เวปของเด็กราชมงคลทุ่งใหญ่....เพื่อเด็กราชมงคลทุ่งใหญ่
 
มิถุนายน 2550
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
7 มิถุนายน 2550

บวช...ตอบแทนผู้มีพระคุณ


เนื้อหาสาระแต่เดิมของการบวช ก็คือเรื่องของการ
ศึกษาอบรมฝึกหัดขัดเกลา ทำให้เป็นคนที่ดี มีคุณสมบัติต่าง ๆ เจริญงอกงามขึ้น

จนเป็นคนที่สมบูรณ์ คนไทยแต่อดีตได้เห็นประโยชน์ของการบวช ก็จึงคิดว่าถึงแม้จะไม่บวชอยู่ตลอดไป แม้แต่จะบวชชั่วคราวระยะหนึ่ง ก็เป็นประโยชน์ ที่จะช่วยขัดเกลาให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นยิ่งเป็นผู้ที่จะอยู่รับผิดชอบสังคมต่อไป ถ้าเป็นคนไม่ได้ฝึกหัดขัดเกลา ไม่พัฒนาตนเองแล้ว ก็จะไม่สามารถรับผิดชอบสังคม ไม่สามารถไปสร้างสรรค์สังคมได้ แต่อาจจะไปก่อปัญหาแก่สังคมด้วยซ้ำ ถ้าเขาได้มาบวช มีการศึกษาอบรมแล้ว เป็นคนดี มีปัญญามีจิตใจงอกงาม ก็จะไปช่วยรับผิดชอบสร้างสรรค์สังคมได้ ต่อมาก็เลยเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีขึ้นมาว่า ในสังคมไทยนี้ กุลบุตรถ้ามีโอกาสก็ควรจะบวชอย่างน้อยระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจะได้ศึกษาอบรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เวลานี้การบวชในสังคมไทย ได้มีความหมายหลายประการด้วยกัน อาจสรุปได้เป็น ๔ อย่าง คือ

ประการที่ ๑ เป็นการทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน หมายความว่า พุทธศาสนิกชนนั้น อยากจะช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา โดยรักษาพระธรรมวินัยให้เจริญมั่นคง เพราะว่าถ้าพระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนทังหลาย ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีงาม และสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาพระพุทธศาสนา ก็คือ การบวชเข้าไปเรียนรู้พระธรรมวินัย และรักษาถ่ายทอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต่อกันไป เรียกว่า สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรียนรู้แล้วประพฤติตาม คือดำเนินชีวิตของเราตามธรรม ก็เท่ากับเอาพระศาสนาเข้ามาไว้ในชีวิตของเรา หรือเอาตัวเราเป็นที่รักษาพระพุทธศาสนา ถ้าทำได้อย่างนี้ ตราบใดที่ชาวพุทธแต่ละคนยังมีชีวิตอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ อย่างนี้แหละเรียกว่า การบวชเป็นการทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน

ประการที่ ๒ เป็นการทำหน้าที่ของคนไทย หมายความว่า พระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสังคมไทย และได้กลายเป็นมรดกของชนชาติไทย คนไทยได้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าสูงสุดของประเทศชาติและสังคมของเรา เพราะว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว ก็ให้หลักธรรมคำสอน ทำให้คนประพฤติดีงาม เป็นหลักให้แก่สังคม ทำให้สังคมอยู่กันได้ด้วยสันติสุข มีการเบียดเบียนกันน้อยลง ถ้ามีคนดีมากกว่าคนชั่ว สังคมนี้ก็อยู่ได้ พระพุทธศาสนาได้ช่วยให้คนมากมายกลายเป็นคนดีขึ้นมา นอกจากช่วยในทางคุณธรรมความดีงาม ทางความประพฤติและทางจิตใจแล้ว ก็ยังมีประโยชน์เป็นรากฐานของวัฒนธรรมของเราด้วย แม้แต่ภาษของเราก็มาจากภาษาบาลี ตลอดจนภาษาสันสกฤตมากมาย ดนตรีและศิลปะต่าง ๆ ก็มาจากวัดวาอารามสิ่งทั้งหลายที่เป็นเครื่องหมายของความเจริญงอกงามของสังคมนี้ มาจากรากฐานทางพระพุทธศาสนามากมายเหลือเกิน ด้วยเหตุผลที่ว่ามานั้น เราจึงเห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติประจำชาติของเรา ที่คนไทยควรช่วยกันรักษาสืบต่อไว้ การบวชนี้เป็นการช่วยรักษาพระพุทธศาสนาที่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ เราก็เลยตกลงว่า ให้คนไทยได้มีโอกาสมาบวช จะได้ช่วยกันรักษาทรัพย์สมบัติของชาติไทย ให้ยั่งยืนต่อไป นั้นเป็นความหมายประการที่สองของการบวช คือการทำหน้าที่ของคนไทย


ประการที่ ๓ เป็นการสนองพระคุณของบิดามารดา ดังที่เราถือกันมาเป็นประเพณีว่า ถ้าใครได้บวชลูกแล้ว ก็ได้บุญได้กุศลมากช่วยให้พ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสวรรค์ ตลอดจนได้เป็นญาติของพระศาสนา การบวชก็เลยมีความหมายเป็นการตอบแทนคุณของบิดามารดา

ทำไมจึงถือว่า การบวชเป็นการตอบแทนคุณของบิดามารดา และทำให้บิดามารดา
เป็นญาติของพระศาสนา เรื่องนี้เป็นคติที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตั้งแต่สองพันกว่าปีมาแล้ว เพราะได้ทรงส่งพระสงฆ์ออกมาเผยแผ่พระศาสนา
จนถึงประเทศไทยเราด้วย

พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งได้ตรัสถามพระเถระผู้ใหญ่ว่า ที่โยมได้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนามามากมายนี้ ก็อยากได้เป็นญาติกับพระศาสนาและได้เป็นญาติของพระพุทธเจ้า เท่าที่โยมได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนามามากมายนี้ โยมได้เป็นญาติของพระศาสนาหรือยัง พระเถระก็ทูลตอบไปว่า ยัง พระเจ้าอโศกมหาราชก็ตรัสถามต่อไปอีกว่า จะทำอย่างไร โยมได้บำรุงพระศาสนาไปแล้วไม่รู้เท่าไร หมดเงินทองไปมากมาย ก็ยังไม่ได้เป็นญาติของพระศาสนา ทำอย่างไรถึงจะเป็นได้ พระเถระทูลตอบว่า ถ้าใครได้มีลูกมาบวชในพระพุทธศาสนา จะเป็นลูกชายหรือลูกหญิงก็ตาม ก็ได้เป็นญาติของพระศาสนา สมัยนั้นยังมีภิกษุณีอยู่ พอดีพระเจ้าอโศกมีโอรสธิดาอยู่ ๒ องค์ที่อยากจะบวชอยู่แล้ว ก็เลยอาสาบวชให้พระราชบิดา เพื่อจะได้เป็นญาติกับพระศาสนา คือ เจ้าชายมหินท์กับเจ้าหญิงสังฆมิตตาทั้งสององค์ ก็เลยผนวชเป็นพระภิกษุ และพระภิกษุณี แล้วก็ทำหน้าที่สืบต่อพระพุทธศาสนา

