ชนะคนอื่นเป็นร้อย ยังไม่ยากเท่าชนะตนแค่คนเดียว...

วิวัฒนาการบัตรประจำตัวประชาชน

วิวัฒนาการบัตรประจำตัวประชาชน
"บัตรประจำตัวประชาชน" เป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเพื่อใช้พิสูจน์ทราบและยืนยันตัวบุคคลนับได้ว่าเป็นเอกสารที่มี เช่น การใช้สิทธิเลือกตั้งการสมัครงาน การติดต่อธุรกิจการค้า การทำนิติกรรมสัญญา และการติดต่อประสานงานกับส่วนราชการหรือภาคเอกชน
นอกจากนั้นยังเป็นหลักฐานที่หน่วยงานต่าง ๆ ใช้ตรวจสอบบุคคลเพื่อประกอบการออกหนังสือสำคัญต่าง ๆ เฉพาะด้าน เช่นบัตรประจำตัวผู้ป่วยของโรงพยาบาล ใบอนุญาตขับรถ หนังสือเดินทาง หรือแม้แต่บัตรเครดิตประเภทต่างๆ ที่นิยมใช้กันในวงการของสถาบันการเงิน และการธนาคาร ซึ่งหากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ความยุ่งยากสับสนในการยืนยันตัวบุคคลย่อมเกิดขึ้นอีกทั้งจะส่งผลทำให้การติดต่อดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ ไม่อาจดำเนินการไปได้ด้วยความสะดวกรวดเร็ว"หนังสือเดินทางสำหรับราษฎร": ต้นกำเนิดของบัตรประจำตัวประชาชน
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถชี้ชัดได้ว่าคนไทยเริ่มมีการใช้หนังสือยืนยันตัวบุคคลปรากฎอยู่ใน พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยในมาตรา 90 บัญญัติว่า "กรมการอำเภอเป็นพนักงานทำหนังสือเดินทางสำหรับราษฎรในท้องที่อำเภอนั้น จะนำไปมาค้าขายในท้องที่อื่น"
วัตถุประสงค์ของการออกหนังสือเดินทางรับรองราษฎรดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของราษฎรโดยตรง เพราะการมีหนังสือเดินทางของทางราชการไว้แสดงตัวบุคคลว่า ตัวเขาเป็น ใคร มาจากแห่งหนตำบลใด ย่อมทำให้การเดินทางในต่างท้องที่เป็นไปด้วยความสะดวก และหากเจ้าหน้าที่เกิดความสงสัยขอตรวจค้นตัว ก็สามารถใช้หนังสือเดินทางที่ออกให้ เป็นหลักฐานยืนยันและพิสูจน์ได้ว่า เป็นคนบริสุทธิ์ที่ทางราชการรับรองแล้ว ไม่ได้เป็นพวกมิจฉาชีพหรือพวกโจรแต่อย่างใด
หนังสือดังกล่าวจึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยนั้นและเหมาะสมกับสภาพการเวลาของสังคมเมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว ความสำคัญของหนังสือเดินทางตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ จึงไม่แตกต่างไปจากความสำคัญของบัตรประจำตัวประชาชนในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าต้นกำเนิดของบัตรประจำตัวประชาชนมีที่มาจากหนังสือเดินทางสำหรับราษฎร เพื่อใช้เดินทางไปท้องที่ที่อื่นสำหรับการค้าขายติดต่อกันโดยมีกรมการอำเภอ(หรือนายอำเภอปัจจุบัน) เป็นพนักงานทำหนังสือดังกล่าวพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พุทธศักราช 2486 : กฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนฉบับแรกของไทย
ผลของการออกหนังสือเดินทางสำหรับราษฎรตาม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ทำให้ทางราชการเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำเอกสารเป็นหลักฐาน เพื่อแสดงว่าใครคือใคร อยู่ที่ไหน รูปพรรณเป็นอย่างไร เพื่อประโยชน์ในการปกครองท้องที่และการควบคุมราษฏรของทางราชการ รวมทั้งประชาชนก็จะได้ประโยชน์ในการติดต่อซึ่งกันและกันโดยเฉพาะการทำมาค้าขาย
ดังนั้นในปี พ.ศ. 2486 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่8 รัฐบาลโดยการนำของจอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เสนอออกกฎหมาย ว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะครั้งแรก เรียกว่า "พระราชบัญญัติ บัตรประจำตัวประชาชน พุทธศักราช 2486"นับเป็นกฏหมายฉบับแรกที่เกี่ยวกับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่คนไทย แต่ประกาศและบังคับใช้เฉพาะราษฎรในจังหวัดสองจังหวัดเท่านั้น คือ จังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน)
บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นแรก มีลักษณะเป็นบัตรรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พับเป็น 4 ตอนคล้ายบัตรยืมหนังสือของห้องสมุดมีทั้งหมด 8 หน้า แต่ละตอนกว้าง 4 นิ้ว ยาว 3 นิ้ว ตัวบัตรใช้ได้ทั้ง2ด้านด้านหน้า(ปกหน้า) จะมีรูปครุฑและคำว่า "บัตรประจำตัวประชาชน" พร้อมเลขทะเบียนที่ออกบัตร ด้านหลัง (ปกหลัง) เป็นคำเตือนสำหรับผู้ถือบัตร ให้ระลึกถึงหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนอาทิเช่น ต้องพกบัตรติดตัวและแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้เสมอต้องขอเปลี่ยนบัตรเมื่อบัตรหมดอายุต้องแจ้งขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในบัตรเมื่อมีการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หรือที่อยู่ เป็นต้น


