กรกฏาคม 2556

 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
การส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังสถานที่อื่น

การส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังสถานที่อื่น

---------

หลังจากที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรม ศาลจะแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังศูนย์ฝึกและอบรมตามที่ศาลกำหนดในคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา ๕๘ วรรคแรก ซึ่งจะเป็นศูนย์ฝึกและอบรมตามประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กําหนดศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนและกําหนดเขตท้องที่ของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่อาศัยอำนาจตามมาตรา ๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ ประกอบกับ ข้อ ๒ (๒) และข้อ ๓ (๒) แห่งกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๕ นั้น และศาลยังต้องเป็นผู้แจ้งคำสั่งไปยังผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ดังกล่าวเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา ๕๘ วรรคสองด้วย

แต่มีประเด็นต้องวินิจฉัยข้อกฏหมาย ๒ ประเด็น คือ อำนาจผู้อำนวยการสถานพินิจ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมฯ หรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๔ หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควรว่า จะอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติใดของกฏหมาย และศาลใดจะเป็นศาลที่มีอำนาจอนุญาต ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องส่งเด็กหรือเยาวชนไปสถานที่อื่น เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะส่งเด็กหรือเยาวชนดังกล่าวไปก่อนก็ได้แล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว นั้น

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมฯ หรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองฯ จะอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติใดของกฏหมาย เนื่องจากมีกฏหมายบัญญัติไว้สองแห่ง ดังนี้

๑) มาตรา ๕๘ วรรคสอง ในกรณีมีความจำเป็นต้องส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังศูนย์ฝึกและอบรมอื่น ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจส่งไปได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน จะส่งเด็กหรือเยาวชนดังกล่าวไปก่อนก็ได้แล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ถ้าศาลเห็นว่าการส่งไปเช่นนั้นไม่สอดคล้องกับประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชน ศาลอาจพิจารณามีคำสั่งตามที่เห็นสมควร และ

๒) มาตรา ๔๑ (๗) ย้ายเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมในสถานพินิจอื่นหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด ๔ ในกรณีที่มีความจำเป็นโดยได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะย้ายเด็กหรือเยาวชนดังกล่าวไปก่อนก็ได้ แล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ถ้าศาลเห็นว่าการย้ายเช่นนั้นไม่สอดคล้องกับประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชน ศาลอาจพิจารณามีคำสั่งตามที่เห็นสมควร

ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้งสองมาตราประกอบกับมาตรา ๖๔ จะพบว่ากฏหมายให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๑ นั้นมาใช้บังคับกับสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด ๔ หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควรตามมาตรา ๕๗ ที่รับเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ในความควบคุมโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่มิได้บัญญัติให้นำมาตรา ๕๘ มาใช้โดนอนุโลมด้วยแต่ประการใด

ดังนั้น ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมฯ ผู้ดูแลหรือผู้ปกครองฯ จะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปยังสถานที่อื่นต้องรับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินนั้น ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๑(๗) เท่านั้น ไม่ใช่ตามมาตรา ๕๘

ส่วนอำนาจตามมาตรา ๕๘ วรรคสองจึงเป็นการให้ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจเป็นการเฉพาะเท่านั้น เช่น ช่วงระหว่างที่ศาลมีพิพากษาหรือมีคำสั่งแต่ศูนย์ฝึกและอบรมฯ หรือสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๔ ที่กําหนดเขตท้องที่มีอำนาจตามประกาศกระทรวงนั้นมีเหตุจำเป็นฉุกเฉินไม่สามารถรับเด็กหรือเยาวชนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ผู้อำนวยการสถานพินิจจึงจำเป็นต้องส่งไปยังสถานที่อื่นนอกเขตพื้นที่อำนาจตามประกาศกระทรวง เป็นต้น

กรณีข้างต้นนี้ ยังมีผู้อำนวยการสถานพินิจหรือผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรม ยังมีความเข้าใจไม่เหมือนกันในกรณีดังกล่าว และอาจใช้อำนาจตามบทบัญญัติตามกฏหมายผิดและไม่ชอบด้วยกฏหมาย จึงสมควรที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีหนังสือแจ้งเวียนเป็นแนวทางให้ทราบและถือปฏิบัติต่อไป

ประเด็นที่สอง ศาลใดจะเป็นศาลที่มีอำนาจอนุญาต ระหว่าง "ศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง" หรือ "ศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรม" เนื่องจากอธิบดีศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ยังไม่ได้ออกแนวทางในกรณีดังกล่าว จึงทำให้ศาลในแต่ละภูมิภาคซึ่งมีอิสระปฏิบัติไม่เหมือนกัน ส่งผลกระทบต่อกระบวนการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชน รวมถึงการบริหารจัดการภายในของศูนย์ฝึกและอบรมฯ หรือสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๔

