พฤษภาคม 2555

 
 
1
2
3
4
6
9
11
12
13
14
15
16
18
19
20
22
23
25
26
28
29
30
31
 
 
สายลมเปลี่ยนทิศในอียิปต์...
Pic_262734

เป็นเรื่องราวที่น่าติดตามกับการเปลี่ยนแปลง ความรุนแรง สงคราม ในอียิปต์สัปดาห์นี้ ไทยรัฐออนไลน์พาไปลุยอียิปต์และสายลมที่เปลี่ยนทิศทาง...

“โจรกับนักเลงหัวไม้ทั้งนั้น” คือภาพหรือมุมมองที่คนทั่วไปมีต่อชนบทของอียิปต์หลังการปฏิวัติ คงเป็นเพราะเหตุนี้ตำรวจใบหน้าถมึงที่สถานีรถไฟจึงไม่ยอมให้ผมผ่าน พลางตะคอกใส่ว่า “ห้ามคนต่างชาติขึ้นรถไฟชั้นสาม ห้ามขึ้น!”

ผมอยู่ระหว่างการเดินทางในฤดูใบไม้ร่วง ปี 2011 พร้อมคอลิด นากี เพื่อนร่วมงานชาวอียิปต์ ที่เฝ้าติดตามบันทึกเหตุการณ์การก่อกบฏในกรุงไคโรเป็นเวลากว่า 200 วัน  เรากำลังเดินทางจากอาบูซิมเบลทางใต้ของอียิปต์ มุ่งหน้าไปยังอะเล็กซานเดรียทางตอนเหนือของประเทศ

โดยหยุดแวะหลายที่ เราวางแผนกันว่าจะเดินทางออกไปให้ไกลจากจุดศูนย์กลางของการปฏิวัติ นั่นคือจัตุรัสตะห์รีร์ (Tahrir Square) ในกรุงไคโร เพื่อดูว่าการเปลี่ยนแปลงส่งผลอย่างไรต่อพื้นที่อื่นๆ ในอียิปต์

“ไม่มีทั้งความเชื่อมั่น ไม่มีทั้งความปลอดภัย” มุอ์มิน ฮะซัน ทหารเกณฑ์วัย 22 ปี ตอบ เมื่อผมถามความเห็นเกี่ยวกับผู้ประท้วงที่จัตุรัสตะห์รีร์ “ผมไม่ได้ต่อต้านพวกเขานะ แต่ไม่สนับสนุนด้วยแน่ๆ” เขาไม่แปลกใจกับพฤติการณ์เลวร้ายของรัฐบาลชุดก่อนหน้า แต่เปรียบเปรยการฉ้อราษฎร์บังหลวงว่าเหมือนต้นไม้ที่หยั่งรากลึก  ต่อให้โค่นต้นไม้ลง ไม่นานมันก็จะงอกขึ้นมาใหม่  “ประชาธิปไตยน่ะดี แต่เราเร่งรัดให้เกิดขึ้นไม่ได้หรอกครับ ถ้าปล่อยบังเหียนหลวมเกินไป ผู้คนก็จะทำตามอำเภอใจ เรายังต้องการความเข้มงวดกวดขันอยู่ครับ” เขาทิ้งท้าย

มุมมองเช่นนี้พบได้ทั่วไปตามต่างจังหวัด เกือบทุกที่ที่เราไปเยือน ชาวอียิปต์ต่างแสดงความวิตกกังวลในเรื่องอัลอัมน์ หรือความปลอดภัย หลายคนเกือบจะดูเหมือนหวาดระแวงเกินเหตุกับสถิติการจี้ปล้นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบไม่เคยได้ยินก่อนการปฏิวัติ และการล่มสลายของกฎระเบียบในสังคม คนขับแท็กซี่รายหนึ่งในลักซอร์ถึงกับซื้อปืนพกมาซุกไว้ใต้เบาะรถ

ใต้ร่มเงาแห่งฟาโรห์ลำพังความตึงเครียดก็อาจดึงประเทศให้ตกต่ำลงได้แล้ว การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเศรษฐกิจอียิปต์ แต่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่เราไปเยือนแทบจะพูดได้ว่าร้างผู้คน ที่วิหารรามเสสมหาราชในอาบูซิมเบล แผงขายของที่ระลึกพากันปิดเงียบ ประตูหมุนโลหะล้วนนิ่งสนิท แปดเดือนหลังการปฏิวัติโค่นล้มประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก จำนวนผู้มาเยี่ยมชมลดฮวบลงเหลือแค่ราว 150 คนต่อวันเท่านั้น 

อะฮ์หมัด ซอลิ นักไอยคุปต์วิทยาและผู้อำนวยการของมหาวิหารอาบูซิมเบล รวมทั้งอนุสรณ์สถานอื่นๆ ในเขตนูเบียทางใต้สุดติดกับชายแดนประเทศซูดาน บอกว่า “นักท่องเที่ยวกลัวว่าถ้ามาที่นี่พวกเขาอาจถูกทำร้ายได้” ผมบอกกับ ซอลิว่า ชาวอียิปต์หลายคนมองปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านที่จำเป็น พวกเขามองมูบารักว่าเป็น “ฟาโรห์องค์สุดท้าย” และเชื่อว่าศักราชใหม่มาถึงแล้ว นับเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องยาวนานกว่า 5,000 ปี

ซอลิกล่าวว่า “ทั้งรามเสสและมูบารักเป็นทหารและสถาปนาราชวงศ์ของตนเองขึ้นโดยสืบทอดอำนาจในตระกูล” แต่ซอลิไม่มั่นใจว่า มูบารักซึ่งเตรียมลูกชายคนหนึ่งให้ขึ้นมา แทนที่เขาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ  จะเป็นผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของอียิปต์หรือไม่ “วัฒนธรรมทางการเมืองของอียิปต์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากพอที่เราจะพูดได้ว่า  มูบารักจะเป็นฟาโรห์องค์สุดท้าย เราเริ่มมีประชาธิปไตยแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหนหรอกครับ” ซอลิเชื่อเช่นนั้น

เขาบอกเหตุผลที่มองในโลกในแง่ร้ายว่า คนหน้าเดิมๆ จากรัฐบาลชุดเก่ายังครองอำนาจอยู่ในหลายระดับ ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น อัตราการไม่รู้หนังสือยังถือว่าสูงมาก ชาวอียิปต์จำนวนมากมองการปฏิวัติว่าเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้คนฉกฉวยสิ่งที่ตนอยากได้ ซอลิบอกว่า “ชนชาติอาหรับไม่ยอมรับประชาธิปไตยง่ายๆ หรอกครับ ส่วนหนึ่งเพราะสวนทางกับการปกครองแบบปิตาธิปไตยภายในครอบครัวหรือในระดับเผ่า ถ้าพ่อสั่งว่า ‘อย่าเล่น’ เราก็จะไม่เล่น เขาเป็นเผด็จการ คุณจะเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของคนอียิปต์ภายในช่วงเวลาสั้นๆ ได้อย่างไรกัน”

การเดินทางที่ยังไม่สิ้นสุดอาบูซิมเบล รวมทั้งเมืองและหมู่บ้านน้อยใหญ่ในหุบเขาลุ่มแม่น้ำไนล์  ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ  และอะเล็กซานเดรีย ทุกจุดที่เราแวะตามรายทาง เราเห็นประชาชนคนเดินดินที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดพากันวิตกว่า ชีวิตที่ลำเค็ญอยู่แล้วจะยิ่งลำบากยากเข็ญขึ้นไปอีก เห็นชาวมุสลิมผู้ยึดมั่นในอุดมคติแบบจารีตนิยมวาดหวังที่จะเปลี่ยนอียิปต์ให้เป็นระบอบเทวาธิปไตย หรือจะเป็นพวกนิยมทางโลก (secularist) ที่หมายมั่นสร้างอียิปต์ให้เป็นประเทศหลากวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิเสียงข้างน้อยและรับประกันเสรีภาพของพลเมืองทุกคน

ชาวอียิปต์จำนวนมากดูเหมือนกำลังรอให้รูปแบบที่ชัดเจนปรากฏขึ้น เพื่อให้ชิ้นส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลากสีสันของอียิปต์ใหม่ประกอบกันขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ผมถามวิศวกรชื่อ มุฮัมมัด ฮักกัก เกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ว่าวัฒนธรรมเผด็จการดำรงอยู่ในสังคมอียิปต์มาช้านาน โดยฝังรากลึกอยู่ในครอบครัวและกลุ่มชนเผ่า  และไม่ช้าก็เร็วผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จจะหวนกลับมา เขาค้านหัวชนฝาโดยบอกว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับลูกๆ ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพ่อมากนะครับ ถ้าพ่อผมสั่งให้ผม ‘หยุดพูด’ ผมก็จะหยุดพูด แต่ผมทำแบบนั้นกับลูกๆ ไม่ได้แล้วครับ”

ถ้าเช่นนั้น นี่หมายความว่า ฮักกัก วัย 59 ปี เชื่อว่าการปฏิวัติครั้งนี้จะประสบความสำเร็จกระนั้นหรือ “เหมือนกับเราหลงทางอยู่กลางทะเลทรายยังไงยังงั้นเลยละครับ” เขาตอบด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นราวกับจะบอกว่าพร้อมปักหลักสู้ไม่ถอย “เราพบเส้นทางแล้ว  แต่คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะออกจากทะเลทรายได้ครับ”

เรื่อง เจฟฟรีย์ บาร์โทเลต ภาพถ่าย อเล็กซ์ มาโยลี เว็บไซต์//www.ngthai.com/ngm/1205/default.asp
เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกภาคภาษาไทย


ที่มา ไทยรัฐ




Create Date : 27 พฤษภาคม 2555
Last Update : 27 พฤษภาคม 2555 19:53:44 น.
Counter : 1109 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kaweejar
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]