^บัตรรุ่นที่หนึ่ง บัตรประจำตัวประชาชนแบบสมุดพก^


ในแต่ละหน้าต่อมาจะมีการบอกลำดับเลขไว้ดังนี้
หน้าที่ 1 ระบุข้อความว่า เลขทะเบียนที่ออกบัตร วันที่ออกบัตรออกให้ ณ ที่อำเภอ จังหวัด พร้อมปิดรูปถ่ายของผู้ถือบัตรนาด 2 นิ้ว และมีลายมือผู้ถือบัตรและลาย พิมพ์นิ้วหัวแม่มือขวา
หน้าที่ 2 เป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ถือบัตร ได้แก่ ชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล วันเดือน ปีเกิด อายุ ตำหนิแผลเป็น รูปพรรณเชื้อชาติ สัญชาติ ชื่อบิดา มารดา ชื่อภริยา หรือ สามี
หน้าที่ 3 เป็นข้อมูลทางทะเบียนราษฎร ได้แก่ ที่เกิด บ้านเลขที่ ตำบล อำเภอ จังหวัดประเทศที่อยู่บ้านเลขที่ ถนนหมู่บ้าน ตำบลอำเภอ จังหวัดอาชีพ และมีตราประจำตำแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่
หน้าที่ 4 - 6 มีไว้สำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงรายการของผู้ถือบัตร ลักษณะพื้นบัตร เป็นสีฟ้าอมเขียว มีลายเทพพนมตลอดใบ ด้านหน้าและด้านหลัง ในแต่ละหน้าจะมีรูปแผนที่ประเทศไทย และรูปเรือสุพรรณหงส์กับวัดอรุณราชวราราม เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลางรูปประเทศไทย
บัตรประจำตัวประชาชนตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีอายุการใช้ 10 ปี เมื่อบัตรหมดอายุแล้ว ต้องทำคำร้องขอปลี่ยนบัตรโดยเสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 25 สตางค์ ส่วนบุคคลซึ่งจะต้องมีบัตรตามกฎหมาย คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์จนถึง 70 ปีบริบูรณ์ และกำหนดให้ยื่นคำร้อง ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นต้องมีบัตรตามพระราชบัญญัตินี้พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พุทธศักราช 2505: กฎหมายที่บังคับให้คนไทยทั่วประเทศต้องมีบัตร
ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองโดยเฉพาะความเจริญของภูมิภาคส่งผลให้ราชการ และประชาชนคนไทยต้องปรับตัวและ ปรับวิถีทางของความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การติดต่อทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนก็เปิดกว้างขวางขึ้น
บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นแรก มีจุดอ่อนในด้านการพกพา ทั้งนี้เนื่องจากมีลักษณะใหญ่เกินไป ทำให้เกิดความไม่สะดวก ต่อผู้ใช้ที่จะต้องนำพกพาติดตัวไปด้วยเสมอ ประกอบกับลักษณะของบัตร หลักการ และวิธีการทางกฎหมายในเรื่องการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนก็ล้าสมัยรัฐบาลในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงกฎหมาย ว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและให้สามารถบังคับใช้กับประชาชนคนไทยทั่วประเทศ
ในที่สุดจึงได้ออก "พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505" ซึ่งให้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2506 เป็นต้นมาโดยการออกบัตรจะมี "กรมการปกครอง" เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการออกบัตรประจำตัวประชาชนทั่วประเทศ
สาะระสำคัญที่แตกต่างไปฉบับปี พ.ศ. 2486 มีหลายประการ อาทิ เช่น กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ต้องมีบัตรต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุระหว่าง 17 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ บัตรมีอายุ 6 ปี กำหนดค่าธรรมเนียมในการออกบัตรหรือเปลี่ยนบัตร ไว้ฉบับละ 5 บาท และให้ยกเลิกบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นแรก เปลี่ยนมาใช้บัตรรุ่นใหม่แทน
ลักษณะของบัตรรุ่นที่สองเป็นบัตรรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 6 เซ็นติเมตร ยาว 9 เซ็นติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปตราครุฑอยู่ตรงกลาง มีข้อความ "สำนักงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนกระทรวงมหาดไทย" วันที่ออกบัตรและวันบัตรหมดอายุด้านหลังจะเป็นรายการของผู้ถือบัตร ประกอบด้วย รูปถ่ายที่มีเส้นบอกส่วนสูงเป็นนิ้วฟุต ใต้รูปจะมีเลขและคัวอักษรแสดงถึงอำเภอที่ออกบัตรและเลขทะเบียนบัตรและตราประจำตำแหน่งเจ้าพนักงานออกบัตร ปรากฎอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนด้านขวาจะมีชื่อตัวชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด อายุ ที่อยู่ และลายมือชื่อเจ้าพนักงานออกบัตร