จากประสบการณ์ ในกรณีมีความจำเป็นต้องส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังศูนย์ฝึกและอบรมอื่นนั้น อาจมีได้หลายกรณี เช่น

๑) เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟู กรณีที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองมีย้ายถิ่นที่อยู่อย่างถาวรไปอยู่ในพื้นที่อื่นและมีคำร้องขอ

๒) เพื่อประโยชน์ในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูหรือเพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชน เช่น การย้ายเด็กหรือเยาวชนไปยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กหรือเยาวชนพิเศษ เช่น การฝึกวิชาชีพที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายสิรินธร หรือการฝึกด้านทักษะชีวิตและเสริมพลังบวกที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก หรือเพื่อบำบัดยาเสพติดที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

๓) เพื่อระงับเหตุด่วน เหตุร้ายหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กหรือเยาวชนที่มีกรณีฉุกเฉิน ด้วยการแยกเด็กหรือเยาวชนที่ก่อเหตุออกจากพื้นที่เพื่อรับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินในสถานพยาบาลภายนอกตามมาตรา ๘๒(๓)(ค) หรือศูนย์ฝึกและอบรมอื่นตามมาตรา ๔๑(๗) หรือเรือนจำตามมาตรา ๔๑(๔) เป็นต้น

ซึ่งจากกรณีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น กรณีที่มีความสำคัญเร่งด่วนจะเป็นกรณีที่ ๓) เพื่อระงับเหตุร้ายหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กหรือเยาวชนที่มีกรณีฉุกเฉิน ด้วยการแยกเด็กหรือเยาวชนที่ก่อเหตุออกจากพื้นที่ทันที่เพื่อระงับมิให้เกิดการพัฒนาไปสู่ความรุนแรงบานปลายใหญ่โตที่จะนำความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินทางราชการ รวมถึงเยาวชนดังกล่าวอาจถูกทำร้ายจากฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น หากในพื้นที่ใดออกแนวทางให้ "ศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง" เป็นผู้มีอำนาจอนุญาต จะเกิดปัญหาทางด้านการบริหารงานเอกสารให้ศูนย์ฝึกและอบรมฯ อย่างมาก เพราะต้องรายงานทุกศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง และหากศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้นมีความเห็นอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามที่ศูนย์ฝึกและอบรมฯ เสนอที่แตกต่างกัน และจำเป็นต้องนำเด็กหรือเยาวชนที่ก่อเหตุกลับมายังศูนย์ฝึกและอบรมฯอีก ก็จะทำให้เด็กหรือเยาวชนรายนั้นอาจถูกทำร้ายจากฝ่ายตรงข้าม ส่งผลให้ไม่สามารถรักษาความสงบของเหตุการณ์ในศูนย์ฝึกและอบรมฯ และที่สำคัญเด็กหรือเยาวชนรายนั้นจะลำพองใจว่าใครๆก็ไม่สามารถทำอะไรเขาได้ ทำให้เยาวชนที่ก่อเหตุสำคัญตนผิดว่าภายในศูนย์ฝึกและอบรมฯ เป็นสถานที่สามารถกระทำผิดกฏหมายหรือระเบียบวินัยอย่างไรก็ได้ ทำให้เด็กหรือเยาวชนอื่นๆส่วนใหญ่ รวมถึงเจ้าหน้าที่เห็นว่าสถานที่แห่งนี้ปราศจากสวัสดิภาพและความปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการจัดการศึกษาและบำบัดแก้ไขฟื้นฟู เพราะจะไม่มีเด็กหรือเยาวชนตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหรือบำบัดแก้ไขฟื้นฟู รวมทั้งจะไม่มีครูหรือนักบำบัดคนใดตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ หากสถานที่ดังกล่าวปราศจากเสียซึ่งสวัสดิภาพและความปลอดภัย

นอกจากนี้ การย้ายเด็กหรือเยาวชนในกรณีดังกล่าวข้างต้นก็จะสอดคล้องกับแนวทางเดิมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ ม. ๓๘ (๔) กรณีที่ต้องส่งเด็กหรือเยาวชนซึ่งมีความประพฤติเหลือขออันจะเป็นภัยต่อเด็กหรือเยาวชนอื่นไปกักไว้ในสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะหรือเรือนจำโดยได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่กรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งจะส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังเรือนจำก่อนก็ได้ แล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว นั้นตามแนวทางเดิมที่เคยปฏิบัติสืบกันมาในกรณีนี้ก็จะให้ศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรมเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตเช่นกัน เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุด ศาลที่มีอำนาจในการอนุญาตในกรณีมีความจำเป็นต้องส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังศูนย์ฝึกและอบรมอื่นนั้น จึงควรเป็น "ศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรม"

