Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
16 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 

คลองดำเนินสะดวก


ประวัติคลองดำเนินสะดวก

อำเภอดำเนินสะดวก ในสมัยก่อนเป็นที่ราบลุ่ม มีป่าดงไผ่ และต้นเสือหมอบ ไม่มีคลองมากมายเหมือนเช่นในปัจจุบัน มีคลองธรรมชาติ เช่น คลองบางป่า คลองแพงพวย คลองสี่หมื่น คลองบางพัง คลองบางนกแขวก ซึ่งแต่เดิมเป็นทางเกวียนและระแทะ (เกวียนสำหรับนั่งขนาดเล็กชนิดหนึ่งเพื่อให้ไปได้เร็ว , เกวียนเล็กที่ใช้เทียมด้วยโค) มีน้ำไหลผ่านเฉพาะในฤดูน้ำหลาก เมื่อถึงฤดูแล้งจะไม่มีน้ำเลย

การคมนาคมส่วนใหญ่เดินด้วยเท้า หรือใช้พาหนะ เช่น ช้าง ม้า ทางน้ำใช้เรือพาย เรือแจว เรือใบ เรือสำเภา ในสมัยนั้น การเดินทางติดต่อกันทางเรือมีความสำคัญมาก จะเห็นได้ว่าที่ทำการของรัฐ เช่น ศาลากลางจังหวัดหรือที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ จะสร้างอยู่ริมทะเลหรือริมคลองเป็นส่วนใหญ่ การคมนาคมทางเรือระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดราชบุรี ในสมัยนั้น จะล่องมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองดาวคะนอง ไปออกจังหวัดสมุทรสาคร แล้วเข้าคลองสุนัขหอนไปออกแม่น้ำแม่กลองที่จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วจึงล่องเรือขึ้นไปถึงจังหวัดราชบุรี

ในสมัยรัชการที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า “ การไปมาระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาครก็มีคลองภาษีเจริญ ไปมาสะดวกดีอยู่ จึงควรมีคลองระหว่างกรุงเทพฯสมุทรสงคราม และราชบุรี ให้สะดวกขึ้น โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นสื่อกลาง” ในปี พ.ศ 2409 (ปีขาล อัฐศก ร.ศ 85 จ.ศ 1228) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) เมื่อครั้งขึ้นรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประสาทสิทธิ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้อำนวยการขุดคลองนี้ โดยใช้กำลังทหาร ข้าราชการและประชาชนร่วมกันขุด การขุดดินนี้ใช้กำลังแรงงานของคนล้วน ๆ

จากคำบอกเล่าของพระคุณท่าน หลวงพ่อพระครูวิชัย ศีลคุณ (กลม คุณสีโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม (อ้างโดย พระครูสิริวรรณวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม) ว่า “ ที่ทำการขุดคลอง กันจริงๆ ส่วนมากจะเป็นคนจีน ที่มาอยู่ในเมืองไทยใหม่ ๆ เป็นผู้รับจ้างขุด หากเดือนหงายกลางคืน จะขุดกันทั้งคืน คนจีนสมัยนั้น ส่วนมากจะไว้ผมเปีย เมื่อทำงานตอนกลางคืนจะนุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียว ขุดดินใส่บุ้งกี๋แล้วก็หาบดิน หรือแบกดินนั้น เอาขึ้นไปทิ้งนอกเขต ที่ต้องการ กลางคืนอากาศดี ไม่ร้อน ทำงานได้ดีตลอดทั้งคืน แล้วมาพักผ่อนตอนกลางวัน”

การขุดคลองเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ 2409 เริ่มจากจุดริมแม่น้ำท่าจีนที่คลองบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเส้นตรงผ่านตำบลโคกไผ่ (ปัจจุบันคือตำบลดอนไผ่) และขุดผ่านเข้ามาในเขต อำเภอปากคลองแพงพวย (อำเภอดำเนินสะดวกเดิม) จนถึงแม่น้ำแม่กลองที่ปากคลองบางนกแขวก ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

