สายตาจับจ้องที่ดวงดาว และเท้ายังคงติดดิน (Keep your eyes on the stars, and your feet on the ground.)
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
26 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 

“นกแลก็คือนกแก้ว เสียงแจ้วๆ เป็นหยังใดกา...”




“นกแลก็คือนกแก้ว เสียงแจ้วๆ เป็นหยังใดกา...”

เชื่อว่าคนหนุ่มสาวที่เกิดในช่วง พ.ศ.2518-2527 คงจะคุ้นเคยและเติบโตมากับเสียงเพลงใสๆ ของวงดนตรีเด็กนาม ‘นกแล’ มาบ้างไม่มากก็น้อย

ภาพของกลุ่มเด็กชายหญิงนับสิบคน ในชุดชาวเขาเผ่าม้งยังติดตาตรึงใจอยู่ในห้วงความทรงจำของใครหลายคนจนบัดนี้ ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลงฮิตในวันวานสมัยยังเด็ก ก็เรียกรอยยิ้มให้ปรากฏขึ้นอยู่เสมอ

ภาพยนตร์ ‘แฟนฉัน’ ที่เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2528 ผู้กำกับทั้ง 6 คน ได้เลือกใช้เพลง ‘คอนเสิร์ตคนจน’ ของวงนกแล ให้กลุ่มแก๊งตัวละครเด็กๆ ผู้ชายจอมแสบ ที่มีหัวโจกอย่างเจ้าแจ๊ค หรือพริกที่เกิดมาเพื่อร้องเพลง รวมทั้งมาโนช, เจี๊ยบ ฯลฯ ได้ใช้เป็นเพลงประจำกลุ่ม ขณะตะโกนร้องเพลงไปปั่นจักรยานไป

“โอ๊..เย โอ๊เย โอ๊โอ๊เย โอ๊เย โอ๊เย โอ๊โอ๊เย
โอ๊เย โอ๊เย โอ๊โอ๊เย โอ๊เย โอ๊เย... ต้นข้าวมาเป็นคนดู มีปูมาสังเกตการณ์ ลำโพงเขาคือต้นตาล ลำโพงเขาคือต้นตาล เสียงหวานเหลือเกิน คันนานั้นคือเวที เวทีก็คือคันนา ก้านกล้วยมาเป็นกีตาร์ ก้านกล้วยมาเป็นกีตาร์ เอาไม้ฟืนมาเป็นไมโครโฟน”

วันนี้... วงดนตรีเด็กชื่อดังในอดีตยังคงอยู่ ไม่ได้สูญหายไปตามกระแสกาลเวลา แต่ทว่า ความนิยมในชื่อ ‘นกแล’ กลับจืดจางลง เด็กรุ่นใหม่ไม่กี่คนที่จะรู้จักบทเพลงน่ารัก บริสุทธิ์ตามวัย เช่นที่คนรุ่นก่อนหน้านี้เคยสัมผัสมาในอดีต

บทเพลงที่คิดถึง

26 ปีที่แล้ว ครูประชาบาลคนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้จุดประกายความคิดก่อตั้งวงดนตรีเด็กวงแรกในโรงเรียนขึ้น หลังจากได้เห็นเด็กๆ ชาวเขาในชุดประจำเผ่า หน้าตามอมแมม แก้มถูกลมหนาวบ่มจนเป็นสีแดงปลั่ง พร้อมน้ำมูกเกรอะกรัง เร่ถือกรงนกแก้วที่พวกเขาเรียกว่า ‘นกแล’ ตระเวนขายในเมืองเชียงใหม่

ในตอนนั้น เขาไม่ได้คาดฝันเลยว่า วงดนตรีเด็กนามว่า ‘นกแล’ จะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา

“นกแลก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2523-2524 ก่อตั้งเริ่มต้นจากการคัดเด็กมาเป็นนักดนตรีวงดุริยางค์ เด็กทุกคนจะเริ่มจากวงดุริยางค์ คัดเอาคนที่สนใจและมีความกระตือรือร้นอยากเล่นดนตรี คัดมาสักประมาณ 20 คนจาก 100 กว่าคน เพื่อจะส่งเสริมเรื่องของดนตรีสากลและดนตรีพื้นบ้าน” อาจารย์สมเกียรติ สุยะราช อดีตอาจารย์ผู้สอนโรงเรียนพุทธิโสภณ จ.เชียงใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งวงนกแล กล่าวย้อนถึงความเป็นมาให้ฟัง

