สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
เมื่อกีฬาทำ 'บาดเจ็บ'

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กับกีฬาทุกประเภท และกับทุกส่วนของร่างกาย ส่วนสาเหตุการเกิดก็มีหลายประการ เช่น ความไม่พร้อมของร่างกาย อุปกรณ์กีฬาที่ไม่มีคุณภาพ จากผู้แข่งขันฝ่ายตรงข้าม หรือจากความประมาทของตัวนักกีฬาเอง เป็นต้น

บาดเจ็บที่ไหนบ้าง?

สถิติการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาทั่วโลกพบว่า ตำแหน่งที่เกิดการบาดเจ็บมากที่สุดคือหัวเข่า รองลงมาคือข้อเท้า และอันดับสามคือหลัง ทั้งนี้เราสามารถแบ่งการบาดเจ็บออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ

1. การบาดเจ็บที่เห็นได้ชัดเจน ยกตัวอย่างที่พบได้บ่อยในอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้
- เข่า ไม่ว่าจะเป็นเอ็นหรือกล้ามเนื้อเข่าฉีก เข่าแพลง หกล้มเข่ากระแทก ฯลฯ การที่ข้อเข่าแพลงมีสาเหตุมาจากเอ็นถูกยืดออกมากเกินไปหรือฉีกขาดบางส่วน ทำให้มีเลือดออกจึงบวมและปวด บางครั้งเกิดรอยฟกช้ำร่วมด้วย
- ข้อเท้า ในบรรดาอาการข้อแพลงทั้งหมดพบที่ข้อเท้าบ่อยที่สุด หากเป็นไม่มากนักอาการปวดบวมจะหายไปในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ระหว่างนี้ไม่ควรใช้งานขามาก และไม่ลงน้ำหนักเท้าข้างที่ปวดเวลาเดิน
- หลัง ส่วนมากเป็นอาการปวดเนื่องจากความเมื่อยล้า หรือเล่นผิดท่า โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง การบริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงขึ้นจะช่วยลดการปวดได้มาก
- แขน เกิดเคล็ดขัดยอกได้บ่อย มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จะมีอาการปวดบวมและมีรอยฟกช้ำ
- ขา เกิดเคล็ดขัดยอกได้บ่อยเช่นเดียวกับแขน
- มือ เป็นอวัยวะที่เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยไม่แพ้กัน ได้แก่ ข้อมือซ้นหรือแพลง รวมไปถึงอาการนิ้วซ้น โดยมักปวดและบวมในระยะแรก เนื่องจากกล้ามเนื้อหรือเอ็นภายในอาจฉีกขาดและมีเลือดออก
- ศีรษะ ปูดโนจากการกระแทก ซึ่งอาจทำให้รู้สึกมึนงง หน้ามืด หรือปวดตึบ ๆ ในช่วงแรก ให้ประคบด้วยน้ำแข็ง อาการจะดีขึ้นตามลำดับ
- ตา มักเกิดกับกีฬาที่ใช้ลูกบอลในการเล่น ซึ่งลูกบอลอาจกระแทกเข้าตาด้วยความแรงจากการตีของฝ่ายตรงข้าม ถ้าถึงกับปวดหรือมีเลือดออก ต้องอยู่ในท่านอนนิ่ง ๆ อย่าขยี้ตาเด็ดขาด เพราะอาจทำอันตรายต่อแก้วตาได้ จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

