ธันวาคม 2559
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
3 ธันวาคม 2559

'ทูลกระหม่อมพ่อ' ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10






ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เวลา 11.30 น.ของวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 สถานีวิทยุกระจายเสียงเคลื่อนที่ของกรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังมีใจความว่า “เช้าวันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีได้ประชวรพระครรภ์

พระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐบาล ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กรรมการแพทย์ และสักขีพยานประสูติ ได้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กรรมการแพทย์คาดการณ์ว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะได้ประสูติพระเจ้าลูกยาเธอในบ่ายวันนี้”

กระทั่งช่วงเย็นได้มีประกาศผ่านสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า “วันนี้เวลา 17.45 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้ประสูติพระโอรสโดยสวัสดิภาพ

นายแพทย์ตรวจพระอาการรายงานว่า ทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ และพระราชกุมาร มีพระอาการทรงสำราญดีทั้งสองพระองค์”

ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ซึ่งเคยถวายงานในพระบรมมหาราชวัง ได้เคยสัมภาษณ์ผ่านหนังสือ “วงวรรณคดี” ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.2495 ความตอนหนึ่งว่า

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ ประชวรพระครรภ์มาตั้งแต่ เวลา 09.08 น. และประชวรเป็นระยะๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ ๙) ประทับคอยฟังข่าวด้วยความร้อนพระราชหฤทัยอยู่ในห้องที่อยู่ติดกับแพทย์กำลังถวายการประสูติ ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี คณะองคมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

ทุกคนต่างทราบการประสูติแล้ว ตรงที่ได้ยินพระสุรเสียงของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และในทันทีที่มีผู้บอกว่าเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ ๙) ทรงมีพระกิริยาตื่นเต้นเป็นพิเศษ

แล้วทั้งหมดก็เปล่งเสียงไชโยขึ้น 3 ครั้ง และกระโดดโลดเต้นขึ้นพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ดังสนั่นไปทั้งพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และยังดังสะท้อนมาสู่ประชาชนที่ออกันแน่นขนัดบริเวณสนามเสือป่าอย่างชัดเจน”

ในวันนั้นถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ต้องจารึกว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าราชกุมาร” ได้เสด็จพระราชสมภพมาสู่ประเทศไทย หลังจากที่ว่างเว้นการมี “เจ้าฟ้าชาย” มาเป็นเวลาหลายสิบปี

จนมีบันทึกไว้ว่าวันนั้นดอกสายน้ำผึ้งที่พระที่นั่งอัมพรสถานออกดอกงามสะพรั่ง รับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ด้วยความปราโมทย์รื่นเริง เช่นเดียวกับหัวใจของคนไทยหลายล้านดวง

มีการบันทึกไว้ในหนังสือ “สี่เจ้าฟ้า” ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย ลาวัณย์ โชตามระ ไว้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าเพียงพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

ที่ไม่มี “ชื่อเล่น” เหมือนสมเด็จพระเชษฐภคินีหรือพระขนิษฐาอีก 3 พระองค์ อาจจะเพราะทรงเป็น “ทูลกระหม่อมชาย” เพียงพระองค์เดียว คำว่า “ชาย” จึงเป็นเสมือนชื่อที่ใช้แทนพระองค์

ด้านการศึกษาของทูลกระหม่อมฟ้าชายนั้น เริ่มตั้งแต่พระชนมายุได้ 5 พรรษา ทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ดัดแปลงชั้นล่างของพระที่นั่งอุดรในพระราชวังดุสิตเป็นห้องเรียน เมื่อทรงย้ายมาประทับที่พระตำหนักจิตรลดาฯ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนขึ้นในพระราชฐานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อที่จะได้ทรงดูแลการศึกษาของทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าทุกพระองค์ได้ อย่างใกล้ชิด พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนจิตรลดา” เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

มีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และจะเปิดสอนชั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ภายในบริเวณที่พ้นจากเสียงรบกวนจากภายนอก สนามสำหรับวิ่งเล่น มีห้องเรียนที่พอเหมาะกับจำนวนนักเรียน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโรงเรียนจิตรลดาความว่า “...โรงเรียนอะไรก็ไม่ดี เพราะครูๆ อาจจตามใจลูกๆ ฉัน ... ดังนั้นเราจึงตั้งโรงเรียนขึ้นในวัง สอนพวกลูกข้าราชการ และคนที่ทำงานอยู่ในบริเวณนั้น...” (ถอดความจากหนังสือ “ความรักของพ่อ”)

