สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ

มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ

โรคสมาธิสั้นคืออะไร?

โรคสมาธิสั้นคือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) ที่เกิดจากความผิดปกติของสมองซึ่งมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย

- อาการขาดสมาธิ (attention deficit)
- อาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม (impulsivity)
- อาการซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity)

เด็กบางคนอาจจะมีอาการซน และอาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม เป็นอาการเด่น ซึ่งมักพบได้บ่อยในเด็กผู้ชายมากกว่า (อย่างกรณีของน้องเจ็ท) แต่เด็กที่ เป็นโรคสมาธิสั้นบางคนก็อาจจะไม่ซน แต่มีอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลัก ซึ่งมักพบได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย (อย่างกรณีของน้องดรีม)


ทำไมในปัจจุบันถึงพบเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นกันเยอะ?

จริงๆแล้วได้มีการค้นพบโรคนี้มานานกว่าร้อยปีแล้ว แต่เมื่อก่อนยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในกลุ่มครูและผู้ปกครอง เกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยก็ไม่แน่นอน ในปัจจุบันครูและผู้ปกครองมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ดีขึ้น ประกอบกับแพทย์เริ่มมีการกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยแน่นอนและชัดเจนมากขึ้น ทำให้เด็กที่มีอาการเข้าข่ายโรคสมาธิสั้นถูกค้นพบและได้รับการวินิจฉัยมากขึ้น เลยทำให้ดูเหมือนเป็นการแพร่ระบาดหรือเป็นแฟชั่นของสังคม สภาพสิ่งแวดล้อม สังคม ครอบครัว การเลี้ยงดู และความคาดหวังจากพ่อแม่ยุคใหม่ ที่แปลี่ยนแปลงไปจากสภาพในอดีตก็มีอิทธิพลต่อจำนวนเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น





มีเด็กกี่เปอร์เซ็นต์ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น?

โรคสมาธิสั้นนี้พบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยพบว่า ประมาณ 5% ของเด็กในวัยเรียนป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น หมายความว่า ห้องเรียนห้องหนึ่งถ้ามีนักเรียนอยู่ประมาณ 50 คน จะมีเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ในห้องเรียนประมาณ 2-3 คน


จะสังเกตได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่? อาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีโรคสมาธิสั้น ได้แก่: -

1. อาการขาดสมาธิ (attention deficit): เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิด เด็กมักจะแสดงอาการเหม่อลอยบ่อยๆ ฝันกลางวัน ทำงานไม่เสร็จ ผลงานมักจะไม่เรียบร้อย ตกๆหล่นๆ ดูเหมือนสะเพร่า ขาดความรอบคอบ เด็กมักจะมีลักษณะขี้ลืม ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ มีลักษณะเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย เวลาสั่งให้เด็กทำงานอะไรเด็กมักจะลืมทำ หรือทำครึ่งๆ กลางๆ อาการขาดสมาธินี้มักจะมีต่อเนื่อง ติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่

2. อาการซน (hyperactivity): เด็กจะมีลักษณะซน อยู่ไม่สุข ยุกยิกตลอดเวลา นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดิน หรือขยับตัวไปมา ชอบปีนป่าย เล่นเสียงดัง เล่นผาดโผน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย มักประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ จากความซน และความไม่ระมัดระวัง พูดมาก พูดไม่หยุด ชอบแกล้งหรือแหย่เด็กอื่น

3. อาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity): เด็กจะมีลักษณะวู่วาม ใจร้อน อารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำอะไรไปโดยไม่คิดก่อนล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ขาดความระมัดระวัง เช่น วิ่งข้ามถนนโดยไม่มองรถดีๆ ซุ่มซ่าม ทำข้าวของแตกหักเสียหาย เวลาต้องการอะไรก็จะต้องให้ได้ทันที รอคอยอะไรไม่ได้ เวลาอยู่ในห้องเรียนมักจะพูดโพล่งออกมาโดยไม่ขออนุญาตครูก่อน มักตอบคำถามโดยที่ฟังคำถามยังไม่ทันจบ ชอบพูดแทรกเวลาที่คนอื่นกำลังคุยกันอยู่ หรือกระโดดเข้าร่วมวงเล่นกับเด็กคนอื่นโดยไม่ขอก่อน


แพทย์ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น?

เกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นที่แพทย์ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ เกณฑ์ที่กำหนดขึ้นและประกาศใช้โดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (DSM-IV) โดยแบ่งกลุ่มอาการออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่

ก. อาการขาดสมาธิ (attention deficit): โดยเด็กจะมีอาการต่อไปนี้

1. ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
2. ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
3. ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
4. ไม่สามารถตั้งใจฟัง และเก็บรายละเอียดได้ ทำให้ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
5. ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
6. มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
7. วอกแวกง่าย
8. ทำของใช้ส่วนตัว หรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียน หายอยู่บ่อยๆ
9. ขี้ลืมบ่อยๆ

ข. อาการซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) และอาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม (impulsivity) โดยเด็กจะมีอาการต่อไปนี้

1. ยุกยิก อยู่ไม่สุข
2. นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อยๆ ขณะอยู่ที่บ้านหรือในห้องเรียน
3. ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ
4. พูดมาก พูดไม่หยุด
5. เล่นเสียงดัง
6. ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย
7. ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
8. รอคอยไม่เป็น
9. ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่
หากเด็กคนใดมีลักษณะอาการใน ข้อ ก หรือ ข้อ ข รวมกันมากกว่า 6 อาการขึ้นไป เด็กคนนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น





เด็กจำเป็นต้องรับประทานยาไปนานแค่ไหน?

ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละราย เด็กบางคนที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน พ่อแม่ ครูเข้าใจและให้ความช่วยเหลือเต็มที่ มีการฝึกฝนทักษะต่างๆให้เด็ก เช่น ทักษะการควบคุมตัวเอง ทักษะในการจัดระเบียบของการทำงาน สิ่งของ ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ฯลฯ เด็กกลุ่มนี้อาจจะมีโอกาสหายจากโรคนี้ได้และไม่จำเป็นต้องรับประทานยาตลอดชีวิต แต่จะมีเด็กอยู่ประมาณ 50% ที่มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน เด็กกลุ่มนี้อาจมีอาการติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่และจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไป พ่อแม่มักจะให้ลูกหยุดรับประทานยาช่วงโรงเรียนปิดเทอมหากเด็กไม่มีกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิและอยู่บ้านเฉยๆ แพทย์มักจะใช้โอกาสนี้ประเมินเด็กว่า อาการเป็นอย่างไรเมื่อหยุดยา หากหลังจากหยุดยาแล้วพบว่าเด็กยังคงอยู่ไม่นิ่ง มีพฤติกรรมรบกวนผู้อื่น หรือยังขาดสมาธิ แสดงว่าเด็กยังไม่หายและควรรับประทานยาต่อไป มีความเป็นไปได้น้อยที่เด็กจะหายจากสมาธิสั้นก่อนอายุ 12 ปี ดังนั้นเด็กในวัยประถมควรได้รับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง


ยาจะมีผลในระยะยาวต่อร่างกายและสมองของเด็กหรือไม่?

พ่อแม่หลายท่านมักจะกังวล เกรงว่าจะมีผลเสียกับเด็กหากเด็กรับประทานยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เช่น เกรงว่าเด็กจะไม่โต ตัวเล็ก สมองเสื่อม ไม่ฉลาด เป็นต้น ยาที่แพทย์ใช้รักษาสมาธิสั้นมากที่สุดคือ ยาในกลุ่ม psychostimulants ซึ่งเป็นยาที่มีใช้กันมานานกว่า 60 ปีแล้ว มีการวิจัยมากมายที่ยืนยันความปลอดภัยของยาในกลุ่มนี้ โดยพบว่า เด็กสมาธิสั้นที่รับประทานยาในกลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ มี การเจริญเติบโตเท่ากับเด็กปกติ และมีพัฒนาการทางสมองเป็นปกติ


เด็กรับประทานยาไปนานๆมีโอกาสติดยาหรือไม่?

ยังมีผู้ที่เข้าใจผิด วิตกกังวลและไม่แน่ใจว่าหากเด็กรับประทานยารักษาโรคสมาธิสั้นไปนานๆแล้วจะทำให้เด็กมีโอกาสติดยาหรือสารเสพติดอื่นๆสูงขึ้นหรือไม่ การวิจัยจากหลายประเทศพบว่าโอกาสที่เด็กจะติดยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น หรือนำไปใช้เสพในทางที่ผิดมีน้อยมากหากอยู่ในความดูแลของแพทย์ นอกจากนี้การวิจัยล่าสุดพบว่า เด็กสมาธิสั้นที่ได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยาสม่ำเสมอมีโอกาสติดยาเสพติดน้อยกว่าเด็กสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาถึง 5 เท่า ดังนั้นการรักษาเด็กสมาธิสั้นด้วยยาอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงของเด็กที่จะไปติดสารเสพติดในอนาคต ผลอันนี้อธิบายได้จากการที่เด็กสมาธิสั้นเมื่อได้รับการรักษาด้วยยามักจะประสบความสำเร็จด้านการเรียนมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนรอบข้างมากขึ้น เด็กจึงเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง มีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) สูงขึ้น นำไปสู่การคบเพื่อนที่ดี ทำให้โอกาสที่จะไปใช้ยาเสพติดลดลง เม็ดของยาชนิดที่รับประทานเพียงครั้งเดียวตอนเช้าแต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ถึงช่วงเย็น (long-acting methylphenidate - Concerta®) มีลักษณะเป็นแคปซูลที่ทำให้แตกได้ยาก ดังนั้นโอกาสที่เด็กจะนำยาตัวนี้ไปใช้ในทางที่ผิดยิ่งมีน้อยกว่ายาที่ออกฤทธิ์เร็วและสั้น





เด็กไม่ยอมกินยา อ้างว่าลืมบ่อยๆจะทำอย่างไร?

อันดับแรกพ่อแม่ควรพูดคุยกับเด็ก ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับการรับประทานยา เช่น รู้สึกไม่พอใจ ไม่คิดว่าตัวเองมีอะไรผิดปกติที่ทำให้จำเป็นต้องรับประทานยา หรือรู้สึกอายเพื่อน ฯลฯ พ่อแม่ควรพูดคุยกับเด็กว่าเขาจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการรับประทานยา หากเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่อาจขอความร่วมมือจากคุณครูประจำชั้นให้ช่วยดูแลเรื่องการรับประทานยามื้อเที่ยงของเด็ก หากเป็นเด็กโตอาจให้รับประทานยาชนิดที่รับประทานเพียงครั้งเดียวตอนเช้าแต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ถึงช่วงเย็นเช่น ยา long-acting methylphenidate (Concerta®) เป็นต้น


จะพูดกับเด็กอย่างไรว่าทำไมเขาจึงต้องรับประทานยา?

