...คิดว่ายังมีความหวัง ตราบที่ยังมีลมหายใจ...
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
1 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
หลวงปู่สงฆ์

หลวงปู่สงฆ์
พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ วัดศาลาลอย จังหวัดชุมพร

เรื่อง คุณครููจีระพันธุุ์ เจียระนัย
ภาพ ลุงบูลย์



บวชเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๘ ปี ที่วัดสวี พออายุครบอุปสมบท จึงอุปสมบทที่วัดควน อำเภอสวี ได้รับฉายาว่า “จนฺทสโร” หรือ สงฆ์ จันทะสะโร ท่านสนใจการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยได้ปฏิบัติตั้งแต่ยังไม่บวช



แต่ในวัดไม่มีพระอาจารย์สอนวิชาสมถวิปัสสนา พระสงฆ์จึงลาพระอุปัชฌาย์เดินทางไปแสวงหาพระอาจารย์ การเดินทางลำบาก มีแต่ทางเรือ กับทางเดินในป่า ชาวบ้านต้องมีอาวุธมีดพร้า ไว้ป้องกันตัวและใช้ถาง ริดกิ่งไม้ เถาวัลย์ แต่พระห้ามมีมีดพร้าหรืออาวุธ จึงต้องเดินมุดลอดพงหนาม เดินด้วยเท้า ไปมืดค่ำที่ไหนก็ปักกลดนอนพักที่นั่น จนไปถึงเกาะภูเก็ต



พระสงฆ์ได้สมัครเป็นศิษย์ ของพระอาจารย์รอด สอนวิชาวิปัสสนากรรมฐานที่วัดโต๊ะแซ สมัยนั้นยังเป็นวัดป่า (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโฆสิตวิหาร) พระสงฆ์ได้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนาที่วัดนี้ พอออกพรรษา ก็คิดว่าตนมีความสามารถพอที่จะออกไปเดินธุดงค์ต่อ จึงขออนุญาตพระอาจารย์ แต่พระอาจารย์ไม่อนุญาต รออยู่จนพรรษาที่ ๓ จึงไปขออนุญาตอีก คราวนี้พระอาจารย์อนุญาตและพูดว่า
“ไปแล้วอย่ามาอีก ฉันไม่ใช่อาจารย์ที่แท้จริงของคุณ อาจารย์ที่แท้จริงของคุณอยู่ที่ท่าข้าม พุนพิน แล้วพระอาจารย์ก็บอกทางลัดให้ “พอขึ้นจากเรือที่ฝั่งแล้ว ให้เดินตรงไปที่ภูเขาสูง จะมีผู้รออยู่และนำทางคุณไป”


พระสงฆ์จึงออกจากวัดโต๊ะแซ เดินเท้ามาตามทางเดิม แวะหยุดพักปักกลดมาเป็นระยะ ใช้เวลาเป็นเดือน กว่าจะมาถึงที่ข้ามฟากจากเกาะภูเก็ตมาสู่ฝั่งพังงา (ปัจจุบันคือ ท่าฉัตรชัยกับท่านุ่น) อันเป็นที่ ๆ แคบที่สุดของทะเลที่ขวางกั้น ระหว่างเกาะภูเก็ตกับแผ่นดินพังงา
พระสงฆ์ขออาศัยเรือชาวบ้านข้ามฝั่งแล้วก็หมายตายอดเขา ถึงเชิงเขาเป็นเวลาใกล้ค่ำ จึงเตรียมกางกลด เพื่อพักผ่อน พลางนึกในใจว่า ในป่าในเขาแถบนี้ ไม่มีบ้านเรือนของผู้คน แล้วจะไปพบผู้นำทางที่พระอาจารย์บอกได้ที่ไหน แต่พระหนุ่มสงฆ์ยังไม่ทันจะได้ปักด้ามกลด ลงดินก็ได้ยินเสียงดังสวบสาบมาจากป่า



พอหันไปมองก็เห็นช้างพลาย (ช้างตัวผู้) รูปร่างสง่างามสูงใหญ่ กำลังใช้งวงจับรูดใบไผ่และยอดไผ่อ่อนใส่ปากเคี้ยว พอเห็นพระหนุ่ม ช้างโบกหูอันใหญ่โตขึ้นลง ๓ หน พร้อมชูงวงชี้มาที่พระ แล้วผงกหัวขึ้นลงอีก ๓ ครั้ง แสดงความเคารพ จากนั้นก็หันไปสนใจกับยอดไม้ต่อ พระหนุ่มสงฆ์พิจารณาแล้วก็นึกว่า คงเป็นผู้นำทางตามที่พระอาจารย์ว่าไว้แน่ๆ
คืนนั้นพระหนุ่มนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ในกลด โดยมีช้างคอยอารักขา แต่พอรุ่งเช้า พระหนุ่มเก็บกลดเสร็จ ยังไม่ทันจะได้หาลูกไม้ฉัน ช้างป่าก็ออกเดิน ทำให้พระหนุ่มต้องรีบเดินตามช้างเชือกนั้นไป



ช่วงเวลาที่พระสงฆ์เดินทางออกมาจากวัดโต๊ะแซ พระอาจารย์รอดอาพาธแล้วก็มรณภาพ ส่วนพระสงฆ์ ช้างพาเดินขึ้นเขา ลงห้วย จนไม่มีเวลาแม้แต่จะหาผลไม้ขบฉัน พอช้างหยุดเดิน ช้างกินใบไผ่ กินหยวกกล้วย แต่พระสงฆ์เลยเพลฉันอะไรไม่ได้ก็ต้องอด อาศัยการเจริญภาวนาทำให้พระหนุ่มสงฆ์ไม่อ่อนเพลีย จนล่วงเข้าบ่ายวันที่ ๓ ขณะเดินอยู่บนเชิงเขา พระหนุ่มจึงเห็นหลังคาบ้านหลายหลังอยู่เบื้องล่าง ช้างนำทางก็หยุดหันหน้าไปทางหมู่บ้าน โบกใบหูขึ้น ๓ ครั้ง ก่อนจะหันกลับไปสู่ทิศทางเดิม



พระสงฆ์สวดอวยพรขอบคุณช้าง แล้วเดินลงไปที่หมู่บ้าน สอบถามชาวบ้านถึงทางที่จะไปบ้านท่าข้าม ชาวบ้านในแต่ละหมู่จึงช่วยนำทางต่อให้เป็นระยะ ๆ จนถึงบ้านท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงเรือข้ามไปยังฝั่งด้านเหนือของแม่น้ำตาปี พบชายคนหนึ่งเดินแบกไม้สวนทางมาจึงถาม “แบกไม้ไปทำอะไรโยม?”
“เอาไปทำเพิงให้พระเผื่อฝนตกจะได้ไม่เปียกขอรับ” ชายคนนั้นตอบ
ตอนแรกพระสงฆ์กะจะทักทายเพื่อถามเส้นทาง แต่พอได้ยินชายแบกไม้พูดถึงพระ ทำให้พระสงฆ์เกิดฉุกคิดขึ้นมา หรือว่าจะเป็นพระที่อาจารย์ให้มาหา



