Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
3 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน โดยพระอาจารย์มิตซูโอะ

ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน

ที่พวกเรามาบำเพ็ญสมาธิ ภาวนา ทำจิตใจให้สงบ
ก็เพื่อศึกษาปัจจุบันธรรม ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน
ปัจจุบันคือเดี๋ยวนี้
ปกติจิตใจของเรามักจะคิดอยู่กับอดีต หรืออนาคตเป็นส่วนใหญ่
เราไม่ค่อยรู้จักว่าปัจจุบันคืออะไร
ในการศึกษาธรรมะ ปัจจุบันธรรม สำคัญมาก
เพราะอดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง

พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่า
อดีตผ่านไปแล้ว อย่าไปยึด อย่าไปคิด
เรามักครุ่นคิดอยู่ในอดีตที่ผ่านไปแล้ว คิดแล้วก็แค้นใจ เสียใจ น้อยใจ
หรือไม่จิตก็คิดห่วงกังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง คิดแล้วก็ทุกข์

อันนี้พระพุทธเจ้าว่าไม่มีประโยชน์
ถ้าศึกษาปัจจุบันธรรม เราก็เข้าใจทั้งอดีตและอนาคต
เพราะอดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
ฉะนั้น ปัจจุบันจึงเป็นที่รวมของเหตุและผล
ปัจจุบันนี่แหละเป็นเหตุ

เหตุ ก็มีเหตุดี กับเหตุไม่ดี เราเลือกทำอะไรก็ได้
ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ เราก็เลือกเอา
ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้ศึกษาธรรมะ เราก็ทำตามอำเภอใจ
ทำตามความเคยชิน หรือว่าทำตามกิเลส ตัณหา

การกระทำก็มีทั้ง ทางกาย วาจา จิต
การกระทำเรียกว่า “กรรม”
มี 3 อย่างคือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
สิ่งที่เราทำไป เรียกว่า “ทำ” นี่แหละคือการกระทำ
การกระทำก็ทำตามความคิด คิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้
พูดดีก็ได้ พูดชั่วก็ได้ ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้


จิตอยู่กับปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร

การปฏิบัติธรรม คือการทำใจให้สงบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
ไม่ให้คิดถึงอดีต ไม่ให้คิดถึงอนาคต
ปัจจุบันนี้ กายนั่งอย่างไร นั่งอยู่ เดินอยู่ ยืนอยู่ นอนอยู่ ก็รู้
นี่เป็นปัจจุบัน ถ้าเราสามารถกำหนดรู้การ ยืน เดิน นั่ง นอน
รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
รู้กายมีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น

นี่ก็เป็นปัจจุบัน..... เป็นการทำเหตุดีในปัจจุบัน
เราสามารถกำหนดรู้ได้ เพราะกายก็มีอยู่เดี๋ยวนี้
เราปฏิบัติเช่นนี้ ก็เพื่อให้อยู่กับปัจจุบัน
พยายามไม่ให้คิดไปอดีต อนาคต

ถ้าเราสังเกตดูก็จะเห็นว่า
จิตที่ไม่สงบคือจิตที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน คิดไปอดีต คิดไปอนาคต
ยิ่งคิดมาก คิดไปๆ ก็เรื่องเก่าๆ ทั้งนั้น
ถ้าเรายังคิดไปอดีต คิดไปอนาคต เราก็ยังไม่เข้าใจธรรมะ

จิตไม่สงบ เพราะจิตไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
เมื่อจิตไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ก็ไม่สามารถเข้าใจธรรมะได้
มีแต่ปรุงแต่งอดีตที่ผ่านไปแล้ว
ปรุงแต่งไปอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทำอะไรก็ไม่ได้
การศึกษาธรรมะคือ การศึกษาปัจจุบันธรรม
เราต้องพยายามสร้างศรัทธา คือ ศรัทธาในการทำใจให้สงบ
ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน


แล้วก็คิด “ธรรมะ” อยู่อย่างนั้น

บางทีเราก็ปฏิบัติกันมาเป็นปีๆ หลายๆ ปีก็ตาม เราก็ครุ่นคิดอยู่อย่างนั้น
คิดๆๆ คิดอดีต คิดอนาคต แม้แต่ “ธรรมะ” ก็มีแต่คิด
องค์นี้สอนอย่างไร หนังสือธรรมะสอนอย่างไร แล้วก็คิด
ก็คิด “ธรรมะ” อยู่อย่างนั้น
ธรรมะในหนังสือบ้าง ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังบ้าง
ของเก่าๆ เอามาคิด คิด คิด

การพิจารณาธรรมะ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น
เราต้องพยายามทำจิตทำใจให้สงบ
ถ้าสามารถกำหนดรู้ปัจจุบันได้ ก็สงบ ไม่ต้องคิดอะไร
ถ้าเรากำหนดดูปัจจุบัน แล้วเราก็จะรู้จัก
เช่นมีใครนินทาเรา ว่าเรา ด่าเรา ดูหมิ่น ดูถูกเรา
ไม่ให้เกียรติเรา หรือทำอะไรๆ ที่ไม่ถูกใจเรา
ถ้าเรากำหนดรู้เท่าทัน เรียกว่า มีสติ มีปัญญา จิตก็สงบได้

จิตที่จะออกไปเป็นปฏิกิริยาก็มีอยู่ อยู่ที่เราเคยอย่างไร
เมื่อมีคนนินทา เราเคยรู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร จิตมันก็ปรุงไป
บางคนอาจจะคิดอาฆาตพยาบาท คิดปองร้าย คิดจะทำลายเขา
คิดอยากจะฆ่าเขา บางคนอาจจะคิดน้อยใจ บางทีก็คิดทำลายตัวเอง
พอน้อยใจก็คิดจะฆ่าตัวตายก็มี บางทีก็คิดจะหนีก็มี
เมื่อเราถูกนินทาปกติเราเคยคิดอย่างไร
ปัจจุบันก็จะมีความรู้สึกไปในทางนั้น

ทีนี้เมื่อเรารู้ว่าปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
เราก็ต้องทำเหตุให้ดี ทำให้ถูก

