ชนะคนอื่นเป็นร้อย ยังไม่ยากเท่าชนะตนแค่คนเดียว...
ต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากคืออะไร
     ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่พบในเพศชายอยู่บริเวณรอบท่อปัสสาวะส่วนต้นต่ำกว่าคอกระเพาะปัสสาวะ มีน้ำหนักปกติประมาณ 15 – 20 กรัม ทำหน้าที่ผลิตสารคัดหลั่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำอสุจิ ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย นอกจากนี้ในเนื้อของต่อมลูกหมากยังมีส่วนของกล้ามเนื้อเรียบเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งสามารถถูกกระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัวได้โดยระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเธติค

โรคต่อมลูกหมากโต
     คำว่าโรคต่อมลูกหมากโต เป็นคำที่ใช้กันมานานเนื่องจากเชื่อว่าการมีขนาดใหญ่ขึ้นของต่อมลูกหมากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ แต่ในปัจจุบันพบว่าขนาดของต่อมลูกหมากที่ตรวจพบนั้น ไม่สัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วยเสมอไป กล่าวคือ ผู้ป่วยที่ตรวจพบต่อมลูกหมากขนาดใหญ่ อาจมีอาการน้อยกว่าผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากปกติก็ได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากกลไกที่ต่อมลูกหมากทำให้เกิดการอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะนั้นแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ
     1) การอุดกั้นแบบคงที่ (static obstruction) เกิดจากการใหญ่ขึ้นของเนื้อต่อมลูกหมาก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศชาย
     2) การอุดกั้นแบบเคลื่อนที่ (dynamic obstruction) เกิดจากการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมาก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการกระตุ้นของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเธติก 
     จะเห็นได้ว่าต่อมลูกหมากที่ไม่โต อาจมีการอุดกั้นแบบเคลื่อนที่ และทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นก็ได้ ดังนั้น ปัจจุบันทางการแพทย์จึงหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “โรคต่อมลูกหมากโต” แต่ใช้คำว่า “อาการของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง (lower urinary tract symptoms, LUTS)” หรือ “การอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ (bladder outlet obstruction, BOO)” แทน และหากตรวจไม่พบพยาธิสภาพอื่นที่จะเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าวแล้ว จึงจะสรุปว่าอาการเหล่านี้เกิดจากพยาธิสภาพของต่อมลูกหมาก ซึ่งก็จะเรียกว่า “การอุดกั้นจากต่อมลูกหมาก (benign prostatic obstruction, BPO)” นั่นเอง อย่างไรก็ตามในที่นี้จะขอใช้คำว่า “โรคต่อมลูกหมากโต” เพื่อความกระชับและเข้าใจง่าย
     จากการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมาพบว่า ต่อมลูกหมากจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลและเนื้อเยื่อก่อน ซึ่งสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี ขึ้นไป แต่กว่าจะทำให้เกิดอาการได้นั้นมักจะเริ่มเมื่ออายุ 50 ปีไปแล้ว ดังนั้น การจะวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตนั้น จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอายุของผู้ป่วยเป็นองค์ประกอบด้วย เช่น ผู้ป่วยชาย 2 คน อายุ 30 ปี กับ 60 ปี มาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะลำบากเหมือนกัน ผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต่อมลูกหมากโตได้มากกว่า ในขณะที่ผู้ป่วยอายุ 30 ปี น่าจะมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่นโรคท่อปัสสาวะตีบ หรือ โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

