ๆ

น้าบุญเป็นคนเอารถจักรยานถีบคันสูงใหญ่มารับผม เป็นจักรยานยี่ห้อฮัมเบอร์ ราคาคันละ ๘๐๐ บาท ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๑๐ ชาวชนบทที่มีฐานะและมีรายได้ดีเท่านั้นที่จะมีรถจักรยานใช้ จักรยานจึงไม่มีทุกบ้าน ชาวบ้านที่มีรถจักรยาน จะใช้เข่งใบใหญ่ ๆ วางบนตะแกรงท้าย บรรจุพืชผัก ผลไม้ ทุเรียน มังคุด เงาะ หรือหัวเผือกหัวมันไปขายในตลาดนัด พอถึงตรงไหนที่ถนนไม่ดีขี่ไม่ถนัด เขาก็ลงจากอานเดินจูงรถไป ซึ่งมันไวและประหยัดเวลากว่าเดินมากมาย


(ใบเทศแบบพลิกแพลง)

ปัจจุบันผมไม่ค่อยได้เห็นจักรยานแบบนี้อีก เพราะแม้แต่คนหาเช้ากินค่ำก็ยังใช้รถจักรยานยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ และทุกแหล่งแห่งที่ล้วนมีแต่รถมอเตอร์ไซค์ใช้กันทุกบ้าน ราวกับว่าสมัยนี้ มีแต่คนรวย รวยมากกับรวยน้อย (ไม่มีคนจน) รวยน้อยใช้รถจักรยานยนต์ รวยมาก(หรือจนทำรวย)ก็ใช้รถเก๋งหรือรถยนต์กระบะ

บางรายผ่อนกันจนหน้าแห้งหน้าเหี่ยว บางรายถูกยึดรถเพราะไม่มีเงินจะผ่อนส่ง บางรายรถหายไปพร้อมที่นาที่สวนที่ขายหรือเอาไปจำนองดาวน์รถ เพราะขับไปชนไปคว่ำมีให้เห็นสารพัดรูปแบบ

สมัยนั้นจักรยานมีแบบคันเล็กกับคันใหญ่ คันเล็กเป็นจักรยานแบบผู้หญิง ยี่ห้อราเล่ ตราหัวนก ที่เรียกว่าแบบผู้หญิง คือโครงของรถส่วนหน้าจะเป็นเหล็กคู่พาดเฉียงลงไปด้านล่าง ผู้หญิงสามารถยกขาคร่อมและขึ้นนั่งบนอานได้ง่าย เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่นุ่งผ้าถุงหรือกระโปรง ถ้าเป็นรถแบบผู้ชายโครงรถจะเป็นคานพาดขวางรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเชื่อมติดกับใต้อาน เวลาขึ้นนั่งคร่อมอานต้องยกขาสูง ๆ ข้ามคาน เนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่นุ่งกางเกง ทำให้ยกขาขึ้นคร่อมได้สะดวก



รถแบบผู้หญิงยี่ห้อราเลท์ ราคาคันละ ๑,๗๐๐ บาท เป็นราคาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ราคานี้หากเทียบกับค่าของเงินในปัจจุบันนับว่าแพงมาก และปัจจุบันรถจักรยานถีบแบบผู้หญิงที่ผมเห็นไม่ใช่ยี่ห้อราเล่ แต่เป็นรถผลิตในเมืองไทยราคาคันละประมาณ ๑๕๐๐-๒๐๐๐ บาท ซึ่งถูกมากหากเทียบกับจักรยานราเล่ในสมัยคุณปู่ แต่คุณภาพรถจักรยานในปัจจุบันด้อยกว่าชนิดที่ไม่อาจจะนำไปเทียบกันได้

สมัย พศ.๒๔๙๘ ใครมีรถจักรยานยี่ห้อราเล่ เท่พอ ๆ กับมีรถจักรยานยนต์ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ -๒๕๑๐ ที่รถจักรยายนต์ขนาด ๕๐ ถึง ๙๐ ซีซี เริ่มนิยมใช้กันทั่วไปในหมู่ชาวสวนยางพารา เพราะร้านจำหน่ายให้วางดาวน์แค่สองสามพันบาท แล้วก็เอารถออกมาใช้ขับทำเท่ได้เลย

สมัยนั้นใครมีจักรยานราเล่ สาว ๆ ชอบมายืมไปขี่เอง หรือขอนั่งซ้อนท้ายให้หนุ่ม ๆ ถีบพาไปเที่ยว ทำให้มีโอกาสได้คุยกะหนุงกะหนิงกัน สองต่อสอง โดยไม่มีบุคคลที่สามรบกวน ถึงขนาดมีการขนานนามรถจักรยานว่าเป็น “พระขุนแผนฝรั่ง”


(จักรยานราเล่แบบผู้หญิง)

น้าบุญน้าชายของผม มารับผมในตอนบ่ายหลังพระฉันเพล น้าบุญยกพูดกับผมว่า
“เณรเอาเครื่องมือวาดไปให้หมดนะ งานนี้จะให้ทำหลายอย่าง”

น้าพูดเพราะไม่อยากให้พาผมไปแล้ว พอขาดอะไรแกต้องพาผมกลับไปเอาอีก ทำให้ผมแม้จะไม่ค่อยเต็มใจนัก เพราะยายเลี้ยงเคยสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีไว้กับผมมากมาย ตอนแกยังมีชีวิต แต่ผมก็ปลงและคิดได้ว่าควรจะอภัยให้คนตาย ผมจึงหิ้วกระเป๋าซึ่งมีกล่องขนมปังบรรจุพู่กันจีน(สำหรับวาดภาพขาวดำด้วยผงถ่านคาร์บอน) และผงถ่านสีดำสำหรับวาดรูปเหมือน ดินสอ วงเวียน กระจกสเกล กระดานรองเขียน และไม้บรรทัดยาว รวมทั้งม้วนกระดาษอีกพะรุงพะรังไปด้วย โดยผมนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานแล้วน้าเป็นคนถีบ

ทางช่วงแรกที่ออกจากวัดถนนเป็นทราย น้าต้องถีบไปตามร่องรอยล้อรถยนต์ เพราะทรายที่ล้อรถยนต์บดซ้ำ ๆ ไว้แน่นทำให้ถีบรถไปได้ไม่ตกหล่ม และพอไปอีกหน่อยทางตัดเข้าสวนมะพร้าว ดินเป็นทรายแน่นและมีหญ้าคลุมทำให้ยังพอถีบไปได้อีก แต่พอพ้นจากสวนมะพร้าวทางเป็นดินเหนียวบนหัวคันนา ช่วงทางตอนนี้ผมนั่งหายใจไม่ทั่วท้อง และพอน้าบุญถีบผ่านดินเหลว ซึ่งมีแอ่งน้ำฝนเล็กๆ ขังอยู่จักรยานก็ลื่นไถลพรืด ทั้งผมและน้าบุญลงไปนอนวัดพื้น ผมไม่เป็นอะไรนอกจากจีวรเปื้อนดินโคลน ส่วนกระดาษและกระดานรองเขียนห่อมาอย่างดีจึงไม่เสียหาย

น้าบุญจัดที่พักให้ผมตรงมุมหนึ่งของบ้าน โดยปูเสื่อและวางหมอนไว้ให้ ผมเปลี่ยนมานุ่งสะบงและสวมอังสะ ส่วนจีวรน้าบุญให้คนนำไปซักให้ ผมนั่งวางแผนว่าจะจัดการวาดลายข้างโลงแบบไหนดี จึงจะทำให้เสร็จเร็วและจะได้กลับวัดเร็ว ๆ แล้วผมก็ตัดสินใจใช้เทคนิคการวาดลายข้างโลง ไม่ให้เหมือนกับที่เคยทำในงานศพหลวงตาทอง


(ใบเทศพลิกแพลง)

ตอนโลงศพหลวงตา ผิวโลงไม่ต้องขัดและทาผิวด้วยน้ำมันชักเงาเชลแล็ก เพราะจะได้สะดวกในการทาแป้งเปียกแล้วปิดลายที่เป็นกระดาษ แต่คราวนี้ผมสั่งให้น้าบุญหาคนมาช่วยกันขัดถูผิวนอกของโลงศพ ด้วยกระดาษทรายให้เรียบ แล้วทาผิวโลงด้วยเชลแล็กเพื่อให้เป็นเงาขึ้นมัน และได้พื้นผิวซึ่งเป็นสีน้ำตาลแกมดำ และให้น้าอีกคนไปซื้อกระดาษแข็งหรือกระดาษหนา แบบที่เขาใช้ปิดหลังกรอบรูปมาสี่ห้าแผ่น เป็นกระดาษสีออกเหลือง ๆ ซื้อสีน้ำมันสีขาวชนิดบรรจุกระป๋องเล็ก ซื้อน้ำมันสนที่บรรจุขวดขาย ใช้สำหรับผสมสี และให้น้าซื้อกระป๋องที่มีกระบอกสูบลมติดบนฝากระป๋องมาด้วย


(ตัวกนก กาบ และใบเทศ)

ปรกติเขาใช้กระป๋องแบบนี้สำหรับพ่นยาฆ่ายุงและแมลงสาบ แต่ผมจะใช้กระป๋องสูบลมชนิดนี้มาใส่สีแล้วพ่น เป็นลายไทยข้างโลง

ระหว่างที่น้าชายให้คนไปซื้อสีและของต่าง ๆ ที่สั่ง น้าบุญนึกขึ้นได้ว่ายังไม่มีรูปยายติดตั้งที่หน้าศพ เพราะคนสมัยนั้นไม่ชอบถ่ายรูป เชื่อกันว่าถ่ายรูปแล้วจะทำให้ตายเร็ว ทำให้ไม่มีใครได้ถ่ายรูปยายไว้ น้าบุญหันมาถามผมว่า

“เณรวาดรูปแม่ตอนนี้เลยได้ไหม ดูหน้าแล้ววาดเลย น้าจะให้คนยกศพขึ้นนั่งพิง”

00000

"HIDDEN="true" AUTOSTART="true"LOOP="4" MASTERSOUND>


Create Date : 05 มิถุนายน 2551
Last Update : 8 มิถุนายน 2551 9:20:46 น. 41 comments
Counter : 34888 Pageviews.

 
เข้ามาแสดงตัวว่าอ่านเรื่องอดีตของลุงบูลย์ครับ

ว่าง ๆ ก็ไปอ่านเ "รื่องเล่าเท่าที่จำได้" ในบล็อกของผมบ้างนะครับ


โดย: ลุงแว่น วันที่: 5 มิถุนายน 2551 เวลา:18:20:14 น.  

 


โดย: yosita_yoyo วันที่: 5 มิถุนายน 2551 เวลา:18:26:35 น.  

 
ชอบมากครับลุง ยังไม่อ่านหรอก จะก๊อปเอาไว้อ่านแบบไม่ต้องต่อเน็ต


โดย: ธารดาว IP: 202.149.25.225 วันที่: 5 มิถุนายน 2551 เวลา:20:40:18 น.  

 
ทึ่งมากเลยคะ...
ทั้งเรื่องราว และภาพเขียนลายเส้น...


โดย: อนันตลัย วันที่: 5 มิถุนายน 2551 เวลา:21:39:32 น.  

