กรกฏาคม 2549

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
ความปลื้มปีติที่ยังคงอยู่ในใจเลซอง

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 2 กรกฎาคม 2549

แม้ช่วงเวลาอันแสนปลาบปลื้มใจของพสกนิกรชาวไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทว่ากลิ่นอายแห่งความปีติปรีดายังคงกรุ่นอยู่ในจิตใจประชาชนคนไทยจวบจนทุกวันนี้ งานเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ผ่านพ้นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยัง ได้ถูกเผยแพร่เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ไปทั่วทุกมุมโลก

หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกหมู่เหล่าต่างระดมสรรพกำลังในทุกๆ ด้าน เพื่อให้การจัดพระราชพิธีการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำเร็จลุล่วงอย่างที่ไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่องเป็นอันขาด

ควรทราบว่าองค์พระประมุข และตัวแทนพระองค์ที่เสด็จฯ มาร่วมงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีทั้ง 25 ราชวงศ์นั้น แต่ละพระองค์ต้องมี “เลซอง (Liaison) หรือ เจ้าหน้าที่ประสานงาน” ประจำทุกพระองค์ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่พระประมุข ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ในเมืองไทย ตั้งแต่เสด็จฯ ลงจากเครื่องบินกระทั่งส่งเสด็จนิวัติประเทศ

โดยเลซองทุกคนที่ผ่านการคัดเลือกย่อมมีดีกรีที่ไม่ธรรมดา แต่เป็นระดับเอกอัครราชทูต ผู้อำนวยการกองต่างๆ จากกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งยัง เคยผ่านงานสำคัญระดับผู้นำประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศมาแล้ว

นอกจากรับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานประจำองค์พระประมุขแล้ว ยังต้องคอยดูแลความสะดวกเรียบร้อยตลอดเวลาที่ประทับอยู่เมืองไทย จึงเรียกได้ว่ามีโอกาสถวายงานแด่พระราชอาคันตุกะอย่างใกล้ชิด...จึงขอถือโอกาสนำเรื่องราวประทับใจของเลซองที่ได้บอกเล่าพระจริยวัตรอันงดงามของพระราชอาคันตุกะ มาถ่ายทอดให้ประชาชนคนไทยได้ปลาบปลื้มกัน



เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งราชรัฐโมนาโก


พิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 3 กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงต่างประเทศ ได้รับภารกิจเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานประจำพระประมุขแห่งราชรัฐโมนาโก ด้วยเคยผ่านประสบการณ์เป็นเจ้าหน้าที่เลซองในงานประชุม ASEM Summit ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2539 ย่อมการันตีความสามารถในการประสานงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นอกจากนี้ ยังมีผู้ช่วยเลซองคนเก่ง ขนิษฐา มงคลยุทธ เลขานุการโท กรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศ ที่ชำนาญในการใช้ภาษาฝรั่งเศส ทั้งยัง ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศโมนาโกเป็นอย่างดี มาช่วยปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงอย่างเต็มภาคภูมิ

ผ.อ. พิรุณ เล่าว่า เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ทรงเคยเสด็จฯ มาเยือนเมืองไทยเมื่อ 10 ปีก่อนขณะนั้นยังคงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะครั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ได้ถวายงานแด่เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และมิได้ถวายงานอย่างใกล้ชิด แต่สังเกตเห็นว่า พระองค์ทรงโปรดแทบจะทุกอย่างในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น อาหารคาว-หวาน, ผลไม้, วัฒนธรรม และอัธยาศัยของคนไทย ทรงเป็นกันเองและมีพระอัธยาศัยดีกับทุกคน

หากกล่าวถึงความประทับพระทัยของเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ในการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคงเป็นวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่พระราชอาคันตุกะได้ทอดพระเนตรขบวนเรือพระราชพิธี ที่ราชนาวิกสภา ได้ทราบจากนายตำรวจเกียรติยศ ซึ่งนั่งมาในรถไฟฟ้าพระที่นั่งพร้อมกับเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ที่หอประชุมกองทัพเรือว่า “พระองค์ทรงอิ่มเอมพระทัยมากถึงขั้นคลอเพลงเบาๆ อย่างมีความสุข”

