|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
แผ่นดินปิศาจ

ตอนนั้นผมอายุประมาณแปดเก้าขวบ ครอบครัวของเราอยู่ที่ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และตำบลที่เราอยู่ตอนนั้น ลำบากและห่างไกลจากตัวจังหวัดเรียกว่าสุดโหด
หากจะเดินทางจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ไปสู่ ๓ อำเภอ คือ หัวไทร เชียรใหญ่ และชะอวด มีทางไปอยู่ ๒ ทาง
ทางแรก ไปตามถนนดินเหนียวสายนครศรีธรรมราช ปากพนัง ไปลงเรือที่แม่น้ำปากพนัง แล้วก็ไปขึ้นจากเรือตามจุดต่าง ๆ แล้วเดินตัดทุ่งไปตามถนนโคลนอีกนานกว่าจะถึงจุดหมาย
แต่ที่สุดจะโหดร้าย คือเดินทางได้เฉพาะในหน้าแล้งที่ฝนไม่ตกลงมาเท่านั้น ยังเหลือทางเดียวที่นับว่าไปได้ทุกฤดู คือ ไปลงเรือที่ตลาดท่าแพ ทางทิศเหนือของตัวเมืองนครศรีธรรมราช ในเขตตำบลปากพูน ล่องไปออกปากแม่น้ำที่บ้านปากพูน แล้วแล่นเรือเข้าสู่ปากแม่น้ำปากพนังทางด้านในของแหลมตะลุมพุก เรือล่องไปตามแม่น้ำปากพนัง แล้วก็ไปแวะขึ้นตามจุดอำเภอต่าง ๆ
อาชีพของคนในตำบลบ้านผม คือตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร สมัยนั้นก็แทบจะมีอยู่อาชีพเดียวคือ ทำนาและเลี้ยงวัวควาย ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นพ่อแม่ของผมและพี่ ๆ น้อง ๆ ต่างจมปลักอยู่กับกลิ่นโคลนสาบควาย ทำให้เนื้อตัวเหม็นสาบมีคราบโคลน
การแต่งเนื้อแต่งตัว มีแต่เสื้อผ้าเก่าๆ ที่เป็นชุดชาวนา ชาวไร่ มีผ้าขาวม้าคาดพุงตลอดปีตลอดชาติ ยามใดที่จะต้องเข้ามาทำธุระในเมืองนครศรีธรรมราช ก็ต้องเดินเท้าเปล่ารองเท้าไม่ใส่ เพราะจะต้องเดินมาตามหัวคันนา บางที่ก็ต้องเดินย่ำน้ำบุกหนองลุยโคลน ฝ่าเท้าของพวกเราชาวนาจึงหนาเตอะ กลายเป็นรองเท้าแบบธรรมชาติ ที่เหยียบหินแข็ง ๆ หรือของมีคมเล็กน้อยก็ไม่รู้สึกเจ็บ
การเข้ามาพบผู้คนในเมืองสักครั้ง มีแต่คนดูหมิ่นและเหยียดหยาม คนในอำเภอเมืองเรียกพวกเราว่าพวก ชาวนอก ซึ่งหมายถึง คนบ้านนอก หูป่า ตาเถื่อน ห่างไกลความเจริญ ไกลจากแสงสีของอริยธรรม อะไรประมาณนั้น
อย่าว่าแต่การแต่งเนื้อแต่งตัวที่เชยสุดกู่ แม้แต่ภาษาพูด ระหว่างเราคนชาวนอก กับคนในเมืองยังต่างกันลิบลับ เช่น เมื่อคนในเมืองถามพวกเราชาวบ้านนอกว่า
ไปไหนมา คนบ้านผมจะใช้ว่า มาแต่แหน (อ่าน ห.นำ) หรือ มาแต่ไหน
ส่วนคนในเมืองแม้จะพูดภาษาสำเนียงใต้ แต่เขามักพูดตรงตามตัวอักษร เช่น ถ้าคนในเมืองพูดว่า ต่อเช้าจะไปกรุงเทพ (ต่อเช้า-คือพรุ่งนี้) คนชาวบ้านผมจะพูดว่า