อาการของโรคต่อมลูกหมากโต
  1. อาการของการอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งนอกจากจะเกิดจากการขัดขวางการไหลของปัสสาวะโดยตรงแล้ว การอุดกั้นนี้ยังส่งผลต่อการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะด้วย โดยอาจเกิดการบีบตัวไวเกิน (overactive bladder) หรือ สูญเสียการบีบตัวเนื่องจากการล้าของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ (underactive bladder) ได้ อาการเหล่านี้ได้แก่
     1.1 ลำปัสสาวะอ่อนแรง (poor stream) ผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวะพุ่งน้อยลงเรื่อยๆ และหากเป็นมากอาจมีปัสสาวะไหลลงมาเลอะปลายเท้าในขณะยืนถ่ายปัสสาวะได้ รวมทั้งอาจมีการหยดในช่วงท้ายของการถ่ายปัสสาวะ (terminal dripping) ด้วย
     1.2 ลำปัสสาวะขาดตอน (intermittency) ผู้ป่วยจะปัสสาวะออกมาเป็นช่วงๆ มีการหยุดของลำปัสสาวะและต้องตั้งต้นการถ่ายปัสสาวะใหม่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาหมด
     1.3 เริ่มถ่ายปัสสาวะด้วยการเบ่ง (straining) ผู้ป่วยจะต้องทำการเบ่ง เพื่อเริ่มการถ่ายปัสสาวะ ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นตั้งแต่พร้อมจะถ่ายปัสสาวะ จนถึงเวลาที่ปัสสาวะไหลออกมาบางครั้งจึงเรียกอาการนี้ว่าปัสสาวะต้องรอ (hesitancy) และหากเป็นมากอาจต้องเบ่งตลอดการถ่ายปัสสาวะเลยก็ได้ ทำให้อัตราไหลของปัสสาวะไม่สม่ำเสมอ
     1.4 รู้สึกปัสสาวะไม่สุด (sense of incomplete emptying) แม้ว่าจะถ่ายปัสสาวะจนเสร็จและแต่งตัวออกจากห้องน้ำแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังรู้สึกปวดปัสสาวะอยู่ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีปัสสาวะตกค้าง (residual urine) มากผิดปกติ
     1.5 ปัสสาวะบ่อย (frequency) ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าต้องไปถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกติ วิธีการที่จะสังเกตอาการนี้ได้ง่ายคือ การต้องไปถ่ายปัสสาวะในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงนับจากการถ่ายปัสสาวะครั้งล่าสุด
     1.6 ปัสสาวะกลางคืน (nocturia) ผู้ป่วยต้องตื่นขึ้นมาเพื่อไปถ่ายปัสสาวะแล้วกลับไปนอนหลับต่อ มักเป็นอาการเริ่มแรกของต่อมลูกหมากโต และมักจะรบกวนการนอนหลับที่มีคุณภาพได้
     1.7 ปัสสาวะต้องรีบ (urgency) เวลาปวดปัสสาวะผู้ป่วยจะมีอาการปวดปัสสาวะมากขึ้นทันที และมีความรู้สึกว่าปัสสาวะกำลังจะไหลออกมา ไม่สามารถที่จะอั้นปัสสาวะต่อไปได้ ต้องรีบไปเข้าห้องน้ำทันที หากเป็นมากอาจมีอาการปัสสาวะเล็ดราดร่วมด้วย (urgency incontinence) อาการนี้อาจเกิดขึ้นเองทันที หรืออาจต้องมีสิ่งมากระตุ้นก่อนก็ได้ เช่น อากาศเย็น, การสัมผัสน้ำเวลาอาบน้ำ หรือล้างมือ และการเห็นประตูห้องน้ำหรือโถปัสสาวะ
     1.8 ปัสสาวะคั่งเฉียบพลัน (acute urinary retention) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดปัสสาวะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกมาได้ บางครั้งอาจมีปัสสาวะไหลซึมตลอดเวลา เนื่องจากการล้นออกมา อาการนี้มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาห้องฉุกเฉิน เพื่อใส่สายสวนปัสสาวะ
  2 อาการของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตมานาน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะอื่นของระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ, ท่อไตและไต อาการเหล่านี้ ได้แก่
     2.1 การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection, UTI) มีสาเหตุจากการมีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตขึ้นของเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด, ปัสสาวะขุ่นมีกลิ่นเหม็น และอาจมีไข้หนาวสั่นได้หากการติดเชื้อลามขึ้นไปยังไต