พระสงฆ์จึงเดินตามชายคนแบกไม้ไป ก็ไปพบพระธุดงค์วัยกลางคน ชื่อหลวงพ่อเวียน จึงขอมอบตัวเป็นศิษย์ แต่หลังจากฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กับหลวงพ่อเวียนได้ ๓ วัน หลวงพ่อเวียนก็บอกว่า
“น้องเจ้ารออยู่ที่นี่นะ หลวงพี่จะไปทำธุระสักพัก”
หลวงพ่อเวียนไม่ได้บอกจุดหมายให้ลูกศิษย์รู้ว่าไปไหน จน ๑ เดือนผ่านไปหลวงพ่อเวียนก็ไม่กลับ พระสงฆ์ไม่รู้จะไปตามหาหลวงพ่อเวียนได้ที่ไหน จึงเดินธุดงค์ขึ้นเหนือก็ไม่พบพระอาจารย์ พระสงฆ์เลยตั้งใจว่าจะไปให้ถึงจังหวัดสระบุรี เพื่อกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท
ตอนผ่านหมู่บ้านหนองไม้เหลือง เขตจังหวัดเพชรบุรี



โจรป่าคนหนึ่งเห็นพระเดินมารูปเดียว ก็คิดว่าในบาตร น่าจะมีข้าวของมีค่า เพราะที่ผ่าน ๆ มา เคยปล้นพระได้ทรัพย์สินทองที่ติดตัวพระมากมาย แต่พระสงฆ์มีร่างสูงใหญ่ โจรกลัวว่าถ้าเข้ายื้อแย่งเอา คงสู้กำลังของพระไม่ได้ จะวิ่งไปตามหัวหน้าโจรและพวกมาช่วย ก็กลัวจะล่าช้า จึงวิ่งไปดักหน้า ใช้มีดและดาบคม ฝังลงไปในทางเดินที่มีดินปนทราย โดยหงายเอาคมขึ้น กะให้พอดีกับระยะจังหวะก้าวย่าง และใช้ใบไม้แห้งโรยพรางตาไว้อีกชั้นหนึ่ง คิดว่าพอพระสงฆ์เหยียบมีด ดาบ เท้าเป็นแผลเจ็บ ก็จะเข้าแย่งบาตรและย่ามไป

พระสงฆ์ได้เดินเหยียบคมมีดดาบนั้น โดยไม่เป็นอันตราย ทำให้โจรผิดหวัง รีบไปคว้าดาบขึ้นมาใหม่แล้ววิ่งไล่ตาม พอไล่ทันก็เงื้อดาบขึ้นจะฟัน แต่พอจะฟันก็เกิดอาการเข่าอ่อนยืนไม่ไหวต้องทรุดตัวลง เหมือนขาไม่มีแรง โจรพยายามลุกขึ้นใหม่จะฟันอีกหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็เข่าอ่อนฟันไม่ได้ สุดท้ายก็วิ่งไปดักหน้าร้องถามว่า
“ท่านมีของดีอะไร ทำไมมีดดาบจึงไม่ทำอันตรายแก่ท่าน?”
พระสงฆ์ตอบ “เรามีดีที่ใจ” (ไม่มีโลภ โกรธ หลง) มีแต่ชีวิตที่อุทิศเพื่อพระพุทธศาสนา พาตนเองให้พ้นจากทุกข์ และเพื่อสอนคนอื่นให้พ้นจากทุกข์



โจรเห็นเป็นอัศจรรย์ คิดว่าพระมีของดีโจรอยากได้ของดี จึงนิมนต์ท่านไปพักในชุมโจร หัวหน้าโจรเห็นพระเดินมากับสมุนของตน ก็คิดว่าสมุนพาพระมาให้ตนปล้นทรัพย์ พอพระเดินขึ้นไปบนบ้าน หัวหน้าโจรตรงเข้ามาแย่งย่ามและบาตร พระสงฆ์อยากจะสั่งสอนหัวหน้าโจรให้สำนึกบาปกรรม จึงจับหัวหน้าโจรยกขึ้นแล้วโยนไปในดงหนามข้าง ๆ บ้าน คืนนั้น ทั้งคืนไม่ว่าพวกสมุนโจร จะพยายามช่วยกันถางพงหนามเพื่อที่จะเอาตัวหัวหน้าโจรออกมา ก็เอาออกมาไม่ได้ พระสงฆ์ปล่อยให้หัวหน้าโจรนอนร้องโอดโอยอยู่ในพงหนาม เพื่อดัดนิสัยจนรุ่งเช้า พอรุ่งเช้า พระสงฆ์บอกสมุนโจรให้ไปเอาหัวหน้าออกมา หัวหน้าโจรก็ออกมาจากดงหนามได้อย่างง่ายดาย ทำให้หัวหน้าโจรยอมกราบไหว้นับถือ และพระสงฆ์ก็ได้เทศนาสั่งสอนให้โจรกลุ่มนั้น หันกลับมาเป็นคนดี แล้วพระสงฆ์ก็ออกเดินทางต่อไป จนไปถึงจังหวัดสระบุรี แต่ระหว่างทางช่างลำบากยิ่งนัก ต้องเดินเท้าเปล่าบุกป่าขึ้นเขา ลงห้วย ลงเหว ข้ามลำธาร บาง



ตอนน้ำลึกและเชี่ยว แถมมีไข้ป่าคอยคุกคาม แต่พระสงฆ์เคยเรียนรู้ทางหมอยาพื้นบ้านมาก่อน จึงรู้ว่าพืชชนิดใดเป็นยาสมุนไพร นอกจากนั้นยังต้องผจญภัย กับพวกสัตว์ป่า หมี เสือ งูพิษและสัตว์ร้ายอีกนานา ระหว่างหยุดพักปักกลดนั่งทำสมาธิ มีสัตว์ร้ายมาส่งเสียงข่มขู่จะเอาพระสงฆ์เป็นอาหารก็หลายครั้ง แต่พระสงฆ์มีสมาธิแก่กล้า พวกสัตว์ป่าจึงได้แต่ส่งเสียงขู่คำราม มีเสือตัวหนึ่งคอยมาเดินวนรอบ ๆ กลด พระสงฆ์นำน้ำใส่บาตรวางไว้หน้ากลด เสือกินน้ำในบาตรแล้วก็หายดุร้าย เดินหายเข้าป่า ไม่มารบกวนอีก
คืนหนึ่งขณะที่พระสงฆ์กำลังเข้าสมาธิเจริญภาวนา พระสงฆ์รู้สึกว่า มีตัวงูใหญ่และหนัก เคลื่อนขึ้นทับขาซ้าย แล้วเคลื่อนไปยังขาขวา แต่ท่านก็ยังสงบจิตนิ่งอยู่อย่างนั้น จนงูพันรอบสะเอว พันลำตัว ส่วนหัวและจมูกของงู มาจ่ออยู่ตรงหูของท่าน