สำหรับนักเรียนในโรงเรียนจิตลดา นอกจากทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าแต่ละพระองค์แล้ว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บุตรธิดาของข้าราชบริพาร ซึ่งมีอายุวัยเดียวกันได้เข้าร่วมศึกษาด้วย

เพื่อให้ทูลกระหม่อมทุกพระองค์ได้มีพระสหายเป็นบุคคลสามัญ โรงเรียนจิตรลดาเริ่มเรียนตั้งแต่เวลา 09.00 น. หยุดพักกลางวัน และเริ่มเรียนในภาคบ่ายอีกครั้งจนถึงเวลา 15.55 น.

ในหนังสือ “สี่เจ้าฟ้า” ระบุด้วยว่า ทุกวัน ทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าชายจะตื่นบรรทมแต่เช้า เวลาประมาณ 7 นาฬิกา เมื่อเสร็จธุระส่วนพระองค์แล้ว จะเสด็จลงเพื่อออกกำลังกลางแจ้ง เช่นเดียวกับเด็กธรรมดาทั่วไป มีวิ่งเล่นเอาเถิดบ้าง ซ่อนหาบ้าง

และยังได้กล่าวถึงการอบรมเลี้ยงดู สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ของทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ไว้ว่า “เมื่อเสด็จกลับจากโรงเรียนแล้ว ก่อนจะเสด็จเข้าบรรทมตอนหัวค่ำ

ทูลกระหม่อมฟ้าชายจะต้องเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อรับพระบรมราโชวาท และทรงสวดมนต์ก่อน”

นอกจากนั้น ยังทรงเน้นเรื่องวินัยในชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง ทรงเคยตกลงวินัยใดไว้จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยทรงอนุญาตให้ทูลกระหม่อมทุกพระองค์ทอดพระเนตรโทรทัศน์ได้เฉพาะวันหยุดเรียน

และหากบรรทมน้อยกว่า 9 ชั่วโมง ก็จะไม่ได้ทอดพระเนตร และเวลาทอดพระเนตรโทรทัศน์ต้องมีสมุด ดินสอ ดินน้ำมัน หรืองานเล็กๆ ใดๆ ใกล้พระหัตถ์เสมอ เพราะโปรดให้ทรงขยัน ไม่ให้เกียจคร้านนิ่งเฉย โปรดให้ทรงหางานทำไว้เสมอแม้จะเป็นงานเล็กน้อยก็ตาม

ในช่วงวันหยุดทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่มีพระราชประสงค์ให้ทูลกระหม่อมทุกพระองค์เสด็จออกกลางแจ้งเพื่อให้ได้รับอากาศและแสงแดดให้มากที่สุด และให้ออกพระกำลัง เช่น ทรงฟุตบอลหรือว่ายน้ำจนถึงเวลาเสวย

เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้น นับวันทูลกระหม่อมฟ้าชายก็ยิ่งมีพระนิสัยสมกับเป็นผู้ชาย โปรดเล่นเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ อย่างเด็กผู้ชายทั้งหลาย เช่น รถยนต์ เครื่องบิน รถถัง เรือ

โปรดทอดพระเนตรหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการช่าง การก่อสร้างและมีพระนิสัยใฝ่รู้ เมื่อทรงสงสัยสิ่งใดก็จะทรงตั้งปัญหาถาม และจะทรงถามจนกระทั่งได้รับคำอธิบายเป็นที่พอพระทัย

จนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

โดยเฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร มุสิกนาม

ในหนังสือ "เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์เพื่อแจกในงานพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยฯ

มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ดังนี้

“ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระรัชทายาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จพระราชดำเนิน และเสด็จแทนพระองค์ในพระราชกรณียกิจที่สมควรต่างๆ

ในระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศไทยได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนั้นๆ สนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยความมั่นพระราชหฤทัยด้วยความรอบคอบและด้วยความรับผิดชอบสำเร็จผลเป็นอย่างดีเสมอ

"ทรงใช้เวลาอีกมากในระหว่างหยุดเรียน โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ”

