ทำในสิ่งที่รักคืออิสระ รักในสิ่งที่ทำคือความสุข
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
17 มีนาคม 2550
 
All Blogs
 

The Bow : รับน้ำปั่นรสผลไม้รวมสักแก้วมั้ยครับ?







The Bow
Yin Yang Smoothie



คิม คี ดุ๊ก ไม่ใช่ผุ้กำกับขวัญใจนักดูหนังเกาหลี หนังของเขาทวนกระแสวัฒนธรรม K-POP ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วภาคพื้นเอเชีย ทัศนะเรื่องความรักของคิม คี ดุ๊ก มิได้หวานชื่นเหมือนหนังเกาหลีทั่วๆไป แท้จริงแล้วผู้กำกับชาวเกาหลีคนนี้ขึ้นชื่อเรื่องการทำทารุณกรรมต่อตัวละครเพศหญิงเป็นพิเศษ หนังของเขาเต็มไปด้วยความรุนแรง เรื่องเพศ และประเด็นที่ท้าทายต่อศีลธรรม แถมพล็อตเรื่องยังคลุมเครือ บทสนทนาแสนน้อยนิดขนาดว่าตัวละครเอกบางตัวแทบไม่มีบทให้พูดเลยตลอดทั้งเรื่อง


The Bow หนังของคิม คี ดุ๊ก ในปี 2005 มีคุณสมบัติที่ว่าครบถ้วน จึงไม่น่าแปลกที่หนังเกาหลีเรื่องนี้ไม่ได้การต้อนรับทั้งจากนักดูหนังบ้านเกิดและในต่างประเทศ The Bow เข้าฉายในโรงเพียงไม่กี่สัปดาห์แล้วก็ถูกถอดออกจากโรงไป แม้บนเวทีประกวดหนังนานาชาติต่างก็พร้อมใจกันทอดทิ้ง The Bow ไปอย่างไม่เห็นคุณค่า ทั้งๆที่คิม คี ดุ๊กเคยได้รับการกล่าวขวัญถึงในแง่ที่สามารถสร้างหนังได้ดิบเถื่อนเหมือนหนังเกรดบี แต่ลุ่มลึกดังบทกวี


The Bow ลดดีกรีความดิบเถื่อนที่ว่าลงไปมากเมื่อเทียบกับงานในยุคแรกๆ อาจเป็นเพราะวุฒิภาวะและความเจนโลกทำให้งานของเขาในระยะหลังดูนุ่มนวลมากขึ้น หากอาการเรียบนิ่งนั้นคือการครุ่นคิดที่ลึกซึ้งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหนังเรื่องก่อนๆเลย ความจริง The Bow สะท้อนถึงการดำดิ่งเพื่อพิเคราะห์ชีวิตได้อย่างถึงแก่นแท้ของผู้สร้างหนังด้วยซ้ำ


คิม คี ดุ๊ก ก็เหมือนผู้กำกับคนอื่นๆ ที่เชื่อมั่นวิธีการทำหนังแบบ น้อยได้มาก( minimalism) เขาเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องมีบทสนทนาคมคาย โลเคชั่นแปลกตา การแสดงเกินจริง หรือบทที่ซับซ้อน ก็สามารถเล่าเรื่องได้อย่างครบถ้วนและถึงแก่น เพียงแค่เขาพาเราลงเรือลำน้อย ลอยฝ่าคลื่นลมไปยังใจกลางมหาสมุทร และอิงอาศัยหลักปรัชญาโบราณของจีนในเรื่องหยินหยาง ผู้กำกับชาวเกาหลีท่านนี้ก็สามารถกระเทาะสัจธรรมออกมาจากมายาคตินั้นได้อย่างหมดเปลือก เขาอาจหาญถึงขนาดว่าเลือกใช้โลเกชั่นบนเรือประมงที่ลอยคว้างเดียวดายกลางมหาสมุทรก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆบนโลกได้อย่างหมดสิ้น




หมายเหตุ : แต่ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจหนังเรื่อง The Bow ว่าดีเด่นดังที่อ้างไว้อย่างไร จำเป็นที่เราต้องมาทำความรู้จักเรื่องของหยินหยางอันเป็นปรัชญาเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นที่เข้าใจอย่างคร่าวๆเสียก่อน ผู้ใดที่มีความรู้อยู่แล้วสามารถอ่านข้ามส่วนนี้ไปได้