2. การบาดเจ็บที่มองไม่เห็น
เป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากการใช้งานอวัยวะนั้น ๆ ซ้ำซากและมากเกินไปเป็นเวลานาน โดยที่ไม่มีความแข็งแรงพอ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ ฯลฯ เช่น นักเทนนิสที่ใช้งานแขนมากเกินไปก็อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อแขนอักเสบเรื้อรังได้ เป็นต้น
นอกจากนี้กระดูกยังอาจร้าวหรือแตกจากการใช้งานมากเกินไป โดยมากมักพบในนักวิ่งระยะไกล บริเวณกระดูกขาล่างตอนบนส่วนที่ต่อกับหัวเข่า และเหนือตาตุ่มด้านนอกขึ้นมาประมาณ1/3 ของขา หรือบริเวณกระดูฝ่าเท้า อันที่ 3, 4 และ 5 เป็นต้น
อีกตำแหน่งหนึ่งที่พบบ่อยคือหลัง มักเกิดกับนักกีฬายกน้ำหนัก ยิมนาสติก หรือนักกระโดดน้ำ ที่มีอาการกระดูกสันหลังร้าวหรือเคลื่อน ซึ่งอันตรายมาก ดังนั้นหากเป็นคนที่เล่นกีฬาซ้ำ ๆ มาเป็นเวลานานและใช้งานมาก และรู้สึกเจ็บตามตำแหน่งดังกล่าว ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจเชคร่างกายและหาทางรักษาโดยเร็ว

บาดเจ็บป้องกันได้

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาไม่ใช่เรื่องสุดวิสัยเสียทีเดียว หากมีการเตรียมตัวให้พร้อมในทุก ๆ ด้านก็สามารถป้องกันอันตรายจากการบาดเจ็บได้ ดังนี้
ตรวจร่างกาย - เป็นการตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อดูว่ามีความผิดปรกติทางโครงสร้างร่างกายหรือไม่ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ เช่น เท้าแบน ขาโก่ง หลังคด แพทย์จะได้แนะนำให้เสริมความหนาของรองเท้าในกรณีที่ขายาวไม่เท่ากัน เป็นต้น รวมทั้งบางคนที่มีโรคแอบแฝงอยู่แล้วไม่รู้ตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต ฯลฯ ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดในการเล่นกีฬา สามารถเล่นได้บางประเภทที่เหมาะสมเท่านั้น และยังช่วยให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้นด้วย
ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย - เช่น การทำงานของหัวใจ ความจุปอด ความยืดตัวของกล้ามเนื้อ ความอ่อนตัวของร่างกาย พลังของกล้ามเนื้อ ระดับไขมัน ฯลฯ เพื่อวัดระดับความสามารถในการออกกำลังกายว่าอยู่ในเกณฑ์ใด แข็งแรงพอหรือไม่ที่จะไปเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมาก และกีฬาประเภทไหนที่เหมาะกับคุณโดยไม่เสี่ยงต่ออันตราย
อุปกรณ์กีฬาพร้อม - กีฬาบางอย่าง หากมีอุปกรณ์ที่ดีก็จะช่วยลดการบาดเจ็บได้ เช่น การวิ่ง ถ้าพื้นวิ่งแข็งเกินไป(ดีที่สุดคือสนามหญ้า แต่หายาก) นานเข้าก็จะรู้สึกเจ็บที่สันหน้าแข็ง ปวดข้อเท้า และปวดเข่าได้ ฉะนั้นต้องใช้รองเท้าเข้ามาช่วยรองรับการกระแทก เพราะว่าเวลาที่เราตัวลอยพ้นจากพื้น ขาและเท้าของเราจะต้องรับน้ำหนักมากกว่าการเดินตามปรกติถึง 3 เท่า ดังนั้นรองเท้าวิ่งจึงควรมีพื้นนิ่ม มีความยืดหยุ่นดี หรืออย่างไม้เทนนิสก็ต้องมีความเด้งดีพอสมควร ไม่แข็งกระด้าง มิเช่นนั้นอาจเกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อแขนได้ เป็นต้น
Warm Up เสียก่อน - ก่อนเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายต้องอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้งสัก 10 นาที จะช่วยให้เลือดจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับกล้ามเนื้อ เพื่อเผชิญกับการยืดหรือเหยียดอย่างกะทันหันขณะเล่นกีฬา โอกาสบาดเจ็บก็จะเกิดได้น้อยลง รวมถึงการเกิดตะคริวด้วย
Cool down ก่อนหยุด - ไม่ควรหยุดการเคลื่อนไหวทันทีในขณะที่ยังเหนื่อยจัด เช่น วิ่งมาด้วยความเร็วสูงแล้วหยุดทันที ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อหัวใจ ถึงกับเสียชีวิตได้ ที่ถูกต้องนั้นควรค่อย ๆ ผ่อนแรงทีละน้อยหรือเคลื่อนไหวช้าลง ๆ จะทำให้หัวใจค่อย ๆ เต้นช้าลงไปด้วย
มีสมาธิอยู่เสมอ - การระมัดระวังตัวและมีสติอยู่ตลอดเวลา ก็ช่วยให้ลดโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะในยามคับขัน
ส่วนไหนเสี่ยงฟิตส่วนนั้น - คือการบริหารร่างกายโดยเฉพาะอวัยวะที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บง่าย เช่น หัวเข่า ข้อเท้า หลัง ฯลฯ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนไหว เพื่อให้กระดูก กล้ามเนื้อ และเอ็นมีความแข็งแกร่งเพียงพอ และพร้อมในการยืดหยุ่น จะเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้มาก
เล่นกีฬาไม่ซ้ำซาก - ไม่ควรเล่นกีฬาประเภทเดียวซ้ำซากเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนชนิดกีฬาหรือการออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บสะสมในอวัยวะเดียวเป็นเวลานาน และยังทำให้รู้สึกสนุก ไม่เบื่อหน่ายอีกด้วย

