Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
7 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 

. . .ขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย . . .

. . .

ขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : ผู้ประกอบการเศร้า...คอเหล้าซึม

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 เห็นชอบปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งสุราแช่ประเภทเบียร์ และสุรากลั่นชนิดสุราขาว สุราผสม และสุราพิเศษ(บรั่นดี) โดยมีผลทันทีตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของคืนวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ซึ่งการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้ คาดว่า จะทำให้ภาครัฐมีรายได้ทางภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 6,300 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นภาษีในช่วงที่กำลังซื้อของประชาชนปรับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาการเมืองซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ความต้องการสังสรรค์ที่ลดลง และยิ่งต้องเผชิญกับราคาจำหน่ายที่สูงขึ้นตามภาระต้นทุนด้านภาษี ก็มีแนวโน้มที่ประชาชนจะตัดสินใจชะลอหรือลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยลง แต่จากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่ชะลอตัว ประกอบกับการที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และร้านค้าต่างๆมีการผลิตและสั่งซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้าพอสมควร ภายหลังจากมีกระแสข่าวการปรับขึ้นภาษีออกมาก่อนล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการและร้านค้าสามารถแบกรับภาระภาษีที่ปรับขึ้นไปได้ระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสต็อกที่เป็นต้นทุนเดิมหมดลงและจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นตามภาระภาษีใหม่ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ปริมาณจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คงจะต้องปรับลดลงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง และปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆกันได้แก่ การผลิตและลักลอบนำเข้าสุราโดยไม่เสียภาษีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งท้ายที่สุดอาจทำให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่เท่ากับที่คาดหวังไว้ ซึ่งปัญหานี้จำเป็นที่ภาครัฐต้องระวังป้องกันไว้ด้วย
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อชดเชยภาวะการขาดดุลงบประมาณภาครัฐ มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นสินค้าที่มีมูลค่าตลาดค่อนข้างสูงถึงประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้งรายได้ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บได้ในแต่ละปีงบประมาณก็ค่อนข้างสูงถึงประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกัน อัตราการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่เต็มเพดานสูงสุดมีหลายรายการ อาทิ สุราขาว สุราผสม สุราพิเศษประเภทบรั่นดี เบียร์ และสุราแช่พื้นเมือง ยกเว้นไวน์ที่เก็บภาษีเต็มเพดานแล้วรวมทั้งในช่วงที่ผ่านมา องค์กรภาคเอกชนต่างๆมีการเรียกร้องให้ปรับขึ้นภาษีเพื่อควบคุมและชะลอการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาคประชาชนที่อยู่ในระดับสูงให้ลดลง

ซึ่งในที่สุด ภาครัฐก็ได้ตัดสินใจปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ทั้งประเภทสุราแช่และสุรากลั่น โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประเภทสุราแช่
เบียร์ จากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามมูลค่าร้อยละ 55 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ส่วนภาษีตามปริมาณยังคงเดิมที่ 100 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี)หรือ 1 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี คาดว่าการปรับภาษีดังกล่าวจะทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 บาทต่อขวด
ประเภทสุรากลั่น
สุราขาว จากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามปริมาณจาก 110 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี)หรือ 1.10 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ปรับเพิ่มเป็น 120 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100ดีกรี)หรือ 1.20 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ส่วนภาษีตามมูลค่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีเต็มเพดาน ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1.75-2.50 บาทต่อขวด
สุราผสม จากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามปริมาณจาก 280 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100ดีกรี)หรือ 2.80 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ปรับเพิ่มเป็น 300 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100ดีกรี)หรือ 3.00 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ส่วนภาษีตามมูลค่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีเต็มเพดาน คาดว่าการปรับภาษีดังกล่าวจะทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 บาทต่อขวด
สุราพิเศษประเภทบรั่นดี จากเดิมภาษีตามมูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 45 ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 48 ส่วนภาษีตามปริมาณยังคงเดิมที่ 400 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี)หรือ 4 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี คาดว่าการปรับภาษีดังกล่าวจะทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 19 บาทต่อขวด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐในครั้งล่าสุดนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อหลายๆฝ่าย เช่น ผู้ผลิตสุรา ผู้บริโภค ภาครัฐ รวมทั้งภาพรวมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งระบบ ซึ่งสรุปเป็นข้อสังเกตได้ดังนี้