เมื่อถูกนินทา ถูกว่า เราเกิดความรู้สึกอย่างไร
ให้เราตามรู้ ยกเอาศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมา
ตั้งสติ ตั้งศีลขึ้นมา ไม่ให้เกิดยินดี ยินร้าย
ศีล คือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย

ขณะที่ถูกนินทาก็ไม่ให้เกิดยินร้าย
บางทีก็เกิดตัณหา อยากจะปองร้ายเขา อันเป็นบาปมีโทษ
ถ้าใจเป็นศีล ก็ตั้งเจตนาระงับอันนี้
ต้องมีหิริโอตตัปปะ..... ไม่ยินดี ยินร้าย

เขานินทา เขาพูดอะไร เขาทำอะไรให้เราไม่ถูกใจ
ก็ดูว่า เรารู้สึกอายไหม กลัวไหม
ถ้ารู้สึกละอาย กลัว มีหิริ โอตตัปปะ
สติปัญญาก็จะรีบดับรีบระงับความไม่พอใจเสีย
จิตก็ทำงาน เพื่อระงับอารมณ์ยินร้ายที่จะเกิดขึ้น
อันนี้แสดงว่าใจเป็นศีลแล้ว มีหิริ โอตตัปปะแล้ว

แต่ถ้าจิตคิดเป็นวิภวตัณหา คิดปรุงแต่งไปด้วยตัณหา
พูดง่ายๆ ก็คือ เกิดอารมณ์ยินร้าย
เช่นนี้แสดงว่า ใจไม่เป็นศีล ไม่มีหิริ โอตตัปปะ
ปกติใจเรามักจะคิดว่า “เขาไม่มีหิริ โอตตัปปะ”
ถ้าคิดอย่างนี้จิตมันก็ปรุงไป คิดไปสารพัดอย่าง
ของเก่าๆ ข้อมูลที่มีอยู่ รวบรวมเอามาหมด
แล้วก็ปรุงไปแต่งไป ยิ่งคิดก็ยิ่งเกิดอาฆาตพยาบาท
หรือบางทีก็อาฆาตพยาบาทตัวเอง คิดน้อยใจ เสียใจ

.....แล้วแต่ใจนะ.....


ดูหมิ่นเขา ตำหนิเขา นินทาเขา

บางคนก็คิดออกไปข้างนอก คิดดูหมิ่นเขา ตำหนิเขา
นินทาเขาสารพัดอย่าง
จิตบางคนก็เกิดน้อยใจ ในที่สุดก็อยากหนี
บางครั้งก็อยากหนีจากชีวิต คิดจะฆ่าตัวตาย
อันนี้ให้เราสังเกตว่าจิตไปทางไหน
ถ้าคิดอย่างนี้ เรียกว่า ไม่มีหิริ โอตตัปปะ จิตก็ปรุงแต่งไป

ถ้าเราเข้าใจแล้วว่าอะไรถูก ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย
ถ้ามีความรู้สึกยินร้ายก็ต้องมีความรู้สึกละอาย กลัว
มีหิริ โอตตัปปะ แล้วนิ่งเฉย
ไม่คิดว่า เขาไม่ดี เขาไม่น่า เขา..... เขา..... เขา..... ไม่ให้คิด
มีเขา ก็ต้องมีเรา
ถ้าเอา “เขา” มาคิดปรุงไป “เรา” ก็เกิด
มีเรามีเขา

ถึงเขาจะไม่ดีอย่างไรก็ตาม มีเขาก็มีเรา
อันนี้ไม่ใช่ทางพุทธศาสนา

การปฏิบัติทางพุทธศาสนาก็เพื่อไม่ให้มีตัวตน
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา
การปฏิบัติก็เพื่อทำลายความรู้สึกว่ามีตัวตน

อันนี้สำคัญ เราต้องรู้จัก พยายามพิจารณา มองเห็นให้ชัด
พยายามให้มีสติที่หัวใจ
เมื่อเกิดอารมณ์ก็ต้องรีบระงับ รีบระงับ
พยายามสร้างเหตุดี
ถ้าเราสามารถมี หิริ โอตตัปปะ มีสติ มีศีลตรงนี้ได้
เรียกว่า มีเหตุดี ต่อไปในอนาคต ผลก็ดี จิตไม่หวั่นไหว
ใครจะนินทา สรรเสริญ จิตก็เป็นปกติ
ใครจะนินทา ใครจะพูดอย่างไร ถ้ารักษาใจให้สงบได้ เรียกว่าเป็น ปกติ

ศีล คือปกติ คือสงบนี่แหละ
เราสามารถทำใจให้สงบ เป็นปกติ ไม่ให้ปรุง เรา-เขา
เรียกว่าใจเป็นปกติ ใจเป็นศีล

ถ้ากระทบอารมณ์แล้วคิดมาก ก็ผิดปกติมาก ฟุ้งซ่านไม่สงบ
ถ้าเราเข้าหลักธรรมปฏิบัติ เมื่อเกิดอารมณ์ขึ้น
ก็รีบตั้งเจตนาให้ถูกต้องได้
เพื่อไปทางมัชฌิมาปฏิปทา คือ กลางๆ สงบ เฉยๆ คือตั้งสติได้
อย่างนี้เรียกว่า เราเข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติ

ฉะนั้น เมื่อกระทบอารมณ์ เราก็ไม่ต้องคิดอดีต
ไม่ต้องคิดถึงอนาคต ปฏิบัติที่ปัจจุบัน
เมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ เราก็รู้อยู่ว่า
จิตจะเกิด ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อย่างไร
เราต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ
อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตั้งขึ้นมา
เรียกว่า เป็นการสร้างเหตุที่ดีในปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นมากที่เราจะต้องทำใจให้สงบ

ต้องทุ่มเทสติปัญญาของเราทั้งหมด ต้องศึกษา
เพราะเรากระทบอารมณ์อยู่ทุกวินาที
เราต้องพยายามให้มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา
พยายามศึกษาอารมณ์อยู่อย่างนี้
ตั้งทิศตั้งเจนาให้มันถูกต้อง
ถ้าตั้งทิศผิด มันก็ฟุ้งซ่าน คิดไปเรื่อยๆ