พระมหินทเถระได้มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ส่วนพระสังฆมิตตาเถรี ก็ได้นำเอาพระภิกษุณีสงฆ์มาตั้งในศรีลังกา และนำเอากิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกที่นั่นด้วย ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญสืบต่อมา ก็เลยถือคติกันว่า ใครบวชลูก ก็ได้เป็นญาติกับพระศาสนา นี้เป็นความหมายแบบประเพณี การบวชทดแทนคุณพ่อแม่นี้ ถ้ามองความหมายให้ลึกซึ้งลงไป ก็เป็นเรื่องความเป็นจริงของชีวิตจิตใจ กล่าวคือ ตามธรรมดาพ่อแม่ย่อมรักลูก สุดยอดความรักก็คือรักลูก เมื่อรักลูกก็อยากให้ลูกได้ดีมีความสุข ถ้าลูกได้ดีมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกไม่ดี ไม่มีความสุข พ่อแม่ก็มีความทุกข์มาก และถ้าทุกข์เพราะลูก ก็จะทุกข์ที่สุด เป็นทุกข์อย่างใหญ่หลวง

เพราะฉะนั้น เมื่อพ่อแม่หวังดี จึงคิดว่าทำอย่างไรจะให้ลูกมีความสุข การที่ลูกจะได้ดี มีความสุขก็คือลูกจะต้องมีการศึกษา ได้รับการฝึกอบรมอย่างดี ไม่ใช่เป็นอยู่ดีและประพฤติตัวดีเฉพาะปัจจุบันเท่านั้น แต่หมายถึงอนาคตภายหน้าด้วย เพราะในกาลข้างหน้าพ่อแม่จะไม่ได้อยู่กับลูกตลอดไป แล้วลูกจะเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็เป็นกังวลในเรื่องอนาคตของลูกว่า ต่อไปข้างหน้า ลูกจะเป็นคนดี มีความสุข มีความสำเร็จ จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้ดีหรือไม่ จะรักษาวงศ์ตระกูลได้หรือไม่ สารพัดจะคิดไป นี่เป็นข้อกังวลของพ่อแม่ทั้งหลาย รวมความว่า ความอยากให้ลูกเป็นคนดี มีความสุขนี่ อยู่ในจิตใจของพ่อแม่ตลอดเวลา

ทีนี้พระศาสนามาช่วยให้การศึกษาอบรม อย่างน้อยในเวลาที่สำคัญที่สุดคือในวัยกำลังหนุ่มคะนอง ในสมัยโบราณนั้นก็เป็นธรรมดาคนหนุ่ม ๆ ย่อมชอบไปโน่นไปนี่ และคบเพื่อนมากมาย แต่ละวัน ๆ ที่พ่อแม่ย่อมเป็นห่วงลูก โดยเฉพาะลูกผู้ชายวัยคะนองเมื่อไปโน่นไปนี่ พ่อแม่ก็ห่วงเป็นกังวล มักตั้งตาคอย ไม่ค่อยสบายใจ คิดว่าลูกจะไปมีเรื่องกับใครที่ไหนหรือเปล่า จะทำดีทำถูกต้องหรือเปล่า อะไรต่ออะไร จนกว่าลูกกลับมาบ้านทีจึงโล่งใจ พ่อแม่จึงคิดนักว่า ทำอย่างไรจะให้มีหลักประกันว่าลูกจะเป็นคนดี รับผิดชอบชีวิตตนเองได้ รับผิดชอบครอบครัวได้ และรับผิดชอบสังคมได้ เมื่อมีการบวช พอลูกบวชแล้ว เป็นพระอยู่ในวัด ครองผ้าเหลืองมีวินัย มีศีล เป็นกรอบ พอได้บวชเท่านั้น พ่อแม่ก็สบายใจ ว่าคราวนี้ไม่ต้องเป็นห่วงแล้ว ลูกอยู่ที่วัด ไม่ได้ประพฤติเสียหายไม่ไปเที่ยววุ่นวายที่ไหน จิตใจพ่อแม่ก็สงบ หายวุ่นวาย คลายกังวล

เพราะฉะนั้นการบวชจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจของพ่อแม่มีความสุข แต่ไม่ใช่แค่นั้น พ่อแม่ยังมีความปลาบปลื้มใจ ด้วยความหวังว่าเมื่อลูกได้เข้าไปอยู่ในวัด ได้ศึกษาอบรมในพระธรรมวินัยแล้ว ต่อไปก็จะเป็นคนดี จะรับผิดชอบชีวิตของตนเองได้ จะรับผิดชอบครอบครัวและสังคมได้ แล้วเกิดความมั่นใจ พ่อแม่ก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนั้น ขณะที่ลูกไปเป็นพระอยู่ที่วัดนั้น ยังมีผลตามมาอีก คือตามปกติพ่อแม่วุ่นวายกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ บางทีก็ไม่มีเวลาเข้าวัด ไม่มีเวลาแม้แต่จะนึกถึงพระ หรือนึกถึงวัด แต่พอลูกบวชแล้ว นึกถึงลูกเมื่อไร ก็เท่ากับนึกถึงพระด้วย เมื่อนึกถึงพระ ก็นึกถึงวัด นึกถึงพระศาสนา จึงเท่ากับว่าลูกได้ช่วยโน้มน้าวจิตใจของพ่อแม่เข้ามาสู่พระศาสนา และมาสู่คำสอนของพระพุทธเจ้า คือเข้ามาสู่ธรรมะ เพราะฉะนั้น เมื่อลูกเข้ามาบวช จึงเท่ากับจูงพ่อแม่เข้ามาสู่พระศาสนาด้วย เริ่มตั้งแต่ทำให้จิตใจของพ่อแม่เข้ามาใกล้ชิดพระศาสนามากขึ้น ตลอดจนมีโอกาสไปวัดมากขึ้น เพราะจะไปหาพระลูกของตัวเองก็ต้องไปที่วัด เมื่อไปวัดก็ได้ไปพบพระ บางทีก็ได้มีโอกาสฟังธรรมะ และได้เรียนรู้ธรรมะไปด้วย นี้แหละจึงเป็นทางที่ ช่วยให้พ่อแม่ได้ใกล้ชิดพระศาสนา เรียกว่า เป็นญาติของพระศาสนาอย่างแท้จริง
ลูกที่มีความรู้ความเข้าใจดี เมื่อมาบวชแล้ว ตัวเองได้เห็นคุณค่าของพระศาสนา
เมื่อมองเห็นคุณค่าของธรรมะแล้วก็นำธรรมะนั้นไปเผยแผ่ให้แก่พ่อแม่ญาติ
พี่น้องของตน ทำให้ความดีงามแผ่ขยายออกไป ช่วยให้จิตใจของพ่อแม่และญาติ
มิตรร่มเย็นเป็นสุขด้วย และถ้าตนเองสามารถนำเอาธรรมะที่ได้ศึกษาปฏิบัติไปใช้
ประโยชน์ทำตัวเองให้ดีด้วย และไปช่วยแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ดีงามมีความสุข ก็
จะช่วยให้พ่อแม่ยิ่งมีความสุขความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก

การตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่นั้น เบื้องต้นที่สุดก็ถือกันว่าหมายถึงการเลี้ยงดูบำรุงท่านในด้านร่างกาย เช่นด้วยอาหาร และปัจจัยสี่อื่น ๆ แต่สาระสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ท่านมีความสุข โดยเฉพาะทำให้ท่านมีความสุขใจ เมื่อทำให้พ่อแม่มีความสุขใจได้แล้ว ก็เป็นการตอบแทนคุณพ่อแม่อย่างดีที่สุด เพราะถ้าลูกทำให้พ่อแม่เดือดร้อนใจมีความทุกข์ เช่นมีความกลุ้มกังวล เร่าร้อนใจ ทุกข์ใจ หรือหนักใจเพราะลูก ก็แสดงว่าเราได้เบียดเบียนท่าน แต่ถ้าเราทำให้ท่านมีความสุขมีความมั่นใจได้ ทำให้ท่านอิ่มใจมีปิติสุขได้ ก็เป็นการตอบแทนคุณของท่านอย่างลึกซึ้งทีเดียว

ยังมีการตอบแทนพระคุณที่ยิ่งกว่านั้นอีก คือว่า ถ้าท่านยังไม่รู้จักธรรมะ เช่น ถ้าท่านเป็นคนไม่มีศรัทธา เราก็ชักจูงให้ท่านมีศรัทธา ถ้าท่านเป็นคนประพฤติไม่ดี ก็ชักจูงให้ท่านตั้งอยู่ในศีล ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไร เราก็ชักจูงให้ท่านมีความรู้ความเข้าใจในธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าและความรู้ที่ดีงาม อื่น ๆ การตอบแทนด้วยวัตถุสิ่งของ เป็นของภายนอก ไม่ใช่เนื้อหาสาระแท้จริง ไม่เข้าไปถึงเนื้อแท้ของจิตใจ และไม่ทำให้ชีวิตดีงาม ประเสริฐ แต่ถ้าเราถึงเนื้อแท้ของจิตใจ และไม่ทำให้ชีวิตดีงาม ประเสริฐ แต่ถ้าเราชักจูงให้พ่อแม่เข้าสู่ธรรมะได้ ให้ท่านเป็นคนดีงาม มีปัญญาได้ นั่นก็คือทำให้ท่านได้สิ่งที่มีค่าเป็นสาระของชีวิต จึงถือว่าเป็นการตอบแทนพระคุณอย่างสูงสุด

อย่างน้อยเมื่อมาบวช เราตั้งใจประพฤติให้ดีที่สุด ให้คุณพ่อคุณแม่ระลึกถึงเราแล้วก็เกิดความอิ่มใจมีความสุข พอนึกถึงลูกบวชเป็นพระอยู่ที่วัด รู้ว่าลูกตั้งใจศึกษาธรรมวินัย อยู่ในศีลประพฤติดีงาม พอระลึกถึงลูก ระลึกถึงพระศาสนา จิตใจก็เอิบอิ่ม มีความสุข พอเห็นลูกห่มผ้าเหลืองสำรวมเรียบร้อย มาบิณฑบาต จิตใจพ่อแม่ก็ได้ปีติ มีความอิ่มใจอีกเห็นลูกเมื่อไร่ ระลึกถึงลูกเมื่อไร ก็มีความสุขเมื่อนั้น นี้แหละถือว่าตอบแทนคุณของพ่อแม่อย่างดีที่สุด กว่าลูกจะสึก ก็ช่วยให้โยมพ่อแม่มีความสุขมากมายไม่รู้เท่าไร อย่างน้อยในระยะเวลาที่บวช ๓ เดือนนี้ เรามาตั้งใจว่าจะช่วยรักษาจิตใจของโยมพ่อโยมแม่ให้มีความสุขตลอดเวลา ตั้งใจว่าให้ท่านได้ความสุขจากเราตลอดสามเดือนนี้ เพียงแค่นี้ก็คุ้มค่า เมื่อทำให้พ่อแม่มีจิตใจที่เป็นสุข ก็ทำให้ท่านเจริญงอกงามขึ้นในทางบุญกุศล และทำให้ท่านมั่นใจต่อลูกว่า ลูกจะประพฤติปฏิบัติดี มีการศึกษาอบรมแล้วจะมีชีวิตที่ดีงามต่อไปในอนาคต

ถ้าทำได้อย่างนี้พ่อแม่จะหายห่วงหายกังวล มีความสุขอย่างบริบูรณ์ทีเดียว สรุปว่า ลูกตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้ ๓ ระดับ คือ ๑. เลี้ยงดูช่วยเหลือท่านทางด้านร่างกาย ๒. บำรุงรักษาใจของท่านให้เอิบอิ่มเป็นสุข ๓. ชักจูงให้ท่านเจริญสูงขึ้นไปในธรรม มีความดีงามและปัญญามากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการตอบแทนคุณบิดามารดาด้วยการบวชของตนเอง ประการที่ ๔ เป็นการศึกษาฝึกอบรมพัฒนาตนเอง พอถึงข้อสุดท้าย จุดหมายของการบวชก็มาอยู่ที่ตัวเอง คือเป็นการพัฒนาชีวิต ทั้งในด้านความประพฤติ คือพฤติกรรมทางกาย วาจา ทั้งในด้านจิตใจที่จะมีความดีงามเข้มแข็งมั่นคงเป็นสุข และในด้านปัญญาคือความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตรงตามเป็นจริง ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้บรรลุจุดหมายข้อที่ ๔ นี้ คือการศึกษาอบรมตนเองแล้ว จุดหมาย ๓ ข้อต้นก็สำเร็จด้วย เพราะว่าในที่สุดแล้ว จุดหมายทั้ง ๔ ประการก็มารวมที่จุดเดียวกัน คือที่สิกขาคือการศึกษาของตนเอง เมื่อตนเองประพฤติปฏิบัติดี ตั้งใจเรียนรู้ฝึกหัดอบรม ในพระธรรมวินัย เจริญในศีล สมาธิ ปัญญา ผลแก่พ่อแม่ก็ได้ด้วย ผลแก่สังคมไทยก็ได้ด้วย ผลแก่พระพุทธศาสนาก็ได้ด้วย พร้อมกันหมด เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ตนเองจะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เมื่อบวชแล้วก็พยายามให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการบวชในครั้งนี้ ด้วยความไม่ประมาท ตั้งใจที่จะเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ทำกิจวัตรให้สมบูรณ์ ด้วยกำลังใจที่ตั้งไว้อย่างดีนี้ จะเป็นฐานที่ทำให้การบวชของตนมีผลอย่างที่ท่านเรียกว่าเป็นกำไรอย่างแท้จริง ....

ได้บอกแล้วว่า การบวชนี้เพื่อการศึกษาอบรม จึงเรียกว่าบวชเรียน ถ้าบวชแล้ว
ตั้งใจเรียน คือฝึกอบรมตนให้เจริญในศีลสมาธิ ปัญญา ก็จะทำให้บรรลุจุดหมาย
ของการบวชครบหมดทั้ง ๔ ประการ บัดนี้ จึงจะต้องทำความเข้าใจกันในเรื่อง
“สิกขา” หรือการศึกษานี้ ให้เป็นแนวทางที่จะปฏิบัติต่อไป

สิกขา แปลเป็นภาษาไทยว่า ศึกษา ที่จริงศึกษาเองก็เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา สามคำนี้ความหมายเดียวกันคือ สิกฺขา เป็นบาลี ศิกฺษา เป็นสันสกฤต แล้วก็ศึกษาเป็นคำไทยที่แผลงจากสันสกฤตมา สิกขา คือ การศึกษา หมายถึงการเรียนรู้ และการฝึกฝนพัฒนา พระพุทธศาสนาถือหลัก “สิกขา” ตามธรรมชาติของมนุษย์เรานี่เอง หมายความว่า มนุษย์เรานี้ท่านเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและก็ฝึกได้ด้วย คือชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่นี้เป็นชีวิตที่ได้มาด้วยการเรียนรู้และฝึกหัดพัฒนา ไม่ใช่เป็นอยู่เพียงด้วยสัญชาติญาณต่างจากสัตว์ทั้งหลายอื่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ด้วยสัญชาติญาณเท่านั้น มันมีการเรียนรู้เพียงนิดหน่อย เกิดมาไม่นานเท่าไร ก็หากินเป็นอยู่เองได้ แต่มันก็อยู่แค่สัญชาตญาณไปจนตาย ฝึกหัดได้น้อย

ส่วนมนุษย์นั้นสัญชาตญาณไม่พอ เราอาศัยสัญชาตญาณได้น้อยอย่างยิ่ง ความรู้ที่เราจะใช้ในการเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิตนั้น ต้องเรียนรู้เอา ต้องฝึกต้องหัดเอา เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงต้องอาศัยผู้อื่น เช่น พ่อ แม่เลี้ยงดู เป็นเวลายาวนาน เกิดมาแล้วอยู่เป็นเดือนเป็นปี แม้แต่สิบปีก็ยังอยู่ด้วยตนเองไม่รอด ต้องอาศัยพ่อแม่คอยอุ้มชูเลี้ยงดูด้วยประการต่าง ๆ จึงจะสามารถอยู่รอดได้ ในระหว่างที่พ่อแม่และผู้อื่นเลี้ยงดูอยู่นั้น ตนเองก็ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง ฝึกหัดทุกอย่าง โดยที่พ่อแม่เป็นต้นนั้น คอยแนะนำหรือถ่ายทอดความรู้ให้ แม่แต่จะรับประทานอาหาร แม้แต่ขับถ่าย แม้แต่นั่ง-นอน-ยืน ก็ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกต้องหัดพัฒนาขึ้น ต่อมาก็หัดพูด หัดเดิน แล้งจึงสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ รวมความว่า การดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น ไม่ได้มาเปล่า ๆ ต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาคือสิกขา

จึงพูดสั้น ๆ ว่า ชีวิตที่จะเป็นอยู่ดีนั้น ได้มาด้วยสิกขา คือการศึกษาฝึกหัดเรียนรู้ ถ้าเราไม่หยุดการศึกษา เราก็จะทำชีวิตให้ดีงามประเสริฐยิ่งขึ้นได้ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกนี้ จึงมีแง่ดีที่ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ด้วย ส่วนสัตว์ชนิดอื่นนั้น เขาอาศัยสัญชาตญาณอยู่ได้จริง แต่เขาก็ฝึกให้มากกว่านั้นไม่ได้ เขาฝึกได้เพียงเล็กน้อย หรือให้มนุษย์ฝึกให้ แล้วมนุษย์ก็เอามาใช้งาน หรือเอามาเล่นละครสัตว์ แต่เสร็จแล้วเขาก็อยู่ด้วยสัญชาตญาณต่อไป เกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น ไม่เหมือนมนุษย์ที่เป็นสัตว์ฝึกได้ พอฝึกแล้วก็เป็นอย่างที่ฝึกได้ทุกอย่าง คิดได้ พูดได้ ทำได้ มากมายสุดพรรณนา ในทางวัตถุภายนอก มนุษย์ก็ฝึกศึกษาเรียนรู้จนกระทั่งสามารถสร้างสรรค์โลกให้เจริญก้วหน้ามีเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างที่มองเห็นกันนี้ ทำให้โลกเจริญด้วยวัฒนธรรม มีอารยธรรม ในทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน มีจิตใจที่ดีงาม สูงส่งประเสริฐ จนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าผู้มีพระทัยสะอาดบริสุทธิ์ ประกอบด้วยพระมหากรุณา แต่ที่สำคัญที่สุด เป็นความประเสริฐเลิศล้ำของมนุษย์ ก็คือ ในทางปัญญา ที่พัฒนาจนตรัสรู้ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มองเห็นสัจธรรมแท้จริง ฉะนั้น มนุษย์จึงเป็นสัตว์ประเสริฐ คือประเสริฐด้วยการฝึกด้วยการศึกษา ด้วยการเรียนรู้สิ่ง ต่าง ๆ ถ้ามนุษย์ตั้งใจปฏิบัติตามธรรมชาติ ของตนที่เป็นสัตว์ผู้ฝึกได้ ก็จะเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง ตอนแรกเมื่อเกิดมาใหม่ ๆ ยังไม่ได้ฝึก มนุษย์สู้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายไม่ได้ แต่พอได้ฝึกก็จะเก่งขึ้นดีขึ้นจนกระทั่งในที่สุดจะประเสริฐ แม้แต่ยิ่งกว่าเทวดา หรือยิ่งกว่าพระพรหม

ตอนแรกมนุษย์ไปกราบไหว้เทวดา บูชาพระพรหมกัน แต่ถ้ามนุษย์ฝึกตนเองพัฒนาตนให้ดีแล้ว เทวดาและพรหมกลับมากราบไหว้มนุษย์ ทุกคนจึงควรระลึกไว้เสมอ ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ถือว่าความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่การเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนเองที่เรียกว่า สิกขานี้ ถ้าเราไม่หยุด ก็จะสิกขาได้จนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าก่อนโน้นก็เป็นมนุษย์สามัญ แต่ด้วยสิกขาคือการศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนนี้จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธศาสนาถือหลักการว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ ซึ่งจะเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก และเมื่อฝึกแล้วก็เลิศประเสริฐสุดยิ่งกว่าแม้แต่เทพเทวาประดาพรหม อย่างที่พูดมานี้ จึงเป็นหลักการที่ทำให้มนุษย์มีกำลังใจที่จะฝึกฝนพัฒนาตน แต่ข้อสำคัญก็คือ จะต้องตั้งใจเพียรพยายามและไม่ประมาท ในการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนเรื่อยไปไม่หยุดยั้ง........