ต่อโพรกจ่าไปกรงเทพ ออกเสียง จะ เป็น จ่า และกรุงเทพฯ เป็น กรงเทพฯ อย่างนี้เป็นต้น อย่างคนในเมืองพูดคำว่า ใคร มีความหมายว่า ผู้ใด คนบ้านผมจะพูดว่า แค
คนในเมืองพูด มาทำไม คนบ้านผมพูดว่า มาแซ้
ไปไหน ว่า ไปแหน
ราคาเท่าใด ว่า ราคาเท่าแด
คนบ้านผมจึงถูกคนในเมืองพูดจาดูหมิ่นและล้อเลียนต่าง ๆ นานา
เพราะหนังสือก็ได้เรียนน้อย ไม่เท่ากับคนที่อยู่แถว ๆ อำเภอเมือง นอกจากนั้นอำเภอหัวไทรในอดีตยังเต็มไปด้วยพวกเสือสาง หรือ โจรผู้ร้ายอันเนื่องมาจากความไร้การศึกษา เราเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไว้สำหรับใช้ทำไร่ ไถนา ก็มักจะมีโจรมาคอยจ้องลักเอาไปเชือดต้มในกระทะ ใส่ใบส้มชะมวงเลี้ยงดูกินกัน
ไม่ว่าใครจะมีงานบวช(ขนาดว่างานกุศล) งานแต่ง หรือขึ้นบ้านใหม่ วัวที่ฆ่ากินจะเป็นวัวลัก หรือวัวที่ขโมยมาทั้งสิ้น


พอมึงลักของกู กูก็ลักของมึงบ้าง มึงยิงกู กูก็ยิงมึงบ้าง เพราะถ้าใครมัวแต่กลัวเกรงใคร ไม่ตอบโต้กลับไปก็จะถูกคนรังแกไม่มีสิ้นสุด จนอยู่ที่นั่นไม่ได้ต้องย้ายไปหาที่ถิ่นอื่นอยู่ บางครั้งกูยิงมึงไม่ได้ กูก็ไปยิงพ่อมึง แม่มึง และพี่สาวของมึงคนใดคนหนึ่งแทน ทำให้กลายเป็นการล้างแค้นล้างโคตรกันไป
ครอบครัวพ่อแม่ผม รู้จักน้าเสือเอื้อนและ กำนันสมปอง พอกับที่ทุก ๆ คนรู้ เรื่องนี้เคยเป็นข่าวใหญ่ที่ลงหนังสือพิมพ์ทั้งส่วนกลางและหนังสือพิมพ์ในจังหวัด เป็นข่าวที่โด่งดังมากในปี พ.ศ. ๒๕๐๕
ความจริงน้าเอื้อนเป็นคนดี แต่แกเป็นคนหัวแข็งและไม่ยอมให้ใครรังแก ส่วนกำนันสมปอง คือผู้มีอิทธิพล ที่รัฐบาลสมัยหลัง ๆ พยายามที่จะปราบปรามให้หมด
ทว่ากลับเป็นเรื่องปรกติธรรมดาของคนในสมัยโน้น ที่ว่าใครก็ตามที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนันหรือแม้แต่ผู้ใหญ่บ้าน คน ๆ นั้นจะต้องเป็นผู้มีอิทธิพล มีลูกน้องบริวารที่ทำให้ผู้คนในตำบลกลัวเกรง เพราะใครก็ตามที่ อุ้มไก่ตัวเมีย (สำนวนใต้ หมายถึงคนที่แหย ไม่สู้คน) จะปกครองลูกบ้านไม่ได้


กำนันสมปองเป็นฝ่ายไปรังแกน้าเอื้อนก่อน น้าเอื้อนไม่ยอม กำนันสมปองจึงประกาศเป็นศัตรูกับน้าเอื้อนแต่กำนันทำอะไรน้าเอื้อนไม่ได้ กำนันสมปองจึงให้คนไปยิงแม่ และยิงเมียน้าเอื้อนตาย น้าเอื้อนก็ยกพวกไปยิงพวกพ้อง แม่ และญาติของกำนันสมปองตายบ้าง จากนั้นก็กลายเป็นฆ่ากันไปฆ่ากันมา แบบ ฆ่าล้างโคตร
แต่กำนันสมปองเป็นฝ่ายกฎหมายจึงชนะน้าเอื้อน ส่วนน้าเอื้อนกลายเป็น เสือเอื้อน ฝ่ายไม่มีกฎหมายคุ้มครอง จึงถูกทางราชการสั่ง จับตาย ท้ายสุดน้าเอื้อนถูกพลตำรวจชื่อ พลฯ สันทัด เหมือนสังข์ ยิงตาย ขณะดวลปืนกันตัวต่อตัว