เพื่อเป็นการทุ่นแรงในการขุดคลอง จึงใช้วิธีขุดดินขึ้นระยะหนึ่งแล้วเว้นไว้ไม่ต้องขุดดินทิ้งไว้ระยะหนึ่ง พอน้ำหลากมาก็เซาะดิน ที่ไม่ได้ขุดพังไป เช่น ยาว 2 วา เว้นไว้ 1 วา คลองที่ขุดเป็นคลอง กว้าง 6 วา (12 เมตร) ลึก 6 ศอก (3 เมตร) ยาว 895 เส้น หรือ 35 กิโลเมตร 800 เมตร (ตามหลักฐานของกรมชลประทาน เขียนบอกระยะทางไว้ที่ปากคลอง ออกแม่น้ำแม่กลอง ) ทุก ๆ 100 เส้น (4 กิโลเมตร) ได้ปักเสาหินไว้ 1 ต้น ทางฝั่งทิศใต้ของคลอง เริ่มจากตำบลสวนส้ม (เดิมชื่อตำบลดำเนินสะดวก) เป็นหลักที่ 0 ถึงหลักที่ 8 ที่แม่น้ำแม่กลอง แต่ละหลัก จะสลักและเขียนสีแดงเป็น 3 ภาษา คือ เลขไทย โรมัน จีน บอกเลขไว้ทุกหลัก

หลักเขตนี้อยู่ในเขตอำเภอ บ้านแพ้ว จำนวน 5 หลัก คือ หลัก 0 ถึงหลัก 2 อยูในเขตตำบลสวนส้ม หลัก 3 อยู่ในเขตตำบลหลักสาม หลัก4 อยู่ในขตตำบลยกกระบัตร และหลัก5 อยู่ตรงเขตแดนระหว่างตำบลโรงเข้ กับตำบลปราสาทสิทธิ์ หลักที่ 5 ถึงหลักที่ 7 อยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และหลักสุดท้าย หลักที่ 8 อยู่ในเขตอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

คลองนี้เมื่อทำการขุดเสร็จแล้ว เดิมมีความยาวมากถึง 35 กิโลเมตร หรือ 840 เส้น แต่นานเข้าตลิ่งถูกน้ำพัดผ่านกัดเซาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากแรงกระทบของคลื่นเรือยนต์ประเภทต่างๆ เป็นเหตุให้คลองขุดขยายกว้างขึ้นเป็น 10 วาบ้าง 15 วาบ้าง และบางแห่งกว้างถึง 20 วาก็มี

ด้วยขนาดและความยาวของคลองที่ขุด ประกอบกับเป็นคลองที่ยาวและตัดตรงไปในหลายพื้นที่ ทำให้มีเจ้านายผู้ใหญ่หลายคนมาจับจองที่ดินซึ่งเป็นป่ารก ดงอ้อ ดงแขมพร้อมขุดคลองน้อย คลองซอยแยกจากคลองใหญ่เพื่อเข้าสู่พื้นที่ของตน ป่าพงแขมเหล่านั้นจึงได้มีการปรับเปลี่ยนกลายเป็นเรือกสวนไร่นา

เมื่อทำการขุดคลองนี้สำเร็จแล้ว จึงนำแผนขึ้นทูลเกล้า ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงทรงพระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า “ คลองดำเนินสะดวก ” และได้ทำพิธีเปิดใช้คลองนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ 2411 ตรงกับวันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 4 ค่ำ (จากหลักฐานพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชการที่ 4 เล่ม 2 หน้า 126 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์)



ค่าใช้จ่ายในการขุดคลอง รวมค่าจ้างขุด ค่าตอไม้ เป็นเงิน 1,400 ชั่ง โดยได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชการที่ 4 จำนวน 400 ชั่ง จาก ฯพณฯ หัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหม จำนวน 1,000 ชั่ง ใช้เวลาในการขุด ประมาณ 2 ปีเศษ จึงแล้วเสร็จ เนื่องจาก “ คลองดำเนินสะดวก ” เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับ จังหวัดราชบุรี โดยใช้เรือยนต์เข้ามาแทนเรือพายและเรือแจว ทำให้ตลิ่งพังมาก คลองจึงขยายกว้างออกไป ตามความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ

ปัจจุบันคลองกว้างประมาณ 30 – 40 เมตร เรือบรรทุกสินค้าลำใหญ่ๆ ไปมาสะดวกและทางราชการเคยส่งเรือขุดไปขุดลอกดินในคลองที่ตื้นเขินหลายครั้ง เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต้น (จากจดหมายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) พร้อมด้วยพระประยูรญาติไปตามลำคลองดำเนินสะดวก และเสด็จประทับแรม ณ วัดโชติทายการาม เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2447 (ร.ศ 123) และในครั้งนี้ได้เสด็จไปยังบ้านของ นายฮวดมหาดเล็ก (เจ๊กฮวด)

เสด็จประพาสต้น
เรื่องการเสด็จประพาสต้นนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้มีความว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยโปรดฯ ในการเสด็จประพาสต้นตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา เสด็จประพาสแทบทุกปี บางคราวก็เสด็จไปเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ ไม่โปรดฯให้จัดการรับเสด็จเป็นทางการ ที่เรียกว่า “เสด็จประพาสต้น” โปรดฯให้จัดการที่เสด็จไปใช้ง่ายยิ่งกว่าเสด็จไปประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ คือ ไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น

บางทีทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสารรถไฟไป มิให้ใครรู้จักพระองค์ การเสด็จประพาสต้นเริ่มมีครั้งแรก เมื่อรัตนโกสินทร์ศก 123 ( พ.ศ 2447 ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 เสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ 2477 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นำเรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าหน้าวัดโชติทายการาม หลวงพ่อช่วง ( พระอธิการช่วง เจ้าอาวาส ) ได้ทราบว่าในหลวงเสด็จ จึงนำพระลูกวัด 4 - 5 รูป ลงมาสวดชัยมงคลต้อนรับ รู้สึกเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้ตรัสถวายเงินบูรณะวัด 10 ชั่ง และถวายพระสงฆ์ รูปละ 1 ตำลึง และโปรดเกล้าให้มหาดเล็กจัดที่ประทับแรมบนศาลาการเปรียญ ให้พนักงานเครื่องต้น ประกอบพระกระยาหารสำหรับเสวย ณ ที่ศาลาท่าน้ำ

ในตอนบ่ายวันนั้น เวลาประมาณ 3 โมงเศษ พระองค์พร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ 2 ท่าน ซึ่งมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จทรงเรือมาดพาย(แบบเรือมาดกระสวย) พายไปตามลำพัง โดยไม่มีผู้ติดตาม ทั้งนี้เพราะพระองค์อยากจะทราบความเป็นอยู่ สารทุกข์สุขของราษฎรของพระองค์ ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า น้ำหลากมาท่วมมาก มองไม่เห็นพื้นดิน เป็นน้ำขาวเวิ้งว้างไปหมดทุกสารทิศ ผลไม้ในนาไร่และสวนถูกน้ำท่วมจนหมดสิ้น พระองค์ได้ทรงเสด็จ เข้าไปทางคลองลัดราชบุรี

ขณะนั้นบ้านเรือนราษฎรไม่มี วัดราษฎร์เจริญธรรมยังไม่ได้สร้าง มีศาลเจ้าเล็กๆ อยู่หนึ่งหลัง แล้วทรงเลี้ยวเรือพระที่นั่งไปทางซ้ายมือผ่านบ้านราษฎร ห่างๆ จะมีสักหลังหนึ่งเห็นเงียบไม่มีคนอยู่ จึงมิได้เสด็จแวะเยี่ยม เมื่อเสด็จมาถึงบ้านนางผึ้ง แซ่เล้า ทอดพระเนตรเห็นเจ้าของบ้านนำเอา หอม กระเทียม ไปตากบนหลังคาเรือน พอเห็นเรือคนแปลกหน้า เข้าใจว่าเป็นพวกขุนนาง ก็ร้องเชื้อเชิญให้แวะที่บ้าน

พระองค์จึงเสด็จขึ้นบ้านของนางผึ้ง ขณะนั้นนางผึ้งหุงข้าวสุกพอดี จึงเรียกลูกชาย คือ “เจ็กฮวด” ขณะนั้นอายุประมาณ 20 ปีเศษ ให้ยกกระบะใส่กับข้าว ยกหม้อข้าว แล้วร้องเชิญให้พระองค์เสวย ในขณะที่รัชกาลที่ 5 กำลังเสวย เจ็กฮวดซึ่งมานั่งยอง ๆ ดูพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็หันไปดู พระบรมฉายาลักษณ์ ที่หิ้งบูชา ดูแล้วดูเล่า แล้วก็เอ่ยขึ้นว่า “ คล้ายนัก คล้ายนัก ขอรับ” พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสถามว่า “ คล้ายนัก คล้ายนัก คล้ายอะไร” เจ็กฮวดบอกว่า คล้ายรูปที่บูชาไว้

