katchan...in a nutshell... A blog that marks my journey of growth...
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
30 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
4 วัน 3 คืน @ บ้านพาณิชย์กุล

  • 4 วัน 3 คิน ที่ บ้านพาณิชย์กุล (11-14 มิย 2552)




    การปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ได้ข้อคิดธรรมะคล้าย ๆ กับที่ผ่าน ๆ มา แต่ได้มีโอกาสพิจารณาตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะการกำหนดอิริยาบถย่อย เพราะที่นี่จะเน้นให้ทำกิจวัตรอย่างช้า ๆ จะได้ให้สติตามรู้ทัน เช่นการกำหนดอิริยาบถย่อยในการรับประทานอาหารแต่ละคำ การเดิน การกราบ การยก การวาง การจับ

    • โดยเฉพาะการเดินจงกรม พอได้กำหนดอิริยาบถย่อยในการ ยก ย่าง บางครั้งเราหากสติจดจ่อกับการเคลื่อนไหวของเท้า จะสามารถเห็นการเคลื่อนย่างของเท้า ขาดเป็นช่วง ๆ เหมือนเส้นประได้เลย นั่นคือการเกิด ดับ ของทุก ๆ อิริยาบถนั่นเอง

    • หรือการกำหนดการเคลื่อนไหว พอง ยุบ ของท้อง ในบางครั้งก็สามารถมองเห็นการ ขาดเป็นช่วง ๆ ของอาการพอง หรือการยุบ ยิ่งเป็นการย้ำให้เห็นว่าทุกสิ่งย่อมมีเกิด ดับ เป็นปกติ

    • แม้กระทั่งการทานข้าวในแต่ละคำ ซึ่งพบว่าหากเรามีสติจดจ่อที่จะตักอาหารเข้าปาก พอสัมผัสลิ้นก็กำหนดรส..หนอ.. แทนความรู้สึกอร่อย พอกำหนด กำหนด ไปได้สักพัก รู้สึกเอ๊ะ รสชาดมันหายไป ซึ่งแปลกมากเพราะจำได้ว่าเพิ่งทานไปไม่กี่คำ ก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้อยากทานต่อ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ อาหารที่นั่นอร่อยมาก ก็เลยเข้าใจเลยว่าทานอย่างมีสติเป็นยังไง มันทำให้ความรู้สึกอร่อย หายไปได้ในทันทีหากเรามีสติเข้าไปรู้ทันแล้วกำหนดรสหนอ ถ้าทำได้อย่างนี้จริง ๆ ต่อไปหากต้องไปทานอะไรที่ไม่ถูกปาก ก็สบายใจเลย ไม่ต้องนั่งบ่นอีกต่อไป ทำให้เป็นผู้อยู่ง่ายทานง่าย


    วันแรก ๆ อาจจะยังรู้สึกเก้อ ๆ กัง ๆ กำหนดไม่ทัน พอทำไปได้สักพัก ก็จะรู้สึกทำได้ดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเวลานั่งสมาธิ ประสบการณ์แต่ก่อนเวลาเกิดสภาวะธรรม เราก็จะติดอยากรู้ ก็ทิ้งการกำหนด และไปติดตามสภาวะธรรมนั้น เช่น

    • เวลาเกิดอาการสั่น แบบสั่นมากเลย แต่ก่อนก็ตามสั่นไปเลย สนุกไปด้วย แต่เดี๋ยวนี้ ตัดได้เลยโดยกำหนด สั่น..หนอ.. สั่น.. หนอ.. สั่นมาก สั่นน้อย ก็รู้กำหนด สั่นได้เพียงแค่ไม่ถึง 2 นาทีก็รู้สึกนิ่ง โห ดีใจมากเลย (ดีใจ..หนอ..)

    • แต่ก่อนนั่งกัมมัฎฐานแล้วเห็นภาพอะไรก็จะตามเห็นไปด้วย จนลืมและทิ้งการกำหนด เพราะอยากรู้อยากเห็น เดี๋ยวเห็นแสงสว่างเหมือนลูกแก้ว สีขาวบ้าง สี ๆ บ้าง เดี๋ยวเห็นพระพุทธรูปบ้าง พอมาที่นี่ เห็นปุ๊ปตัดเลย กำหนด..เห็น..หนอ.. แป๊ปเดียวหายไปได้ทันที ข้อดีเราคิดว่า ถ้ากำหนดทันปัจจุบัน ต่อไปหากภาพที่เห็นเปลี่ยนไปฉับพลันกลายเป็นเห็นอะไรที่ไม่อยากเห็นหรือภาพน่ากลัวต่าง ๆ จะได้ไม่ตกใจจนเสียสติได้