“สมัยเริ่มต้นนกแลนี่เราตั้งวงโฟล์คซองเล็กๆ มีกีต้าร์ตัวหนึ่ง มีบองโก้ ใช้ขลุ่ย ใช้เมโลเดียน ใช้เครื่องดนตรีของวงดุริยางค์มาเล่น พอตอนหลังเด็กพัฒนาฝีมือดีขึ้น ก็มีหน่วยงานมาขอให้ไปเล่นในงานการกุศล เพราะว่าสมัยนั้นเพลงของจรัล มโนเพชร เป็นเพลงที่คนค่อนข้างรู้จัก ผมก็เอาเพลงของคุณจรัลมาบรรเลง”

จากความประทับใจในใบหน้าไร้เดียงสาของเด็กๆ เผ่าม้ง อาจารย์สมเกียรติจึงจับเอกลักษณ์ดังกล่าวมาตั้งชื่อเป็นวงนกแล และให้เด็กๆ ในวงแต่งกายในชุดเผ่าม้งขึ้นแสดงดนตรีบนเวที

“ปี 2526 เราก็เริ่มตั้งวงสตริง หาเครื่องดนตรีมาให้เด็ก เอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของวงนกแลก็คือ เล่นดนตรีเอง เมื่อก่อนเด็กเล่นดนตรีก็แบบเด็กๆ เล่น แต่พอนกแลเล่นดนตรีนี่เหมือนผู้ใหญ่เล่น ค่อนข้างจะฟิตเรื่องฝีมือ พี่เต๋อ เรวัติมาเห็นก็เริ่มชักนำเข้าสู่วงการ”

เวทีใหญ่ เวทีแรกของวงนกแล คือ เวทีคอนเสิร์ตโลกดนตรี ที่มีอดีตพิธีกรผู้ล่วงลับ เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ เป็นโฆษก

“ตอนนั้นนกแลยังไม่ได้สังกัดบริษัทไหนเลย แต่แสดงคอนเสิร์ตโลกดนตรีติดต่อกัน 3 ครั้งในเวลาหนึ่งเดือน ความเป็นมาก่อนที่จะได้มาเล่นคอนเสิร์ตโลกดนตรี คือตอนนั้นมีทีวีช่อง 5 เป็นทีวีส่วนภูมิภาคช่องแรกที่มาเปิดที่เชียงใหม่ เราก็เป็นวงดนตรีวงแรกที่เป็นวงเด็กที่ได้เข้าไปเล่นกับผู้ใหญ่ ซึ่งสมัยนั้นเขาเอาแต่ผู้ใหญ่ไปเล่น สาเหตุที่บังเอิญทำให้เราเป็นที่รู้จัก เพราะวันที่เปิดช่อง 5 วันนั้นมีวงดนตรีหลายๆ วงขึ้นไปเล่น แล้วก็เหลือวงดนตรีนกแลอยู่วงเดียวที่ยังไม่ได้เล่น และเวลาก็จะหมดแล้ว เขามีเวลาให้เราประมาณสัก 3 หรือ 4 นาทีเอง เขาบอกไหวไหมทันไหม ผมบอกทัน เพลงเดียวก็ทัน เด็กก็ขึ้นไปเล่น ผลปรากฏว่าเวลานั้นเขากำลังรอดูเขาทรายกำลังจะชิงแชมป์โลกครั้งแรก คนเขาก็เลยเปิดมาดูเรา เป็นเหตุบังเอิญ จากนั้นทางประชาชนก็เขียนจดหมายมาขอว่าอยากจะดูวงนี้ เรียกว่าได้อานิสงส์จากเขาทราย เพราะฉะนั้น บอกได้เลยว่าวงนกแลดังพร้อมกับเขาทราย” อาจารย์สมเกียรติเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ในยุคนั้น เด็กๆ แต่งกายชุดชาวเขายังดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับสังคมเมือง วงนกแลเองก็ถูกมองอย่างสงสัยว่า ภาพที่เห็นกับฝีมือในการเล่นจะเป็นอย่างไร