พลฯ สันทัดบาดแค่เจ็บและได้เลื่อนยศเป็นสิบตำรวจโท ได้รับการถ่ายรูปโชว์ผลงานลงในหนังสือพิมพ์ ขณะที่กำนันสมปองก็ได้ความดีความชอบ พร้อมกับครองความเป็น กำนันอิทธิพล ต่อไป
พ่อของผมเบื่อความเป็นคนบ้านนอกและความเป็น บ้านป่าเมืองเถื่อน ของตำบลและอำเภอหัวไทร มองเห็นว่าขืนอยู่ที่หัวไทรต่อไป อนาคตของคนรุ่นลูกก็อาจจะต้องเป็นเสือสาง หรือเป็นโจรกันหมดแบบเดียวกับน้าเอื้อน สรุปว่าอยู่ไปไม่มีอะไรที่จะดีขึ้น
พ่อของผมมาซื้อที่สวนได้แปลงหนึ่ง อยู่ที่หมู่ที่ ๖ ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่เป็นสวนอยู่ก่อนแล้วคือ เป็นสวนโบราณ มียางพารา สะตอ เนียง มังคุด เงาะ และทุเรียนพื้นบ้าน นอกนั้นยังมีป่ารกให้บุกเบิกต่อได้อีก รวมเป็นเนื้อที่ถึง ๕๐๖๐ ไร่
ตามความเป็นจริงพ่อขายที่นาได้เงินมาไม่กี่หมื่นบาท แต่ก็แปลกที่เจ้าของที่ดินเดิมแปลงนี้กลับยอมขายที่ให้เรา ในราคาที่จัดว่าถูกมากจนน่าสงสัย คือถูกกว่าที่ดินแปลงอื่น ๆ ในละแวกเดียวกันสองถึงสามเท่า พ่อจึงไม่ลังเล และไม่สืบถามความใดแต่รีบตกลงซื้อทันที
แล้วเราทุกคนคือผมซึ่งมีอายุเก้าขวบ น้องสาวอายุ ๔-๕ ขวบ และพ่อแม่ก็ต่างได้ร่วมมือกันสร้างและบุกเบิกสวนที่ซื้อไว้ต่อจากที่มีอยู่เดิมในปีนั้น ผมยังไม่ได้เล่าอีกนิดหนึ่งที่ว่า การย้ายมาของครอบครัวพ่อแม่ของผมในคราวนี้ ไม่ได้มากันตามลำพังพ่อแม่ลูก แต่เรามากันหลายครอบครัว คือมีครอบครัว ลุง ป้า น้า อา ที่บอกขายที่นาไปพร้อม ๆ กันแล้วก็อพยพมากันด้วย
ทุกเช้าเมื่ออยู่ที่หัวไทร แม่จูงควายออกทุ่ง ผมเดินไล่หลังคอยหวดก้นให้ควายเดิน ขณะที่พ่อแบกไถเดินตาม พอถึงที่นาพ่อให้ควายลากไถ พ่อคอยจับหางไถตามหลังควายเดิน แม่หว่านข้าวกล้าลงในที่นาที่ไถเสร็จ หรือไม่ก็ใช้จอบขุดตกแต่งคันนา
ผมเลี่ยงไปจับปูจับปลารอเวลาพ่อไถเสร็จ พอพ่อไถนาเสร็จผมพาควายไปผูกให้กินหญ้า เที่ยง บ่ายไปร่ายควายคือพามันเปลี่ยนที่ไปหาหญ้าแหล่งใหม่ และพามันไปกินน้ำ แต่พอมาอยู่ที่นี่ ทุกเช้าพ่อแบกจอบและมีดพร้าเข้าสวน แม่อยู่บ้านทำกับข้าวไว้ให้ทุกคนมากินและทำงานอื่นๆ อยู่ข้าง ๆ บ้าน


บ้านใหม่ของเราสร้างขึ้นจากไม้ที่พ่อไปตัดโค่นมาจากในสวน พ่อจ้างคนไปเลื่อยแปรรูปแล้วขนมาสร้างเป็นบ้านไม้ฝากระดาน พื้นปูกระดาน หลังคามุงกระเบื้องจัดว่าเป็นบ้านถาวร น่าอยู่