     2.2 การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (bladder stone) มีสาเหตุจากการมีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการจับตัวของสารละลายในปัสสาวะและเกิดการก่อตัวเป็นก้อนนิ่วขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะสะดุด, การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมีปัสสาวะเป็นเลือดได้
     2.3 อาการปัสสาวะเป็นเลือด (hematuria) มีสาเหตุจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, การเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจจะมีเลือดออกจากตัวต่อมลูกหมากที่โตได้ อาการนี้อาจมีตั้งแต่การตรวจเจอเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ โดยที่ปัสสาวะยังสีปกติอยู่ (microscopic hematuria) จนถึงการที่มีปัสสาวะเป็นเลือดเห็นได้ด้วยตาเปล่า (gross hematuria) หากเป็นมากอาจเกิดลิ่มเลือดในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสามารถอุดกั้นทำให้ปัสสาวะคั่งเฉียบพลันได้
     2.4 การทำงานของไตเสื่อมลง (renal deterioration) มีสาเหตุจากการที่ต่อมลูกหมากโตไปกดเบียดท่อไตทั้ง 2 ข้าง หรือจากการที่ความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงอย่างเรื้อรังอันเนื่องมาจากการอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะจากไตไหลลงสู่กระเพาะปัสสาวะได้ยากขึ้นและเกิดการคั่งการปัสสาวะในทางเดินปัสสาวะส่วนบนตามมา (hydronephrosis) ไตจะทำการสร้างปัสสาวะและขับของเสียออกได้น้อยลง จึงเกิดการคั่งของ ของเสียในร่างกายขึ้น และมีอาการของภาวะไตวายตามมา เช่น อาการอ่อนเพลีย, เบื่ออาหาร, คลื่นไส้อาเจียนและบวม หากได้รับการแก้ไขทันท่วงที การทำงานของไตก็จะกลับสู่สภาพเดิม แต่หากปล่อยทิ้งไว้ การทำงานของไตอาจเกิดการเสียหายอย่างถาวร และทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมา

การวินิจฉัยโรค
  1. การซักประวัติ แพทย์จะถามอาการของผู้ป่วยว่าเริ่มเมื่อไร และดำเนินมาอย่างไร โดยมักจะมีการประเมินอาการของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง 7 อาการ (ข้อ 1.1 – 1.7) ออกมาเป็นคะแนน ตามแบบประเมินที่เรียกว่า International Prostatic Symptom Score หรือ IPSS ซึ่งนอกจากจะประเมินความรุนแรงของอาการทั้ง 7 อาการข้างต้นแล้ว ยังช่วยประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอีกด้วย ว่าได้รับผลกระทบจากโรคต่อมลูกหมากโตมากน้อยเพียงใด คะแนนเหล่านี้จะนำไปเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาวิธีการรักษา และสามารถใช้ประเมินผลของการรักษานั้นๆ ด้วยการเปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังการรักษา
     นอกจากนี้ ในการซักประวัติแพทย์จะถามถึงอาการของโรคอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของอาการของทางเดินปัสสาวะส่วนล่างนอกเหนือจากโรคต่อมลูกหมากโต ได้แก่
     - โรคของท่อปัสสาวะ เช่น ท่อปัสสาวะตีบ, ท่อปัสสาวะอักเสบ, นิ่วในท่อปัสสาวะ และโรคมะเร็งท่อปัสสาวะ
     - โรคของกระเพาะปัสสาวะ เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะพิการจากระบบประสาท
  2. การตรวจร่างกาย
     2.1 การตรวจต่อมลูกหมาก ทำโดยแพทย์ใช้นิ้วสอดเข้าทางทวารหนักของผู้ป่วยเพื่อคลำต่อมลูกหมากจากทางด้านหลัง เพื่อตรวจดูลักษณะของต่อมลูกหมากว่ามีลักษณะบ่งชี้ไปทางโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ และประเมินคร่าวๆ ว่าต่อมลูกหมากมีขนาดโตเพียงใด
     2.2 การตรวจคลำกระเพาะปัสสาวะ ทำโดยการคลำบริเวณท้องน้อยของผู้ป่วยว่ากระเพาะปัสสาวะโป่งตึงผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการคั่งของปัสสาวะได้
