Blog ของ นศ.หลักสูตร การจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะ โดยสันติวิธี ปขส.๖ สถาบันพระปกเกล้า....
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2552
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
28 สิงหาคม 2552
 
All Blogs
 
ความเป็นมาของหลักสูตร

หลักสูตร ประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะ
โดย สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล

หลักการและเหตุผล
ความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศไทยในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ความเจริญเติบโตมิได้นำมาซึ่งความสำเร็จอย่างเดียว แต่ในเวลาเดียวกันยังได้นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งด้วย โดยเฉพาะความขัดแย้งในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามหาวิธีแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการจัดทำโครงการ กิจกรรม หรือจัดสรร งบประมาณ และแม้ว่าจะมีการกำหนดกฎหมาย โดยสถาบันหรือหน่วยงานภายใต้ข้อบังคับของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น แต่ความรุนแรงและความต่อเนื่องของปัญหาดังกล่าว ยังคงมีปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไป
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลของสถาบันพระปกเกล้า เป็นหน่วยงานหลักที่ได้ริเริ่มดำเนินงานในโครงการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมการจัดการและแก้ปัญหาข้อพิพาททางด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโครงการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในเอเซีย (United States-Asia Environmental Partnership – US-AEP) ในการทำหน้าที่ประสานงานเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศไทยและบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้าน ADR จากต่างประเทศ
นอกจากการผลักดันยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาข้อพิพาททางด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การให้ความรู้ ความเข้าใจและเจตคติพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีแก่ข้าราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ ผู้นำชุมชน และบุคคลทั่วไป ยังเป็นอีก แนวทางหนึ่งในการจัดการปัญหาความขัดแย้งข้างต้น
ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นพันธกิจหนึ่งของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ที่ได้จัด หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี โดยมุ่งหวังที่จะให้ผู้เข้ารับการศึกษาได้เรียนรู้ และพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง อันจะนำมา ซึ่งการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างสันติสุขสถาพรต่อไป

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะ โดยสันติวิธี มีวัตถุประสงค์ที่จะให้นักศึกษากลุ่มเป้าหมาย มีอุดมการณ์ ความรู้ ความเข้าใจและเจตคติ พื้นฐานที่จำเป็นต่อการส่งเสริมกระบวนการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีในเรื่องนโยบายสาธารณะ โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลคาดหวังว่า นักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้ จะบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ดังต่อไปนี้
2.1 มีความรู้ ความเข้าใจและเจตคติเกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีในเรื่องนโยบายสาธารณะ และสามารถเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการจัดการความ ขัดแย้งโดยสันติวิธีเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีอื่น
2.2 มีความรู้ ความเข้าใจและเจตคติเกี่ยวกับการส่งเสริมการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีเรื่องนโยบายสาธารณะ และสามารถกำหนดปัจจัยเงื่อนไขแห่งความสำเร็จที่จำเป็นสำหรับ “สันติวิธี” ในบริบทของสังคมไทย
2.3 มีความรู้ ความเข้าใจและเจตคติที่จำเป็นเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและสามารถกำหนดกรอบของกระบวนการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม ให้สอดคล้องกับค่านิยม หลักการ รูปแบบและกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
2.4 มีความรู้ ความเข้าใจและเจตคติที่จำเป็นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณสมบัติส่วนบุคคลในการส่งเสริมการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีเรื่องนโยบายสาธารณะ และสามารถกำหนดแนวทางการพัฒนากรอบความคิดและบุคลิกภาพส่วนตน ให้สอดคล้องกับหลักการ “สันติวิธี”

เนื้อหาหลักสูตร
สำหรับรายละเอียดวิชาของหลักสูตร แบ่งออกเป็น 5 วิชา ดังนี้
1. ความหมายและความสำคัญของการจัดการความขัดแย้ง (12 ชั่วโมง)
2. ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับสันติวิธีและธรรมชาติของความขัดแย้งในสังคมไทย (18 ชั่วโมง)
3. ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (24 ชั่วโมง)
4. กระบวนการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม (12 ชั่วโมง)
5. การพัฒนาคุณสมบัติส่วนบุคคลสำหรับการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี (12 ชั่วโมง)