ผมกับน้องช่วยงานพ่อแม่เท่าที่จะทำได้ เช่นไปเก็บหาเรียวไม้และตัดเป็นท่อน ๆ มาไว้ทำฟืน สำหรับหุงข้าว ต้ม แกง บางเวลาก็ไปตักน้ำจากลำธารมาใส่โอ่ง ใส่ตุ่มไว้ใช้ น้องสาวคอยปัดกวาด เช็ดถูบ้าน บางวันผมก็ถากหญ้าที่ขึ้นรกในลานบ้าน น้องสาวปัดกวาดพื้นดิน กวาดใบไม้และหญ้าที่ถากออกแล้วไปกองรวมไว้ตามโคนไม้ให้เป็นปุ๋ยต่อไป บางทีผมกับน้องก็ทำหน้าที่นำน้ำท่าและข้าวปลาอาหารที่แม่ทำเสร็จไปส่งพ่อที่ในสวน
พ่อทุมเทกำลังกายทำงานอย่างหนัก เพราะเป็นงานที่พ่อรักและอยากจะทำมานาน ตอนบ่าย ๆ แม่ก็เข้าไปช่วยพ่อทำอีกแรง พ่อขุดตอไม้ออก แม่ก็พรวนดิน พ่อขุดหลุม ผมกับน้องก็ช่วยทยอยนำกิ่งพันธุ์ หรือต้นที่เพาะเมล็ดไว้ไปปลูก แม่เก็บกวาดลากเอากิ่งไม้รากไม้ที่พ่อขุดออกแล้ว นำไปกองรวม ๆ ริมสวนแล้วจุดไฟเผา


ในสวนของเรามีทุเรียนที่เจ้าของเดิมปลูกไว้หลายต้น แต่มีอยู่ต้นหนึ่งที่มีเนื้อหนาและรสชาติดีมาก ปีแรกที่พ่อมาซื้อและยึดครองเป็นเจ้าของ ทุเรียนต้นนี้ติดผลดกให้พ่อกับแม่ได้นำไปขาย และเราเองได้กินหลายสิบลูก
วันแรกที่พ่อนำผลทุเรียนจากต้นนี้ ใส่เข่งแบกไปไปขายที่ตลาด พอใคร ๆ เห็นลักษณะของมันก็ถามว่า ที่สวนของคุณอยู่ตรงไหน พอพ่อตอบว่าอยู่ตรงนั้น ๆ และบอกว่าเพิ่งมาซื้อสวนนี้ คนที่ถามและคนอื่นๆ ที่มายืนดูก็พูดทันทีว่า


ทุเรียนต้นนี้ชื่อแม่ทองอยู่ แล้วก็พากันหวาดกลัวไม่กล้าซื้อกิน มีบางคนมาถามพ่อว่า คุณซื้อที่สวนนี้จากใคร ราคาแพงไหม พอพ่อตอบ ซื้อมาห้าหมื่น ชายคนถามพูดว่า ที่ตรงนี้สำหรับคนที่นี่ให้เปล่า ๆ ก็ไม่มีใครเอา
พ่อจ้องหน้าเขา เขาไม่พูดอะไรต่อแต่เดินจากไปเฉย ๆ ผู้หญิงคนหนึ่งที่มายืนดูพูดว่า
แม่ทองอยู่หวงลูกจะตาย ใครกล้ากินก็กินไปเถอะ ฉันไม่กล้า เดี๋ยวไปทวงลูกจากฉัน แล้วเธอก็เดินจากไป
พ่อยืนมองผู้ชายและผู้หญิงคนแล้วคนเล่าอย่างรู้สึกมึนงง ที่นอกจากไม่ซื้อแล้วยังพูดแปลก ๆ ทว่าพ่อก็สามารถขายทุเรียนที่นำไปในวันนั้นได้จนหมด จากคนที่เห็นว่า ลักษณะผลของมันดี พ่อฉีกให้ดูเนื้อในและให้ลองชิม คนที่ซื้อคือคนไกลที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับ ทุเรียนแม่ทองอยู่
พ่อได้เงินค่าขายทุเรียนมาเป็นร้อย (ค่าของเงิน พ.ศ.๒๕๐๐) ทำให้ได้ซื้อข้าวปลาอาหาร และสิ่งจำเป็นสำหรับใช้ในบ้าน
และปีนั้น ทุเรียนแม่ทองอยู่ ทำรายได้ให้ครอบครัวของเราหลายร้อยบาททีเดียว แต่พ่อก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้คนในละแวกตำบลที่มาอยู่ ไม่กล้าซื้อและไม่กล้ากินผลของทุเรียนแม่ทองอยู่ กระทั่งวันหนึ่งมีชาวบ้านใกล้ ๆ มาเล่าให้พ่อฟังว่า
นายมากคนที่ขายที่ให้พี่ เขาอยากขายที่แปลงนี้นานแล้ว แต่บอกขายกี่ครั้ง ๆ ไม่มีคนกล้าซื้อ
ทำไม เขากลัวอะไร พ่อถาม
