สัจจะนั้นมีเพียงหนึ่ง แต่หนทางรู้ซึ้งนั้นมีหลากหลาย...
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
17 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
๕ - ว่าด้วย นิติปรัชญา

แนวคำตอบ วิชานิติปรัชญา ภาค S/52 ของข้าพเจ้า

ฉบับนี้..... ผมพกติดตัวไปสอบด้วย


ปรัชญากฎหมายทางฝั่งตะวันตก



กฎหมายธรรมชาติ


ว่าด้วย ความหมาย
ความหมายของกฎหมายธรรมชาตินั้น สามารถแบ่งออกไปได้ใน 2 ลักษณะ คือ

1. ความหมายโดยทั่วไป
กฎหมายธรรมชาติหมายถึง กฎหมายซึ่งบุคคลบางกลุ่มอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ ถือกำเนิดขึ้นมาเอง เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ และใช้ได้โดยไม่จำกัดกาลเทศะ โดยถือว่าที่มาของกฎเกณฑ์ดังกล่าว มาจากกฎแห่งธรรมชาติของสรรพสิ่ง ซึ่งอาจค้นพบได้โดยการใช้เหตุผล
นอกจากนี้แล้ว ยังมีการพิจารณาความหมายของกฎหมายธรรมชาติในแง่มุมทางอุดมการณ์ จากการโยงเรื่องกฎหมายธรรมชาติเข้ากับปัญหาเรื่องเสรีภาพ และความเสมอภาค ด้วยการมองว่ากฎหมายธรรมชาติ เป็นฉากหนึ่งในนาฏกรรมมนุษย์ ที่พยายามสร้างความเป็นเอกภาพของหลักเสรีภาพ และความเสมอภาค
เมื่อมองมายังจุดนี้แล้ว จึงอาจสรุปได้ว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นกฎเกณฑ์อุดมคติที่มีขึ้น เพื่อจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนและส่วนรวม ระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเสมอภาคของทุกคน...

2. ความหมายในทางทฤษฎี แบ่งออกเป็น 2ทฤษฎี คือ
2.1 กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง ดังนั้นกฎหมายใดที่มนุษย์สร้างขึ้นมาแล้วขัดแย้งกับหลักกฎหมายธรรมชาติ ย่อมไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย ทฤษฎีนี้ปรากฏอยู่ในยุคโบราณ (กรีก-โรมัน) ซึ่งมีอิทธิพลเรื่อยมาจนถึงยุคกลาง (ศตวรรษที่ 16)
2.2 หลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียงอุดมคติของกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้น ดังนั้นการบัญญัติหรือสร้างกฎหมายจึงควรให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายธรรมชาติ ทว่าหากหลักกฎหมายที่บัญญัติขึ้นขัดแย้งกับหลักกฎหมายธรรมชาติ อาจถือได้ว่ากฎหมายนั้นไร้ค่าในทางกฎหมายที่สมบูรณ์ แต่ไม่ถึงกับไร้ค่าในสภาพบังคับทางกฎหมายเสียเลย ดังที่กล่าวมานี้ถือเป็นความหมายตามทฤษฎีของกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน


ว่าด้วย พัฒนาการของกฎหมายธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 5ยุค ดังนี้...

1. ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ยุคกรีกโบราณ และโรมัน (500 BC. – 5 AD.)
จุดก่อตัวของปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ ว่ากันว่าเริ่มจากที่นักปราชญ์ชาวกรีก นามว่า “เฮราคริตุส” ได้พยายามแสวงหาสัจจะเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะความจริงเกี่ยวกับแก่นสารแห่งชีวิต ซึ่งในที่สุดแล้วเขาก็ได้ค้นพบว่า ธรรมชาติคือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง แก่นสารของชีวิตคือธรรมชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยจุดหมายปลายทาง, ระเบียบและเหตุผลอันแน่นอน จากแนวความคิดดังกล่าวนี้ จึ้งเป็นการยืนยันว่า กฎเกณฑ์ซึ่งเป็นตัวควบคุม “แก่นสารของชีวิต” นี้ ย่อมมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ หาได้เกิดจากโองการของผู้มีอำนาจคนใดไม่ ดังนั้นกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความต้องการของผู้ปกครอง บทบาทและความสำคัญของกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ ได้มีนักปราชญ์หลายคนแสดงทัศนะไว้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น...
เพลโต ได้สรุปว่า กฎหมายธรรมชาตินั้นเป็นความคิดหรือ “แบบ” อันไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานต่อกฎหมายบ้านเมือง โดยกฎหมายที่ตราขึ้นต้องสอดคล้องกับแบบดังกล่าว มิฉะนั้นก็มิอาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายได้ การจะเข้าถึงแบบที่ว่านี้ได้ จะต้องเป็นเมธีผู้มีญาณปัญญาอันบริสุทธิ์เท่านั้น
อริสโตเติล ได้ให้ความสำคัญต่อกฎหมายธรรมชาติว่าเป็นกฎหมายที่เหมาะแก่การปกครองสังคม และรัฐที่ดีจะต้องยอมตนอยู่ภายใต้กฎหมาย ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของเขาที่ว่า “การให้อำนาจแก่กฎหมายเสมือนหนึ่งให้อำนาจแก่พระเจ้า แต่การให้อำนาจต่อมนุษย์เสมือนหนึ่งให้อำนาจแก่สัตว์ เพราะความปรารถนาของมนุษย์นั้นมีลักษณะเดียวกับสัตว์” แต่ไม่มีการค้นพบว่าเขามีทรรศนะอย่างไรต่อกฎหมายที่ตราขึ้นในสภาพที่ขัดแย้งกับหลักกฎหมายธรรมชาติ ในด้านการเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติ อริสโตเติล เห็นด้วยกับ เพลโต ที่ว่า การจะเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติได้ ต้องอาศัยญาณปัญญาหรือเหตุผลอันพิสุทธิ์ที่หลุดพ้นจากพันธนาการของกิเลสตัณหาทั้งปวงแล้วเท่านั้น...
สำนักคิดสโตอิค (Stoic) อันมีเซโน่เป็นผู้ก่อตั้ง สำนักนี้มีแนวคิดพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่า “เหตุผล” เป็นแก่นสารอย่างหนึ่งในจักรวาลซึ่งโลกอาศัยอยู่ และเหตุผลนี้เป็นเสมือนกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่มีลักษณะแน่นอน ดังนั้นการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ สอดคล้องกับจักรวาล ก็คือดำรงชีวิตอย่างมีเหตุผลนั่นเอง
อิทธิพลของปรัชญากฎหมายธรรมชาติแบบสโตอิคนี้ ปรากฏผลในทางปฏิบัติในอาณาจักรโรมัน เนื่องจากโรมันเป็นอาณาจักรนักรบที่เข้มแข็งในการทำสงคราม มีอาณาจักรอื่นๆอยู่ใต้การปกครองจำนวนมาก จึงประสบปัญหาในการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย และการระงับข้อพิพาท ระหว่างคนโรมัน กับคนชาติอื่นๆที่อยู่ใต้การปกครองของโรมัน ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายของโรมัน (Jus Civile) มีข้อห้ามมิให้นำกฎหมายของโรมันมาใช้ในกรณีเช่นนั้น
ด้วยความจำเป็นดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้ชาวโรมันต้องพึ่งพาหลักกฎหมายธรรมชาติของสำนักสโตอิค นำมาพัฒนาเป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับคนต่างด้าว อันเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับเหตุผลตามธรรมชาติสร้างความเป็นธรรมให้ชนต่างด้าว ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของรัฐต่างๆ หลักสากลและหลักความเสมอภาคในปรัชญาของสโตอิคนี้ ยังเข้ามามีส่วนแก้ปัญหาเรื่องการประนีประนอม และการประสานไมตรีในหมู่ชนต่างด้าว และยังเป็นเสมือนต้นกำเนิดของกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย หรือแม้กระทั่งประมวลกฎหมายโรมันของจักรพรรดิจัสติเนียน (Corpus Juric Civil) ก็สืบเนื่องมาจากอิทธิพลของปรัชญากฎหมายธรรมชาติของสโตอิคนี้เช่นกัน

2. ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ยุคมืด (5 AD. – 12 AD.) และยุคกลาง (12 AD. -16 AD.)
พัฒนาการของกฎหมายธรรมชาติในยุคมืดและยุคกลางของยุโรป ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรัชญากฎหมายธรรมชาติให้สอดคล้องหลักคำสอนในศาสนา โดยนำเอาความเชื่อของฝ่ายสโตอิคมาผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาคริสต์ ในเรื่องบาปโดยกำเนิดของมนุษย์ และนำคติความเชื่อของฝ่ายคริสต์มาแทนที่เหตุผลในฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดของจักรวาล ยังผลให้ “กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎศาสนาเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้” นักปรัชญาที่มีบทบาทในกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้มีอยู่หลายคน อาทิเช่น แอมโบรส นักบุญออกัสติน นักบุญอไควนัส และเกรกอรี่ เป็นต้น

3. ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (14AD.–16AD.)
และยุคปฏิรูปอารยะธรรม(16AD.)

ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ ได้มีความพยายามที่จะสลัดตัวออกจากอิทธิพลของศาสนาคริสต์ โดยมีแนวโน้มไปในทางที่เน้นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายซึ่งเป็นรูปธรรมและมีรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งสร้างขึ้นด้วยการอนุมานโดยเหตุผลของมนุษย์ นับเป็นการเคลื่อนตัวในแง่วิธีคิดจากแบบดั้งเดิมของปรัชญากฎหมายธรรมชาติที่เน้นเรื่องวิธีการ มาเน้นที่เนื้อหาอันเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาจุดที่เน้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เชิงสังคมไปสู่ “สิทธิตามธรรมชาติ” ของมนุษย์ หรือความปรารถนาของมนุษย์ในแง่ปัจเจกบุคคล ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับแรงผลักดันจากนักปรัชญาฝ่ายกฎหมายธรรมชาติหลายคนๆในยุค เช่น โกรเชียส, ฟูเฟนดอร์ฟ, โทมัส ฮอบส์, สปินโนซ่า, จอห์น ลอค, มองเตสกิเออ, รุสโซ, วูล์ฟ, เป็นต้น

4. ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (18 AD. -19 AD.)
ช่วงต้นๆของยุคนี้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้เสื่อมตัวลง อันเนื่องมาจากกระแสความแรงของลัทธิชาตินิยม ซึ่งได้ผลักดันความคิดแบบสังคมนิยมขึ้นมาบดบังลัทธิปัจเจกชนนิยม ซึ่งเป็นแกนสำคัญในปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคที่ผ่านมา ความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางวิทยาศาสตร์ และวิธีคิดเชิงประจักษ์วาทแบบวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานทำให้เกิดลัทธิอรรถประโยชน์และทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ซึ่งมีแนวคิดตรงข้ามกับทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ ซ้ำยังได้รับความนิยมอย่างมาก จนทำให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้ถูกผลักไสให้เป็นเรื่องอขงศาสนาหรือศีลธรรมมากกว่าจะเป็นกฎหมายที่แท้จริง
ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กฎหมายธรรมชาติก็เริ่มฟื้นตัวสู่การเชื่อถืออีกครั้ง เพราะวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ ปฏิฐานนิยมทางกฎหมายได้ถูกนำไปใช้สนับสนุนเรื่องอำนาจนิยม โดยเฉพาะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีที่มาจากการนำเอาแนวคิดปฏิฐานนิยมไปใช้อย่างผิดๆ ดังนั้นกระแสความคิดแบบเหตุผลนิยมของกฎหมายธรรมชาติจึงปรากฏความสำคัญขึ้นมาอีกครั้ง
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎหมายธรรมชาติก็ได้เข้ามามีบทบาทในการตัดสินคดีเพื่อลงโทษทหารนาซีของเยอรมัน โดยถือว่ากฎหมายที่ขัดกับมนุษยธรรมที่นาซีตราขึ้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย และบทบาทสำคัญที่สุดของปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้น่าจะเป็น การปรากฏของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ ปี 1948 ซึ่งก็เขียนขึ้นภายใต้อิทธิพลของปรัชญากฎหมายธรรมชาตินั่นเอง...


5. ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย
ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบันมีบทบาททางความคิดอยู่ 2ลักษณะ กล่าวคือ
- ในแง่ความเป็นทฤษฎีกฎหมาย ที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม
- ในแง่ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิ ซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights)
ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยนี้ มีลักษณะผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้น กล่าวคือไม่ยืนยันว่ากฎหมายที่ขัดกับหลักอุดมคติ จะต้องไม่มีผลบังคับในฐานะกฎหมายโดยสิ้นเชิง ซึ่งปรากฏจากความคิดของ จอห์น ฟีนนีส นักปรัชญากฎหมายร่วมสมัยที่แสดงทัศนะไว้ว่า กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิได้ตกเป็นโมฆะ ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมเพียงแต่ขาดสิ่งซึ่งเป็น “อำนาจผูกมัดทางมโนธรรม” ซึ่งกฎหมายทั่วไปที่มีอยู่ตามปกติและดังนั้น หน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะนำมาซึ่งความอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในระบบกฎหมายซึ่งมีความเป็นธรรมโดยส่วนรวม...




ปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ( Legal Positivism )



ว่าด้วย ความหมาย

กล่าวโดยสรุปแล้ว ปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย เป็นชื่อของสำนักทฤษฎีทางกฎหมายที่มีแนวคิดว่า กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ มีสภาพบังคับโดยเด็ดขาด อันมิอาจจะโต้แย้งได้ถึง ความถูก ความผิด ความยุติธรรม ความอยุติธรรม หรือศีลธรรมใดๆ ปฏิเสธกฎหมายธรรมชาติอันเป็นกฎหมายที่มีสถานะสู่งกว่า ดังคำกล่าวของโทมัส ฮอบส์ นักปรัชญากฎหมายสำนักนี้ที่ว่า “สิ่งที่ทำให้กฎหมายเป็นกฎหมายนั้น คืออำนาจมิใช่สัจธรรม”
ดังนั้นแล้วทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย จึงยืนยันถึงการแยกออกจากกันระหว่างกฎหมายส่วนบัญญัติ กับจริยธรรม ทั้งยังมีความโน้มเอียงที่จะชี้ว่า ความยุติธรรม คือความถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงการเคารพกฎหมายที่ตราขึ้น


ปฏิฐานนิยมทางกฎหมายตามแนวความคิดของ H.L.A Hart
ฮาร์ท ยืนยันว่ากฎหมายและศีลธรรมไม่จำเป็นต้องเกี่ยวโยงกันเสมอไป และการดำรงอยู่ของกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากเรื่องความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมภายในกฎหมายนั้นๆ แต่การดำรงอยู่ของกฎหมายต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของสังคมที่ซับซ้อนหลายๆประการด้วยกัน ถึงอย่างไรก็ตามฮาร์ทเองก็ยอมรับว่า บ่อยครั้งที่กฎหมายและศีลธรรมมีความคาบเกี่ยวกัน ดังนั้นจึงเปิดช่องให้สามารถวิจารณ์กฎหมายในเชิงศีลธรรมได้ เพราะไม่มีพื้นฐานแนวความคิดใดที่จะทำให้ถือว่า กฎหมายตามที่เป็นอยู่ และกฎหายที่ควรจะเป็นนั้น เป็นสิ่งเดียวกัน
ฮาร์ท ถือว่าระบบกฎหมายนั้นเป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง โดยเกี่ยวข้องกับสังคมในสองความหมาย ความหมายหนึ่งมาจากการที่มันเป็นกฎเกณฑ์ที่ปกครองการกระทำของมนุษย์ในสังคม และอีกความหมายหนึ่งก็สืบเนื่องแต่มันมีที่มาและดำรงอยู่จากการปฏิบัติทางสังคมของมนุษย์โดยเฉพาะ และการที่สังคมจะอยู่ได้นั้น จะต้องมีกฎเกณฑ์ทางสังคมที่กำหนดพันธะหน้าที่ในรูปของกฎหมายเพื่อจำกัดการกระทำของคนในสังคมนั้น ไม่ให้กระทำความชั่วร้าย อันเนื่องมาจากแรงกระตุ้นทางธรรมชาติที่หลากหลายในตัวมนุษย์เอง เช่น ความเห็นแก่ตัว ความต้องการอยู่รอดภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด เป็นต้น...
แต่ถึงแม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์ทางสังคมที่กำหนดพันธะหน้าที่ต่างๆแล้วก็ตาม ก็ยังหาเพียงพอไม่ เพราะไม่อาจจะรับมือกับปัญหาเรื่องความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์เป็นระยะๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการหาบรรทัดฐานที่จะใช้กำหนดว่า กฎเกณฑ์ใดสมควรจะถือว่าเป็นกฎเกณฑ์อันกำหนดพันธะหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ จากความต้องการนี้เอง ฮาร์ทเห็นว่าจะแก้ไขได้อย่างน่าพอใจก็ต่อเมื่อ มีการกำหนดให้มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ต่างๆให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็น “กฎทุติยภูมิ” กฎเกณฑ์นี้ เมื่อประกอบรวมกับกฎเกณฑ์ที่กำหนดพันธะหน้าที่ หรือ “กฎปฐมภูมิ” ย่อมทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ระบบกฎหมาย” ขึ้นมา ยังผลให้เกิดการยอมรับต่อกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้อย่างแท้จริง


ปฏิฐานนิยมทางกฎหมายของฮาร์ท ในความคิดของ ลอน ฟุลเล่อร์ (Lon Fuller)
ตามทรรศนะของฟุลเล่อร์ เขาเชื่อว่า เราไม่อาจเข้าใจกฎเกณฑ์ในแต่ละเรื่องได้เลย จนกว่าจะทราบว่ากฎเกณฑ์นั้นมีจุดมุ่งหมายอย่างไร จากการมองกฎหมายผ่านทางข้อเท็จจริงทางสังคมล้วนๆ จุดสำคัญอยู่ที่ต้องพิจารณากฎเกณฑ์ในแง่การกระทำที่มีเป้าหมาย กล่าวคือ “การควบคุมการกระทำมนุษย์ให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์” เท่านี้ก็จะเห็นแล้วว่ากฎเกณฑ์อยู่ไม่ได้หากปราศจากศีลธรรม จากเรื่องเป้าหมายนี้เอง ฟุลเล่อร์จรึงสรุปว่า กฎหมายนั้นจำเป็นต้องตอบสนองต่อศีลธรรม และเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันมิได้ กฎหมายนั้นจะต้องมีที่สิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรทภายในกฎหมายบรรจุอยู่สมอ ดังนั้นข้อสรุปของฮาร์ทที่พิจารณาว่ากฎหมาย เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ล้วนๆ จึงเป็นสิ่งฟุลเล่อร์ไม่ยอมรับ
เมื่อวกกลับมาที่เรื่อง กฎปฐมภูมิ และกฎทุติยภูมิ ของฮาร์ท ฟุลเล่อร์ไม่เห็นด้วยที่ฮาร์ทแบ่งแยกกฎทั้งสองออกจากกันโดยเด็ดขาด โดยยกตัวอย่างว่าในบางสถานการณ์ กฎหมายอันเดียวกันอาจให้ทั้งอำนาจและหน้าที่ ไม่ได้จำกัดเพียงบทบาทอย่างใดอย่าหนึ่งเพียงเท่านั้น หากแต่แปรผันไปตามสภาพแวดล้อม