“หลังจากวันนั้นทางผู้บริหารช่อง 5 ก็เลยขอเราไปเล่นในงานวันเด็กที่สวนลุม ประกบกับสาว สาว สาว ในขณะที่เรารอแสดง ผมก็อยู่กับเด็กข้างล่าง ไม่มีใครสนใจ วิ่งเดินข้ามไปข้ามมา เขาก็สงสัยว่า เอ๊...เด็กชาวเขาที่ไหนมาทำอะไรแถวนี้ ตัวเล็กนิดเดียว พอหลังจากสาว สาว สาวลงปุ๊บ ผมก็ให้สุวิทย์มือกลองขึ้นตีกลอง พอกลองมันดังเขาก็สงสัยว่าเอ๊ะ กลองมันดังได้ยังไง ไม่เห็นคนตี ทีมงานเขาก็วิ่งมาดูถึงเห็นว่า อ๋อ มีคนตี พอดนตรีขึ้นปุ๊บเด็กก็ขึ้นไปเต้น แล้วเพลงหนุ่มดอยเต่าก็ขึ้นมา เขาก็ถ่ายทอดสดพอดีเลย ผมว่าวันนั้นคนทั่วประเทศตาจ้องอยู่ที่วงนกแลอย่างเดียวเลย เพราะสมัยนั้นเจ็ดสีคอนเสิร์ตยังไม่มี มีแต่โลกดนตรีของคุณเสกสรรค์ที่เพิ่งเสียไป ซึ่งถือว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ช่วยให้เรามีชื่อเสียง”

ด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลา ทำให้ในวันนั้นวงนกแลมีโอกาสแสดงคอนเสิร์ตโลกดนตรีเพียง 3 เพลง เมื่อกลับจากกรุงเทพฯ มาถึงเชียงใหม่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ อาจารย์สมเกียรติก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่อให้นำวงดนตรีนกแลไปเล่นแบบเต็มๆ วงที่ช่อง 5 สนามเป้า และวันนั้นเองที่ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี่อย่าง เรวัติ พุฒินันท์ ก็ได้มีโอกาสชมการแสดง จึงนำมาสู่การทำเทปอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี พ.ศ.2528 อัลบั้มชุดแรกของวงนกแล ‘หนุ่มดอยเต่า’ ก็วางแผง และสร้างปรากฏการณ์กลายเป็นเพลงฮิตไปทั่วประเทศ

ด้วยเสียงร้องกวนๆ ของทินกร ศรีวิชัย เจ้าของเพลงไอ้หนุ่มดอยเต่า หรือ ความน่ารักสดใสของ ‘ตุ๊ดตู่’ ในเพลง ‘อย่าลืมน้องสาว’ ทำให้ชื่อของนกแล กลายเป็นเอกลักษณ์ของวงดนตรีเด็กมากความสามารถที่สะกดคนดูได้ทุกเวที

“ผมไม่ได้เซ็นสัญญากับพี่เต๋อ เราใช้สัญญาลูกผู้ชาย สาเหตุที่ไม่เซ็นสัญญาก็เพราะว่า เราไม่อยากทำเป็นธุรกิจกับใคร เราทำเป็นวงดนตรี คุณจะให้ผมเท่าไหร่ก็เอา คุณไม่ให้ผมก็ไม่เป็นไร หนึ่ง ผมถือว่าเด็กทุกคนกำลังเป็นเด็กวัยเรียน กำลังจะก้าวเข้าสู่อนาคตในการเรียน ผมจะไม่ให้เด็กถือว่าตัวเองเป็นดารา เป็นศิลปิน เพราะฉะนั้น เด็กทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งตามที่เขาให้มาเป็นส่วนให้เท่าๆ กัน” สิ่งหนึ่งที่อาจารย์สมเกียรติไม่เห็นด้วยก็คือ การแต่งหน้าทำผม หรือประดิดประดอยรูปโฉมแก่เด็กเกินไปจนไม่เป็นธรรมชาติ