ผมไม่รู้ที่มาก่อนหน้านี้ แต่นายมากซื้อที่มาจากนายฉาย ส่วนนายฉายซื้อมาจากใครผมจำไม่ได้ เพราะซื้อต่อขายต่อกันมาเป็นทอด ๆ หลายทอด นายฉายเจ้าของที่ก่อนนายมากพอซื้อที่แปลงนี้เมียแกก็คลอดลูก ตอนคลอดรกติดในท้องเอาไม่ออกแล้วลูกตายเมียก็ตาย นายฉายมีเมียใหม่อีกคน พอเมียมีท้องคลอดลูก รกก็ติดในท้องอีกลูกก็ตาย เมียก็ตาย
นายฉายกลัวเลยขายที่ให้นายมาก นายมากมีเมียมีลูกมาแล้วคนหนึ่ง พอมาอยู่ที่นี่เมียท้องจะคลอดลูกคนที่สอง
รกก็ติดในท้องแล้วเมียก็ตายอีกใช่ไหม พ่อเดาแล้วต่อให้
ทำไมพี่รู้ มีใครเล่าให้พี่ฟังแล้วหรือ เพื่อนบ้านถาม
เปล่า แต่เดาว่าเรื่องมันต้องเป็นอย่างนั้น พ่อพูด
หมายความว่าพี่ไม่เชื่อเรื่องลึกลับอาถรรพณ์แบบนี้ เพื่อนบ้านจ้องหน้า
ก็ไม่เชิง แต่อยากจะคิดแบบอื่นบ้างว่า เพราะที่นี่ไกลหมอ และหมอตำแยก็คงจะไม่เก่ง ทำให้คนที่คลอดรกติด
ตกลงนายมากทำยังไง พ่อถามเพราะอยากรู้ตอนจบ
หลังจากเมียคลอดลูกตายนายมากย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่คอยมาดู ๆ แลที่และบอกขายไว้ จนวันที่พี่มาดูและมาซื้อ มันดีใจมากที่ขายได้ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกมันคิดว่าคงขายไม่ได้ เพราะไม่มีใครกล้าซื้อ
ผมไม่เชื่อว่าภูตผีปีศาจจะมายุ่งกับคน ถ้าเราทำดีไม่ได้ทำชั่ว อีกอย่างผมทำมาหากินด้วยความสุจริตไม่ได้คดโกงใคร ถ้าพวกผีปีศาจมีจริง ทำไมไม่จัดการกับไอ้พวกโกงบ้านกินเมือง พวกถางทำลายป่า ตัดโค่นทำไม้ซุงเถื่อน คุณเห็นไหมป่ามันหดสั้นหนีขึ้นเขาไปทุก ๆ วัน ถ้าพวกภูตผีปีศาจมีจริงต้องเล่นงานพวกนี้บ้าง


พ่อยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำสวนโดยสุจริตต่อไป เพราะเชื่อในกรรมดีของตน พ่อขยายที่ป่าออกไปเพื่อปลูกยางพารา และปลูกผลไม้ มังคุด เงาะ ทุเรียน และในระหว่างที่พืชผลพวกนี้ยังเล็ก พ่อก็ปลูกกล้วยและพืชผักสมุนไพรต่าง ๆ
ที่ดินของเราอยู่ไม่ไกลจากตลาดของหมู่บ้านมากนัก พ่อจึงสามารถนำพืชผลไปขายได้ทุกวัน แต่บางวันแม่ก็ไปขายเอง
เงินที่ได้จากการขายทุเรียน แม่ทองอยู่ พ่อนำไปฝากออมสินไว้ สำหรับหรือเผื่อว่าแม่จะมีและคลอดลูกคนใหม่ แม่ยังมีอายุแค่สามสิบเศษ ๆ ยังสาวและสวยซึ่งยังสามารถจะมีลูกได้อีกหลายคน
เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการเผยแพร่และชักชวนให้ทำหมัน และคนที่อยู่ตามชนบทในสมัยนั้น ชอบที่จะมีลูกหลาย ๆ คน เพราะลูกหลายคนจะได้ช่วยกันทำงาน สามารถสร้างฐานะความเป็นปึกแผ่นได้ไว และสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครที่อยู่ตามป่าตามดง อยากจะให้ลูกเรียนหนังสือ เพื่อเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าเป็นนาย