“ขณะเสด็จฯ ออกจากราชนาวิกสภา พระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชนสองข้างทางที่มาเฝ้าฯ ถวายการต้อนรับจำนวนมาก เพียงเท่านี้พระองค์ก็ทรงเข้าพระทัยแล้วว่า คนไทยรักพระเจ้าอยู่หัวมากขนาดไหน และพระองค์ยังทรงโบกพระหัตถ์ทักทายกับประชาชนด้วย” พิรุณถ่ายทอดความประทับพระทัยของพระประมุขแห่งราชรัฐโมนาโก


มกุฎราชกุมารโฮกุ้น-มกุฎราชกุมารีเมตเต-มาริด แห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์


นพพร อัจฉริยวณิช ผู้อำนวยการกองอาเซียน 1 กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ บอกว่า แม้การรับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน (liaison-เลซอง) ในคราวนี้ไม่ใช่ครั้งแรกก็ตาม แต่ความตื่นเต้นที่ได้ถวายงานพระราชอาคันตุกะเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานประจำองค์มกุฎราชกุมารโฮกุ้น กับมกุฎราชกุมารีเมตเต-มาริด แห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ซึ่งเสด็จฯ พร้อมเจ้าชายสแวร์เร แมกนัส พระชันษา 8 เดือนยังเป็นความปลาบปลื้มในชีวิตเป็นยิ่งนัก

ผ.อ. นพพร บอกที่มาก่อนได้รับเลือกเป็นเลซองว่า เมื่อ10 ปีก่อนเคยมีประสบการณ์เป็นเลซองในงานการประชุม ASEM Summit ครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2539 โดยเป็นเลซองให้กับประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ แห่งประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับการเป็นเลซองคราวนี้ อาจเป็นเพราะเคยทำงานที่สถานเอกอัคราชทูตไทยในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เป็นเวลาเกือบ 5 ปี มีความคุ้นเคยกับประเทศนอร์เวย์เป็นอย่างดี จึงได้รับมอบหมายจากกระทรวงต่างประเทศ ให้รับหน้าที่เลซอง ถวายงานมกุฎราชกุมาร และมกุฏราชกุมารี แห่งนอร์เวย์

“ชาวนอร์เวย์มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ สนใจในวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศต่างๆ โดยไม่คำนึงว่าจะต้องพบเจอความลำบากหรือไม่ แต่เขาจะมองว่าเป็นความแปลกตา แปลกใจที่น่าสัมผัส ที่สำคัญชาวนอร์เวย์ให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก ผู้หญิงนอร์เวย์ส่วนใหญ่จะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ประมาณ 1 ปี โดยทางรัฐบาลนอร์เวย์มีกฎหมายให้แม่สามารถลางานได้ถึง 1 ปีเพื่อไปดูแลลูก ที่สำคัญในช่วงระยะเวลาที่ลางาน แม่ยังได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือนตามปกติด้วย” เลซองนอร์เวย์ให้ข้อมูลเบื้องต้น

ฉะนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า การเสด็จฯ เยือนเมืองไทยในครั้งนี้ของมกุฎราชกุมารโฮกุ้น และมกุฎราชกุมารีเมตเต-มาริต นอกจากการเสด็จฯ มาร่วมในพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้ว ในเวลาที่ทรงว่างเว้นจากพระราชภารกิจ ทั้งสองพระองค์จึงให้ความสนพระทัยในชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น โดยในช่วงเช้าของวันที่ 13 มิ.ย. ทรงเสด็จฯ ประพาสทางน้ำด้วยเรือหางยาวไปตามคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ คลองมอญ เพื่อทอดพระเนตรชีวิตชาวบ้านริมสองฝั่งคลอง

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับครอบครัวของทั้งสองพระองค์ยังถ่ายทอดผ่านการแสดงความรัก ความเอาใจใส่ และความผูกพันระหว่างทั้ง 3 พระองค์ด้วย ร.ต. กิตินัดดา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่การทูต 5 กองอาเซียน 1 ในฐานะผู้ช่วยเลซอง ยังบอกถึงพระอิริยาบถน่ารักของทั้งสามพระองค์ว่า “ทั้งมกุฎราชกุมาร และมกุฎราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับพระโอรสมาก หากต้องเสด็จฯ ไปที่ใดเป็นเวลานาน ทั้งสองพระองค์จะต้องเสด็จฯ กลับมาดูแลพระโอรสเสมอ และมกุฎราชกุมารี ยังทรงป้อนพระกษีรธาราแก่พระโอรสด้วยพระองค์เอง แม้ว่าจะมีพระพี่เลี้ยงมาคอยดูแลพระโอรส แต่ทั้งสองพระองค์ยังทรงโปรดที่จะดูแลพระโอรสที่มีพระชันษาเพียง 8 เดือนด้วยพระองค์เอง สังเกตเห็นได้ว่าเจ้าชายสแวร์เร แมกนัสทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ และทรงร่าเริงมาก”

