...เล็กๆ น้อยๆ กับกล้วยไม้และเฟินคร๊าบ..

นายเคนชิโร่
Location :
ชลบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ

Google
Group Blog
 
 
เมษายน 2549
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
15 เมษายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add นายเคนชิโร่'s blog to your web]
Links
 

 
สกุลหวาย (Dendrobium)

สกุลหวาย (Dendrobium)

การกระจายตัวของกล้วยไม้สกุล Dendrobium พบได้ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัย อินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ประเทศในกลุ่มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงนิวกีนี และ ออสเตรเลีย ทางด้านควีนส์แลนด์ ฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย ไปจนถึงนิวซีแลนด์ และตาฮิติ กล้วยไม้ในสกุลนี้ประกอบไปด้วยจำนวนชนิดมากกว่า 1000 ชนิด สามารถแบ่งออกได้เป็น 41 กลุ่ม (Section) ถูกจัดอยู่ใน Subtribe Dendrobiinae การใช้ประโยชน์ของกล้วยไม้สกุลนี้มีมาช้านานแล้ว ชาวพื้นเมืองเผ่า อะบอริจิน ใช้ลำลูกกล้วยของ Dendrobium canaliculatum และ Den. speciosum เป็นอาหาร มีการใช้น้ำจากรอยตัดของลำลูกกล้วยมาเป็น fixative เมื่อเขียนภาพสีลงบนก้อนหินหรือเปลือกไม้ ทางเอเซียมีการใช้ลำลูกกล้วยของ Den. crumenatum มาสานเป็นหมวก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น มีลำต้นเทียม (pseudobulb) หรือลำลูกกล้วย อยู่บนส่วนของลำต้นที่แท้จริง ลำต้นที่แท้จริงเป็นส่วนที่เรียกว่าเหง้า (rhizome) มีการเจริญเติบโตไปทางด้านข้าง (sympodial) มีขนาดตั้งแต่ 1 - 488 ซม. บางชนิดมีส่วนของข้อ ปล้องเห็นได้ชัดเจน ลักษณะของลำต้น สามารถเรียกได้หลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่
- รูปกระบอง ลำต้นเทียม บวมพองในส่วนยอด ในขณะที่ส่วนปลายที่ติดอยู่กับเหง้า มีลักษณะเรียวผอม
- รูปกระบอก ลำต้นเทียม มีขนาดเท่าๆกันตลอดตั้งแต่โคนถึงปลายยอด
- รูปลำลูกกล้วย ลำต้นแบบนี้ มีส่วนโคนบวมพองและเรียวลงไปหาส่วนปลาย
- รูปกระสวย ลำต้นเทียม มีการขยายขนาดตรงส่วนกลาง ส่วนของโคนและปลายยอด เรียวเล็ก ราก เป็นรากอากาศ เนื่องจากเป็นพวกที่เกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้หรือโขดหิน ใบ มีจำนวนได้ตั้งแต่ 1 ใบ จนกระทั่งจำนวนมากต่อต้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ใบเป็นรูปไข่ เรียวยาว มีขนาดต่างๆกัน มีทั้งลักษณะใบแบน กลม ม้วนงอ หรือเป็นร่องลึกตรงกลาง ส่วนปลายเป็นรูปสามเหลี่ยม มีทั้งพวกที่มีการผลัด หรือใบเขียวตลอดปี ช่อดอก มีช่อดอกทั้งแบบช่อสั้น หรือช่อยาว ช่อห้อยหรือตั้งตรง โดยทั่วไปแล้ว ช่อดอกเกิดจากส่วนข้างของลำต้นเทียมบริเวณข้อใกล้ส่วนยอด มีบางชนิดที่ช่อดอกเกิดจากส่วนปลายของลำต้นเทียม พวกที่มีการผลัดใบมีแนวโน้มในการสร้างช่อดอกจากส่วนของข้อที่อยู่บนลำต้นเทียม เป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มดอกก็ได้ ในขณะที่พวกที่ไม่มีการผลัดใบ มีการสร้างช่อดอกบนส่วนของลำต้นเทียมที่อยู่ใต้บริเวณที่มีใบอยู่ ดอก มีทั้งที่เป็นดอกเดี่ยวและเป็นดอกช่อ ขนาดดอกมีตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงขนาดใหญ่ การบานของดอก มีบางชนิดที่บานเพียง 1 วัน หรือน้อยกว่านั้น ในขณะที่มีบางชนิด มีอายุการบานของดอกนานสัปดาห์ ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของดอกกล้วยไม้สกุลหวายคือ มีส่วนของปาก (lip) เชื่อมต่อกับกลีบข้างชั้นนอก (lateral sepals) ที่เรียกว่า เดือย (spur)

ชนิดของกล้วยไม้สกุลหวาย

เนื่องกล้วยไม้ในสกุลนี้มีจำนวนมาก จะขอกล่าวถึงชนิดที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในประเทศไทยและที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อวงการกล้วยไม้โดยทั่วไป

กลุ่ม Callista


กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ลำต้นกระทัดรัด ไม่มีเยื่อหุ้มลำต้น ช่อดอกเป็นแบบช่อห้อย เจริญเติบโตในที่ลุ่มของเขตร้อน เหมาะที่จะทำเป็นไม้กระถางโชว์ อายุการบานของดอกค่อนข้างสั้น และเมื่อตัดออกมาจากต้นอายุการปักแจกันสั้นมาก