งูเหลือมเป็นสัตว์เลือดเย็น มีลำตัวยาว สามารถกลืนกวาง หรือคนได้ทั้งตัว เพราะปากและขากรรไกรยืดได้ สามารถอ้าปากได้กว้าง ปรกติงูเหลือมจะแอบซุ่มอยู่บนคาคบไม้ รอคอยจังหวะให้เหยื่อเดินมา แล้วมันก็ทิ้งตัวลงจากต้นไม้ ใช้ร่างอันยาวรัดกายเหยื่อม้วนพันไปรอบ ๆ
แม้งูเหลือมจะไม่มีพิษ แต่เมื่อรัดร่างของเหยื่อมันจะมีพลังมาก รัดแน่นจนเหยื่อกระดูกแตก จากนั้นมันจึงค่อยๆ กลืนเหยื่อจากด้านศีรษะเข้าไปก่อน จนเหยื่อหายเข้าไปอยู่ในท้องของมัน จากนั้นมันก็นอนอยู่นิ่ง ๆไม่กินอาหารอะไรอีก เป็นเดือน ๆ พระสงฆ์ไม่ขยับกาย แต่แผ่กุศลให้และคิดในใจว่า หากเคยทำกรรมไว้กับงูเหลือม ท่านขอมอบชีวิตให้ แต่ถ้าไม่เคยมีกรรมเวรต่อกัน ขอให้งูจงอย่าสร้างกรรมแก่ท่าน ปรากฏว่าอีกครู่เดียว งูเหลือมค่อย ๆ คลายตัวเลื้อยลงจากท่านแล้วก็หายไป
หลังจากเข้าไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีเสร็จ พระสงฆ์คิดต่อไปว่า ควรจะไปกราบนมัสการพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้ว จังหวัดพระนครด้วย จะได้ไม่เสียเที่ยวที่อุตส่าห์เดินทางมา


ตอนที่เดินทางเข้าเขตจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) พระหนุ่มปักกลดอยู่ใกล้บ้านตาและยายคู่หนึ่ง สองตายายจัดทำอาหารมาถวาย และตากับยายถามท่านว่า
“เมื่อคืนหลวงพ่อฝันอะไรบ้าง” พระสงฆ์ตอบซื่อ ๆ ว่า “ฝันเห็นเสือ”
สองตายายเอาความฝันของพระสงฆ์ไปซื้อหวยรัฐบาล สมัยนั้นมี “หวย ก- ข” ( ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก) สองตายายซื้อตัว ส ปรากฏว่าหวยออกมาเป็นตัว ส สองตายายถูกหวย ได้เงิน(เหรียญ)กลับมาบ้าน ๓ ขันเต็ม ๆ ตายายแบ่งเงินส่วนหนึ่งถวาย พระสงฆ์บอกว่า พระไม่รับเงินและทอง และไม่ส่งเสริมให้เล่นการพนัน เพราะเป็นประตูนรก (อบายมุข) แต่สองตายายรู้ว่า หลวงปู่จะกลับไปชุมพรทางเรือ จึงนำเงินค่าโดยสารไปให้นายท้ายเรือสำเภา และเรือสำเภาก็มาเทียบท่าที่ปากน้ำชุมพร



เมื่อขึ้นจากเรือ พระสงฆ์เดินธุดงค์ไปยังบ้านปลายคลองน้อย อำเภอสวี ตอนนั้นยังเป็นป่าเขากันดาร ไกลความเจริญ พระสงฆ์ไปปักกลดอยู่ในราวป่าใกล้หมู่บ้าน เช้าก็ออกไปบิณฑบาต ไม่มีผู้ใดถวายอาหารเลย ท่านคิดว่าเป็นเพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าจะมีพระมาบิณฑบาต วันแรกจึงไม่ได้ฉันอาหาร วันรุ่งขึ้นพระสงฆ์ไปบิณฑบาตในหมู่บ้านอีก พอเห็นพระชาวบ้านพากันปิดประตู แต่แทนที่พระสงฆ์จะรีบไปหมู่บ้านอื่น กลับมีความคิดว่า ถ้าปล่อยให้ชาวบ้านไม่รู้จักพระ ชาวบ้านจะทำแต่บาปกรรม อนาคตจะตกนรกหมกไหม้ ซึ่งน่าสงสารมาก และถ้าท่านท้อถอย ใครจะสอนให้ชาวบ้านรู้จักบาป -บุญ พระสงฆ์จึงตั้งใจว่าจะต้องทำให้ชาวบ้านรู้จักทำบุญให้จงได้
ท่านเข้าไปบิณฑบาตซ้ำ ๆ อยู่ ๖ วัน ตลอด ๖ วัน ไม่ได้รับอาหารจากชาวบ้านเลย ปรกติตอนที่ท่านยังเดินธุดงค์อยู่ในป่าลึก ท่านอาศัยผลไม้ในป่าและน้ำในลำธาร ทำให้รอดชีวิตมาได้ แต่ตอนนี้มีหมู่บ้าน ท่านจึงตั้งจิตมั่นว่า ถ้าชาวบ้านไม่ใส่บาตรท่านก็จะไม่ยอมฉันสิ่งใด
เช้าวันที่ ๗ ท่านพาร่างกายอันอิดโรย เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านอีก คราวนี้ชาวบ้านคนหนึ่งถวายข้าวสุกมา ๓ ช้อนทัพพี เมื่อกลับมาถึงกลดท่านจึงฉัน พอข้าวมื้อแรกตกถึงท้อง พระสงฆ์เกิดอาการหน้ามืดแล้วสลบไป จนบ่ายจึงฟื้นขึ้น



เช้าวันที่ ๘ พระสงฆ์ออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้านอีก คราวนี้ชาวบ้านต่างพากันทำบุญใส่บาตร ด้วยอาหารหวานคาวจนล้นบาตร ตอนเย็นก็ยังมีชาวบ้านนำน้ำปานะ (น้ำผลไม้) มาถวาย ท่านจึงได้มีโอกาสแสดงธรรม ให้ชาวบ้านรู้จักเคารพกราบไหว้และนับถือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
พอออกจากหมู่บ้านปลายคลองน้อย พระสงฆ์มุ่งหน้ากลับไปยังบ้านเขาปีบ ที่ ๆ เคยพบพระอาจารย์เวียน พระสงฆ์ได้พบชายกำลังตัดไม้อีก ถามชายคนนั้นว่า ตัดไม้ไปทำอะไร ชายตัดไม้ตอบว่า ตัดไปทำที่พักให้พระ พระอยู่ที่ไหน ชายตัดไม้ชี้มือบอกว่า ถ้าจะไปตามผมมา
พระสงฆ์เดินตามชายตัดไม้ ไปพบหลวงพ่อเวียน พระอาจารย์ที่ท่านกำลังตามหามา ๗ ปีกว่า นั่งอยู่ในกลด