การบวชนี้ วัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อ “สิกขา” คือการศึกษานี้เอง เราต้องเอาพระพุทธเจ้า
มาเป็นต้นแบบว่า พระองค์ได้เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาพระองค์จนกระทั่งได้เป็น
พระพุทธเจ้า เราก็จะมาเรียนรู้วิธีการที่พระองค์ได้ใช้ปฏิบัติมาแล้วเราจะปฏิบัติ
ตาม เพื่อเราจะได้เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม เป็นผู้ประเสริฐเช่นเดียวกับพระองค

เพราะเหตุนี้แหละ ชาวพุทธเบื้องต้นจึงต้องถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ คือเป็นที่พึ่งระลึก การเป็นที่พึ่งที่ระลึกก็คือเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงตัวเองว่า พระพุทธเจ้าของเรา นี้เดิมทีพระองค์ก็เป็นมนุษย์สามัญคนหนึ่ง แต่บัดนี้พระองค์ได้บรรลุผลสำเร็จในการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนเอง ได้เป็นบุคคลผู้ประเสริฐเรียกว่าพระพุทธเจ้า เราก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน เราก็มีศักยภาพมีความสามารถที่จะฝึกนี้อยู่ เมื่อระลึกอย่างนี้เราก็จะเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์

เมื่อเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้แล้ว ก็จะเกิดกำลังใจขึ้น ต่อจากนั้นก็เกิดความสำนึกตระหนักในหน้าที่ของตน ว่าเราจะต้องตั้งใจฝึกฝนพัฒนาชีวิตของเรา เพราะว่าชีวิตมนุษย์ที่จะอยู่ดีและเจริญงอกงามจนประเสริฐได้นั้น ไม่มีทางที่จะได้มาเปล่า ๆ เราจะต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนอย่างแน่นอน แล้วก็ตั้งใจ “สิกขา” ฝึกหัดพัฒนาไป

นอกจากนั้น การฝึกการปฏิบัติ การบำเพ็ญความดีงามต่าง ๆ นี้ ต้องใช้ความเพียรพยายาม เมื่อพบความยากลำบาก ถ้าจิตใจอ่อนแออยู่ บางทีก็เกิดความท้อถอย หรือท้อแท้ขึ้นมา ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็นึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมาจนสำเร็จอย่างนี้ได้ด้วยความเพียรพยายามอย่างจริงจัง พระพุทธเจ้ามีความเข้มแข็ง มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอย เราก็จะต้องเข้มแข็งไม่ท้อถอยเช่นเดียวกับพระองค์ เมื่อนึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วก็เกิดกำลังใจ เดินหน้าต่อไป การระลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงทำให้เกิดกำลังใจที่จะก้าวสูงยิ่งขึ้น ต่อจากนั้นก็ได้แบบอย่างจากพระองค์ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเพียรบำเพ็ญบารมีนั้น พระองค์ต้องลองผิดลองถูกมามาก เพราะไม่มีใครเป็นต้นแบบ ไม่มีใครเป็นตัวอย่างให้ พระองค์ต้องเรียนรู้ฝึกหัดด้วยพระองค์เอง ยากยิ่งนักกว่าจะสำเร็จ เมื่อพระองค์ได้ผ่านประสบการณ์มาแล้ว ก็เอามาถ่ายทอดให้พวกเรา พวกเราได้ตัวอย่างจากพระองค์แล้ว ก็เท่ากับมีวิธีลัด ที่ปฏิบัติได้ทันที ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกอย่างพระองค์ นี่คือการปฏิบัติที่เรียกว่า “ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ” คือถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตามความหมายที่กล่าวมา รวม ๔ อย่าง คือ
๑. ทำให้เราเกิดความมั่นใจในความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ของตน
๒. สำนึกในหน้าที่ที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเอง
๓. เกิดกำลังใจในการที่จะปฏิบัติเช่นนั้น และ
๔. ได้พระองค์เป็นแบบอย่าง พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติที่ประทานไว้

การที่จะฝึกฝนปฏิบัติตามอย่างพระพุทธเจ้านั้น เราก็ต้องรู้ด้วยว่า การที่พระองค์
จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ด้วยการเข้าถึงความจริงในธรรมชาติ เรื่องของความ
จริงในธรรมชาติ มีหลักเบื้องต้นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามธรรม คือเป็นไป
ตามเหตุปัจจัย เราจะต้องรู้เข้าใจความจริงนั้น จึงจะพัฒนาตนได้ เพราะการที่จะ
พัฒนาตนเองให้สำเร็จ เราก็ต้องปฏิบัติตามหลักความจริงนั่นแหละ

ชีวิตของเราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราจะให้ชีวิตของเราดีงามขึ้นไป เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เรียกว่า กฎธรรมชาตินั้น เมื่อเราปฏิบัติได้ถูกต้อง ชีวิตของเราก็จะดีงาม หมายความว่า เมื่อเราทำเหตุปัจจัยที่ดี ผลที่ดีก็เกิดตามมา
เพราะฉะนั้น เราจะต้องอาศัยหลักความจริง ที่เรียกว่า “ธรรม” นี้ ผู้ใดเข้าถึงความจริงของธรรมชาติอย่างแท้จริง มีปัญญารู้แจ้ง ก็จะปฏิบัติได้ถูกต้อง เรียกว่า เป็นอยู่ชอบ ชีวิตก็จะเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ เราจะฝึกฝนพัฒนาตนเองได้ ก็ด้วยการปฏิบัติไปตามธรรม คือความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาตินี้แหละ
เมื่อเราเอาธรรม มาเป็นหลักชีวิต หรือเป็นเครื่องนำทางของชีวิต ธรรมก็จะเป็นสรณะ คือเป็นที่พึ่งที่ระลึกข้อที่ ๒ ของเรา คือ เป็นหลักและเป็นเครื่องนำทาง ในการฝึกฝนพัฒนาตน และในการเป็นอยู่หรือการดำเนินชีวิตของเรา
ในการดำเนินชีวิตนั้น ผู้ใดเอาธรรม คือหลักความจริงในธรรมชาติ มาใช้ประโยชน์ได้ ผู้นั้นก็สามารถดำรงชีวิตด้วยตัวเองอย่างดี เครื่องมือของเราที่จะเอาธรรมมาใช้ประโยชน์ได้ ก็คือปัญญาที่รู้ความจริง แต่ถ้าเรายังไม่รู้ความจริงนั้นโดยสมบูรณ์ เราก็เอาธรรมมาใช้ได้ไม่เต็มที่ หรือไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจึงต้องพัฒนาตนเอง ด้วยสิกขา คือฝึกศึกษาเรียนรู้ยิ่งขึ้นไป เราก็จะได้ปัญญาความรู้นั้น

ที่พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็เพราะสร้างสมปัญญามาจนเข้าถึงความจริงของธรรมนั่นเอง และเราเองก็มีปัญญาที่พัฒนาได้ สามารถเข้าถึงความจริงได้
เพราะฉะนั้น เราจึงเอาธรรมมาเป็นหลัก หรือเป็นที่ยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต คือ จะดำเนินชีวิตโดยใช้ปัญญา เริ่มต้นแต่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยของมัน โดยรู้จักค้นหาความจริงในสิ่งทั้งหลายเพื่อที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง เมื่อทำได้อย่างนี้ เราจะพัฒนาตนเองขึ้นไปเรื่อย ๆ และจะเป็นบุคคลที่มีชีวิตที่ดีงาม มีชีวิตที่เจริญ เป็นอารยชนเป็นผู้ประเสริฐ

คนผู้ประเสริฐด้วยการฝึกฝนพัฒนาตนเองนี้ ย่อมบรรลุผลสำเร็จในระดับต่าง ๆ
กัน แต่ก็จะมาประกอบกันเข้าเป็นชุมชนหรือสังคมที่ดีงาม สังคมมนุษย์นี้
จะดีงาม ก็ต้องประกอบด้วยมนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ถ้าปล่อยอยู่ตาม
ธรรมชาติพื้นเดิม ไม่ฝึกฝนก็จะชุมชนของคนที่มีกิเลสหนา สังคมก็จะเต็มไปด้วย
การเบียดเบียน แช่งชิงกัน เดือดร้อนมาก

พระพุทธเจ้าสอนให้เราทุกคนพัฒนาตนเอง เมื่อเรามีคุณธรรมความดีขึ้นมา ก็จะเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามนี้ สังคมหรือชุมชนที่ดีงาม ซึ่งประกอบด้วยคนผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรมความดีที่ได้ศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเองนี้ เรียกว่าเป็น “สังฆะ” ชุมชนผู้ประเสริฐ
เราทุกคนมีสิทธิ และมีความสามารถพิเศษ ที่จะฝึกฝนพัฒนาตนให้เข้าไปร่วมสร้างสรรค์และเป็นสมาชิกของสังฆะนี้ได้โดยเริ่มแรกอาจจะเข้าร่วมสมมติสงฆ์คือ สังฆะโดยรูปแบบก่อน
สมมติสงฆ์ เป็นสังฆะที่เกิดจากการปฏิบัติตามวินัย คือข้อบัญญัติต่าง ๆ ที่เป็นกรอบในการเป็นอยู่ เมื่อมาปฏิบัติและมีชีวิตเป็นอยู่ตามหลักปฏิบัติ หรือประพฤติตามวินัยแบบแผนนั้นแล้วก็มีชีวิตที่ดีงามขึ้นมา ก็ถือว่า เป็นสงฆ์โดยสมมติ ตามรูปแบบ
ถ้าสามารถทำจิตใจให้เข้าถึงคุณธรรมความดีงามนั้นได้ ให้ความดีงามนั้นไม่เป็นเพียงข้อปฏิบัติที่เป็นกรอบอยู่ภายนอก แต่เข้ามาเป็นเนื้อแท้ในชีวิตจิตใจของเรา ก็จะกลายเป็นผู้ประเสริฐโดยชีวิตจิตใจ ไม่ใช่เพียงรูปแบบ ถ้าปฏิบัติได้ถึงขั้นนี้ ก็เรียกว่า บรรลุธรรม เข้าร่วมในสังฆะแท้ ที่เรียกว่า อริยสงฆ์ คือเป็นส่วนร่วมในสงฆ์อันประเสริฐนั้น
เพราะฉะนั้น สงฆ์จึงมี ๒ ขั้น และทุกขั้นนี้เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้
ที่พูดมานี้รวมเป็นหลักใหญ่ ๓ ประการ คือ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ หรือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ หลักทั้ง ๓ นี้เป็นข้อสำคัญที่จะต้องรู้ก่อน ถ้ารู้เข้าใจหลัก ๓ อย่างนี้ คือ รัตนตรัย ก็จะได้นสิ่งที่ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและในการที่จะฝึกฝนอบรมตนเองต่อไป ผู้ที่มาบวชต้องเข้าใจถึงพระรัตนตรัย พร้อมทั้งยึดถือเอาหลักพระรัตนตรัยนี้เป็นแนวทางในการที่จะประพฤติปฏิบัติสืบต่อไป

การถือเอาพระรัตนตรัยเป็นหลักในการฝึกศึกษาพัฒนาตัวขงเรานี้ เรียกว่า ไตรสรณคมน์ แปลว่า การถึงสรณะทั้ง ๓ คือ ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

เมื่อได้หลักการนี้แล้ว ต่อแต่นั้นก็เข้าสู่ “สิกขา” เพราะว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเข้าถึงสัจธรรมความจริงแล้ว ก็ทรงแนวสิกขาไว้ให้เรา เพื่อให้เราพัฒนาชีวิตของเราได้ตามหลักความจริงคือธรรมนั้นจนเข้าถึงธรรม คือหลักความจริงนั้นโดยสมบูรณ์

จะเห็นว่า ผมสำเร็จของการศึกษาหรือสิกขาที่พระพุทธเจ้าทรงวางหลักไว้นี้ ก็คือการเกิดปัญญารู้แจ้งธรรมะ และมีธรรมะเพิ่มมากขึ้นในตัวเรา แล้วตัวเราก็พัฒนาขึ้นมาเป็นส่วนร่วมในสังฆะ

พระรัตนตรัยที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา มารวมกันที่สิกขา นำทางให้ก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จด้วยสิกขาคือการฝึกศึกษาพัฒนาตน โดยปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า สิกขา นั้นมี ๓ ประการด้วยกัน คือ
๑. สิกขาเพื่อการพัฒนาในด้านพฤติกรรม คือฝึกฝนอบรมความประพฤติทั่วไป ทางกาย วาจา และการอยู่ร่วมสังคม พร้อมทั้งการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหลายภายนอก ด้านนี้เรียกว่า ศีล
๒. สิกขาเพื่อการพัฒนาในด้านจิตใจ ซึ่งเป็นการฝึกอบรมปลูกฝังคุณธรรมความดีต่าง ๆ มากมาย เช่น เมตตา กรุณา ศรัทธา ความเคารพ ตลอดจนความเพียร สติ สมาธิ และพัฒนาในด้านความสุข ให้มีจิตใจที่ไม่มีทุกข์ ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว ไม่เครียด ไม่เดือดร้อน กระวนกระวาย มีความปลอดโปร่ง เบิกบานสดใส เรียกรวม ๆ ว่า สมาธิ
๓. สิกขาเพื่อการพัฒนาในด้านปัญญา คือ ฝึกการมองการดูการคิดการพิจารณาให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้สามารถเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต แก้ปัญหาและทำการต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ด้วยดี เป็นด้านปัญญา