ผลกระทบทางด้านผู้ผลิตและผู้ค้า กระแสข่าวการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐ เป็นประเด็นข่าวที่รับทราบมานาน ก่อนที่ภาครัฐจะได้อนุมัติปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ส่งผลให้ผู้ผลิตและร้านค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการเตรียมตัวมาระยะหนึ่ง โดยในส่วนของผู้ผลิตนั้น ได้มีการเร่งผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่อัตราการใช้กำลังการผลิตของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม อัตราการใช้กำลังผลิตสุราอยู่ที่ร้อยละ 70.4 ทั้งที่โดยปกติอัตราการใช้กำลังผลิตในช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50-60 ส่วนเบียร์นั้นอัตราการใช้กำลังผลิตเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ 99.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 80-90 สำหรับในส่วนของร้านค้านั้นก็มีการสั่งซื้อสินค้าเพื่อสต็อกเพิ่มขึ้นทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม สุรามีปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ 80 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับเบียร์นั้นปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ 197.8 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.5 ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้มีการสต็อกสินค้าไว้ สามารถชะลอการปรับขึ้นราคาจำหน่าย หรือบางรายอาจปรับราคาขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าภาระภาษีจริงโดยยอมแบกรับภาระบางส่วนไว้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะกำลังซื้อที่ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะความต้องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังจากช่วงสงกรานต์ที่มีน้อยลง เนื่องจากมิใช่ฤดูขายเพราะจะเข้าสู่ฤดูฝนและเทศกาลเข้าพรรษา รวมทั้งยังสามารถช่วยด้านการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นที่มีการปรับขึ้นราคาสินค้าได้

อย่างไรก็ตาม หากสต็อกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นต้นทุนเดิมหมดลง ผู้ประกอบการก็มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับภาระภาษีใหม่ ซึ่งก็มิอาจปฎิเสธได้ว่าเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว จะส่งผลกระทบทั้งในส่วนของผู้ผลิตและภาพรวมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งระบบ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดแบกรับภาระต้นทุนภาษีที่ปรับขึ้นไว้เอง ก็จะกระทบต่อรายได้และกำไรของธุรกิจ และส่งผลต่อเนื่องไปถึงงบประมาณการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่มีจำกัดตามไปด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับภาษีในครั้งนี้ ได้แก่ ตลาดเบียร์ราคาถูกและสุราขาว ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญในกลุ่มรายได้ไม่สูงมากนักเหมือนกัน จึงมีการแข่งขันกันระหว่างสินค้าเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อที่มีจำกัดในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว สำหรับในส่วนของสุราขาวนั้น คาดว่า ผลกระทบที่ได้รับจะรุนแรงน้อยกว่าเบียร์ เนื่องจากภาระทางภาษีเพิ่มขึ้นเพียงประมาณขวดละ 1.75-2.00 บาท ในขณะที่เบียร์เพิ่มขึ้นประมาณขวดละ 4-5 บาท มิหน่ำซ้ำยังอาจจะได้กลุ่มลูกค้าที่เคยดื่มเบียร์บางส่วนหันมาดื่มสุราขาวทดแทนอีกด้วย

อัตราการใช้กำลังการผลิตและปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ปี 2551 ปี 2552
ม.ค. ก.พ. มี.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค.
อัตราการใช้กำลังผลิต(ร้อยละ)
-สุรา 44.7 47.2 57.2 46.0 44.0 70.4
-เบียร์ 80.8 85.6 88.4 60.8 72.7 99.2
ปริมาณการจำหน่าย(ล้านลิตร)
-สุรา 69.0 69.3 75.0 79.4 75.2 80.0
-เบียร์ 180.2 172.3 196.8 144.5 145.3 197.8
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผลกระทบทางด้านผู้บริโภค ในปี 2552 กำลังซื้อของประชาชนมีการชะลอตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและของไทยที่ถดถอย ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานมากกว่า 1 ล้านคน ในขณะเดียวกัน ราคาพืชผลการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพาราที่เคยปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงในปี 2551 มีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2552 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยด้านการเมืองอีกด้วย ดังนั้นการขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาระภาษีที่ผู้ประกอบการจะผลักภาระมาให้ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ปานกลางถึงล่างที่กำลังแบกรับค่าครองชีพภายใต้กำลังซื้อที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มภาษีในครั้งนี้ หากพิจารณาในด้านดีจะพบว่า มีส่วนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนชะลอหรือลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพอนามัยแล้ว ยังช่วยทำให้ครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านนี้ลงในระยะยาวอีกด้วย