ผ.อ. นพพร กล่าวเสริมอีกว่า มกุฎราชกุมารโฮกุ้น และมกุฎราชกุมารีเมตเต-มาริต ยังแสดงความใส่พระทัยซึ่งกันเป็นอย่างยิ่ง สังเกตได้จากทุกครั้งก่อนเสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่ง มกุฎราชกุมารีเมตเต-มาริตจะทรงดูแลความเรียบร้อยของพระภูษาให้กับมกุฎราชกุมารโฮกุ้นเสมอ ซึ่งเป็นพระอิริยาบถน่ารักของสองพระองค์ ที่คณะผู้ถวายงานประทับใจเป็นที่สุด

ส่วน ศิรินภา สินพัฒนานุกูล เจ้าหน้าที่การทูต 4 กองอาเซียน 1 ในฐานะผู้ช่วยเลซองอีกคนหนึ่ง บอกว่า “ประทับใจในพระจริยวัตรที่เป็นกันเองของทั้งสองพระองค์ หากเป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์แล้วทรงโปรดความเรียบง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากนัก อีกทั้งเมื่อเสด็จฯ ไปที่ใดก็ไม่ทรงโปรดให้มีขบวนเสด็จฯ ยาว และยังทราบมาว่าสำหรับราชองครักษ์นอร์เวย์ที่คอยอารักขาพระองค์ ยังไม่ทรงโปรดให้ใส่เครื่องแบบด้วยซ้ำ”

ผ.อ. นพพร ยังได้กล่าวถึงความประทับพระทัยของทั้งสองพระองค์ต่อประชาชนชาวไทย และในหลวงของเราว่า “ในวันที่เสด็จฯ กลับจากการทอดพระเนตรขบวนเรือพระราชพิธีที่ราชนาวิกสภา มกุฎราชกุมารโฮกุ้น และมกุฎราชกุมารีเมตเต-มาริตได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก มารอรับเสด็จฯ ริมถนนตั้งแต่ถนนอรุณอัมรินทร์เรื่อยไปจนถึงถนนราชดำเนิน จึงเข้าใจและซาบซึ้งถึงความจงรักภักดีที่ประชาชนคนไทยมีต่อพระเจ้าอยู่หัวของเรา”

และก่อนเสด็จฯ ประทับเครื่องบินพระที่นั่งกลับยังประเทศนอร์เวย์ทั้งสองพระองค์ได้ตรัสกับท่านทูตจิตริยา ปิ่นทอง เอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศนอร์เวย์ว่า “ทรงประทับใจในงานพระราชพิธีครั้งนี้เป็นอย่างมาก”



มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน


ภัทราวรรณ เวชชศาสตร์ ผู้อำนวยการกองสนเทศเศรษฐกิจ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเลซองมกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน โดยเคยผ่านการเป็นผู้ช่วยเลซองประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีแห่งบรูไน ตอนเสด็จตามพระสวามีมาทรงร่วมประชุม APEC ที่เมืองไทย

ผ.อ. ภัทราวรรณ บอกเล่าความรู้สึกเมื่อได้ทราบว่า ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานให้กับมกุฎราชกุมารภูฏานว่า “ครั้งแรกที่ได้เห็นพระฉายาลักษณ์ของเจ้าชายจิกมียังคิดเลยว่า พระองค์ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม และมีพระชันษาไม่มาก ซึ่งใน 2 ปีข้างหน้า มกุฎราชกุมารจิกมีกำลังจะได้ขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดาด้วย แสดงว่าพระองค์ต้องทรงเปี่ยมล้นด้วยพระอัจฉริยภาพอย่างแน่นอน”