เมื่อตั้งใจศึกษาตามหลักสิกขา ๓ ประการนี้แล้ว ก็จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังได้กล่าวมา ที่พูดมานี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันในเบื้องต้น
พึงระลึกว่า การบรรพชาที่เข้ามามีชีวิตอยู่ในพระศาสนานั้นมีหลักการเบื้องต้นที่เป็นเนื้อหาสาระแท้ ๆ ดังที่กล่าวมา

บัดนี้ ผู้มีความตั้งใจเข้ามาบวชด้วยศรัทธา และฉันทะ ได้เข้าใจความหมายและ
วัตถุประสงค์ของการบวชแล้วพร้อมที่จะเข้าสู่เพศบรรพชิต เพื่อเริ่มต้นเจริญ
ไตรสิกขา คือฝึกศึกษาพัฒนาตนต่อไป เมื่อมีความเข้าใจร่วมกันดีแล้ว ก็ถือว่ามี
ความพร้อมที่จะบรรพชา

การบรรพชา คือบวชเข้ามาเป็นบรรพชิตนี้ เป็นการเข้ามาสู่ชีวิตใหม่
การมีชีวิตใหม่เป็นบรรพชิตนั้น ไม่ว่าจะบวชเป็นสามเณรก็ตาม เป็นภิกษุก็ตาม ก็เป็นการเปลี่ยนจากชีวิตชาวบ้านผู้ครองเรือน เปลี่ยนระบบความเป็นอยู่ เปลี่ยนสังคมสิ่งแวดล้อมใหม่
เมื่อเข้ามาใหม่ ๆ ยังไม่ได้เรียนรู้ฝึกหัดอะไรมาก่อน ก็อาจจะมีจิตใจวุ่นวาย จึงควรจะมีบทเรียนเบื้องต้น ถึงจะยังไม่ได้รู้อะไรมาก ก็ให้มีวิธีรักษาจิตใจของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อบวชเข้ามาอยู่วัด เรื่องสำคัญก็อยู่ที่ใจว่า เมื่อไม่มีเรื่องวุ่นวายต่าง ๆ ภายนอก พออยู่กับจิตใจของตัวเอง จิตใจของเรานั้นก็อาจจะฟุ้งซ่านวุ่นวาย คิดถึงโน่นคิดถึงนี่ คิดถึงเงินทองทรัพย์สิน คิดถึงผู้คนที่เคยรู้จัก ทั้งที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ จิตใจก็อาจจะวุ่นวาย จึงต้องมีหลัก
ตอนแรกนี้ยังไม่ได้เรียนอะไรมา จะทำอย่างไร ท่านก็บอกว่า ใจเราต้องมีงานทำ เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็หางานให้ใจทำเสีย โดยเฉพาะหาอะไรที่ง่าย ๆ ให้ใจทำ ใจเราจะได้ไม่ดิ้นรน ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย

ธรรมดาว่า คนที่บวชใหม่ ๆ ซึ่งออกมาจากบ้านเรือนและสังคม เคยพบเคยอยู่กับคนอื่น ๆ มาก พอห่างออกมาอยู่เงียบ ๆ จึงอาจจะนึกถึงคิดถึงคนโน้นคนนี้วุ่นวาย พอนึกขึ้นมาแล้วก็เกิดปัญหาแก่จิตใจ ทำให้คิดฟุ้งซ่านและอาจจะปรุงแต่งไปต่าง ๆ ท่านจึงสอนว่า ให้เอาวิธีแก่ง่าย ๆ ก่อน คือหางานให้ใจทำ เรียกว่า กรรมฐานเบื้องต้น ภาษาพระว่า “มูลกับมัฏฐาน”

ในเวลาที่เรานึกถึงคนอื่น หรือมองเข้านั้น เรามองเห็นอะไร คนที่เรามองเห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ ก็เห็นกันแค่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่เพราะไปติดอยู่กับความจำหมายว่าเป็นคนนั้นคนนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ เคยพบกันที่นั่นที่นี่ ทำโน่นทำนี่ นึกถึงคนนั้นชอบใจ นึกถึงคนนี้ไม่ชอบใจ แล้วก็คิดปรุงแต่งยุ่งไป ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย พอนึกถึงใคร ก็มองแค่ว่าเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วก็จบแค่นั้น ใจก็สงบได้ นี้คือกรรมฐานเบื้องต้น เป็นการหางานให้ใจทำ

เป็นอันว่า นึกถึงใคร ก็นึกว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ภาษาบาลีว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็เอาอันนี้เป็นกรรมฐาน เป็นการหางานให้ใจทำเบื้องต้น ใจจะได้อยู่กับงาน ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวา หรือคิดปรุงแต่งไปไกล

แม้จะไม่ได้นึกถึงใคร ก็เอามาเป็นคำพูดในใจเฉย ๆ ทำให้ใจมีจุดจับ ไม่ฟุ้งซ่าน อย่างที่ชอบพูดกันว่าภาวนา ก็ทำใจให้เป็นสมาธิได้ ผมนั้น เรียกว่า เกสา ขนเรียกว่า โลมา เล็บเรียกว่า นขา ฟัน เรียกว่า ทันตา หนังเรียกว่า ตโจ

จึงให้กรรมฐานคืองานที่ใจจะทำในเบื้องต้น เป็นกรรมฐานที่มีเพียง ๕ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าเป็นคำบาลีว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เรียกว่ามูลกัมมัฏฐาน คือกรรมฐานชั้นมูลเอาอันนี้ไปใช้ในเบื้องต้นก่อน ต่อไปนี้ โดยมีสติ ให้ใจอยู่กับคำที่กล่าวนั้นดังนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้ว่าตามลำดับ เรียกว่า โดยอนุโลม ทีนี้ว่าย้อนลำดับ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา นี้เรียกว่า โดยปฏิโลม กรรมฐานเบื้องต้น เอาไว้แค่นี้ก็ใช้ประโยชน์ได้แล้ว พอรักษาจิตใจของตัวเอง และสามารถใช้ในการทำสมาธิได้ด้วย เรียนรู้แค่นี้ ก็เรียกว่าขั้นพื้นฐาน พออยู่ได้ ต่อจากนั้นค่อยศึกษาเพิ่มเติมให้ก้าวหน้าในไตรสิกขาต่อไป ต่อนี้ไปถือว่าได้เตรียมตัวพร้อมแล้วสำหรับพิธีบรรพชา ขอมอบผ้ากาสาวพัสตร์ให้ไปครอง แล้วต่อจากนั้นจะได้ไปรับสรณคมน์พร้อมทั้งศีล จากพระอาจารย์ เรียกว่า ทศศีล คือศีล ๑๐ การบรรพชาเป็นสามเณร จะสำเร็จด้วยการที่ได้รับ
ไตรสรณคมน์ และศีล ๑๐ นั้นจากพระอาจารย์ จบ
หมายเหตุ เป็นคำสอนของ พระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตฺโต )






Create Date : 07 มิถุนายน 2550
Last Update : 8 มิถุนายน 2550 17:22:54 น. 9 comments
Counter : 654 Pageviews.  