    • แต่ก่อนเป็นคน sensitive เช่นฟังธรรมะแล้วน้ำตาไหล โดยเฉพาะบางข้อธรรมะที่กระทบใจเรา หรือบางทีนั่งกัมมัฎฐานอยู่ก็น้ำตาไหลพรากเอง บางคนบอกเป็นสภาวะธรรม แต่ตอนนี้ไม่ได้ใส่ใจแล้ว เริ่มกำหนดได้ รู้สึก..หนอ.. อยาก..ร้อง..หนอ เลยทำให้จิตใจมั่นคงขึ้น และไม่หวั่นไหวง่าย

    สรุปก็คือ มีอารมณ์ใดเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้ตามความเป็นจริงของอารมณ์นั้น แล้วปล่อยวางในอารมณ์นั้นทุกขณะ เพราะอารมณ์ที่เกิดขึ้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา เหมือนรูปการเคลื่อนของขาที่เห็นขาดเป็นช่วง ๆ เกิดดับ หรือความเคลื่อนไหวของท้อง พอง ยุบ ที่รู้สึกขาดเป็นช่วง ๆ เช่นเดียวกัน

    ข้อคิดจากบ้านพาณิชย์กุล (11-14 มิย 2552)


    • กระทบแต่ไม่กระเทือน ทำอย่างไรให้สิ่งที่มากระทบเราไม่ทำให้ใจเรากระเทือน ถ้าทำได้ จะอยู่ที่ไหน เกิดอะไรก็จะรู้สึกจิตเป็นอิสระจากความรู้สึกทั้งปวงได้


    • ความเข้าใจเรื่องขัณฑ์ 5 ซึ่งบรรยายโดย อ. วรากร ไรวา ท่านได้ยกตัวอย่างที่ทำให้จำได้ง่ายดี คือ

      • รูป (ถามผู้ปฏิบัติธรรมว่าเป็นใคร?) = ตัวกู
      • เวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์ เช่นหยิกผู้ปฎิบัติ) = กูเจ็บ
      • สัญญา (ความจำได้ เช่นถามอายุ) = กูจำได้
      • สังขาร (จินตนาการ เช่นให้คำนวณการบวกเลข) = กูคิดได้
      • วิญญาณ (ความรู้สึกด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) = กูสัมผัสได้

      ถ้าไม่มี “กู” ก็ไม่เจ็บ ไม่จำ ไม่คิด ไม่รู้สึกสัมผัส และเมื่อนั้น สิ่งที่มากระทบก็จะไม่ทำให้เรากระเทือน การไม่มี “กู” ก็คือให้เราเป็นแค่ผู้รู้ ผู้ดู ไม่ใช่ผู้เป็น หรือผู้แสดง นั่นเอง

    • เรากำลังผ่อนดาวน์เรือนหลังต่อไปแห่งวัฎสงสาร


      อ. วรากร อธิบายถึง ผังภพภูมิ ทั้ง ๓๑ ภูมิ ในวัฏสงสาร และ บรรยายเรื่องเหตุของการกระทำกรรมชนิดต่างๆ ที่นำเราไปปฎิสนธิในภูมิแต่ละภูมิ และชี้ให้เราเห็นว่า พวกเราต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฎสงสารอีกไม่รู้นานแค่ไหน ดังนั้นจึงต้องเร่งปฏิบัติธรรมเพื่อไปเกิดภพภูมิที่มีความสุข เพราะทุกวินาทีหรือขณะจิตที่เราเกิดความโลภ โกรธ หลง คิดไม่ดี นั่นเหมือนเราได้ไปจองผ่อนดาวน์ที่ดินไว้ในภพภูมินรก เดรัจฉาน เปรต ยิ่งโกรธ โลภ หลงบ่อย ๆ ก็ยิ่งผ่อนเร็วขึ้น เรือนหลังใหม่ที่ปลูกไว้ในทุกขคติภูมิก็ยิ่งเสร็จเร็วขึ้น และจะเป็นเรือนหลังต่อไป (หรือกายใหม่) ที่จิตของเราจะไปอาศัยอยู่หลังจากได้ละจากโลกนี้ไปแล้ว เราเป็นผู้เลือกเองว่าจะไปสุขคติภูมิรือทุกขคติภูมิ การทำความดี ย่อมนำเราไปสู่สุขคติภูมิ แต่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทางสติปัฎฐาน 4 นี่ย่อมประเสริฐกว่าการไปสุขคติภูมิ เพราะจะพาเราไปสู่การไม่เกิดอีกเลย นั่นคือ นิพพาน

    • จิตเหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ


      ตัวอย่างง่าย ๆ ที่ อ. พันเอก (พิเศษ) ทองคำ บรรยายผ่านทาง VCD เช่น คนที่มีลูกมีสามี ภรรยา มักจะมีจิตคิดถึงและรักลูกมากกว่ารักพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเสมอ จิตไหลสู่ที่ต่ำกว่า คือลูก หรือสามี ภรรยา เราต้องรู้จักทวนกระแสเพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น คนที่กตัญญูรู้คนพ่อแม่นั้นจะเป็นผู้เจริญ ข้อนี้เห็นได้ชัดกับตัวเอง เพราะยิ่งเราทำดีกับแม่เท่าไร ยิ่งให้เงินเลี้ยงดูแม่มากเท่าไร สิ่งที่ได้กลับมานั่นมากมายมหาศาล เพราะพ่อแม่เปรียบเสมือนพระอรหันต์ในบ้าน การทำบุญกับพระอรหันต์นั้นเห็นผลบุญในชาตินี้ทันที ไม่ต้องรอชาติหน้า

    • บุคคลตัวอย่างในเรื่องทาน

      ซึ่ง อ. เรณู ทัศณรงค์ ได้เล่าไว้คือเรื่องของพราหมณ์สามี-ภรรยาคู่หนึ่งในสมัยพุทธกาล ซึ่งยากจนมาก แม้อยากจะออกไปฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ยังไปพร้อมกันไม่ได้ เพราะมีผ้านุ่งคนละผืน มีผ้าห่มผืนเดียว พราหมณ์ออกจากบ้านต้องห่มผ้า ทั้งคู่จึงได้ตกลงให้สามีออกไปฟังเทศน์ก่อน

      มีอยู่วันนึงพระพุทธเจ้าท่านทรงเทศน์ในเรื่องทานบารมี อานิสงส์ของทานที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข แม้ตายแล้วก็จะเกิดมาร่ำรวยในชาติต่อ ๆ ไป

      พราหมณ์ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งมาก รู้ว่าชาตินี้ตนเกิดมาลำบากยากแค้น
      ในตอนต้นจึงคิดจะถวายผ้าห่มผืนเดียวที่มีอยู่กับพระพุทธเจ้า แต่ก็คิดห่วงบ้าน ห่วงภรรยาว่าพรุ่งนี้จะไม่ได้มีผ้าห่มออกมาฟังเทศน์ คิดอยู่หลายยาม ยามต้นก็แล้ว ยามกลางก็แล้ว ยังตัดใจไม่ได้ .....

      ...จนยามสุดท้ายหลังจากต่อสู้กับกิเลสความตระหนี่ในใจได้ ....ก็ตัดสินใจนำผ้านั้นไปถวายพระพุทธเจ้า พร้อมพูดออกมาว่า “เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว” พระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งนั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย รู้สึกแปลกใจจึงได้ถามข้าราชบริพารจึงได้ความว่า พราหมณ์บอกว่าเราชนะความตระหนี่ในใจของตัวเองแล้ว เพราะตัดสินใจมาตั้งแต่ตอนเย็น ก็ตัดสินใจไม่ได้ เวลานี้ตัดสินใจได้แล้ว ก็รวมความว่า วันพรุ่งนี้ทั้งตัวแกเองรวมทั้งยายด้วยไม่ได้ฟังเทศน์ ถึงแม้จะไม่ได้ฟังเทคน์ก็ตาม แต่เวลานี้ก็ชื่นใจมากแล้ว


      พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบและเห็นความเลื่อมใสศรัทธาของพราหมณ์ จึงสั่งให้เอาผ้าที่พระองค์ทรงใช้เองอย่างดีที่สุด เอามาสองผืน (หนึ่งคู่) ให้พราหมณ์ พราหมณ์ก็นำไปถวายให้พระพุทธเจ้าอีก ทีนี้ท่านก็สั่งเอามาให้อีกสองคู่ พราหมณ์ก็ถวายพระพุทธเจ้าอีก ไปถึง 32 คู่ จนพราหมณ์คิดในใจว่าไม่เอาไว้เลย ท่านผู้ให้จะหาว่าเรารังเกียจ เลยกันไว้สองคู่ เพื่อยายคู่หนึ่ง เพื่อตัวคู่หนึ่ง และพราหมณ์ยังได้ โค 4 ช้าง 4 ม้า 4 ควาย 4 กระบือ 4 ทาสชาย 4 ทาสหญิง 4 และก็ทรัพย์อีก 4,000 กหาปณะ และบ้านสำหรับเก็บส่วยเก็บภาษีอีก 4 ตำบล รวยใหญ่ เลยกลายเป็นอนุเศรษฐีไป

      นี่คือความอัศจรรย์ที่พราหมณ์ถวายผ้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงผืนน้อยๆ เพียงผืนเดียว ก็ให้ผลทันปัจจุบันขนาดนี้ เพราะเป็นการทำบุญกับพระพุทธเจ้า การทำบุญกับบุคคลสูงส่งเช่นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้า หรือแม้แต่มารดา บิดา เป็นกรรมดีที่จะส่งเห็นผลทันตาในชาตินี้ทันที ยิ่งไปกว่านั้น หากพราหมณ์ตัดสินใจถวายเร็วกว่านี้ คือถวายตั้งแต่ในตอนต้นที่เริ่มคิด ทั้งทรัพย์สิน และของที่ได้ 4 คู่นั้น จะทวีเป็น 12 คู่ ถ้าได้ถวายในยามกลางจะได้ 8 คู่ แต่พราหมณ์ได้ถวายยามสุดท้ายจึงได้เพียง 4 คู่

      ฉะนั้น การทำบุญทำทานถ้าคิดจะทำแล้วต้องทำทันที อย่ารีรอ ดังที่ พระพุทธองค์ตรัสว่า "เมื่อจิตเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ทานในที่นั้น ทานที่ให้แล้วแก่ผู้ทรงศีล มีผลมาก แต่ทานที่ให้ในผู้ทุศีล หามีผลมากไม่"


    • อานิสงส์ของทาน

      นี่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการปฏิบัติธรรมรอบนี้ วิทยากร (อ.มยุรี) ได้ถามว่าพวกเรามีใครทำบุญตักบาตร หรือทำสังฆทานบ้างไหม ก็ได้ความว่าทำกันหลายคนอยู่

      อ. จึงถามต่อว่า เวลาเลือกของใส่บาตร สังฆทานเลือกอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเลือกของดีที่ตัวเองชอบไปใส่บาตร ทำบุญ อ.เลยเฉลยว่า... มิน่าพวกเราที่มาปฏิบัติธรรมรุ่นนี้ได้แต่ของดี ๆ ทั้งนั้น เพราะมีคนนำเห็ดเป๋าฮื้อมาให้แม่ครัวทำอาหาร เดี๋ยวก็มีคนนำน้ำปานะดี ๆ มาให้ อีกทั้ง TV เครื่องเก่าเพิ่งจะเสียไปในช่วงเดือนก่อนหน้าที่เราจะมาปฏิบัติ ก็มีคนนำเครื่องใหม่มาถวาย เลยทำให้เราได้ประเดิมดู TV จอแบนเครื่องใหม่ ใหญ่กว่าเดิมมากเลยทีเดียว

      สำหรับเรา อานิสงส์ของการทำทานนี้เห็นได้ชัดเลยว่า ที่เราได้นำเอาของไปใส่บาตรที่วัดป่าสุคะโตเดือนที่แล้ว ซึ่งมีเห็ดหอมแห้ง (เพราะชอบมาก) และเกี๊ยมช่ายดอง และขนมเปี๊ยะอั่งกี่ ไปใส่บาตร พอมาที่บ้านพาณิชย์กุล เลยได้ทานทั้งเห็ดเป๋าฮื้อ (แพงกว่าเห็ดหอมอีกอ่ะ) และขนมเปี๊ยะของโปรด รวมทั้งผู้ช่วยวิทยากรยังตักเกี๊ยมช่ายใส่ถุงโต ๆ ให้เราเอากลับมาทานที่บ้านอีก โห เห็นผลทันตาจริง ๆ เลยนะเนี่ย สาธุ...

ภาพเมื่อครั้งใส่บาตรที่วัดป่าสุคะโตเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา


หากเพื่อน ๆ สนใจไปปฏิบัติธรรมที่นี่ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ website ของบ้านพาณิชย์กุลที่ //www.banphanichkul.com/
การปฏิบัติที่นี่ค่อนข้างสะดวกสบายอย่างที่เคยเขียนไว้ ระหว่างปฏิบัติ ก็ถือศีล 5 รับประทานอาหาร 3 มื้อ ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ต้องปรับตัวเรื่องการกินอยู่มาก และมีเวลาที่จะทุ่มเทกับการปฏิบัติได้อย่างเต็มกำลัง

สุดท้ายนี้เราต้องขอขอบคูณ
- ท่านเจ้าของบ้าน คุณไพบูลย์ และคุณจรรย์ภรณ์ พาณิชย์กุล
- วิทยากรทุกท่านที่ได้สั่งสอนอบรมข้อธรรมะแก่เรา ได้แก่ อ.มยุรี ลิขิตสุนทรกุล และคณะ
- รวมทั้งท่านเจ้าภาพทุกท่านที่ได้อำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ปฏิบัติอย่างเต็มที่

ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงพบแล้ว ขอธรรมนั้น จงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าและท่านทั้งหลายโดยเร็วด้วยเถิด สาธุ สาธุ สาธุ...



เครดิตภาพ จาก internet และ website :
//www.banphanichkul.com/
//www.ybat.org



Create Date : 30 มิถุนายน 2552
Last Update : 30 มิถุนายน 2552 19:22:47 น. 0 comments
Counter : 2255 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

katchan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Color Codes ป้ามด
Friends' blogs
[Add katchan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.