ทวิลักษณ์ หรือทัศนะคติที่ว่าสรรพสิ่งประกอบขึ้นจากภาวะสองอย่างที่เป็นคู่ตรงข้าม เราเรียกภาวะหนึ่งว่า “หยิน” และเรียกภาวะที่เป็นขั้วตรงข้ามของหยินว่า “หยาง” บางครั้งหยิน-หยางก็ขับเคี่ยวต่อสู้ชิงชัยกัน บางคราคู่ตรงข้ามกลับสอดประสานเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้นหยินซึ่งเป็นขั้วที่สุดโต่งด้านหนึ่งกลับแสดงคุณลักษณะของหยางซึ่งเป็นขั้วสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง (และเป็นไปในลักษณะเดียวกันสำหรับหยาง) ท้ายที่สุดแล้วหยินและหยางก็ยังสามารถหลอมรวมผสานเป็นเนื้อเดียวกันได้อีกด้วย ปราชญ์จีนเรียกความเป็นหนึ่งเดียวกันของหยินละหยางว่า “เต๋า”


เมื่อ “เต๋า” ดำรงอยู่ ทวิลักษณ์ดูเหมือนจะหายไป ความแตกต่างและแตกแยกจึงไม่มี หากภาวะดุลยภาพเช่นนี้อาจไม่ดำรงอยู่ตลอดไป และแล้วคู่ตรงข้ามก็แตกออกจากเต๋า หยินจึงมี หยางจึงเกิดขึ้นบางครั้งขับเคี่ยวชิงชัย บางคราสอดประสานกลมกลืน เวียนวนอยู่เช่นนี้เหมือนฤดูกาล


ประเทศเกาหลีมีความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ ประวัติสาสตร์ และวัฒนธรรม ทัศนะการมองโลกแบบหยิน-หยาง ตลอดจนลัทธิขงจื้อและพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจึงแพร่เข้ามาสู่คาบสมุทรเกาหลี แม้แต่ธงชาติของเกาหลี(ใต้)เองก็สะท้อนถึงอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนได้เป็นอย่างดี





พื้นธงสีขาว มีวงกลมอยู่ตรงกลาง ครึ่งหนึ่งสีเขียว อีกครึ่งสีแดง วงกลมนั้นรายล้อมด้วยเส้นขีดเป็นชุดๆ ชุดละ 3 เส้นเรียงต่อกันจากล่างขึ้นบน บ้างเป็นเส้นแบบต่อเนื่อง บ้างก็เป็นเส้นขาดกลาง ชุดของเส้นนั้นสลับรูปลักษณ์ได้ 4 แบบแตกต่างกัน


วงกลมแดง-เขียวนั้นประยุกต์จากวงกลมสีขาว-ดำ สัญลักษณ์ของหยิน-หยางตามลัทธิเต๋า ส่วนลายเส้น 4 แบบมาจากลายลักษณ์ของธาตุทั้ง 4 (จาก 8 ธาตุพื้นฐาน) ตามคัมภียร์อี้จิง ปรัชญาอันเป็นรากฐานของลัทธิเต๋าและขงจื้อ (ในที่นี้ผมขอข้ามไม่พูดถึงแนวคิดตามแบบอี้จิง เนื่องจากจะทำให้ข้อเขียนชิ้นนี้ยืดยาวออกนอกเรื่องไป)





แม้คิม คี ดุ๊กจะเป็นคริสตศาสนิกชน แต่ผลงานที่ผ่านๆมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเขามีความเข้าใจปรัชญาตะวันออกเป็นอย่างดี และผู้กำกับชาวเกาหลีท่านนี้ก็นำปรัชญาเรื่องหยิน-หยางมาใช้เป็นแนวคิดเบื้อหลัง The Bow ดังจะเห็นได้ว่า ตลอดทั้งเรื่องมีองค์ประกอบต่างๆเป็นสัญลักษณ์แทนคู่ตรงข้ามในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น เพศ วัย สถานะทางอำนาจการควบคุม และสิ่งของเครื่องใช้ แต่ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดนั้นคือการใช้ “สี” สีถูกใช้แทนความสัมพันธ์ของคู่ตรงข้ามที่มีทั้งการต่อสู้แข่งขัน อิงอาศัย และผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว





The Bow ใช้ทั้งรูปธรรมและนามธรรมเป็นเครื่องหมายของหยิน-หยาง แต่ที่ถูกขับเน้นมากที่สุดคือการใช้ “แม่สี” แทนคู่ตรงข้าม สีแดงใช้เป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง(หยิน) ขณะที่สีน้ำเงินและเขียวใช้แทนเพศชาย(หยาง) เหตุที่หยางมีสองสีเป็นเพราะแม่สีมีสองแบบคือ แม่สีทางวัตถุธาตุ(แดง เหลือง น้ำเงิน) และแม่สีของแสง(แดง เหลือง เขียว)


ขณะที่ปรัชญาหยิน-หยางกล่าวถึงคู่ตรงข้ามสองขั้วว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของปรากฏการณ์ทางโลก ทฤษฎีสีบอกว่าสีทั้งหลายในโลกประกอบขึ้นจากแม่สีเพียง 3 สี หลักการทั้งสองจึงไม่สามารถซ้อนทับใช้ทดแทนกันได้อย่างแนบสนิท สีแดงใช้แทนหยิน สีน้ำเงินหรือเขียวใช้แทนหยาง จึงมีสีเหลืองเกินมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ The Bow จึงใช้สีเหลืองที่เกินมานั้นเป็นสะพานประสานสัมพันธภาพของขั้วทั้งสองที่แตกต่างกันให้อยู่ในดุลย์







คิม คี ดุ๊ก เปิดเรื่อง The Bow ขึ้นมาโดยแสดงดุลยภาพนั้น ในช็อตแรกเราจะเห็นเรือประมงลำหนึ่ง(มนุษย์ประดิษฐ์)ลอยลำอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรกว้าง(ธรรมชาติสร้าง) เพื่อแสดงภาวะที่ธรรมชาติเกื้อหนุนมนุษย์และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น


เมื่อกล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไปใกล้ จึงเปิดเผยให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้วเรือลำนั้นมีได้ลอยลำเพียงลำพัง ข้างๆกันนั้นยังมีเรือลำเล็กกว่าผูกโยงอยู่ใกล้ๆ เรือลำเล็กอิงเรือลำใหญ่ เรือลำใหญ่อาศัยเรือลำเล็ก แสดงนัยยะความสัมพันธ์ของคนบนเรือ - - เจ้าของเรือเป็นชายแก่อาศัยอยู่เพียงลำพังกับเด็กสาวรรุ่นราวคราวลูก



หญิงสาวนอนบนโซฟาสีเขียว นั่นคือ หยิน(แดง)อาศัยหยาง(เขียว)เป็นที่พักพิง




เมื่อเปิดตัวนักแสดงนำทั้งสอง ชายแก่สวมหมวกและชุดกันลมสีเขียว ขณะที่เด็กสาวใส่ชุดสีแดงสด ทับด้วยเสื้อคลุมสีเขียว แดงนั้นคือเพศหญิงที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากเขียวคือเพศชาย เห็นได้จากฉากที่เด็กสาวถูกชายอื่นแทะโลม ชายแก่เจ้าของเรือก็รีบออกมาปกป้องหญิงสาวของเขาทันที


สีสันบนเครื่องแต่งกายของหญิงสาวนั้นเป็นแม่สีชัดเจน ทว่า...ชุดของชายแก่กลับเป็นสีเขียวผสม(ไม่ใช่สีเขียวบริสุทธิ์)เพื่อสะท้อนเจตนาเคลือบแฝงภายใต้เหตุผลที่แท้จริงที่เขารับเด็กสาวมาอุปการะ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าซับในของเสื้อสีเขียวหม่นตัวนั้นมีสีแดงอมส้ม เราอาจมองว่านั่นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงคาแร็กเตอร์ของเจ้าของเรือได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าเขาอาจจะดูแข็งกระด้าง(หยาง)ต่อชายอื่นที่มายุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงของเขา แต่ชายแก่สามารถอ่อนโยน(หยิน)กับเด็กสาวในฉากอาบน้ำได้เช่นกัน บุคลิกที่แปรเปลี่ยนและคลุมเครือของตาเฒ่าจึงสะท้อนออกมาด้วยการใช้สีผสม



เสื้อสีเขียวคลุมทับอยู่กับตัวสีแดง แสดงถึง ชายปกป้องหญิง
ขณะเดียวกันก็หมายถึง หยางมีอิทธิพลเหนือหยิน