^บัตรรุ่นที่สอง^

บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่สองนี้เป็นบัตรรูปขาว-ดำ รายการผู้ถือบัตรพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดา คนไทยได้ทำบัตรรุ่นนี้ ตั้งแต่ปี 2506 จนถึงสิ้นปี 2530 รวม 24 ปี ประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบัตรจึงเป็นที่รู้จักและแพร่หลายของคนไทยในช่วง ระหว่างปีดังกล่าวพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พุทธศักราช 2526 : กฎหมายฉบับปัจจุบัน
พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 ใช้บังคับได้ประมาณ 21 ปีพบจุดอ่อนหลายประการข้อสำคัญคืออายุของผู้ที่จะต้องมีบัตรที่กำหนดไว้17ปีบริบูรณ์ ไม่สัมพันธ์กับกฎหมายคุ้มครองแรงงานประกอบกับกฎหมายฉบับนี้กำหนดการให้นับอายุตามปีพุทธศักราช ทำให้จำนวนประชาชนผู้ขอยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จะมายื่นทำบัตรกันมากในช่วงตั้งแต่วันที่1มกราคมจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ปัญหาทางข้อกฎหมายทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ในสมัยรัฐบาลที่มี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้ยกเลิก พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 และตรา "พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526" ขึ้นใช้บังคับแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2526 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
กฎหมายฉบับนี้ มีข้อเด่นในเรื่องการปรับปรุงจุดอ่อนของกฎหมายฉบับก่อน ได้แก่ การลดอายุของผู้ที่จะต้องขอมีบัตรจาก17 ปีบริบูรณ์ เป็น15ปีบริบูรณ์เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานการนับอายุผู้ขอมีบัตร15ปีบริบูรณ์ให้นับชนวันเดือนปีเกิดของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นการนับอายุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนั้น ได้ขยายระยะเวลาการขอมีบัตรเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 60 วัน เป็น 90 วัน กำหนดให้บัตรที่ยังใช้ได้ในวันที่ผู้ถือบัตรมีอายุครบ70ปีบริบูรณ์ สามารถใช้ได้ต่อไปจนกว่าผู้ถือบัตรจะเสียชีวิต กำหนดลักษณะความผิดเกี่ยวกับบัตรและบทลงโทษเพิ่มขึ้น และไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการขอมีบัตรครั้งแรกหรือขอมีบัตรใหม่เมื่อบัตรเดิมหมดอายุ
การเปลี่ยนแปลงพ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนในครั้งนี้มิได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และลักษณะของบัตรประจำตัวประชาชนแต่อย่างใด ลักษณะของบัตรยังคงเหมือนเดิมทุกประการ
บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 3 : การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการผลิตบัตร ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสูงขึ้น ทั้งประเทศค่ายเสรีประชาธิปไตย ค่ายสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และค่ายประเทศที่สาม ทำใหมีบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งในลักษณะของผู้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายและผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบ ความต้องการบัตรประจำตัวประชาชนในหมู่ของคนต่างด้าวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้เยี่ยงคนไทย ก่อให้เกิดปัญหาการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนระบาดอย่างหนัก
นอกจากนี้ตัวแปรทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเอกชนและราชการไทย สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องกระตุ้นให้มีการเรียกร้องปรับปรุงรูปโฉมของบัตรประจำตัวประชาชนให้สวยงาม ก้าวหน้า ทันสมัย และสามารถป้องกันการปลอมแปลงได้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติรสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีมติเมื่อวันที่30 เมษายน 2529เห็นชอบโครงการปรับปรุงระบบการผลิตบัตรประจำตัวประชาชนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และอนุมัติให้ดำเนินการได้ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมหน้าของบัตรประจำตัวประชาชน มาสู่รูปแบบใหม่เป็นบัตรรุ่นที่ 3