ส่วนกรณี กรณีมีความจำเป็นต้องส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังศูนย์ฝึกและอบรมอื่น เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟู กรณีที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองมีย้ายถิ่นที่อยู่อย่างถาวรไปอยู่ในพื้นที่อื่นและมีคำร้องขอตาม ๑) และเพื่อประโยชน์ในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูหรือเพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชน เช่น การย้ายไปเด็กหรือเยาวชนไปยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กหรือเยาวชนพิเศษตาม ๒) ก็เช่นเดียวกันหาก "ศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง" ดังกล่าวข้างต้นมีความเห็นอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามที่ศูนย์ฝึกและอบรมฯ เสนอที่แตกต่างกันก็จะมีผลต่อการปกครองบังคับบัญชาเด็กหรือเยาวชน ทำให้เด็กหรือเยาวชมีทัศนคติไม่ดีต่อระบบองค์รวม และคิดว่าถูกเลือกปฏิบัติ

ฉะนั้น จึงเห็นว่าภาพรวมของมาตรานี้จึงจะเห็นว่าศาลที่มีอำนาจอนุญาตให้ย้ายสถานที่ควบคุมได้ นั้นสมควรให้เป็น"ศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรม" จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด แต่อำนาจศาลเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในองค์รวมกรมพินิจแบะคุ้มครองเด็กและเยาวชนสมควรหารือร่วมกับศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อออกแนวทางและแจ้งเวียนให้ทราบ และถือปฏิบัติต่อไป




Create Date : 09 กรกฎาคม 2556
Last Update : 9 กรกฎาคม 2556 4:10:14 น.
Counter : 2388 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