Den. chrysotoxum เอื้องคำ

พบในไทย พม่าและจีนตอนใต้ ขึ้นในป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูง 400 - 1600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล กลีบดอกมีสีเหลือง ปากมีสีเหลือง ตรงกลางมีสีเหลืองเข้ม ขอบปากหยักเป็นครุย ช่อดอกโค้งห้อย ลำลูกกล้วยสูง 10 - 30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางของลำ 3 ซม. ลำมีสีออกเหลือง ช่อดอกเกิดจากปลายของลำลูกกล้วย ดอกขนาด 3 - 4 ซม. จำนวนดอก 20 ดอก/ช่อ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานนาน 2 - 3 สัปดาห์ ดอกบานเดือน มีค - เมย

Den. densiflorum เอื้องม่อนไข่เหลี่ยม

พบในเนปาล ภูฐาน พม่า ไทย และจีนตอนใต้ เป็นพวกอิงอาศัย ขึ้นในที่ระดับความสูง 1000 - 1900 เมตร ลำลูกกล้วยสูง 30 - 45 ซม. ลักษณะลำเป็นสี่เหลี่ยม เล้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ช่อดอกเป็นช่อห้อย ดอกค่อนข้างแน่น มีจำนวนดอกได้ถึง 50ดอก/ช่อ ดอกขนาด 3 - 5 ซม. ดอกมีสีเหลือง ปากสีออกส้ม มีกลิ่นหอม ดอกบานนาน 1 - 2 สัปดาห์ ดอกบานเดือน สค - กย

Den. farmeri เอื้องมัจฉานุ

พบในอินเดีย พม่า ไทย ไปจนถึงมาเลเซีย ลำลูกกล้วยเป็นสี่เหลี่ยม สูง 30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางของลำ 3 ซม. ช่อดอกเป็นช่อห้อย ยาว 15 - 20 ซม. ช่อดอกเกิดจากปลายลำลูกกล้วย จำนวน 20 ดอก/ช่อ กลีบดอกมีสีขาว ขาวอมชมพูหรือม่วงอ่อน ปากมีสีเหลือง ของปลายปากมีสีขาว ดอกบานไม่ทน ประมาณ 1 สัปดาห์ ดอกบานเดือน มีค - เมย




Den. lindleyi (Den. aggregatum) เอื้องผึ้ง

พบในอินเดีย พม่า ไทย และจีนตอนใต้ ชอบขึ้นอยู่บนต้นไม้ที่มีการผลัดใบ ทำให้ได้รับแสงแดดในช่วงฤดูหนาว ลำลูกกล้วยสั้น ประมาณ 6 - 8 ซม. อาจยาวได้ถึง 10 ซม. มีใบเพียง 1 ใบ/ลำลูกกล้วย ช่อดอกเป็นช่อห้อย จำนวนดอก 15 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 3 ซม. กลีบดอกและปากมีสีเหลือง ซึ่งความเข้มของสีดอกมีความผันแปรอยู่มาก ตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองเข้ม ดอกมีอายุการบาน 1 สัปดาห์ ดอกบาน มีค -เมย




Den. palpebrae เอื้องมัจฉา

พบในอินเดีย พม่าไทย ลาว เวียดนามและจีนตอนใต้ ขึ้นได้ในที่สูง 800 - 1500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยมีขนาด 15 - 50 ซม. ลำลูกกล้วยผอม มีลักษณะเป็นสี่เหลียม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. ช่อดอกเกิดบริเวณใต้ใบ จำนวนดอก 6 - 15 ดอก/ช่อ ขนาดดอก 4 - 6 ซม.
กลีบดอกมีสีขาว ไม่มีสีอื่นเจือปน ปากมีสีเหลือง ดอกบานเดือน มีค - เมย




Den. sulcatum เอื้องจำปาน่าน

พบในอินเดีย พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม ที่ระดับความสูง 500 - 1000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยสูง 20 - 45 ซม. มีลักษณะเป็นทรงกระบองค่อนข้างแบน กว้าง 1.5 ซม. มีใบ 2 ใบ ช่อดอกออกจากลำลูกกล้วยบริเวณใกล้ปลายยอด จำนวนดอก 3 - 15 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 2.5 -
3.5 ซม. กลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน ปากมีสีเหลืองเข้ม ห่อเข้าหากัน คล้ายท่อ ดอกบานเดือน มีค - เมย

Den. thrysiflorum เอื้องม่อนไข่ใบมน

พบในอินเดีย พม่า ไทยและจีนตอนใต้ ที่ระดับความสูง 1200 - 2000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล บริเวณที่เป็นป่าผลัดใบ ลำลูกกล้วยกลม ไม่มีเหลี่ยม ยาวได้ถึง 60 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซม. ลักษณะคล้ายกระบอง ช่อดอกเกิดที่ปลายลำลูกกล้วย ช่อดอกค่อนข้างแน่น จำนวนดอก 30 -
50 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 4 - 5 ซม. กลีบดอกสีขาว หรือเหลืองอ่อน ปากมีสีเหลืองหรือส้ม ดอกบานนาน 1 สัปดาห์ ดอกบาน มีค - เมย.