พ่อแม่ไม่ควรโกหกเด็กเวลาให้เด็กรับประทานยารักษาสมาธิสั้น บางท่านหลอกเด็กว่าเป็นวิตะมิน บางท่านใช้ยามาขู่เด็กว่าหากทำตัวไม่ดีต้อง “กินยาแก้ดื้อ” ทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการรับประทานยา วิธีที่เหมาะสมควรพูดกับเด็กตรงๆว่าพ่อแม่ต้องการให้เด็กรับประทานยาเพื่ออะไร โดยเน้นประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากการรับประทานยา ตัวอย่างคำพูด ได้แก่ “หนูจำเป็นต้องรับประทายานี้ เพราะยานี้จะช่วยให้หนูคุมตัวเองได้ดีขึ้น น่ารักมากขึ้น มีสมาธิยาวนานขึ้น” พูดถึงยาในแง่บวก เช่น เป็นยา “เด็กเรียบร้อย เพราะเวลาที่หนูกินยานี้แล้ว หนูเรียบร้อยขึ้นเยอะเลย” เป็นยา “เด็กดี เพราะเวลาที่หนูกินยานี้แล้ว หนูเป็นเด็กดี..น่ารัก..ว่านอนสอนง่ายขึ้นเยอะเลย ” เป็นยา “เด็กเรียนเก่ง เพราะเวลาที่หนูกินยานี้แล้ว แม่สังเกตว่าหนูเรียนดีขึ้น รับผิดชอบทำการบ้านดีกว่าแต่ก่อนเยอะเลย”


นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่จะช่วยเด็กสมาธิสั้นได้?

พ่อแม่ไม่ควรพึ่งการรักษาด้วยยาอย่างเดียว เนื่องจากการรักษาด้วยยาเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นการช่วยให้เด็ก “หาย” จากการเป็นโรคสมาธิสั้น ดังนั้นเด็กควรได้รับการฝึกและช่วยเหลือด้านอื่นๆร่วมกับการรับประทานยาเสมอ เด็กสมาธิสั้นควรมีโอกาสได้คุยกับแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดที่ตัวเด็กมี และช่วยแนะนำแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อให้เด็กได้ใช้ความสามารถด้านอื่นทดแทนในส่วนที่บกพร่อง ในบางรายครอบครัวบำบัดก็มีความจำเป็นสำหรับครอบครัวที่มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว เพื่อลดความวิตกกังวลและความเครียดของเด็ก

การปรับพฤติกรรมเด็กโดยการปรับวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และการช่วยเหลือในห้องเรียนโดยคุณครูเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาเสมอ


แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้อย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้โดยอาศัยประวัติที่ละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท และการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นหลัก ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือด หรือเอ็กซเรย์สมอง ที่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น ในบางกรณี แพทย์จำเป็นต้องอาศัยการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจสายตา (vision test) การตรวจการได้ยิน (hearing test) การตรวจคลื่นสมอง (EEG) การตรวจเชาวน์ปัญญา (IQ test) และความสามารถทางการเรียน เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคลมชัก ความบกพร่องทางสายตา การได้ยิน หรือภาวะการเรียนบกพร่อง (learning disorder) ออกจากโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้ โรคออทิสติก โรคจิตเภท ภาวะพัฒนาการล่าช้า และโรคทางจิตเวชอื่นๆ ในเด็ก เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า สามารถทำให้เด็กแสดงอาการหรือมีพฤติกรรมคล้ายกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น





อะไรเป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้น?

การวิจัยในปัจจุบันพบว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีความบกพร่อง หรือมีปริมาณสารเคมีที่สำคัญบางตัว (dopamine, noradrenaline) ในสมองน้อยกว่าเด็กปกติ โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30 - 40 % ของเด็กสมาธิสั้นจะมีสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งเป็นโรคสมาธิสั้นด้วยหรือมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการหรือความผิดปกติดีขึ้นหรือแย่ลงแต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด (เช่น ตะกั่ว) ในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น การวิจัยในปัจจุบันไม่พบว่าการบริโภคน้ำตาลหรือชอกโกแลตมากเกินไปทำให้เด็กซนมากขึ้น การดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกมมากเกินไปก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น


เด็กสามารถนั่งดูทีวี หรือเล่นวิดีโอเกมได้นานเป็นชั่วโมง ทำไมหมอถึงยังบอกว่า เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น?

เพราะในขณะที่เด็กดูทีวี หรือเล่นวิดีโอเกม เด็กจะถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพบนจอทีวีหรือวิดีโอเกมที่เปลี่ยนทุก 2 - 3 วินาที จึงสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ สมาธิของเด็กมีขึ้นได้จากสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งตรงกันข้ามกับสมาธิที่เด็กต้องสร้างขึ้นมาเอง ระหว่างการอ่านหนังสือหรือทำงานต่างๆ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะขาดสมาธิอันนี้ ดังนั้นถึงแม้ว่าเด็กจะสามารถดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกมได้นานๆ เด็กก็มีสิทธิที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้





วิธีการรักษาโรคสมาธิสั้นมีอะไรบ้าง?

การรักษาเด็กสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การผสมผสานการรักษาหลายๆด้าน ดังต่อไปนี้เข้าด้วยกัน:

ก. การรักษาด้วยยา
ข. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว
ค. การช่วยเหลือทางด้านการเรียน


ยาอะไรที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น และยาจะช่วยเด็กอย่างไร?

ยาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคสมาธิสั้น คือ ยาในกลุ่ม Psychostimulants ซึ่งได้แก่ methylphenidate (Ritalin®), long-acting methylphenidate (Concerta®), dextroamphetamine (Dexedrine®), Adderall และ pemoline (Cylert®) ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ยาจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบลง มีความสามารถในการควบคุมตัวเองดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น ผลที่ตามมาเมื่อเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี คือ เด็กจะมีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) เพิ่มขึ้น และมีความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้น


ยาเข้าไปทำอะไรกับสมองของเด็ก?

พ่อแม่ และครูหลายท่านมีความเข้าใจผิดคิดว่า ยาที่แพทย์ใช้ในการรักษาเด็กสมาธิสั้นออกฤทธิ์โดยการไป “บีบ” หรือ “กด” สมองเพื่อให้เด็กนิ่งขึ้น หรือซนน้อยลง ดังนั้นความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่เมื่อแพทย์บอกว่าเด็กควรจะได้รับการรักษาด้วยยาคือ วิตกกังวล ลังเลไม่แน่ใจ ไม่อยากให้เด็กรับประทานยา แต่แท้จริงแล้วยาจะออกฤทธิ์โดยการไป “กระตุ้น” เซลล์สมองให้หลั่งสารเคมีธรรมชาติ (ตัวที่เด็กมีน้อยกว่าเด็กปกติ) ออกมามากขึ้นในระดับที่เด็กปกติควรจะมี สารเคมีตัวนี้เป็นตัวที่ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มีสมาธิยาวนานขึ้น เรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น





ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงของยาในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดท้อง และอารมณ์ขึ้นลง หงุดหงิดง่าย ใจน้อย เจ้าน้ำตา อาการข้างเคียงเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงและหายไปเองได้เมื่อเด็กรับประทานยาติดต่อกันไปสักระยะหนึ่ง


หากเด็กมีอาการเบื่ออาหารมากหลังจากรับประทานยาจะทำอย่างไร?

เด็กบางรายอาจจะมีอาการเบื่ออาหารระหว่างที่ยากำลังออกฤทธิ์ ดังนั้นจึงควรให้เด็กรับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนให้รับประทานยา โดยปกติแล้วความอยากอาหารจะกลับเป็นปกติ (หรือมากกว่าปกติในบางราย) เมื่อยาหมดฤทธิ์ จึงไม่แปลกที่เด็กบางคนบ่นว่าหิว หรืออาจจะร้องขอรับประทานอาหารเมื่อใกล้เวลาจะเข้านอน พ่อแม่ควรอนุญาตให้เด็กรับประทานอาหารได้ทุกเวลาที่เขาต้องการแม้จะเป็นตอนค่ำ เพื่อชดเชยกับมื้อเช้าหรือมื้อเที่ยงที่เด็กอาจจะรับประทานอาหารไม่ได้มาก มีเด็กเพียงไม่กี่รายที่อาการเบื่ออาหารมีมากจนแพทย์ต้องลดขนาดยาให้น้อยลง หรือให้อาหารเสริม ในบางรายแพทย์อาจให้ยากระตุ้นให้อยากอาหารร่วมด้วย


มีคนบอกว่าเด็กกินยาแล้วจะ “ซึม” จริงหรือไม่?

เด็กสมาธิสั้นที่ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาอาจจะดูนิ่ง สงบ เงียบ เรียบร้อยผิดจากเดิมไปมาก จึงมักทำให้พ่อแม่ หรือคุณครูที่คุ้นเคยกับอาการซน เสียงดัง และความวุ่นวายของเด็ก บังเกิดความประหลาดใจปนกับความกังวลว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเด็ก หลายคนเหมาเอาว่าเด็ก “ซึม” จากยา แต่ในความเป็นจริงเด็กเพียงแต่มีอาการ “สงบ” เหมือนพฤติกรรมของเด็กปกติทั่วไป เด็กจะมีอาการ “ซึม” เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับยาในขนาดที่สูงเกินไปเท่านั้น

วิธีแยกระหว่างอาการ “ซึม” กับ “สงบ” อาศัยสมาธิและความสามารถในการคิดของเด็ก ระหว่างที่เด็กมีอาการ “ซึม” เด็กจะไม่สามารถใช้สมองหรือคิดอะไรไม่ออก เวลาถามอะไรก็ไม่ตอบหรือตอบไม่ได้ แต่ระหว่างที่เด็ก “สงบ” เด็กจะกระตือรือร้นหากมีการนำงานมาให้เด็กทำหรือคิด เด็กจะตอบได้ไวและถูกต้อง ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสังเกตและแยกให้ได้ว่าจริงๆแล้วเด็กรับประทานยาแล้ว “ซึม” หรือ “สงบ” กันแน่ ก่อนที่จะเหมาเอาว่าเด็กรับประทานยาแล้ว “ซึม”





พ่อแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไรในการช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น?