ปฏิฐานนิยมทางกฎหมายของฮาร์ท ในความคิดของ ดวอร์กิน
ดวอร์กินนั้นมองว่า การถือกฎหมายเป็นเพียงเรื่องระบบแห่งกฎเกณฑ์ตามแนวคิดของฮาร์ทนั้น เป็นข้อสรุปที่ไม่สมบูรณ์และคับแคบเกินไป เพราะกฎเกณฑ์มิใช่เนื้อหาสาระเดียวในกฎหมาย แท้จริงแล้วกฎหมายยังมีสาระสำคัญอื่นๆประกอปอยู่ภายในกฎหมายด้วย หนึ่งในนั้นก็คือเนื้อหาของ “หลักการ” ทางศีลธรรม
ดวอร์กินถือว่า “หลักการ” นี้ เป็นมาตรฐานภายในกฎหมายที่ต้องรักษาไว้ เพราะหลักการเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาประโยชน์ของความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม หรือมิติคุณค่าทางด้านศีลธรรมอื่นๆ โดยเราอาจค้นพบหลักการนี้ได้ในคดีความ พระราชบัญญัติ หรือธรรมเนียมท้องถิ่นต่างๆ
“หลักการ” นี้ ต่างกับ “กฎเกณฑ์” ตรงที่ว่า กฎเกณฑ์มีลักษณะเป็นของสากลใช้ได้ทั่วไป ส่วนหลักการนั้น ต้องเลือกปรับใช้ในบางโอกาส นอกจากนี้หลักการยังมีมิติเรื่องความสำคัญที่ต้องพิจารณาในการปรับใช้ ส่วนกฎเกณฑ์ไม่มีมิติเช่นนี้....





หลักนิติธรรม (Rule of Law)
และการดื้อแพ่ง (Civil Disobedience)



ว่าด้วย ความหมาย และหลักการ ของหลักนิติธรรม

หลักนิติธรรม ในนิยามเบื้องต้น หมายถึง การเคารพเชื่อฟังกฎหมาย, การที่รัฐบาลต้องปกครองด้วยกฎหมายและยอมตนอยู่ภายใต้กฎหมาย โดยหลักนิติธรรมนี้จะสัมพันธ์อยู่ในเรื่องของกฎหมาย เรื่องเหตุผลและศีลธรรม เรื่องเสรีภาพของประชาชนและรัฐ เรื่องความยุติธรรม เรื่องความเสมอภาค อาจเข้าใจได้เป็นที่กว้างๆกันว่า หลักนิติธรรมนี้เป็นเรื่องของการปรับใช้เหตุผลและความเป็นธรรม

ไดซีย์ (Dicey) นักกฎหมายรัฐธรรมนูญชื่อดังชาวอังกฤษ ได้นำเสนอหลักนิติธรรมไว้ในหนังสือ ชื่อ “องค์ประกอบแห่งกฎหมาย” (Law of the Constitution) โดยไดซีย์ไม่ได้ให้ความหมายของหลักนิติธรรมไว้โดยตรง เขาเพียงแต่บอกว่า หลักนิติธรรมนั้นแสดงออกโดยนัยสำคัญ 3ประการ คือ
1. การที่ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจลงโทษบุคคลใดได้ตามอำเภอใจ เว้นเพียงในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง และการลงโทษที่อาจทำได้นั้น ต้องกระทำตามกระบวนการของกฎหมายต่อหน้าศาล
2. ไม่มีบุคคลใดอยู่เหนือกฎหมาย คนทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและศาลเดียวกัน
3. หลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นผลจาก “คำวินิจฉัยตัดสินของศาล” มิใช่เกิดขึ้นจากการรับรองค้ำประกันเป็นพิเศษโดยรัฐธรรมนูญ


ว่าด้วย ความหมาย และหลักการ ของการดื้อแพ่ง

การดื้อแพ่ง หมายถึง การกระทำที่เป็นการขัดขืน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยสันติวิธี ในลักษณะของการประท้วง คัดค้านต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หรือต่อการกระทำของรัฐบาลที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่น การเดินเท้าเปล่า 240ไมล์ ไปเอาเกลือ ของโมหันทาส การามจัน คานธี เพื่อต่อต้านการผูกขาดการค้าเกลือ และการเก็บภาษีเกลือที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ(อังกฤษ) หรือการแต่งนิราศหนองคาย วิจารณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง และการกดขี่ข่มเหงของพวกเจ้าขุนมูลนาย ที่กระทำต่อไพร่ ของนายทิม สุขยางค์ เป็นต้น

( ด้วยความเคารพ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในส่วนนี้ ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยาก แปลความหมายของ Civil Disobedience ไปว่า “ดื้อบัญญัติ” หรือ “ละบัญญัติ” หรืออะไรทำนองนี้ เสียมากกว่า เพราะมีหลายๆกรณีที่การกระทำในลักษณะ “ดื้ออาญา” ได้รับการยอมรับ ในความหมายของการดื้อแพ่ง อย่างเช่น กรณีของบทละครกรีก เรื่อง แอนทีโกนี เป็นต้น )


จอห์น รอลส์ (John Rawls) ให้คำจำกัดความการดื้อแพ่งของประชาชนไว้ว่า คือการฝ่าฝืนโดยมโนสำนึก ซึ่งกระทำโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ ไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นการกระทำในเชิงการเมือง โดยมุ่งหมายจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล
รอลส์ ให้ความเห็นว่า การดื้อแพ่งจะมีความชอบธรรมได้นั้น ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการ...
1. ต้องเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคม อันเป็นการกระทำในเชิงการเมือง แต่ต้องมิใช่การมุ่งทำลายกฎหมายทั้งหมด หรือมุ่งล้มล้างรัฐธรรมนูญ
2. ต้องเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง อันฝ่าฝืนหลักธรรมขั้นพื้นฐาน เช่น เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
3. ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติการซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย
4. การต่อต้านต้องกระทำโดยสันติวิธี และโดยเปิดเผย




สำนักกฎหมายประวัติศาสตร์


ว่าด้วย ความหมาย และหลักการ



กล่าวโดยสรุปแล้ว สำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ คือสำนักทฤษฎีทางกฎหมาย ที่เชื่อว่า กฎหมายนั้นมาจาก “จิตวิญญาณประชาชาติ” (Volksgeist) กล่าวคือ แต่ละชาติ มีประสบการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งสะสมอยู่ในจิตใจตั้งแต่เริ่มถือกำเนิด ดังนั้นจิตวิญญาณของชาตินั้น ย่อมเป็นไปตามประวัติศาสตร์ของชาตินั้นด้วย เมื่อ Volksgeist คือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ที่เกิดอยู่ภายในจิตใจของคนในชาตินั้นๆ ดังนั้นก็จะแสดงออกมาในรูปของภาษา แล้วยังวิวัฒนาการออกมาเป็นรูปของจารีตประเพณี และยังวิวัฒนาการต่อมาอีกชั้นหนึ่งในรูปของกฎหมาย
สรุปสั้นๆแล้ว สำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ คือทฤษฎีทางกฎหมายที่เชื่อว่า กฎหมายคือผลพวงจากจิตวิญญาณร่วม ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชนชาตินั่นเอง...