การจำแนก Dendrobium Section Callista

กลุ่ม Dendrobium
กลุ่มนี้เดิมมีชื่อว่า Eugenanthe มีความหลากหลายค่อนข้างมาก มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัย อินเดีย พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย ไปจนถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และนิวกีนี ลำลูกกล้วยผอมยาว มีเยื่อหุ้มบางๆ ดอกมีขนาดกลาง ไปจนกระทั่งใหญ่ มีทั้งที่เป็นช่อห้อย และดอกที่เกิดมาจาก
ข้อโดยตรง

Den. anosmum เอื้องสายหลวง

พบในอินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกีนี ตั้งแต่ในที่ลุ่มจนกระทั่งที่ระดับความสูง 1000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยยาวได้ถึง 3 เมตร โดยทั่วไปมีความยาวประมาณ 50 - 100 ซม. ใบเกิดตามข้อ และดอกเกิดจากข้อที่ไม่มีใบ จำนวน 1 - 2 ดอก/ข้อ ดอกขนาด 5 - 10 ซม. ดอกมีสีขาว ม่วงอ่อน ไปจนถึงม่วงเข้ม ปากห่อเป็นท่อ มีคลื่นที่ขอบปาก และมีขนละเอียดขึ้นโดยรอบปาก ปากมักมีสีม่วงเข้มแต้มอยู่ ดอกมีกลิ่นหอม ดอกบานเดือน กพ - มีค




Den. aphyllum เอื้องสายล่องแล่ง

พบในอินเดีย พม่า ไทย และจีนตอนใต้ ในที่ระดับความสูง 200 - 1800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยห้อยลง มีลักษณะผอมยาว ประมาณ 70 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.7 ซม. ดอกออกตามข้อที่ไม่มีใบ ดอกขนาด 3 - 5 ซม. ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกมีสีม่วงอ่อน กลีบดอกผอม
ปากมีขนาดใหญ่เกือบกลม มีสีเหลืองอ่อน ขอบปากหยักป็นฝอยละเอียด ดอกบานเดือน มีค - เมย.

Den. chrysanthum เอื้องสายมรกต

พบในหิมาลัย อินเดีย เนปาล พม่า ไทย ลาว เวียดนามและยูนนาน ที่ระดับความสูง 1000 - 2000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยยาวประมาณ 3 เมตร โดยทั่วไปมีความยาวประมาณ 1.5 เมตร ออกดอกตามข้อ ช่อดอกสั้น ออกดอกบนลำลูกกล้วยที่มีใบอยู่ ดอกจำนวน 2 - 6 ดอก/ช่อ เป็นลักษณะที่พิเศษกว่าชนิดอื่นๆ เพราะโดยทั่วไป ดอกบานบนลำลูกกล้วยที่ไม่มีใบ ดอกมีขนาด 4 - 5 ซม. ดอกมีสีเหลือง ปากเหลืองมีครุยหยักโดยรอบ และมีสีน้ำตาลแดงแต้มที่บริเวณโคนปาก ดอกบาน 1 - 2 สัปดาห์ ดอกบานในฤดูร้อน

Den. crystallinum เอื้องสายสามสี

พบในพม่า ไทยและจีน ที่ระดับความสูง 900 - 1500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยยาว 60 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8 ซม. ช่อดอกค่อนข้างสั้น จำนวนดอก 1 - 3 ดอก/ช่อ กลีบดอกและปากมีสีขาว มีแต้มสีม่วงแดงที่ปลายกลีบ รวมทั้งที่ปลายปากด้วย ปากมีลักษณะค่อนข้างกลม ปลายแหลมเล็กน้อย คอปากมีแต้มเป็นวงสีเหลือง anther cap ใสหุ้มเกสรตัวผู้ไว้ ดอกบาน มีค - เมย.

Den. devonianum เอื้องสายม่านพระอินทร์

พบในอินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ ที่ระดับความสูง 550 - 2000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยมีความยาว 1.5 เมตร ลำลูกกล้วยผอมมาก ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือเป็นคู่บนโคนลำลูกกล้วย ดอกขนาด 5 ซม. กลีบดอกสีขาว กลีบดอกชั้นในและปากมีแต้มสีม่วงที่ปลายกลีบ ปากมีลักษณะคล้ายกับเอื้องสายสามสี คือกลมและปลายแหลมเล็กน้อย แต่ปากของเอื้องสายม่านพระอินทร์ หยักเป็นครุยฝอย และมีแต้มสีเหลือง 2 แต้มที่โคนปาก ดอกบานเดือน พค - สค

Den. dixanthum เอื้องคำปอน หรือเอื้องใบไผ่

พบในพม่า ไทยและลาว ที่ระดับความสูง 800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยยาว 60 - 90 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 ซม. ช่อดอกเกิดจากข้อ และเกิดบนลำที่ไม่มีใบ จำนวน 2 - 5 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 3 - 4 ซม. ดอกมีสีเหลือง กลีบดอกชั้นนอกปลายกลีบแหลม กลีบชั้นในปลายมน โคนปากมีสีเหลืองเข้มคล้ายกำมะหยี่ ดอกบานเดือน กพ - มีค




Den. falconeri เอื้องสายวิสูตร

พบในอินเดีย และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงไต้หวัน ที่ระดับความสูง 1000 - 2300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยยาว 30 - 120 ซม. ข้อโป่งพอง ตลอดความยาวของลำ ดอกเป็นดอกเดี่ยวตามข้อ ดอกขนาด 5 - 10 ซม. กลีบดอกแคบ ปลายแหลมสีขาว มีแต้มรูปสามเหลี่ยมสีม่วงแดงที่ปลายกลีบ โคนปากมีแต้มสีเหลือง ตรงกลางใต้เส้าเกสรมีแต้มสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่ ดอกมีกลิ่นหอม ดอกบาน กพ. - มีค.