1. พ่อแม่ควรปรับทัศนคติที่มีต่อเด็กให้เป็นบวก พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าโรคสมาธิสั้นเป็นความผิดปกติของการทำงานของสมอง พฤติกรรมที่ก่อปัญหาของเด็กไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะก่อกวนให้เกิดปัญหา แต่เกิดขึ้นเนื่องจากเด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้
2. พ่อแม่ควรใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมที่ไม่ทำลายความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองของเด็กให้ลดลง
3. มีการจัดทำตารางเวลาให้ชัดเจนว่า กิจกรรมในแต่ละวันที่เด็กต้องทำมีอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน
4. จัดหาสถานที่ที่เด็กสามารถใช้ทำงาน ทำการบ้าน อ่านหนังสือ โดยไม่มีใครรบกวน และไม่มีสิ่งที่จะมาทำให้เด็กเสียสมาธิ เช่น ทีวี วิดีโอเกม หรือของเล่นอยู่ใกล้ๆ
5. ถ้าเด็กวอกแวกง่ายมากหรือหมดสมาธิง่าย อาจจำเป็นที่เด็กต้องมีผู้ใหญ่นั่งประกบอยู่ด้วย ระหว่างทำงาน หรือทำการบ้าน เพื่อให้งานเสร็จเรียบร้อย
6. พ่อแม่ และบุคคลอื่นในบ้าน ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ อย่าตวาดตำหนิเด็ก หรือลงโทษทางกายอย่างรุนแรงเมื่อเด็กกระทำผิด ควรมีการตั้งกฎเกณฑ์ไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อเด็กทำผิดจะมีการลงโทษอย่างไรบ้าง การใช้ความรุนแรงกับเด็กสมาธิสั้น มีโอกาสทำให้เด็กสมาธิสั้นเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ก้าวร้าว และใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา
7. การลงโทษควรใช้วิธีจำกัดสิทธิต่างๆ เช่น งดดูทีวี งดเที่ยวนอกบ้าน งดขี่จักรยาน หักค่าขนม เป็นต้น
8. ควรให้คำชม รางวัลเล็กน้อยๆ เวลาที่เด็กทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมที่ดีต่อไป
9. ทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก เช่น ความมีระเบียบ รู้จักรอคอย ความสุภาพ รู้จักกาละเทศะ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่างๆ เป็นต้น
10. เวลาสั่งให้เด็กทำงานอะไร ควรให้เด็กพูดทวนคำสั่งที่พ่อแม่เพิ่งสั่งไปทันที เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กได้ฟังคำสั่งและเข้าใจว่าพ่อแม่ต้องการให้เขาทำอะไร
11. พยายามสั่งทีละคำสั่ง ทีละขั้นตอน ใช้คำสั่งที่สั้น กระชับ และตรงไปตรงมา
12. ไม่ควรบ่นจู้จี้จุกจิกถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กในอดีต
13. หากเด็กทำผิด พ่อแม่ควรเด็ดขาด เอาจริง คำไหนคำนั้น ลงโทษเด็กตามที่ได้ตกลงกันไว้โดยไม่ใจอ่อน มีความคงเส้นคงวาในการปรับพฤติกรรม
14. พยายามมองหาข้อดี ปมเด่นของเด็ก และพูดย้ำให้เด็กเห็นข้อดีของตัวเองเพื่อให้เด็กเกิดกำลังใจที่จะประพฤติตัวดี และเกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง
15. พยายามสอนให้เด็กคิดก่อนทำ เช่น ให้เด็ก “นับถึง 5” ก่อนที่จะทำอะไรลงไป “หยุด....คิดก่อนทำนะจ๊ะ...” พูดให้เด็กรู้ตัว รู้จักคิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำต่างๆของเด็ก สอนให้เด็กรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราก่อนที่จะทำอะไรลงไป
16. หากเด็กมีพฤติกรรมดื้อไม่เชื่อฟัง หลีกเลี่ยงการบังคับหรือออกคำสั่งตรงๆกับเด็ก แต่ใช้วิธีบอกกับเด็กว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง โดยทางเลือกทั้งสองทางนั้นเป็นทางเลือกที่พ่อแม่กำหนดขึ้น เช่น หากต้องการให้เด็กเริ่มต้นทำการบ้าน แทนที่จะสั่งให้เด็กทำการบ้านตรงๆ อาจพูดว่า “เอาละได้เวลาทำการบ้านแล้ว...หนูจะทำภาษาไทยก่อน หรือว่าจะทำเลขก่อนดีจ๊ะ”
17. กำหนดช่วงเวลาในแต่ละวันที่จะฝึกให้เด็กทำอะไรเงียบๆที่ตัวเองชอบอย่าง “จดจ่อและมีสมาธิ” โดยพ่อแม่ต้องหาห้องหรือมุมใดมุมหนึ่งในบ้านที่สงบ ไม่มีสิ่งเร้ามากนัก ให้เด็กได้เข้าไปทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิคนเดียวเงียบๆ โดยในวันแรกอาจเริ่มที่ 15 นาทีก่อน แล้วจึงเพิ่มเวลาให้นานขึ้นเรื่อยๆ ให้คำชม และรางวัลเมื่อเด็กทำได้สำเร็จพ่อแม่ของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกายเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธหรือแสดงพฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน และก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่า คือ การให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยการงดกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือตัดสิทธิต่างๆ





คุณครูจะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นได้อย่างไรบ้าง?

เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียนหรือเรียนได้ไม่เต็มศักยภาพร่วมด้วย ดังนั้นครูจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดี แนวทางการให้ความช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นขณะอยู่ในห้องเรียนมีดังต่อไปนี้

