กล่าวถึง สรรพคุณสมุนไพรแบ่งตามกลุ่มอาการ ตอนที่ 10
กลุ่มยาแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ

มะพร้าว



ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cocos nucifera L. var. nucifera

ชื่อสามัญ : Coconut

วงศ์ : Palmae

ชื่ออื่น : ดุง (จันทบุรี) เฮ็ดดุง (เพชรบูรณ์) โพล (กาญจนบุรี) คอส่า (แม่ฮ่องสอน) พร้าว (นครศรีธรรมราช) หมากอุ๋น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 20-30 เมตร ลำต้นกลม ตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้าน เปลือกต้นแข็ง สีเทา ขรุขระ มีรอยแผลใบ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียน รูปพัดจีบ กว้าง 3.5- ซม. ยาว 80-120 ซม. โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวแก่เป็นมัน โคนก้านใบใหญ่แผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอก ออกเป็นช่อแขนงตามซอกใบ ดอกเล็ก กลีบดอกที่ลดรูปมี 4-6 อัน ในช่อหนึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย ดอกเพศผู้อยู่ปลายช่อ ดอกเพศเมียอยู่บริเวณโคนช่อดอก ไม่มีก้านดอก ผล รูปทรงกลมหรือรี ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียวพอแก่เป็นสีน้ำตาล เปลือกชั้นกลางเป็นเส้นใยนุ่ม ชั้นในแข็งเป็นกะลา ชั้นต่อไปเป็นเนื้อผลสีขาวนุ่ม ข้างในมีน้ำใส
ส่วนที่ใช้ :

เปลือกผล - ผลแก่ปอกเปลือกตากแห้งเก็บไว้ใช้

กะลา - ตากแห้ง หรือเผาเป็นถ่าน บดเป็นผงเก็บไว้ใช้ โดยเผากะลาให้ลุกโชน เอากะลามัง หรือกระทะเหล็กครอบไม่ให้อากาศเข้าได้ จนไฟดับหมดแล้วปล่อยไว้ให้เย็น เปิดภาชนะเหล็กที่ครอบไว้ออก จะได้ถ่านจากกะลามะพร้าว นำไปบดเป็นผง เก็บไว้ในขวดปิดสนิท เก็บไว้ใช้ และที่ก้นภาชนะเหล็กมีน้ำมันเหนียวสีน้ำตาล ขูดเก็บไว้ใช้ เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อนได้ดี

เนื้อมะพร้าว - เนื้อมะพร้าว (ติดกับกะลา) มีสีขาว ใช้สด หรือหั่นฝอย ใส่น้ำเคี่ยว เอาน้ำมันมะพร้าวเก็บไว้ใช้ หรือตากแห้ง บีบและเคี่ยวเอาน้ำมันเก็บไว้ใช้ น้ำมันใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอม น้ำมันมะพร้าวในที่อุ่นจะเหลวใส ในที่เย็นจะข้นขาวคล้ายเนยแข็ง มีกลิ่นเฉพาะตัว

น้ำ - น้ำมะพร้าว อ่อน และน้ำมะพร้าวแก่ใช้สด

ราก - ใช้สด เก็บได้ตลอดปี

ดอก - ใช้สด

เปลือกต้น - ใช้สด เก็บได้ตลอดปี

สารสีน้ำตาล - ที่ออกมาย้อยแข็งอยู่ใต้ใบ เก็บไว้ใช้

สรรพคุณ :

เปลือกผล - รสฝาดขม สุขุม ใช้ห้ามเลือด แก้ปวด เลือดกำเดาออก โรคกระเพาะ และแก้อาเจียน

กะลา - แก้ปวดเอ็น ปวดกระดูก

ถ่านจากกะลา - รับประทานแก้ท้องเสีย และดูดสารพิษต่างๆ

น้ำมันที่ได้จากการเผากะลา - ใช้ทา บาดแผล และโรคผิวหนัง แก้กลาก อุดฟัน แก้ปวดฟัน

เนื้อมะพร้าว - รสชุ่ม สุขุม ไม่มีพิษ รับประทานบำรุงกำลัง ขับพยาธิ

น้ำมันจากเนื้อมะพร้าว - ใช้ทาแก้กลาก และบาดแผลที่เกิดจากความเย็นจัด หรือถูกความร้อน และใช้ผสมทาแก้โรคผิวหนังต่างๆ นอกจากที่ยังใช้เป็นอาหาร ทาแก้ผิวหนัง แห้ง แตกเป็นขุย และชนิดที่บริสุทธิ์มากๆ ใช้เป็นตัวทำลายในยาฉีดได้