 
สวัสดีจ๊ะลุงบูลย์
เข้ามาอ่านเรื่อง ลายข้างโลง ของลุงแล้วนึกถึงตอนที่ฉัน
ได้เคยทำงานกับมูลนิธิ เมื่อหลายปีมาแล้ว
ฉันอยู่ฝ่ายสงเคราะห์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแม่บ้านของ
มูลนิธิ คือมีหน้าที่คอยช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย หรืออัคคีภัย ฝ่ายเราจะไปจัดเต๊นท์คอยแจกน้ำและอาหาร และยา ให้แก่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ที่นั่น
ที่ไหนมีน้ำท่วม พวกเราก็จะเอาเครื่องอุปโภค บริโภค ไปแจกให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน
ต่อมาเรามีงานเพิ่มขึ้นอีกงาน คือ งานเผาศพ ผู้ยากไร้ ศพไร้ญาติ หรือ ที่เรียกกันว่า ศพ อนาถา
งานนี้คนกลัวผี คงทำไม่ได้แน่ๆ เพราะต้องไปรับศพมาห่อ และจัดการนำใส่โลง แล้วนำไปตั้งไว้ที่ศาลาวัด
วันรุ่งขึ้นก็จัดการเอาศพไปเผา
มีเรื่องแปลก หลายๆเรื่อง ที่เกิดขึ้นกับฉัน เกี่ยวกับการเผาศพคนเหล่านี้ ที่ฉันอยากจะถ่ายทอดให้ลุงบูลย์
ได้รับรู้บ้างแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นเล่าอย่างไรดี
เอาเป็นว่า ถ้าลุงสนใจอยากจะรู้ก็ลองตั้งคำถามมาละกัน
ฉันจะเล่าให้ฟัง แต่เกรงว่าจะมาทำให้บล็อกของลุงเลอะเทอะน่ะสิ










โดย: ป้าชุ IP: 86.143.52.74 วันที่: 5 มิถุนายน 2551 เวลา:21:44:23 น.  

 
เมื่ออาบูลย์เช็คเรทติ้ง

ก็แวะมาให้การสนับสนุน
จะว่าไปแล้วเรื่องทำนองนี้ถ้าลองนำมาปัดฝุ่น
ปรับแต่งอย่างตั้งใจ
และเลือกนำเสนอสำนักพิมพ์ที่เหมาะกับแนวหนังสือ
ก็น่าจะได้นะจ๊ะ

นี่ก็...เป็นความเห็นส่วนตัวของคนวงนอกอย่างหนอนฯ อ่ะจ้ะ เพราะบางสิ่งบางอย่างก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก

งานผู้อาวุโสสนุกรึเปล่า แล้วเป็นไงบ้างคะ รอฟังข่าวอยู่


โดย: หนอนฯ IP: 58.9.179.153 วันที่: 5 มิถุนายน 2551 เวลา:23:07:08 น.  

 
มาลงทะเบียบเข้าชมรมก่อนนะ

เดี๋ยวค่อยเปลี่ยนแบคกราวน์ให้
จะเก็บห้องคอมฯซะหน่อย แมวมันเข้ามาฟัดกันกระจุยกระจาย....วางยาเบื่อดีไหมลุง


โดย: ปลายแปรง IP: 118.175.208.84 วันที่: 6 มิถุนายน 2551 เวลา:7:26:01 น.  

 
เฟื่องฟ้าขอตีตั๋ว นั่งหน้า

...เฟื่องฟ้า


โดย: เฟื่องฟ้า IP: 202.122.130.31 วันที่: 6 มิถุนายน 2551 เวลา:8:03:45 น.  

 
วันแรกเรตติ้งเท่านี้แสดงว่าใช้ได้ งั้นเชิญอ่านตอน "๒"



โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 6 มิถุนายน 2551 เวลา:14:57:18 น.  

 
สวัสดีลุงบูลย์

อ่านเรื่อง ลายข้างโลงรู้สึกว่าน่าติดตาม มีสาระและได้ความรู้ด้วย ตัวนำเรื่องที่เฟื่องฟ้าชอบคือ ลายกนกที่ลุงวาด คือเรื่องก็น่าติดตาม รูปเขียนก็น่าติดตาม ลุงนำภาพมาคั่นเยอะๆนะ

จักรยานแบบผู้ชาย ผู้หญิงก็ขี่ได้นะ เขาเรียกว่าแปะข้าง คือขาซ้ายและขาขวาเอาอยู่ไว้ฝั่งเดียวกัน คือไม่ต้องนั่งค่อม
...โดยใช้ขาขวาสอดเข้าไปถีบ..อธิบายยากเหมือนกัน

เฟื่องฟ้าตอนเด็ก น้าสาวชอบชวนนั่งซ้อนท้ายจักรยาน ไปสวนมะม่วง แต่มันต้องขี่ลัดคันนาไป พอถึงตรงคันนาที่มีบริเวณแคบๆ เฟื่องฟ้าก็จะนั่งเกร็ง แล้วพอถึงทางเลี้ยว ทั้งน้าทั้งหลานก็ร่วง และเจ็บทุกที...เฟื่องฟ้า


โดย: เฟื่องฟ้า IP: 125.27.21.14 วันที่: 7 มิถุนายน 2551 เวลา:10:08:51 น.  

 
สวัสดีคุณเฟื่องฟ้า
แบบผู้หญิงนั่งแปะข้างนั้นลุงก็เคยเห็น แต่แหมขี่ยากพิลึกละ

เรื่องนี้จะหาภาพมาประกอบยากนะซี ตัวลายไทยก็มีจำกัดเสียด้วย จะลงทุนวาดใหม่ที่เคยทำก็เสียเวลามาก ไม่รู้จะไปได้สักกี่น้ำ แต่อยากจะทำใหม่เสนอสำนักพิมพ์อื่น คาดว่าแพรวคงไม่พิมพ์แล้ว เพราะการเขียนเรื่องบางเรื่องหาจุดที่ลงตัวยากมาก
เตติ้งท่าจะไม่ดี มีเฟื่องฟ้ามาคนเดียวเอง


โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 7 มิถุนายน 2551 เวลา:10:26:29 น.  

