สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
เนื้องอกสมองสำหรับประชาชน

ความหมายของเนื้องอกสมอง

เนื้องอกสมองมีความหมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นจากเนื้อสมอง รวมถึงเนื้องอกของเส้นประสาทสมอง เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง เนื้องอกของต่อมใต้สมอง เนื้องอกของบริเวณฐานกะโหลกที่ลุกลามเข้าไปที่สมองและมะเร็งของอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาที่สมอง

สาเหตุของเนื้องอก

เนื้องอกสมองส่วนใหญ่นั้นปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่มีเนื้องอกสมองส่วนน้อยบางส่วนที่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร เช่น ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ เคยได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะ หรือเคยได้รับฮอร์โมนเพศ เป็นต้น

ชนิดของเนื้องอกสมอง

องค์การอนามัยโลกได้จัดแบ่งชนิดของเนื้องอกสมองออกเป็นหมวดหมู่มากกว่า 100 ชนิดแต่อย่างไรก็ตามเนื้องอกสมองชนิดที่พบได้บ่อยๆในประเทศไทย นั้น มีอยู่ไม่มากมายนักซึ่งจะอธิบายรายละเอียดในที่นี้ต่อไป

ระดับความรุนแรงของเนื้องอกสมอง

เนื้องอกสมองมีทั้งชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งรักษาหายขาดได้ และชนิดที่ร้ายแรงเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตามมีเนื้องอกสมองอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ระหว่างชนิดร้ายแรงและไม่ร้ายแรง คือ ถึงแม้ว่าอาจจะรักษาได้ไม่หายขาดแต่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวกว่าเนื้องอกชนิดมะเร็ง องค์การอนามัยโลกได้จัดแบ่งความรุนแรงของเนื้องอกสมองเป็น 4 ระดับ โดยความรุนแรงระดับที่ 1 จัดเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง ก้อนเนื้องอกเติบโตช้าและมักจะสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ ความรุนแรงระดับที่ 3 จัดเป็นมะเร็ง รักษาไม่หายขาดและความรุนแรงระดับที่ 4 จัดเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงมาก เนื้องอกเติบโตเร็วและทำให้เสียชีวิตในช่วงเวลาสั้นๆ ส่วนระดับที่ 2 นั้นจะมีความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลางระหว่างระดับที่ 1 และ ระดับที่ 3 ก้อนเนื้องอกมักจะแทรกซึมอยู่ในเนื้อสมอง จึงอาจจะผ่าตัดและรักษาได้ไม่หายขาดแต่เนื้องอกมีการเจริญเติบโตช้าสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี

อาการของเนื้องอกสมอง

ผู้ป่วยเนื้องอกสมองจะมีอาการได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าเนื้องอกสมองนั้นทำให้สมองส่วนใดผิดปรกติไปจากเดิม ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะนำมาก่อน แต่ท่านอย่าตกใจหรือกลัวไปว่าอาการปวดศีรษะที่เป็นนั้นอยู่เกิดจากเนื้องอกสมอง เนื่องจากอาการปวดศีรษะส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่อันตราย ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะจากเนื้องอกสมองนั้นจะมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากเนื้องอกเติบโตขึ้นตามเวลา อาการปวดศีรษะมักเป็นในช่วงตื่นนอนตอนเช้าหรือช่วงหลับตอนกลางคืน อาจมีการอาเจียนโดยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อนร่วมด้วย ก้อนเนื้องอกสามารถไปกระตุ้นเนื้อสมองทำให้ผู้ป่วยมีอาการชัก หรือเนื้องอกอาจไปกดเบียดทำลายเนื้อสมองทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในรูปแบบต่างๆ เช่น แขนขาชา อ่อนแรง เดินเซ พูดลำบาก ตาเหล่ เห็นภาพซ้อน ตามัว ชาใบหน้า หูได้ยินน้อยลง เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายญาติพามาพบแพทย์เพราะสาเหตุที่ทำอะไรแปลกไปจากเดิม พูดไม่รู้เรื่อง นิสัยและบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสมองเป็นอวัยวะที่ควบคุมการทำงานของชีวิตทุกด้านทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และฮอร์โมน การทำลายเนื้อสมองก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่างๆ กัน แล้วแต่ว่าเป็นเนื้องอกทีส่วนใดของสมอง