เรื่องเล่าจาก หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ผู้ซึ่งเคยถวายงานฯ ถึงความห่วงหา อาทรในพระราชโอรสของทูลกระหม่อมพ่อระบุว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ต้องเสด็จไปทรงศึกษาต่อต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงทรงมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระราชโอรสเป็นอย่างยิ่ง

วันหนึ่ง หม่อมดุษฎี ได้เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ในเวลานั้นเป็นช่วงที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ประทับอยู่ต่างประเทศ ก่อนร่วมโต๊ะเสวย หม่อมดุษฎี ได้รับการกำชับจาก ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ว่า

“ห้ามพูดถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯนะ เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระราชโอรสมาก และคงไม่โปรดให้ใครพูดถึงเพื่อจะได้ลืม และคลายความคิดถึงบ้าง”

แต่เมื่อ หม่อมดุษฎี เดินไปนั่งที่โต๊ะเสวย ก้นยังไม่ทันจะแตะที่เก้าอี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯก็มีพระราชกระแสรับสั่งถึงทูลกระหม่อมฟ้าชายอย่างยืดยาวติดต่อกัน

โดยไม่มีช่องว่างให้ หม่อมดุษฎี กราบทูลอะไรเลย กลายเป็นพระเจ้าอยู่หัวเองที่คิดถึงพระราชโอรสจนอดที่จะตรัสถึงไม่ได้

สะท้อนให้เห็นความรักระหว่างพ่อกับลูกชาย ที่เป็นความรักอันแน่นแฟ้นยิ่ง ผ่านการอบรมเลี้ยงดูด้วยความห่วงหาอาทรที่แฝงด้วยกุศโลบาย และจิตวิทยา เพื่อที่ได้สืบสานพระราชปณิธาน และปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในยามที่พระราชโอรสเจริญชันษามากขึ้น

พระราชดำรัสที่สั้น แต่ชัดเจนของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่หน้ากุฏิสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2508

ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือเทิดพระเกียรติ “ในหลวงของเรา” จัดทำโดย นายอัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ คงพอจะเปิดเผยให้เห็นถึงความรู้สึกเบื้องลึกในพระราชหฤทัย ที่พระราชโอรสองค์นี้มีต่อทูลกระหม่อมพ่อ..

“ข้าพเจ้า ก็เป็นข้าพระบาทคนหนึ่งของพระเจ้าอยู่หัวฯ มีหน้าที่ต้องเคารพบูชาพระองค์เช่นเดียวกับท่านทั้งหลาย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งสุดจะพรรณนา ก็ตอบได้แต่เพียงเท่านี้”

ความผูกพันที่ยิ่งใหญ่ยังสะท้อนผ่านเหตุการณ์ความสูญเสียเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น )

ในฐานะ “องค์รัชทายาท” ก็มีพระประสงค์ขอทำใจร่วมกับคนไทยทุกคน และเก็บทุกอย่างในแผ่นดินของทูลกระหม่อมพ่อไว้ให้ยาวนานที่สุด ทั้งที่พระองค์ทรงมีศักดิ์และสิทธิ์ในการเถลิงราชย์ได้ทันทีตามรัฐธรรมนูญ กฎมณเฑียรบาล และโบราณราชประเพณี

แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะระงับขั้นตอนทั้งหมดไว้ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยไม่สับสนในช่วงเวลาแห่งการสำนักในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙

การตัดสินพระทัยขอใช้ห้วงเวลานี้แสดงความเสียใจและทรงนึกถึงพระราชบิดา ร่วมกับปวงชนชาวไทยโดยรับสั่งให้ระงับขั้นตอนต่างๆ และจะดำเนินพระราชภารกิจในฐานะเดิม ส่วนกระบวนการการอัญเชิญขึ้นสืบราชสมบัตินั้นให้รอเวลาที่เหมาะสม

ถือเป็นการตัดสินใจที่เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาชาญแห่ง “องค์รัชทายาท” อันถ่ายทอดมาจากพระราชบิดาอย่างไม่ผิดเพี้ยน และพร้อมที่ก้าวสู่การสานต่อพระราชกรณียกิจ “เสาหลักของประเทศ” ต่อไป
















"ทรงพระเจริญ"

ขอบคุณ MGR Online


Create Date : 03 ธันวาคม 2559
Last Update : 3 ธันวาคม 2559 15:19:36 น. 0 comments
Counter : 2133 Pageviews.  

Letalia
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Letalia's blog to your web]