เป็นที่ทราบกันดีว่ามกุฎราชกุมารแห่งภูฏานเสด็จฯ มาเยือนประเทศไทยบ่อยครั้ง ส่วนครั้งนี้นอกจากเสด็จฯ มาในฐานะพระราชอาคันตุกะแล้ว ยังทรงมีพระราชประสงค์ เสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เจ้าชายจิกมีมีความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะนำโครงการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ยังประเทศภูฏานต่อไป แต่ด้วยความที่เวลามีจำกัด โปรแกรมที่จัดไว้จึงมิได้เป็นไปตามหมายกำหนดการ ซึ่งเจ้าชายจะเสด็จฯ จะมาเยือนเป็นการส่วนพระองค์อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้

เลซองบอกเล่าพระจริยวัตรของเจ้าชายจิกมีเพิ่มเติมอีกว่า ในวันที่พระองค์ไม่มีหมายกำหนดการเสด็จฯ ไปที่ใด เมื่อทรงประทับอยู่ที่โรงแรม พระองค์ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถด้วยการว่ายน้ำ หรือทรงงานอยู่ห้องที่ประทับเป็นส่วนใหญ่

แต่หากให้บอกเล่าถึงพระอิริยาบถน่ารักๆ คงบรรยายไม่หมด อย่างเมื่อวันที่มีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จฯ อยู่บริเวณหน้าโรงแรม มีเด็กผู้ชายมากับแม่ ยืนรอรับเสด็จฯ อยู่ด้วย จริงๆ พระองค์เสด็จฯ ผ่านไปแล้ว แต่ทรงสังเกตเห็นว่าเด็กน้อยยืนมองตามพระองค์ จึงทรงเสด็จฯ กลับมาจับมือกับเด็กคนนั้น

“เหตุการณ์ประทับใจที่ได้เห็นพระอัธยาศัยที่ดีกับทุกๆ คน คงเป็นเมื่อครั้งพระองค์ทรงเสด็จฯ พักผ่อนพระอิริยาบถที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการส่วนพระองค์ และกำลังจะเสด็จฯ กลับมากรุงเทพฯ ขณะที่พระองค์เสด็จฯ ถึงสนามบินภูเก็ต ปรากฏว่ามีเด็กนักเรียนมาถวายดอกไม้ และตัวผ้ารองซึ่งเป็นงานฝีมือ จากนั้นเด็กก็อธิบายให้พระองค์ฟังว่าสิ่งที่นำมาถวายเป็นงานฝีมือ พระองค์ก็ทรงหยุดฟัง และพระราชทานวโรกาสฉายภาพเป็นที่ระลึกกับเด็กๆ ด้วย ซึ่งเด็กๆ แสดงภาษามือที่เป็นสัญลักษณ์ว่า ฉันรักเธอ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นก็ทำพระหัตถ์เป็นสัญลักษณ์ ฉันรักเธอ ไปกับเด็กๆ ด้วย” ผ.อ.ภัทราวรรณ บอกเล่าเหตุการณ์

นอกจากนี้ พระองค์ทรงห่วงใยผู้ที่ถวายงานให้กับพระองค์ทุกคน ตรัสเสมอว่า ขอบใจ และให้ไปพักผ่อน เหนื่อยกันมาทั้งวันแล้ว ทั้งยังได้เห็นพระจริยวัตรที่งดงาม พระอิริยาบถที่เป็นกันเอง และมีน้ำพระทัยแก่ผู้ถวายงานเป็นอย่างมาก ยังความประทับใจอย่างล้นเหลือ

ในวันก่อนที่จะเสด็จฯ กลับประเทศภูฏาน เจ้าชายจิกมี ทรงพระราชทานวโรกาสให้คณะผู้ถวายงานได้ฉายภาพเป็นที่ระลึก เป็นกลุ่มๆ ไป สำหรับคณะของกระทรวงต่างประเทศ พระองค์ทรงรับสั่งว่า ตั้งแต่พระองค์เป็นเด็ก ก็เคยมีเพื่อนเป็นคนไทย และได้รู้จักในหลวงของเรา ซึ่งพระองค์ก็ได้ติดตามพระราชกรณียกิจต่างๆ ของในหลวงมาตลอด ทั้งยัง มีพระราชประสงค์ที่จะนำโครงการในพระราชดำริไปเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาประเทศภูฏานต่อไป นอกจากนี้ ยังมีรับสั่งต่อไปว่าอยากให้ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งในระดับประเทศ และระดับประชาชน