     2.3 การตรวจอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะ เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เช่น หนังหุ้มปลายไม่เปิด, ท่อปัสสาวะตีบ, นิ่วในท่อปัสสาวะ เป็นต้น
     2.4 การตรวจระบบประสาทอย่างคร่าวๆ เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติของระบบประสาทซ่อนอยู่หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะพิการจากระบบประสาท และเป็นสาเหตุของอาการของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
  3. การตรวจปัสสาวะ
     เป็นการตรวจเพื่อดูว่ามีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ หรือมีเลือดออกในทางเดินปัสสาวะหรือไม่ ซึ่งเป็นการคัดกรองอย่างคร่าวๆ ของโรคที่อาจซ่อนอยู่และเป็นสาเหตุของอาการของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต เช่น นิ่วทางเดินปัสสาวะ, การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นต้น
  4. การตรวจการทำงานของไต
     เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูระดับค่าของเสียในเลือด ซึ่งเป็นการประเมินคร่าวๆ ถึงการทำงานของไต
  5. การตรวจเลือดหาระดับ “พีเอสเอ” (PSA = prostatic specific antigen)
     เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หากพบว่าค่าพีเอสเอสูงกว่าปกติ แพทย์จะพิจารณาทำการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อหาเซลมะเร็งต่อมลูกหมาก
  6. การตรวจอัตราไหลของปัสสาวะร่วมกับการวัดปัสสาวะตกค้าง
     เป็นการตรวจโดยให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะใส่เครื่องตรวจ ซึ่งจะคำนวณอัตราไหลของการถ่ายปัสสาวะออกมาเป็นตัวเลข และเมื่อถ่ายปัสสาวะแล้วก็จะทำการวัดปริมาณปัสสาวะที่ยังคงเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โดยเครื่องอัลตราซาวด์ หรือการสวนสายสวนปัสสาวะ
  7. การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ
     เป็นการตรวจโดยใช้กล้องส่องตรวจ สอดเข้าทางปลายท่อปัสสาวะ ย้อนกลับเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อดูพยาธิสภาพต่างๆ ภายใน มักใช้ตรวจ หากสงสัยสาเหตุอื่นของการอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ หรือสงสัยว่าจะมีพยาธิสภาพอื่นร่วมด้วย เช่น ท่อปัสสาวะตีบ, นิ่วในท่อปัสสาวะ, นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคต่อมลูกหมากโต การส่องกล้องเพื่อดูบริเวณต่อมลูกหมากจะช่วยในการพิจารณาวิธีการผ่าตัดอีกด้วย
  8. การตรวจทางรังสีวิทยาของทางเดินปัสสาวะส่วนบน 
    เป็นการตรวจโดยใช้วิธีการทางรังสีวิทยา เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของทางเดินปัสสาวะส่วนบน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากโรคต่อมลูกหมากโต และเพื่อดูพยาธิสภาพอื่นของทางเดินปัสสาวะส่วนบน ในกรณีที่สงสัย วิธีการตรวจที่พบบ่อย คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียง (Ultrasonography) และการตรวจด้วยการฉีดสารทึบรังสี (intravenous pyelography, IVP) เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย ดังที่ได้กล่าวไปหลังจากนั้น จะพิจารณาส่งตรวจปัสสาวะและเลือดเพื่อดูการทำงานของไต และค่าพีเอสเอ สำหรับการตรวจอัตราไหลของปัสสาวะนั้น แพทย์บางท่านจะส่งตรวจในผู้ป่วยทุกคน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนเริ่มการรักษา ในขณะที่แพทย์บางท่านจะเลือกส่งตรวจในผู้ป่วยบางคนเท่านั้น ส่วนการตรวจด้วยการส่องกล้อง และการตรวจทางรังสีของทางเดินปัสสาวะส่วนบน จะทำในกรณีที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น

การรักษา