^บัตรรุ่นที่สาม^

บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 3 นี้ ลักษณะบัตรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 5.4 เซ็นติเมตร ยาว8.4เซ็นติเมตร ตัวบัตรจะเป็นสีขาวและมีลายพื้นเป็นเส้นสีฟ้าทั่วบัตรทั้งสองด้าน ด้านหน้าของบัตรมีรูปครุฑอยู่ตรงกลาง มีตัวอักษรคำว่า "บัตรประจำตัวประชาชน" <อยู่ด้านบนครุฑคำว่า "กรมการปกครอง" อยู่ด้านซ้าย คำว่า "กระทรวงมหาดไทย" อยู่ด้านขวา ส่วนด้านล่างครุฑมีลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้ออกบัตรและตราประจำตำแหน่ง
สำหรับด้านหลังของบัตรแถวบนสุดจะมีเลขประจำตัว13หลักซึ่งเป็นเลขชุดเดียวกับที่ปรากฎในทะเบียนบ้าน ถัดมาจะมีเลข8 หลัก ซึ่งเลข 2 หลักแรกบ่งบอกถึงรอบของการออกบัตร ส่วนเลข6หลักต่อมาหมายถึงลำดับที่ของการทำบัตร ถัดลงมาด้านซ้ายจะมีรูปถ่ายของผู้ถือบัตรเป็นรูปสีธรรมชาติ โดยมีเส้นแสดงส่วนสูงเป็นเซ็นติเมตร ส่วนด้านขวาจะมีรายการของผู้ถือบัตร ประกอบด้วย ชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด วันออกบัตร วันบัตรหมดอายุ และที่อยู่
ลักษณะที่พัฒนาซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของบัตรรุ่นนี้ คือรูปถ่ายผู้ถือบัตรเป็นรูปสี พิมพ์รายการผู้ถือบัตรด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ มีการป้องกันการปลอมแปลงด้วยการเคลือบวัสดุป้องกันการปลอมแปลงชนิดพิเศษ มีลายสัญญลักษณ์รูปสิงห์ และคำว่า"กรมการปกครอง" ฝังอยู่ในเนื้อวัสดุไม่สามารถมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า การจัดเก็บข้อมูลผู้ทำบัตรและการตรวจสอบรายการบัตรเดิมถูกดำเนินการในรูปของฐานข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์
บัตรประจำตัวประชาชนระบบนี้ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน
บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 4: บัตรประจำตัวประชาชนไฮเทค
การพัฒนาระบบการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน มิได้หยุดนิ่งแค่บัตรรุ่นที่สามเท่านั้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในยุคโลกาภิวัฒน์ประกอบกับความสมบูรณ์ของระบบฐานข้อมูลทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนและแรงผลักดันในเรื่องการให้บริการประชาชน ก่อให้เกิดความคิดในการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ทันสมัย ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอ "โครงการจัดทำระบบการให้บริการประชาชนทางด้านการทะเบียนและบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ฯ" โดยเป้าหมายหลักที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนอย่างสมบูรณ์แบบทั้งระบบเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของบัตรให้ทันสมัย และเพื่อเป็นการปรับปรุงระบบการให้บริการประชาชน ให้สะดวก รวดเร็ว และถูกต้องทั้งนี้การผลิตบัตรจะกระจายไปถึงสำนักทะเบียนแต่ละแห่ง ประชาชนที่มาทำบัตร สามารถรอรับบัตรได้ทันทีด้วยความรวดเร็ว ภายในวันที่ติดต่อขอทำบัตร โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับ บ.ป.2 หรือใบเหลืองอีกต่อไป
โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538 หลังจากติดตั้งระบบและให้บริการด้านทะเบียนราษฎรแล้ว กรมการปกครองจึงสามารถเปิดระบบให้บริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่เป็นครั้งแรก ณที่ว่าการอำเภอเมืองปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร โดยถือปฐมฤกษ์ในวันที่5ธันวาคม 2539 เพื่อเป็นสิริมงคลในวโรกาสฉลองปีกาญจนาภิเษกและเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ในด้านกฎหมายนั้น ยังคงใช้ พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชนพ.ศ. 2526 เพื่อบริการประชาชนในการขอทำบัตรในกรณีต่างๆ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อรองรับการจัดทำบัตรระบบใหม่ ได้แก่ การออกกฎกระทรวง กำหนดลักษณะของบัตร และการประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการเท่านั้น
ลักษณะของบัตรรุ่นใหม่นี้มีดังนี้
1.ลักษณะของบัตร ตัวบัตรทำด้วยพลาสติก มีความยืดหยุ่นและแข็งแรงขนาดมาตรฐานสากล (ISO) กว้าง 5.4 เซ็นติ-เมตร ยาว 8.6 เซ็นติเมตร หนา 0.76 มิลลิเมตร พื้นบัตรทั้งสองด้านเป็นสีขาว มีลายสีฟ้า
2.ด้านหน้าของบัตร มีรูปถ่ายเจ้าของบัตร พร้อมรายการเกี่ยวกับประวัติของเจ้าของบัตร ได้แก่เลขประจำตัวประชาชน 13หลัก ชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน หมู่โลหิต วันที่ออกบัตร วันที่บัตรหมดอายุ และมีลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้ออกบัตร