ปฐมพยาบาลเมื่อบาดเจ็บ

ในกรณีที่ไม่บาดเจ็บมากนัก เช่น อาการเคล็ดขัดยอก ข้อแพลง ฟกช้ำ ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถทำการปฐมพยาบาลตามมาตรการ RICE ซึ่งเป็นคำย่อของการปฏิบัติ 4 ขั้นตอน ที่ต้องทำทันทีเมื่อเกิดการบาดเจ็บดังกล่าว
Rest คือการหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ทันที หรือพักการใช้อวัยวะนั้นชั่วคราว อย่าดึงดันที่จะใช้งานต่อ มิฉะนั้นอาการอาจเลวร้ายลงกว่าเดิม
Ice ความเย็นจากน้ำแข็งจะทำให้เส้นเลือดหดตัว เลือด(จากแผลภายใน)หยุดไหลเร็วขึ้น ช่วยลดอาการบวมและบรรเทาความเจ็บปวดได้ วิธีประคบเย็นให้ห่อน้ำแข็งด้วยผ้าหรือถุงพลาสติก แล้วคลึงเบา ๆ เป็นวงกลมบนบริเวณที่ปวดบวมประมาณ 10 นาที แต่อย่าถึงกับประคบจนบริเวณนั้นกลายเป็นสีน้ำเงินคล้ำ ซึ่งแสดงว่าเย็นมากเกินไป ในทางกลับกันการใช้ยาหม่อง บาล์ม หรือน้ำมันนวดที่ทาแล้วร้อนเมื่อเกิดการบาดเจ็บในลักษณะนี้ ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะความร้อนจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว เลือดออกมากขึ้น และจะยิ่งบวมเข้าไปใหญ่ น้ำมันเหล่านี้ควรใช้สำหรับนวดกล้ามเนื้อให้ตื่นตัวตอนอบอุ่นร่างกายเท่านั้น
Compression ใช้ผ้ายืด(Elastic)พันรอบบริเวณที่เคล็ดแพลงหรือกล้ามเนื้อฉีก การพันผ้ายืด ต้องพันจากส่วนปลายมาหาส่วนโครง เช่น จากปลายมือมาหาไหล่ จากปลายขาขึ้นมาที่ต้นขา เป็นต้น เวลาพันบางคนพันแบบฟันปลาซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสำหรับการปฐมพยาบาลในลักษณะนี้ เพราะจะเกิดแรงกดเป็นหย่อม ๆ ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เลือดไปเลี้ยงแขน ขาไม่เพียงพอ วิธีพันที่ดีคือพันวนไปเรื่อย ๆ ช่วยเพิ่มแรงกดทำให้เลือดไม่ออกและไม่บวมมาก ช่วยยึดตึงกล้ามเนื้อหรือเอ็นให้อยู่นิ่ง ๆ และกระชับ ลดการเจ็บปวดลงได้
ผ้ายืดแบบสวมได้เลยที่เรียกว่า เผือกอ่อน ก็ใช้ได้ผลดีไม่แพ้กัน แถมยังสะดวก อย่างในรายข้อเท้าแพลง เมื่อให้การปฐมพยาบาลเสร็จแล้วก็ใส่เผือกอ่อนเข้าไว้ เพื่อให้เอ็นที่ฉีกขาดประสานกัน เป็นต้น
Elevation ยกอวัยวะที่บาดเจ็บให้สูงขึ้นกว่าระดับหัวใจ(ถ้าทำได้) จะช่วยลดอาการบวมเนื่องจากเลือดไปคั่งบริเวณที่บาดเจ็บได้