Den. fimbriatum เอื้องแววมยุรา หรือเอื้องเสือตาดำ

พบในพม่า ไทย ลาว เวียดนาม จีนตอนใต้ และมาเลเซีย ที่ระดับความสูง 500 - 1500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยยาว 2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. ช่อดอกเกิดบนปลายลำลูกกล้วยที่ไม่มีใบ จำนวนดอก 7 - 12 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 5 - 8 ซม. กลีบดอกมีสีเหลืองสด ปากมีสีเหลือง ขอบปากหยักเป็นครุยฝอย มีแต้มสีน้ำตาลเข้มที่โคนปาก ดอกบานเดือน เมย - พค




Den. findlayanum เอื้องพวงหยก หรือหวายปม

พบในพม่า ไทย และลาว ที่ระดับความสูง 1000 - 1700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยยาว 70 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. ลำมีสีเขียวเหลืองเป็นมัน ลำมีปล้องที่โป่งพองออก คล้ายการนำเอาลูกปัดมาเรียงต่อกัน ดอกเกิดบริเวณปลายลำลูกกล้วย เป็นคู่ ดอกขนาด 5 - 7 ซม.
กลีบดอกบิดเล็กน้อย มีสีขาวหรือชมพูอ่อน ปลายกลีบมีแต้มสีม่วง ปากค่อนข้างกลม มีปลายขอบสีม่วง ตรงกลางปากมีแต้มสีเหลืองเขียวเป็นวง ขนาดใหญ่ที่โคนปาก ดอกมีกลิ่นหอม ดอกบานเดือน กพ. - มีค.




Den. friedericksianum หวายเหลืองจันทบูรณ์ หรือเหลืองนกขมิ้น

พบในที่ลุ่มเขตร้อนทางภาคใต้ของไทย ลำลูกกล้วยยาว 45 ซม. ลำตั้งตรง เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 - 1.5 ซม. ช่อดอกเกิดบนปลายลำลูกกล้วยที่ไม่มีใบ จำนวนดอก 3 - 4 ดอก/ช่อ กลีบดอกมีสีเหลืองเป็นมัน กลีบบิดเล็กน้อย โคนปากมีแต้มเล็กๆ สีน้ำตาลแดง อยู่บนปาก 2 แต้ม ดอกบานเดือน มค. - มีค.

Den. heterocarpum เอื้องสีตาล

พบตั้งแต่ ศรีลังกา อินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนเหนือของจีน สุมาตรา ชวา บอร์เนียว และ ฟิลิปปินส์ ที่ระดับความสูงค่อนข้างมาก แต่ก็พบได้ในที่ที่มีอากาศเย็นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 500 เมตร ลำลูกกล้วยยาวประมาณ 60 ซม. โดยทั่วไปลำลูกกล้วยค่อนข้างสั้น พวกที่มีลำลูกกล้วยสั้น ลำลูกกล้วยจะตั้งขึ้น พวกที่ยาวจะห้อยลง ดอกออกบนลำที่ไม่มีใบ บริเวณปลายลำ ประมาณ 2-3 ดอก ดอกขนาด 6 ซม. มีกลิ่นหอม ดอกมีสีเหลืองอ่อน กลีบผอมเรียว ปากมีสีเหลืองออกส้ม ปลายปากแหลมและม้วนลงเล็กน้อย มีเส้นสีส้มขีดตามคอปาก ปากมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับดอกชนิดอื่นๆในกลุ่มนี้ ดอกบาน ธค. - กพ.

Den. lituiflorum เอื้องครั่งสายยาว หรือ สายสีม่วง

พบในอินเดีย พม่า ไทย ลาว และจีนตอนใต้ ที่ระดับความสูง 400-1700 เมตร ลำลูกกล้วยผอม ยาวประมาณ40-60 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ดอกออกบนลำที่ไม่มีใบ มีดอก 2-5 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 6-10 ซม. มีกลิ่นหอม ดอกมีสีออกขาวจนกระทั่งถึงม่วงเข้ม ปากห่อเป็นท่อ ปลายปากแหลม โคนปากมีสีม่วงแดงเข้ม มีขอบสีขาวหรือม่วงอ่อน ส่วนปลายปากสีเหมือนกลีบดอก ดอกบาน กพ. - มีค.

Den. moschatum เอื้องจำปา

พบในอินเดีย พม่า ไทย ลาวและเวียดนาม ที่ระดับความสูง 300-2000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยผอม ยาวประมาณ 2 เมตร ช่อดอกเกิดบนลำลูกกล้วยที่มีอายุ 2 ปี มี 7-15 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 5-8 ซม. กลีบดอกสีเหลือง กลีบในมีขนาดค่อนข้างกว่ากลีบนอก ปากห่อม้วนเข้า มีขนอ่อนปกคลุมอยู่ทั่วไป ที่โคนปากมีแต้มสีม่วงแดงอยู่ 2 แต้ม ดอกบาน มีค. - เมย.




Den. nobile เอื้องเก๊ากิ่ว

พบอินเดีย เนปาล พม่า ไทย จีน และเวียดนาม ที่ระดับความสูง 200-2000 เมตร ลำลูกกล้วยยาวประมาณ 60 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 ซม. ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ มี 2-4 ดอก/ข้อ ดอกขนาด 6-8 ซม. ดอกบานค่อนข้างนาน 3-6 สัปดาห์ ดอกมีสีขาวจนกระทั่งม่วง ปลายกลีบจะมีสีเข้มกว่า ปากห่อเป็นท่อที่โคนปาก มีคอปากสีเหลือง ดอกบาน มีค. - เมย.

Den. ochreatum เอื้องคำผักปราบ

พบในอินเดีย พม่า ไทย และลาว ที่ระดับความสูง 1200-1600 เมตร ลำลูกกล้วยมีความยาว 15-70 ซม. โดยทั่วไปมีความยาว 30 ซม. ในช่อดอกหนึ่งมี 1-3 ดอก ดอกขนาด 5-7 ซม. ดอกบานอยู่ในช่วง 2/3 ของลำลูกกล้วย ดอกมีสีเหลืองสด กลีบดอกเป็นมัน ขอบปากหยักเป็นครุยฝอยละเอียด ที่คอปากมีสีน้ำตาลแดง แต้มอยู่ ดอกบาน ช่วงเดือน มิย.




Den. parishii เอื้องสายน้ำครั่ง หรือเอื้องครั่งสายสั้น

พบในอินเดีย พม่า อินโดจีน และจีนตอนใต้ ที่ระดับ 250-1500 เมตร ลำลูกกล้วยสั้น ยาวประมาณ 30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ดอก 1-3 ดอก/ช่อ บนลำที่ไม่มีใบ ดอกขนาด 4-6 ซม. ดอกมีกลิ่นหอม ดอกมีสีม่วง ปากค่อนข้างกลม ขอบปากหยักเป็นฝอยละเอียดสั้นๆ ขอบปากมีสีขาว มีแต้มสีม่วงเข้มอยู่ 2 แต้ม ด้านข้างของปากด้านใน ดอกบาน 3-4 สัปดาห์ ดอกบานเมย. - พค.

Den. primulinum เอื้องสายน้ำผึ้ง

พบในอินเดีย เนปาล พม่า ไทย เวียดนาม และจีนตอนใต้ ที่ระดับ 300-1600 เมตร ลำลูกกล้วยมีความยาวประมาณ 45 ซม. หรืออาจสั้นกว่านี้ ดอกออกจากข้อของลำที่ไม่มีใบ มี 1-2 ดอก/ข้อ ดอกขนาด 4-8 ซม. กลีบดอกแคบ มีสีม่วงอ่อน ปากกลมมีขนาดใหญ่ มีสีเหลืองอ่อน มีลายเส้นขีดสีม่วงแดง ดอกบาน กพ. - มีค.

Den. pulchellum เอื้องช้างน้าว หรือเอื้องคำตาควาย

พบในอินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และแหลมมลายู ที่ระดับ 200-2000 เมตร ลำลูกกล้วยยาว 2 เมตร ปล้องของลำลูกกล้วยมีแถบสีม่วงแดง ขีดตามยาว ช่อดอกยาว 15-20 ซม. มีประมาณ 12 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 5-10 ซม. กลีบดอกมีสีหลากหลาย ตั้งแต่ขาว เหลืองเขียว เหลืองส้ม ปากสีเหมือนกลีบ มีแต้มสีน้ำตาลแดง 2แต้มอยู่บนส่วนกลางของปาก ดูคล้ายตา ดอกบาน เมย.-พค.

Den. senile เอื้องชะนี

พบในพม่า ไทย และลาว ที่ระดับ 500-1500 เมตร ลำลูกกล้วยมีขนอ่อนสีขาวปกคลุมอยู่ทั่วไป ยาวประมาณ 5-15 ซม. ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวจากข้อ ดอกขนาด 5 ซม. ดอกมีสีเหลือง กลีบเป็นมัน ปากมีปลายค่อนข้างแหลมป้าน คอปากมีสีเขียว มีเส้นสีน้ำตาลแดงขีดเล็กโดยรอบ มีกลิ่นหอม ดอกบาน มค. - มีค.




Den. tortile เอื้องเก๊ากิ่วแม่สะเรียง

พบในอินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และแหลมมลายู ที่ระดับ 1200 เมตร ลำลูกกล้วยยาวประมาณ 40 ซม. ดอกมี 1-3 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 7 ซม. กลีบดอกมีสีม่วง กลีบบิดเป็นคลื่น ปากสีเหลืองอ่อน มีเส้นสีม่วงอ่อน ขีดจางๆที่คอโคนปาก ปากด้านบนห่อส่วนของเส้าเกสรไว้ ดอกบาน กพ. - เมย.




