สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
ยาใส่แผล มีกี่แบบ ใช้อย่างไร

ยาที่ใช้ใส่แผลในท้องตลาด ปัจจุบันมีจำหน่ายหลายชนิด ทั้ง ยาเหลือง ยาแดง ทิงเจอร์ แอลกอฮอล์ เป็นต้น การเลือกใช้ยาแต่และชนิดต้องคำนึงถึงลักษณะบาดแผลเป็นหลัก โดยทั่วไปการแบ่งประเภทบาดแผลมีหลายวิธี เช่นแบ่งตามความสะอาดของแผลแบ่งได้เป็น แผลสะอาด หมายถึงแผลที่ไม่มีการติดเชื้อ เช่น แผลมีดบาด แผลผ่าตัด มีโอกาสติดเชื้อต่ำ  และแผลสกปรก หมายถึง แผลเปิดที่มีการมีอาการปวด บวม แดง อาจมีเลือดหรือน้ำเหลืองออกมาบริเวณปากแผล มีโอกาสติดเชื้อสูง รวมถึงบาดทะยัก หากแบ่งประเภทตามระยะเวลาการเกิดแผลแบ่งได้เป็น แผลสด เป็นแผลที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เช่น มีดบาด และ แผลเรื้อรัง เป็นแผลที่มีการติดเชื้อ มีการทำลายของเนื้อเยื่อเกิดเป็นเนื้อตาย เป็นหนอง เช่น แผลกดทับ แผลจากการฉายรังสี เป็นต้น
     หากมีการบาดเจ็บรุนแรงเลือดออกหรือแผลสกปรกปนเปื้อนมาก ควรพบแพทย์ก่อนเพื่อห้ามเลือดและทำความสะอาดแผลหรือฉีดยาป้องกันบาดทะยัก   การดูแลบาดแผลจะมีการใช้น้ำยาทำความสะอาดแผลและยาใส่แผลหลายชนิดแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของบาดแผล ดังนี้
     

น้ำยาล้างแผล ใช้สำหรับทำความสะอาดแผลเบื้องต้นเพื่อชะล้างเชื้อโรคและสิ่งสกปรกให้หลุดออกไป และช่วยให้แผลอ่อนตัวลงสามารถซึมซับยาใส่แผลได้ดีขึ้น น้ำยาที่ใช้ได้แก่

  • น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% นิยมใช้ล้างแผลมากที่สุด ไม่ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ ไม่ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อน  ช่วยให้เนื้อเยื่อที่ตายแล้วเกิดความชุ่มชื้นหลุดออกได้ง่าย
  • ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 3% ใช้สำหรับชะล้างแผลสกปรก มีหนองมากหรือมีเนื้อตาย เมื่อน้ำยาสัมผัสกับแผลจะปล่อยออกซิเจนออกมาเป็นฟองฟู่และมีความร้อน ช่วยชะล้างเนื้อตายที่บาดแผลได้

น้ำยาเช็ดรอบแผล ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณรอบๆ แผล เพื่อลดจำนวนเชื้อโรค แต่จะไม่เช็ดไปที่แผลโดยตรงเนื่องจากทำให้แสบ ระคายเคือง และแผลหายช้า ได้แก่ แอลกอฮอล์ 70% ในท้องตลาดจะมี 2 ชนิดคือ เอธิลแอลกอฮอล์ 70% (Ethyl alcohol) และ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 70% (Isopropyl alcohol) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไม่ต่างกัน
ยาใส่แผล มีหลายชนิด ใช้หลังจากที่ทำความสะอาดบาดแผลเสร็จแล้ว โดยทั่วไปควรเลือกให้เมาะสมกับประเภทของบาดแผล ได้แก่

 