ซาวิญยี่ (Savigny) นักกฎหมายชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้งสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ โดยหลักการของเขาแล้ว สรุปได้ว่า ซาวิญยี่ไม่เชื่อว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์ เขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่อาจสร้างกฎหมายขึ้นมาได้เองตามใจนึก ไม่มีผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายคนใดที่จะยืนอยู่เหนือสังคม หรือตัดขาดตัวเองออกจากสังคม แล้วบัญญัติกฎหมายตามเจตนารมณ์ของตนเองขึ้นมาโดยทันที กฎหมายเกิดขึ้นและพัฒนาไปตามประวัติศาสตร์ของแต่ละชนชาติ หน้าที่ของนักกฎหมายแต่ล่ะยุคคือ การทำให้เนื้อหาของกฎหมายสอดคล้องกับจิตวิญญาณของชนชาตินั้น และสอดคล้องกับเจตจำนงร่วมของประชาชน มิใช่บัญญัติกฎหมายขึ้นมาใหม่ตามแต่จะคิด





นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
กับหลักคิดของเยียริ่ง ดิวกี และพาวนด์



ว่าด้วย ความหมาย

นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา เป็นทฤษฎีทางกฎหมาย ที่ว่าด้วยการนำวิชาสังคมวิทยาไปใช้ในทางนิติศาสตร์ เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีทางกฎหมายขึ้นมา และนำทฤษฎีที่ได้ ไปสร้างเป็นกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง
ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยานี้ เน้นที่บทบาทของกฎหมายต่อสังคม อันเป็นการพิจารณาถึงบทบาท และหน้าที่ของกฎหมาย มากกว่าจะสนใจกฎหมายในแง่เนื้อหาสาระ จากนั้น ก็ไปเน้นเรื่องบทบาทของนักกฎหมายในการจัดระเบียบผลประโยชน์ของสังคม เน้นวิธีการตรากฎมายขึ้นเพื่อใช้แก้ไขปัญหาต่างๆของสังคม โดยเฉพาะการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม


หลักคิดของ รูดอล์ฟ ฟอน เยียริ่ง (Rudolf Von Jhering)

เยียริ่งนั้น วางหลักคิดทางปรัชญาของเขาไว้ที่ แนวคิดเรื่อง “วัตถุประสงค์” โดยเขาถือว่า วัตถุประสงค์นี้ เป็นกฎสากลที่อยู่เบื้องหลังของสรรพสิ่งทั้งมวล กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีวัตถุประสงค์ รวมไปถึงกฎหมายด้วย ภายใต้แนวคิดเรื่องวัตถุประสงค์นี้เอง เยียริ่งค้นพบว่า กฎหมายนั้น ก็คือเครื่องมือที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และวัตถุประสงค์ของกฎหมายอยู่ที่การคุ้มครองผลประโยชน์ของสังคม
เยียริ่งเน้นบทบาทของกฎหมายไปในทางควบคุมเสรีภาพ โดยเขามองว่าปัญหาของสังคมนั้น คือการที่ผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมของมนุษย์มักจะเหลื่อมล้ำกันอยู่เสมอ ภารกิจหลักจึงอยู่ที่การไกล่เกลี่ยความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ให้เข้ากับความไม่เห็นแก่ตัว และแน่นอนว่าต้องยึดถือความไม่เห็นแก่ตัวเป็นใหญ่ สำหรับวิธีการไกล่เกลี่ยที่ว่านั้น ก็คือจะต้องนำเอาผลประโยชน์ต่างๆ มาถ่วงดุลกันให้เกิดความกลมกลืน ซึ่งเขาได้แบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภท คือ ผลประโยชน์ของเอกชน ของรัฐ และของสังคม โดยภารกิจนี้ เยียริ่งได้ให้ “หลักเครื่องงัดการเคลื่อนตัวของสังคม” อันประกอบด้วย รางวัล โทษทัณฑ์ หน้าที่ และความรัก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสาน เสมือนหนึ่งชะแลงงัดสังคมให้คลี่คลายไปอย่างสมานฉันท์ ราบรื่น ในลักษณะที่ความต้องการของมนุษย์ทั่วไปได้รับการตอบสนอง ไม่จมดิ่งอยู่ในหุบเหวของความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ที่แก้ไม่ตก


หลักคิดของ ลีออน ดิวกี (Leon Duguit)

ดิวกี ยืนยันว่า หากเราต้องการเห็นภาพทั่วไปของสังคมอย่างชัดเจน ก็ควรพิจารณาตามสภาพข้อเท็จจริงที่มันดำเนินอยู่ และหนึ่งในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมนุษย์ที่เห็นได้ชัดเจนนั้น คือการที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม และมีความสัมพันธ์ในลักษณะ “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” ทั้งนี้ เพราะมนุษย์นั้นมีความต้องการร่วมที่คล้ายคลึงกัน แต่อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกันมนุษย์เอง ก็มีความแตกต่างกันในแต่ละด้าน ด้วยเหตุนี้ การจัดระเบียบองค์กรในสังคมทั้งหมด จึงควรมุ่งสู่ประเด็นความร่วมมืออย่างเต็มที่ ความพร้อมเพรียง และความราบรื่นระหว่างประชาชน เป็นจุดสำคัญ ดิวกีเรียกสิ่งนี้ว่า “หลักแห่งความสมานฉันท์ของสังคม” ซึ่งเปรียบเสมือนหลักนิติธรรมสูงสุดอันไม่อาจจะหาผู้ใดโต้แย้งได้...