1. จัดเด็กให้นั่งหน้าชั้น หรือใกล้ครูให้มากที่สุด เพื่อครูจะได้เตือนเด็กให้กลับมาตั้งใจเรียน เมื่อสังเกตว่าเด็กเริ่มขาดสมาธิ นอกจากนี้ควรให้เด็กนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ถูกแวดล้อมด้วยเด็กเรียบร้อย ที่ไม่คุยในระหว่างเรียน
2. จัดให้เด็กนั่งอยู่กลางห้อง หรือให้ไกลจากประตูหน้าต่าง เพื่อลดโอกาสที่เด็กจะถูกทำให้วอกแวกโดยสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน
3. เมื่อเด็กหมดสมาธิจริงๆ ควรจัดกิจกรรมที่เปลี่ยนอิริยาบท และเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กทำ เช่น มอบหมายหน้าที่ให้ช่วยครูเดินแจกสมุดให้เพื่อนๆในห้อง ลบกระดานดำ เติม
น้ำใส่แจกัน เป็นต้น ก็จะช่วยลดความเบื่อของเด็กลง และทำให้เรียนได้นานขึ้น
4. ให้คำชมเชย หรือรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเด็กปฏิบัติตัวดี หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
5. คิดรูปแบบวิธีเตือน หรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียนโดยไม่ทำให้เด็กเสียหน้า
6. เขียนการบ้าน หรืองานที่เด็กต้องทำในชั้นเรียนให้ชัดเจนบนกระดานดำ พยายามสั่งงานด้วยวาจาให้น้อยที่สุด
7. หากจำเป็นต้องสั่งงานด้วยวาจา ควรหลีกเลี่ยงการสั่งพร้อมกันทีเดียวหลายๆ คำสั่ง ควรให้เวลาให้เด็กทำเสร็จทีละอย่างก่อนให้คำสั่งต่อไป หลังจากให้คำสั่งแก่เด็ก ควรถามเด็กด้วยว่า ครูต้องการให้เด็กทำอะไร เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าเด็กรับทราบ และเข้าใจคำสั่งอย่างถูกต้อง
8. ตรวจสมุดงานของเด็กเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบถ้วน
9. ในกรณีที่เด็กมีสมาธิสั้นมาก ควรลดระยะเวลาการทำงานให้สั้นลง โดยให้เด็กพยายามทำงานให้เสร็จทีละอย่าง และแต่ละอย่างใช้เวลาไม่นานมากนัก พยายามเน้นในเรื่องความรับผิดชอบ ทำงานให้เสร็จ
10. หลีกเลี่ยงการใช้วาจาตำหนิ ประจาน ประณาม ที่ทำให้เด็กอับอายขายหน้า และไม่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง (เช่นการตี) หากเป็นพฤติกรรมจากโรคสมาธิสั้น เช่น ซุ่มซ่าม ทำของเสียหาย หุนหันพลันแล่น เพราะเด็กมีความลำบากในการคุมตัวเองจริงๆ แต่ควรจะเตือน และสอนอย่างสม่ำเสมอว่าพฤติกรรมใดไม่เหมาะสม และพฤติกรรมที่เหมาะสมคืออะไร เปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ไขด้วยตนเอง เช่น เก็บของเข้าที่ใหม่ ชดใช้ของที่เสียหาย
11. ใช้การตัดคะแนน งดเวลาพัก ทำเวร หรืออยู่ต่อหลังเลิกเรียน (เพื่อทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ) เมื่อเด็กทำความผิด
12. พยายามมีทัศนคติเชิงบวกต่อเด็ก มองหาจุดดีของเด็ก และสนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกถึงข้อดี หรือความสามารถของตัวเอง
13. พยายามสร้างบรรยากาศที่เข้าใจ และเป็นกำลังใจให้เด็กพยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
14. ให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กที่เป็นสมาธิสั้น จะมีความบกพร่องทางด้านการเรียน (learning disorder) ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 30-40 เช่น ด้านการอ่าน การสะกดคำ การคำนวณ เป็นต้น ซึ่งต้องการความเข้าใจและความช่วยเหลือจากคุณครูเพิ่มเติม แนวการสอนควรมีลักษณะดังนี้
14.1 มีการแบ่งขั้นตอนเริ่มจากง่ายและจำนวนน้อยก่อน แล้วจึงเพิ่มความยากและจำนวน ขึ้นในเวลาต่อมาเมื่อเด็กเรียนรู้ขั้นต้นได้ดีแล้ว
14.2 ใช้คำอธิบายง่ายๆสั้นๆ พอที่เด็กจะเข้าใจ และให้ความสนใจฟังได้เต็มที่ ซึ่งหากมีการสาธิตอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม จะช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายกว่าคำพูดอธิบายอย่างเดียว
15. ควรสอนทีละเรื่อง หรือเปรียบเทียบเป็นคู่ แต่ไม่ควรสอนเชื่อมโยงหลายเรื่องพร้อมๆกัน
16. เด็กที่เป็นสมาธิสั้น ควรได้รับการสอนแบบ “ตัวต่อตัว“ เนื่องจากครูสามารถคุมให้เด็กมีสมาธิ และสามารถยืดหยุ่นการเรียนการสอนให้เข้ากับความพร้อมของเด็กได้ดีกว่า
17. ครูควรให้เวลาที่ใช้ในการสอบสำหรับเด็กที่เป็นสมาธิสั้น นานกว่าเด็กปกติ
18. เด็กอาจมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับเพื่อน เพราะเด็กมักจะใจร้อน หุนหัน เล่นแรง ในช่วงแรกอาจต้องอาศัยคุณครูช่วยให้คำตักเตือน แนะนำด้วยท่าทีที่เข้าใจ เพื่อให้เด็กปรับตัวได้ และเข้าใจกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกับผู้อื่น
19. เด็กที่มีสมาธิสั้นบางครั้งเพียงใช้การบอก เรียก หรืออธิบายอย่างเดียวเด็กอาจไม่ฟังหรือไม่ทำตาม คุณครูควรเข้าไปหาเด็กและใช้การกระทำร่วมด้วย เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมตามที่คุณครูต้องการ เช่น เมื่อต้องการให้เด็กเข้ามาในห้องเรียน หากใช้วิธีเรียกประกอบกับการโอบหรือจูงตัวเด็กให้เข้าห้องด้วย จะได้ผลดีกว่าเรียกเด็กอย่างเดียว





หากพาเด็กไปฝึกนั่งสมาธิจะมีประโยชน์ไหม?

