สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
การเลือกตั้งนอกอาณาจักร

วันนี้เป็นโอกาสดีก็เลยช่วยที่ทำงานกระทรวง
การต่างประเทศ ในการรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิ์ในการ
เลือกตั้งซึ่งอาศัยอยู่ในต่างประเทศ
ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการเลือกตั้งกันมากๆ
ฝากเชิญชวนเพื่อนๆ ชาวบล็อกแกงค์ทุกท่านที่มี
ถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศออกไปใช้สิทธิ์
กันมากๆ นะค่ะ ก็เลยนำความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
นอกราชอาณาจักรมาฝากกันค่ะ

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรคืออะไร?

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร คือการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในช่วงเวลาเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในประเทศไทย เพียงแต่เป็นการจัดการเลือกตั้งนอกประเทศไทย โดยมีสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่เป็นผู้จัดการเลือกตั้งให้
คนไทยทุกคน ที่มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทย สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ ตามที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลครอบคลุมถิ่นที่อยู่ของท่านในต่างประเทศจัดให้ โดยท่านต้องไปแสดงความจำนงใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ตามวิธีการ ที่กำหนด

ทำไมคนไทยในต่างประเทศต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ?










“หนึ่งเสียงจากแดนไกล
ช่วยเหลือประเทศไทย ให้ได้ผู้แทนที่ดี”
 


การเลือกตั้งเป็น “หน้าที่” ที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนไทย ที่จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อเป็นการแสดงความคิดเห็น ผ่านการลงคะแนนเสียง ต่อการเลือกผู้แทนที่จะมาทำงานให้ประชาชน และเป็นการแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักของระบอบประชาธิปไตย รวมถึงจะเป็นการช่วยป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้ง ไม่ให้ผู้อื่นมาสวมสิทธิแทนเราได้อีกด้วย

คำชี้แจง
   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติเรื่องการเลือกตั้ง สิทธิและหน้าที่ของคนไทย เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังนี้
หมวด 4 หน้าที่ของคนไทย
   มาตรา 72 บุคคลมีหน้าที่ีไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
   มาตรา 87 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยส่งเสริม และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
   มาตรา 99 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือ มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง




การไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
จะเกิดประโยชน์แก่คนไทยในต่างประเทศอย่างไร?

การมาใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร คือการแสดงการมีส่วนร่วมของอำนาจ 1 คะแนนเสียงที่ท่านมีอยู่ในมือ สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศไทยได้อย่างมหาศาล ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นำไปสู่การรับรู้ถึงตัวตนของชุมชนคนไทยในต่างแดน ที่มีความสามารถในการช่วยพัฒนาประเทศไทยได้ และต่อยอดไปถึงการจัดสรรงบประมาณและส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ จากทางการไทย ไปสู่ชุมชนไทยในต่างแดน
การที่คนไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ถือเป็นการเผยแพร่ความเป็นประชาธิปไตยของไทยให้ต่างชาติรับรู้ถึงการมีตัวตนของชุมชนไทยในต่างแดน เป็นการช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย และส่งผลดีต่อภาพพจน์ประเทศ สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
นอกจากนี้ การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทำให้คนไทยในต่างแดน ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความเห็น ช่วยเหลือกัน ช่วยกันทำงาน เป็นการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนไทยด้วยกัน และคนไทยกับสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ สร้างสายใยชุมชนคนไทยในประเทศนั้นๆ ให้เข้มแข็งขึ้น




สำหรับคนไทยที่พำนักอยู่ในต่างประเทศมาเป็นเวลานาน
การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะมีประโยชน์อย่างไร?