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกสมอง

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกสมองนั้นจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT brain) หรือเครื่องเอ็กซเรย์แม่เหล็ก (MRI brain) จึงจะได้การวินิจฉัยที่ชัดเจน การตรวจวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการตรวจที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่ได้อยู่ในโปรแกรมการตรวจเช็คสุขภาพโดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยที่มาตรวจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกสมองหรือไม่และจำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ดังกล่าวหรือไม่

การรักษาเนื้องอกสมอง

การรักษาเนื้องอกสมองมีอยู่ 3 วิธีหลักๆ คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยา ในบางครั้งอาจจะต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกันเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด
1. การผ่าตัด

เป็นวิธีหลักของการรักษาเนื้องอกสมองส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงการเจาะดูดเอาเนื้องอกมาตรวจวินิจฉัย ผ่าตัดเนื้องอกออกบางส่วนหรือผ่าตัดเนื้องอกออกทั้งหมด ถ้าเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำผ่าตัดออกได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย แพทย์มักจะพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกนั้นจนหมดหรือออกให้ได้มากที่สุด เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนมากจึงต้องอาศัยอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เช่นในปัจจุบันมีการทำผ่าตัดโดยจุลศัลยกรรม (Microneurosurgery) ทำให้สามารถมองเห็นจุดเล็กๆในสมองส่วนที่อยู่ลึกได้ มีการนำเครื่องนำวิถี (Navigation) มาใช้เพื่อช่วยให้การผ่าตัดสมองมีความแม่นยำมากขึ้น มีการทำผ่าตัดร่วมกับเอกซเรย์แม่เหล็กในห้องผ่าตัด (Intraoperative MRI) เพื่อช่วยให้ผ่าตัดเนื้องอกออกได้มากขึ้น หรือมีการทำผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (Neuroendoscopic surgery) เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ในบางครั้งเนื้องอกสมองอาจอยู่ในตำแหน่งที่มีอันตรายต่อการทำผ่าตัด และอาจมีการทำผ่าตัดโดยที่ผู้ป่วยยังคงรู้ตัวไม่สลบระหว่างผ่าตัด เพื่อที่แพทย์จะสามารถหาตรวจหาตำแหน่งการทำงานของสมองไปได้ด้วยระหว่างการผ่าตัด (Awake craniotomy and brain mapping) อนึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาและเป็นที่คาดหมายได้ว่าในอนาคตจะมีอุปกรณ์และเทคนิคใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ มักจะมีราคาแพงและต้องจัดซื้อหาจากต่างประเทศทำให้เป็นภาระทั้งต่อผู้ป่วยและประเทศชาติ ดังนั้นจึงควรเลือกใช้เทคโนโลยีตามความเหมาะสม

2. การฉายรังสี

การฉายรังสีมักจะใช้เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัดเนื้องอกสมองบางอย่างที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมดและในบางกรณี สามารถใช้เป็นวิธีการรักษาหลัก การฉายรังสีรักษาเนื้องอกสมองนั้นในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างมาก มีการนำเทคนิคการฉายรังสีวิธีใหม่ที่เรียกว่า การฉายรังสีรักษา 3 มิติมาใช้ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างของลำรังสีได้ตามรูปร่างของก้อนเนื้องอกทำให้ได้ปริมาณรังสีรวมสูงสุดอยู่ที่ก้อนเนื้องอกเพียงตำแหน่งเดียวโดยทีสมองส่วนอื่นๆ ได้ปริมาณรังสีน้อยมาก เทคนิคนี้ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณรังสีที่ก้อนเนื้องอกได้สูงขึ้นมากซึ่งในบางครั้งอาจจะสามารถฉายรังสีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น (Radiosurgery) ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าทางรังสีรักษาในการรักษาเนื้องอกสมองในขณะนี้

3. การให้ยา

เนื้องอกสมองชนิดร้ายแรงบางชนิดสมควรได้รับการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด และเนื้องอกสมองของต่อมใต้สมองบางชนิดสามารถรักษาโดยการให้ยาควบคุมการสร้างฮอร์โมน ในปัจจุบันยาเคมีบำบัดบางตัวมีราคาแพงมากและไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคมหรือบัตรทอง จึงเป็นอุปสรรคทำให้เป็นภาระหนักต่อผู้ป่วยหรือทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

เนื้องอกสมองที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่

1. เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์แอสโตรไซต์ (Astrocytic tumors)