 
ท่าทางน่าเลื่อมใสมากครับ


โดย: ปีเตอร์ IP: 125.27.130.230 วันที่: 13 มิถุนายน 2550 เวลา:7:12:24 น.  

 
โทษทีนะที่ไม่ได้ไปร่วมงาน
เห็นแล้วปลื้มใจจัง
รักษาตัวด้วยนะ
เป็นห่วงนะจ๊ะ


โดย: ธาริจัง อก.11 IP: 203.144.220.252 วันที่: 18 มิถุนายน 2550 เวลา:19:42:18 น.  

 
ไม่เป็นไรครับธาริจัง แค่นี้เราก็ดีใจแล้วที่มีเพื่อนรักดีอย่างเธอ


โดย: joypla วันที่: 19 มิถุนายน 2550 เวลา:18:02:14 น.  

 
สาธุ...ขอร่วมอนุโมธนาในครั้งนี้ด้วยครับ
(ว่าแต่บวชแล้วเบียดเหรอปล่าวล่ะ)


โดย: เด็กห่างไกล IP: 61.7.152.58 วันที่: 2 กรกฎาคม 2550 เวลา:18:04:57 น.  

 
กำลังหาคนมาเบียดอยู่ครับ


โดย: joypla วันที่: 2 กรกฎาคม 2550 เวลา:20:02:08 น.  

 
ได้ข่าวมาว่าคนที่จะมาเบียดด้วยน้าน โดน.........ไปแล้วใช่มั้ย


โดย: เด็กสิงหะ IP: 203.144.220.241 วันที่: 4 สิงหาคม 2550 เวลา:13:40:34 น.  

 
ใช่ครับ แต่ก็ไม่เป็นไร ในเมื่อคนที่เรารักเค้ามีความสุข เราก็ยินดีด้วย


โดย: joypla วันที่: 4 สิงหาคม 2550 เวลา:18:26:37 น.  

 
ไม่บอกข่าวคราวกันบ้างเลยนะปลา แต่ก็แสดงความยินดีด้วย เพราะพ่อกับแม่คงปลาบปลื้มใจมาก ๆ เลยนะ


โดย: โบจัง (FST11) IP: 125.27.205.105 วันที่: 20 กันยายน 2550 เวลา:21:31:26 น.  

 
ชีวิตคุณเป็นแบบนี้อยู่หรือเปล่า? แล้วยังจะเป็นต่อไปอีกนานแค่ไหน?
•ตื่นนอนแต่เช้า เร่งรีบเพื่อไปให้ทันเวลาทำงาน
•เบื่อหน่ายกับงานที่ซ้ำซากจำเจ หาความก้าวหน้าไม่ได้
•ไม่มีเวลาให้ครอบครัว หรือใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง
•ทุ่มเทให้กับการทำงาน แต่ก็ยังถูกมองว่าไม่ดีพอ
•อยากจะมีอิสระ ไปท่องเที่ยวในที่ที่อยากไป แต่ก็ได้แค่เพียงคิด
•ให้คำสัญญาในเรื่องการมีชีวิตที่ดีขึ้นกับคนที่คุณรัก แต่ก็ยังทำไม่ได้สักที
•อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่ก็ไม่มีเงินที่จะมาลงทุน ไม่มีความรู้ในการทำธุรกิจ โอกาสเสี่ยงที่จะขาดทุนสูง
•เงินเดือนเพียงอย่างเดียวแทบไม่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือน
•ทำงานมาตั้งหลายปีแต่ก็ยังมีเงินเก็บไม่เท่าไหร่
•อยากมีชีวิตที่ดีกว่าทุกวันนี้ แต่ยังไม่พบโอกาสเสียที
แล้วเคยลองถามตัวเองหรือยังว่า...
"สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ สามารถทำให้สิ่งต่างๆ ที่เราวาดฝันไว้เป็น
จริงได้มากน้อยแค่ไหน..."
"ถ้าเราทำอย่างทุกวันนี้ อีก 5 ปีข้างหน้าชีวิตเราจะเป็นไปตามที่
เราคาดหวังมากน้อยเพียงใด..."
"แล้วตอนเราอายุ 60 ล่ะ ชีวิตเราจะเป็นไปอย่างที่เราคาดหวังไว้
ตอนนี้หรือเปล่า..."

คุณพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อตัวเองและคนที่คุณรักหรือยัง?
หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ต้องการมีชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น ต้องเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อน
ทำในสิ่งใหม่ๆ ทำในสิ่งที่คุณอาจไม่เคยทำแต่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่ามีคนอื่นที่ไม่เคยทำเหมือนคุณ
เรียนรู้และทำได้ผล ถ้าคุณลงมือทำ... อีกไม่นานคุณก็จะพบว่าคุณมีความสามารถใหม่ๆ มีความเคยชิน
ใหม่ๆ และมีชีวิตใหม่อย่างที่คุณต้องการ
คุณจะยอมเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเองหรือไม่ หากคำตอบคือ "ไม่หรือมีโอกาสที่ดีกว่าอยู่แล้ว"
.. เราขออภัยด้วยสำหรับการสละเวลาดูข้อมูลตรงนี้ และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้...
แต่หากคำตอบคือ "พร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนแปลง" เราพร้อมที่จะสอนทุกสิ่งแก่ คุณ ช่วยเหลือคุณ
ในก้าวเิดินต่อไปจนกว่าคุณจะประสบความสำเร็จในจุดที่คุณต้องการ คุณสามารถติดต่อเราเพื่อขอ
รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

//dreamteambynet.com?ref=1469

(หากคลิ๊กแล้วไม่สามารถเปิดได้ สามารถคัดลอก URL ข้างต้นไปวางได้)
ขออภัยหากรบกวนท่าน
กรุณาแนะนำโอกาสนี้ไปสู่้กับคนที่คุณรัก...


โดย: งานดีทางเน็ต IP: 203.146.63.182 วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:1:04:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

joypla
Location :
สงขลา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีครับ ผมคนสงขลาแต่กำเนิด เริ่มเรียนที่โรงเรียนวัดชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา, ม.ต้น ที่โรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา ต่อม.ปลายโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา เข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ณ คณะเกษตรศาสตร์นครศรีธรรมราช สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ( ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย) ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เคยทำงานที่บริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ปัจจุบันทำงานที่ บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) จังหวัดชุมพร
[Add joypla's blog to your web]