ดุลยภาพที่ว่ายั่งยืนจนกระทั่งเด็กหนุ่มคนหนึ่งโดยสารมากับเรือลำเล็ก แล้วขึ้นเรือลำใหญ่มา เด็กหนุ่มเป็นสิ่งแปลกปลอมพอๆกับที่วอร์คแมนของเขานำดนตรีแปลกแนวขึ้นมาบนเรือ หากหญิงสาวต้อนรับชายหนุ่มและดนตรีของเขาด้วยความยินดี เธอได้เรียนรู้ว่าในโลกนี้มิได้มีแต่เพียงเพลงซอเท่านั้นที่บรรเลงท่วงทำนองได้ เช่นเดียวกับที่ไม่ได้มีเพียงชายแก่เท่านั้นที่ทำให้เธอรู้สึกอบอุ่นหัวใจได้ เสื้อคลุมของเด็กสาวที่เคยเป็นสีเขียวล้วน บัดนี้เริ่มมีสีสันอื่นเข้ามาเจือปน สีอื่นนั้นรวมทั้งสีน้ำเงิน - อีกสีที่เป็นตัวแทนของเพศชาย(หยาง) และเสื้อกันหนาวของเด็กหนุ่มก็เป็นสีโทนน้ำเงินกรมท่า น้ำเงินจึงเข้ามาชิงความเป็นแม่สีกับสีเขียวเดิม



เมื่อเด็กหนุ่มขึ้นเรือมา ชุดของหญิงสาวก็เปลี่ยนเป็นหลากสี ทั้ง เขียว(ชายแก่)
และน้ำเงิน(เด็กหนุ่ม) แม้แต่สีแดงของเธอเองยังถูกเจือจางกลายเป็นสีม่วงแดง





เด็กหนุ่มถูกกันท่าจากตาเฒ่าเจ้าของเรือ เช่นเดียวกับที่ผู้ชายคนอื่นที่พยายามเข้ามาพัวพันกับเด็กสาวต่างก็เคยประสบมาแล้วทั้งนั้น เด็กหนุ่มถึงกับถูกโยนลงเรือลำเล็กพากลับเข้าสู่ฝั่งกลางดึกเมื่อเขาเดินทางกลับมาหาหญิงสาวเป็นหนที่สอง แต่เด็กหนุ่มก็ยังไม่ละความพยายาม เขากลับขึ้นเรือมาเป็นหนที่สาม


ในครั้งสุดท้ายนั้น เด็กสาวยืนรอรับการขึ้นเรือในชุดสีแดงสลับม่วงน้ำเงิน ส่วนเสื้อคลุมของชายหนุ่มไม่ได้มีสีโทนน้ำเงินอีกแล้ว กลับเป็นโทนสีเทาเพื่อแสดงนัยยะคลุมเครือให้สงสัยว่าการช่วยตามหาพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กสาวนั้นเกิดจากเจตนาบริสุทธิ์จริงหรือไม่


จะว่าไปแล้ว เราไม่เคยเห็นเด็กสาวสวมเสื้อกันหนาวสีเขียวล้วนตัวที่เราเห็นตอนต้นเรื่องอีกเลยนับแต่วันแรกที่เธอรู้จักกับเด็กหนุ่ม บางครั้งเธอถึงกับยอมทนลมหนาว ด้วยการสวมเสื้อสีแดงเพียงตัวเดียว เพื่อบอกเป็นนัยว่าเธอมีความคิดและชีวิตเป็นของตัวเอง



หญิงสาวยืนอยู่ระหว่าง 2 ชาย แต่สีเสื้อของเธอบ่งบอกถึงการตัดสินใจของเธอแล้ว
ดังจะเห็นได้ว่าสีเขียวหายไปเมื่อเทียบกับชุดที่แล้ว




อาการต่อต้านชายแก่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการขัดขืนไม่ยอมให้ชายแก่อาบน้ำให้ หรือความพยายามสะบัดมือออกจากการเกาะกุมตอนเข้านอน ยิ่งไปกว่านั้น...หญิงสาว(หยิน)ต่อต้านอำนาจควบคุมของชายแก่(หยาง) ผ่านทางลูกธนู เช่นเดียวกับที่ชายแก่ก็เคยใช้กับเด็กหนุ่มและผู้ชายคนอื่นๆ


ลูกธนูที่เด็กสาวใช้เพื่อท้าทายอำนาจของชายแก่นั้นมี 3 ดอก

ลูกธนูดอกแรก – เด็กหญิงยิงใส่ตาเฒ่าผู้มีพระคุณเพื่อระบายโทสะ เป็นการใช้อาวุธของเพศชาย(หยาง)ต่อต้านอำนาจควบคุมของเพศชาย(หยาง)เอง