Den. unicum เอื้องครั่งแสด

พบในไทย ลาวและเวียดนาม ที่ระดับความสูง 800-1500 เมตร ลำลูกกล้วย สั้น ยาวมากที่สุดประมาณ 25 ซม. ดอกบิด ส่วนของปากชี้ขึ้นด้านบน กลีบดอกมีสีส้มสดใส มี 2-4 ดอก/ช่อ ปากมีสีเหลืองอ่อนมีเส้นสีส้มขีดเป็นลายทั่วปาก ดอกขนาด 4-5 ซม. ดอกบาน กพ. - พค.




Den. wardianum เอื้องมณีไตรรงค์

พบในอินเดีย พม่า ไทย และจีนตอนใต้ ที่ระดับ 1000-2000 เมตร ลำลูกกล้วย ยาว 100 ซม. ส่วนของข้อโป่งพองออก โดยเฉพาะตอนส่วนปลายของลำลูกกล้วย ดูคล้ายไม้เท้า ดอกออกบริเวณปลายลำ มี 2-3 ดอก/ข้อ ดอกขนาด 7-10 ซม. กลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน ปลายกลีบมีสีม่วงอ่อนแต้ม กลีบนอกปลายกลีบบิดเล็กน้อย ส่วนกลีบใน ขอบกลีบเป็นคลื่น ปากมีส่วนปลายม้วนลงเล็กน้อย คอปากมีสีเหลือง และมีแต้มสีแดงเข้มอยู่ตรงกลาง ดอกบาน มค. - มีค.

กลุ่ม Formosae
เดิมรู้จักกันในนามของ Nigrohirsutae ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น Formosae ประกอบไปด้วย 30 ชนิด พบได้ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สุมาตรา ฟิลิปปินส์ และบอร์เนียว มีความใกล้ชิดกับ กลุ่ม Dendrobium กลุ่มนี้สังเกตได้ง่าย เนื่องจากบริเวณเยื่อหุ้มลำลูกกล้วย มีขนสีน้ำตาลหรือดำขึ้นอยู่ทั่วไป ดอกมีขนาดใหญ่ และมีอายุการบานของดอกค่อนข้างนาน นิยมนำมาใช้เป็นไม้ประดับ

Den. bellatulum เอื้องแซะหม่น

พบในอินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และยูนานของจีน ที่ระดับ 1000 -2100 เมตร ลำลูกกล้วยมีขนสีดำละเอียดขึ้นอยู่ทั่วไป ลำขนาด 5 - 8 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซม. ดอกออกด้านข้างบนส่วนปลายของลำที่ไม่มีใบ จำนวนดอก 1 -3 ดอก ขนาดประมาณ 4 - 4.5 ซม.กลีบดอกมีสีขาว กลีบดูบอบบาง ปากมีสีส้ม โคนปากมีส้มแดง ดอกบาน มค. - มีค.

Den. cariniferum เอื้องเงินแดง

พบในอินเดีย พม่า ไทย อินโดจีน และตอนใต้ของจีน ที่ระดับ 700 - 1500 เมตร ลำลูกกล้วยยาว ประมาณ 20 ซม. มีขนอ่อนขึ้นอยู่ทั่วๆไป ดอกออกตรงส่วนปลายของลำ จำนวน 2-4 ดอก ดอกขนาด 2-3 ซม. กลีบดอกสีขาวครีม ปากสีเหลืองอ่อน มีแต้มสีส้มตรงกลางปาก พร้อมมีขอบสีเหลืองอยู่ ดอกบาน กพ. - เมย.

Den. christyanum เอื้องแซะดอยปุย

พบในไทย เวียดนาม และจีนตอนใต้ ที่ระดับ 1200 เมตร ลำลูกกล้วยมีขนาด 5-8 ซม. มีขนสีดำขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป รวมทั้งที่ใบด้วย ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ขนาด 5 ซม. กลีบดอกสีขาวครีม ปากมีสีขาวครีม มีแต้มสีเหลืองตรงกลาง และมีแถบสีส้มที่โคนปาก ดอกบาน มิย. - สค.

Den. cruentum เอื้องปากนกแก้ว

พบใน ไทยทางใต้ ในที่ระดับต่ำกว่า 1000 เมตร ลำลูกกล้วยยาว ประมาณ 30 ซม. ส่วนโคนลำพองออก มีขนสีดำขึ้นอยู่ทั่วไป ดอกออกจากซอกใบทางด้านบนของลำ 1-3 ดอก ขนาด 5 ซม. ดอกบานทน ประมาณ 1 เดือน มีกลิ่นหอม ดอกบานตลอดปี นิยมใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ลูกผสมที่รู้จักกันมากคือ Den. Dawn Maree ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Den. formosum × Den. cruentum




Den. draconis เอื้องเงิน

พบในพม่า และไทย กลีบดอกมีสีขาว ปลายกลีบในแหลม ดอกมีขนาดประมาณ 5 ซม. ปากมีสีแดง ดอกบาน มีค. - เมย.

Den. formosum เอื้องเงินหลวง

พบในอินเดีย ไทย และอินโดจีน ลำลูกกล้วยยาว 45 ซม. กาบที่ห่อหุ้มลำมีขนสีดำขึ้นอยู่ทั่วไป ดอกมีขนาดใหญ่ 10 - 12 ซม. มีจำนวน 1-5 ดอก/ข้อ กลีบดอกสีขาว ปากสีขาวมีแต้มเหลืองตรงกลางปาก ดอกบาน ตค. - ธค.

