ชนะคนอื่นเป็นร้อย ยังไม่ยากเท่าชนะตนแค่คนเดียว...
ไส้ติ่งอักเสบ

   ไส้ติ่งอักเสบพบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของโรคปวดท้อง ที่ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเร่งด่วน บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยปล่อยให้มีอาการปวดท้องนานหลายวันแล้วค่อยมาโรง พยาบาล  ซึ่งมักจะพบว่าเป็นถึงขั้นไส้ติ่งแตกเสียแล้ว ดังนั้น ใครก็ตามที่มีอาการปวดท้องมากติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์ใกล้บ้าน เนื่องเพราะถ้าไม่เป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็มักเป็นโรคปวดท้องร้ายแรงอื่นๆ เสมอ

ชื่อภาษาไทยไส้ติ่งอักเสบ
ชื่อภาษาอังกฤษ  Appendicitis

สาเหตุไส้ติ่ง
   (vermiform appendix) เป็นส่วนของลำไส้ มีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ที่ยื่นออกมาจากส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ (cecum) อยู่ตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ภายในมีรูติดต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ไส้ติ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ที่ฝ่อตัวลง และไม่ได้ทำหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมอาหาร
   ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากมีภาวะอุดกั้นของรูไส้ติ่ง ส่วนการอุดกั้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นการเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากมีเศษอุจจาระแข็งๆ เรียกว่า "นิ่วอุจจาระ" (fecalith) ชิ้นเล็กๆ ตกลงไปอุดกั้นอยู่ภายในรูของไส้ติ่ง แล้วทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในรูไส้ติ่งจำนวนน้อยเกิดการ
   เจริญแพร่พันธุ์และรุกล้ำเข้าไปในผนังไส้ติ่ง จนเกิดการอักเสบตามมา หากปล่อยไว้เพียงไม่กี่วัน ผนังไส้ติ่งก็เกิดการเน่าตายและแตกทะลุได้

สาเหตุที่อาจพบได้
    แต่เป็นส่วนน้อยก็คือ มีการอุดกั้นของรูไส้ติ่งจากสิ่งแปลกปลอม ก้อนเนื้องอกหรือหนอนพยาธิ (พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย)ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ได้เป็นโรคติดต่อที่แพร่ให้คนข้างเคียงแต่อย่างใด

อาการ
   ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องที่มีลักษณะต่อเนื่องและปวดแรงขึ้นนานเกิน ๖ ชั่วโมงขึ้นไป ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็มักจะปวดอยู่นานหลายวัน จนผู้ป่วยทนปวดไม่ไหวต้องพาส่งโรงพยาบาลแรกเริ่มอาจปวดแน่นตรงลิ้นปี่คล้าย โรคกระเพาะ บางคนอาจปวดบิดเป็นพักๆ รอบๆ สะดือ คล้ายอาการปวดแบบท้องเสีย อาจเข้าส้วมบ่อยแต่ถ่ายไม่ออก (แต่บางคนอาจมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือ ถ่ายเหลวร่วมด้วย)ต่อมาจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารร่วมด้วย อาการปวดท้องมักจะไม่ทุเลา แม้ว่าจะกินยาแก้ปวดอะไรก็ตาม ต่อมาอีก 3-4 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้างขวา มีลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา และจะเจ็บมากขึ้นเมื่อมีการขยับเขยื้อนตัว หรือเวลาเดินหรือไอจาม ผู้ป่วยจะนอนนิ่งๆ ถ้าเป็นมากผู้ป่วยจะนอนงอขา ตะแคงไปข้างหนึ่ง หรือเดินตัวงอ เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น
   เมื่อถึงขั้นที่มีอาการอักเสบ ของไส้ติ่งชัดเจน มีวิธีตรวจอย่างง่ายๆ คือ ให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้วใช้มือกดลงลึกๆ หรือใช้กำปั้นทุบเบาๆ ตรงบริเวณไส้ติ่ง (ท้องน้อยข้างขวา)ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมาก (เรียกว่า อาการกดเจ็บ) ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำๆ (วัดปรอทพบอุณหภูมิ 37.7-38.3 องศาเซลเซียส) อย่างไรก็ตาม พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ อาจไม่มีอาการตรงไปตรงมา (ตามแบบฉบับ) ดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ อาจมีอาการปวดและกดเจ็บตรงท้องน้อยขวา โดยไม่มีอาการอย่างอื่นนำมาก่อนก็ได้
   ส่วนในเด็กเล็ก อาการอาจไม่ชัดเจน อาจมีอาการปวดท้องทั่วๆ ไป โดยไม่พบว่ามีอาการกดเจ็บตรงบริเวณไส้ติ่งก็ได้
   ในคนสูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ อาการปวดท้องจะเป็นไม่รุนแรง และอาจไม่มีอาการกดเจ็บเช่นกันอย่างไรก็ตาม คนเหล่านั้นก็มักจะมีอาการปวดท้องนานเกิน 6 ชั่วโมง หากพบลักษณะนี้ก็ควรจะปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