 
วันเสาร์วันอาทิตย์ เรทติ้งเขาไม่นับหรอกลุง

เพราะใครจะบ้าเหมือนเราล่ะ
เขาใช้เครื่องที่ทำงานเล่นบล๊อคกัน ประหยัดทรัพยากรตัวเองกว่าเยอะนิ...ลุงก๊อ

ลุงลองเข้าเว็บที่เอารูปมาแปะนี่สิ //www.himmapan.com

อ้อ...นึกออกแล้ว เคยโหลดไว้เดี๋ยวจะหาให้
ถ้าไม่มีจะสแกนลายไทยเล่มดึกดำบรรพ์ของพ่อปลายแปรงไปให้ก็แล้วกัน
พ่อเราก็มือลายไทยในแขวงการทางฯเหมือนกันล่ะน่า

สมัยเรียนให้พ่อเขียนให้ไปส่งได้ เอ ตั้งหลายรอบ
พออาเจ๊ไปเรียนพยาบาลก็เลยวิบากกลับ ทำการบ้านให้เจ๊ส่งได้ เอ ไป....555

เดี๋ยวหาให้
ไม่ต้องทำเป็นร้องดังๆว่าใครจะได้ยินหรอกน่า
แต่วันนี้สัญญาณไม่ค่อยดี ฝนตกทั้งวัน
ค่อยเปิดดูเอานะ


โดย: ปลายแปรง IP: 118.175.208.84 วันที่: 7 มิถุนายน 2551 เวลา:12:16:12 น.  

 
สวัสดีครับพี่บูลย์

ผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจนะ

แต่ผมเข้มาตอนดึก เลยง่วงแล้ว

ค่ยอมาอ่านวันหลังนะครับ


ขอให้เรตติ้งกระฉูดเลยนะครับ



โดย: โดม IP: 124.121.20.233 วันที่: 7 มิถุนายน 2551 เวลา:23:43:33 น.  

 
สวัสดีลุงบูลย์

เมื่อไรเณร จะวาดรูปยายเสียที...เฟื่องฟ้า


โดย: เฟื่องฟ้า IP: 125.27.67.101 วันที่: 8 มิถุนายน 2551 เวลา:6:47:39 น.  

 
เณรไม่หยองเหรอเณร....
หน้าซีดๆนั่งพิงสบตา...ตาจ้องตา

ยายเลยหายไป....


โดย: ปลายแปรง วันที่: 8 มิถุนายน 2551 เวลา:6:59:00 น.  

 
สวัสดีคุณเฟื่องฟ้า ปลายแปรง โดม...

เรื่องนี้ตอนท้าย ๆ เด็ดกว่านี้ ถึงขนาดว่าเล่าไปกินข้าวไม่ลง

ดีเหมือนกันถ้ามีคนสนใจจะได้แก้ไขที่ส่งแพรวแล้วเข้ารอบไปด้วย เพราะตอนต้น ๆ ค่อนข้างจะเล่าแบบคนแก่ไปหน่อย(ของเดิมนะ) ที่มาลงนี้ตัดขยะออกแล้ว พยายามจะให้ขยะ (นอกเรื่อง-ไม่จำเป็น)ให้เหลือน้อยที่สุด อยากขอมีพอกเก๊ตบุ๊คอีกสักเล่ม(ก่อนตาย) ฮ่า ๆ ๆ


โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 8 มิถุนายน 2551 เวลา:8:39:14 น.  

 
เอาเพลง "หัวใจฝากถาม" ของคุณฝนธนสุนทร กลับมาแล้ว แต่ เอ ไม่เข้ากับเรื่องเลยแฮะ คุณฝนเธอจะพอใจไหมนะ ถ้ารู้ ไม่เป็นไรน่า...

เดี๋ยวนี้ตามงานศพพวกเด็กรุ่นใหม่เขาเอาเพลงลูกทุ่งมาเปิดกันแล้ว


โดย: ลุงบูลย์ ๒ (pantamuang ) วันที่: 8 มิถุนายน 2551 เวลา:9:25:12 น.  

 
"จึงให้หน้าบ้านของลุงตอนนี้รกไปด้วยหญ้าที่เทวดาปลูก เฮ้อ เศร้าจริง ๆ"

ต้นหญ้าที่ว่ามาอาศัยอยู่หน้าบ้านคุณลุง
อย่างไม่ได้ขออนุญาตต้องเก็บค่าเช่าพื้นที่ด้วยนะคะ





โดย: อนันตลัย วันที่: 8 มิถุนายน 2551 เวลา:14:45:00 น.  

 
สวัสดีอนันตาลัย

แหมใช้ชื่อคล้าย ๆ นิยายสยองขวัญเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเจ้าหญิงโบราณของเขมร อ้อ นึกออกแล้ว "อมฤตาลัย" ของ ตรี อภิรุม

เรื่องหญ้ากำลังเที่ยวว่าจ้างคนตัดมาไล่ที่ให้อยู่

สวัสดีโดม

สงสัยเรตติ้งจะไม่มี ไม่มีก็ดีจะได้ไปวาดรูปให้ครูดีกว่า ทำมาหาเงินในเป็นล่ำเป็นสันไปเลย วัน ๆ เปิดดูแต่อีแมวอย่างเดียว เผื่อใครส่งข่าวมา


โดย: ลุงบูลย์ IP: 118.173.115.174 วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:18:59:04 น.  

 
เพิ่งไปพบบทความที่ดีที่สุดในบล็อกของคุณโดม วุฒิชัย

ขอก๊อปมาไว้อ่านอีก หรือเผื่อท่านที่อาจจะยังไม่ได้อ่าน

เรียน สื่อมวลชนทุกแขนงและประชาชนทุกท่าน


สิ่งที่ส่งมาด้วย บทความชุด ' จับผิด ริษยา แตกสามัคคี ' โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ( ท่าน ว.วชิรเมธี )


เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยในทุกวันนี้
เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างสูง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ( ท่าน ว.วชิรเมธี ) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย พระ -นักเทศน์ นักเขียน นักคิด และนักวิชาการผู้มีความปรารถนาดีต่อสังคมไทย