ศีลดี จิตก็ไม่รุนแรง ไม่ฟุ้งซ่าน

ทีนี้ อาการที่จิตมีศีลดีเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร
ศีลดี จิตก็ไม่รุนแรง สงบ
เมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา จิตก็ทุกข์อยู่ แต่จิตไม่ฟุ้งซ่าน
เราอยู่ในโลกนี้ ก็ต้องกระทบอารมณ์ไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ
เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นธรรมดา
เมื่อกระทบอารมณ์เหล่านี้ จิตใจก็มีลักษณะเศร้าๆ หนักๆ
เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ แต่ว่า จิตไม่ฟุ้งซ่าน คือ ไม่คิดนั่นแหละ

เช่น ถ้าหนาวมากเราก็ไม่พอใจ แต่เราก็ไม่ต้องคิดอะไร
เพราะเป็นธรรมชาติ อากาศหนาวมากไม่ทำให้ฟุ้งซ่าน
ร้อนมาก เราก็ไม่ชอบ ต้องทำใจสงบ
ใครจะนินทาบ้าง หรือเห็นอะไร ได้ยินอะไรที่ไม่ถูกใจ
จิตก็ไม่ต้องคิดอะไร
มันก็ธรรมดา..... ธรรมดา แล้วก็ทำใจให้สงบ
สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าคิด

แม้จะเกิดอารมณ์ที่ไม่สบายใจ ก็พยายามพิจารณาว่า
ความรู้สึกเวทนานี้ ก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ทุกขเวทนาทางใจก็ดี ทุกขเวทนาทางกายก็ดี
ก็พิจารณาเวทนาว่า สักแต่ว่าเวทนา เป็นเรื่องธรรมดา
พยายามมองเห็นชัดด้วยสติว่า เวทนาไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สักแต่ว่าความรู้สึก

แม้จะมีทุกขเวทนาทั้งใจทั้งกายก็ตาม
ก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ต้องคิดอะไร
สักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าความรู้สึก สักแต่ว่าจิต
แม้แต่คิดไม่ดีก็ตาม ก็กำหนดว่า สักแต่ว่าคิดชั่ว อกุศลธรรม
ธรรมะก็มีกุศลธรรม อกุศลธรรม อพยากตธรรม
ความคิดไปทางดี ความคิดไปทางชั่ว ความคิดทางกลางๆ

แม้แต่จิตคิดอยู่ เราก็พยายามกำหนดว่า “สักแต่ว่าคิด”
ไม่ให้มีความหมาย ไม่ให้มีตัวตนในความคิด
คือไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่น นั่นแหละ
บางทีก็ห้ามไม่ได้ ก็ธรรมดา
คิดดีบ้าง คิดชั่วบ้าง บางทีก็ห้ามไม่ได้ดอก
ก็กำหนด “สักแต่ว่าคิด” แล้วก็ดับไป ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ถ้ามีสติปัญญา ก็รีบกำหนด..... กำหนดปุ๊บก็ดับ

มีสติมีสัมปชัญญะ เฝ้าดูความคิด ตามดูความคิด
ความคิดเกิดขึ้นมา ปัญญาเกิดพร้อมกัน ความคิดก็ดับ
คิดนิดหน่อยนี่แหละ คิดไม่ดีปุ๊บก็ดับ คิดดีก็ดับ
เกิด ดับ เกิด ดับ ความคิดก็เกิด ดับ เกิด ดับ
ไม่ใช่เกิดแล้วก็ยืดยาว
พอเกิดแล้วก็คิดชั่ว คิดยาว ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ทั้งทางดี ทั้งทางชั่ว
ถ้าเรามีปัญญาดี พอความคิดเกิดขึ้น ให้พิจารณาเห็นว่า

ไม่มีอะไร ไม่ให้มีตัวตน
ถ้าสติปัญญาไว ก็กำหนดเร็ว ไม่ให้เกิดความคิดเลยก็ได้
เราสามารถระงับไว้ก่อน ไม่ให้เกิดเป็นความคิดได้
นี่ถ้าเรามีปัญญา


จ้องดูความคิด..... เหมือนแมวจ้องจับหนู

บางครั้งก็ศึกษาจิตที่คิดก็ได้
บางทีก็กำหนดเฉพาะหน้า พร้อมกับหายใจเข้า หายใจออกก็ได้
บางทีเราก็หยุดไม่หายใจ ปุ๊บ หยุดหายใจ
แล้วก็ดูความคิด ดูว่า ความคิดเกิดขึ้นจากที่ไหน
แล้วก็ค่อยๆ หายใจเป็นปกติ
เมื่อกลั้นหายใจนานๆ ความคิดก็มักจะหายไป
พอเหนื่อยก็ปล่อย หายใจเข้า หายใจออกตามธรรมดา ปกติ
แล้วก็จ้องดูความคิด จ้องดูความคิด
เหมือนสปริงนี่แหละ ดูว่าความคิดสปริงออกมาจากไหน

หายใจเข้า หายใจออก กำหนดดูลมหายใจ
แล้วก็จ้องดูความคิด
จ้องดูเหมือนกับแมวจ้องจับหนู
ถ้าเราสังเกตแมว เวลาแมวจ้องจับหนู มันจะจ้องนิ่ง จ้องอยู่อย่างนั้น
เราก็จ้องดูจิต..... จ้องอยู่อย่างนั้น
ถ้าเราจ้องจริงๆ ความคิดก็หยุด..... สังเกตดูนะ
ยิ่งมีสติ ยิ่งตั้งใจจ้อง ความคิดก็หยุดจริงๆ


บ้าๆ บอๆ เชื่อไม่ได้

การปฏิบัติ เฝ้าดูความคิดก็ดีเหมือนกัน
การดูความคิด บางทีก็เกิดความรู้หลายอย่าง
จ้องดูความคิดเป็นหลายๆ ชั่วโมง
ยืน เดิน นั่ง ยืน เดิน นั่ง ก็จ้องดูแต่ความคิด ก็จะเกิดปัญญา
เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ

เราก็จะเข้าใจว่า ความคิดนี่น่ากลัว
คิดสารพัดอย่าง คิดดี คิดชั่ว คิดอดีต คิดอนาคต คิดนี่ คิดโน่น
เราก็จะเห็นว่า ความคิดนี่บ้าๆ บอๆ จริงๆ
ความคิดของตัวเองนี่ ยิ่งศึกษาก็ยิ่งเชื่อไม่ได้
ความคิดของตัวเองนี่เชื่อไม่ได้จริงๆ

ถ้าเราศึกษาจริงๆ ก็เกิดความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ
ความรู้สึกก็เหมือนกัน ถ้าใจเราสงบแล้วศึกษาความรู้สึก
ก็จะเกิดความรู้สึกว่า เชื่อไม่ได้
ความรู้สึกก็เชื่อไม่ได้
ความคิดของตัวเองก็เชื่อไม่ได้
เรียกว่า ปัญญา หรือ ธรรมะ เกิดขึ้น
ผลคือ ปล่อยวาง นั่นแหละ


หลงใหลในความคิดของตัวเอง

คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เข้าใจตัวเอง
ก็มักจะ หลง หลงในความรู้สึก หลงใหลในความคิดของตัวเอง
มีแต่อารมณ์ยินดี ยินร้าย จิตไม่สงบ
ฟุ้งซ่านไป ทุกข์ไป ปรุงไป อยู่อย่างนั้น เลยเป็นทุกข์มาก
เรียกว่าคนนั้นนั่นแหละจะเป็นคนคิดมาก มีอารมณ์มาก
ไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจธรรมะ ความสงบก็ไม่ค่อยมี
เพราะพอเชื่อตามความรู้สึกของตนเอง มันก็ปรุงไปเรื่อยๆ

ธรรมะ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน
ความคิด ความรู้สึกของตัวเอง ก็ไม่แน่นอน อันนี้เราก็ไม่เห็น
เรามีแต่ถือทิฏฐิมานะ เอาแต่ใจตัวเอง
เราสังเกตดูก็ได้ ความรู้สึกเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่างอาหารก็ได้
อาหารที่อร่อย บางทีก็มีโทษ ที่ไม่มีประโยชน์ก็มีมาก
อาหารที่ไม่อร่อย แต่มีประโยชน์มากก็มีอยู่ แต่ถ้าเราติดอาหาร
แล้วก็กินแต่ของอร่อยๆ ติดรสอร่อยก็เกิดโทษมาก
ประเทศที่เจริญบางทีก็มีโรค เจ็บไข้ป่วยมากขึ้น เพราะเลือกแต่
อาหารที่อร่อยๆ แล้วก็กินไปเรื่อยๆ กินไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดโทษ
ทุกวันนี้มนุษย์ก็เห็นอันนี้ ก็พยายามเลือกอาหาร สิ่งที่ไม่อร่อยก็กิน
สิ่งที่อร่อยชอบมาก บางทีก็งดเสีย พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ความรู้สึกนี่ก็เหมือนกัน ปกติเราก็หลงอยู่อย่างนั้น
หลงคิดว่า สิ่งที่ถูกใจมันดี สิ่งที่ไม่ถูกใจก็ไม่ดี
ถูกใจก็ดี ไม่ถูกใจก็ไม่ดี
นี่ก็เหมือนคนติดในอาหาร หลงอาหาร
ชอบอะไรก็กินไปเรื่อยๆ จนเกิดโทษ สุขภาพไม่ดี

อารมณ์ที่เรารับทางตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ
จะถูกใจ หรือไม่ถูกใจ ก็ต้องตั้งสติ
ถ้าเราปฏิบัติธรรม ก็ต้องใช้ปัญญา
อะไรผิดเราก็สามารถพิจารณาได้..... เหมือนอาหาร
คำพูดต่างๆ สิ่งที่เห็นต่างๆ เรารีบระงับความรู้สึก
ทำใจสงบแล้วจึงคิด ก็จะคิดดีๆ ได้

การฝืนความรู้สึกของตัวเอง ต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง
นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม


ตัณหา

ความรู้สึก ทำให้เกิดตัณหา
เมื่อเราสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
รับอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
เข้ามาทางอายตนะ 6
เกิดความรู้สึก ถูกใจ ไม่ถูกใจ ชอบ ไม่ชอบ
สุขเวทนา ทุกขเวทนา มันก็เกิดตัณหา

ตัณหานี่แหละ พระพุทธเจ้าก็ให้ระวัง
เพราะตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ให้ละอันนี้ ละเหตุ ละตัณหา
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรม ต้องติดตามความรู้สึกตลอด
แล้วก็ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่น

ความรู้สึกเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เอาสติสัมปชัญญะมาระวัง
ถ้าไม่ยึด..... ก็จะ ดับๆ ๆ ๆ ๆ ไม่มีโอกาสที่กิเลสจะตั้งอยู่ได้
หรือว่า เมื่อเกิดความรู้สึกรุนแรงแล้ว
เราก็ต้องมีความพอใจที่จะต่อสู้ความรู้สึกอันนี้

ความรู้สึกไปทางราคะก็มี
ความรู้สึกไปทางโทสะก็มี
ความรู้สึกไปทางโมหะก็มี

เราก็ใช้ปัญญามาพิจารณาดู
การปฏิบัติธรรมก็เพื่อต่อสู้ความรู้สึกอันนี้ เพื่อระงับอันนี้


อุปาทาน-เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน

เมื่อจิตมีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น
เพื่อจะถอนอุปาทาน ต้องพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เพราะฉะนั้นแม้จะเกิดตัณหาก็ตาม เราก็ต้องสังเกตดู
ปกติพอเริ่มเกิดตัณหา เราก็สร้างนิมิตขึ้นมาว่า
“สิ่งนี้” “คนนี้” “อันนี้” แล้วก็เกิด “เรา”
ความคิดก็ปรุงขึ้นมา..... ฉันต้องการอันนี้ ฉันไม่ชอบคนนี้
“ฉัน” ก็เกิด เกิด “ฉัน” เกิด “เรา” ขึ้นมา
ตัณหาก็เกิด เกิดความคิดฟุ้งซ่าน เกิดอุปาทาน

ถ้าเราพอมีสติปัญญาบ้าง ถึงแม้จะเกิดความรู้สึกขนาดไหน
ถ้ากำหนดรู้เท่าทันได้ว่า “สักแต่ว่าความรู้สึก”
สักแต่ว่า “ความรู้สึก” จิตก็ไม่ต้องคิด ก็ไม่ฟุ้งซ่าน
นี่เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