ลูกธนูดอกที่สอง – เธอยิงทิ้งลงทะเลเมื่อไม่สามารถตัดใจกระทำต่อบุคคลที่มีบุญคุณต่อตนได้ลง หญิงสาวละทิ้งวิถีทางการทำลาย(หยาง) ด้วยความใจอ่อนของเพศหญิง(หยิน)

ลูกธนูดอกที่สาม – ถูกเด็กสาวหักกลาง เป็นการปฏิเสธวิถีทางการทำลายแบบเพศชาย(หยาง)โดยสิ้นเชิง



ชายแก่(เขียว)กันหนุ่มๆ(น้ำเงิน)ออกจากหญิงสาวของเขา(แดง)ด้วยธนู
สังเกตว่าลูกธนูปักบนพื้นไม้สีน้ำเงินอ่อน(ฟ้า)





ถ้ามองหยินกับหยางเป็นอะไรที่ตายตัว อาจทำให้เราสับสนความสัมพันธ์ของหยินหยางในย่อหน้าที่แล้ว แล้วเราจะไม่สามารถเข้าใจสัมพันธภาพที่แท้จริงของคู่ตรงข้ามนี้ได้ แม้เราจะเรียกมันว่าเป็น “คู่ตรงข้าม” แท้จริงแล้วในหยินก็มีความเป็นหยาง และในหยางก็มีหยินอยู่ ไม่ได้แยกจากกันโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังสามารถแปรเปลี่ยนจากหยินเป็นหยางและหยางเป็นหยินได้อีกด้วย เช่นเดียวกับคันธนูเองก็อาจสามารถใช้เป็นซอได้เช่นกัน



เมื่อคันธนูเปลี่ยนเป็นคันซอได้ หยางกับหยินก็สามารถสลับบทบาทกันได้เช่นกัน




คันธนูมีลักษณะเป็นอาวุธเพื่อทำลายล้าง ด้วยการยิงลูกธนูพุ่งตรงไปสู่เป้าหมาย ขณะที่ซอเป็นเครื่องดนตรี ใช้เพื่อสร้าง สรรเสียงเพลง ด้วยการกระจายคลื่นเสียงออกไปทั่วอาณาบริเวณ สองสิ่งที่แตกต่างกันสุดขั้วกลับสามารถอยู่ร่วมกันได้ในของเพียงสิ่งเดียวฉันใด บุคลิกภาพของคนก็สามารถแปรเปลี่ยนระหว่างหยินกับหยางได้โดยอิสระฉันนั้น







เมื่อแต่แก่เจ้าของเรือพยายามเอาชนะด้วยกลวิธีต่างๆ ถึงกับต้องฉีกหลักธรรมแห่งความเมตตาจากใจจริง เหมือนที่เขาฉีกปฏิทินที่มีรูปพระโพธิสัตว์อยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะความรักของหนุ่มสาวได้ด้วยอำนาจบังคับ ชายแก่เลือกหนทางสุดท้ายโดยเอาชีวิตของตนเองเป็นเครื่องต่อรอง จนในที่สุดเขาก็ได้แต่งงานกับหญิงสาวดังใจหวัง


สีเขียวเอาชนะสีน้ำเงินได้โดยการเปลี่ยนตัวเองเป็นสีน้ำเงินเสียเอง นายเรือสลัดชุดเขียวประจำกาย สวมชุดเจ้าบ่าวสีน้ำเงิน ซ้อนทับเสื้อตัวในสีแดงอ่อน(ชมพู) ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอ พ่ายแพ้ หรือความเจ็บปวด(แผลบนหน้าผาก)ล้วนแสดงถึงภาวะของหยินที่ซ่อนอยู่ในรูปลักษณ์ความเป็นหยางของชายแก่ได้ทั้งสิ้น


ชุดเจ้าสาวสีแดงก็ซ้อนทับอยู่บนเสื้อในสีเขียวสด หญิงสาวไม่ได้จำใจแต่งงานกับชายแก่ เธอยินดีและมีความสุขกับการแต่งงานกับเขา ความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นอันเป็นวิถีทางของหยางซ้อนอยู่ในบุคลิกภาพของเด็กสาวเช่นกัน