วิธีดำเนินการศึกษา - สถานที่
รูปแบบการเรียนการสอน ประกอบด้วยการบรรยายแบบมีส่วนร่วม การอภิปรายระดมความคิดเห็น และการนำเสนอกลุ่มย่อย โดยมุ่งที่จะให้ผู้เข้ารับการศึกษา เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมองและ ข้อมูลกับวิทยากร อย่างเชื่อมประสานกับเนื้อหาของแต่ละหัวข้อวิชา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้สูงสุด นอกจากนี้ ในทุกหัวข้อวิชา นักศึกษาต้องจัดทำกิจกรรมทางวิชาการ โดยถือเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่วิทยากรจะใช้สำหรับการวัดและประเมินผลด้วย
ระยะเวลาการศึกษา
ประมาณ 5 เดือน โดยใช้เวลาในการเรียนทั้งสิ้น 159 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น
- การปฐมนิเทศ 18 ชั่วโมง
- การเรียนรู้ในชั้นเรียนรวมทั้งสิ้น 26 ครั้งๆ ละ 3 ชั่วโมง รวมเป็น 78 ชั่วโมง
- การศึกษาดูงานนอกสถานที่ ณ พื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้ง 24 ชั่วโมง (ในประเทศ)
- การศึกษาดูงานต่างประเทศ (18 ชั่วโมง)
- การสรุปเนื้อหาสาระการเรียนการสอน 5 หัวข้อวิชา 3 ชั่วโมง
- การปัจฉิมนิเทศ 18 ชั่วโมง

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษา
ผู้สมัครเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ วันสมัคร ดังต่อไปนี้
3.1 ข้าราชการในระดับ 5 ขึ้นไป ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน
3.2 เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์การมหาชน หรือเป็นข้าราชการจ้าหน้าที่หรือพนักงานของหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับ 5 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า
3.3 นักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
3.4 นักวิชาการและสื่อสารมวลชน
3.5 เป็นผู้นำขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือผู้นำชุมชน
3.6 เป็นผู้นำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.7 เป็นผู้บริหารขององค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการอันเป็นผลมาจากนโยบายสาธารณะ
3.8 เป็นบุคคลซึ่งกรรมการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าเชิญให้เข้ามาศึกษา เนื่องจากมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้ง

หมายเหตุ : การคัดเลือกให้เข้ารับการศึกษา ถือเป็นเอกสิทธิ์ของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

จำนวนผู้เข้ารับการศึกษา
จำนวนนักศึกษา รุ่นละ 50 คนขึ้นไป

เกณฑ์การจบการศึกษา
ผู้เข้ารับการศึกษาที่จะได้รับประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. มีเวลาเข้าเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของเวลาเรียน
2. ได้รับการประเมิน “ผ่าน” ในทุกหัวข้อวิชาของหลักสูตร
3. ผ่านการประเมินผลขั้นสุดท้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
3.1 เสนอเอกสารส่วนบุคคล (Portfolio) หรือ
3.2 สอบปากเปล่า
ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการศึกษา ต้องแสดงความสามารถให้เห็นว่า ได้เรียนรู้อะไรจากการศึกษาตามหลักสูตร
4. ไม่ดำเนินการใดๆ อันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงของสถาบันพระปกเกล้า

ค่าธรรมเนียม
หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะ โดยสันติวิธี โดยคิดค่าธรรมเนียมในการศึกษาตลอดหลักสูตร 59,000 บาท (ห้าหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) รวมค่าอาหาร อาหารว่าง ค่าเอกสารและค่าเดินทาง อาหาร ที่พัก และสถานที่ดูงานในการศึกษาดูงาน (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานของรัฐสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากต้นสังกัดได้

หลักฐานการสมัคร
1. สำเนาบัตรข้าราชการ/บัตรประชาชน
2. สำเนาวุฒิการศึกษา
3. รูปถ่าย 2 นิ้ว 3 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)

ติดต่อสอบถาม
ผู้สนใจสมัครเข้ารับการศึกษาอบรมกรุณาส่งแบบฟอร์มใบสมัคร ไปที่
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
เลขที่ 47/101 หมู่ 4 อาคารศูนย์สัมมนา ชั้น 5
สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน ถ.ติวานนท์
ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 0-2527-7830 – 9 ต่อ 2408, 2407, 2402
โทรสาร 0-2527-7819



Create Date : 28 สิงหาคม 2552
Last Update : 28 สิงหาคม 2552 20:47:50 น. 0 comments
Counter : 274 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปขส.6-kpi
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะ blog นี้ เป็นบล๊อคของ นักศึกษาหลักสูตร
ประกาศนียบัตรขั้นพื้นฐาน การจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธาณะ โดยสันติวิธี รุ่นที่ 6 (ปขส.6) ของสถาบันพระปกเกล้า ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมกันน่ะค่ะ

Friends' blogs
[Add ปขส.6-kpi's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.