Den. infundibulum เอื้องตาเหิน

พบในอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่ระดับ 1000 เมตร ดอกคล้ายเอื้องเงินหลวง แต่มีขนาดเล็กกว่า ประมาณ 8 ซม. ลำลูกกล้วยยาวได้ถึง 1 เมตร กลีบดอกสีขาว ปากสีเหลืองออกส้ม ดอกบานนาน 1 - 3 เดือน ดอกบาน กพ. - มีค.

Den. scabrilingue เอื้องแซะ

ลำลูกกล้วยมีขนาดเล็ก ดอกมีขนาดประมาณ 2- 3 ซม. ดอกมีกลิ่นหอมมาก กลีบดอกสีขาว ปากสีเหลืองส้ม ดอกบาน ธค- กพ.

Den. trigonopus เอื้องคำปากไก่

พบในพม่า ไทย ลาวและเวียดนาม ที่ระดับ 500 - 1500 เมตร. ลำลูกกล้วยยาวประมาณ 20 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. มีขนสีดำขึ้นอยู่ทั่วไป ดอกออกปลายลำ ดอกมีสีเหลือง กลีบดอกเป็นมัน ปากสีเขียวเหลือง มีขีดสีน้ำตาลเล็กๆมีปากด้านข้าง ดอกบาน กพ. - มีค.


การจำแนก Dendrobium Section Formosae


กลุ่ม Latouria


ในกลุ่มนี้ เป็นชนิดที่พบใน ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงเกาะซามัว มีแหล่งกำเนิดใหญ่อยู่ที่ปาปัวนิวกีนี ใบเจริญอยู่บนยอดของลำลูกกล้วย ดอกมีอายุการบานที่นาน กลีบดอกมักมีสีเขียว หรือน้ำตาลอ่อน รูปทรงของดอกค่อนข้างแปลกตา ที่นิยมปลูกเลี้ยงและใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ลักษณะเด่นคือ
ปากสามารถออกได้เป็น 3 ส่วน (lobe)

Den. convolutum

พบในเกาะการ์การ์ ปาปัวนิวกีนี ชอบอากาศร้อนชื้น ลำลูกกล้วยยาวประมาณ 30 ซม. ช่อดอกยาวประมาณ 12 ซม. มีดอก 2-7 ดอก/ช่อ ดอกมีขนาด 3 ซม. กลีบดอกมีสีเขียวเหลืองเป็นมัน ปากส่วนหน้ามีสีน้ำตาลแดง ด้านข้างทั้งสอง มีเส้นขีดน้ำตาลแดง ดอกบานนาน 4-6 เดือน ดอกบาน เมย. - ตค.

Den. macrophyllum

พบได้ตั้งแต่ทางใต้ของชวาไปจนถึงฟิลิปปินส์และซามัว ลำลูกกล้วยยาว 60 ซม. ชอบอากาศร้อนชื้น ช่อดอกเป็นแบบ raceme ส่วนของ pedicel มีขนปกคลุมทั่วไป กลีบดอกสีเหลืองเขียว ปลายกลีบดอกแหลม ปากมีขีดสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วไป มีดอก 25 ดอก/ช่อ ดอกบานนาน 2 เดือน และออกดอกตลอดปี

Den. spectabile

พบในนิวกีนี ชอบอากาศร้อน ลำลูกกล้วยเป็นรูปทรงกระบอกยาว 60 ซม. ช่อดอกตั้ง มีได้ถึง 20 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 4-8 ซม. กลีบดอกสีเหลืองครีมมีเส้นลายสีน้ำตาลแดงขีดทั่วไป กลีบดอกบิด ปากมีสีแดงน้ำตาล ดอกบานนานหลายสัปดาห์ ดอกบาน มค. - มีค .

การจำแนก Dendrobium Section Latourea


กลุ่ม Phalaenanthe


กลุ่มนี้พบในติมอร์ ตอนใต้ของนิวกีนี และตอนเหนือของออสเตรเลีย เจริญเติบโตได้ดีในที่ค่อนข้างแห้ง ช่อดอกเป็นแบบ raceme กลีบในกว้างกว่ากลีบนอกมาก ปากมีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของกลีบดอก

Den. affine (Den. dicuphum)

พบในนิวกีนี ลำลูกกล้วยขนาดประมาณ 15 ซม. ช่อดอกยาวได้ถึง 60 ซม. ดอกขนาด 3 ซม. มีดอกประมาณ 20 ดอก/ช่อ กลีบดอกสีขาว บางครั้งมีสีชมพูเรื่อที่โคนกลีบ ปากมีสีขาว โคนปากมีสีเหลืองเขียว หรือชมพู ดอกบานนาน 4 - 6 สัปดาห์ ดอกบานตค. - มีค.

Den. biggibum

พบในนิวกีนีตอนใต้ ชอบอากาศร้อน ลำลูกกล้วยยาว 40-60 ซม. ช่อดอกยาวประมาณ 8-15 ซม. มีดอก 2-20 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 3-5 ซม. กลีบดอกสีชมพูม่วง ปากมีสีม่วงบานเย็นเป็นกำมะหยี่ มีจุดสีขาวแต้มอยู่กลางปาก ดอกบานประมาณ 1 เดือน ดอกบาน ตค. - พย.