  • ทิงเจอร์ไอโอดีน ความเข้มข้น 2.5 % (Tincture iodine 2.5 %w/v) ใส่แผลสดหรือแผลถลอก นิยมเช็ดรอบๆ แผล ฆ่าเชื้อโรคได้หลายชนิด แต่มีข้อเสียคือเมื่อทาที่ผิวหนังแล้วตัวทำละลายจะระเหยไปอย่างรวดเร็ว ตัวยามีความเข้มข้นสูง ทำให้ผิวหนังเกิดไหม้พองได้ ดังนั้นหลังจากใช้น้ำยา 1 นาที ให้เช็ดตามด้วยแอลกอฮอล์ 70% ไม่นิยมใช้กับแผลบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนๆ  
  • โพวิโดน-ไอโอดีน ความเข้มข้น 10% (Povidone-Iodine 10 % w/v) นิยมใช้ค่อนข้างมาก ใช้เช็ดแผลสด แผลไฟไหม้ แผลถลอก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ดี ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง แสบน้อยกว่าทิงเจอร์ไอโอดีน  
  • ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล ความเข้มข้น 0.1% (Thimerosal 0.1 % w/v) ใช้ใส่แผลสด หรือแผลถลอก ไม่ใช้กับผิวอ่อน และเด็กอ่อน
  • ยาเหลือง (acriflavin) ใช้กับแผลเรื้อรัง แผลเปื่อย กดทับ ไม่นิยมใช้กับแผลสด
  • ยาแดง (mercurochrome) เหมาะกับแผลถลอกเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นบาดแผลที่ค่อนข้างลึก ยาจะทำให้แผลด้านบนแห้งแต่ด้านล่างยังคงแฉะอยู่ แผลจะหายช้า และเนื่องจากยามีส่วนผสมของสารปรอทหากใช้บ่อยๆ อาจทำให้เกิดพิษจากสารปรอทได้ ปัจจุบันนี้จึงไม่นิยมมากนัก

     สำหรับบาดแผลสดที่ไม่ลึกหรือกว้างมาก หากทำความสะอาดแผลอย่างถูกวิธีและปิดผ้าก๊อซเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโรคใดๆ เนื่องจากแผลจะค่อยๆ สมานตัวและหายได้เอง แต่หากต้องการใช้ยาควรเลือกชนิดที่ระคายเคืองต่อผิวน้อยที่สุด
กรณีแผลถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกที่ผิวหนังชั้นนอกไม่รุนแรงมาก แผลมีขนาดเล็ก ให้ล้างแผลด้วยน้ำเย็นหรือใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบาดแผล เพื่อบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนและป้องกันไม่ให้ความร้อนทำลายเนื้อเยื่อมากขึ้น ไม่ควรใช้ยาสีฟัน น้ำปลา หรือยาหม่อง ทาแผล เพราะไม่ได้ช่วยบรรเทาความร้อนที่บาดแผลและอาจทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้นด้วย อาจใช้ยาทาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน เช่น เจลว่านหางจระเข้ น้ำมันมะกอก หรือขี้ผึ้งวาสลีน ถ้ามีตุ่มน้ำพองเล็กๆ ไม่ควรเจาะออกแต่ให้ทายาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีนแล้วปิดด้วยผ้าก๊อซ ตุ่มจะแห้งเองใน 3-7 วันแล้วหลุดลอกออกมา หากแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกมีความรุนแรงมากหรือกินบริเวณกว้างจะมีอันตรายกว่าบาดแผลขนาดเล็ก เสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำของร่างกายและติดเชื้อได้ง่ายควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อไป
     นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมียาใส่แผลชนิดอื่นอีกหลายรูปแบบ เช่น ยาครีม ยาขี้ผึ้ง หรือเจลทาแผล  ใช้แตกต่างกันตามบริเวณที่เกิดแผลและชนิดและความรุนแรงของแผล  แต่เนื่องจากยาเหล่านี้มีส่วนผสมของตัวยาปฏิชีวนะหลากหลายชนิด ซึ่งถือเป็นยาอันตราย การเลือกใช้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนค่ะ

 

ข้อมูลจาก

//www.healthtoday.net




Create Date : 25 พฤษภาคม 2555
Last Update : 25 พฤษภาคม 2555 9:51:05 น. 0 comments
Counter : 5642 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.