หลวงพ่อเวียนถามพระสงฆ์ว่า “เป็นยังไงคอยนานไหม?”
หลวงปู่สงฆ์ (ขณะนี้อายุมากขึ้นจึงขอเรียกว่าหลวงปู่สงฆ์) เล่าให้หลวงพ่อเวียนฟังว่า ตลอด ๗ ปีที่เฝ้าตามหาอาจารย์ ท่านได้ธุดงค์ไปเจอะเจออะไรบ้าง ส่วนพระอาจารย์เวียนก็เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ได้เดินธุดงค์ไปเมืองตะนาวศรี ไปเมืองมะริด ไปเมืองย่างกุ้งของประเทศพม่า แล้วก็ย้อนกลับมาทางเดิม เพิ่งมาถึงวันนี้เช่นกัน ทั้งอาจารย์และศิษย์ต่างหัวเราะให้กัน ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า พระอาจารย์เวียนรู้อยู่แล้วว่า การปฏิบัติของหลวงปู่สงฆ์อยู่ในระดับขั้นไหน จึงไม่จำเป็นต้องอบรมสั่งสอนอะไรอีก
จากนั้นทั้งหลวงปู่สงฆ์และพระอาจารย์เวียน ก็อยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกันที่บ้านเขาปีบ ช่วยกันเผยแพร่ธรรมะและสั่งสอนชาวบ้าน ให้รู้จักละเว้นความชั่ว ถือศีลและปฏิบัติธรรม จนกระทั่งพระอาจารย์เวียนมรณภาพ
หลวงปู่สงฆ์จึงย้ายมาจำพรรษาที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย ส่วนเรื่องวาจาสิทธิ์ของหลวงปู่สงฆ์ มีมากมายหลายเรื่อง แต่จะเล่าสัก ๒ เรื่อง



เรื่องที่ ๑ ครั้งหนึ่งทางราชการจังหวัดชุมพร ได้นิมนต์พระสงฆ์และพระเถระหลายรูป จากวัดต่าง ๆ มาที่ศาลากลาง เพื่อร่วมในพิธีถวายพระพรชัย ต้อนรับในหลวงและสมเด็จ พระบรมราชินี ที่จะเสด็จมาเยี่ยมราษฎรชาวชุมพร ขณะนั้นใกล้เวลาที่ในหลวง หรือพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาถึง บรรดาพระสงฆ์และพระเถระจากวัดต่าง ๆ ได้พากันมาถึงที่บริเวณพิธีหมดแล้ว ยังขาดแต่พ่อหลวงสงฆ์หรือหลวงปู่สงฆ์ที่ยังไม่มา ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อนใจเป็นอันมาก
ข้าราชคนหนึ่งจึงถูกส่งไปให้ไปนิมนต์หลวงปู่สงฆ์ ที่วัดศาลาลอยให้รีบมา แต่หลวงปู่สงฆ์กลับบอกแก่ข้าราชการที่ไปตามว่า “วันนี้ในหลวงยังไม่เสด็จ ถ้าในหลวงเสด็จมาเราจึงจะไป”



แล้วท่านก็นิ่งเฉยเสีย ทำความไม่พอใจให้กับข้าราชการคนนั้นมาก เนื่องจากสำนักพระราชวังได้มาเตรียมจัดสถานที่ประทับไว้พร้อมแล้ว ข้าราชการจึงกลับไปแจ้งกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดคิดในใจว่า หลวงปู่สงฆ์แก่มากแล้วจึงเลอะเลือน เมื่อไม่มาก็ตามใจท่าน จนกระทั่งถึงกำหนดเวลาที่ในหลวงจะเสด็จ
การเสด็จของในหลวงครั้งนั้น จะเสด็จจากจังหวัดนราธิวาสมาจังหวัดชุมพร โดยทางเฮลิคอปเตอร์ ขณะที่ข้าราชการจังหวัดชุมพรต่างยืนรอรับเสด็จ ก็ได้รับวิทยุจากจังหวัดนราธิวาส แจ้งว่า
“ล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ไม่สามารถจะเสด็จมาได้ เพราะทัศนวิสัยไม่ดี ท้องฟ้ามืดมิดเต็มไปด้วยเมฆฝน และกระแสลมแรงจัด”
เป็นอันว่าวันนั้น ในหลวงไม่ได้เสด็จมาชุมพร แต่เสด็จมาในวันอื่น เป็นเรื่องที่ชาวชุมพรพูดถึงกันเสมอเมื่อเล่าถึงเรื่องวาจาสิทธิ์ของหลวงปู่สงฆ์
“อีกครั้งหนึ่งมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไปเยี่ยมกราบไหว้หลวงปู่สงฆ์ พร้อมกับนำสัตว์เลี้ยงสี่เท้า ใส่กรงไปถวาย ในเรื่องไม่ได้บอกว่าเป็นสัตว์อะไร แต่หลวงปู่สงฆ์ไม่เลี้ยงสัตว์แบบขังกรง ท่านต้องการให้สัตว์ได้อยู่ตามธรรมชาติจึงพูดว่า “นั่นโยมเอานกมาทำไม?” ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนนั้นรีบพูดแย้งว่า
“ไม่ใช่นกหรอกครับหลวงปู่แต่เป็น...”



ว่าแล้วก็เปิดกรงที่นำมาจะให้หลวงปู่ดูสัตว์ชนิดนั้น (บางคนว่าเป็นกระต่าย) แต่พอเปิดกรงนกตัวหนึ่งก็บินปร๋อออกจากกรงไป ทุกคนที่มาด้วยกับข้าราชการท่านนั้น ต่างพากันตกตะลึงในความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น

......

วันนี้พาท่านหลบร้อน กิเลสการเมือง และร้อนอากาศ เข้าวัดไปกราบพระอริยสงฆ์ ชื่อดังแห่งเมืองชุมพรครับ




Create Date : 01 พฤษภาคม 2553
Last Update : 3 พฤษภาคม 2553 8:33:40 น. 28 comments
Counter : 14755 Pageviews.

 
บางภาพสีแดงแช้ดเกินไปเพราะเวลาปรินท์สีซีด แต่ในคอมดันเป็นอีกอย่าง

ภาพงานครูเป็นงานวาดรีบ ๆ จึงไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก แบบว่าวันหนึ่งต้องวาดให้ได้อย่างน้อย ๓-๔ ภาพ ไม่งั้นไม่ทันเวลาครับ

เอ... แก้ตัวเป่า แล้วไหนล่ะภาพที่สวย ๆ ดี ๆ น่ะ เอามาโชว์บ้างซี


โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:0:32:59 น.  

 
สวัสดีค่ะ...คุณลุง

กราบนมัสการหลวงปู่ด้วยค่ะ ขอบคุณนะคะสำหรับเรื่องราวดีๆ

ที่นำมาบอกเล่า อ่านแล้วสงบสุขจริงๆค่ะ

คุณลุงนอนดึกนะคะเนี่ย จะเที่ยงคืนแล้ว อย่าหักโหมนะคะ

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ


โดย: ไกลบ้าน IP: 109.84.35.246 วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:06:42 น.  