จึงมีความเห็นว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เราคนไทยทุกภาคส่วนควรที่จะหันหน้าเข้าหากัน ประนีประนอม และเตือนสติซึ่งกันและกันก่อนที่ความขัดแย้งทั้งหลายจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี จึงได้เขียนบทความพิเศษ ในชื่อ ' จับผิด ริษยา แตกสามัคคี ' เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเตือนสติชาวไทยให้เกิดความสามัคคี ไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย ทั้งนี้เพื่อความศานติและความสงบสุขของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นสำคัญ


ด้วยเหตุนี้ทางสถาบันวิมุตตยาลัย จึงขอความกรุณาท่านสื่อมวลชนทุกท่านและทุกแขนง ในการเผยแผ่บทความดังกล่าวออกสู่สายตาสาธารณชน เพื่อประโยชน์อย่างมหาศาลอันจะเกิดขึ้นต่อสังคมไทย ในการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมที่อุดมด้วยบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์และศานติ







ขอแสดงความนับถือ


ชินวัฒน์ ชนะหมอก






บทความพิเศษ ชุด “ถอดสลักความรุนแรงในสังคมไทย”

จาก สถาบันวิมุตตยาลัย : สถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งการตื่นรู้สู่อิสรภาพ








จับผิด ริษยา แตกสามัคคี

ว.วชิรเมธี
ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย



สังคมไทยก้าวมาอยู่บนปากเหวของความรุนแรงในระดับใกล้เกิด “สงครามกลางเมือง” อีกครั้งหนึ่งแล้ว ไม่น่าเชื่อว่า เวลาเพียงปีเดียวที่เราผ่านการรัฐประหารมาอย่างสงบ แต่แล้วเพียงปีถัดมา ทุกอย่างก็หมุนวนกลับมาเริ่มต้นที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง

ต้องนับว่า ศักยภาพที่จะทำลายล้างกันเองนั้น เป็นศักยภาพพิเศษของคนไทยจริงๆ

วัฏจักรแห่งความรุนแรงในสังคมไทยเกิดขึ้นจากสาเหตุที่หมักหมมสั่งสมมานาน เข้าลักษณะ “เหตุหลากหลาย ปัจจัยอเนก” คือ สามารถวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงกันได้จากหลายหลักคิด หลายทฤษฎี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า มองจากมุมไหนเป็นสำคัญ

ในที่นี้ ผู้เขียนจะไม่เสียเวลาวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงที่นำพาเรามาถึงวันนี้ เพราะเราพูดกันมามากพอแล้ว แต่อยากจะพูดถึง “ปรากฏการณ์” ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในเวลานี้มากกว่า

นั่นคือ ณ วันนี้ คนไทยทะเลาะกันจนก่อให้เกิดภาวะ “จับผิด ริษยา แตกสามัคคี” กันไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

“จับผิด” คือ คนไทยแทบทุกภาคส่วนถูกผลักให้เลือกข้าง จนกลายเป็นพวกสุดโต่ง ไม่ขวาก็ซ้าย ไม่บวกก็ลบ ไม่พลังประชาชน ก็พันธมิตร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เราอยู่กันมาอย่างสนิทสนมกลมเกลียว และยอมรับความหลากหลายของคนไทยได้อย่างเป็นเรื่องสามัญ

แต่ครั้นมาถึงเวลานี้ จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราคนไทยล้วนถูกผลักให้เลือกข้างกันเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ตามมาหลังการเลือกข้างก็คือการ “ตั้งธงเอาไว้ในใจ” หมายความว่า เวลาที่เรามองฝ่ายตรงกันข้ามกับเรา เราไม่ได้มองเขาด้วยสายตาแห่งไมตรีอย่างที่เคยมองกันและกันอีกต่อไป

ยามนี้ เรามองใครที่ไม่ใช่ฝ่ายเรา ด้วย “อคติ” คือ คิดว่า เมื่อเลือกที่จะยืนอยู่ตรงข้ามกับฉัน อะไรๆ ก็ตามที่คุณทำ ที่คุณศรัทธา ที่คุณเทิดทูน ล้วนแล้วแต่ “ผิด” หรือ “มีวาระซ่อนเร้น” กันทั้งนั้น การที่เราปล่อยให้ตัวเองตกลงไปในหลุมพรางแห่งอคติ (ความลำเอียง) ทั้ง ๔ ประการ คือ

(๑) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก (พวกเดียวกับฉัน ก็ต้องช่วยกันไว้ก่อน)

(๒) โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง (เกลียดมันเข้าไส้)

(๓) โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง (ตัวเรา/พวกเรา ดีที่สุด-ถูกที่สุด)

(๔) ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว (ถ้าเราไม่จัดการเขา เราก็จะถูกเขาจัดการ)

ทำให้เราสูญเสียศักยภาพในการที่จะใช้ปัญญาอย่างเป็นกลาง และนั่นคือต้นทางที่นำเราเข้าสู่การ “จับผิด” คนที่เห็นไม่ตรงกับเรา ไม่ใช่พวกเรา ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เราจะโยนบาปให้เขาล่วงหน้าเอาไว้เสมอ

การมีโลกทัศน์เช่นนี้ ทำให้เรามองเพื่อนมนุษย์ในลักษณะ “สถิต” คือ เขาไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนที่ดีขึ้นมาได้เลย ลงว่า เราตั้งธงเอาไว้ในใจแล้วว่า คนอย่างนี้คือคนเลว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เขาอาจไม่เป็นเช่นนั้น หรืออาจเคยเป็นเช่นนั้น แต่มันเป็นอดีตไปแล้ว

การที่เรามองใครในลักษณะจับผิดล่วงหน้า มองหาแต่ด้านลบของเขาอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราไม่สามารถรัก หรือให้อภัย และ/หรือให้โอกาสกับคนที่อยู่ข้างหน้าเราได้อีกเลย ผลของการมีทัศนะเชิงจับผิดเพราะมีธงแห่งการมองโลกในแง่ลบอย่างนี้อยู่ในใจก็คือ เราได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังให้กับคนไทยมากมาย ซึ่งบางทีเขาไม่ได้เป็นคนเลว ไม่เคยทะเลาะกับเรา ไม่เคยรู้จักเรา เขาเพียงแต่เห็นไม่ตรงกับเรา และเลือกศรัทธาในลัทธิ พรรค บุคคล ที่ต่างกับเราเท่านั้น