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตไทยประจำภูฏานบอกว่า ก่อนเสด็จฯ กลับเจ้าชายทรงรับสั่งด้วยว่า “พระองค์ทรงพอพระทัยมากในการเดินทางครั้งนี้ อีกทั้งการเสด็จฯ มาเยือนเมืองไทยครั้งนี้ยังทำให้คนไทย และชาวโลกได้รู้จักภูฏานมากขึ้นด้วย”



เจ้าหญิง ลัลลา ซัลมา เบนนานี แห่งโมร็อกโก


ศริกานต์ พลมณี รักษาการผู้อำนวยการกองส่งเสริมเศรษฐศาสตร์ และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เล่าความรู้สึกที่มีโอกาสได้ทำงานอันเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตว่า “รู้สึกดีใจที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน (liaison-เลซอง) ถวายงานแด่พระราชอาคันตุกะ และไม่ว่าจะได้เป็นเลซองของประเทศใดก็รู้สึกปลื้มใจที่ได้รับหน้าที่นี้”

ศริกานต์ บอกประสบการณ์การเป็นเลซองว่า “เมื่อ 16-17 ปีก่อนเคยเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน หรือ เลซองของกรมพิธีการทูต ประจำกองรับรอง มีหน้าที่ดูแล และต้อนรับแขกของรัฐบาล และพระราชอาคันตุกะของพระเจ้าอยู่หัว จึงมีประสบการณ์การเป็นเลซองมาไม่น้อย นอกจากนี้ ระหว่างที่ย้ายไปทำงานประจำที่ต่างประเทศยังได้ทำหน้าที่เป็นเลซองเพื่อประสานงานยามที่พระราชวงศ์ของประเทศไทยเสด็จฯ ไปเยือนยังต่างประเทศด้วย”

จากนั้นเจ้าหน้าที่ประสานงานของพระราชอาคันตุกะโมร็อกโก ได้บอกขั้นตอนในการเตรียมตัวเป็นเลซองของเจ้าหญิง ลัลลา ซัลมา เบนนานีว่า “เมื่อได้ทราบว่าต้องเป็นเลซองให้กับเจ้าหญิงแห่งโมร็อกโก ขั้นแรกต้องเตรียมศึกษาข้อมูลของประเทศโมร็อกโก และเตรียมหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติส่วนพระองค์ของเจ้าหญิง ลัลลา ซัลมา เบนนานี ให้มากที่สุดว่าพระองค์ทรงโปรดอะไรบ้าง หรือพระองค์ทรงเคยเสด็จฯ เมืองไทยบ้างหรือเปล่า ถ้าเคยเสด็จฯ มาแล้วครั้งนั้นพระองค์เสด็จฯ ไปยังที่ใดบ้าง ทรงให้ความสนพระทัยสิ่งใดเป็นการส่วนพระองค์ ไปจนถึงกิจกรรมที่ทรงโปรดขณะอยู่ในประเทศของพระองค์ด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาจัดเป็นหมายกำหนดการ เพื่อนำเสนอให้กับพระองค์ว่าพอพระทัยหรือไม่”

เลซองโมร็อกโก บอกเล่าหมายกำหนดการเสด็จฯ เยือนสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยที่จัดถวายแด่เจ้าหญิงว่า “สำหรับกิจกรรมที่เสนอไปมีหลายกิจกรรม แต่ด้วยความที่เวลาในการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยมีจำกัด ดังนั้น เจ้าหญิงจึงทรงสนพระทัยเฉพาะบางกิจกรรมที่สามารถนำไปเป็นประโยชน์กับประเทศโมร็อกโกได้ เช่น พระองค์ทรงเป็นประธานมูลนิธิเกี่ยวกับโรคมะเร็งในประเทศโมร็อกโก จึงได้เสนอให้ไปทอดพระเนตรมูลนิธิเกี่ยวกับโรคมะเร็งในประเทศไทย เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นต้น ซึ่งในที่สุดพระองค์ทรงไม่มีเวลาเสด็จฯ ไป แต่แม้ว่าจะไม่ได้ไปเยี่ยมชมศูนย์มะเร็งแต่พระองค์ยังทรงรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์กลับไปยังโมร็อกโกด้วย