เด็กหนุ่มได้แต่เหม่อมองเรือลำน้อยที่ใช้ต่างเรือนหอลอยลำออกห่างไปทุกที เขาทำอะไรอื่นไม่ได้นอกจากระบายความกลัดกลุ้มกับไก่ตัวที่ถูกผูกขาด้วยริบบิ้นสีแดง แต่แล้ว...ดูเหมือนว่าเขาจะตัดใจได้จึงปล่อยแม่ไก่ตัวนั้นเป็นอิสระ เช่นเดียวกับที่เขาแก้มัดขาให้ไก่อีกตัวก่อนหน้านั้น


และแล้วเรือน้อยลำเดิมก็ลอยลำกลับมาได้เองโดยอิสระเช่นกัน หากเจ้าสาวกลับมาเพียงลำพังไร้วี่แววของเจ้าบ่าว หญิงสาวนอนอยู่บนดาดฟ้าเรือในชุดชั้นในสีขาว นั่นเป็นเพราะว่า....เมื่อ(แสง)สีทั้งหลายหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว เราจะเห็นสรรพสีเป็นเพียงสีขาวบริสุทธิ์สีเดียวเท่านั้น พิธีสมรสของชายหญิงคู่นี้จึงเท่ากับเป็นการหลอมรวมของสรรพแสงสีนั่นเอง



เสื้อผ้าหลากสี แต่เมื่อถอดออกแล้วก็เหลือเพียงตัวในสีขาว
สรรพแสงสีเมื่อหลอมรวมกันแล้วก็ให้แสงสีขาวเช่นกัน





ฉากเลิฟซีนต่อจากนั้นเป็นฉากที่น่าอัศจรรย์มาก มันคืองานสมรสอันพิสุทธิ์ของหยินและหยางเลยทีเดียว ลูกธนูที่พุ่งตรงมาจากฟากฟ้าคือเครื่องหมายของเพศชาย(หยาง) ปักลงสู่ความเป็นหญิง(หยิน) แล้วเลือดแดงสดก็เจิ่งนองออกมา


ธรรมดาแล้วเลือดมักเป็นตัวแทนของความเจ็บป่วย โรคภัย ความสกปรกโสมม สิ่งชั่วร้าย และความตาย แต่ในฉากนี้เลือดคือเครื่องหมายของการก่อกำเนิด สุขภาพ ความสมบูรณ์ทางเพศ และความบริสุทธิ์ แต่จะให้กล่าวอย่างถูกต้องแล้ว เลือดในฉากนี้รวมความหมายทั้งสองนัยไว้ เป็นการหลอมรวมทั้งสองด้านของเลือด เป็นการเมคเลิฟของหยินและหยาง


นอกจากเครื่องหมายทางเพศและเลือดแล้ว การหลอมรวมของคู่ตรงข้ามยังแสดงออกผ่านทางการร่วมสังวาสของหนึ่งหญิงสองชาย......


......เหตุใดจึงกล่าวว่ามีสองชายร่วมรักกับหนึ่งหญิงในฉากนี้ ก็ถ้าเราพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่าในการร่วมสังวาสครั้งนี้ (วิญญาณ)ชายแก่ได้ร่างกายของหญิงสาวไปแต่ไม่ได้รับรักแท้จากเธอ ขณะที่เด็กหนุ่มได้ครองหัวใจแต่กลับไม่ได้ร่างกาย







มองดูผิวเผินจะเห็นเป็นการขับเคี่ยวแข่งขันของชายสองคนเหมือนที่เคยชิงชัยแย่งหญิงสาวกันมาตลอดทั้งเรื่อง แต่ถ้าเรามองฉากนี้ให้ซับซ้อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งจะเห็นว่า.....คนที่ได้แต่เพียงร่างกายของเด็กสาวไปนั้นสามารถสัมผัสหล่อนได้อย่าลึกซึ้งถึงระดับจิตวิญญาณ ขณะที่ชายหนุ่มผู้พิชิตรักแท้จากเธอกลับสัมผัสหญิงอันเป็นที่รักได้แต่ในอ้อมกอดอันเป็นเพียงเนื้อหนัง


สิ่งที่ดูเหมือนการชิงดีชิงเด่นระหว่างสองชาย แท้จริงแล้วคือการเติมเต็มสิ่งที่ฝ่ายตนขาดพร่องให้สมบูรณ์ต่างหาก เช่นเดียวกับสีน้ำเงินและสีเขียว – แม่สีของแสงและวัตถุ เพราะว่ามีสีทั้งสองนั้นโลกของสีจึงสมบูรณ์ ดังนั้นจึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า The Bow มีฉากเลิฟซีนที่พิลึก ดูดดื่ม ลำลึก และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเท่าเคยเห็นมาในโลกของหนังเลยทีเดียว