ยังไม่มีการวิจัยที่ยืนยันประโยชน์อย่างชัดเจนของการฝึกนั่งสมาธิโดยการให้เด็กนั่งหลับตาแล้วทำจิตให้สงบว่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กหรือไม่ การฝึกสมาธิโดยให้เด็กนั่งหลับตาทำสมาธิมักจะทำให้เด็กเบื่อ เด็กสมาธิสั้นจะไม่ค่อยชอบที่ถูกให้นั่งนิ่งๆและมักไม่ให้ความร่วมมือ แต่มีรายงานจากต่างประเทศอ้างว่า การฝึกสมาธิแบบ Transcendental Meditation (TM) สามารถช่วยให้เด็กนั่งนิ่งขึ้น มีสมาธิในการเรียน การทำงานยาวนานขึ้น

การฝึกสติให้เด็กรู้จักคิดก่อนทำ หรือให้รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่โดยวิธีกำหนดอิริยาบถ อาจจะมีประโยชน์ในการฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมพฤติกรรมของตนเอง เด็กสมาธิสั้นมักจะชอบและร่วมมือดีต่อกิจกรรมการฝึกที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่การฝึกนี้ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดประโยชน์


การให้เด็กเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายจะช่วยให้เด็กหายจากการเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่?

ยังไม่มีการวิจัยยืนยันว่าการให้เด็กเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายมากๆช่วยให้เด็กหายจากโรคสมาธิสั้น แต่พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กสมาธิสั้นได้ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้พลังงานไปในทางสร้างสรรค์ และหากเด็กมีความสามารถทางกีฬาก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความสามารถไม่ด้อยกว่าคนอื่น ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมเกเร หรือปัญหาพฤติกรรมอื่นๆตามมา






มีอาหารเสริม วิตะมิน หรือสมุนไพรชนิดใดหรือไม่ที่มีประโยชน์ในการรักษาเด็กสมาธิสั้น?

พ่อแม่หลายท่านอาจเคยเห็นโฆษณาจากสื่อต่างๆ (ส่วนใหญ่ทางอินเตอร์เน็ต)ว่าอาหารเสริม วิตะมิน หรือสมุนไพรหลายชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคสมาธิสั้นได้ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานการวิจัยทางการแพทย์ที่ยืนยันสรรพคุณของสิ่งเหล่านั้นว่ามีประโยชน์หรือใช้รักษาโรคสมาธิสั้นได้ผลจริง ดังนั้นพ่อแม่จึงควรพิจารณาถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็กก่อนทดลองใช้สิ่งเหล่านั้น

หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กสมาธิสั้นและครอบครัว?
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อโตขึ้นเด็กเหล่านี้จะมีภาวะแทรกซ้อนที่มีผลกระทบในแง่ลบในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งต่อตัวเด็กเองและครอบครัว

ก. ต่อตัวเด็ก

- ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จด้านการเรียนเท่าที่ควร
- มีปัญหาพฤติกรรมในห้องเรียน ทำให้ถูกทำโทษบ่อยๆ หรือถูกพักการเรียน
- เรียนได้ไม่ดี อาจถูกให้เรียนซ้ำชั้น
- ต้องการการศึกษาพิเศษ (special education program) หรือการสอนเสริม
- อาจเรียนไม่จบชั้นมัธยม หรือต้องเรียนต่อสายอาชีพ
- มีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองต่ำ (low self-esteem) เนื่องจากคนรอบข้างมักจะคอยตำหนิ จับผิด ลงโทษเด็กอยู่เสมอ
- มีปัญหาการเข้าสังคม ไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนและบุคคลอื่น
- ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านอาชีพการงานเมื่อโตขึ้น
- มีความเสี่ยงสูงที่จะติดสารเสพติด เนื่องจากเด็กมักจะชอบทดลอง ชอบสิ่งที่ตื่นเต้น เร้าใจ
- มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากเด็กมักจะชอบกิจกรรมที่ท้าทาย เสี่ยงต่ออันตราย
- มักจะคบเพื่อนที่เป็นเด็กมีปัญหาเหมือนกัน ทำให้ชักนำกันไปในทางที่เสียหาย
- เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย

ข. ต่อครอบครัว

- ทำให้ระดับความเครียดในครอบครัวสูงขึ้น ครอบครัวขาดความสงบสุข
- ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในครอบครัวสูงขึ้น
- ทำให้เกิดปัญหาหย่าร้างในครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่มักจะตำหนิซึ่งกันและกัน โทษแต่ละฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกมีปัญหา หรือมักจะขัดแย้งกันในการเลี้ยงดูเด็ก





เมื่อโตขึ้นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีโอกาสหายมั้ย?

เมื่อผ่านช่วงวัยรุ่น ประมาณ 30-50% ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ และสามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยา ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้นจะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่งถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และมีความสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนหากสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาต่อ การงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กสมาธิสั้นที่อาการยังไม่หายเมื่อโตขึ้นจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง


ผู้ใหญ่มีสิทธิที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้มั้ย และจะมีลักษณะหรืออาการอะไรบ้าง?