ผลกระทบทางด้านภาพรวมตลาด การขึ้นภาษีสรรพสามิตหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่าตลาดสามารถปรับตัวในระยะเวลาไม่นานนัก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง กำลังซื้อของประชาชนยังดี แต่สำหรับการขึ้นภาษีในครั้งนี้ระยะเวลาการฟื้นตัวของตลาดคาดว่า จะยาวนานกว่าเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยลดการใช้จ่ายในส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นลง อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งลดกิจกรรมการจัดงานประชุม งานเลี้ยงสังสรรค์ การทำกิจกรรมนอกบ้าน (เช่น ด้านบันเทิง สันทนาการ) และยิ่งมาถูกซ้ำเติมด้วยการปรับขึ้นภาษีเข้าด้วยแล้ว ผลกระทบจึงมีมากขึ้นตาม ซึ่งหากต้องการให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฟื้นตัว คงต้องฝากความหวังไว้กับความสำเร็จของภาครัฐในการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย

ผลกระทบด้านภาครัฐ กระทรวงการคลังได้ประเมินว่า การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ จะทำให้ภาครัฐมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 6,300 ล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ประชาชนลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงไปได้ระดับหนึ่ง และช่วยให้ภาครัฐลดภาระรายจ่ายด้านการรักษาผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุอันเป็นผลจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาครัฐควรระมัดระวังเป็นพิเศษภายหลังการปรับขึ้นภาษีดังกล่าว ได้แก่ ปัญหาด้านการลักลอบผลิตหรือนำเข้าสุราโดยหลีกเลี่ยงภาษีอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าพื้นที่ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้รัฐเก็บภาษีน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

กล่าวโดยสรุปแล้ว การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐในครั้งนี้ ด้านหนึ่ง จะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยชะลอหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัย และช่วยลดปัญหาการบาดเจ็บและการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นอันมาก ในขณะเดียวกัน ยังสามารถสร้างรายได้และแบ่งเบาภาระด้านการเงินของภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่การจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย ประการสำคัญ ยังช่วยลดแรงกดดันจากองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการลดการดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนลง สำหรับผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็คงจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดของธุรกิจด้วย เช่น การให้ความสนใจกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จับตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก อาทิ สุรา เบียร์และไวน์ราคาถูก เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ลดลง ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง สำหรับในส่วนของภาครัฐเอง ก็จำเป็นต้องสอดส่องและตรวจตราการผลิตหรือการลักลอบนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่เสียภาษี โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

. . .




 

Create Date : 07 พฤษภาคม 2552
2 comments
Last Update : 7 พฤษภาคม 2552 20:14:40 น.
Counter : 743 Pageviews.

 

. . .

ปตท.-บางจาก ปรับขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิด 60 สตางค์ต่อลิตรมีผลวันที่ 8 พ.ค. 52


บริษัทผู้ค้าน้ำมัน ปตท. และบางจาก ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิด 60 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้น E85 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. ส่งผลให้ราคาน้ำมันเป็นดังนี้

เบนซิน 91 อยู่ที่ 30.14 สตางค์ต่อลิตร
แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 26.34 สตางค์ต่อลิตร
แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 25.54 สตางค์ต่อลิตร
ดีเซล อยู่ที่ 23.39 สตางค์ต่อลิตร
ดีเซล บี 5 อยู่ที่ 20.39 สตางค์ต่อลิตร

. . .

 

โดย: loykratong 7 พฤษภาคม 2552 20:19:18 น.  

 

. . .