  1. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
     ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย การให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวสามารถทำให้อาการของผู้ป่วยลดน้อยลงได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ ที่จะกล่าวต่อไปได้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 
     1.1 หลีกเลี่ยงการอั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ เพราะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะยืดมากเกินไป และสูญเสียการบีบตัว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะปัสสาวะคั่งเฉียบพลันได้
     1.2 หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะทำงานไวกว่าปกติ ทำให้ต้องไปถ่ายปัสสาวะบ่อย
     1.3 หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะส่งผลให้เกิดการสร้างปัสสาวะปริมาณมากในเวลาอันสั้น ทำให้ต้องไปถ่ายปัสสาวะบ่อย
     1.4 หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ช่วงก่อนนอน เพราะจะทำให้มีปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้นในขณะที่หลับ ส่งผลให้ต้องตื่นมาถ่ายปัสสาวะคืนละหลายครั้ง
     1.5 ระวังเรื่องท้องผูก เพราะจะทำให้ถ่ายปัสสาวะลำบาก จนถึงอาจเกิดภาวะปัสสาวะคั่งเฉียบพลันได้
  2. การรักษาทางยา แบ่งออเป็น 2 กลุ่มตามการออกฤทธิ์ของยาดังนี้
     2.1 ยาต้านระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเธติก ทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่เป็นองค์ประกอบของต่อมลูกหมากคลายตัว จึงช่วยลดการอุดกั้นแบบเคลื่อนที่ได้ ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์เร็ว โดยมักเริ่มเห็นผลในเวลา 2 – 3 วัน ยารุ่นแรกๆ จะออกฤทธิ์สั้น ทำให้ต้องกินยาวันละ 2 – 3 ครั้ง อีกทั้งยังมีผลทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง โดยเฉพาะในช่วงแรกที่เริ่มรับประทานผู้ป่วยอาจมีอาการหน้ามืดเวลาลุกขึ้นเร็วๆ ได้ แพทย์จึงมักจะต้องให้ยาขนาดต่ำๆ ก่อนแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนได้ผลการรักษา วิธีนี้จะช่วยทำให้ร่างกายมีระยะเวลาในการปรับตัวในเรื่องของความดันโลหิตได้ดีขึ้น ปัจจุบันยารุ่นใหม่ๆ ในกลุ่มนี้จะได้รับการพัฒนาให้ออกฤทธิ์จำเพาะกับต่อมลูกหมากมากขึ้น และเป็นการออกฤทธิ์แบบยาวนานขึ้น ทำให้มีผลต่อความดันโลหิตน้อยลง อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมียาลดความดันชนิดอื่นอยู่ด้วยแม้จะใช้ยาต้านระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเธติกรุ่นใหม่ ก็ยังสามารถทำให้ความดันลิตลดต่ำลงได้เช่นกัน ดังนั้นหากได้รับยาในกลุ่มนี้ แล้วมีอาการผิดปกติดังกล่าวอย่างมาก หรืออาการไม่ดีขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ผู้ป่วยควรหยุดยากลุ่มนี้ไว้ก่อน และแจ้งให้แพทย์ทราบในการนัดพบครั้งต่อไป
     2.2 ยาต้านเอนไซม์ 5 – อัลฟ่ารีดัคเตส ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญที่ทำหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไปเป็นไดไฮโดรเทสโทสเตอโรนที่มีฤทธิ์เพิ่มขึ้นในการกระตุ้นต่อมลูกหมากให้โตขึ้น ดังนั้นเมื่อยับยั้งเอนไซม์ตัวนี้แล้ว ระดับไดไฮโดรเทสโทสเตอโรนก็จะลดลง ส่งผลให้ต่อมลูกหมากที่เคยโต เกิดการฝ่อลงด้วย จึงช่วยลดการอุดกั้นแบบคงที่ได้ ยากลุ่มนี้จึงเหมาะในผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากขนาดใหญ่ แต่กว่าจะเห็นผลการรักษาได้นั้น อาจต้องใช้เวลานานกว่า 6 เดือน
  3. การรักษาด้วยการผ่าตัด