^บัตรรุ่นที่สี่^

3. ด้านหลังของบัตร มีคำว่า "บัตรประจำตัวประชาชน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย"รูปครุฑ และแถบแม่เหล็ก สำหรับบันทึกข้อมูลของเจ้าของบัตร นอกจากนี้จะมีรหัสกำกับบัตร ซึ่งเป็นชุดของตัวเลขผสมตัวอักษร เพื่อควบคุมกำกับการออกบัตรของแต่ละสำนักทะเบียนด้วย
บัตรรุ่นใหม่นี้ เรียกกันว่า"บัตรประจำตัวประชาชนไฮเทค" เนื่องจากทุกขั้นตอนตั้งแต่การพิมพ์คำขอมีบัตร รายการบุคคลของผู้ขอมีบัตร ซึ่งรวมถึงภาพใบหน้า การลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานออกบัตร และการตรวจสอบหลักฐานรายการบัตรเดิมดำเนิน การด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น
การให้บริการจัดทำบัตรระบบใหม่ด้วยคอมพิวเตอร์นั้น จะดำเนินการในรูปแบบของการตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ภาค จำนวน9ภาค เพื่อควบคุมและดูแลระบบการดำเนินงานของสำนักทะเบียนทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งตามโครงการฯ กำหนดเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี2539-2544 โดยมีแผนปฏิบัติการขยายเขตให้บริการ ดังนี้
- 5 ธันวาคม 2539 ได้เปิดบริการแล้วที่ อำเภอเมืองปทุมธานี และ กรุงเทพมหานครทุกเขต
- ประมาณเดือน เมษายน 2540 จะเริ่มเปิดระบบให้บริการเพิ่มอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมาเชียงใหม่ และสงขลา
-ประมาณเดือนธันวาคม2540 บริการเพิ่มอีก4จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม อุดรธานี พิษณุโลกและสุราษฎร์ธานี
-ปีพ.ศ.2541-2544 จะดำเนินการเพิ่มใน67จังหวัดที่เหลือทั่วประเทศ การขยายบริการเป็นการดำเนินการภายใต้งบประมาณที่ได้รับอนุมัติ