สิ่งที่คนไทยซึ่งอาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานานควรคำนึงถึงคือ การใช้สิทธิการเลือกตั้งจะเป็นหน้าที่สำคัญของประชาชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และถ้าหากคนไทยในต่างประเทศไม่ใช้สิทธินี้นอกจากจะถือว่าเป็นการ “นอนหลับทับสิทธิ” แล้ว อาจจะทำให้คนบางกลุ่มในประเทศไทยผลักดันให้มีการลดหรือตัดสิทธิการเลือกตั้งสำหรับคนไทยที่พำนักอยู่นอกราชอาณาจักรไทยทั้งหมด โดยอาจจะอ้างถึงสาเหตุจากการที่ไม่มีการตอบรับเพียงพอจากคนไทยในต่างประเทศให้พอคุ้มกับงบประมาณที่ใช้ไป ซึ่งในภายหลังอาจจะบานปลายไปถึงการไม่รับรู้ถึงตัวตนและความสำคัญของชุมชนไทยในต่างประเทศได้ในอนาคต
สิทธิการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของประชาชนไทยนั้น เป็นสิทธิที่สามารถใช้และแสดงความเป็นเจ้าของได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าท่านได้อาศัยอยู่ในต่างประเทศมาแล้วกี่ปีก็ตาม หรือไม่ได้กลับประเทศไทยเลยตั้งแต่ท่านได้เดินทางออกมา แต่ยังสามารถใช้สิทธิได้ตราบใดที่ยังถือสัญชาติไทยอยู่ และเป็นสิทธิอันมีค่า ซึ่งมีหลายประเทศที่ถึงแม้เป็นประเทศประชาธิปไตย แต่รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ ก็ไม่ได้จัดการเลือกตั้งให้ประชาชนได้ใช้สิทธินอกประเทศ
แม้ท่านไม่ทราบว่าจะเลือกใคร หรือรู้สึกว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับตัวส.ส. ส.ว. หรือพรรคในประเทศไทยเพราะอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน แต่การใช้สิทธินั้น นอกจากเป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับบ้านเกิดเมืองนอน และญาติมิตรที่ยังอยู่ในประเทศไทย และมีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน เป็นการดูแลผลประโยชน์ของตัวท่านและครอบครัวญาติมิตร ทั้งในและนอกราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังสามารถป้องกันสิทธิปัจจุบันและในอนาคตของตัวท่านเอง ลูกหลาน ญาติพี่น้องของท่าน และคนไทยคนอื่นที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศอีกด้วย



















   
  “ถึงไม่ได้อยู่เมืองไทย
หนึ่งเสียง
ของคุณ มีส่วนเลือกสรรผู้แทน
เพื่อพัฒนาบ้านเกิด
และดูแลญาติพี่น้องของคุณ”
 
     

วิธีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ก่อนจะทราบถึงวิธีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จำเป็นต้องทราบเงื่อนไขของการเลือกตั้ง 2 ข้อได้แก่

• ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรคือใคร ?
   ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร เช่น ไปทำงาน ไปศึกษาต่อ หรือ ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งและไม่สามารถกลับมาทันใช้สิทธิเลือกตั้งภายในประเทศ สามารถขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ โดยต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อน

• คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง
3. เป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ถ้าคุณมีคุณสมบัติที่ตรงกับข้อบังคับ 3 ข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว คุณจะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ ตามวิธีการดังต่อไปนี้
1. การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
    สามารถขอลงทะเบียนด้วยตนเองได้ โดยเลือกวิธีใดก็ได้ ดังต่อไปนี้
    (1) ในกรณีที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ

   สามารถลงทะเบียนได้ที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่
    (2) ในกรณีที่ยังอยู่ในประเทศไทย (แต่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงการเลือกตั้ง)

   สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด (กกต. จังหวัด) โดยท่านต้องกรอกแบบคำร้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรตามข้อต่อไป

2. การยื่นคำร้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
    สามารถติดต่อขอรับแบบคำร้องขอใช้สิทธิจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ หรือ กกต. จังหวัด หรือดาวน์โหลดแบบคำร้อง (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)
    การยื่นคำร้องขอใช้สิทธิ ต้องแนบเอกสารหรือสำเนาเอกสารหลักฐาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือ
- หนังสือเดินทาง หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง หรือ
- บัตรประจำตัวที่มีภาพถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ออกให้โดย ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรอิสระ
3. กรอกข้อมูล
    เมื่อกรอกข้อมูลในแบบคำร้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเสร็จแล้ว ให้จัดส่งไปยังสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ หรือ กกต. จังหวัด โดยการลงทะเบียนทางไปรษณีย์ หรือ ทางโทรสาร หรือทำหนังสือมอบหมายให้บุคคลใดดำเนินการแทน

เมื่อท่านทำตาม 3 ขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นเสร็จแล้ว ท่านสามารถรอรับการประชาสัมพันธ์และการติดต่อจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ ให้ท่านไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ทันที

สำหรับท่านที่ได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว และต้องการตรวจสอบว่าตนมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้โดย
1. สอบถามจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ หลังจากที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ติดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
2. กรณีไม่พบชื่อในบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อต่อเอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ ก่อนวันแรกของวันลงคะแนนไม่น้อยกว่า 5 วัน

ท่านต้องเตรียมตัวดังนี้

1. เตรียมหลักฐานที่ต้องใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1.) บัตรประจำตัวประชาชน หรือ
2.) หนังสือเดินทาง หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง หรือ
3.) บัตรประจำตัวที่มีภาพถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ออกให้โดยทางราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรอิสระ

2. ตรวจสอบวิธีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
เอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ จะเป็นผู้กำหนดวิธีการลงคะแนนซึ่งดำเนินการได้ 3 ลักษณะ ดังนี้
1.) การลงคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง (คูหาลงคะแนน) เป็นการลงคะแนนโดยกำหนดสถานที่เลือกตั้งซึ่งอาจเป็นที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ หรือสถานที่อื่นซึ่งเอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่เป็นผู้กำหนด โดยจะมีการตั้งคูหาและหีบบัตร
2.) การลงคะแนนทางไปรษณีย์ เมื่อสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ กำหนดให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ จะจัดส่งบัตรเลือกตั้งและเอกสารคำแนะนำการใช้สิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้มีสิทธิเพื่อทำการลงคะแนนและผู้มีสิทธิจะต้องส่งเอกสารคืนสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ ภายในวันรับคืนที่กำหนดไว้
3.) วิธีอื่น เอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่อาจจะกำหนดวิธีอื่น เช่น การจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่หรือสัญจรไปรับการลงคะแนนเลือกตั้งตามสถานที่ต่างๆ เช่น โรงงานหรือที่พักของแรงงานไทย วัดไทย หรือชุมชนที่มีคนไทยอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น


คำถาม-คำตอบ น่ารู้


1. ถาม : “ไม่ได้ไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งกับทางสถานทูตหรือสถานกงสุล แต่อยากใช้สิทธิ เลือกตั้ง จะไปเลือกตั้งได้หรือไม่ครับ”
คุณเด่น เจ้าของธุรกิจไทยในโรม ประเทศอิตาลี

ตอบ : ไม่ได้ค่ะ การจะใช้สิทธิเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรต่อสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ ในประเทศที่คุณพำนักอยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ รับคำร้องของคุณแล้ว จะดำเนินการลงทะเบียนออนไลน์ให้คุณค่ะ



2. ถาม : “ผมอยากไปเลือกตั้งมากครับ แต่ไม่มีเอกสารไทยเลย พาสปอร์ตกับบัตรประชาชน หมดอายุไปนานแล้วครับ”
คุณเล็ก เจ้าของร้านอาหารไทย เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

ตอบ : ถ้ามีบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางแม้จะหมดอายุไปแล้วก็ใช้ได้ค่ะ เพราะสามารถนำเอกสารนั้นมาใช้ในการลงทะเบียนฯ และการลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ว่าคุณเล็กต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยนะคะ คือ



3. ถาม : “ผมเรียนอยู่ไกลจากสถานทูตหรือสถานกงสุล อยากเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ไม่มีข้อมูลเลย ว่าต้องทำอย่างไร รู้ว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ไม่รู้ว่าถ้าอยู่ต่างประเทศต้องทำอย่างไรบ้าง รอข่าวจากพี่ คนไทยที่นี่ก็ไม่ได้ ผมคงแจ้งอี-เมล์แอดเดรสของผมให้พี่ที่นี่ผิด เลยไม่มีข้อมูลเลยครับ”
น้องไอซ์ นักศึกษาไทย จากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ

ตอบ : การหาข้อมูลเลือกตั้งทำได้หลายวิธีค่ะ เช่น การเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (www.consular.go.th ) กรมการปกครอง (//www.khonthai.com/Election ) หรือเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ หรือติดตามจากแผ่นพับที่วางบนเคาน์เตอร์ของร้านอาหารไทย หรือวัดไทยในหลายๆ ประเทศ



4. ถาม : “แต่งงานกับสามีชาวต่างชาติ แล้วก็ได้สละสัญชาติไทยไปแล้ว จะมีสิทธิเลือกตั้งได้มั้ย”
คุณประกาย แม่บ้านจากไทเป ประเทศไต้หวัน