เมื่อไหร่ต้องส่งหมอ

แม้น้อยครั้งที่กีฬาทั่วไปจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสถึงกับต้องส่งโรงพยาบาล แต่ก็พบว่ามีนักกีฬาจำนวนมากที่ต้องได้รับการดูแลอย่างดีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการปฐมพยาบาลหรือการรักษาเบื้องต้น(ด้วยตนเอง)อย่างเดียวไม่เพียงพอ เช่น
- หมดสติ เพราะศีรษะถูกกระแทกอย่างแรง แม้จะพื้นแล้วก็ตามต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจเชคโดยละเอียดอีกที
- ข้อเคลื่อน ข้อหลุด หรือกระดูกหักทุกชนิด ต้องทำการจัดกระดูกให้เข้าที่ เข้าเฝือก หรือผ่าตัดตามแต่อาการ เป็นไปได้ว่าบางคนอาจไม่รู้ตัวว่ากระดูกหัก ซึ่งสามารถสังเกตได้โดยบริเวณแผลจะบวมมากกว่าปรกติ เนื่องจากมีเลือดออกภายในมาก
- ตกเลือดในร่างกาย ส่วนใหญ่เกิดจากประเภทกีฬาปะทะ เช่น มวย ฟุตบอล รักบี้ ฯลฯ วิธีสังเกตให้กดที่บริเวณท้อง ถ้าท้องแข็งเกร็งทั่วไปหมดแสดงว่าอวัยวะภายในกำลังได้รับการบาดเจ็บและมีเลือดออก ต้องรีบส่งให้ถึงมือแพทย์เร็วที่สุด
- บาดแผลที่มีเลือดออกมาก เป็นบาดแผลฉกรรจ์ ต้องรีบห้ามเลือดโดยด่วน แล้วจึงนำส่งโรงพยาบาล
- ฟักฟื้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ในกรณีบาดเจ็บไม่มากนัก เช่น เข่าเคล็ด ข้อเท้าแพลง ซึ่งได้ปฐมพยาบาลทั่วไป และฟักฟื้นเป็นเวลา 1 - 2 สัปดาห์แล้ว หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรปรึกษาแพทย์เช่นกันค่ะ

สำหรับผู้สูงอายุนั้นต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเสื่อมของร่างกายเข้ามาเยือน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลง ประสาทสั่งงานช้าลง มวลกระดูกลดลง จึงไม่เหมาะกับการเล่นกีฬาที่ต้องแข่งขัน หันมาเล่นกีฬาเบา ๆ เพื่อสุขภาพก็น่าจะเพียงพอแล้ว




ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร Health & Cuisine
//writer.dek-d.com/AngelTVXQ/story/viewlongc.php?id=465740&chapter=30





Create Date : 16 ตุลาคม 2552
Last Update : 16 ตุลาคม 2552 8:59:30 น. 0 comments
Counter : 716 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
16 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.