น้ำมะพร้าว - รสชุ่ม หวานสุขุม ไม่มีพิษ แก้กระหาย ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้พิษ อาเจียนเป็นเลือด ท้องเสีย บวมน้ำ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ในยามจำเป็น น้ำมะพร้าวอ่อนอายุประมาณ 7 เดือน อาจใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดแก้ภาวะการเสียน้ำได้

ราก - รสฝาด หวาน ใช้ขับปัสสาวะ และแก้ท้องเสีย ต้มน้ำอมแก้ปากเจ็บ

เปลือกต้น - เผาเป็นเถ้า ใช้ทาแก้หิด และสีฟันแก้ปวดฟัน

สารสีน้ำตาล - ไหลออกมาแข็งตัวที่ใต้ใบ ใช้ห้ามเลือดได้ดี

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
มะพร้าวเก็บในช่วงผลแก่ และนำมาเคี่ยวเป็นน้ำมัน ทาแก้ปวดเมื่อย และขัดตามเส้นเอ็น เจือกับยาที่มีรสฝาด รักษาบาดแผลได้
ใช้น้ำมะพร้าว มาปรุงเป็นยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกมานาน วิธีใช้ทำได้โดย การนำเอาน้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน ในภาชนะคนพร้อมๆ กับเติมน้ำปูนใส 1 ส่วน โดยเติมทีละส่วนพร้อมกับคนไปด้วย คนจนเข้ากันดี แล้วทาที่แผลบ่อยๆ



กลุ่มยาแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ

มะตูม



ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aegle marmelos (L.) Correa ex Roxb.

ชื่อสามัญ : Bael

วงศ์ : Rutaceae

ชื่ออื่น : มะปิน (ภาคเหนือ) กระทันตาเถร ตุ่มเต้ง ตูม (ปัตตานี) มะปีส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10 - 15 เมตร เปลือกต้นสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยใบปลาย รูปไข่ กว้าง 2-6 ซม. ยาว 5-14 ซม. ปลายใบแหลม แผ่นใบบางเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ก้านใบย่อยใบปลายจะยาวกว่าใบที่คู่กัน ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนติดกัน ปลายแยกเป็น 4 แฉก รูปไข่กลับยาว ด้านนอกสีเขียวอ่อน ด้านในสีขาวนวล มีน้ำเมือก มีกลิ่นหอม ผล รูปรีกลมหรือยาว ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกหนา แข็ง ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกเป็นสีเขียวอมเหลือง เนื้อในสีส้มปนเหลือง นิ่ม เมล็ดมีจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ : ผลโตเต็มที่ ผลแก่จัด ผลสุก ผลอ่อน ใบ ราก

สรรพคุณ :

ผลโตเต็มที่ - ฝานเป็นชิ้นบางๆ ตากแห้งคั่วให้เหลือง ชงรับประทาน แก้ท้องเดิน ท้องเสีย ท้องร่วง โรคลำไส้เรื้อรังในเด็ก

ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก - น้ำมาเชื่อมรับประทานต่างขนมหวาน จะมีกลิ่นหอม และรสชวนรับประทาน บำรุงกำลัง รักษาธาตุ ขับลม

ผลสุก - รับประทานต่างผลไม้ เป็นยาระบายท้อง และยาประจำธาตุของผู้สูงอายุ ที่ท้องผูกเป็นประจำ

ใบ - ใส่แกงบวช เพื่อแต่งกลิ่น

ราก - แก้หืด หอบ แก้ไอ แก้ไข้ ขับลม แก้มุตกิต

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ใช้ผลโตเต็มที่ ฝานตากแห้ง คั่วให้เหลือง ชงน้ำดื่ม ใช้ 2-3 ชิ้น ชงน้ำเดือดความแรง 1 ใน 10 ดื่มแทนน้ำชา หรือชงด้วยน้ำเดือด 2 ถ้วยแก้ว ดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว

สารเคมี :
ผลมะตูม ประกอบด้วยสารที่มีลักษณะเป็นเมือกๆ คือ mucilage, pectin, tannin, volatile oil และสารที่มีรสขม
ใบ มี aegeline (steroidal alkaloid) aeglenine, coumarin



Create Date : 19 สิงหาคม 2554
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 0:26:59 น.
Counter : 388 Pageviews.

2 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kronbanphon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สิงหาคม 2554

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog