สิงหาคม 2556

 
 
 
 
2
3
6
7
8
10
11
13
17
18
22
23
24
25
27
28
31
 
All Blog
เพลินเมืองเก่า เล่าตำนาน สงขลา
เราได้เคยพาไปล่องใต้ด้วยการท่องเที่ยวรอบเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพระธาตุเมืองพระธรรม และย่ำเล่นรอบๆ เขตอำเภอเมืองกับการตามรอยรากเหง้าที่คลาสสิคของชุมชนคหบดีทางตอนใต้ในอดีต ซึ่งปัจจุบันแม้จะถูกความเปลี่ยนแปลงแห่งวันเวลากลืนกินไปบ้าง แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่ “เมืองคอน” ยังคงตกตะกอนเป็นกลุ่มก้อนแห่งความดีงาม เรียบง่าย ไม่ได้จืดจางลงแต่อย่างใด

ทำให้เราย้อนนึกถึงหัวเมืองใหญ่ที่สำคัญทางภาคใต้อีกเมืองหนึ่ง ที่มีความลึกซึ้งผูกพันกับขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต และยังคงสานต่อร่องรอยนั้นมาจนถึงปัจจุบัน เมืองนั้นคือเมือง “สงขลา” ที่ปัจจุบันนี้ถูกยกย่องให้เป็นอีกเมืองหนึ่งที่เปี่ยมเสน่ห์ หลายคนเมื่อมาท่องเที่ยวแล้วมักเก็บเกี่ยวเอาความประทับใจกลับไป ขณะที่อีกหลายคนปลงใจฝังรากฝากชีวิตไว้ที่เมืองสงขลาเป็นบ้านหลังใหม่ อะไรที่ทำให้เมืองสงขลามีมนต์ขลังขนาดนั้น เราคงต้องลองไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง

ในขณะที่ อ.หาดใหญ่ คือ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความทันสมัย สีสันอันหลากหลายไม่เคยหลับไหลรอให้เราและเพื่อนบ้านเมืองใกล้อย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์ มาจับจ่ายและปลดปล่อยชีวิตไปอย่างสนุกสนาน แต่สำหรับ อ.เมืองสงขลา นั้น ต้องเรียกว่าเป็นขั้วตรงกันข้าม

ราวๆ 30 กิโลเมตรจากอ.หาดใหญ่ มุ่งหน้าสู่ทางหลวงหมายเลข 407 หรือ ถ.กาญจนวณิชย์ สู่เส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองสงขลาที่ทางหลวงหมายเลข 414 เราก็มาถึงเขต อ.เมือง จ.สงขลา หากเราเป็นคนที่คุ้นชินกับชีวิตในเมืองใหญ่ที่มีแต่สีสันจากป้ายไฟและความ วุ่นวายของจราจรสะท้อนผ่านเงากระจกแสบตาบนตึกใหญ่ๆ แบบที่เห็นได้ทั่วไปในย่านการค้าของ อ.หาดใหญ่ เราอาจแปลกใจกับภาพของเมืองสงขลาเบื้องหน้าที่เรียบง่าย รถราเบาบางดูไม่ขวักไขว่ ถนนหนทางตัดกันตามผังเมืองอย่างเป็นระเบียบและแบ่งสัดส่วนสถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือนเก่า และวิถีชีวิตตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน และเมื่อเราย่ำเท้าออกเดินสักพัก ความรู้สึกหลงรักในความงามแบบเรียบง่ายของเมืองสงขลา ก็เกิดขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว

สิ่งแรกที่ใครไปใครมาก็ต้องสะดุดตา คือ ย่านเมืองเก่าสงขลา มีถนนสายสำคัญน่าเดินเที่ยว 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และ ถนนนางงาม ถนน 3 สายหลักนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมใหม่ไปโดยปริยายจากการบอกต่อ กันไปของบรรดานักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มที่หลงใหลบรรยากาศในอดีตแบบเก่าๆ และกลุ่มศิลปินแนวอนุรักษ์ มักจะมาเยี่ยมชมอาคารสถาปัตยกรรมเก่าของเมืองสงขลาเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ และ ต่อยอดไอเดีย ถนนทั้งสามเส้นนี้จะเรียงรายไปด้วยอาคาร และสถาปัตยกรรมที่งดงาม หากอยากรู้จักกับรากเหง้าของชาวสงขลา แต่ดั้งเดิมล่ะก็ขอให้มาเริ่มต้นที่ตรงนี้ ถนนเหล่านี้มีความเป็นมาที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง กล่าวคือ ในอดีตเมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว ตัวเมืองสงขลาแต่เดิมตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ เรียกว่า “เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน” จนกระทั่งพ.ศ. 2385 จึงขยายมาทางฝั่งทิศตะวันออกบริเวณตำบลบ่อยาง เรียกกันว่า “เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง”

