พฤษภาคม 2555

 
 
1
2
3
4
6
9
11
12
13
14
15
16
18
19
20
22
23
25
26
28
29
30
31
 
 
เคทู: ความฝันและความตาย ณ ยอดเขาแสนหฤโหด
Pic_254390

อากาศร้อนๆ ฉบับนี้ ไทยรัฐออนไลน์นำเสนอเรื่องราวลึกลับของยอดเขาน้ำแข็งแสนหฤโหดมาเสิร์ฟกัน...

ทีมสำรวจนานาชาติเคทูนอร์ทพิลลาร์ 2011  (International 2011 K2 North Pillar Expedition) เทียวขึ้นเทียวลงสันเขาด้านเหนือหรือนอร์ทริดจ์ (North Ridge) ของยอดเขาสูงเป็นอันดับสองของโลก  พวกเขาเป็น ทีมสำรวจทีมเดียวที่พยายามพิชิตเคทูจากฝั่งประเทศจีนอันห่างไกลและยากลำบาก ด้วยความสูงถึง 8,611 เมตร เคทูเป็นยอดเขาสูงตระหง่านในเทือกเขาการาโกรัมที่ทอดตัวไปตามแนวพรมแดนจีน-ปากีสถาน พวกเขาปีนสันเขานี้โดยไม่ใช้ออกซิเจนหรือพึ่งพาลูกหาบที่คุ้นชินกับความสูงระดับนี้

สองนักปีนเขาจากคาซัคสถานอย่างมักซุต จูมาเยียฟ วัย 34 กับวัสซีลีย์ พิฟต์ซอฟ วัย 36 พยายามพิชิตยอดเขานี้เป็นครั้งที่หกและเจ็ดตามลำดับ ขณะที่ดารีอุสซ์ ซาลุสกี ช่างภาพวีดิทัศน์อายุ 52 ปีชาวโปแลนด์ พยายามพิชิตเคทูมาแล้วสามครั้ง ส่วนทอมมี ไฮน์ริก ช่างภาพวัย 49 จากอาร์เจนตินา เคยร่วมอยู่ในทีมสำรวจเคทูสองครั้ง แต่ไปไม่ถึงยอดเขาเช่นกัน

สมาชิกผู้โดดเด่นที่สุดในทีมเห็นจะไม่พ้นแกร์ลินเดอ คัลเทนบรุนเนอร์ อดีตพยาบาลผมสีเข้มวัย 40 ปีจากออสเตรีย ซึ่งพยายามพิชิตเคทูเป็นครั้งที่สี่ หากครั้งนี้ทำสำเร็จ เธอจะเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถพิชิตยอดเขาปราบเซียนที่มีความสูงเกิน 8,000 เมตรทั้ง 14 ยอดของโลกได้โดยไม่ต้องพึ่งออกซิเจน เธอนำทีมร่วมกับราล์ฟ ดุจโมวิตส์ สามีนักปีนเขาชื่อดังจากเยอรมนี วัย 49 ปี  ผู้พิชิตยอดเขาสูงเกิน 8,000 เมตรทั้งหมดแล้ว เขาพิชิตเคทูจากฝั่งปากีสถานได้ในความพยายามครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1994

นักปีนเขาทั้งหกใช้เวลา 42 วันสร้างแคมป์หลายแห่งที่เชื่อมถึงกันด้วยเชือกยาวหลายพันเมตรตลอดเส้นทางซึ่งมีทุกสภาพพื้นที่  ตั้งแต่ผาหินและน้ำแข็งแนวดิ่งไปจนถึงเนินที่มีหิมะสูงท่วมอกและเสี่ยงต่อหิมะถล่ม พวกเขารวบรวมพละกำลังบุกเบิกเส้นทางท่ามกลางหิมะตกหนัก แบกอุปกรณ์หนักอึ้ง โกยหิมะจากจุดตั้งแคมป์ กางเต็นท์ และละลายน้ำแข็ง หลายครั้งที่พวกเขาต้องยอมถอดใจ ล่าถอยกลับลงไปนอนที่แอดวานซ์ดเบสแคมป์ (Advanced Base Camp) ซึ่งเป็นค่ายพักซึ่งอยู่ต่ำที่สุดตรงเชิงเขาที่ระดับความสูง 4,650 เมตรบริเวณธารน้ำแข็งเคทูนอร์ทด้านปากีสถาน

วันที่ 16 สิงหาคม ทีมสำรวจเริ่มต้นการเดินทางที่จะกลายเป็นโอกาสครั้งแรกและครั้งเดียวของพวกเขาในการพิชิตยอดเขา หิมะที่โปรยปรายลงมาตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของฤดูร้อนเริ่มตกอีกครั้ง พวกเขาไปถึงแคมป์ 1 ที่อยู่เชิงสันเขาในวันนั้น เสียงหิมะถล่มดังกึกก้องและเพียงชั่วข้ามคืนก็มีหิมะตกลงมาหนาถึง 30 เซนติเมตร พวกเขาหยุดรอที่นั่นหนึ่งวัน หวังว่าหิมะบนลาดเขาจะไหลลงมาก่อนที่พวกเขาจะปีนต่อ

สองวันถัดมาในวันที่ 18 สิงหาคม เวลา 5.10 น. ทีมตัดสินใจลุยฝ่าไปยังแคมป์ 2 น้ำหนักทุกกิโลกรัมที่แบกไปด้วยคือภาระ หิมะถล่มกวาดเส้นทางตามแนวร่องธารยาวที่พวกเขาต้องใช้มาสองครั้งแล้ว  เวลาประมาณ 06.30 น. ราล์ฟก็หยุดไปต่อ สภาพหิมะที่ดูหมิ่นเหม่ไม่น่าไว้ใจทำให้เขาไม่อาจเมินเฉยต่อลางสังหรณ์ของตัวเองได้อีกต่อไป

แล้วก็เป็นอย่างที่ราล์ฟกลัว หิมะบนลาดเขาเริ่มเลื่อนไหล เกิดหิมะถล่มเล็กๆ สามครั้งติดกันจากมักซุต, วัสซีลีย์ และแกร์ลินเดอ ซึ่งเปิดทางอยู่ข้างหน้า ก่อนที่หิมะถล่มครั้งใหญ่จะเล่นงานทอมมีซึ่งปีนอยู่ต่ำลงไปเกือบหกสิบเมตร เขาล้มคว่ำ หิมะอัดเต็มปากและจมูก เชือกที่ขึงแน่นคือสิ่งเดียวที่ป้องกันไม่ให้เขาถูกหิมะซัดตกภูเขา ทอมมีกระเสือกกระสนออกจากกองหิมะได้ แต่หิมะถมทับทางที่เบิกไว้ และสุดท้ายเขาก็ต้องหันหลังกลับเช่นกัน

ตอนนี้ทีมจึงเหลือสี่คน ได้แก่ แกร์ลินเดอ, วัสซีลีย์, มักซุต และดารีอุสซ์  การเปิดทางก็เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาดีๆ นี่เอง หลังผ่านไป 11 ชั่วโมงพวกเขาก็สร้างที่พักชั่วคราวขึ้นที่แคมป์โชลเดอร์ดีโปต์ (Shoulder Depot Camp) ใต้แคมป์ 2 ได้  และนอนเบียดเสียดกันในเต็นท์สำหรับสองคนตลอดค่ำคืนอันทุกข์ทรมาน วันรุ่งขึ้นพวกเขาปีนส่วนที่ยากที่สุดของสันเขาไปถึงแคมป์ 2 ที่ระดับความสูง 6,600 เมตร  ตกบ่ายวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พวกเขาก็ดั้นด้นขึ้นไปถึงแคมป์ 3 ในสภาพ  อ่อนล้าและหนาวเข้ากระดูก ทั้งสี่ดื่มกาแฟผสมน้ำผึ้งและอังมือเท้าเหนือเตาแก๊สเพื่อให้ความอบอุ่น ผนังเต็นท์ที่มีเกล็ดน้ำค้างแข็งเกาะส่งเสียงพึ่บพั่บและไหวพะเยิบพะยาบในสายลมตลอดทั้งคืน

ทีมได้ข่าวว่าสภาพอากาศจะดีขึ้นจากการพยากรณ์อากาศทางโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมซึ่งราล์ฟส่งมาทางวิทยุจาก แอดวานซ์ดเบสแคมป์ แล้วท้องฟ้าก็เปิดจริงๆในวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม ทำให้ทุกคนมีกำลังใจและขึ้นไปถึงแคมป์ 4 ได้ ตอนนี้พวกเขาอยู่ที่ระดับความสูงเกือบ 8,000 เมตรอันเป็นเขตที่เรียกว่าดินแดนมรณะ ซึ่งร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้ชินกับสภาพอากาศบางเบาที่มีออกซิเจนต่ำได้ การรับรู้ของสมองเริ่มมีปัญหา และงานง่ายๆ ก็อาจใช้เวลาชั่วกัปชั่วกัลป์