 
ฮ้า....เที่ยงคืนครึ่งแล้วด้วย อย่านอนดึกนะคะ เสียสุขภาพค่ะ

ปล. ภาพวาดคุณลุงสวยหมดจดทุกภาพค่ะ...ขอบอก


โดย: ไกลบ้าน IP: 109.84.35.246 วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:23:52 น.  

 
สวัสดีตอนเช้าครับลุง

หลังเที่ยงค่อยแวะมาอ่านรายละเอียด ตอนนี้งานเข้า ทำงานก่อนนะครับ


โดย: ปลายแป้นพิมพ์ วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:8:14:32 น.  

 
พอดีเคลียร์งานได้เสร็จเร็ว เลยเข้ามาอ่านจนจบ

พระ..เกจิอาจารย์ดังยุคก่อนๆ น่าเลื่อมใสศรัทธา คำว่าพระธุดงค์ก็เดินธุดงค์กันจริงๆ ข้ามภูเขาลำเนาห้วย ใช้เวลาเป็นแรมเดือนแรมปี แตกต่างจากสมัยนี้ ผมขับรถออกนอกเมืองเย็นย่ำแล้วยังเห็นพระสงฆ์ยืนโบกรถ จะจอดดีหรือเปล่าน๊า 2 จิต 2 ใจ แต่ไม่กล้าจอด บาปก็บาปเหอะ เพราะสมัยนี้ไว้ใจกันได้ง่ายๆที่ไหน พระจริงหรือพระปลอม เราไม่อาจจะรู้ได้

ต้นเรื่อง ลุงเอ่ยถึงวัดโฆสิต และเขาโต๊ะแซะ ตอนนี้บริเวณนั้นเจริญไปหมดแล้วล่ะครับ ค่างซักตัวก็คงจะหาทำยายาก



โดย: ปลายแป้นพิมพ์ วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:9:35:22 น.  

 
สวัสดีหนูไกลบ้าน

ไกลบ้านแต่อ่านคุยได้รอบโลกนี่ แม้แต่พระสงฆ์ทรงอภิญญาก็ทำไม่ได้นะครับ ลุงมาอยู่ชุมพรทันหลวงปู่สงฆ์ ท่านยังไม่มรณภาพ ได้รู้แต่ไม่ได้เห็นที่คนเป็นหืดหอบไปหาให้ท่านช่วยรักษา

ท่าให้เอาน้ำปลายี่ห้ออะไรก็ได้มารินใส่แก้วให้คนเป็นหืดหอบกิน กินไปหนึ่งแก้วหายขาดเลย

แต่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์คือธรรมะที่เหล่าพระสงฆ์ปฏิบัติดื ปฏิบัติชอบไว้เป็นตัวอย่างนี่แหละ ที่จำทำให้โลกนี้ดีขึ้น แต่ก้คงยั้งไว้ไม่ได้ เพราะมนุายืยิ่งเรียนรู้กิเลสยิ่งเพิ่ม อัตตายิ่งสูง วิญญาณสัตว์กลับมาแบบว่า จะฆ่าให้ตายกี่ร้อยกี่พันก็ได้ เพื่อให้พวกตรูได้เป็นใหญ่ปกครอง

เมื่อคืนอัพบล็อกจึงนอนดึก

สวัสดีคุณตริณ

วัดโฆษิตวิหาร จะมีฉากอยู่ในเรื่องครูไพบูลย์ ๒ ปี พ.ศ.๒๕๐๖ พระไพบูลย์ไปพักที่นั่น แล้วถูกไล่ให้กลับไปจำพรรษาที่อื่น มีพระชุมพรร่วมด้วยอีก ๒ รูป สุดท้ายต้องไปจำพรรษาที่วัดควนถ้ำ ทำให้รู้จักตะกั่วป่า ตอนนี้กำลังเขียนถึงตะกั่วป่า รอบ ๒ ในแง่มุมที่ตหล่นแต่ของเก่าก็เอามาใส่ ตอนแรกเขียนไว้ในจิตรกรเร่ คุณอัยย์นี่แหละ บก. เอาลงนิตยสารแม่บ้านทันสมัย ราวปี ๒๕๓๒ ว่าแต่เห้นพูดถึงอยากมีหนังสือที่ลุงเขียน แต่ไม่ซื้อ "ครูไพบูลย์" ที่กำลังวางตลาดแล้วมันจะเชื่อได้ไงว่าสนับสนุนกัน

สวัสดีล่วงหน้าคุณอัยย์
คุณอัยย์ยังไม่มาขอสวัสดีไว้ก่อน ตอนนี้คุณอัยย์งานยังแน่น อาจจะมาตอนเที่ยง ๆ อยากบอกว่าทำไงดีล่ะ จะเอาข้อมูลจากจิตรกรเร่มาเขียนใหม่ แต่รวมเล่มท่าน พันเอก ที่อยุ่ช่อง ๕ ท่านยืมไปยังไม่คืน จะทวงก็เกรงใจ กลุ้มแล้วนี่

ครูไพบูลย์ ๒ ตอนนี้มาลงตะกั่วป่าแล้วครับ แต่แบบเรื่องจริงเป๊ะ ๆ ไม่นิยายเลย มีนักเขียนภูเก็ต อดีตนายธนาคาร ที่ลาออกจากธนาคารมาเป้นนักเขียนท่านหนึ่งโทรมาบอกว่า

"อาครับ อย่าลืมฉากที่ผมไปยืน ๆ ดูอาวาดการ์ตูนนะครับ"

แหมถ้าไม่โทรบอกจะไม่ใส่นะเนี่ย ก็ตอนนั้นรู้จักกันที่ไหนล่ะ มารู้จักกันอีกยี่สิบกว่าปีต่อมาที่ท่านเป็นนักเขียนแล้ว และลุงก็เป้นนักเขียนแก่ ในงานช่อการะเกดที่เขาพนมรุ้ง พูดถึงช่อการะเกดมีใครบางคนว่ายุติการทำอีกแล้ว โฮ

ช่อฯ รอบ ๒ นี่ลุงเพิ่งได้ลงเรื่องรับเชิญเรื่องเดียว เอ้ง
ปายเสียอีกแล้ว


โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:11:02:59 น.  

 
สวัสดีค่ะลุงบูลย์
+-------------------------------------+

ชวนไปเที่ยวทะเลตะวันออก(ไม่)ไกลด้วยกัน (ภาค2)
ในวันที่เมืองไทยร้อนสุด ๆ

มีเครื่องดื่มเย็นเจี๊ยบมาเสริฟพร้อมความคิดถึงค๊า


โดย: สาวบ้านนอก ณ ขอนแก่น วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:13:40:46 น.  

 
มาอ่านเรื่องราวหลวงปู่ค่ะ

สิงสาราสัตว์ย่อมแพ้ตบะพระปฎิบัติ

อ่านแล้วเลื่อมใสศรัทธา...พระดีๆแบบนี้ เดี๋ยวนี้จะเหลืออยู่สักเท่าไรนะ

ลุงคะ...