โดยเริ่มแรก มีถนนสองสายจำง่ายๆ ตามลักษณะความสัมพันธ์เมือง คือ ถนนนครนอก เป็นถนนเส้นนอกติดกับทะเลสาบ และถนนนครใน เป็นถนนเส้นในเมือง กระทั่งต่อมาได้มีแนวความคิดในการตัดถนนสายที่สาม เรียกว่า ถนนเก้าห้องหรือย่านเก้าห้อง เพื่อใช้เป็นเส้นทางประกอบพิธีสมโภชเสาหลักเมือง ซึ่งถนนเก้าห้องนี้เองที่ปัจจุบันกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ ถนนนางงาม ซึ่งคนต่างบ้านต่างเมืองฟังแล้วสะดุดหูชอบใจ บวกกับบรรยากาศของตึกเก่าที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ จึงทำให้ถนนนางงามกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลาไปโดยปริยาย

ถนนสามเส้นนี้ มีเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่ดึงดูดสายตาให้มายล ซึ่งจะว่าไปแล้วภาพรวมอาจไม่ค่อยแตกต่างจากสถาปัตยกรรมของอาคารเก่าในตัว เมืองจ.ภูเก็ต ที่ผสมผสานสองวัฒนธรรมต่างชาติที่นำมาเผยแพร่โดยต่อมาเรียกว่า ชิโน-โปรตุกีส ด้วยสายสัมพันธ์ทั้งทางการทูต และการค้า เมื่อครั้งอดีตสมัยที่เมืองสงขลา ยังคงเป็นเมืองท่า โดยอาคารทรงจีนโบราณ ที่นี่รับอิทธิพลมากจากสถาปัตยกรรมจีนฮกเกี้ยน จากกลุ่มพ่อค้าที่ล่องเรือมาทางสายบุรีตลอดแหลมมลายู

จากครั้งหนึ่ง ที่อาคารเหล่านี้ทรุดโทรมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เมื่อเสน่ห์แห่งความเก่าแก่ เป็นดั่งมนต์เรียกนักท่องเที่ยวให้กลับมา ปัจจุบันนี้อาคารโบราณบนถนนทั้งสามสาย ได้รับการบูรณะให้สวยสดใสไฉไล ส่วนที่หมองมัวก็ถูกทาสีใหม่ แต่ยังคงสภาพโครงสร้างอาคารตามเดิมไว้เพื่อให้เป็นสมบัติล้ำค่าคู่เมืองสงขลา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอาคารอาคารดั้งเดิม อันมีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม เหล่านี้สะท้อนภาพการเป็นเมืองสำคัญด้านการปกครอง และทางเศรษฐกิจมาแต่ครั้งสมัยธนบุรี อีกทั้งการเป็นเมืองท่าติดทะเลทำให้ได้รับวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติ ผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวแบบสงขลา สิ่งนี้ยังลามเลยมาถึงวัฒนธรามพื้นทางอย่างการกินการอยู่ โดยเฉพาะอาหารการกินที่ยังทิ้งรากเหง้าแบบชาวฮกเกี้ยน ไว้เป็นมรดกแก่คนสงขลา ในปัจจุบัน หากอยากลิ้มชิมรสสงขลาแท้ๆ แบบต้นตำรับ เพียงแวะมาเยี่ยม ถ.นางงามเพียงเส้นเดียว ก็เหมือนได้เที่ยวอยู่ในก้นครัวของคนสงขลา รวมถึงขนมพื้นบ้าน ที่มาเมื่อไหร่ไม่เคยขาดอย่าง ข้าวฟ่างกวน ชวนให้ชิมกันที่ ร้านขนมและของฝากที่เรียงรายตลอดเส้นทาง และหากอยากมาทำความรู้จักกับต้นตำรับไอศกรีมไข่แข็ง ก็ต้องมาให้ถึงที่ ร้านบันหลีเฮง ต้นตำรับไอศกรีมโปะไข่ไส่โอวัลตินผงสุดคลาสสิค ที่สืบต่อมาจนถึงทายาทรุ่นที่สองแล้ว ก่อนจะเติมเต็มทริปด้วยการข้ามไปรับลมทะเลที่ชายหาดชื่อดังอย่าง แหลมสมิหลา และตื่นตากับความอลังการของสะพานติณสูลานนท์ สะพานข้ามทะเลสาบที่ยาวที่สุด อันเป็นจุดที่ใครต่อใครต้องแวะมาถ่ายรูปก่อนกลับไปทุกที

นี่คือเสน่ห์ที่ต่างขั้วกันของ จ.สงขลา จังหวัดที่ถูกจารึกมาแต่ช้านานว่า ทางคุณค่าทางวัฒนธรรมแห่งแดนใต้ หากใครต่อใครจะหลงลืมและพาลคิดไปว่าอ.หาดใหญ่คือเมืองหลวงของสงขลา ก็ขอให้แวะมาซึมซับกับเสน่ห์แบบคลาสสิคของเมืองสงขลากันดูสักครั้ง เพื่อจะได้หายสงสัย และทึ่งไปกับความเจริญรุ่งเรืองในแบบคลาสสิคและความทันสมัยที่อยู่ร่วมกัน ได้ ของจังหวัดนี้

















Create Date : 09 สิงหาคม 2556
Last Update : 9 สิงหาคม 2556 23:11:45 น.
Counter : 1682 Pageviews.

0 comments

iforyouz
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]