การแยกโรค
   ในระยะแรกเริ่ม ที่มีอาการปวดตรงลิ้นปี่หรือรอบๆ สะดือ อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
   1.โรคกระเพาะ จะมีอาการจุกแน่นหรือปวดแสบตรงลิ้นปี่ มักมีอาการตอนก่อนหรือหลังกินข้าว และมักจะเป็นอยู่นาน ครึ่งชั่วโมง 1 ชั่วโมง แล้วก็จะทุเลาไป แต่จะกลับมากำเริบเมื่อถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป อาการมักจะทุเลาได้ด้วยการกินยาลดกรด
   2.นิ่วในถุงน้ำดี (นิ่วน้ำดี) จะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงลิ้นปี่ และใต้ชายโครงขวานานเป็นชั่วโมงๆ คลื่นไส้ อาเจียน อาการอาจ ทุเลาไปได้เอง แต่อาจกำเริบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารมันๆ
   3.ท้องเดิน มีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ รอบๆ สะดือ ร่วมกับถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วย
      ทั้ง 3 สาเหตุนี้ ไม่มีอาการกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา ถ้ามีก็ควรสงสัยว่าอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้
   4.กระเพาะ เป็นแผลทะลุ จะมีอาการปวดรุนแรงตรงบริเวณลิ้นปี่ติดต่อกันเกิน 6 ชั่วโมง ใจหวิว ใจสั่น บริเวณที่ปวดจะกดเจ็บและแข็งตึง หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์
   5.กระเพาะ ลำไส้อุดกั้น จะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ทั่วท้อง อาเจียนบ่อย นานเป็นวันๆ มักกินอาหารไม่ลง (จะอาเจียนทุกครั้ง) และถ่ายไม่ออก (ท้องผูก) อาจมีประวัติการผ่าตัดในช่องท้องมาก่อน หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์ ในรายที่มีอาการปวดตรงท้องน้อยข้างขวา อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น  เช่น
      1.ครรภ์นอกมดลูก จะมีอาการปวดเสียดท้องน้อย หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น หน้าตาซีดเซียว และมีประวัติขาดประจำเดือน หรือมีอาการแพ้ท้องมาก่อนหน้านี้ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล
      2.นิ่วในท่อไต จะมีอาการปวดเกร็งเป็นพักๆ ตรงท้องน้อย และปวดร้าวลงมาที่อัณฑะหรือช่องคลอดข้างเดียวกันจะไม่มีอาการกดเจ็บ หากสงสัยก็ควรรีบไปพบแพทย์
      3.ปวดประจำเดือน จะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงท้องน้อย เวลามีประจำเดือนอยู่ 3-4 วัน ก็จะหายไปเอง มักเป็นๆ หายๆ เวลามีประจำเดือนทุกเดือน จะไม่มีอาการกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา และไม่มีไข้ แต่ถ้าปวดรุนแรงและกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา ก็ควรรีบไปพบแพทย์
      4.ปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน จะมีไข้สูง ปวดและกดเจ็บตรงท้องน้อย อาจมีอาการขัดเบา ตกขาวร่วมด้วย หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์
      5.กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดและเคาะเจ็บตรงสีข้าง ปัสสาวะขุ่น อาจมีอาการขัดเบาร่วมด้วย หากสงสัยก็ควรรีบไปพบแพทย์

การวินิจฉัย
    ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง แพทย์จะใช้มืดกดหรือเคาะตรงบริเวณไส้ติ่ง ถ้าพบว่ามีอาการเจ็บปวด มากขึ้น ก็มักจะสงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบไว้ก่อน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม คือสวมถุงมือแล้วใช้นิ้วสอดเข้าทวารหนัก ถ้าพบว่าเมื่อแยงไปที่ปลายไส้ติ่งแล้วมีอาการเจ็บมาก ก็เพิ่มน้ำหนักของการวินิจฉัยโรคนี้นอกจากนี้ อาจทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด (พบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ),ตรวจปัสสาวะ (พบว่ามีเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ซึ่งปกติไม่ควรมี), เอกซเรย์,ตรวจอัลตราซาวนด์ (อาจพบก้อนฝีรอบๆ ไส้ติ่ง) เป็นต้น