พยายามพิจารณาเวทนา
ถอนความพอใจ ความไม่พอใจ ออกเสีย
พิจารณาให้เห็นว่า เวทนาคือความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ
ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อย่างนี้ก็เรียกว่า คิดถูก ใช้ได้
นี่ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คิดผิด คิดถูก

เราต้องพยายามพิจารณาให้รู้ว่า
คิดอย่างไรเรียกว่า “คิดผิด” คิดอย่างไรเรียกว่า “คิดถูก”

ถ้ามีเรา มีเขา มีสิ่งนี้ สิ่งนั้น เรียกว่าคิดผิด
คิดแล้วจิตไม่สงบก็เรียกว่า คิดผิด
คิดไปตามกิเลสตัณหา เรียกว่า คิดผิด

ปกติจิตก็คิดไปเรื่อยๆ
เมื่อระงับการปรุงแต่งของจิตไม่ได้ ก็ทุกข์
คิดผิด คือ จิตที่คิดมาก มี “เขา” มี “เรา”
เป็นความคิดต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ
คิดตามอำเภอใจ ตามกิเลสตัณหา เช่นนี้ เรียกว่า คิดผิด

ถ้าเรา ตั้งเจตนา คิดที่จะทวนกระแส
คือ ระงับตัณหา เรียกว่า คิดถูก
แม้จะทุกข์อยู่ก็ตาม ทุกข์มากก็ตาม ก็อย่าสนับสนุน
เพื่อจะระงับทุกข์ ระวังอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น
มีหิริ โอตตัปปะ ละอาย กลัว
ไม่คิดไปตามกิเลสตัณหา ทวนกระแสต่อสู้อยู่อย่างนี้
ระงับตัณหา อุปาทาน ระงับความยินร้าย

อันนี้เราก็หมั่นสังเกต
ให้เราปฏิบัติตรงนี้ ปฏิบัติให้ถูก
จิตก็สงบ ไม่ค่อยคิดอะไร ทำใจสงบอย่างเดียว
เห็นอะไร ได้ยินอะไร ที่ไม่ถูกใจ จิตก็ไม่ปรุง
เราสามารถทำใจสงบได้ เพราะไม่ต้องคิดอะไร
อดทน ขัดเกลาความรู้สึก เรียบง่าย


ลมหายใจออก-ลมหายใจเข้า

ครูบาอาจารย์ก็ปฏิบัติอยู่กับลมหายใจทั้งวัน
ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ก็อยู่กับลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ออก-เข้า ออก-เข้า อยู่อย่างนั้น

ถึงแม้เราจะเห็นหลายอย่าง ได้ยินเสียงหลายอย่าง
เรา ก็สามารถอยู่กับลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ในอิริยาบถทั้ง 4 ได้
ช่วงที่ไปบิณฑบาต หรือทำงาน ทำครัวหรือทำอะไรก็ตาม
ถ้าจิตอยู่กับลมหายใจได้ แสดงว่าความรู้สึกก็ไม่รุนแรง

เห็นอะไร ได้ยินอะไร บริกรรมภาวนาได้ อยู่กับลมหายใจได้
เราอยู่กับลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ก็ดูลมออก ลมเข้า อยู่อย่างนั้น
หรือว่าอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราเลือกมา
ถ้าจิตสามารถอยู่กับอารมณ์นั้นได้อย่างต่อเนื่องกัน แสดงว่า

เราก็เห็นอยู่ ได้ยินอยู่ มีประสบการณ์อะไรๆ อยู่
แต่ จิตก็สงบเป็นปกติได้ เรียกว่าอยู่ในศีลได้
จิตเป็นปกติ ความรู้สึกไม่รุนแรง
แม้แต่เราเห็นอะไรสวย หรือน่าเกลียด
หรือได้ยินเสียงไพเราะ หรือไม่ไพเราะก็ตาม
เกิดความรู้สึกนิดหน่อย ก็ไม่ต้องใส่ใจ
เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน

คือลมหายใจออก ลมหายใจเข้าของตนได้
เรียกว่า จิตอยู่ จิตก็ใช้ได้
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ จิตก็เชื่องแล้ว จิตเป็นศีล
พร้อมที่จะเจริญสมาธิ ปัญญาได้ จิตเริ่มเข้ามรรค
เริ่มปฏิบัติถูกแล้ว จิตก็ใช้งานได้
อันนี้ เราก็ต้องตั้งเป้าหมายไว้ เป้าหมายแรกก็จุดนี้
ตั้งแต่นี้ไปก็ค่อยๆ เจริญสมาธิ วิปัสสนา
ก็ทำงานละเอียดขึ้นประณีตขึ้น

เหมือนกับไปโรงเรียน เข้าเรียนประถม 1 แล้วขึ้นประถม 2, 3
และมัธยมต้น ปลาย ต่อไป
อันนี้เราก็ต้องพิจารณา..... โยนิโสมนสิการ
ปฏิบัติให้มันถูก


เป็นนายของตัวเอง อย่าเป็นทาสของความคิด

อย่าไปหลงในความคิดต่างๆ
ความคิดที่เต็มไปด้วยตัณหา อุปาทาน
อย่าเป็นทาสของความคิดของตัวเอง
ถ้าใจไม่สงบ คิดไปตามอำเภอใจตลอด
เราก็เป็นทาสของความคิด

เมื่อทำใจสงบ เมื่อคิดถูกได้ เราก็เป็นนายของตัวเองได้
ถ้าเป็นทาส..... ทาสก็ต้องทุกข์..... เป็นธรรมดา
ถ้าเราเป็นนายของตัวเอง มีศีล และมีจิตสงบเป็นปกติแล้ว
เราก็สามารถใช้ความคิดมาสร้างประโยชน์ได้ต่อไป

จิตของเราสามารถสร้างประโยชน์ได้
การปฏิบัติ เจริญสมถะ วิปัสสนา ของเราก็ก้าวหน้า
ถ้าเราต้องการความสุข ต้องการให้เกิดประโยชน์ในชีวิต
ก็ต้องปฏิบัติเช่นนั้นจน จิตสงบ
สงบเป็นธรรมดานี่แหละ