นอกจากนี้ เจ้าหญิงยังทรงสนพระทัยงานด้านหัตถกรรมไทย จึงได้จัดโปรแกรมไปทอดพระเนตร ศูนย์ศิลปาชีพ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในวังสวนจิตรลดา ทรงโปรดผ้าไหมไทยมาก ทั้งยัง ทรงสนพระทัยฉลองพระองค์ที่ตัดจากผ้าไหม โดยสีที่ทรงโปรดจะเป็นสีอ่อนๆ เท่านั้น”

ไม่เพียงเท่านี้ เจ้าหญิงลัลลา ยังสนพระทัยเรื่องแหล่งชอปปิงของคนกรุงเทพฯ ประชาชนคนไทยจึงได้ชื่นชมพระสิริโฉมเมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรตลาดนัดสวนจตุจักรเป็นการส่วนพระองค์ “เจ้าหญิงลัลลาทรงมีพระประสงค์ทอดพระเนตรชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ ว่า มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และตลาดแบบไทยๆ ที่คนต่างชาตินิยมมาเที่ยวนั้นเป็นอย่างไร ทั้งยังทรงโปรดถ้วยชามเบญจรงค์ ซึ่งลวดลายของถ้วยโถ โอชามเบญจรงค์ของไทยยังมีลวดลายขลิบทองคล้ายกับของโมร็อกโกด้วย และทรงเลือกซื้อกลับไปโมร็อกโกด้วย” เลซองโมร็อกโกกล่าว

เจ้าหญิงลัลลายังรับสั่งถึงความรู้สึกในการเสด็จมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ผ่านเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศโมร็อกโกว่า พระองค์ทรงพอพระทัยในการจัดงานที่มีการเตรียมการอย่างดีเยี่ยม แม้จะเป็นสิ่งละอันพันละน้อย ยังจัดเตรียมได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เอาใจใส่แม้ในรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งทางผู้เตรียมงานทางฝ่ายไทยได้จัดไว้ให้ทุกอย่าง

โดยเฉพาะ ยามที่พระองค์ประทับรถยนต์พระที่นั่ง และทอดพระเนตรเห็นคนไทยนั่งโบกธงชาติไทยอยู่ริมสองข้างทางถนนที่เสด็จฯ ผ่าน พระองค์จะโบกพระหัตถ์ และแย้มพระสรวลกลับไปให้ พร้อมได้ตรัสถามนายตำรวจเกียรติยศว่า ประชาชนพูดว่าอะไร นายตำรวจเกียรติยศจึงตอบกลับไปว่า “ทรงพระเจริญ”

ศริกานต์ เล่าความประทับใจว่า แม้ว่าเจ้าหญิงจะมีพระอิริยาบถที่เรียบง่าย เป็นกันเอง แต่พระองค์จะทรงระมัดระวังพระองค์เป็นพิเศษเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน เนื่องจากเจ้าหญิงลัลลาเป็นพระชายาของพระราชาธิบดีพระองค์แรกในประวัติศาสตร์อาณาจักรโมร็อกโกที่ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศ และทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับประเทศโมร็อกโก ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญต่อการวางพระองค์เป็นอย่างมาก... อย่างไรก็ตามช่วงระยะเวลา 5 วันที่ได้ถวายงานแด่เจ้าหญิงลัลลา ถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต และจะประทับไว้ในความทรงจำตลอดไป

นอกจากนี้ คณะผู้ถวายงานทั้งหมดยังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การปฏิบัติหน้าที่เลซองจะไม่สมบูรณ์ หากขาดการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีดียิ่งของนายตำรวจเกียรติยศ และเจ้าหน้าที่อีกมากมายที่อยู่เบื้องหลังการถวายงานแด่พระราชอาคันตุกะทุกพระองค์

นับเป็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของคนไทยทุกหมู่เหล่า ในการแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวของเรา ซึ่งในที่สุดงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ยังคงติดตราตรึงใจ และยิ่งใหญ่สมพระเกียรติอย่างหาที่เปรียบมิได้









Create Date : 11 กรกฎาคม 2549
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2557 9:14:49 น.
Counter : 7644 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Vichy Girl
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]