- ทำให้บุคคลในครอบครัว (โดยเฉพาะมารดา) เสียโอกาสในอาชีพการงาน เนื่องจากเสียเวลาไปกับการดูแลเด็กมาก
พ่อแม่ที่วิตกกังวล กลัวเรื่องการให้เด็กรับประทานยารักษาสมาธิสั้น มักจะมองแต่ผลเสียของการรักษาด้วยยาแต่เพียงด้านเดียว แต่ที่ถูกต้องพ่อแม่ควรคำนึงถึงผลเสียข้างต้นที่จะเกิดกับตัวเด็กหากเด็กไม่ได้รับการรักษาด้วยยาอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ การรักษาเด็กสมาธิสั้นให้มีอาการดีขึ้น มักจะช่วยให้สมาชิกอื่นๆในครอบครัวมีสุขภาพจิตดีขึ้นตามไปด้วย

โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคที่เกิดเฉพาะกับเด็ก หรือพบได้เฉพาะในวัยเด็กเท่านั้น ปัจจุบันพบว่ามีผู้ใหญ่หลายๆคนที่มีปัญหานี้และทำให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร





ลักษณะต่อไปนี้จะช่วยบ่งชี้ว่าท่านอาจเป็นโรคสมาธิสั้นและต้องการการรักษา

1. มีประวัติบ่งชี้ถึงโรคสมาธิสั้นตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก เช่น ตอนเล็กๆมีพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่ตั้งใจเรียน วอกแวกง่าย เรียนหนังสือไม่ดี ฯลฯ
2. ใจร้อน โผงผาง
3. อารมณ์ขึ้นลงเร็ว (โกรธง่ายหายเร็ว)
4. หุนหัน พลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ
5. ทนกับความเครียดหรือสิ่งที่ทำให้คับข้องใจได้น้อย
6. วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิระหว่างการทำงาน
7. รอคอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้
8. มักจะทำงานหลายๆชิ้นในเวลาเดียวกัน แต่มักจะทำไม่สำเร็จสักชิ้น
9. ไม่รู้จักแบ่งเวลา ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี
10. ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง
11. นั่งอยู่นิ่งๆไม่ได้นาน ชอบเขย่าขาหรือลุกเดินบ่อยๆ
12. เบื่อง่าย หรือต้องการสิ่งเร้าอยู่เสมอ
13. ไม่มีระเบียบ บ้านรกรุงรัง
14. เปลี่ยนงานบ่อย เนื่องจากความผิดพลาดในการทำงานที่เกิดจากความสะเพร่า ไม่เอาใจใส่
15. มาสาย ผิดนัด หรือลืมทำเรื่องสำคัญๆ อยู่เสมอ
16. มีปัญหากับบุคคลรอบข้าง เช่น สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง หัวหน้าหรือผู้ร่วมงานอยู่บ่อยๆ





ขอบคุณข้อมูลจากผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล
หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นภาควิชาจิตเวชศาสตร์
//www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=397&word=มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2552
10 comments
Last Update : 27 ธันวาคม 2552 8:09:36 น.
Counter : 2387 Pageviews.

 



สวัสดีค่ะคุณกบ บล็อกสวยหวานอีกแล้วน๊า
นู๋แจนส่งน้องหมีและดอกไม้มาสวัสดียามเช้าค่ะ
มีความสุขกับวันหยุดนะคะ

 

โดย: JJ&TheGang 27 ธันวาคม 2552 9:34:42 น.  

 


แหล่มจ๊ะ
ขอบคุณที่นำมาฝากจ้า
แวะมาลาทีปีเก่าด้วยความสุขจ๊ะ

 

โดย: อุ้มสี 27 ธันวาคม 2552 23:03:31 น.  

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


สวัสดีเช้าวันจันทร์สดใส
มีความสุขตลอดวันนะค่ะคุณกบ

 

โดย: ดอกฝิ่นในสายลมหนาว 28 ธันวาคม 2552 6:33:31 น.  

 

มีประโยชน์ดีครับ...
มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงนะครับ...

 

โดย: ลุงนาฬิกา 28 ธันวาคม 2552 11:14:53 น.  

 

แวะมาเที่ยวบล็อคค่ะ
ขอบคุณสำหรับบทความที่มีประโยชน์นะคะ
คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ
[ของตกแต่งโดนๆคลิกเลย]

 

โดย: ... (*~*Strawberry_Heaven*~* ) 28 ธันวาคม 2552 14:34:15 น.  

 

ส่งความสุขสวัสดีต้อนรับเทศกาลปีใหม่ด้วยครับ

 

โดย: ถปรร 28 ธันวาคม 2552 18:20:34 น.  

 

>

สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะ

 

โดย: JinnyTent 29 ธันวาคม 2552 9:40:28 น.  

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


หวัดดีค่ะ อีกไม่กี่วันอีกไม่กี่นาทีก็ปีใหม่แล้วค่ะ
มีความสุขมากมายกับชีวิตนะคะคุณกบ

 

โดย: หอมกร 29 ธันวาคม 2552 11:06:11 น.  

 









สวัสดีปีใหม่ 2553 ค่ะ


ใน
วาระดิถีขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขออำนาจสิ่งศักสิทธิ์ทั้งหลาย
ที่ท่านเคารพนับถือบูชาโปรดดลบันดาลให้ท่านและครอบครัว
ประสพแต่ความสุขความเจริญ ปราศจากทุกข์ โศก โรค ภัย

ขอให้มีความสุขกาย สุขใจ และประสบแต่สิ่งที่พึงประสงค์ ด้วยเถิด
jaeng : rimpol.bloggang.com


 

โดย: บุหงามลาซอ 29 ธันวาคม 2552 14:47:08 น.  

 



 

โดย: pk12th 29 ธันวาคม 2552 20:36:39 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
27 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.