แต่เพราะวิธีมองโลกของเรานั้นเป็นลบ คนดีๆ มากมายซึ่งอยู่ตรงหน้าเรา ก็ได้ถูกป้ายสีให้เป็นคนเลวไปหมดแล้ว ด้วยท่าทีการมองโลกเช่นนี้เอง ในวันนี้ สังคมไทยของเราจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศของ “ความเกลียดชัง” และเมื่อมันถูกกระตุ้นบ่อยๆ ก็คงจะต้องเกิดสงครามกลางเมืองเข้าจนได้ไม่ชั่วโมงใดก็ชั่วโมงหนึ่ง (ไม่นับเป็นวัน เพราะสถานการณ์นั้นตึงเครียดชนิดต้องจับตาดูกันเป็นรายชั่วโมง)


“ริษยา” คือ เมล็ดพันธุ์ของความรุนแรง ซึ่งแฝงฝังอยู่แล้วในใจของเราทุกคน (หากขาดสติ) อาการของความริษยา คือ เห็นคนอื่นได้ดีแล้ว ทนอยู่ไม่ได้ หรือรับไม่ได้หากเห็นใครก็ตามที่อยู่ตรงกันข้ามกับเรา “ได้ดีมีสุข” ริษยานั้น เป็นกิเลสตระกูลโทสะ


โทสะ ก็คือ ความรุนแรงที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความโกรธ หรือความรู้สึกอยากทำลาย ทำร้าย ประหัตประหาร เข่นฆ่าราวี และทำลายล้างให้ตายตกไปตามกัน ในเมืองไทยนั้น น่าสังเกตเป็นอย่างมากว่า กิเลสที่ชื่อ “ริษยา” ค่อนข้างกัดกินคนไทยมากมาย เข้มข้นกว่ากิเลสชนิดอื่นๆ

สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ “ใช้คนดีเปลือง- ใช้คนเก่งเปลือง” หมายความว่า เห็นใครดี ใครเก่งขึ้นมาเป็นต้องหาวิธี “สกัดดาวรุ่ง” เอาไว้ก่อนเสมอ แทนที่เห็นใครเก่งขึ้นมา ใครดีขึ้นมา จะช่วยกัน “ส่งเสริม” กลับพากันหาวิธี “ส่งศพ” (ภาษาล้านนา แปลว่า ผลักเข้าป่าช้า) คนเก่งๆ คนดีๆ ในเมืองไทย จึงรวมตัวกันไม่ค่อยติด ทำงานเป็นทีมด้วยกันไม่ค่อยได้ เพราะเราหายใจเป็นความริษยาตาร้อน จนมันได้กลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งซึ่งซึมลึกลงไปในสายพันธุ์ของคนไทยไปแล้ว

เรื่องความริษยานี้ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เคยเขียนเป็นกวีนิพนธ์เอาไว้เมื่อนานมากแล้วว่า


“อันที่จริงคนเขาใครให้เราดี
แต่พอเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย
ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”


หากเราคนไทย ไม่ยอมให้ใครได้ดีเลย เราก็คงจะต้องทะเลาะกันต่อไปอย่างไม่รู้จบสิ้น หากเราคนไทยไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาที่รู้แพ้รู้ชนะเลย ในอนาคตอันใกล้ เราคนไทยก็คงต้องหันปลายกระบอกปืนมาเข่นฆ่ากันเอง


“แตกสามัคคี” อาการแตกสามัคคีนั้น เป็นผลลัพธ์ของการจับผิด ริษยา ที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง หมายความว่า เมื่อเราคอยแต่จะจับผิดใคร เราก็มองไม่เห็นความดีของคนๆ นั้นอีกต่อไป

เมื่อมองไม่เห็นว่าเขาเป็นคนดี เราจึงรู้สึกเกลียดชังเขาไปโดยอัตโนมัติ และเมื่อพานเกลียดชังแล้ว เรื่องอะไรที่เราจะยอมให้คนเลวๆ (ตามการทึกทักตั้งธงของเราเอง) เช่นนั้นได้ดี และเมื่อไม่อยากเห็นใครได้ดี เราก็คงไม่มีโอกาสที่จะทำงานร่วมกันได้อีกเลย (=แตกสามัคคีโดยสมบูรณ์) พอแตกสามัคคีแล้ว วิกฤติทุกชนิดก็พร้อมใจกันเคลื่อนพลเข้าสู่หมู่คณะ หรือสังคม หรือแม้กระทั่งประเทศได้อย่างง่ายดาย

เช่นเดียวกับเมื่อครั้งพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) และพระเชษฐาธิราช แตกสามัคคีกัน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แม้ทั้งสองพระองค์ จะเป็นพี่น้องกัน แต่เมื่อแตกสามัคคีกัน เพราะต่างฝ่ายก็ระแวงในกันและกันเสียแล้ว สุดท้าย ก็เลยเปิดช่องให้พม่ายกทัพเข้ามายึดกรุงศรีอยุธยาได้อย่างง่ายดาย

การเสียกรุงเพราะแตกสามัคคีครั้งนั้น ทำให้ชาวอโยธยาสิ้นชาติ เมื่อสุนทรภู่ไปเยี่ยมกรุงเก่า เห็นสภาพปรักหักพังของเมืองฟ้าอมรแห่งนั้นแล้วเกิดความสังเวชสลดใจ จึงบันทึกไว้ด้วยความหดหู่ว่า


“กำแพงป้อมขอบคูก็ดูลึก
ไม่น่าอ้ายข้าศึกเข้ามาได้
ยังปล่อยให้ข้ามเข้าเอาเวียงชัย
โอ้กระไรเหมือนบุรีไม่มีชาย”