การดูแลตนเอง 
   เมื่อมีอาการปวดท้องที่มีลักษณะไม่เหมือนอาการปวดโรคกระเพาะ ท้องเดิน หรือปวดประจำเดือนอย่างที่เคยเป็นมา ก็พึงให้สงสัยว่าอาจมีสาเหตุร้ายแรง โดยทั่วไปควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
   1.ปวดรุนแรง หรือปวดติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป
   2.กดหรือเคาะเจ็บตรงบริเวณที่ปวด
   3.อาเจียนบ่อย กินอะไรก็ออกหมด
   4.มีอาการหน้ามืด เป็นลม ใจหวิว ใจสั่น
   5.มีไข้สูง หรือหนาวสั่น
   6.หน้าตาซีดเหลือง
   7.กินยาบรรเทาปวดแล้วอาการไม่ทุเลาหรือกลับรุนแรงขึ้น

   ข้อสำคัญ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกร่วมด้วย ถ้าพบว่ามีอาการปวดท้องรุนแรงกว่าปกติ ก็ห้ามกินยาถ่าย หรือทำการสวนทวาร และถ้าสงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ควรจะงดกินอาหารและน้ำ เพื่อเตรียมตัวให้แพทย์ผ่าตัด

การรักษา  
   ถ้าตรวจพบว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ แพทย์จะทำการผ่าตัดไส้ติ่งอย่างเร่งด่วน (ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ ครึ่งชั่วโมง 1 ชั่วโมง อาจให้อยู่โรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน แล้วกลับไปพักฟื้นที่บ้าน และจะนัดมาตัดไหม หลังผ่าตัด 1 สัปดาห์
   ในรายที่พบว่ามีไส้ติ่งแตก (เพราะปล่อยให้เป็นอยู่นานกว่าจะพบแพทย์) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หลังผ่าตัดอาจต้องมีวิธีการดูแลรักษาแผลผ่าตัดเป็นการพิเศษแตกต่างจาก ไส้ติ่งอักเสบที่ยังไม่แตก และต้องให้อยู่พักรักษาในโรงพยาบาลนานกว่าปกติส่วนในรายที่มีอาการไม่ชัดเจน แพทย์อาจรับไว้ในโรงพยาบาล เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าต่อมาอาการชัดเจนว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็จะรีบทำการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อน 
   ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งอาจเน่าและแตกทะลุภายใน 24-36  ชั่วโมงหลังมีอาการบางคนอาจกลายเป็นฝีรอบๆ ไส้ติ่งแทรกซ้อนภาวะแทรกซ้อนมักพบบ่อยในเด็กเล็ก คนสูงอายุ และผู้ป่วยเบาหวาน
   ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาได้ทันกาลก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่ถ้าได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างถูกต้อง โอกาสตายก็นับว่าน้อยมาก

การดำเนินโรค 
   ถ้าได้รับการผ่าตัดภายใน 24-36  ชั่วโมง มักจะไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน และตัดไหมหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน ดังกล่าวข้างต้น และหลังผ่าตัดอาจมีการติดเชื้อของแผลผ่าตัดแทรกซ้อน ทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาได้

การป้องกัน
    เนื่องจากยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่ามีปัจจัยอะไรบ้างทำให้เป็นโรคนี้ จึงไม่อาจแนะนำวิธีป้องกันโรคนี้ได้
    มีข้อสังเกตว่า ประชากรที่นิยมกินอาหารพวกผักผลไม้มาก (เช่น ชาวแอฟริกา) จะมีอัตราการเป็นไส้ติ่งอักเสบน้อยกว่ากลุ่มที่กินผักผลไม้น้อย (เช่น ชาวตะวันตก) จึงมีการแนะนำให้พยายามกินผักผลไม้ให้มากๆ ทุกวัน ซึ่งมีผลดีต่อการป้องกันโรคท้องผูก ริดสีดวงทวาร โรคอ้วน และยังเชื่อว่าอาจป้องกันไส้ติ่งอักเสบ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

ความชุก 
   ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย แต่จะพบมากในช่วงอายุ 20-30 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ชายกับหญิงมีโอกาสเป็นเท่าๆ กัน แต่ใน ช่วงอายุ 20-30 ปี จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ที่่มา : //www.doctor.or.th

Smileyขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับSmiley




Create Date : 07 ตุลาคม 2555
Last Update : 7 ตุลาคม 2555 10:15:16 น. 0 comments
Counter : 3678 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kitpooh22
Location :
ตรัง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 27 คน [?]




สวัสดีครับ
..............................
ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม และมาเม้นให้ครับ



ขอบคุณครับ :-)
THX


วันเกิดบล็อก 25/5/2009
Google+
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2555
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
7 ตุลาคม 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kitpooh22's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.