พ่อก็คงจะคิดอย่างนั้น จึงอยากที่จะให้แม่มีลูกอีกหลาย ๆ คน เท่าที่สามารถจะมีให้ได้
สวนของพ่อกับแม่กว้างออกไปมากขึ้น ไม่กี่เดือนต้นยางพาราที่ปลูกใหม่ ชูยอดสูงท่วมหัวพ่อ ดินตรงนี้ดีเหลือเกิน ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใด ๆ ช่วยและสมัยนั้นปุ๋ยที่คนรู้จักก็มีแต่ ขี้วัว ขี้ควาย
ต้นมังคุด เงาะ ทุเรียน ลางสาด สะตอ กล้วย พริกไทย พลูกินหมาก ฯลฯ ขึ้นงอกงามดี ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล ยามว่างพ่อยืนมองมันด้วยความภาคภูมิใจ


มองไกลออกไปด้านหลัง ขุนเขาเขียวทะมึน ต้นไม้หนาแน่น อากาศชุ่มเย็นตลอดปี ไข้ป่าหรือไข้มาลาเรีย ยังเป็นไข้ที่น่ากลัว พ่อต้องซื้อยาจากร้านหมอมาเก็บไว้ประจำตู้ยา ทุกฤดูที่ฝนตกชุกยุงจะชุม ต้องกินยาป้องกันไข้มาลาเรียไว้ทุกคน
ผิดกับชาวบ้านในละแวกที่เอาแต่ไหว้วอน รักษาอาการไข้ด้วยการนับถือผีสาง และใช้น้ำมนตร์ ไข้ป่าจึงคร่าชีวิตชาวบ้านในท้องถิ่นนี้ไปปีละหลายคน
พ่อไม่เชื่อเรื่องผีสาง พ่อบอกว่าคนที่เจ็บป่วยและล้มตาย เป็นเพราะไม่ยอมไปหาหมอให้หมอรักษา และไม่ยอมซื้อยามากินป้องกัน พ่อเชื่อแต่การแพทย์สมัยใหม่ เชื่อว่าเชื้อโรคและความเจ็บป่วยที่ทำให้คนตาย ไม่ใช่ผีสางนางไม้
แม่เริ่มมีมีอาการป่วยกระเสาะกระแสะเล็กน้อยในเวลาต่อมา อาการแรกคล้าย ๆ เป็นหวัด เบื่ออาหาร อาเจียนแล้วก็เป็นไข้ เป็นครั้งละสองสามวัน เป็น ๆ หาย ๆ พ่อต้องไปตามยายจากบ้านลุงเพิ่มมาช่วยดูแล
บ้านของลุงเพิ่มอยู่ห่างจากที่สวนพ่อไปประมาณ ๓๐๐ เมตร พ่อเดินทางไปอำเภอ ไปซื้อยาตามอาการมาให้แม่กิน แต่อาการของแม่ก็ไม่ดีขึ้น พ่อไม่เคยประมาทในเรื่องการเจ็บป่วยของทุกคนในบ้าน พ่อจึงไปถอนเงินที่ธนาคารออมสิน แล้วพาแม่ไปหาหมอในเมืองนครศรีธรรมราช ขากลับจากในเมืองพ่อยิ้มแต้มาบอกยายว่า
เมียผมมันท้องลูกอีกคนแล้วแม่
แต่ยาที่หมอให้มาแก้อาการเจ็บป่วยของแม่ ไม่ทำให้แม่ดีขึ้นเลย แม่ยังมีอาการเจ็บป่วยกระเสาะ กระแสะอยู่เหมือนเดิม พ่อต้องพาแม่ไปหาหมอที่ในเมืองนครฯ อีกหลายครั้ง เงินทองที่เก็บไว้ตอนขายทุเรียน แม่ทองอยู่ แทบไม่เหลือติดบัญชีอีกเลย
ยายจึงตำหนิพ่อว่า มึงเอาแต่ไปหาหมอหลวง เราอยู่ในป่าในดง ที่ดินที่ซื้อเขาก็ว่าอาถรรพณ์ มันเป็นที่อุบาทว์ ข้าว่าน่าจะขายเสีย แล้วไปซื้อที่ใหม่อยู่ติดกับไอ้เพิ่มโน่น ถึงจะได้ที่น้อยกว่าแพงกว่า แต่มันอยู่ปลอดภัย มึงก็ไม่เชื่อท่าเดียว