บาทที่ว่า “ยังปล่อยให้ข้ามเข้าเอาเวียงชัย” นี้ลึกซึ้งมาก ความหมายระหว่างบรรทัดก็คือ หากเรา “ไม่ปล่อยให้...” หรือหากเราไม่ “แตกสามัคคี” กันเอง พม่าจะทำอะไรกรุงศรีอยุธยาได้

กรุงศรีอยุธยาแตกไม่มีชิ้นดี ไม่ใช่เพราะไม่มีทแกล้วทหาร หากแต่แตกคราวนั้น เพราะเรา “แตกสามัคคี” กันเป็นการภายในอยู่ก่อนแล้ว

กรุงเทพฯ ประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสู้อุตส่าห์สร้าง สืบสาน ส่งต่อ และสั่งสมความศิวิไลซ์กันมาจนกลายเป็นประเทศที่นานาอารยชาติให้การยอมรับนับถือ จะต้องมาแตก ล่มสลาย ทำลายล้างกันเอง เพียงเพราะเรา “แตกสามัคคี” ตามรอยกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งในยุคสมัยของเรากระนั้นหรือ ?

พอเสียทีได้ไหม ?

เลิก “จับผิด ริษยา แตกสามัคคี”

หันมา “จับตาดู (อย่างไม่มีอคติ)

มุทิตา (เมตตา) สามัคคี” กันดีไหม ?


“จับตาดู มุทิตา สามัคคี”


เพียงสามวลีแค่นี้ หากทำได้ เราอาจไม่ต้องมีรัฐประหาร เราอาจไม่ต้องฆ่ากันตายด้วยฝีมือคนไทยด้วยกันเองเหมือนที่ผ่านมา





Create Date : 01 มิถุนายน 2551
Last Update : 9 มิถุนายน 2551 18:56:56 น. 14 comments
Counter : 149 Pageviews.


โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:19:26:14 น.  

 
อคติ ๔ ประการ

พุทธองค์ ทรงกล่าวถึง อคติ
ทรงดำริ แยกให้เห็น เป็นสี่อย่าง
หนึ่งฉันทา คือความรัก พาตาฟาง
ความกระจ่าง ถูกบังมิด จิตเอนเอียง

สองโทสา เป็นความโกรธ โทษไม่น้อย
จิตใจพลอย เศร้าหมอง ยากหลีกเลี่ยง
สามโมหา ความลุ่มหลง รูปสำเนียง
รสกลิ่นเสียง มวลผัสสะ พางมงาย

ข้อที่สี่ คือความกลัว ภยาคติ
พาลรบกวน สมาธิ พาแหนงหน่าย
กลัวทุกอย่าง กลัวกระทั่ง ชังความตาย
อคติ คือมารร้าย ทำลายธรรม

เปรียบดั่งจันทร์ ข้างแรม ฟ้ามืดมิด
อคติ ใครไกล้ชิด ปิดทางสัมม์
มีสี่อย่าง ทุกอย่างล้วน เราควรจำ
เป็นธรรมดำ พามืดมิด ปิดนิพพาน....เฟื่องฟ้า

พระไตรปิฎก เล่มที่ 21

อคติสูตรที่ ๑
[๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้ อคติ ๔ ประการ
เป็นไฉน บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ย่อมถึงโทสาคติ ย่อมถึงโมหาคติ ย่อมถึง
ภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ
ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง
ความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ดุจพระจันทร์ข้างแรม
ฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๗
อคติสูตรที่ ๒
[๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการ
เป็นไฉน บุคคลย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ
ย่อมไม่ถึงภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ
ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง
ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจ อคติสูตรที่ ๓
[๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ย่อมถึงโทสาคติ ย่อมถึงโมหาคติ ย่อมถึงภยาคติ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ
ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง
ความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม เหมือนพระจันทร์ข้างแรม
ฉะนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
บุคคลย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึง
ภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ
ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง
ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจ
พระจันทร์ข้างขึ้นฯลฯ

...เฟื่องฟ้า


โดย: เฟื่องฟ้า IP: 125.27.5.63 วันที่: 10 มิถุนายน 2551 เวลา:5:58:45 น.  

 
สวัสดีครับพี่บูลย์

ได้รับหนังสือที่ส่งไปให้หรือยังครับ ?

ถ้าได้รับช่วยส่งข่าวให้ทราบด้วย

นะครับ อยากรู้ว่ากรุงเทพ-ชุมพร
ใช้เวลากี่วัน


โดย: โดม IP: 124.121.22.176 วันที่: 10 มิถุนายน 2551 เวลา:18:44:48 น.  

 
สวัสดีโดม
ความจริงผมโทร.ถึงคุณแล้วนะ แต่ไม่มีคนรับสาย ขอบคุณมากสำหรับหนังสือ ผมได้รับเมื่อวานนี้ตอนเที่ยง ไม่รู้ว่าคุณส่งมาวันไหน ยังไม่ได้เปิดอ่าน้ลยนะ รับทำงานให้ครู งานยุ่งมาก เขารีบจะเอาขึ้นมาแล้ว


โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 11 มิถุนายน 2551 เวลา:8:04:38 น.  

 
สวัสดีคะลุงบูลย์
เอิร์ธเข้ามาหาข้อมูลลายไทยเพื่อไปสอนนักเรียนเห็นรูปลุงเลยนึกได้ว่าวันนี้เพิ่งเจอลุง ตอนเช้าเอิร์ธไปส่งเด็กนักเรียนเข้าค่ายศิลปะ ดีใจคะที่นักเรียนของเอิร์ธได้เป็นลูกศิษย์ของลุงไว้วันหลังถ้าเอิร์ธมีอะไรติดขัดเรื่องการสอนลายไทยจะเข้ามารบกวนคุณลุงช่วยแนะนำให้นะคะ


โดย: เอิร์ธ IP: 118.173.115.134 วันที่: 9 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:51:27 น.  