“ผมพูดกับพี่เต๋ออยู่คำหนึ่งว่า พี่ทำวงดนตรีของผม ผมขออย่างหนึ่งได้ไหมว่า พี่จะต้องเอาแนวเพลงของผมทุกอย่าง โดยที่ไม่ดัดแปลงเป็นอิเล็กทรอนิกส์หรืออะไรเลย ผมเล่นมายังไงผมจะอัดมาให้พี่ไปฟัง ขอให้พี่เอาไปทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เพลงของนกแลชุดแรกหนุ่มดอยเต่า ที่ดังก็เพราะเด็กเล่นจริงๆ ฝีไม้ลายมือในการแสดงนกแลไม่มีลิปซิงค์ เล่นสดๆ กัน พี่เอก็โอเค ก็ทำเพลงออกมาเป็นภาษาของเด็กๆ ภาษามันก็แปลก เป็นเรื่องใหม่รองมาจากภาษาสุพรรณ คือภาษาหนุ่มดอยเต่า ก็เลยเป็นเพลงที่ติดตลาด”

ช่วงนั้น วงนกแลได้รับรางวัลทางดนตรีมากมาย ยอดขายติดอันดับหนึ่งของประเทศ แต่อาจารย์สมเกียรติบอกว่าพวกเขาไม่ได้หลงระเริงไปกับชื่อเสียงที่ได้รับ แต่พยายามตั้งใจทำงานดนตรีไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง วงนกแลได้รับเชิญไปแสดงในต่างประเทศ ทั้งที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

“ที่จริงเด็กของผมไม่ใช่เด็กเผ่าม้ง เป็นเด็กพื้นบ้าน แต่ที่แต่งชุดม้งเป็นสัญลักษณ์ก็เพราะอยากให้คนรู้ว่านี่เป็นเด็กเหนือ เคยให้เด็กใส่เสื้อม่อฮ่อม ใส่ผ้าถุงขึ้นเวทีแต่ภาพมันไม่สวย ถ่ายทีวีออกมาแล้วดูธรรมดา แต่พอใส่ชุดม้งแล้วดูมีสีสัน ผมมีข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่งคือจะไม่แต่งหน้าเด็ก จะไม่เสริมเติมแต่งอะไรให้เด็ก ก็คือชุดเขาเด่นอยู่แล้ว หน้าตาคือสิ่งที่บริสุทธิ์ สาเหตุที่ผมเลือกชุดนี้ก็เพราะว่า เวลาที่ไปเล่นที่ไหน เราไม่ต้องไปหาชุดอีกแล้ว นี่คือออริจินัลของวงนกแล ทุกวันนี้เราก็ยังใส่ชุดนี้อยู่ ร้องเพลงคำเมืองอยู่ ชุดเราซื้อมาปีเดียวเราใช้ถึง 4-5 รุ่นเลย ชุดบางชุดน้องยังใช้ถึงปัจจุบันนี้ 26 ปี เสื้อบางตัวน้องยังใช้ได้อยู่ เพราะฉะนั้นถึงบอกว่า เด็กรุ่นใหม่ที่จะมาแทนนกแล เขามีความหวังที่จะได้ใส่เสื้อของพี่ ถือว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดถ้าวันนั้นเขาได้ใส่เสื้อของพี่ตุ๊ดตู่ ของพี่ทินกร” ซึ่งอาจารย์สมเกียรติได้จับจุดนี้มาฝึกสอนให้สมาชิกนกแลรุ่นใหม่ๆ ดำเนินรอยตามนกแลรุ่นพี่ ที่เติบโตกลายเป็นนกหนุ่มสาวกันหมดแล้ว

นกแลคืนรัง

ทุกๆ ปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สมาชิกนกแลตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน จะมารวมตัวกันที่จ.เชียงใหม่ เพื่อรดน้ำดำหัวแก่อาจารย์สมเกียรติ ครูผู้เป็นทั้งอาจารย์และพ่อของพวกเขา

กว่า 15 รุ่นที่สมาชิกวงนกแลหมุนเวียนเข้าออกผลัดเปลี่ยนกันไป ก่อนแยกย้ายกันไปตามวิถีทางชีวิตของแต่ละคน แต่ทว่า เมื่อมีโอกาส ทุกคนก็ยังไม่ลืมวงดนตรีเด็กที่พวกเขาเคยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในอดีต

ทินกร ศรีวิชัย เจ้าของบทเพลงฮิตอย่าง ‘หนุ่มดอยเต่า’ สมาชิกวงนกแลรุ่นที่ 4 ที่กลายเป็นต้นแบบของน้องๆ นกแลปีกอ่อนรุ่นหลังที่หวังยึดเขาเป็นแบบอย่าง ในวันนี้ เติบโตเป็นชายหนุ่มที่มีหน้าที่การงานรับผิดชอบ หากใครเคยไปเที่ยวถนนคนเดิน จ.เชียงใหม่ อาจเคยเห็นเครื่องปั้นดินเผ่าจำหน่ายจากหมู่บ้านป่าตาล อ.หางดง ที่ส่งขายทั่วเชียงใหม่ นั่นล่ะ... คือฝีมือของเขาเอง

“ผมเข้าเป็นสมาชิกวงนกแลในปี 2525 เมื่อก่อนอยู่โรงเรียนพุฒิโสภณ อาจารย์สมเกียรติเป็นอาจารย์สอนพลศึกษา ทำวงดุริยางค์ นกแลทุกคนต้องเล่นวงดุริยางค์มาก่อน ผมก็ตีฉาบ” ทินกรบอกเล่า “พอรุ่นพี่เก่าจบออกไป อาจารย์เห็นแววก็เลยให้ผมลองมาเป็นนักร้องนำ ตอนนั้นเพิ่ง 9-10 ขวบเห็นจะได้ เราเป็นเด็กๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่ดีใจที่ได้ร้องเพลง”

ช่วงปิดเทอม ทินกรกับสมาชิกในวงจะตระเวนเล่นคอนเสิร์ตทั่วประเทศ ยิ่งเมื่อตอนที่อัลบั้มหนุ่มดอยเต่าฮิตมากๆ นั้น ทินกรเคยขึ้นร้องเพลงนี้ติดต่อกันรวดเดียวถึงวันละ 3 ครั้งทีเดียว จนเมื่อพ.ศ.2532 ทินกรเรียนจบต้องไปเรียนต่อที่อื่น อีกทั้งน้ำเสียงที่เริ่มแตกหนุ่ม ทำให้เขาจึงจำต้องออกจากวง แต่กระนั้น ประสบการณ์ในช่วงเวลากว่า 7 ปีที่อยู่กับวงนกแลมา ก็ประทับอยู่ในใจไม่รู้ลืม

“วงนกแลให้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีหลายๆ อย่าง ทั้งการใช้ชีวิตร่วมกันกับสมาชิกในวงที่อยู่กันอย่างพี่น้อง เป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ถ้าหากผมไม่ได้มีโอกาสเล่นดนตรีกับวงนกแล ชีวิตผมก็อาจไม่เป็นเหมือนอย่างทุกวันนี้”

ไม่เพียงแค่ทินกรเท่านั้น อดีตสมาชิกวงนกแลอีกหลายคน ก็ต่างเดินบนเส้นทางชีวิตหลังลงจากเวทีอย่างสวยงาม ทั้ง สมาชิกรุ่นแรกอย่าง ‘หนุ่ม’ ปรัชญา ปัญจปัญญา มือคีย์บอร์ดที่ปัจจุบันเป็นซาวด์เอนจิเนียอยู่ที่อเมริกา, ‘ตุ๊ดตู่’ นักร้องสาวเจ้าน้ำตาทำงานอยู่ที่ไนท์ซาฟารี, ‘น้อย’ นักร้องนำรุ่นหนึ่ง หันไปเปิดโรงเรียนอนุบาลในเชียงใหม่ หรืออดีตโฆษกตัวน้อยของวงอย่าง ‘ตุ๊กตา’ ที่เปิดโรงงานส่งออกเซรามิกอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นต้น

ม่อนนกแล

‘ม่อนนกแล’ คือชื่อค่ายดนตรีที่เปิดพื้นที่ไร่บนดอยขนาดกว่า 20 ไร่ ณ อำเภอแม่แตงที่อาจารย์สมเกียรติตั้งใจเป็นสถานที่ให้เด็กๆ มาเรียนรู้ กินนอนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์เพื่อฝึกเล่นดนตรี รวมทั้งหัดใช้ชีวิตตามรอยพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เช่นรู้จักการทำนาปลูกข้าว เช่นดังบทเพลงการใช้ชีวิตในชนบทของวงนกแล โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพียงหวังว่าสักวันหนึ่ง นกแลรุ่นต่อไปอย่างรุ่นที่ 16 ที่กำลังทำอัลบั้มจะมีโอกาสออกแสดงคอนเสิร์ตในต่างแดนตามรอยรุ่นพี่นกแลรุ่นก่อน