ยายอยากให้พ่อขายที่ตรงนี้เสีย แต่พ่อไม่เชื่อและไม่ยอม
ถ้ากลัวผีก็ไม่ต้องอยู่เป็นคน เชื่ออะไรเหลวไหลไม่เข้าเรื่อง พ่อยังเถียงอยู่ลับหลังยาย อีกอย่างพ่อได้ลงทุนลงแรงไปในที่ดินผืนนี้มากแล้ว พ่อจึงไม่ยอมขาย
ยายยอมแพ้ในความดันทุรังของพ่อ และยายเป็นห่วงลูกสาวยายจึงไปหาหมอผี เป็นหมอทรงเจ้าให้มาทำพิธีขจัดปัดรังควานให้แม่ หมอเข้าทรงบอกให้ยายเตรียมหมากพลู เครื่องบัดพลี หมอจะมาทำพิธีให้ในวันรุ่งขึ้น
วันนั้นกลางเที่ยง ดวงอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะและแดดจ้า ไม่มีเมฆหมอก ไม่มีเค้าฝน อากาศเป็นเหมือนวันปรกติที่ผ่านมา ขณะที่ยายเดินเข้าสวนและกำลังสอยหมากทะลายหนึ่งจากต้น ใกล้ต้นทุเรียนแม่ทองอยู่
เปรี้ยง! ฟ้าผ่าลงมายังต้นหมากที่ยายกำลังสอย
สายฟ้าไม่ถูกยายหรือใคร ๆ แต่ยายล้มลงนอนพนมมือแต้ ปากท่องบ่นนะโม อิติปิโส ภะคะวา
และบ่นบานศาลกล่าวต่อเทวดาอารักษ์ด้วยความตกใจจนขวัญหนี
หมากต้นนั้นเลยไม่ต้องสอย ยายต้องกลับไปสอยหมากมาจากสวนของลุง

คืนนั้นขณะที่แม่กำลังหลับ ๆ ตื่น ๆ จะว่าฝันก็ไม่ใช่ จริงก็ไม่เชิง แม่เห็นผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกับแม่นุ่งผ้าซิ่น ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ห่มสไบเฉียง ผ้านุ่งสีน้ำตาลเจือแดง สไบสีเขียวยอดตอง มายืนร้องไห้กระซิกๆ น้ำตานองหน้า ชี้ไปที่แม่ว่า
ผัวมึงเอาลูกกูไปขาย บอกผัวมึงให้เอาลูกกูคืนมา ไม่งั้นมึงตาย หญิงสาวในภาพกึ่งจริงกึ่งฝัน ยืนตัดพ้อต่อว่าแม่อีกหลายคำ สลับกับการร้องไห้แล้วจากไป แต่ก่อนจะจากไปยังคาดคั้นครั้งแล้วครั้งเล่าว่า
อย่าลืมบอกผัวมึงให้ไปเอาลูกกูคืนมา ถ้าไม่ได้ลูกกูคืนมามึงตาย แม่สะดุ้งตื่น ลุกจากที่นอนก็เห็นพ่อกับยายยังนอนเฝ้าอยู่ใกล้ ๆ แม่ไม่กล้าปลุกทุกคนขึ้นมาเล่าในตอนนั้น แต่มาเล่าให้พ่อ ยาย และทุกคนฟังในตอนเช้า แม่มั่นใจว่าไม่ได้ฝันและแม่เห็นหญิงคนนั้นจริงๆ พ่อหัวเราะไม่เชื่อ และพูดว่า
เธอไม่สบายจึงเกิดความกังวล หรือไม่ก็ธาตุปรวนแปรทำให้คิดฝันไป ไม่มีอะไรหรอก
แต่ยายเชื่อและพูดว่า ไอ้ชีพ มึงเอาทุเรียนไปขาย มึงก็รู้ว่า คนแถวนี้พอรู้ว่าทุเรียนต้นแม่ทองอยู่ ก็ไม่มีใครกล้าซื้อ มึงไม่คิดอะไรบ้างหรือ
คิดอะไรแม่ คนแถวนี้ไม่ซื้อ คนที่อื่นเขาก็ซื้อไปกินกัน ทุกคนกินแล้วติดใจวันหลังยังมาเหมาไปหมดเลย เขาบอกว่ารสชาติดี นี่ผมยังเพาะเมล็ดแม่ทองอยู่ไว้ปลูกต่ออีกหลายต้น กะขยายให้เต็มสวน ทุเรียนรสดี ๆ อย่างนี้หายาก พ่อกลับพูดไปอีกทาง
มึงอย่าแสร้งทำเป็นไม่รู้