จากนั้น....เด็กหนุ่มก็พาหญิงสาวลงเรือลำเล็กเพื่อกลับสู่ฝั่ง ทันใดนั้นเรือลำใหญ่ที่เคยทอดสมอลอยลำนิ่งอยู่กลางท้องทะเลมาโดยตลอด กลับเคลื่อนออกจากตำแหน่ง มันไม่ได้มุ่งหน้าไปสู่ที่ใดแต่กลับค่อยๆจมตัวมันเองลงใต้ก้นมหาสมุทร บอกเป็นนัยว่าชีวิตและความตายมักเคียงคู่อยู่ด้วยกันเสมอ การเริ่มต้นใหม่และจุดจบคือคนละด้านของเหรียญเดียวกัน


หยินและหยางจึงแยกตัวออกจากเต๋าอีกครั้ง บางครั้งก็เกื้อหนุนอิงอาศัย บางคราก็แก่งแย่งชิงชัยกัน แล้วสักวันก็จะกลับมาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอีกหน หากดุลยภาพเช่นนั้นไม่ยั่งยืนตลอดไป วงจรจึงยังหมุนเวียนสลับเปลี่ยนเช่นนั้นไปชั่วกาลนาน






ป.ล. ผู้เขียนไม่ได้มีความรู้ในปรัชญาเรื่องหยินและหยางอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าอะไรเป็นหยิน และอะไรเป็นหยางอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ ขอให้ถือหลักการที่ว่าสิ่งหนึ่งมีภาวะตรงข้ามกับอีกสิ่งหนึ่งเป็นสำคัญ







ภาคผนวก

ได้มีโอกาสอ่านบทวิเคราะห์หนังอนิเมชั่นฝั่งตะวันออกเรื่อง Spirited Away หลังจากที่เขียนบทวิเคราะห์ชิ้นนี้เสร็จแล้ว ทำให้ย้อนกลับมามอง The Bow ใหม่อีกครั้ง พบว่านอกจากจะสามารถทำความเข้าใจหนังเกาหลีเรื่องนี้ในแง่ของปรัชญาแล้ว ยังสามารถวิเคราะห์ The Bow ทางด้านสังคมศาสตร์ได้อีกด้วย (จริงๆแล้วคงได้อีกหลายแง่มุม)


เราอาจจะมองว่า ชีวิตบนเรือก็คือการดำรงอยู่ในวิถีเก่า แบบอิงอาศัยธรรมชาติ หรือวิถีชีวิตแบบชนบทนั่นเอง การมาถึงของเด็กหนุ่มคือการรุกคืบเข้ามาของความเป็น “สมัยใหม่” ในแบบชาวเมือง เขานำเอาเทคโนโลยี(วอร์คแมน)เข้ามาแทนที่ภูมิปัญญาชาวบ้าน(ซอ)


เด็กสาวคือพวกเราที่โดดเข้าโอบรับกระแสวัฒนธรรมเมืองที่จู่โจมเข้ามาด้วยความพิสมัย ไม่แม้แต่จะหวนคิดใคร่ครวญให้ดีถึงผลได้ผลเสียก่อน แม้ยังจะอาลัยอาวรณ์กับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แต่พวกเราก็เลือกที่จะละทิ้งชนบทเข้ามาแสวงหาโชคในเมืองใหญ่


ลองกลับไปหยิบหนังเรื่อง The Bow มาดูอีกสักรอบ ไม่แน่...คุณอาจจะพบมุมมองใหม่ๆที่สามารถต่อยอดความคิดเหล่านี้ออกไปได้อย่างกว้างขวาง แล้วคุณจะพบว่าโลกทั้งใบถูกย่อลงมาเหลือแค่ขนาดเท่าเรือลำหนึ่งที่ลอยคว้างกลางมหาสมุทรเท่านั้นเอง




 

Create Date : 17 มีนาคม 2550
11 comments
Last Update : 21 มีนาคม 2550 1:34:55 น.
Counter : 4363 Pageviews.