เมื่อความรู้สึกรุนแรงจริงๆ

ถ้าเราใช้หลักคิดถูกดับทุกข์ได้ หมายถึง ไม่ให้คิดชั่ว
การคิดบ่น คิดบาป เป็นความคิดชั่ว
เราพยายามไม่ให้คิด..... ก็ถูกต้องอยู่
แต่ถ้ากรณีที่เกิดความคิดรุนแรง มีอารมณ์รุนแรงแล้ว
เราหยุดไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไปก่อน
ไม่ต้องพยายามให้หยุดคิดทันที
ถ้าตั้งใจจะไม่ให้คิด ก็จะยิ่งเครียดหนัก
ถ้าเป็นเช่นนี้ เราเพียงแต่มองเห็นว่า “นี่เป็นอารมณ์ เป็นกิเลส”
แล้วก็..... ปล่อย..... ปล่อยให้คิดตามสบายๆ
แต่เราก็ไม่สนับสนุนนะ
เราค่อยๆ ติดตามเฝ้าดู

คล้ายกับว่าโจรเข้ามาในบ้าน เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นโจร
แต่กำลังของเราน้อย สู้เขาไม่ได้
เราต้องค่อยๆ แอบ..... สะกดรอยตามไป
พอถึงที่เหมาะๆ มีคนมากๆ มีตำรวจมากๆ
ก็รีบตะโกนให้เขาช่วยจับ และเราก็เข้าไปในหมู่เพื่อนที่เราปลอดภัย
เราเองไม่ต้องทำอะไร ให้เขาจัดการกับโจรเอง
เราเองก็เข้าไปในหมู่เพื่อนที่เป็นมิตร

การจัดการกับอารมณ์ที่รุนแรง ก็คล้ายกัน
เราแอบตามดูความคิดด้วยใจที่เป็นกลางๆ และสุขุม
ไม่ให้ยินดียินร้าย
รู้อยู่ เห็นอยู่ ว่าคิดอะไร รู้สึกอย่างไร
ให้มีความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า มันเป็นอารมณ์ เป็นกิเลส
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
คล้ายๆ แอบดูนั่นแหละ
ค่อยๆ กำหนดรู้อารมณ์กรรมฐาน เช่น ลมหายใจ
ค่อยๆ จับ ลมหายใจ ให้แน่นขึ้นๆ โดยธรรมชาติ
เมื่อเกิดสติที่จะกำหนดรู้ลมหายใจเมื่อไร
ความไม่สงบมันก็หายไปเอง
ในที่สุดก็ถึงความสงบได้


ถ้าต่อสู้กับตัวเองก็ง่ายนิดเดียว

การต่อสู้กับตัวเองนี้สำคัญมาก
ต้องพยายามพิจารณาจนถึงใจจริงๆ
จนเกิดศรัทธาที่จะต่อสู้ เพื่อเอาชนะตัวเองให้ได้
สังเกตดูก็ได้ จิตของเราทุกวันนี้ต่อสู้กับอะไร
เราต่อสู้กับคนอื่นทั้งนั้น ต่อสู้กับคนนี้คนนั้น
เราก็แบก คนนี้ไม่ดี คนโน้นไม่ดี คิดไปเรื่อยๆ
ต่อสู้กับคนอื่น..... ต้องคิดนี่ คิดโน่น
หาหลักฐาน หาข้อมูลต่างๆ เขาผิดอย่างไร เขาไม่ดีอย่างไร
รวบรวมบันทึกไว้ เขียนไว้เป็นแถว ทำอยู่อย่างนั้น

ถ้าต่อสู้กับตัวเอง ก็ง่ายนิดเดียว ไม่ต้องคิดอะไร
พอเกิดความรู้สึกก็นิ่งเฉยเสีย ง่ายๆ
ทำได้แค่นี้เรียกได้ว่า “เอาชนะใจตัวเองได้”

อันนี้เราก็ต้องพยายามพิจารณา จนเข้าใจ จนเกิดศรัทธา
ศรัทธาในปัจจุบันธรรม
ปัจจุบันธรรมเท่านั้นที่จะให้เกิดประโยชน์ได้
ถ้าเรามัวแต่อยู่กับอดีต อนาคต ชีวิตของเราก็เป็นหมัน ไม่เกิดประโยชน์

ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันได้ ก็หาความสุขได้
ความสุขก็ต้องอาศัยปัจจุบันธรรม

เราปล่อยวางอดีตก่อน แล้วก็ปล่อยวางอนาคต
แล้วในที่สุดก็ปล่อยวางปัจจุบันด้วย
เมื่อนั้นการเจริญสติปัฏฐาน 4 ก็สมบูรณ์

ถ้าเราคิดไปอดีต หรือคิดไปอนาคต ปัจจุบันก็ไม่ปรากฏ
ปัจจุบันไม่ปรากฏก็ไม่รู้ปัจจุบัน
เพื่อที่จะเห็นปัจจุบัน ก็ต้องปล่อยวางอดีต ปล่อยวางอนาคต
แล้วในที่สุดปัจจุบันก็ต้องปล่อย
ในที่สุดก็ปล่อยวางทั้ง อดีต อนาคต และปัจจุบัน
คือไม่ยึดมั่น ถือมั่นใน กาย เวทนา จิต ธรรม
จิตก็อิสระ สงบ

ฝากไว้พิจารณา โยนิโสมนสิการ
พยายามพิจารณา แล้วก็ปฏิบัติให้มันถูก.................. เอวัง

กาลครั้งหนึ่งมีชายหนุ่มคนหนึ่งขุดพบตะเกียงเก่าแก่อันหนึ่งในขณะที่เขากำลังทำสวนอยู่ พอเขาเอามือถูตะเกียง ก็ปรากฏว่ามีควันออกมาจากตะเกียง แล้วกลายเป็นยักษ์ตัวใหญ่ ยักษ์ตนนั้นพูดกับชายหนุ่มว่า “ขอบใจที่ได้ช่วยให้ฉันเป็นอิสระ ฉันจะตอบแทนท่านโดยรับใช้ท่าน ท่านจะใช้อะไรฉันก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อไรที่ท่านหยุดใช้ฉัน ฉันก็จะกินท่าน”
ชายหนุ่มก็ตกลงเพราะเขาเห็นว่าการมีคนรับใช้เป็นเรื่องที่ดี และเขาก็มั่นใจว่า เขาจะใช้ยักษ์ตนนี้ให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลาได้ ดังนั้นเขาจึงตอบตกลง ยักษ์นั้นจึงถามว่า “นายต้องการให้ฉันรับใช้เรื่องใดบ้าง แต่อย่าลืมนะถ้านายหยุดใช้ฉันเมื่อใด ฉันก็จะกินนาย” ชายหนุ่มคนนั้นตอบว่า “ฉันต้องการวังหลังหนึ่งเพื่อฉันจะได้เข้าไปอยู่”