^บัตรรุ่นที่ห้า^

บัตรประชาชน สมาร์ทการ์ด...เปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยสู่ไฮเทค บัตรใบเดียวที่ใช้ประโยชน์ได้อเนกประสงค์ เพื่อให้คนไทยก้าวสู่ความสะดวกสบายในยุคดิจิตอล...แนวความคิดอันบรรเจิด ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะให้ประชาชนใช้บัตรเพียงใบเดียว แทนบัตรประเภทต่างๆ ที่รัฐ ออกให้ทั้งหมด เพื่อสะดวกในการพกพา ประหยัดงบประมาณของรัฐ เกิดความเป็นมาตรฐานเดียวกันในสังคมไทย โดยกำหนดแผนการออกบัตร 64 ล้านบัตร ในระยะเวลา 3 ปี เริ่มปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2547 จำนวน 12 ล้านบัตร ออกให้กับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนที่ลงทะเบียนแก้ปัญหาความยากจน และนักเรียนนักศึกษาที่กู้เงินกองทุนเพื่อการศึกษา
บัตรรุ่นที่ห้า ผลิตด้วยพลาสติก เหมือนกับบัตรรุ่นที่สี่ มีความทันสมัยมากขึ้นด้วยการ ฝังไมโครโปรเซสเซอร์ซิป (CHIP CARD) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บ และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบ ในเรื่อง สิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งข่าวการ ล็อคสเป็ค ของบริษัทที่ชนะประมูลในการผลิตบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ห้า นี้อีกด้วย


ความหมายของเลขประจำตัวประชาชนทั้ง 13 หลัก
หลักที่ 1 หมายถึงประเภทบุคคลซึ่งมี 8 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ได้แก่ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2527)
ประเภทที่ 2 ได้แก่ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2527)
ประเภทที่ 3 ได้แก่ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ในสมัยเริ่มแรก (1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2527)
ประเภทที่ 4 ได้แก่ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าวแต่แจ้งย้ายเข้า โดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชนในสมัยเริ่มแรก (1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2527)
ประเภทที่ 5 ได้แก่ คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่น ๆ
ประเภทที่ 6 ได้แก่ ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฏหมาย แต่จะอยู่ในลักษณะชั่วคราว
ประเภทที่ 7 ได้แก่ บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย
ประเภทที่ 8 ได้แก่ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฏหมาย คือ ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว คนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทย
หลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5 หมายถึงรหัสของสำนักทะเบียนที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้านในขณะให้เลข สำหรับเด็กเกิดใหม่จะหมายถึงถิ่นที่เกิดเลยทีเดียว โดยหลักที่ 2 และ 3 หมายถึงจังหวัด หลักที่ 4 และ 5 หมายถึงอำเภอ หรือเทศบาล
หลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10 หมายถึงกลุ่มที่ของบุคคลแต่ละประเภทตามหลักแรก หรือหมายถึงเล่มที่ ของสูติบัตร แล้วแต่กรณี
หลักที่ 11 และ 12 หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละกลุ่มประเภท หรือหมายถึงใบที่ของสูติบัตรแต่ละเล่ม แล้วแต่กรณี
หลักที่ 13 คือ ตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลข 12 หลักแรก



ขอบคุณขอมูลจาก : คนไทย.คอม , oknation.net

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและติชม







 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2555
2 comments
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2555 14:01:17 น.
Counter : 6270 Pageviews.

 

แวะมาเยี่ยมในวันหยุด…สวัสดีครับ

ได้ความรู้เรื่องบัตรประชาชน ในรุ่นต่างๆ

ขอบคุณสำหรับสาระดีๆที่นำมาฝาก นะครับ

 

โดย: **mp5** 26 กุมภาพันธ์ 2555 11:56:55 น.  

 

ผมเกิดทันเห้นได้แค่รุ่นที่สองของคุณพ่อกับคุณแม่นะครับ แหม เก่าแท้ๆๆเลยบัตรรุ่นนั้นนะครับ

 

โดย: pooktoon 26 กุมภาพันธ์ 2555 21:49:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kitpooh22
Location :
ตรัง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 27 คน [?]




สวัสดีครับ
..............................
ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม และมาเม้นให้ครับ



ขอบคุณครับ :-)
THX


วันเกิดบล็อก 25/5/2009
Google+
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
26 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kitpooh22's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.