มึงเอาลูกแม่ทองอยู่ไปขาย คนแถวนี้กลัวไม่กล้าซื้อ ทุเรียนต้นนี้มีผีสิงมันจึงมาทวงลูกจากอีไพ มันจะเอาอีไพถึงตายถ้ามึงไม่เอาลูกมันมาคืน ยายพูดฉอด ๆ ใส่พ่อและค้อนให้อย่างไม่พอใจ
โธ่แม่ ลูกทุเรียนนะ ไม่ใช่ลูกหมาลูกแมว ขายให้คนกินขี้ไปหมดแล้ว จะไปเอาจากที่ไหนมาคืน ผมว่าแม่ไพฝันเหลวไหล พ่อยังไม่เชื่ออยู่เหมือนเดิม
มึงไม่เชื่อแต่กูเชื่อ กูเป็นห่วงอีไพลูกกู กูจะไปหาหมอมาปัดรังควาน แต่มึงน่าจะร่วมมือกะกูด้วย เอาเงินที่ขายทุเรียนได้นั่นไปทำบุญถวายวัดเสียสักครึ่ง แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แม่ทองอยู่ ยายพูด
เกลี้ยงแล้ว ใช้หมดตั้งแต่พาแม่ไพไปหาหมอจำรัส เหลืออยู่สิบบาทติดบัญชี พ่อพูด
เฮ้อ ให้มันได้ยังงั้นซีวะ แล้วคราวนี้จะแก้ยังไง จะปล่อยให้อีไพมันตายกูไม่ยอมนะ ยายบ่นอย่างหัวเสีย
เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เพื่อให้แม่กับไพสบายใจ ผมจะไปนิมนต์พระที่วัดมาสวดมนต์เรือน เพราะตอนสร้างบ้านเสร็จเราก็ยังไม่ได้สวด ให้พระมาสวดแล้วเราถวายอาหาร เอาเงินที่พอมีทำบุญไปแล้วอุทิศส่วนกุศลให้แม่ทองอยู่
"นิมนต์มาวันมะรืนนี้ วันพรุ่งนี้ผมจะไปเตรียมข้าวปลาอาหาร บอกญาติ ๆ และคนที่สนิทกันมาร่วมทำบุญ พ่อพูดอย่างยอมจำนน
เออดี อย่างนี้อย่างนี้ยังดีกว่าดันทุรังไม่เข้าท่า เอ็งนิมนต์พระมาสักแปดเก้ารูป ข้าก็จะหาหมอมาเข้าทรงทำพิธีเสริมขึ้นอีกแรง ยายรู้สึกดีใจที่ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้ว อาจจะช่วยบรรเทาอิทธิอำนาจของเจ้าที่เจ้าทางลงได้บ้าง
$$$$$$
Create Date : 10 มีนาคม 2554 |
Last Update : 10 มีนาคม 2554 17:16:00 น. |
|
14 comments
|
Counter : 3197 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: นักล่าน้ำตก วันที่: 10 มีนาคม 2554 เวลา:17:29:53 น. |
|
|
|
โดย: หญิงแก่น วันที่: 10 มีนาคม 2554 เวลา:20:39:42 น. |
|
|
|
โดย: seton วันที่: 11 มีนาคม 2554 เวลา:1:36:08 น. |
|
|
|
โดย: แอน (seton ) วันที่: 11 มีนาคม 2554 เวลา:20:56:39 น. |
|
|
|
โดย: ไกลบ้าน IP: 2.204.87.136 วันที่: 13 มีนาคม 2554 เวลา:7:08:38 น. |
|
|
|
โดย: นักล่าน้ำตก วันที่: 13 มีนาคม 2554 เวลา:21:36:18 น. |
|
|
|
โดย: นักล่าน้ำตก IP: 58.8.86.63 วันที่: 14 มีนาคม 2554 เวลา:11:22:40 น. |
|
|
|
โดย: หลวงเส วันที่: 20 พฤศจิกายน 2554 เวลา:21:22:57 น. |
|
|
|
|
|
|
|
ตัวหนังสือตัวโตดี
แต่จองที่ไว้ก่อนนะคะ ไงก็กลับมาอ่านค่า
ป.ล...มีเรื่องสั้นเกี่ยวกะหมอดู ลุงว่างก็แวะไปอ่านเนอะ