ทันใดนั้นยักษ์ก็เนรมิตวังหลังหนึ่งได้ ชายหนุ่มตกใจเพราะเขานึกว่า ยักษ์คงใช้เวลาสักปีกว่าจะสร้างวังเสร็จ ทีนี้เขาต้องคิดอย่างรวดเร็วว่าจะขอให้ยักษ์ทำอะไรต่อไปดี เขาบอกยักษ์ให้ “สร้างถนนกว้างๆ ไปถึงหน้าวัง” ทันใดนั้นถนนก็ปรากฏอยู่ต่อสายตาเขา “ฉันต้องการสวนล้อมรอบวัง” เขาสั่งต่อไป

ทันทีความต้องการของเขาก็ปรากฏต่อหน้าเขา “ฉันต้องการ.........” เขาก็ขอไปเรื่อยๆ แต่เขาเริ่มต้นวิตกว่าอีกไม่ช้าเขาก็จะขอจนหมดแล้ว และอีกอย่างเขาคงเข้าไปอยู่ในวังอย่างผาสุกไม่ได้ เพราะเขาต้องคอยมานั่งสั่งยักษ์ให้ทำงานตลอดเวลา

ในที่สุดเขาก็คิดหาทางออกได้ เขาขอให้ยักษ์สร้างเสาต้นหนึ่งให้สูงสุด ซึ่งยักษ์ก็เนรมิตให้ทันทีทันใด เขาขอให้ยักษ์ปีนเสาต้นนี้ช้าๆ ไปถึงยอดแล้วให้ปีนลงมาช้าๆ เช่นกัน พอถึงพื้นก็ให้ปีนขึ้นไปบนยอดใหม่อีกครั้ง แล้วให้ปีนขึ้นปีนลงเช่นนี้ตลอดเวลาไม่ให้หยุดเลย

ยักษ์ตนนั้นก็เลยต้องปีนขึ้นปีนลงตลอดเวลาตามคำสั่งของนาย

ชายหนุ่มจึงเริ่มหายใจได้ทั่วท้อง ขณะนี้เขาปลอดภัยแล้ว ชายหนุ่มมีเวลาที่จะเข้าไปอยู่ในวังอย่างมีความสุขตั้งแต่นั้นมา

ยักษ์ตนนี้เปรียบเสมือนความคิดและจิตใจของเรา ถ้าเรารู้จักใช้ความคิดของเราและควบคุมความคิดของเราให้ดี เราจะได้รับผลดีจากความคิดของเรา

ถ้าเราต้องการจะทำอะไรให้ดี ให้ถูกต้อง เราต้องควบคุมจิตใจของเราให้สงบเหมือนกับชายหนุ่มในนิทานที่สามารถควบคุมยักษ์ตนนั้นได้ และสามารถทำให้ความต้องการของเขาลุล่วงสำเร็จได้

ถ้าเราควบคุมความคิดของเราไม่ได้ มันจะสร้างปัญหาให้กับเรา
เราจะเริ่มต้นนั่งคิดว่าจะไปซื้ออะไร จะไปกินอะไรดี หรือจะไปเที่ยว
ไหนดี ฯลฯ ความต้องการจะครอบคลุมจิตใจของเรา ครอบคลุม
อารมณ์ของเรา เราจะหวั่นไหวต่อความโลภ ความโกรธและความอิจฉา
เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นถ้าเราไม่รู้จักควบคุมความคิดของเรา
เช่นเดียวกับยักษ์ตนนั้นที่ข่มขู่ชายหนุ่มตลอดเวลา

เราต้องควบคุมความคิดของเราตลอดเวลา
ชายหนุ่มคนนี้ใช้ให้ยักษ์ปีนขึ้นลงที่เสาสูงต้นนั้น
เราก็สามารถใช้ลมหายใจเข้าออกของเราซึ่งอยู่กับ
เราตลอดเวลานั้นเป็นเสาสูงแทน


*** นิทานเรื่องตะเกียงวิเศษนี้ คัดมาจากหนังสือวิทยาศาสตร์ของการฝึกจิตของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และได้รับอนุญาตจากท่านผู้เป็นเจ้าของหนังสือเรียบร้อยแล้ว


นอนกำหนดลมหายใจ

เราสามารถเริ่มต้น หัดกำหนดลมหายใจเข้าออกได้
ในขณะที่ล้มตัวลงนอน
นอนหงายสบายๆ วางแขนลงข้างลำตัว
ฝ่ามือหงายขึ้นห่างจากกายพอสมควร ประมาณ 1-2 คืบ
นอนเหยียดสบายๆ เหมือนคนตายที่ไม่รับรู้อะไรแล้ว
จากนั้นให้สำรวจร่างกายทั้งหมด โดยเริ่มจากปลายเท้าขึ้นมา
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ไม่ให้มีกล้ามเนื้อส่วนใดเกร็งอยู่เลย
จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าตัวเบาเหมือนสำลี

ทำใจว่างๆ ไม่ต้องคิดเรื่องยุ่งยากวุ่นวายใดๆ ทั้งสิ้น
เวลาหายใจออก-เข้า ให้กำหนดความรู้สึกเหมือนกับว่า
หายใจออกทางเท้า – หายใจเข้าจากทางเท้า
เมื่อหายใจออกให้กวาดเอาความรู้สึกที่ไม่ดี ความเครียด ความกังวล
ความรู้สึกเจ็บป่วน ไม่สบายทั้งกายและทางใจ ออกจากร่างกายให้หมด
โดยหายใจให้ไกลออกไปจากเท้าหลายเมตรก็ได้