     3.1 การส่องกล้องตัดต่อมลูกหมาก (Transurethral resection of prostate, TUR-P) เป็นการผ่าตัดโดยการส่องกล้องย้อนกลับเข้าไปทางท่อปัสสาวะและใช้ลวดไฟฟ้าคว้านเอาเนื้อต่อมลูกหมากออกมา เพื่อแก้ไขการอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ ภายหลังการผ่าตัด แพทย์จะคาสายสวนปัสสาวะไว้จนปัสสาวะใสดีแล้วจึงจะถอดสายสวนออก ซึ่งมักจะใช้เวลาประมาณ 1 – 3 วัน อย่างไรก็ตามแผลบริเวณที่ทำผ่าตัดอาจใช้เวลาประมาณ 2 – 3 เดือนกว่าจะหายสนิท ดังนั้นผู้ป่วยจึงอาจมีอาการปัสสาวะแสบเป็นบางครั้ง แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการออกแรงหนัก หรือการยกของหนักในช่วง 2 – 3 เดือนแรกนี้ไปก่อน เพราะอาจทำให้เลือดออกมาขึ้นรวมทั้งมักให้ยาระบายเพื่อป้องกันอาการท้องผูกอันเป็นสาเหตุทำให้ต้องออกแรงเบ่งด้วย การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ปัจจุบันถือว่าเป็นการรักษามาตรฐานของโรคต่อมลูกหมากโต
     3.2 การผ่าตัดเปิดเพื่อตัดต่อมลูกหมาก (open prostatectomy) เป็นการผ่าตัดเปิดเข้าไปยังบริเวณต่อมลูกหมาก แล้วตัดเอาเนื้อต่อมลูกหมากที่โตทางด้านในออก มักใช้วิธีนี้ในกรณีที่ต่อมลูกหมากโตมากจนไม่สามารถจะส่องกล้องตัดต่อมลูกหมากออกได้สมบูรณ์ในครั้งเดียว อย่างไรก็ตามการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะเจ็บตัวมากกว่า และต้องการพักฟื้นที่นานกว่าการส่องกล้องตัดต่อมลูกหมากออก ภายหลังการผ่าตัดแพทย์จะคาสายสวนปัสสาวะไว้เช่นกัน แต่กว่าจะถอดสายสวนออกได้นั้นมักใช้เวลาประมาณ 5 – 7 วัน คำแนะนำในช่วงพักฟื้น 2 – 3 เดือนแรกนั้น ไม่แตกต่างกับการส่องกล้องตัดต่อมลูกหมาก
     3.3 การผ่าตัดแบบอื่นๆ เช่น การใช้คลื่นวิทยุ หรือคลื่นไมโครเวฟทำลายต่อมลูกหมาก, การใช้กระแสไฟฟ้าทำลายต่อมลูกหมาก และการใช้เลเซอร์ทำลายต่อมลูกหมากเป็นต้น วิธีเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อลดผลข้างเคียงของการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องตัดต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเสียเลือดในขณะที่ทำผ่าตัด อย่างไรก็ตามผลการรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้ยังด้อยกว่าการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องตัดต่อมลูกหมาก วิธีการเหล่านี้จึงยังเป็นเพียงทางเลือกในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมาก และอาจเป็นอันตรายหากมีการเสียเลือดมากและเร็วเกินไป

การรักษาด้วยการผ่าตัดนี้จะพิจารณาทำในกรณีดังต่อไปนี้
   - มีปัสสาวะคั่งเฉียบพลันมากกว่า 1 ครั้ง
   - มีปัสสาวะเป็นเลือดแบบซ้ำๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากต่อมลูกหมาก 
   - มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแบบซ้ำๆ
   - มีการโป่งยื่นออกไปเป็นถุงของกระเพาะปัสสาวะ
   - มีการเสื่อมของการทำงานของไตอันเนื่องมาจากโรคต่อมลูกหมากโต
   - ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคด้วยยากิน
   - ผู้ป่วยต้องการ

การป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต
     การป้องกันโรคต่อมลูกหมากโตนั้นมีเป้าหมาย เพื่อลดการอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะทั้ง 2 แบบ ที่กล่าวมา โดยตามหลักฐานทางการแพทย์ที่มีปัจจุบันพอจะรวบรวมได้ดังนี้
  1. อาหาร
     เริ่มมาจากการสังเกตพบว่า ชาวญี่ปุ่นเป็นโรคต่อมลูกหมากโตน้อยกว่าชาวอเมริกัน แต่หากชาวญี่ปุ่นย้ายไปอยู่อาศัยในประเทศอเมริกาตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะทำให้ชาวญี่ปุ่นคนนั้นมีโอกาสเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ไม่แตกต่างกับชาวอเมริกันเลย จากการสังเกตดังกล่าวเชื่อว่าสามารถอธิบายได้จากอาหารเป็นสำคัญ กล่าวคือ ชาวญี่ปุ่นมันจะบริโภคผัก ผลไม้ และธัญพืชเป็นหลัก ในขณะที่ชาวอเมริกันบริโภคอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไขมัน เนย นม