หลักคิดของ รอสโค พาวนด์ (Roscoe Pound)

นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของพาวนด์นี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของเยียริ่งอยู่มากพอสมควร กล่าวคือ พาวนด์เห็นว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือในการคานผลประโยชน์ต่างๆในสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุล โดยเขามุ่งจะอธิบายให้ทราบถึงรายละเอียดของวิธีการคานผลประโยชน์ ด้วยการสร้างกลไกในการคานประโยชน์ไว้อย่างชัดเจน พาวนด์ ได้เสนอแนวคิด อันเป็นที่รู้จักกันในนาม “ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เน้นที่ภารกิจของนักกฎหมายในการจัดระบบผลประโยชน์ต่างๆให้สมดุล โดยอาศัยกลไกทางกฎหมาย คล้ายกับการเป็นนักวิศวกรรมสังคมที่มุ่งก่อสร้างโครงสร้างทางสังคม ให้มีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างสูงสุด โดยคำนึงถึงความสูญเสียที่น้อยสุด
สำหรับวิธีการนั้น พาวนด์ให้นำเอาผลประโยชน์ต่างๆ ที่เขาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือผลประโยชน์ของปัจเจกชน ผลประโยชน์ของมหาชน และผลประโยชน์ของสังคม ซึ่งต้องพิจารณาผลประโยชน์ทั้งสามประเภทนี้ในความสำคัญระดับเดียวกัน แล้วเอามาคานประโยชน์กัน โดยจะต้องให้ความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้นน้อยที่สุด แบบเดียวการทำวิศวกรรม(สังคม) ซึ่งภารกิจนี้ จำเป็นต้องมองที่ความสมดุล ในแง่ผลลัพธ์ที่อาจจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อระบบผลประโยชน์ทั้งหมดของสังคม
พาวนด์ ถือว่าการคานผลประโยชน์และวิธีการต่างๆในการทำวิศวกรรมสังคมที่กล่าวมานั้น จะเป็นก้าวใหม่ของการศึกษากฎหมาย รวมไปถึงการช่วยขยายบทบาทของนักนิติทฤษฎี ให้ลงมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น แทนการหมกมุ่นอยู่กับการถกเถียงเชิงนามธรรมในปรัชญากฎหมายเท่านั้น



มาร์ซกซิสต์ กับกฎหมาย



ว่าด้วย ความหมาย
ทฤษฎีกฎหมายของมาร์ซกซิสต์ คือทฤษฎีทางกฎหมายของ คาร์ล มาร์ซก นักปรัชญาชาวยิว เขามองว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือที่รับใช้กลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคม มิใช่เป็นกลไกที่มีความเป็นอิสระ ในการใช้ประนีประนีประนอมผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันทั้งหลาย


ว่าด้วย คาร์ล มาร์ซก กับแนวคิดทางกฎหมาย
มาร์ซกได้วิจารณ์บทบาทของกฎหมายในระบบทุนนิยมในท่าทีที่ค่อนข้างเย้ยหยัน โดยเขาได้อธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติ หรือบทบาทของกฎหมายไว้ในข้อเขียนต่างๆ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้...

1. กฎหมายเป็นผลผลิตของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
มาร์ซกมองว่า กฎหมายนั้นจะแปรเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสังคมนั้นๆ โดยที่ระบบการผลิต หรือสภาพเศรษฐกิจของสังคม เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดรูปแบบและเนื้อหาของกฎหมาย ในลักษณะที่กฎหมายเป็นเสมือนโครงสร้างส่วนบนของสังคม ซึ่งวางอยู่บนฐานของระบบเศรษฐกิจ อันเป็นเสมือนโครงสร้างส่วนล่างของสังคม

2. กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
ข้อสรุปดังกล่าว มาจากหนังสือชื่อ “คำประกาศของพรรคคอมมิวนิสต์” อั้นเป็นงานเขียนสั้นๆ ของมาร์ซก และแองเกลส์ โดยมีข้อความบางตอนที่กล่าววิจารณ์กฎหมายของฝ่ายนายทุน จึงทำให้นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ทั่วไป ตั้งข้อสรุปเอาว่า กฎหมายไม่ได้เกิดจากเจตนาร่วมของประชาชน แต่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือรับใช้ฝ่ายชนชั้นปกครอง ที่ใช้ในการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และรักษาอำนาจของตน

3. ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์ กฎหมายจะเหือดหาย และสูญสิ้นไปในที่สุด
ข้อสรุปดังกล่าวนี้ มาจากข้อเขียนของแองเกลส์ ที่กล่าวในเชิงพยากรณ์ว่า สังคมของคอมมิวนิสต์ในอนาคต ความเป็นรัฐจะเหือดหายไร้ความจำเป็นอีกต่อไป ซึ่งแองเกลส์กล่าวเพียงเรื่องรัฐเท่านั้น แต่นักทฤษฎีมาร์กซิสต์บางฝ่าย ได้ตีความรวมไปถึงกฎหมาย ซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคมด้วย ว่าจะต้องเหือดหายไปเช่นกัน






ปรัชญากฎหมายไทย




หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย
และหลักพุทธธรรมในปรัชญากฎหมายสมัยอยุธยา



ว่าด้วย ความหมาย และหลักการ ของหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย
หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ ที่สรุปมาจากสาระสำคัญของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ซึ่งมโนสารอำมาตย์ ได้คัดลอกมาจากกำแพงจักรวาล แล้วนำมามอบให้พระเจ้าสมมุติราช โดยมุ่งหวังจะให้เป็นหลักธรรมสำหรับผู้ปกครอง จะเรียกว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไป หรือหลักกฎหมายธรรมชาติในพระธรรมศาสตร์ก็ย่อมได้

ประกอบด้วยหลักสำคัญ 4 ประการ คือ
1. กฎหมายมิได้เป็นคำสั่งของผู้ปกครองที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้
2. กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับหลักธรรมะ หรือหลักศีลธรรม
3. จุดมุ่งหมายของกฎหมายเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรของราษฎร
4. การใช้อำนาจทางกฎหมายของผู้ปกครอง ต้องกระทำบนพื้นฐานหลักทศพิธราชธรรม

หลักจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทยนี้ จัดได้ว่าเป็นหลักสำคัญของปรัชญากฎหมายในพระธรรมศาสตร์ อันเทียบได้กับหลักกฎหมายธรรมชาติของสังคมตะวันตกเลยก็ว่าได้ และเป็นหลักปรัชญาที่มีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นที่ยึดถือกันมานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ การยึดถือดังกล่าวจะจริงจังเพียงใดก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าหากมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงสนพระทัยต่อคัมภีร์ดังกล่าว หรือแม้กระทั่งตรากฎหมายขัดต่อหลักพระธรรมศาสตร์ ยังมีคำถามต่อไปอีกว่ากฎหมายนั้นจะใช้บังคับได้หรือไม่ เรื่องนี้สันนิฐานได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่กฎหมายดังกล่าวนั้นจะมีผลบังคับใช้ เพราะพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่เป็นเทวราชานั้นเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดท้าทายอาจถูกประหารชีวิตได้ง่ายๆ ดังนั้นคงจะหาผู้ที่กล้าออกมาคัดค้าน วิจารณ์ หรือดื้อแพ่งต่อกฎหมายดังกล่าวได้ยากยิ่ง


ว่าด้วย หลักพุทธธรรมในปรัชญากฎหมายสมัยอยุธยา

หลักพุทธธรรมในสมัยอยุธยานั้น มีการนำเอาหลักธรรมทางพุทธศาสนา มาผสมผสานเข้ากับหลักธรรมของศาสนาฮินดู และความเชื่อเรื่องภูตผี โดยหลักพุทธธรรมนี้มีอิทธิพลต่อปรัชญากฎหมายในสมัยอยุธยาเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการนำเอาความเชื่อในพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมาย อาทิเช่น พระไอยการลักขณโจร ที่มีลักษณะเทศนาธรรม ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาความโจรทั้งหลาย มีใจซื่อตรงคงอยู่ในเบญจศีล 5 หรือพระไอยการลักษณะผัวเมีย ภาคความผิดฐาน ทำชู้ ก็สืบเนื่องมาจากหลักศีล 5 (ข้อ 3 ห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น) นั่นเอง เป็นต้น...




อิทธิพลของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่เข้ามาในประเทศไทย


การเข้ามาของทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายในประเทศไทย เริ่มมีท่าทีขึ้นมาในสมัยรัชการที่ 3 อันเนื่องมาจากการล่าอาณานิคมของประเทศทางยุโรป และประเททศไทยเองก็ถูกคุกคามจากลัทธินี้ด้วยเรื่อยมา จนเป็นเหตุให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆภายในประเทศ ให้มีความทันสมัยแบบชาวตะวันตก ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าไทยในหลายๆด้าน และการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ก็ได้รับการตอบรับในกระแสที่ดี ต่อชนชั้นนำของไทย ทั้งในรัชกาลที่ 4 และ ที่ 5 รวมไปถึงกลุ่มขุนนางหลายกลุ่ม ก็เปิดรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกทั้งสิ้น…

ในด้านกฎหมาย กระแสของปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย เริ่มก่อตัวขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเนื่องมาจาก สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่ไทยทำกับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทำให้ไทยสูญเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” และในขณะเดียวกันก็เริ่มมีการตื่นตัวต่อแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพขึ้นมาเช่นกัน จนเป็นเหตุให้ ในหลวงรัชการที่ 5 ประกาศเลิกทาส และยังมีการส่งพระราชโอรถ และนักเรียนไทย ไปศึกษาวิชากฎหมายจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นต้น จากจุดนี้เอง ที่ทำให้ปฏิฐานนิยมทางกฎหมายได้มีโอกาสเข้ามาไทย ผ่านทางนักเรียนกฎหมายรุ่นแรกๆนี้เอง

ผลจากการนำเข้ามาของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายนี้ ทำให้ปรัชญากฎหมายไทยแต่ดั้งเดิม คลายความเป็นปรัชญากฎหมายของรัฐลง และในขณะเดียวกันแนวคิดปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ก็ได้รับการเผยแพร่มากขึ้น มีการผลิตตำรา วารสารทางกฎหมายขึ้นเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง จึงทำให้นักเรียนกฎหมายในสักกัดกระทรวงยุติธรรม ได้มีโอกาสซึมซับปรัชญากฎหมายตะวันตก ขณะเดียวกันเริ่มมีการตื่นตัวต่อกระแสของการเรียกร้องประชาธิปไตย และพัฒนาไปในเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้นทุกที จนในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเหล่าคณะราษฎร ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ก็เป็นผลผลิตจากการปฏิรูปบ้านเมืองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ก็นำไปสู่การก่อตัวของรัฐชาติแบบไทยๆ ที่มีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ มีการปฏิวัติ รัฐประหาร เพื่อช่วงชิงอำนาจกันเองของชนชั้นปกครองซ้ำๆซาก จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
ปรัชญาปฎิฐานนิยมทางกฎหมายเอง ก็ได้มีบทบาทสำคัญ ในฐานะเป็นที่รองรับคำสั่งของ คณะปฏิวัติ คณะรัฐประหาร ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้โดยชอบธรรม ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้...
คำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย ...
ทั้งนี้ ยังมีคำพิพากษาฎีกาอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ที่รับรองการเป็นกฎหมาย ของคำสั่งคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องสถานภาพการเป็นกฎหมายของประกาศคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากในวงการนิติปรัชญาไทย โดยฝ่ายที่ไม่ยอมรับก็ให้เหตุผลต่างๆในการปฏิเสธ เช่นการอ้างหลักกฎหมายธรรมชาติ หรือหลักที่ถือว่าคำประกาศของคณะปฏิวัติ มีผลบังคับเฉพาะกาลแค่ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นต้น...






บรรณานุกรม

- นิติปรัชญา, จรัญ โฆณานันท์, สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- นิติปรัชญา, ปรีดี เกษมทรัพย์, สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นิติปรัชญา, รองพล เจริญพันธุ์, สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ปรัชญากฎหมายไทย,จรัญ โฆณานันท์, สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา, ทีปกร, สำนักพิมพ์ ชมรมหนังสือแสงตะวัน
- บันทึกโลก ฉบับรวมเล่ม 1-2, คอสมอส, สำนักพิมพ์ บริษัทฮาซันพรินติ้ง






*หมายเหตุ ขาด แนวพระราชดำริ ในหลวง ร.9 เดี๋ยวสอบเสร็จจะมาต่อ










Create Date : 17 พฤษภาคม 2553
Last Update : 15 มีนาคม 2554 19:07:47 น. 18 comments
Counter : 22056 Pageviews.

 

ปรัชญากฎหมายตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปรัชญากฎหมายตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ประกอบด้วยประเด็นทางความคิดหลายเรื่อง เช่นเรื่องความยุติธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรม และเสรีภาพ กฎหมายกับความเป็นจริงในประชาสังคม ความสำคัญของการปกครองโดยกฎหมาย ปัญหาเรื่องความไม่รู้กฎหมายของประชาชน และการปรับใช้กฎหมาย ตลอดจนเรื่องบทบาทของกฎหมายและนักกฎหมายในสังคมไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หัวใจแห่งพระราชดำริคงอยู่ที่เรื่อง “กฎหมายกับความยุติธรรม” ซึ่งเชื่อมโยงใกล้ชิดกับเรื่องกฎหมาย กับความเป็นจริงของชีวิตประชาชนในสังคม

ดังพิจารณาได้จากพระบรมราโชวาทในหลายๆพระวโรกาส เช่นพระบรมราโชวาทในพิธีประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาเป็น เนติบัณฑิต ณ เนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 ความว่า...

“โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม จึงไม่ควรจะถือว่ากฎหมายมีความสำคัญไปยิ่งกว่าความยุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและผลที่ควรจะได้”

ความที่พระองค์ทรงถือเอาความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมาย โดยนัยหนึ่ง ย่อมหมายถึง พระประสงค์ที่จะให้กฎหมายกเป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงาม หาใช่การปล่อยให้กฎหมาย และการใช้กฎหมายเป็นไปในลักษณะที่สวนทางกับความยุติธรรม หรือหาใช่ให้กฎหมายเป็นกลไกเครื่องมือแห่งการกดขี่ของผู้ปกครองไป

สาระสำคัญของพระราชดำริโดยรวมแล้วก็คือ พระองค์ทรงเตือนสติให้คำนึงถึงเรื่องกฎหมาย ว่าต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม โดยนัยแล้วก็ไม่แตกต่างกับที่ทรงย้ำว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม หรืออย่ายึดติดอยู่กับถ้อยคำในกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมั่นว่าความยุติธรรม คือจุดหมายปลายทางแห่งการใช้อำนาจรัฐทางด้านกฎหมายนั่นเอง






โดย: สหายกุนเชียง วันที่: 10 สิงหาคม 2553 เวลา:18:55:29 น.  

 
ขอบคุณมากเลยนะคะ กำลังมึนและงงกับวิชานิติปรัชญาอยู่พอดี สอบหลายครั้งแล้วยังไม่ผ่านสักที คราวนี้คิดว่าต้องผ่านให้ได้เลย และอยากบอกคุณสหายกุนเชียงว่าเพลงเพราะมากเลย เราชอบเพลงแนวนี้เหมือนกัน ฟังแล้วรู้สึกดีมาก ขอบคุณนะคะ


โดย: ลูกมด IP: 118.173.77.30 วันที่: 27 ตุลาคม 2554 เวลา:10:57:12 น.  

 
ครับผม สู้ๆๆ ครับ... ^^


โดย: สหายกุนเชียง วันที่: 28 ตุลาคม 2554 เวลา:23:47:01 น.  

 
ก๊อฟๆๆๆไปอ่าน ขี้เกียจวุ๊ยหนังสือเยอะด้วยแง๊ๆๆแต่ยังไงต้องอ่านประกาศสงครามกับนิติปรัชญา


โดย: Snoopy Dock IP: 203.113.118.52 วันที่: 2 มีนาคม 2555 เวลา:16:05:15 น.  

 
สรุปฉบับนี้อ่านยากไปหน่อย..
และเนื้อหาไม่เข้มข้น (เพราะผมทำครั้งแรกด้วย)
ว่าจะหาเวลาปรับปรุงอยู่ รอเรียนจบก่อน 555++


โดย: สหายกุนเชียง วันที่: 4 มีนาคม 2555 เวลา:6:36:47 น.  

 
ขอบคุณครับแบ่งปันความรู้ โชค A


โดย: นิติศาสตร์ มธบ IP: 110.168.101.1 วันที่: 7 มีนาคม 2555 เวลา:2:54:17 น.  

 
ขอบคุณสำหรับเนื้อหานะคะ


โดย: Noi IP: 110.77.240.9 วันที่: 26 มีนาคม 2555 เวลา:23:31:22 น.  

 
แจ๋วววว ไปเลยคะ ขอบคุณมากคะ


โดย: radiergummi วันที่: 19 มิถุนายน 2555 เวลา:9:49:58 น.  

 
เป็นประโยชน์ต่อการเรียนนิติปรัชญามาก ขอบคุณค่ะ


โดย: joy IP: 110.77.240.23 วันที่: 6 กรกฎาคม 2555 เวลา:14:02:36 น.  

 
love you loey


โดย: tor IP: 171.96.33.162 วันที่: 5 สิงหาคม 2555 เวลา:6:39:47 น.  

 
ผ่าน


โดย: มินนี่ IP: 171.6.213.203 วันที่: 15 สิงหาคม 2555 เวลา:20:32:49 น.  

 
ผมอยากได้ตัวอย่างแนวคิดของสำนักสโตอิคส์และสำนักไซนิคส์ว่าแนวคิดข้อไหนร่วมสมัยอย่างไร


โดย: พีรพงศ์ พรหมเจริญ IP: 101.109.47.97 วันที่: 21 สิงหาคม 2555 เวลา:12:57:17 น.  

 
ขอบคุณมากนะคะ ตอนนี้เรียนวิชานิติปรัชญา


โดย: mydolphin IP: 125.24.180.10 วันที่: 24 กันยายน 2555 เวลา:14:28:58 น.  

 
มีใครนำไปใช้ตอบแล้วผ่านบ้างไหมคะ แล้วเจ้าของกระทู้ผ่านไหมคะ s/52 ขอบคุณเจ้าของกระทู้คะ


โดย: มาย IP: 113.53.144.118 วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:19:28:49 น.  

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: Nana IP: 27.145.56.174 วันที่: 25 พฤษภาคม 2556 เวลา:15:31:25 น.  

 
ขอบคุณค่ะ งวดนี้คงสอบผ่าน


โดย: cu kot IP: 223.206.104.123 วันที่: 29 พฤษภาคม 2556 เวลา:7:15:48 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ เป็นประโยชน์มาก ๆ เลย


โดย: K_RU_Korat IP: 171.4.18.221 วันที่: 5 มิถุนายน 2556 เวลา:21:11:24 น.  

 
ขอบโคนสหายที่ไม่หวงวิชาขอให้เจริญๆๆๆๆๆ เทอญ


โดย: wee IP: 171.4.225.127 วันที่: 31 กรกฎาคม 2556 เวลา:13:14:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สหายกุนเชียง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]







บ่นเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก
ครั้งที่ 60
ตอน - ความสุขของความรัก
.........คือการได้รัก

ทำไม? คนเราถึงอยากมีคนรัก
นั่นเพราะอยากมีความสุข
ในเมื่อที่การได้รักใครสักคน
มันก็ทำให้มีความสุขอยู่แล้ว
ทำไมจะต้องไปอยากรู้
หรือไปใส่ใจอะไรอีก 
ว่าใครรัก ใครไม่รัก
เขารักใคร ใครรักเขา ฯลฯ

กับหัวใจที่เต็มไปด้วยแผลฉกรรจ์ดวงนี้ 
มันดีแค่ไหนแล้ว ที่ยังใช้รักใครได้อยู่...

13/08/55







เพลงพวกนี้.........
ผมชอบทุกเพลงครับ
แต่ละเพลงฟังมานานแล้ว
และจะฟังต่อไปเรื่อยๆ
เพราะฟังกี่รอบๆ ก็ไม่เบื่อ
ว่างๆมานั่งฟังเป็นเพื่อนกันเถอะ
แล้วจะติดจาย~* ^___^



MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com






free counters


Website counter

Friends' blogs
[Add สหายกุนเชียง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.