ในสมองนั้นนอกจากจะมีเซลล์ประสาทแล้วยังมีเซลล์ชนิดอื่นๆอีกหลายชนิดที่ไม่ใช้เซลล์ประสาทประกอบด้วยอยู่ร่วมด้วย เซลล์ดังกล่าวชนิดหนึ่งมีชื่อว่าแอสโตรไซต์ (Astrocyte) ซึ่งอาจจะเกิดความผิดปกติกลายเป็นเนื้องอกแอสโตรไซต์โตมา (Astrocytoma), เนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา (Anaplastic astrocytoma) หรือเนื้องอกกลัยโอบลาสโตมา (Glioblastoma) ส่วนใหญ่เนื้องอกชนิดนี้มักเกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุแต่ในบางคนอาจเกิดขึ้นมาเนื่องจากโรคทางกรรมพันธุ์ หรือบางคนเกิดขึ้นเนื่องจากเคยได้รับการฉายรังสีที่ศีรษะ

- เนื้องอกแอสโตรไซต์โตมา (Astrocytoma)

เนื้องอกแอสโตรโซต์โตมาเป็นเนื้องอกที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมอง ไม่มีผนังห่อหุ้มดังนั้นจึงไม่มีขอบเขตของเนื้องอกที่ชัดเจน ก้อนเนื้องอกมีความสามารถในการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (กลายเป็นเนื้องอกชนิดแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา หรือกลัยโอบลาสโตมา) มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นระหว่าง 30-40 ปี

อาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการชัก แต่บางครั้งอาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการอื่นๆ

ระดับความรุนแรง องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกแอสโตรไซต์โตมา เป็นระดับที่ 2 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-8 ปีหลังจากที่เริ่มมีอาการของโรค สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดจากเซลล์เนื้องอกแอสโตรไซต์โตมากลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้น (กลายเป็นเนื้องอกชนิดแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา หรือกลัยโอบลาสโตมา)

การรักษา เนื้องอกแอสโตรไซต์โตมานั้นปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตามแพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ทำผ่าตัดเพื่อลดจำนวนเซลล์เนื้องอกลงให้น้อยที่สุด โดยมีความเชื่อว่าเมื่อจำนวนเซลล์เนื้องอกลดน้อยลงจากการผ่าตัดแล้วจะทำให้ชะลอระยะเวลาที่เนื้องอกจะกลายพันธุ์เป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง เนื่องจากเนื้องอกแอสโตรไซต์โตมาแทรกกระจายอยู่ในเนื้อสมองโดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนจึงไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมดทุกๆ เซลล์ได้อย่างแท้จริง หลังผ่าตัดจะยังคงมีเซลล์เนื้องอกหลงเหลืออยู่ เซลล์เนื้องอกที่ยังหลงเหลืออยู่นี้แพทย์อาจจะแนะนำให้สังเกตอาการต่อโดยไม่ทำการฉายแสงหรืออาจจะแนะนำให้ทำการฉายแสงตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

- เนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา (Anaplastic astrocytoma)

เนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมองโดยที่ไม่มีขอบเขตชัดเจนเช่นเดียวกับเนื้องอกแอสโตรไซต์โตมาแต่มีการแพร่กระจายและการขยายตัวที่รวดเร็วกว่า เนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา และมีความสามารถในการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นตามระยะเวลา (กลายเป็น เนื้องอกกลัยโอบลาสโตมา) มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในช่วงผู้ใหญ่ตอนปลายระหว่าง 40-50 ปี

อาการ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะ อาการชักหรืออาการผิดปรกติของสมองในรูปแบบต่างๆ

ระดับความรุนแรง องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา เป็นระดับที่ 3 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2-3 ปีหลังจากที่เริ่มมีอาการของโรค

การรักษา ต้องใช้วิธีผ่าตัด ฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัดร่วมกันโดยจะเริ่มต้นจากการผ่าตัดออกให้มากที่สุดก่อน หลังจากนั้นจะทำการฉายแสงร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด

- เนื้องอกกลัยโอบลาสโตมา (Glioblastoma)

เนื้องอกกลัยโอบลาสโตมาเป็นเนื้องอกสมองที่มีความรุนแรงมาก สามารถกล่าวได้ว่าเป็นมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดของสมอง แต่เป็นที่น่าเสียใจว่ากลัยโอบาสโตมานั้นเป็นเนื้องอกสมองชนิดที่พบบ่อยที่สุด

อาการ จะมีอาการเหมือนกับเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์แอสโตรไซต์อื่นๆ แต่มีอาการที่ทรุดลงเร็วกว่า มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในผู้สูงอายุระหว่าง 60-70 ปี

ระดับความรุนแรง องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกกลัยโอบาสโตมาเป็นระดับที่ 4 คนไข้ส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี

การรักษา ใช้วิธีผ่าตัด ฉายแสงและให้ยาเคมีบำบัดร่วมกัน

2. เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์โอลิโกเด็นโดรไซต์( Oligodendroglial tumors)

ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าสมองนั้นนอกจากจะมีเซลล์ประสาทแล้วยังมีเซลล์ชนิดอื่นหลายชนิดประกอบอยู่ร่วมด้วย เซลล์ดังกล่าวชนิดหนึ่งมีชื่อว่าโอลิโกเด็นโดรไซต์ ( Oligodendrocyte) ซึ่งอาจเกิดความผิดปรกติกลายเป็นเนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Oligodendroglioma) หรือเนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Anaplastic oligodendroglioma)

- เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Oligodendroglioma)

เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมาเป็นเนื้องอกที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมอง เช่นเดียวกับเนื้องอกแอสโตรโซต์โตมาแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า เนื้องอกไม่มีผนังห่อหุ้มและไม่มีขอบเขตของเนื้องอกที่ชัดเจน ก้อนเนื้องอกมีความสามารถในการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (กลายเป็นเนื้องอกชนิดแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา) มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในช่วงวัยผู้ใหญ่ประมาณ 40-45 ปี

อาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการชัก แต่บางครั้งอาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการอื่นๆ

ระดับความรุนแรง องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมาเป็นระดับที่ 2 ก้อนเนื้องอกมีการเติบโตที่ไม่รวดเร็วนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้นานอาจจะมากกว่า 10 ปี สาเหตุการเสียชีวิตมักเกิดจากเซลล์เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา มีการงอกซ้ำหลังการรักษาหรือมีการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นเป็นเนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา

การรักษา เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมารักษาโดยการทำผ่าตัด เนื้องอกที่ยังหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดนั้นแพทย์อาจจะแนะนำให้สังเกตอาการต่อโดยไม่ทำอะไรหรืออาจจะแนะนำให้ยาเคมีบำบัดหรือทำการฉายแสงตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

- เนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Anaplastic oligodendroglioma)

เนื้องอกอาการแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมาแทรกซึมอยู่ในเนื้อสมองไม่มีขอบเขตชัดเจนเช่นเดียวกับเนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา แต่มีการแพร่กระจายและการขยายตัวที่รวดเร็วกว่า มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในช่วงผู้ใหญ่ตอนปลายระหว่าง 40-50 ปี

อาการ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการชัก อาการปวดศีรษะ หรืออาการผิดปรกติของสมองในรูปแบบต่างๆ

ระดับความรุนแรง องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา เป็นระดับที่ 3 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 4-5 ปี

การรักษา ใช้วิธีผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัดและฉายแสงร่วมกัน

3. เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma)

สมองที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะจะถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยเยื่อหุ้มสมอง (Mening) ซึ่งเยื่อหุ้มสมองดังกล่าวอาจจะเกิดความผิดปรกติกลายเป็นเนื้องอกขึ้นมาได้ มักพบเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองในช่วงวัยผู้ใหญ่และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่เนื้องอกชนิดนี้เกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุแต่ในบางคนอาจเกิดขึ้นมาเนื่องจากโรคทางกรรมพันธุ์ หรือบางคนเกิดขึ้นเนื่องจากเคยได้รับการฉายแสงที่ศีรษะเป็นต้น ในบางคนสามารถพบเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองได้มากกว่าหนึ่งก้อน

อาการ เนื่องจากเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองอาจจะเกิดขึ้นที่เยื่อหุ้มสมองส่วนใดก็ได้ดังนั้นอาการที่แสดงออกมาขึ้นอยู่กับว่าก้อนเนื้องอกนั้นไปมีผลรบกวนต่อสมองส่วนใด เช่น อาจจะมีอาการชัก อาการปวดหัวอาเจียน อาการตามัว เดินเซ เห็นภาพซ้อน ใบหน้าชา หูหนวก แขนขาไม่มีกำลัง หรืออื่นๆ