คนทำงานด้านเด็ก
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
เกิด 17 ก.พ.2502 จังหวัดชัยนาท เป็นบุตร นายสุเทพ-นางชิ้น ไทยเขียว
จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 โรเรียนวัดโพธิ์ทอง ต.บางขุด อ.สรรคบุรี แล้วมาเรียนมัธยมที่โรงเรียนคุรุประชาสรรค์ อ.สรรคบุรี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
"ตอนเรียนมัธยม เป็นช่วงปี 2515-2517 ผมต้องขี่จักรยานไปกลับวันละ 18 ก.ม. ลำบากมากโดยเฉพาะในหน้าฝน ผมเป็นคนที่ไม่ตั้งใจเรียน แต่ไม่เกเร พอผมเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยากทำนาเหมือนคุณพ่อคุณแม่ แต่ธรรมชาติช่วย จังหวะที่ผมเรียนจบ เกิดน้ำท่วมใหญ่ รวมถึงที่นา ผมต้องลงไปช่วยคุณพ่อ คุณแม่ยกฟ้อนข้าวขึ้นที่สูง เหนื่อยมาก รู้สึกลำบาก ไม่อยากทำนาอีกแล้ว เริ่มอยากเรียนหนังสือต่อ"
ผมจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พักอยู่กับญาติที่กองรักษาการณ์ทำเนียบรัฐบาล ตัวเลือดตามล่องกระดานกัดติดหลังเป็นแถวเลยอยู่ไม่ได้ น้าชายไปฝากอยู่กับแฟนของเพื่อนตำรวจเป็นหมอนวดแถวถนนเพชรบุรีอยู่อีก 1 สัปดาห์ ต่อมาจึงได้หาที่พักถาวรได้ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ขณะนั้นมีน้าชายชื่อ นายวิชิต เรียนทัพ อดีตนายก อบต.บางขุด พักอาศัยอยู่ก่อน
"ผมสอบเข้าศึกษาต่ออะไรก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจ่าอากาศ ช่างฝีมือทหาร เตรียมทหาร หรือแม้แต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคค่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่ตั้งใจเรียน มาเรียนต่อได้เพราะวิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ กิ่งเพชร ราชเทวี เปิดรับนักศึกษาภาคค่ำ ในขณะที่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ได้เปิดเรียนไปแล้วเกือบหนึ่งเทอมแล้ว จึงมีที่เรียน"
"ช่วงที่อยู่วัดเห็นพระเณรนั่งดูหนังสือ ไม่นอน ผมจึงไม่นอน ผลการเรียนจึงเริ่มดีขึ้น โดยกลางวันทำงาน กลางคืนเรียน ไม่อยากใช้เงินคุณพ่อคุณแม่ เพราะรู้ว่าท่านลำบาก กระทั่งเรียนจบอนุปริญญา หรือปกศ.สูง เอกสังคมศึกษา ในระดับปริญญาไม่มีที่เรียนกลางคืน ต้องเรียนกลางวัน จึงไม่ได้ทำงานจนจบการศึกษาบัณฑิตหรือ กศ.บ. เอกสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพลศึกษา"
"ช่วงนั้น ผมขอหลวงพ่อคุมศาลาเผาศพ และรับอาราธนาศีล บริการน้ำ-อาหาร รับจ้างจุดธูปเพื่อหาเงินเรียนจนจบปริญญาตรี สอบเข้าศึกษาต่อปริญญาโทได้ขณะที่เรียนเทอมสุดท้ายของปริญญาตรี จบปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบัณฑิต (สค.ม.) อาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 4 ทำงานภาคเอกชนอยู่ 4 ปี จึงเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2529 โดยเป็นพนักงานคุมประพฤติ 3 จังหวัดชลบุรี"
ต.ค. 2541 เติบโตมาเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 7 จ่าศาลจังหวัดปากพนัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาระบบงานศาล, 16 ก.พ. 2542 เป็นจ่าศาลจังหวัดอำนาจเจริญ, 18 มี.ค. 2542 ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการพิจารณาจัดระเบียบกระทรวงยุติธรรม, 4 มิย. 2544 ได้รับเลือกตั้งเป็น อกพ. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม, 8 มิย.2544 รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการศูนย์บริการข้อมูลตุลาการ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม, 15 ต.ค. 2544 ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพสถานพินิจ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม, 7 พ.ย. 2544 คณะกรรมการบริหารแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 9 พ.ศ.2545-2549, 12 มีค.2545 กรรมการและเลขานุการการเตรียมความพร้อมในการจัดทำโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมตามมติคณะรัฐมนตรี, 3 ต.ค.2545 รักษาราชการแทนรองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับ 9 ในตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เมื่อ 25 เมย.2546
ย้ายไปเป็นรองอธิบดีกรมคุมประพฤติ 1 ปี 8 เดือน ก่อนจะได้รับคำสั่งให้กลับมาทำงานในตำแหน่งรองอธิบดีพินิจและคุ้ม ครองเด็กและเยาวชนอีกครั้งและได้ขึ้นเป็นอธิบดีในที่สุด
ผลงานดีเด่นที่เป็นที่ยอมรับ คือ จัดทำมาตรฐานกลางการปฏิบัติงานธุรการศาล และนำวิธีการบริหารงานคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management/ TQM) จนศาลจังหวัดนครราชสีมาได้รับ การประกาศรับรองด้านบริการ ISO 9000
การปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเป็นคณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการพิจารณาจัดระเบียบกระทรวงยุติธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี จนสามารถรวบรวมหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณด้านการบำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2550 และได้รับเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น พ.ศ.2544 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือแห่งชาติ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 9 สค.2550
"ทุกอย่างที่ทําให้เรามาถึงวันนี้ ได้กรรมเป็นตัวกํากับทั้งหมด และอะไรที่เราเคยเสีย ใจแบบสุดๆ หรือว่าเศร้าใจอย่างสุดๆ ความรู้สึกนั้นมันไม่เคยเสถียรเลย มันลดลงมาหมด
วันนี้ดีใจที่ได้เป็นอธิบดี อาจจะดีใจจน ตัวลอย แต่ว่าไม่เท่าไหร่ก็ลดลง เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจเท่าทันโลก เข้าใจเรื่องกฎของไตรลักษณ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มียศเสื่อมยศ มีลาภเสื่อมลาภ เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดติด ที่สําคัญที่สุด คือเรามีหน้าที่ หน้าที่นั้นต้องทําให้ดีที่สุดในการที่จะมองไปที่ประชาชนและเด็กๆ
ผมเชื่อว่าผมอาจจะมีกรรมดีที่ได้มีหน้าที่การงานที่ดี แต่ส่วนหนึ่งผมว่า ผมก็อาจจะเคยทํากรรมอะไรไว้บางอย่างกับเด็กๆ ผมถึงต้องชดใช้อะไรมากมายถึงขนาดนี้ รู้สึกว่าต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน เห็นอะไรไม่สบายใจต้องเข้าไปจัดการ ฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็อยากเห็นสังคมมีคุณธรรม มีจริยธรรม เพราะทุกวันนี้เรื่องเหล่านี้มันตกต่ำไปมาก"
สมรสกับเบญจพร ไทยเขียว ซึ่งรับราชการครู มีบุตรชาย 2 คน นายชัชชล ไทยเขียว อายุ 25 ปี จบศึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรม และศึกษาดนตรีและทำเครื่องดนิตรีกู่ฉินไปด้วยที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบอาชีพส่วนตัวสอนคนตรีกู่ฉิน และจำหน่ายเครื่องคนตรีจีนคุณภาพจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อาจารย์พิเศษ
และนายยิ่งคุณ ไทยเขียว อายุ 23 ปี จบศึกษาคณะวิศวศาสตร์คอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น ปัจจุบันกำลังศึกษา MBA มหาวิทยาลัยหอการค้า