พูดแล้วเจ็กฮวดก็เอาผ้าขาวม้าปูกราบพระองค์ท่าน นางผึ้งเห็นลูกชายกราบ ก็กราบตาม พระองค์ตรัสว่า “ แน่ใจหรือ” เจ็กฮวดก็ตอบว่า “ แน่ใจขอรับ” พระองค์จึงตรัสชมเจ็กฮวดว่า “ ฉลาดและตาแหลมดี จะให้เป็นมหาดเล็กเอาไหม” นายฮวดพยักหน้าและกราบทูลว่า “ เอาขอรับ” แล้วจึงตรัสสั่งให้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เชิญพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ็กฮวด แซ่เล้า เป็นมหาดเล็กของพระองค์ แล้วรับสั่งให้เข้าไปเยี่ยมพระองค์ท่านที่บางกอกบ้าง ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านในคลองดำเนินสะดวก จึงเรียกเจ็กฮวด แซ่เล้า ว่า เจ็กฮวดมหาดเล็ก


ที่มาของแหล่งข้อมูล
//nmt.redirectme.net
//school.obec.go.th




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2551
17 comments
Last Update : 12 สิงหาคม 2551 16:04:29 น.
Counter : 2529 Pageviews.

 

ขอบคุณที่กรุณาเข้าไปอ่านและทักทายบล็อกของเรานะคะ

แหม! พอเข้ามาในที่นี้ แล้วพบบทความนี้อดเข้ามาชมไม่ได้เลยทีเดียว ภูมิใจมากๆ ค่ะ มีคนเขียนถึงถิ่นฐานบ้านเกิดเราด้วย เป็นกำลังใจให้คุณสร้างสรรค์ Bloggang อย่างมีความสุขต่อไปนะคะ

 

โดย: หงส์อรุณ (silvio ) 29 มิถุนายน 2551 2:20:22 น.  

 

ขอบคุณที่นำเกร็ดประวัติศาสตร์ดี ๆ มาแบ่งปันครับ

 

โดย: ลุงแว่น 4 กรกฎาคม 2551 19:01:22 น.  

 

เรื่องดีๆ ขอบคุณค่ะ

 

โดย: Fullgold 4 กรกฎาคม 2551 19:31:34 น.  

 

ขอบคุณน้าที่ลงเรื่องดี ๆ แต่เราว่ายังลงไม่ครอบน้า
นายฮวดมหาดเล็กอะ เอากับข้าวมาให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยอะมี อะไรบ้างเราก็จำไม่แม่นอะนะ เราว่ามีหอดกระพงดอง มั่งแล้วก็น้ำพริก และอะไรอีกก็ไม่รู้ยายบอกแล้วจำไม่ได้อะ (ลืมบอกไปเราเป็นลูกหลานของตระกูลนี้อะ) เราดีใจที่มีคนดำเนินที่ยังรักบ้านเกิดอยู่อะ ดีใจจริง ๆ นะ

 

โดย: T&F IP: 118.174.149.157 17 ตุลาคม 2551 0:04:24 น.  

 

ดีใจเช่นกัน ขอให้หลานๆช่วนกันอนุรักษ์ดำเนินของเราครับ

 

โดย: Insignia_Museum 19 ตุลาคม 2551 18:03:48 น.  

 

ตอนนี้ลูกหลานคนดำเนินได้ร่วมกันฟื้นฟูตลาดนำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลีดั่งเดิมในสมัยตอนที่เราเป็นเด็กในช่วงปีพ.ศ 2500-2520 ในสโลแกน เสน่ห์แห่งสายนำเมื่อวันวาน จึงอยากได้ไอเดียของคนแต่ละรุ่น เพื่อการมีส่วนรวมในการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชน มีข่าวแจ้งให้ทราบว่าในขณะนี้ได้มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.00 น ของทุกอาทิตย์ บริเวณปากคลองลัดพลี ขอเรียนเชิญนะครับ



 

โดย: ลูกหลานคนดำเนิน IP: 117.47.17.213 9 สิงหาคม 2552 6:34:42 น.  

 

น่าสนใจมากเลยค่ะ

จะชวนเพื่อนๆไปนะค่ะ...

 

โดย: เจ้อ้วน ดำเนิน IP: 222.123.154.248 5 กันยายน 2552 21:14:54 น.  

 

ขอบคุณนะคะ

จะหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปทำรายงานพอดีเลยค่ะ

 

โดย: ภัททา IP: 125.27.174.179 9 มกราคม 2553 15:01:57 น.  

 

ขอบคุณมากๆๆ ค่ะ

ภูมิใจมากเลยที่เกิดเป็นคนดำเนินสะดวก

และดีใจจริงๆๆ ที่เป็นคนริมคลองดำเนินสะดวกด้วย

 

โดย: เด็กดำเนิน IP: 118.174.14.16 16 เมษายน 2553 12:08:55 น.  