ไม่ต้องเกรงใจหรอกค่ะ ทวงไปเลย จิตรกรเร่น่ะ

ก็แค่บอกว่า ทางสนพ.เขาทวงลุงมาอีกที เพราะเขา อยากเอาเรื่องนี้ไปพิมพ์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่

เขาไม่โกรธหรอกค่ะ เหตุผลของลุง เราก็เน้นว่าเอาไปพิมพ์เพื่อสาระประโยชน์

อัยย์ว่า ท่านพันเอกคงเข้าใจและคืนมาให้

เว้นซะแต่ ท่านจะทำสูญหายไปแล้ว นั่นก็อีกเรื่องนะคะ..





โดย: นักล่าน้ำตก วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:37:00 น.  

 
ท่านที่เคยมาแล้วโปรดทราบ

มีภาพตกหล่นอยู่ภาพหนึ่ง ตอนที่หลวงปู่จับหัวหน้าโจรโยนลงในดงไม้ข้างที่พัก ลุงเพิ่งมาใส่ ลองย้อนดูใหม่นะครับ

เจ้าของผลงานเล่มนี้คืออาจารย์จีระพันธ์ เจียระนัย โรงรียนบ้านบางหลง ตำบลท่ายาง อ.เมืองชุมพร

ท่านพยายามเรียบเรียงประวัติพระสงฆ์ที่น่าเคารพในเมืองชุมพรทั้งหมดดูเหมือนจะ ๕ รูป ทำผลงานส่งตอนแรกไม่ผ่าน กรรมการดูแล้วมีแต่ประวัติกับภาพในคอมพิวเตอร์ ที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง บอกให้มาทำใหม่

อาจารย์เครียดอยู่พักหนึ่ง ก่อนตัดสินใจมาหาผมและว่าจ้างให้วาดรูปประกอบ ในท่ามกลางเสียงคัดค้านต้านแย้ง ของผุู้ไม่หวังดี (อิจฉาผม) ว่าแพง ๆ อย่าไปจ้างเลย

ภาพวาดชุดนี้จึงเป็นลิขสิทธื์ของผม ใครจะเอาไปใช้ต้องขออนุญาตผมก่อนนะครับ ถ้าพิมพ์เพื่อเป็นวิทยาทาน ไม่จำหน่ายผมขอแต่หนังสือสักจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าพิมพ์ขายขอคิดค่าเหนื่อยตามสมควรครับ

ผลงานทั้งหมดของอาจารย์จีระพันธุ์ มี ๔ เล่ม คือ ไทยดำ เศรษฐกิจพอเพียง โลกร้อน และ ตามรอยพระอรหันต์ ตอนนี้ผ่านการพิจารณาเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษระดับ ๘ ไปอีกรายแล้ว

รับ งด.ที่เพิ่มขึ้นมาอีกเดือนละเกือบเท่าตัว แพงไหมครับ


โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 3 พฤษภาคม 2553 เวลา:8:51:25 น.  

 
ผมมีแต่เหรียญหลวงปู่สงฆ์หลายเหรียญของวัดเจ้าฟ้าศาลาลอย
มักจะเป็นเหรียญที่ระลึกจากงานทอดกฐิน แต่ไม่เคยทราบประวัติ
ของหลวงปู่สงฆ์มาก่อนครับ

ภาพวาดประกอบเรื่องแฝงไปด้วยธรรนเนียมปฏิบัติของคนไทย
ทั้งชาวบ้าน ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่พินอบพิเทา และอื่นๆ
การวาดจีวรพระนี่ไม่ใช่ของง่ายๆเลยนะครับ

ปล.ขอบคุณคุณบูลย์ที่ได้เล่าถึงกรรมวิธีการระบายสีภาพถ่ายสมัย
ก่อนครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 3 พฤษภาคม 2553 เวลา:9:30:15 น.  

 
มาดูภาพโจรถูกหลวงปู่จับโยนลงในดงหนาม

หลวงปู่แข็งแรงจริงๆนะคะ ในภาพเหมือนโจรไร้น้ำหนักเลย อิอิ

มาชวนลุงไปเที่ยวสถานีรถไฟด้วยค่ะ


โดย: นักล่าน้ำตก วันที่: 3 พฤษภาคม 2553 เวลา:14:58:11 น.  

 
หวัดดีครับลุง

พอดีผมรีบร้อน ไปเดินเปิดดูหน้งหนังสือที่เกี่ยวกับวิญญาณ แล้วก็จดเมลล์เขามา เพื่อที่จะติดต่อไป ด้วยความหวังว่าชีวิตนี้ถ้าได้รวมเล่มกับเขาซักเล่มก็ดีนะซิ ยังไม่ได้ดูผลงานของลุงเลย มะรืนนี้ไปอีกรับรองไม่พลาดแน่ครับ

นักเขียนนายธนาคารที่ลุงว่านั้นคือ ชิด ชยากร ไช่ไหมครับ


โดย: ปลายแป้นพิมพ์ วันที่: 3 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:09:41 น.  

 
สวัสดี คูณตริณ

ใช่แล้วครับ แฮ่ม ๆ ตอนนี้เขียนถึงตอนไปตะกั่วป่่าครั้งแรกแล้ว น่าเอาลงเรียกน้ำย่อยในบล็อกมั้ย ขอเสียงสนันสนุน


โดย: ลุงบูลย์ IP: 118.173.124.27 วันที่: 4 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:33:25 น.  

 
สวัสดีคุณอัยย์

ในเรื่องเขาว่าหลวงปู่(ตอนนั้นยังหนุ่ม เป็นคนร่างใหญ่สูงและแข็งแรงมาก)

ภาพจริงก็หาได้ในอินเทอร์์เน็ตครับ ประวัติละเอียดก็มี แฮ่ ๆ ยาวเป็นนิยายเล่มใหญ่เลยนะ ถ้าเอามาลงทั้งหมด


โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 4 พฤษภาคม 2553 เวลา:16:55:42 น.  

 
สวัสดีคุณอิม

จีวรพระลุงวาดได้ได้ดีรับรอง ไม่ผิด เพราะบวชเณรเกือบ ๑๐ ปี ฮ่า ๆ ๆ

ตอนเรียนอยู่ มศว. เพื่อน ๆ แสดงละครเป็นพระห่มผ้าผิด ก็ได้ลุงนี่แหละห่มให้ถูก อิ ๆ


โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) วันที่: 4 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:00:23 น.  

 
คนเคยบวช วาดพระได้แบบรู้ลึกรู้จริง จริงๆ

มาอ่านอีกรอบค่ะ เก็บตกเผื่อข้ามอะไรไป

แต่เสือลุงอะ...นักล่าฯว่ามันดูผอมๆ อดอยากไปหน่อยนะคะ หุหุ


ป.ล.มีน้ำตกมาใหม่


โดย: นักล่าน้ำตก วันที่: 4 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:26:39 น.  

 
แต่ละภาพได้ความรู้สึกของกลิ่นป่าเขา ชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้าน

สะท้อนประสบการณ์ที่สะสมมายาวนาน นับวันจะหาภาพแบบนี้ดูได้ยากขึ้น

ปัจจุบันถนนหนทางและเมืองขยายออกไปเรื่อยๆ ความทรงจำ

ของผู้คนคงมีภาพที่แตกต่างไปจากสมัยก่อน

ทุกภาพให้ความรู้สึกว่าเมืองไทยน่าอยู่ครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 4 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:18:53 น.  

 
ตอบคุณอัยย์ก่อน

ปรกติเวลาลุงวาดเสือลุงจะเสิร์ชหาภาพจากเน็ตไปวาด แต่บางช่วงงานมันแน่มากคุณอัยย์ ลุงก็เลยมั่ว ๆ เอามั้ง ภาพเสือจึงเป็นแมวใหญ่ไป ภาพงูเหลือมก้แข็ง ๆ แต่จะทำอย่างไรได้ละคุณอัยย์ วันหนึ่งวาดได้แค่ ๒ ภาพ ๆ ละ ๓๐๐ วันหนึ่งได้ ๖๐๐ มัน บ่ ไหว

ตรงกันข้ามเวลาวาดให้ สนพ. ภาพละ ๒๐๐๐ งี้ แบบนั้นวาด ๒ วันให้เนี้ยบยังได้เลย

อย่างภาพปกหนังสือ "ครูไพบูย์ เป๋" นั่นเขาแก้สี่ห้าครั้ง จีวรเณร ลุงสั่งให้แก้ก็ยังออกมาไม่ค่อยถูก ปลายเท้าตอนแรกมองเห็น ลุงติเขาวาดไม่ให้เห็นซะ มือซ้ายของเณรที่จับแผ่นรองเขียนนั่นก็ไม่สวย นิ้วลุงไม่ได้พิการ แม้ส่วนอื่น ๆ จะเป็นบ้าง

อ้าว ตกลงว่าแก้ตัวหรือนี่ เป่า ๆ ปฏิเสธยืนกระต่ายสามขา

ตอบคุณอิม
อย่าเอาแต่ชมครับ ผู้เฒ่าจะเสียเด็ก ติมามั่งครับ ลุงจะไก้แก้ตัว อิ ๆ ๆ (คนประเภทไหนนะชอบแก้ตัว) อิ ๆ


โดย: ลุงบูลย์ IP: 118.173.120.36 วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:9:49:54 น.  

 
ฮ่า ๆ ๆ เขียนถึงตอนไปตะกั่วป่าครั้งแรก บ้านเกิดผม (รักษ์ถิ่นกำเนิด) ใครยกมือหรือไม่ยกมือไม่รู้ ผมยกเป็นคนแรกเลยนะ หนับหนุนสุดๆ 2 มือเลยลุงเห็นไหม ฮี่ ฮี่

เอ๊..ว่าแต่ตะกั่วป่าช่วงนั้น ประมาณปีเท่าไหร่ได้ครับ ยุคที่เขายังทำแพดันกันที่น้ำเค็ม ลุงยังอยู่หรือเปล่า ตอนนั้นผมอยู่เสนาราว ม.ศ. 4-5 ซ่องที่ตะกั่วป่าดังมากชื่อซ่องโกหมี ผมก็เกือบๆไปเสียหนุ่มที่นั่นเหมือนกัน โดนเพื่อนมันผลักเข้า เราเผ่นออกอยู่หลายที ไม่กล้า ใจเต้นตุ่มต่อมเป็นพระตีกลองเพล ไปๆมาๆก็ไปเสร็จจนได้แถว 3 ชั้นปากตรอกทางไปตำตัว สมัยนั้นคุณๆที่หากินเขาอยู่กันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เรียกกันว่าสามชั้น ชื่อจริงจะมีหรือเปล่าผมเองก็ลืมไปหมดแล้ว

ผมเขียนแท็กด้วยความหนุกหนานนะครับ ขณะที่เขียนความทรงจำมันก็ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อยแต่อย่างไร บางทีการเขียนเรื่องสั้นกลับยากกว่าอีกนะ

แต่ช่วงนี้รามือการเขียนเรื่องสั้นไปเกือบปีแล้ว เมื่อหันมาเล่นบล็อกแทน อีกอย่างเมื่อคิดถึงค่าตอบแทน มันน้อยมากๆ กว่าจะได้มาแต่ละบาท รอแล้วรออีก พอดีกับเพลิดเพลินกับการทำงานที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก เลยคิดว่าจะสนุกกับการเล่นบล็อกต่อไป ไม่ซีเรียสกับมัน มีผลงานเก่าๆอีกมากมายที่จะเอามาลงได้อีกหลายปี รวมทั้งเรื่องราวใหม่ๆที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งตอนนี้ผมลิสต์ไว้ในสมองเพียบเลยครับลุง

ว่าแต่ไม่กระซิบบอกซักหน่อยเหรอว่ามติชนเขาจ่ายเรื่องสั้นเท่าไหร่ เผื่อจะตาลุกโพลงขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ออกอากาศ เอาเป็นกระซิบที่หลังไมค์ก็ได้นี่ครับลุง

สวัสดี..รักษาสุขภาพนะครับลุงบูลย์


โดย: ปลายแป้นพิมพ์ วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:9:58:32 น.  

 
สวัสดีค่ะ...คุณลุง

เห็นด้วยกับคุณลุงมากๆเลยค่ะว่า มนุษย์ยิ่งเรียนมากกิเลสยิ่งหนา
อัตตายิ่งสูง ไม่ยอมปล่อยวางอะไรง่ายๆ

พูดถึงเรื่องวัดวาอารามกับพระแล้วอยากเล่าเรื่องสมัยเด็กๆค่ะ
( สมัยเรียนประถม ) ที่หมู่บ้านมีพระรูปหนึ่งที่ชาวบ้านเคารพ
เลื่อมใสอย่างมาก และเป็นพระนักพัฒนาด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคน
เฒ่าคนแก่ ทุกวันพระก็จะพากันไปถือศีลแปดที่วัด (ช่วงเข้าพรรษา ) ส่วนคนหนุ่มสาวก็จะช่วยกันทำความสะอาด ปัดกวาด
ถางหญ้า พร้อมทั้งทอเสื่อให้วัดด้วยค่ะ ส่วนเด็กๆก็ไม่น้อยหน้า
เลยค่ะ เพราะพวกเราช่วยกันปลูกต้นไม้ ดอกไม้ และปลูกผักไว้
กินด้วย แถมทุกวัน เช้า-เย็น พวกเราก็จะมาสวดมนต์ที่วัด (ทำวัตร
เช้า-ทำวัตรเย็น ) ไม่รู้ว่าหนูเรียกถูกหรือเปล่านะคะคุณลุง เสียง
สวดมนต์ก้องไปทั้งหมู่บ้านเลยค่ะ และช่วงโรงเรียนปิดเทอม เด็ก
ผู้ชายก็จะบวชสามเณรกัน ตอนนั้นหมู่บ้านของเราพัฒนามากๆเลยค่ะ


โดย: ไกลบ้าน IP: 109.84.141.7 วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:14:18 น.  