ตอบ : ถ้าคุณได้ยื่นคำขอสละสัญชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอน และได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ก็ถือว่าคุณได้สละสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ จึงไม่มีสิทธิเลือกตั้งได้อีกต่อไป เพราะคุณไม่มีสัญชาติไทย ตามคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (คำถาม- คำตอบข้อ 2)

(1) มีสัญชาติไทย หรือมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติมาแล้วไม่ น้อยกว่า 5 ปี
(2) อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง
(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
สำหรับการลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิทำได้ไม่ยาก คือ
(1) รับแบบฟอร์มคำร้องขอลงทะเบียนโดยดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด) หรือขอได้ที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ใกล้บ้านก็ได้
(2) กรอกรายละเอียดและแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวของคุณที่มีภาพถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ออกให้โดยทางราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอิสระ เพื่อลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ หรือทางโทรสาร ไปยังสถานทูต หรือสถานกงสุล หรือทำหนังสือมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนคุณก็ได้ แล้วใกล้ถึงวันเลือกตั้งก็อย่าลืมไปตรวจสอบรายชื่อว่าตนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ ด้วยนะคะ
แต่ถ้าคุณได้จดทะเบียนสมรสกับสามีต่างชาติตามกฎหมายของประเทศสามี และกฎหมาย ของประเทศนั้นไม่ได้กำหนดให้คุณต้องสละสัญชาติไทย คุณมีบัตรประจำตัวประชาชนและใช้ หนังสือเดินทางไทยก็นับว่าคุณยังมีสัญชาติไทยอยู่และมีสิทธิเลือกตั้งค่ะ



5. ถาม : “เพิ่งได้งานที่ดูไบ ช่วงเลือกตั้งคงอยู่ที่นั่นแล้วอยากเลือกตั้งต้องทำอย่างไรครับ”
คุณชำนาญ คนงานไทยที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

ตอบ : ถ้าคุณไปทำงานในต่างประเทศ ก่อนเดินทางให้แจ้งความประสงค์ขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งที่ สำนักทะเบียนท้องถิ่นที่คุณมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในประเทศไทย โดยเตรียมบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวที่มีภาพและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ออกให้โดยทางราชการรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอิสระไปด้วย โดยสามารถลงทะเบียนฯ ได้ด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ หรือทางโทรสาร หรือทำหนังสือมอบอำนาจ ให้บุคคลใดดำเนินการแทนก็ได้ค่ะ
ถ้าคุณอยู่ที่ต่างประเทศแล้ว ก็สามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งได้ที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ค่ะ (คำถาม- คำตอบข้อ 2) แต่อย่าลืมติดตามข่าวสารจากทางสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ ด้วยว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งวันและเวลาใด ที่ไหน โดยในวันเลือกตั้งต้องนำบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวที่มีภาพและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักที่ออกให้โดยทางราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอิสระไปแสดงด้วยค่ะ



6. ถาม : “ตอนนี้อยู่ต่างประเทศ เดินทางมาโดยไม่ได้แจ้งขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรล่วงหน้า จะสามารถขอใช้สิทธิจากที่นี่เลยได้มั้ยคะ”
คุณปอง ตัวแทนบริษัทเอกชน มาอบรมงานที่ประเทศเยอรมัน

ตอบ : ได้ค่ะ คนไทยทุกคนที่ต้องอยู่ต่างประเทศ และไม่สามารถกลับมาทันใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา แม่บ้าน หรือผู้ที่ไปศึกษาดูงานระยะสั้น สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้โดยวิธีการเดียวกับคำถาม-คำตอบข้อ 5 (กรณีที่อยู่ต่างประเทศแล้ว) ค่ะ



7. ถาม : “เคยเลือกตั้งในต่างประเทศตอนที่ศึกษาอยู่ แต่ตอนนี้จบกลับมาเมืองไทยแล้ว สามารถ เลือกตั้งได้ตามปกติมั้ยคะ”
คุณนัท อดีตนักศึกษาไทยจากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ตอบ : คุณต้องไปแจ้งขอถอนชื่อที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น เพื่อขอกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ประเทศไทยก่อนค่ะ



8. ถาม : “ไม่ได้ไปเลือกตั้งคราวที่แล้ว เพราะเหตุสุดวิสัยหิมะตกหนักมากค่ะ จะสามารถเลือกตั้ง คราวนี้ได้หรือไม่คะ”
คุณพิศสมัย เจ้าของธุรกิจในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ตอบ : คุณสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ค่ะ เพียงแต่การที่คุณไม่ได้ไปใช้สิทธิคราวที่แล้ว ทำให้ คุณเสียสิทธิ 3 ประการด้วยกัน คือ
1. สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
2. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
3. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่