ระดับความรุนแรง เนื้องอกเยื่อหุ้มสมองเป็นเนื้องอกที่อยู่นอกสมองไม่ได้เกิดขึ้นในเนื้อสมองโดยตรง ก้อนเนื้องอกมีขอบเขตที่ชัดเจน และเนื้องอกส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตที่ช้าคนไข้มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไปในเวลานานเป็นเดือนเป็นปี เนื้องอกส่วนใหญ่มีความรุนแรงอยู่ในระดับที่ 1 และสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดออกให้หมด แต่อย่างไรก็ตามมีเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองส่วนน้อยมีความที่รุนแรงในระดับที่ 2 หรือระดับที่ 3 ซึ่งอาจจะไม่สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้และคุกคามต่อชีวิต

การรักษา วิธีมาตรฐานที่ดีที่สุดในการรักษาเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองคือการผ่าตัดเอาออกให้หมดซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ อย่างไรก็ตามแพทย์อาจจะไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองออกได้หมดเสมอไปทุกครั้งเนื่องจากบางครั้งเนื้องอกอาจจะเติบโตหุ้มรอบเส้นเลือดสมองหรือเส้นประสาทที่สำคัญซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการถ้าผ่าตัดออกหมด ในกรณีที่ผ่าตัดออกได้ไม่หมดแพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาเนื้องอกส่วนที่เหลือโดยการฉายรังสีซึ่งจะช่วยป้องกันหรือชะลอไม่ให้ก้อนเนื้องอกเติบโตขึ้นมาใหม่

ในปัจจุบันการฉายรังสีสามมิติสามารถเป็นการรักษาทางเลือกหนึ่งที่สามารถควบคุมการเติบโตของเนื้องอกได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าก้อนเนื้องอกนั้นจะต้องมีขนาดเล็กเท่านั้น ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่จะไม่สามารถรักษาโดยการฉายรังสีได้ หลังจากฉายรังสีแล้วถึงแม้เนื้องอกจะไม่ยุบหายไปแต่จะมีขนาดคงที่หรือโตช้าขึ้นมากและไม่เป็นภัยคุกคามต่อผู้ป่วยโดยทั่วไปแพทย์จะเลือกใช้การฉายรังสีสามมิติกับเศษเนื้องอกขนาดเล็กที่หลงเหลือจากการทำผ่าตัดหรือใช้แทนการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดเช่นอายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรงและมีเนื้องอกขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง






ขอบคุณข้อมูลจาก
อ.ดร.นพ.ศรัณย์ นันทอารี
สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล




Create Date : 05 มีนาคม 2554
Last Update : 5 มีนาคม 2554 9:45:15 น. 7 comments
Counter : 2380 Pageviews.

 
สวัสดีครับคุณกบ เนื้อหาสาระแน่นเช่นเคยครับ


โดย: ลุงกล้วย วันที่: 5 มีนาคม 2554 เวลา:9:50:08 น.  

 
ขอให้มีความสุขกับการอบอรมนะครับคุณกบ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 5 มีนาคม 2554 เวลา:10:04:12 น.  

 


โดย: ภูผา กะ วาริน วันที่: 5 มีนาคม 2554 เวลา:10:32:36 น.  

 
สวัสดีครับน้องกบ

นอกจากได้สาระดีมากๆแล้ว เพลงของบี้ยังถูกใจอีกนะครับ


โดย: ปลายแป้นพิมพ์ วันที่: 5 มีนาคม 2554 เวลา:10:40:35 น.  

 

แหล่มค่ะ
อุ้มอยากได้วิธีการรับมือกับวัยทองค่ะคุณกบ
ที่ร้อนวูบวาบๆ น่ะคะ
ต้องทำอย่างไรบ้าง อิอิอิ



โดย: อุ้มสี วันที่: 5 มีนาคม 2554 เวลา:12:14:36 น.  

 
ชรูปนีตสฺส น สนฺติ ตาณา
เมื่อสัตว์ถูกชรานำเข้าไปแล้ว ไม่มีผู้ป้องกัน

มีความสุขกับเวลาอันหาค่ามิได้ ตลอดไป..นะคะ



ฝันดี ราตรีสวัสดิ์...ค่ะ


โดย: พรหมญาณี วันที่: 5 มีนาคม 2554 เวลา:20:25:06 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับคุณกบ









โดย: กะว่าก๋า วันที่: 6 มีนาคม 2554 เวลา:5:26:58 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
5 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.