 

ขอให้หลวงพ่อ เป็นร่มโพธิ์ ร่มไทร คู่กับญาติโยมชาวบ้านและวัดหลักหกไปนานๆนะครับ ให้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บครับ มีอายุถึง ร้อยกว่าปีครับ จากใจ พระลูกชาย หลวงพ่อ ครับ 084 7533392

 

โดย: พระชัยศรี วัดจินดาราม IP: 110.49.205.73 28 เมษายน 2553 19:56:04 น.  

 

ที่ของผมมีหลัก8 อยู่ครับ
ภูมิใจโคตร

 

โดย: ต่อ IP: 202.232.182.70 4 มิถุนายน 2553 14:03:10 น.  

 

หลายสิ่งหลายอย่างในอดีตคลองดำเนิน มีส่งดี มากมาย อยากให้คนที่อาศัยและเคยอาศัยมาร่วมฟื้นฟู"สร้างภูมิวิถีคลองดำเนินสะดวก"กัน

 

โดย: คนรักษ์คลองดำเนินสะดวก IP: 119.31.64.236 12 มิถุนายน 2553 10:22:50 น.  

 

เราอยู่คลองดำเนิน สมัยเด็ก อยู่ตลาด มีวิกหนังที่ตลาด ไปไหนก็เดิน ว่ายน้ำข้ามคลอง น้ำใสมาก ไปโรงเรียนก็ลงเรือแดง ชือเรือเป็นชื่อตัวละครในวรรณคี ขุนช้างชุนแผน เช่นสายทอง ไปกรุงเทพทีลงเรือ2ชั้น เที่ยงคีนถึงสว่าง บรรยากาศร่มรื่น ประทับใจมาก เผลอแป๊บเดียว 60 ปีผ่านไป ไวเสมือนโกหก แบบที่นักพากย์หนังทีวิกพากย์ตอนดูหนังสมัยเด็กๆเลย

 

โดย: ณเดช IP: 223.205.43.8 2 พฤษภาคม 2554 18:11:42 น.  

 

ขอบคุณที่มาเล่าความทรงจำอันแสนสุข
เวลาผ่านไปเร็วอย่างที่ว่า

เดี๋ยวนี้ไปเห็นคลองโล่งๆ น้ำกลับมาใสอีก ราวกลับว่าเรือและผู้คนเพิ่งจะหายไปเมื่อวานนี้เอง

 

โดย: Insignia_Museum 2 พฤษภาคม 2554 22:45:05 น.  

 

หลวงพ่อกมลดูดวงแม่นนะจะบอกให้ แต่คืออดีตเมื่อ๔๐ปีที่แล้ว

 

โดย: วราพร IP: 180.183.216.16 9 มิถุนายน 2554 18:29:04 น.  

 

กำลังอ่านเรื่องคลองดำเนินสะดวก

มีรูปตลาดดำเนิน ที่เพื่อนส่งมาให้ค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 29 กรกฎาคม 2554 12:35:28 น.  

 

เพิ่งไปดูรูปตลาดน้ำดำเนิน ที่บล๊อกคุณ พี่ตุ๊ก ตุ๊ก โคราชมา
ของคุณ IM นำประวัติของคลองดำเนินสะดวกมาเล่า น่าสนใจ

หลายเดือนก่อนผมดูรายการทีวี อะไรนะครับ พินิจนคร รึป่าว เขาก็ทำเรื่องราวเกี่ยวกับ ประวัติ คลองดำเนินสะดวกและผู้คนละแวกนั้น น่าสนใจดีครับ

ผมก็เพิ่งรู้ว่า แถวนั้นเป็นย่านคนจีน แล้วคลองแถวนั้น ่จริงๆ ก็มีตลาดน้ำเล็กๆ อยู่ติดๆ กันเยอะแยะไปหมด แต่ไม่ได้ดังเท่าตลาดน้ำดำเนินสะดวก

 

โดย: dj booboo 30 กรกฎาคม 2554 0:37:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Insignia_Museum
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 66 คน [?]




ความตั้งใจในการทำบล็อกเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เริ่มต้นด้วยการเขียนถึงถิ่นที่อยู่ในวัยเด็ก ต่อมาเป็นเรื่องเครื่องหมายต่างๆ เรื่องศิลปะ ภาพถ่ายในยุคก่อนๆ อาหารการกิน และอะไรต่อมิอะไรที่ประสบพบเห็น สนใจอะไรขึ้นมาก็อยากรู้ให้มากขึ้น กลุ่มเนื้อหาจึงแตกแขนงไปเรื่อยๆ
New Comments
Friends' blogs
[Add Insignia_Museum's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.