ในกลุ่มนี้มีการเรียกชื่อกันหลายอย่าง บางครั้งมีการเรียกชื่อ Den. phalaenopsis Den. biggibum var. compactum, Den. biggibum var. superbum และ ยังมี Den. biggibum var. biggibum ซึ่งในการเรียกชื่อของกลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด

Den. x superbiens

ชนิดนี้เป็นลูกผสมตามธรรมชาติของ Den. biggibum และ Den. discolor ซึ่งพบในเกาะ Torres Strait และตอนเหนือของ Cape York ลำลูกกล้วยยาว ประมาณ 1 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.2 ซม. มีดอก 20 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 4-5 ซม. กลีบดอกมีสีม่วงแดงบิดเล็กน้อย ขอบกลีบเป็นคลื่น มีขอบสีขาวขลิบรอบกลีบ ดอกบานนานประมาณ 2 เดือน ดอกบานตลอดปี

การจำแนก Dendrobium Section Phalaenanthe


กลุ่ม Spatulata


กลุ่มนี้พบในฟิลิปปินส์ ชวา ตอนเหนือของออสเตรเลีย หมู่เกาะแปซิฟิก จนถึงซามัว เจริญได้ดีในเขตร้อนชื้น ดอกมีขนาดค่อนข้างเล็ก และให้ดอกต่อช่อมาก และใน1 ลำลูกกล้วยสามารถให้ช่อดอกได้มากกว่า 1 ช่อดอก

Den. antennatum

พบในนิวกีนี ลักษณะดอกคล้ายเขากวาง ลำลูกกล้วยมีสีเหลือง และเป็นเหลี่ยม ช่อดอกยาวประมาณ 50 ซม. มีดอก 3 - 15 ดอก/ช่อ ขนาดดอก 2-4 ซม. กลีบนอกสีขาว กลีบในสีเขียวอ่อนและบิด เป็นเกลียว ปากมีพื้นสีขาว ขีดสีม่วงแดงเป็นเส้น ดอกบานนาน 6 สัปดาห์ และออกดอกตลอดปี

Den. canaliculatum

พบในตอนเหนือของออสเตรเลีย ลำลูกกล้วยขนาดเล็ก สูง 3 - 12 ซม. ให้ดอกดก ช่อดอกยาว 20 ซม. มี 3 - 40 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 2 - 3 ซม. กลีบดอกมีหลากสี ตั้งแต่เขียวขาว ไปจนสีเหลืองน้ำตาล กลีบดอกบิดเล็กน้อย ปากมีพื้นสีขาว มีเส้นลายสีม่วงแดง ดอกบานนานหลายสัปดาห์ ดอกบาน มีค. - เมย.

Den. gouldii

พบใน นิวไอแลนด์ และเกาะโซโลมอน ลำลูกกล้วยยาว ได้ถึง 2 เมตร ช่อดอกยาว 30 - 70 ซม. ดอกมีขนาด 5 ซม. กลีบดอกมีหลายสี ตั้งแต่ ขาว น้ำตาล และม่วง กลีบบิดเล็กน้อย ปากมีเส้นนูนสีม่วงแดง นิยมใช้ในการผสมพันธุ์มาก ดอกบานนาน 6 สัปดาห์

ชนิดอื่นๆ





Den. hercoglossum เอื้องดอกมะเขือ

ดอกมีสีม่วง ปลายกลีบแหลม ปากมีสีขาว ที่ anther cap มีสีม่วงแดง ดอกบาน กพ. - มีค.




Den. secumdum เอื้องแปรงสีฟัน

ดอกมีขนาดเล็กขึ้นเรียงกันแน่นอยู่บนช่อดอกยาวประมาณ10 -15 ซม. ดอกมีสีขาวจนถึงชมพูเข้ม ดอกบาน กพ. - เมย.

Den. venustum เอื้องข้าวเหนียวลิง

ดอกต่อช่อดก ดอกขนาด 2-2.5 ซม. กลีบสีขาวครีม ปากสีเหลืองน้ำตาล มีขีดสีน้ำตาล และปลายขอบปากเป็นครุยฝอย ดอกบาน กค. - กย.









Create Date : 15 เมษายน 2549
Last Update : 21 พฤษภาคม 2549 17:46:34 น. 4 comments
Counter : 1846 Pageviews.

 
ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้เยอะเลย


โดย: นุช IP: 202.12.74.8 วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:10:55:02 น.  

 


โดย: ชอบกล้วยไม้ค่ะ IP: 124.157.245.153 วันที่: 10 สิงหาคม 2549 เวลา:11:53:45 น.  

 
คุณ เสือจุ่น ปลูก สายวิสุทธิ์ และ มณีไตรรงค์ อย่างไรหรือครับ
ช่วยแนะนำที่สิครับ
ผมปลูกแล้ว ก็ตาย ตลอดเลยนะครับ
ช่วยแนะนำที่นะครับ ขอบคูณครับ


โดย: pp55 IP: 203.113.41.41 วันที่: 11 ธันวาคม 2549 เวลา:19:15:35 น.  

 
ขอโทษครับ คุณเคนชิโร่ ที่เรียกชื่อผิดครับ
ขอโทษจริงๆ ครับ


โดย: pp55 IP: 203.113.41.41 วันที่: 11 ธันวาคม 2549 เวลา:19:17:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.