 

วิเคราะห์ได้อย่างเมามันมาก ช่วงนี้ผมหมดไฟเเขยนเซคชั่นวิเคราะห์เลยครับ

เรื่องโรงหนัง ผมชอบโรงนี้เหมือนคุณว่าไว้เลยคือมันเป็นโรงหนังจริง ๆ ไม่ใช่ห้างที่มีโรงหนัง เราเดินออกมาแล้วมันยังมีบรรยากาศของโรงหนังให้ได้ครุ่นคิดถึงหนังที่พึ่งดูไป

ไม่เหมือนโรงหนังในห้าง เดินออกมาก็คือห้าง ไร้อารมณ์มาก

 

โดย: I will see U in the next life. 17 มีนาคม 2550 21:13:10 น.  

 

อย่าเพิ่งหมดไฟซิครับคุณ I will see U in the next life ยังมีคนคอยติดตามอ่านอยู่หลายคนเลยนะ ผมคนหนึ่งล่ะ

 

โดย: das Kino 17 มีนาคม 2550 22:32:52 น.  

 

ขออ่านแบบกระโดดๆนะคะ
จะไปหามาดูก่อนค่ะ
แล้วอาจเห็นอะไรเหมือนๆกัน
หรือต่างออกไป


 

โดย: Gloomy Sunday 18 มีนาคม 2550 0:16:34 น.  

 

อา... ผมกำลังสนใจทฤษฎีผสมสี+ผสมแสงนี่อยู่พอดีเลยครับ

RGBY

สีทั้งสี่นี้ผมเชื่อว่าเป็นรหัสลับของชีวิตเลยทีเดียว

ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนเอาไปทำหนังและสื่อออกมาได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้

ขอบคุณที่เขียนให้อ่านครับ ผมจะต้องไปหาหนังเรื่องนี้มาดูให้จงได้

 

โดย: แพ ใบไผ่ 18 มีนาคม 2550 11:35:01 น.  

 

อืม ผมเคยเห็นหนังเรื่องนี้แต่ไม่ได้ซื้อมาดู น่าสนจัง

 

โดย: เจ้าชายชาเย็น 19 มีนาคม 2550 1:44:03 น.  

 

แวะมาสวัสดีเกาหลีเฉยๆ

 

โดย: หอมกร 19 มีนาคม 2550 7:45:56 น.  

 

อยากดูรูปประกอบจิงๆ ดูไม่ได้...

 

โดย: หมาน้อยคอยนาย 20 มีนาคม 2550 11:19:16 น.  

 

วันหลังน่ามาหนังคุยกับนะครับผมว่าน่าจะมีอะไรแลกเปลี่ยนกันสนุกๆ.......ผมชอบดูหนังมากๆผมว่าหนังบางเรื่องที่คนส่วนใหญ่ดูแล้วไม่ชอบผมว่ามันก็มีปรัชญา แฝงอยู่หลายเรื่อง อยู่ที่ว่าวุฒิภาวะของคนดูว่าจะเข้าใจได้มากน้อยแค่ใหน .......ขอบคุณที่วิเคราะห์ ให้คนอื่นได้ทราบเรื่องราวที่คนบางคนอยากที่จะบอก.....

 

โดย: หมาน้อยคอยนาย 20 มีนาคม 2550 11:34:59 น.  

 

ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครับคุณหมาน้อยคอยนาย

ปล. เป็นอะไรกับรูปหว่า ผมก็ดูได้ปกตินี่หน่า ใครดูไม่ได้แจ้งด้วยนะครับ

 

โดย: das Kino 20 มีนาคม 2550 12:02:04 น.  

 

พา น้อง มะถ่าน มาเยี่ยมอีกที

 

โดย: หมาน้อยคอยนาย 20 มีนาคม 2550 14:46:24 น.  

 

โอ้วรีวิวได้สุดยอดเลยค่ะ
ข้าน้อยดูหนังเรื่องนี้ผ่าน ๆ อ่าค่ะ
ตอนดูง่วงมาก
อ่านของท่านแล้ว
ข้าน้อยต้องกลับไปหามาดูใหม่แล้วอ่าค่ะ
ลึกซึ้งจริง ๆ
แต่ข้าน้อยว่าหนังท่านคิมคีดุกเนี้ยสุดยอดจริง ๆ
ทุกเรื่องเลย

 

โดย: เอาเข้าจริงแล้ว 29 มีนาคม 2550 22:13:24 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


das Kino
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




film lovers are sick people




Google



Friends' blogs
[Add das Kino's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.