“มันเป็นประสบการณ์ที่เปิดโอกาสให้เด็กไปเรียนรู้นอกสถานที่ ทุกวันนี้ระบบการศึกษาไทยมันขีดจำกัดให้เด็กอยู่แต่ในห้องแคบๆ เล็กๆ สี่เหลี่ยม ฉะนั้น ผมถือว่าผมเป็นกลุ่มแรกๆ ที่พาเด็กออกไปข้างนอกสถานที่ได้ มันเป็นผลดีกับตัวเด็กแต่ไม่ดีกับผมเอง คือ ผมทำงานเกี่ยวกับนกแล ผมไม่เคยมีความดีความชอบเกี่ยวกับราชการเลย ผมทำวงนกแลถึงระดับชาติระดับโลก แต่วงราชการไทยกลับมองไม่เห็น กลับเป็นผลเหมือนกับว่าเราเอาเด็กไปทำมาหากิน โดนมองไปในแง่นั้น โดนแป๊กขั้นเอย เงินเดือนไม่ขึ้น ไม่ได้สองขั้นเอย ทุกวันนี้ผมไม่สนใจเรื่องนั้น สิ่งที่ผมทำในวันนี้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่เห็นผลในวันนี้หรือตอนที่ผมยังมีชีวิตอยู่ แต่วันไหนที่ผมมีแต่ชื่อหรือวันที่ผมตายไป อาจจะเห็นว่าสิ่งที่ผมทำทำให้คนได้รู้จักภาษา ประเพณีวัฒนธรรมของคนเหนือ คือความน่ารักของเด็กไม่มีการเสแสร้ง ไม่มีการแต่งหน้าแต่งตัว สอนให้เด็กแก่แดดเวลาแสดงอยู่ต่อหน้าเวที อันนั้นคือสิ่งที่เขาควรจะยอมรับว่า เด็กควรจะยังเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา”

“ดนตรีปฐมวัยคือความบริสุทธิ์” อาจารย์สมเกียรติสรุป

“ผมเคยถูกแอนตี้จากคนรอบข้าง คนในครอบครัว และผู้ใหญ่บอกว่า ใครที่ไปเป็นนักร้องหรือนักดนตรีเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน คุณจะจนตลอดชีวิต ผมบอกไม่มีทาง ชีวิตนี้ถ้าคุณขาดเรื่องดนตรี คุณไม่มีสมาธิ คุณจะทำงานอะไรไม่สำเร็จ ผมจะสอนเด็กอย่างนี้เลย สอง ชีวิตที่ทำด้วยฝีมือและเป็นสิ่งที่เรารัก อาชีพนั้น ชีวิตนั้นจะประสบความสำเร็จ เด็กๆ นกแลหลายคนก็ไปอยู่อเมริกาทำงานด้านดนตรีก็ประสบความสำเร็จ บางคนมีห้องบันทึกเสียงเป็นของตัวเอง มีวงดนตรีเป็นของตัวเอง บางคนก็ทำห้องอาหารประสบความสำเร็จ คนข้างนอกเขาอาจจะมองไม่เห็น แต่คนที่อยู่ใกล้ตัวตัวผมจะมองเห็น”

26 ปีที่ผ่านมา นกแลสร้างความสุขและรอยยิ้มให้แก่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มามากมาย พ.ศ.2550 อาจารย์สมเกียรติยืนยันว่า จะยังคงตั้งใจฝึกสมาชิกนักดนตรีวงนกแลรุ่นใหม่ต่อไปโดยไม่ย่อท้อ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จักดนตรีที่บริสุทธิ์ มีเนื้อหาน่ารักสมวัยเฉกเช่นที่ผู้ใหญ่หลายคนเคยรับฟังมาก่อน
***********************