เมื่อหายใจเข้า ตั้งสติไว้ที่เท้า ให้ความรู้สึกสะอาด บริสุทธิ์ ผ่านเข้ามา
ทางร่างกาย จนถึงใบหน้าและจมูก
หายใจออกสบายๆ หายใจเข้าสบายๆ
หาจุดสบายๆ เป็นธรรมชาติ นั้นแหละดีและถูกต้อง
หายใจสบายๆ กายก็สบายๆ ใจก็สบายๆ


ยืนกำหนดลมหายใจ

เวลายืนกำหนดเหมือนกัน
หายใจเข้าลึกๆ หน่อยๆ
หายใจออกสบายๆ ปล่อยลมลงไปทางเท้า กระจายไปบนพื้น
หายใจเข้านึกถึงเท้าก่อน ตั้งสติที่เท้าก่อน
หายใจเข้าลึกๆ หน่อย ยืดตัวนิดๆ หายใจออกสบายๆ ทางเท้า
หายใจออกเข้ายาวๆ สัก 3-4 ครั้ง
หลังจากนั้น ก็ปล่อยลมหายใจ สบายๆ พอดีๆ
หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย
แต่นึกถึงเท้าทุกครั้ง คล้ายกับว่าหายใจจากทางเท้า


เดินกำหนดลมหายใจ

เดินก็กำหนดเหมือนกัน
เดินเร็ว เดินธรรมดา เดินช้าๆ หยุดเดิน
มีสติ มีความรู้สึกตัวในการเดิน
ในการเคลื่อนไหว ของเท้า ของขา ของร่างกาย
รับรู้ รับทราบหมดโดยธรรมชาติสบายๆ
แต่ศูนย์กลางของการกำหนดให้อยู่ที่ลมหายใจ
เรามีหน้าที่กำหนดรู้ลมหายใจออก – เข้า ทุกครั้ง
กำหนดเขาๆ เพียงรับรู้ รับทราบ ลมหายใจเท่านั้น


นั่งกำหนดลมหายใจ

นั่งก็กำหนดเหมือนกัน
หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ หายใจออก สบายๆ 3-4 ครั้ง
หลังจากนั้นก็หายใจสบายๆ เป็นธรรมชาติๆ
ไม่ต้องทำนานๆ ก็ได้
ครั้งละ 3 นาที 5 นาที 10..... 30 นาที
แล้วแต่โอกาสและความพอใจ
ไม่ต้องทำนาน แต่ทำบ่อยๆ วันละหลายสิบครั้ง
ทำเหมือนล้างมือ ทำบ่อยๆ ล้างบ่อยๆ

มือเปื้อนเราก็เช็ดมือ เปิดน้ำล้างมือ เรื่อยๆ
กำหนดรู้ลมหายใจออก-เข้า เหมือนล้างมือ
เช็ดใจ ชำระใจ ล้างใจ นั่นแหละ
โดยเฉพาะเมื่อกระทบอารมณ์
ความรู้สึกไม่ดี น้อยใจ เสียใจ หงุดหงิดใจ เป็นต้น

หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิดก่อน..... หันมากำหนดลมหายใจ
หายใจเข้าลึกๆ หน่อยๆ หายใจออกยาวๆ สบายๆ
3-4 นาที หรือจนกว่าจะเกิดความรู้สึกเบา สบาย
เป็นการเช็ดใจ ชำระใจ ล้างใจให้สะอาด นั่นแหละ
ธรรมะหลังปกหนังสือ

ถ้าเราพร้อมที่จะทำลายความชั่วของตัวเอง
เราก็ต้องตั้งใจ... แล้วก็มีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้
ถ้าเราเอาแต่ขี้โกง มักได้
มองข้ามตัวเอง จับผิดคนอื่น แล้วก็บ่นอีก
ก็ไม่มีวันสงบได้ ไม่มีวันพ้นทุกข์ได้
เราก็เสียเวลาอยู่อย่างนั้น
มีแต่ความอยากอยู่อย่างนั้น
มีแต่ความอยาก อยากธรรมะ แต่ปฏิบัติไม่ถูก
ความอยากก็เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น
ก้าว ก็ก้าวไม่ได้ มีแต่หยุดอยู่และถอย
ถ้าเราเข้าใจว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใจเราก็สงบ
ใจที่บ่น นินทา คนนี้ คนนั้นก็หมดไป


Create Date : 03 มิถุนายน 2550
Last Update : 3 มิถุนายน 2550 16:44:04 น. 3 comments
Counter : 488 Pageviews.

 
บล็อกสวยธรรมะดีนะครับ


โดย: P Q BOY วันที่: 3 มิถุนายน 2550 เวลา:17:54:04 น.  

 
อนุโมทนาสาธุด้วยค่ะ จะนำไปปฏิบัติค่ะ


โดย: รัช IP: 203.146.213.83 วันที่: 17 มิถุนายน 2551 เวลา:16:49:16 น.  

 
จะขอคัดลอกต้องทำยังไงครับ
sinjoi@hotmail.com
ขอบคุณครับ


โดย: อสงไขย IP: 118.173.255.206 วันที่: 12 ตุลาคม 2551 เวลา:2:38:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

psak28
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]





คนเราเกิดมาจากเหตุปัจจัยจากกรรมที่เราสร้างขึ้น และด้วยอนุสัยที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตกาล ย่อมมีความสุข และความทุกข์เป็นธรรมดา เราก็แค่เป็นเพียงผู้ดูสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือนการดูละคร ดูแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องไปยึดติดกับมัน เคยสงสัยเหมือนกันว่าคนเราเกิดมาทำไมกัน แล้วทำไมคนเราจึงไม่เหมือนกันเลย ทั้งรูปร่าง หน้าตา กิริยา และการดำเนินชีวิต ที่กล่าวมาล้วนมีกรรมสรรสร้างให้เป็นอย่างนั้น หน้าที่ของเราก็คือ ละเว้นความชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ขาวรอบ


อันนี้ลองดูนะครับ หากใครสนใจหวยหุ้น หวยรัฐบาล นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ ได้มากกว่า ^_^



อันนี้น่าสนใจดีครับ จุ๊บลมยางที่สามารถบอกเราได้ว่าลมยางตอนนี้เป็นเท่าไหร่ และเตือนเราในกรณีลมยางอ่อนได้ ลองดูกันนะครับ




: Users Online

Friends' blogs
[Add psak28's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.