ธุรกิจร้านอาหารในประเทศปี 52 :
มูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท...หดตัวร้อยละ 3.0-4.0

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ท่ามกลางปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ และความกังวลถึงความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต ซึ่งส่งผลทำให้ผู้บริโภคต่างพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายประจำวัน ทั้งนี้เพื่อออมเงินไว้ใช้ในอนาคต หลากหลายธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยธุรกิจร้านอาหารก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้บริโภคลดความถี่ในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือถ้าออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวลดลง และเลือกร้านอาหารที่จะไปรับประทานมากขึ้น ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารลดลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารยังต้องเผชิญกับต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอาหารสด ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องเร่งปรับตัวเพื่อประคองตัวให้อยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศ...หดตัวร้อยละ 3.0-4.0
คาดการณ์ว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยในปี 2552 ลดลงเหลือประมาณ 194,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 3.0-4.0 เมื่อเทียบกับปี 2551 ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคลดความถี่ในการรับประทานอาหารนอกบ้าน และลดค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารนอกบ้านของคนไทย รวมกับค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารนอกบ้านของคนไทยเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 900 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารนอกบ้านของคนไทยในแต่ละครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนนั้นจะแตกต่างกันในแต่ละภาค กล่าวคือ กรุงเทพฯและปริมณฑล 2,00 บาท ภาคกลาง 1,000 บาท ภาคใต้ 700 บาท ภาคเหนือ 500 บาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศประมาณร้อยละ 18 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ หรือประมาณ 86,400 ล้านบาท
ในปี 2551 ร้านอาหารในประเทศมีจำนวน 58,549 ร้าน เมื่อเทียบกับปี 2550 แล้วจำนวนร้านอาหาร/ภัตตาคารลดลงร้อยละ 8.7 เนื่องจากมีร้านอาหารปิดกิจการ โดยเฉพาะร้านอาหารในต่างจังหวัด แยกเป็นร้านอาหารในกรุงเทพฯ 12,000 ร้าน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2550 แล้วใกล้เคียงกัน และร้านอาหารในต่างจังหวัด 46,549 ร้าน ลดลงร้อยละ 10.7 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปี 2552 นี้จำนวนร้านอาหารในประเทศมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปี 2551 เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากร้านจำหน่ายอาหารไทยด้วยกันเอง และร้านอาหารต่างประเทศที่เข้ามาขยายกิจการในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น ในขณะที่ต้นทุนการประกอบธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบอาหารสด และในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้บริโภคเน้นประหยัดโดยลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ทำให้คาดการณ์ว่าจำนวนร้านอาหารมีแนวโน้มปิดกิจการ โดยเฉพาะร้านอาหารรายย่อย และร้านอาหารหรูบางแห่งที่ทนแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว รวมทั้งการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรของร้านอาหารบริการด่วนบางแห่ง
จากการคาดการณ์ว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในประเทศในปี 2552 หดตัวร้อยละ 3.0-4.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งมีเพียงร้านอาหารต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังมีการเติบโตอย่างโดดเด่น ซึ่งแยกพิจารณาธุรกิจร้านอาหารในประเทศแยกตามประเภทได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

อัตราการขยายตัวของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารแยกรายประเภท
ส่วนแบ่งตลาด อัตราการขยายตัวปี 2551 อัตราการขยายตัวปี 2552
รายย่อย 70.0% +5.2% (+1.0%)-(+2.0%)
อาหารหรูและร้านอาหารต่างประเทศ 10.0% อาหารหรู -30.0%
อาหารต่างประเทศ +10.0%-15.0% อาหารหรู -50.0%
อาหารต่างประเทศ +3.0-5.0%
ร้านอาหารบริการด่วน 20.0% +5.0% +1.0%-2.0%
รวม 100.0% +5.0% (-3.0%)-(-4.0%)
จำนวนร้านอาหารในประเทศ -8.7% มีแนวโน้มลดลง
ที่มา : บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด


1.ร้านอาหารรายย่อย(ไม่รวมธุรกิจร้านจำหน่ายอาหารประเภทแผงลอยและรถเข็น) ธุรกิจร้านอาหารประเภทนี้เจ้าของกิจการจะเป็นนักลงทุนรายย่อย รวมถึงนักลงทุนรายใหม่ที่ต้องการลงทุนเปิดธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจร้านอาหารรายย่อยนี้ใช้เงินลงทุนในเบื้องต้นที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนในธุรกิจร้านอาหารประเภทอื่น และมีระยะเวลาในการคืนทุนค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับการลงทุนในธุรกิจร้านอาหารประเภทอื่น สัดส่วนตลาดของร้านอาหารรายย่อยในประเทศไทยประมาณร้อยละ 70.0 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารทั้งหมด และเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1-2 นับว่าลดลงจากในปี 2551 ที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.2 แม้ว่าร้านอาหารรายย่อยบางรายได้รับอานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่ผู้บริโภคบางส่วนจะลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน และผู้บริโภคบางส่วนที่ยังคงนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านก็ปรับพฤติกรรมหันไปเลือกรับประทานที่ร้านอาหารทั่วไปแทนการรับประทานในร้านอาหารต่างประเทศหรือร้านหรู
2.ร้านอาหารต่างประเทศและร้านอาหารหรู ธุรกิจร้านอาหารต่างประเทศ และร้านอาหารหรูมีสัดส่วนทางการตลาดร้อยละ 10.0 ของธุรกิจร้านอาหารในประเทศทั้งหมด โดยธุรกิจร้านอาหารต่างประเทศในไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น นอกจากนี้ ปัจจุบันร้านอาหารต่างประเทศที่กำลังมาแรงเช่นกันคือ ร้านอาหารเกาหลี และร้านอาหารอิตาเลี่ยน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาคาดว่าคงจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0-5.0 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมีการเติบโตที่โดดเด่นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และความกังวลต่อรายได้ในอนาคต ธุรกิจร้านอาหารต่างประเทศในไทยมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.0-15.0 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยังมีแรงหนุนให้เติบโตในอนาคต
ซึ่งบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจคนกรุงเทพฯที่เลือกลิ้มลองอาหารต่างชาติเมื่อต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน และสามารถจัดลำดับอาหารต่างชาติยอดนิยม 5 อันดับแรกได้ดังนี้ อาหารญี่ปุ่นครองอันดับหนึ่ง รองลงมาคืออาหารจีน อาหารอเมริกัน อาหารเวียดนาม และอาหารอิตาเลี่ยน คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยยังจะขยายตัวได้อีกค่อนข้างมาก
ปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย คือ การปรับรสชาติอาหารให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การเลือกทำเลให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย การประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรับรู้ข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้อง และการมีบุคลากรระดับบริหารที่มีความรู้ความเข้าใจ นอกจากนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จต้องมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพของอาหาร โดยเฉพาะความสดใหม่ของอาหาร เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของอาหารญี่ปุ่น รวมทั้งเน้นบริการที่ดีเยี่ยมเป็นที่ประทับใจของลูกค้า ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์ที่มีอยู่ในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ในปี 2552 องค์กรส่งเสริมร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ (Organization to Promote Japanese Restaurants Aboard หรือ JRO) ที่มีหน้าที่สนับสนุนร้านอาหารญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการในต่างประเทศสำหรับในประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัว JRO เป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เพื่อเป็นการสนับสนุนร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีอยู่มากกว่า 1,000 แห่ง หรือประมาณ 500 บริษัทที่อยู่ในประเทศไทย โดยมีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ด้วยการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอย่างหลากหลาย เช่น การวิเคราะห์ประเด็นปัญหาจากแบบสอบถามที่ได้จัดทำขึ้นเอง การจัดสัมมนาเกี่ยวกับการบริการธุรกิจ วิธีการประกอบอาหารญี่ปุ่นที่ถูกต้องเพื่อรักษารสชาติดั้งเดิม การควบคุมอนามัย วิธีการจัดส่งอาหารหรือวัตถุดิบของญี่ปุ่น การจัดทำแผนเพื่อหาทางออกให้กับผู้ประกอบการในสภาวะเศรษฐกิจที่เข้มงวด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคอาหารญี่ปุ่นได้รับประโยชน์สูงสุด คาดการณ์ว่าอีก 3 ปี (ปี 2555) จะสามารถผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางร้านอาหารญี่ปุ่นในระดับภูมิภาคเอเชีย
ส่วนร้านอาหารหรูหรือร้านอาหารระดับบนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างมากคาดว่าในปี 2552 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2552 ยอดจำหน่ายมีแนวโน้มลดลงสูงถึงร้อยละ 50.0 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องจากในปี 2551 ที่ยอดจำหน่ายลดลงประมาณร้อยละ 30.0 เนื่องจากผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันไปรับประทานอาหารในร้านอาหารรายย่อยมากขึ้น หรือลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการรับประทานต่อครั้งลง หรือการลดความถี่ในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าหลักของร้านอาหารระดับบน โดยเฉพาะร้านอาหารในโรงแรม
3.ร้านอาหารประเภทบริการด่วน(Quick Service Restaurant) ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารประเภทนี้มีการเติบโตในอัตราสูงสุดในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย คาดการณ์ว่าสัดส่วนตลาดของธุรกิจประเภทนี้ประมาณร้อยละ 20.0 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย และเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0-2.0 โดยตลาดของธุรกิจร้านอาหารประเภทนี้เกือบร้อยละ 90.0 เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเป็นฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ร้อยละ 40.0 แฮมเบเกอร์ร้อยละ 20.0 พิซซ่าร้อยละ 15.0 ไอศกรีมร้อยละ 10.0 และอื่นๆร้อยละ 15.0 ปัจจุบันในประเทศไทยมีสาขาร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์กว่า 1,000 แห่ง ส่วนธุรกิจร้านอาหารประเภทบริการด่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 10.0 นั้นเป็นธุรกิจอาหารนานาประเภท