 
สวัสดีคุณตริณ

คุณเล่าเรื่องซ่องโกหมี ลุงก็เขียนนิยายไว้เรื่องหนึ่ง "นักเลงสวนยาง" เกี่ยวกับซ่องโกหมี แต่ยังหาที่ลงไม่ได้ ตอนแรกกะเขียนให้ บางกอก แต่พอเปลี่ยน บก.ไม่ได้ลงก็เลยค้างคาอยู่ในคอมนี่ ยาวมาก ๕๑๐ หน้ากระดาษพิมพ์

สรุปว่าคุณตริณเขียนบล็อกเพื่อพักผ่อน ลุงเองที่มาสังสรรค์ในบล็อกก็เพื่อพักผ่อน ได้เพื่อนด้วย แต่ไม่มีเวลาเขียนยาว ๆ นอกจากว่าเอานิยาย เรื่องสั้น ที่เขียนไว้นานแล้วมาลง

ตุณถามเรื่องสั้นมติชน ผมตอบได้เลยไม่ต้องหลังไมค์ ความจริงต้องเอามาเผยครับ คือที่อื่น ๆ ส่วนมาก ๒๐๐๐ บาท แต่มติชน ๔๐๐๐ บาทครับ แต่สู้รับจ้างวาดรูปงานครูไม่ได้หรอก รับทีละสามสี่หมื่นนี่ชื่นใจ แต่ว่าชิ้นสุดท้ายนี้ทำเสร็จมา ๒ เดือนเพื่อนเที่ยววิ่งหากู้เงินวุ่นไปหมด ทำเอาแทบหมดแรงหมดทุนทำงานเขียนน่ะ


โดย: ลุงบูลย์ IP: 118.173.122.246 วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:8:37:06 น.  

 
สวัสดีหนูไกลบ้าน

น่าจะบอกชื่อจริงได้แล้วนะครับ สำนวนภาษาเป็นญาติมิตรซะขนาดนี้ ยังจะใช้ไกลบ้านอยุ่อีกหรือ

ใช่แล้วครับการสวดมตร์ยาว ๆ เรียกว่า ทำวัตรเช้าและ ทำวัตรเย็น ส่วนมากพระสงฆ์ที่ดี ๆ มักมีแถวอีสาน

ทางใต้นี่พวกหลวงปู่ หลวงพ่อ มาตอนนี้ทำท่าจะหาที่ดี ๆ ไม่ค่อยได้แล้ว การดูพระดีต้องดูที่การปฏิบัติของท่าน ท่านยังมีิเลสสะสมวัตถุ หรือชอบเรี่ยไรเงินอยู่หรือไม่ ท่านมักน้อยสันโดษสอนให้คนละกิเลสหรือไม่

ท่านปลุกเสกของขลังให้ลูกศิษย์ไปใช้เพื่อกุศโลบายให้คนทำดี มีความกล้าหาญ ยึดมั่นในพระพุทธคุณคุณแห่งความดีหรือว่าเพื่อหาเงิน

ท่านสร้างภาพต่อหน้าอย่างลับหลังอย่างหรือไม่ แหมถ้าหนูหาหนังสือที่ลุงเขียนเรื่องสั้นชุดในวงล้อม ดูเหมือนจะมีเรื่อง ปลาดุกในถุงกอบแกบ อันนี้แหละชี้ให้เห็นว่าพระท่านเป็นพระแบบใดดีนักแล เคยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์นานสิบปีแล้ว


โดย: ลุงบูลย์ IP: 118.173.122.246 วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:8:48:36 น.  

 
ขอบคุนคับ ผมเพิ่งจะรู้จักประวัติวันนิเอง ทั้งทิอยุใกล้บ้านอ่ะคับ คนไชยาคับ


โดย: ชื่อนี้อ่ะนะ IP: 115.67.168.61 วันที่: 15 ตุลาคม 2553 เวลา:21:36:33 น.  

 
อ่านแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องเกิดขึ้นจริงๆ เลยน่ะค่ะ

อ่านในเกร็ดชีวิตพระอาจารย์ดังๆ ส่วนใหญ่มีอะไรมหัศจรรย์อย่างนี้เหมือนกันค่ะ...

เข้ามาอ่านได้รู้อะไรอีกเยอะเชียวค่ะ...

ป่านนี้ครูได้งานจิตรกรเร่...แล้วน่ะค่ะ...


โดย: แนวเนี๊ยะ วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:16:58:26 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

ขอให้ได้ทั้งดอกไม้ทั้งอั่งเปาเลยจ้า

คิดถึงนะคะลุง


โดย: นักล่าน้ำตก วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:18:13:29 น.  

 
หลวงปู่สงฆ์ ท่าน^^สุปฏิปัน^^โนเป็นผู้ปฏิบัติดี....... และ ^โลกะวิทู^ ผู้รู้โลก.....


โดย: ชัยยศ <>เสมียนสถานีรถไฟชุมพร IP: 223.207.51.184 วันที่: 9 กันยายน 2554 เวลา:4:25:52 น.  

 
หลวงปู๋ เกิดวันอังคาร สีชมพูนี้ เหมาะมากเลยครับ


โดย: คุณลุงสุดยอดมากครับ ผมบ้านอยู่ห่างจากวัดเจ้าฟ้าฯ ๔ กิโลเองครับ IP: 101.108.23.62 วันที่: 25 พฤษภาคม 2555 เวลา:0:55:39 น.  

 
หลวงปู่ปลุกเสกเหรียญเสด็จเตี่ย ปี พ.ศ.๒๕๒๓ นั่งปรกใต้ปืนใหญ่ทหารเรือ เมื่อเสร็จพิธี ท่านบอกกับลูกศิษย์ว่า " กรมหลวงชุมพรมาช่วยเราเสก ยืนตัวใหญ่อยู่ในเล" พ่อเล่าให้ผมฟังครับ


โดย: คมทวน คล้ายอักษร IP: 101.108.23.62 วันที่: 25 พฤษภาคม 2555 เวลา:1:01:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pantamuang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




ไม่อยู่อย่างอยาก แต่ยังอยากจะอยู่
อยู่อย่างไม่ลำบาก เวลาที่เหลือน้อยรีบสอยรีบคว้า
ก่อนจะหมดเวลาให้สอย

ดวงดาวบนฟ้าก็สอยได้ ถ้ารู้จักต่อด้ามฝันให้ยาวพอ

ฝันถึงไหนก็ได้ มีสิทธิ์ฝัน แต่จะเป็นจริงหรือไม่ช่างฝัน
เพราะสิ่งที่ฝันคือนวนิยาย..

ชีวิตก็คือนวนิยายเรื่องหนึ่ง ที่เราเป็นผู้เขียนและกำกับ.

เริ่ม 9 กันยายน 2550

Friends' blogs
[Add pantamuang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.