แต่เมื่อคุณไปใช้สิทธิเลือกตั้งคราวนี้ คุณก็จะได้รับสิทธิ 3 ประการดังกล่าวกลับคืนมา ครั้งหน้าหากมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ คุณควรทำหนังสือแจ้งเหตุดังกล่าวต่อสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ หรือทางโทรสาร หรือทำหนังสือมอบหมายให้บุคคลใดไปแจ้งแทน แต่ต้องแจ้งก่อนและหลังวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือแจ้งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุไว้แล้วแต่เหตุนั้นไม่ใช่เหตุอันสมควร



9. ถาม : “เราสามารถเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ด้วยวิธีใดบ้าง”
คุณนฤทัย นักศึกษาไทย จากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ

ตอบ : วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มี 3 รูปแบบ คือ
- เลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง (ใน /นอกที่ทำการ สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่)
- เลือกตั้งทางไปรษณีย์
- เลือกตั้งโดยวิธีอื่น คือ หน่วยเลือกตั้งสัญจร โดยพิจารณาจากความเหมาะสมกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสภาพพื้นที่



10. ถาม : “ถ้าเดินทางไปต่างประเทศ หรือทำงานอยู่ที่ต่างประเทศโดยไม่ได้แจ้งทางการของประเทศ นั้นๆ และไม่มีสถานะการมีถิ่นที่อยู่อย่างถูกกฎหมายในประเทศนั้น จะสามารถมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้หรือไม่”
ตอบ : ได้ค่ะ ท่านสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ ไม่ว่าท่านจะเดินทางเข้าประเทศ หรือทำงานในต่างประเทศอย่างถูกหรือผิดกฎหมาย โดยท่านจะต้องแจ้งความประสงค์ขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ก่อน โดยมีขั้นตอนตามคำถาม - คำตอบข้อ 5 ค่ะ (กรณีที่อยู่ต่างประเทศแล้ว)
ขอย้ำว่าการมาแจ้งใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่สถานทูตหรือสถานกงสุล ไม่มีผลกระทบทางกฎหมายของประเทศนั้นๆ ค่ะ







ที่มา: การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร สามารถมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรสามารถขอใช้ สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ได้ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการขอใช้สิทธิเลือกตั้ง รูปแบบการลงคะแนนเลือกตั้งในลักษณะต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้ออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว. นอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 เพื่อใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.นอกราชอาณาจักร และได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ เลือกตั้ง โดยกำหนดให้เอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง โดยอาจให้มีสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้ง หรือให้มีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ หรือโดยวิธีอื่นใดเป็นการจัดการเลือกตั้งก็ได้ ตามความเหมาะสมของประเทศนั้น

ที่มา: ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

กระทรวงการต่างประเทศได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร” ขึ้นภายใต้กรมการกงสุล เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2541 ทำหน้าที่เสมือน กกต. จังหวัดในการประชาสัมพันธ์ การเตรียมการ การบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การประสานงานและการติดตามพัฒนาทางการเมืองและการเลือกตั้ง

ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้บริหารจัดการเลือกตั้งนอกราช อาณาจักรไปแล้ว 7 ครั้ง คือ เมื่อ ปี 2543 (2 ครั้ง) ปี 2548 (1 ครั้ง) ปี 2549 (2 ครั้ง) ปี 2550 (1 ครั้ง) และ ปี 2551 (1 ครั้ง)



ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่เลยนะค่ะ แวะเยี่ยมชมที่ทำงาน
ของกบค่ะ กรมการกงสุล




ขอบคุณข้อมูลจาก
//www.consular.go.th/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=16




Create Date : 05 มิถุนายน 2554
Last Update : 5 มิถุนายน 2554 8:37:10 น. 2 comments
Counter : 933 Pageviews.

 
อรุณสวัสดิ์ครับคุณกบ








โดย: กะว่าก๋า วันที่: 6 มิถุนายน 2554 เวลา:7:14:50 น.  

 


อรุณสวัสดิ์ครับคุณกบ


โดย: panwat วันที่: 6 มิถุนายน 2554 เวลา:7:48:39 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
5 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.