เข้มงวดด้านคุณภาพและสุขอนามัย...ส่งเสริมธุรกิจร้านอาหาร
นโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารคือ การรณรงค์เผยแพร่ภาพลักษณ์ด้านคุณภาพ และมาตรฐานด้านสุขอนามัยของร้านอาหาร ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่อความปลอดภัยด้านอาหารเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบไปจนกระทั่งอาหารถึงมือผู้บริโภค ซึ่งร้านอาหารนั้นอยู่ในขั้นตอนของการปรุงและจำหน่าย มาตรการตรวจสอบสถานที่จำหน่ายอาหารแยกเป็นร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร และรถเร่จำหน่ายอาหาร ในปัจจุบันจำนวนสถานที่จำหน่ายอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนหันมาประกอบธุรกิจด้านการจำหน่ายอาหารมากขึ้น
จากการสำรวจมาตรฐานร้านอาหารในปี 2551 ของกองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่าจากจำนวนร้านอาหารทั้งหมดที่ได้มีการสำรวจ ปรากฏว่ามีร้านอาหารที่ได้มาตรฐานและได้รับป้าย Clean Food Good Taste ร้อยละ 68.8 ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับในปี 2547 ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 29.4 เท่านั้น แต่เมื่อเทียบกับในปี 2550 แล้วนับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ในปี 2550 จำนวนร้านอาหารที่ได้มาตรฐานและได้รับป้าย Clean Food Good Taste คิดเป็นร้อยละ 68.1
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่าการเข้ามาจัดระเบียบร้านอาหารนี้จะเป็นแนวคิดที่พลิกโฉมหน้าธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย เนื่องจากเมื่อก่อนคนส่วนใหญ่จะคิดว่าเมื่อไม่ทราบว่าจะทำธุรกิจอะไรก็จะเปิดร้านอาหาร เพราะเข้าใจว่าการเข้ามาลงทุนในธุรกิจร้านอาหารค่อนข้างง่าย ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ราชการจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาควบคุม แต่หลังจากมีการเข้มงวดในเกณฑ์มาตรฐานของร้านอาหารแล้วความคิดนี้จะเปลี่ยนไป เพราะการจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะมีการดำเนินการ และขั้นตอนที่เป็นระเบียบเข้มงวดมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ปรุง และผู้จำหน่ายอาหารจะต้องได้มาตรฐานในเรื่องความสะอาด จึงจะได้รับใบอนุญาต รวมทั้งการเปิดธุรกิจร้านอาหารจะต้องมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องว่าเป็นร้านอาหาร ซึ่งจะมีผลในการควบคุมมาตรฐานในด้านสุขอนามัยที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค เนื่องจากความไม่สะอาดและไม่ปลอดภัยของอาหารส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยจะเห็นได้จากอัตราป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่ไม่มีการควบคุมมาตรฐานด้านสุขอนามัยอย่างจริงจัง

แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารในประเทศ...ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว
ท่ามกลางหลากปัญหาที่รุมเร้าที่ทำให้ยอดจำหน่ายของธุรกิจ จากการที่ผู้บริโภคเน้นประหยัด อันเป็นเนื่องจากความกังวลต่อรายได้ในอนาคต รวมทั้งผู้บริโภคมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัว โดยการงัดสารพัดกลยุทธ์มาล่อใจลูกค้า
-คุณภาพและความคุ้มค่า แนวทางการปรับตัวที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการให้คุณภาพและความคุ้มค่ากับลูกค้า ซึ่งแม้ว่าธุรกิจร้านอาหารจะได้รับผลกระทบจากหลากหลายปัญหารุมเร้า หรือได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากหรือน้อยก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารจะต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพอาหาร โดยการสร้างมาตรฐานภายในทั้งด้านสินค้าและทรัพยากรบุคคล การใช้กลยุทธ์แค่ลด แลก แจก แถมอย่างเดียวคงจะไม่ประสบความสำเร็จ ต้องพยายามศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า และผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า
นอกจากนี้ การรักษาคุณภาพของอาหารนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง เนื่องจากในปัจจุบันมีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเปิดโอกาสให้กับผู้บริโภคเรียกร้องค่าเสียหายจกาการบริโภคอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งถ้าผู้ประกอบการร้านอาหารรายใดมีปัญหาในเรื่องคุณภาพของอาหารส่งผลกระทบต่อธุรกิจและชื่อเสียงของร้าน ดังนั้นการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แบรนด์ของร้านด้วย โดยเฉพาะความเข้มงวดในการจัดการภายในและความเข้มงวดในการคัดเลือกซัพพลายเออร์
ในส่วนของความคุ้มค่านั้นเป็นแนวคิดที่บรรดาผู้ประกอบการทุกค่ายหันมาให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่พิจารณาความคุ้มค่านี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น แนวคิดนี้นับว่าเป็นการปรับตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจของร้านอาหารหรู โดยหันมาเน้นราคาอาหารไม่แพง แต่ยังคงระดับความเป็นร้านอาหารหรูไว้ ส่วนร้านอาหารรายย่อยซึ่งเป็นทางเลือกของลูกค้านอกจากจะเน้นเมนูประหยัดแล้ว ยังต้องรักษาความสะอาดและสุขอนามัยทั้งตัวร้าน พนักงานภายในร้าน ผู้ปรุงอาหาร และอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงเครื่องปรุงรส ทั้งนี้เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าให้กลับมาใช้บริการในครั้งต่อไป
-การสร้างนวัตกรรม เดิมนั้นการตัดสินใจเข้ามาใช้บริการร้านอาหารของผู้บริโภค ก็คือ แบรนด์เป็นที่รู้จัก สินค้ามีคุณภาพ การตกแต่งร้านหรือบรรยากาศดี แต่ปัจจุบันการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารต้องคิดกลยุทธ์ที่ลึกซื้งและเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าเพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด เช่น การคิดเมนูใหม่เพื่อลดความจำเจ การเดินเกมรุกให้บริการที่ถึงตัวลูกค้ามากขึ้น โดยให้บริการจัดส่งนอกสถานที่ การจัดเลี้ยงนอกสถานที่ การเปิดร้านที่มีขนาดเล็กลงเพื่อให้บริการลูกค้าได้ทั่วถึงมากขึ้น เป็นต้น การสร้างความตื่นเต้นแปลกใหม่เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ แนวคิดการแต่งร้านให้เหมือนกันในร้านอาหารประเภท Chain Restaurant เพื่อสร้างการจดจำของลูกค้าเป็นแนวคิดที่ไม่ทันสมัยแล้ว ปัจจุบันจะเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารที่มีชื่อเสียงนั้นจะตกแต่งร้านด้วยแนวคิดที่สร้างความแตกต่าง เพื่อให้ลูกค้าจดจำร้านได้มากกว่า หรือการตกแต่งร้านเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เช่น ตกแต่งร้านให้มีบรรยากาศอบอุ่น และใช้สีสันสดใส เพื่อให้ลูกค้าผ่อนคลาย เมื่อเข้ามาใช้บริการแล้วรู้สึกเหมือนรับประทานอาหารที่บ้านกับครอบครัว เป็นต้น ตลอดจนแนวคิดการตกแต่งร้านด้วยรูปแบบที่แปลกใหม่ และแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละร้าน แม้ว่าจะเป็น Chain Restaurant ก็ตาม รวมทั้งเพิ่มบริการเสริมอื่นๆ เช่น การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น
-การรักษาฐานลูกค้า ผู้ประกอบการร้านอาหารแต่ละรายต้องพยายามหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาฐานลูกค้า เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องพยายามทำให้ลูกค้านึกถึงก่อนรายอื่นๆ หรือการเข้าไปอยู่เป็นทางเลือกลำดับแรกของลูกค้า
-การซื้อกิจการหรือซื้อแบรนด์ใหม่ การซื้อกิจการหรือซื้อแบรนด์ใหม่นั้นยังเป็นช่องทางการขยายตลาดของธุรกิจร้านอาหาร โดยเน้นการสร้างความหลากหลายของประเภทอาหาร ทั้งเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นคือ ต้องเป็นกิจการหรือแบรนด์ที่สามารถเติบโตได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา หรือเป็นธุรกิจเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักเดิม
-การปรับองค์กรให้กระชับขึ้น ธุรกิจร้านอาหารบางแห่งหันมาใช้กลยุทธ์การปรับองค์กรให้กระชับขึ้น โดยยึดหลักว่าใช้พนักงานให้น้อยที่สุด เช่น การปรุงอาหารใช้ครัวกลางเป็นหลักหรือทำให้เสร็จเรียบร้อยไปแล้วร้อยละ 80-90 เมื่อไปถึงหน้าร้านแต่ละแห่งก็มีขั้นตอนเพิ่มเพียงการใส่ผัก ใส่เนื้อสัตว์เท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถลดจำนวนพนักงานในแต่ละร้าน และพนักงานหน้าร้านก็ไม่ต้องใช้พนักงานที่มีความชำนาญสูงมากนัก รวมทั้งยังสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการช่วยรับคำสั่งของลูกค้าอีกด้วย