 
สวัสดีค่ะลุงบูลย์

หลังจากที่หนูได้เข้าค่ายที่ลุงบูลย์ไปเป็นวิทยากรหนูรู้สึกรักการแต่งกลอนขึ้นมาเยอะเลยค่ะ เดี๋ยวว่างๆจะเข้ามาทักทายใหม่นะคะ


โดย: กมลชนก IP: 118.175.127.200 วันที่: 11 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:39:43 น.  

 
สวยมาก ช๊อบชอบ


โดย: *-* IP: 58.8.114.101 วันที่: 6 ธันวาคม 2551 เวลา:15:24:31 น.  

 
อาจารย์บูลย์ครับ
ผมเด็กพังงายังได้อ่านการ์ตูนของอาจารย์เลยครับ ช่วงปี 13 - 16 ราวนั้น


โดย: มนต์ IP: 61.19.67.131 วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:21:41:37 น.  

 
สวัสดีครับผมเด็กตะกั่วป่า เคยได้อ่านการ์ตูนของครูก็บ่อย มาวันนี้ได้อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวกับบ้านเกิดสมัยตอนเป็นเด็กกั่วป่าสนุกมาก แต่ตอนนี้เงียบเหงาเหมือนหยุดเวลาไว้ กลายเป็นเมืองถ่ายหนัง ถ่ายรูปไปแล้ว ชอบเรือง เขียนลายข้างโลงมาก ทำให้เข้าใจมุมมองของตะกั่วป่าได้กว้างขึ้น ขอบคุณครับ


โดย: เด็กตลาดเหนือ IP: 124.121.57.193 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:2:06:00 น.  

 
อยากได้รูปช้างลายเส้นที่เป็นลายไทยจังเลยกรุณาช่วยหาใด้วยค่ะต้องการด่วน


โดย: คนทำงาน IP: 222.123.172.97 วันที่: 28 พฤษภาคม 2552 เวลา:15:53:21 น.  

 
แม้งแบล็กไม่ได้


โดย: ฮานอบ่ะ IP: 118.172.65.219 วันที่: 15 มิถุนายน 2552 เวลา:21:22:17 น.  

 
สวยมากเลยค่ะ


โดย: ลายไทย IP: 124.120.61.121 วันที่: 21 มิถุนายน 2552 เวลา:9:39:47 น.  

 
บอกได้คำเดียวว่าสวยคะ อยากเรียนลายไทยบ้างไม่ทราบว่าหาที่เรียนได้ที่ไหนคะ


โดย: ย้งยี้(yonge_kan@hotmail.com) IP: 61.91.253.67 วันที่: 23 มิถุนายน 2552 เวลา:14:42:53 น.  

 
สุดยอดครับ ทั้งฝีมือและแนวคิด
"ไม่ต้องพูดมาก ทำให้ดูเลย"


โดย: หนึ่ง ปริญญา IP: 222.123.210.206 วันที่: 13 ตุลาคม 2552 เวลา:5:48:58 น.  

 
ชอบมากเลยค่ะลวดลายสวยดีค่ะ


โดย: สายไทย IP: 124.121.129.48 วันที่: 21 ธันวาคม 2552 เวลา:18:39:50 น.  

 
รูปลายไทยสวยมากเลยนะครับ
แต่เหมื่อนกับว่าผมเคยเห็นในหนังสือหลายๆเล่มแล้วนะครับ
แต่คุณลุงก็วาดได้สวยมากครับอยากเก่งแบคุณลุงบ้างนะครับ


โดย: ขวัญชัย IP: 58.136.10.171 วันที่: 27 มกราคม 2553 เวลา:18:54:03 น.  

 

อยาากได้รูปมาก *กว่านี้*


โดย: แนท IP: 118.172.228.83 วันที่: 7 มิถุนายน 2553 เวลา:18:04:37 น.  

 
สวย...มากกกกกกกกกก
...แต่...น้อยยยยยยยยยย มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก


โดย: มาย IP: 222.123.9.95 วันที่: 22 กรกฎาคม 2553 เวลา:17:11:23 น.  

 
สุดยอดดดดดดดดด
โคตรสวยเลยอ่ะ




โดย: เจ้าแม่เส้นเล็ก IP: 111.84.156.13 วันที่: 1 กันยายน 2553 เวลา:21:46:39 น.  

 
โคตรเเจ๋งง่ะ
555+มีความสุกจังเยย
โดนแฟนทิ้ง T-T


โดย: เจ้าแม่เส้นเล็ก IP: 111.84.156.13 วันที่: 1 กันยายน 2553 เวลา:21:50:22 น.  

 
ๆไำดไำัเ"๔็ฎ๒ธ๔๋์ฤฎธ๋ฎฑธ็ฤฌ็ฎฤธ็ฎฤฑ็ฎฑ็ฎฤฑฎฑ็ฎฑฎฑฎฑฌฎฑฌฎฤฑฌ


โดย: ฟไดฟได IP: 119.42.87.243 วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:21:42:25 น.  

 
เรียบเรียงเรื่องได้น่าสนใจดีครับ ชอบรูปภาพที่นำมาประกอบ ทำให้เห็นภาพอ่านแล้วเคลียดีครับ
ขอให้ลุงประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจครับ


โดย: ตี้โหด IP: 58.9.150.195 วันที่: 14 พฤษภาคม 2554 เวลา:20:58:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pantamuang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




ไม่อยู่อย่างอยาก แต่ยังอยากจะอยู่
อยู่อย่างไม่ลำบาก เวลาที่เหลือน้อยรีบสอยรีบคว้า
ก่อนจะหมดเวลาให้สอย

ดวงดาวบนฟ้าก็สอยได้ ถ้ารู้จักต่อด้ามฝันให้ยาวพอ

ฝันถึงไหนก็ได้ มีสิทธิ์ฝัน แต่จะเป็นจริงหรือไม่ช่างฝัน
เพราะสิ่งที่ฝันคือนวนิยาย..

ชีวิตก็คือนวนิยายเรื่องหนึ่ง ที่เราเป็นผู้เขียนและกำกับ.

เริ่ม 9 กันยายน 2550

Friends' blogs
[Add pantamuang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.