และผลิตภัณฑ์จากนมเป็นประจำ การศึกษาต่อๆ มาจึงพบว่าสารพวกไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) มีคุณสมบัติช่วยลดการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศชายต่อต่อมลูกหมากได้ ดังนั้น หากได้รับต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เชื่อว่าน่าจะยับยั้งการโตขึ้นของต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นสาเหตุของการอุดกั้นแบบคงที่ได้ สารไฟโตเอสโตรเจนนี้พบมากในผัก ผลไม้ และธัญพืช เช่น แอปเปิ้ล แตงโม หัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง เมล็ดต้นแฟลกซ์ (flax) ข้าว กระชาย ไพล พลัม สาลี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการค้นพบสารต้านอนุมูลอิสระในอาหาร ซึ่งเชื่อว่าสามารถยับยั้งการโตขึ้นของต่อมลูกหมากได้เช่นกัน ซึ่งสารนี้พบในมะเขือเทศ ใบชา และชาเขียว
     ดังนั้นการบริโภคอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น และลดการบริโภคอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ และไขมันให้น้อยลง จึงน่าจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคต่อมลูกหมากโตได้
  2. การดูแลสุขภาพของร่างกายและจิตใจ
     เริ่มมาจากการสังเกตพบว่า คนที่มีเส้นเลือดแข็ง (atherosclerosis) มักมีปัญหาของโรคต่อมลูกหมากโตด้วย เชื่อว่าอธิบายได้จากการมีเลือดไปเลี้ยงต่อมลูกหมากน้อยลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่อมลุกหมากโตได้ การมีเส้นเลือดแข็งนี้พบได้ในคนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือด และโรคอ้วน นอกจากนี้การสูบบุหรี่ ภาวะความเครียด และการขาดการออกกำลังกาย ก็มีส่วนสำคัญทำให้เส้นเลือดแข็งได้ นอกจากการอธิบายสาเหตุการมีเลือดไปเลี้ยงต่อมลูกหมากน้อยแล้ว ยังสามารถอธิบายได้จากเรื่องของการมีระดับการกระตุ้นของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเธติกสูงกว่าคนทั่วๆ ไป ในคนที่เป็นโรคหรือมีภาวะดังกล่าวด้วย ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากหดรัดตัว และส่งผลให้เกิดการอุดกั้นแบบเคลื่อนที่ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นได้
     ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอและลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคข้างต้น จึงน่าจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคต่อมลูกหมากโตได้ 
     แม้ว่าการศึกษาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันในเรื่องของการป้องกันโรคต่อมลูกหมากโตจะยังไม่มีมาก และเป็นการศึกษาในแนวบรรยายหรือสังเกตเสียส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่าการป้องกันโรคต่อมลูกหมากโตนั้นมีความเป็นไปได้สูง และน่าจะนำมาปฏิบัติได้จริงในอนาคต ภายหลังจากมีการศึกษาที่สนับสนุนมากขึ้นกว่านี้

ขอบคุณข้อมูลจาก : หน่วยสุขศึกษา ฝ่ายผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย




Create Date : 14 กรกฎาคม 2557
Last Update : 14 กรกฎาคม 2557 10:00:10 น. 0 comments
Counter : 7640 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kitpooh22
Location :
ตรัง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 27 คน [?]




สวัสดีครับ
..............................
ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม และมาเม้นให้ครับ



ขอบคุณครับ :-)
THX


วันเกิดบล็อก 25/5/2009
Google+
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2557
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
14 กรกฏาคม 2557
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kitpooh22's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.