บทสรุป
มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนได้เปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดความถี่ในการบริโภคอาหารนอกบ้าน ในขณะที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังคงนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านก็ปรับพฤติกรรมหันไปเลือกรับประทานที่ร้านอาหารทั่วไปแทนการรับประทานในร้านอาหารต่างประเทศหรือร้านหรู แม้ว่าจะมีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังคงพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านไว้ โดยยังคงไปรับประทานที่ร้านที่โปรดปราน แต่หันไปปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในด้านอื่นๆแทน รวมทั้งบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในด้านความสนใจในเรื่องสุขภาพและการประหยัดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย
ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหม่ทยอยเข้ามาในตลาด โดยเฉพาะในตลาดร้านอาหารรายย่อย อันเป็นผลมาจากการลงทุนไม่สูงมากนัก และระยะเวลาในการคืนทุนค่อนข้างสั้น ส่วนร้านอาหารต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี และอิตาเลี่ยนก็มีผู้ประกอบการรายใหม่ทยอยเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด นอกจากต้องจับตาการปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือมาตรการจัดระเบียบร้านอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการความปลอดภัยด้านอาหารก็นับว่าเป็นมาตรการที่น่าจับตามอง เนื่องจากจะเป็นมาตรการที่จะพลิกโฉมธุรกิจร้านอาหารในประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง


*********************************************

 

โดย: loykratong 7 พฤษภาคม 2552 20:24:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.