ราวเจ็ดโมงเช้าของวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม แกร์ลินเดอ, วัสซีลีย์, มักซุต และดารีอุสซ์ ออกเดินทางจากแคมป์ 4 ท้องฟ้าวันนั้นไร้เมฆ อากาศดีราวกับสวรรค์เป็นใจ พวกเขาปีนทางน้ำแคบชันที่กลายเป็นน้ำแข็งเรียกกันว่า เจแปนิสกูลัวร์ (Japanese Couloir) นี่คือลักษณะภูมิประเทศอันโดดเด่นบนผาทางเหนือของเคทู แต่ด้วยปริมาณออกซิเจนที่ต่ำกว่าพื้นราบถึงสามเท่า หิมะสูงท่วมอกในบางจุด และละอองหิมะที่ลมพัดมาปะทะใบหน้าจนปวดแสบ ทำให้พวกเขาต้องหยุดเช็ดหน้าบ่อยๆ และคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า พอถึงบ่ายโมง ทีมก็เดินทางได้ไม่ถึง 180 เมตรด้วยซ้ำ

วัสซีลีย์กับมักซุตไม่คุ้นกับเจแปนิสกูลัวร์ และทางขึ้นก็มองอะไรแทบไม่เห็น แกร์ลินเดอส่งสัญญาณวิทยุเรียกราล์ฟ ซึ่งรออยู่ที่แอดวานซ์ดเบสแคมป์ ตั้งแต่กลับลงมาระหว่างทางขึ้นสู่แคมป์ 2 ราล์ฟก็อุทิศตนเป็นฝ่ายสนับสนุนทีมที่มุ่งหน้าพิชิตยอดเขา โดยคอยส่งข้อมูลการพยากรณ์อากาศ คำแนะนำ และกำลังใจไปให้ แม้จะอยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร แต่เขาก็เห็นว่าจุดที่ดีที่สุดในการข้ามกูลัวร์อยู่ใต้ขอบรอยแยกแคบยาวที่ทอดขวางตลอดความกว้างของเนิน ซึ่งหิมะมักจะไม่ลึกมากนักและรอยแยกตามธรรมชาติก็ช่วยลดโอกาสเกิดหิมะถล่มจากนักปีนเขาได้ ราล์ฟช่วยบอกทางนำทีมไปที่นั่นและเฝ้ามองขณะร่างเล็กจิ๋วของพวกเขาค่อยๆ คืบข้ามกูลัวร์ไปท่ามกลางแท่งน้ำแข็งแหลมๆ ที่ยื่นลงมาจากลาดเนินเอียง 45 องศาเหมือนหน้าต่างห้องใต้หลังคา แท่งน้ำแข็งเหล่านี้อาจช่วยปกป้องพวกเขาหากเกิดหิมะถล่มลงมาจากด้านบนใกล้ๆ ขอบหินทางซ้าย พวกเขาเลี้ยวเพื่อตัดตรงปีนลาดเขาขึ้นมาจนถึงแท่งน้ำแข็งสุดท้ายที่ระดับความสูงประมาณ 8,300 เมตร ถึงตอนนี้ก็ปีนกันมา 12 ชั่วโมงแล้ว และอยู่ห่างจากยอดเคทู 300 เมตร

ราล์ฟวิทยุบอกให้แกร์ลินเดอย้อนกลับไปพักแรมที่แคมป์ 4 เพราะตอนนี้พวกเขาได้เปิดทางและรู้จักเส้นทางแล้ว

“ตรงนั้นคุณนอนไม่หลับหรอก” เขาบอก

“ราล์ฟ” แกร์ลินเดอตอบ “เรามาถึงนี่แล้ว เราไม่อยากย้อนกลับไป”

เมื่อดวงอาทิตย์คล้อยต่ำทางทิศตะวันตก พวกเขาหยุดพักที่ใต้แท่งน้ำแข็งสุดท้ายเพื่อเตรียมพื้นที่กางเต็นท์ขนาดเล็ก หลังใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงยี่สิบนาทีไปกับการถากหิมะจนได้ลานกว้างหนึ่งเมตรยาวหนึ่งเมตรครึ่ง พวกเขาก็จัดแจงปักเต็นท์ด้วยตะปูเกลียวตอกน้ำแข็งสองตัวและขวานเซาะน้ำแข็งสองเล่ม พอถึงเวลา 20.15 น. ทุกคนก็เข้าไปอยู่ในเต็นท์ นั่งบนเป้ เตาห้อยจากเพดานเต็นท์พร้อมหม้อใส่หิมะละลาย แกร์ลินเดอทำซุปมะเขือเทศ อุณหภูมิติดลบ 25 องศาเซลเซียส แผนการ ของพวกเขาคือนอนพักจนถึงเที่ยงคืน จากนั้นจึงออกเดินทางต่อเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ซึ่งตอนนี้ใกล้มากแล้ว

เวลาตีหนึ่ง วัสซีลีย์, มักซุต และแกร์ลินเดอ ผูกสายรัดตะปูยึดพื้นรองเท้าสำหรับปีนหน้าผาน้ำแข็ง และใช้แสงจากไฟฉายคาดศีรษะ เริ่มปีนขึ้นลาดเนินที่อยู่เหนือเต็นท์ ดารีอุสซ์ยังคงเตรียมตัวอยู่ในเต็นท์ แกร์ลินเดอเหวี่ยงแขนไปรอบๆ แต่นิ้วไร้ความรู้สึกและแกะเชือกไม่ได้ มักซุตรู้สึกว่าเท้าของเขาชาเหมือนก้อนน้ำแข็ง พวกเขาตัดสินใจกลับไปที่เต็นท์เพื่ออบอุ่นร่างกาย และรอแสงอาทิตย์ แกร์ลินเดอหนาวจนตัวสั่นเทิ้มเป็นลูกนก

พวกเขาออกเดินทางอีกครั้งราวเจ็ดโมงเช้า มุ่งหน้าไปยังลาดหิมะระยะทาง 130 เมตรที่หักมุมขึ้นสู่ยอดเขา ความหนาวเหน็บยังคงเล่นงานอย่างหนักหน่วง แต่พอถึง 11.00 น. แสงอาทิตย์ก็เริ่มแผดจ้า เวลา 15.00 น. พวกเขาไปถึงฐานของลาดหิมะ ในช่วงยี่สิบเมตรแรก พวกเขาดีใจที่พบว่าหิมะลึกแค่หน้าแข้งเท่านั้น แต่ไม่ช้าหิมะก็ลึกถึงอก เดิมทีพวกเขาผลัดกันเปิดทางทุก 50 ก้าว แต่ตอนนี้ต้องผลัดกันทุกสิบก้าว โดยมีมักซุตกับวัสซีลีย์รับภาระหนักกว่าคนอื่น

เมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเขาก็หยุดปีนในลักษณะเรียงเดี่ยวเพราะอยากหาหนทางที่ง่ายกว่านี้ แกร์ลินเดอ, วัสซีลีย์ และมักซุต แยกกันเดินหาเส้นทางที่ปีนสะดวกขึ้น ข้างหน้าคือกองหินที่มีหิมะปกคลุมลาดชัน 60 องศา แม้จะชันแต่ก็ปีนง่ายกว่า พวกเขาเข้าแถวเรียงหนึ่งอีกครั้ง แกร์ลินเดอสลับที่กับวัสซีลีย์และจมลงไปแค่เข่า เธอรวบรวมพละกำลังและความหวัง เดินออกจากลาดหิมะขึ้นไปสู่สันเขาซึ่งหิมะถูกลมพัดจนอัดแน่น ตอนนั้นเป็นเวลา 16.35 น. เธอมองเห็นยอดเขาแล้ว

เมื่อวัสซีลีย์ตามมาทัน เขาบอกเธอให้ปีนขึ้นยอดเขาไปก่อน ส่วนเขาจะรอมักซุต เขากับมักซุตก็เหมือนแกร์ลินเดอที่กำลังจะพิชิตยอดเขาสูงเกิน 8,000 เมตรยอดเดียวที่เหลือ ใจหนึ่งเขาอยากไปถึงพร้อมคู่หู แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากให้ใครคิดว่าเขาไปถึงที่นั่นไม่เร็วเท่าแกร์ลินเดอ “คุณต้องบอกนะว่าผมรอมักซุต” เขาบอกเธอ

“ได้อยู่แล้ว” แกร์ลินเดอตอบรับ จากนั้นเธอก็เดินไม่กี่ก้าวสุดท้ายไปสู่ยอดสูงสุดของเคทู

ตอนนั้นเวลา 18.18 น. เธออยากแบ่งปันช่วงเวลานี้กับราล์ฟ แต่พอเปิดวิทยุ เธอกลับพูดไม่ออก สิบห้านาทีต่อมา มักซุตกับวัสซีลีย์ก็เดินเคียงบ่าเคียงไหล่มาถึง ทุกคนกอดกัน ครึ่งชั่วโมงต่อมา ดารีอุสซ์ก็ลากขาตามมา ขณะนั้นเวลา 19.00 น. เงาของพวกเขาทอดยาวข้ามยอดเขาเคทูไปไกลขณะที่เงารูปสามเหลี่ยมของภูเขาทอดยาวหลายกิโลเมตรไปทางตะวันออก และแสงสีทองสุกปลั่งก็เริ่มอาบโลก

เรื่อง : ชิป บราวน์ ภาพถ่าย : ทอมมี ไฮน์ริก เนื้อหาจาก เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

เว็บไซต์ //www.ngthai.com


ที่มา ไทยรัฐ




Create Date : 21 พฤษภาคม 2555
Last Update : 21 พฤษภาคม 2555 18:05:56 น.
Counter : 478 Pageviews.

1 comments
  
โดย: replay วันที่: 21 พฤษภาคม 2555 เวลา:18:57:02 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kaweejar
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]