นักร้องนำวงนกแลรุ่นที่ 14 แบบอย่างเด็กดีตามรอยพ่อ

ไม่เพียงนกแลรุ่นพี่ที่สร้างชื่อเสียง นกปีกอ่อนรุ่นน้องอย่าง ‘ติ๊บ ณ ดอยเต่า’ แห่งวงนกแล ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 เด็กดี...ตามรอยพ่อ กิจกรรมในโครงการ “คนดี คิดดี สังคมดี ปีที่ 2” ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เพราะความเป็นคนดี คิดดี ทำดี ให้กับเยาวชนชาวไทย

ด้วยวัยเพียง 10 ขวบ ติ๊บ หรือ ดช.ณัฐนันท์ จันทบุญ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนพุทธิโศภณ จ.เชียงใหม่ ต้องรับผิดชอบช่วยครอบครัวขายน้ำปั่น ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองใช้เวลาว่างทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม คือสมัครเป็นนักร้องนำวงนกแล ออกอัลบั้มเพลงรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด นับเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อสังคม จึงได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็น 1 ใน 10 เด็กดี...ตามรอยพ่อ

ติ๊บตื่นนอนตั้งแต่ตีห้าทุกวันเพื่อช่วยแม่ล้างส้ม และทำน้ำปั่นไปขายที่โรงเรียนธรรมราช ในวัดพระสิงห์ ก่อนไปโรงเรียนและหลังเลือกเรียนติ๊บจะมาช่วยพ่อแม่ขายน้ำผลไม้ปั่น ด้วยเหตุที่พ่อร่างกายไม่แข็งแรง เพราะประสบอุบัติเหตุหลายเดือนก่อนำให้พ่อไม่สามารถขี่รถไปขายน้ำปั่นได้เหมือนเดิม แต่ก็ยังขายน้ำปั่นอยู่เช่นเคยโดยมีแม่เป็นคนขี่รถให้ ติ๊บบอกว่าพ่อจะคอยสอนเสมอว่า ไม่ว่าจะทำการใดๆ อย่าละทิ้งความพยายาม ตัวอย่างที่ติ๊บเห็นคือพ่อไม่เคยท้อ แม้สภาพร่างกายจะไม่สมบูรณ์ เมื่อเขาเห็นพ่อเหนื่อย เขาจึงอยากช่วยด้วยความเต็มใจ ทั้งที่ใจก็อยากเอาเวลาไปเล่นกับเพื่อนๆ เหมือนเด็กรุ่นเดียวกันคนอื่นๆ

นอกจากนั้นพ่อยังสอนให้ติ๊บรู้จักประหยัด อดออม รู้ค่าของเงิน โดยพ่อจะให้ติ๊บวันละ 5 บาท เพื่อเป็นค่าแรงที่ไปช่วยขายของ นอกเหนือจากเงินที่พ่อให้ไปโรงเรียนทุกวันวันละ 10 บาท และเงินที่ได้มารวมกับเงินที่เหลือจากไปโรงเรียน ติ๊บจะเก็บมาหยอดกระปุก แม้จะเป็นเงินน้อยนิด ติ๊บก็คิดว่าเงินจำนวนนี้จะช่วยครอบครัวปลดหนี้ได้

มีเพียงวันศุกร์หลังเลิกเรียนและเสาร์ – อาทิตย์ เท่านั้นที่ติ๊บจะได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ นั่นคือการไปซ้อมร้องเพลงและเล่นดนตรีที่ม่อนนกแลของครูสมเกียรติ สุยะราช ครูผู้ฝึกสอนนกแล ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เบื้องหลังที่ทำให้วงนกแลและเพลง “ไอ้หนุ่มดอยเต่า” ดังทั่วประเทศไทย เมื่อ 20 กว่าปีก่อน วันนี้ติ๊บเป็นนักร้องนำวงนกแลรุ่นที่ 14 ได้ออกอัลบั้มเพลงร่วมกับเพื่อนๆ ในวงอีก 9 คน หลายคนอาจยังไม่รู้ว่านอกจากนกแลที่เรารู้จักกันในอดีต ยังมีนกแลอีกหลายรุ่นที่สืบทอดเจตนารมณ์ของครูสมเกียรติ ในการนำโครงการดนตรีเพื่อเยาวชน เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมทางดนตรีพื้นบ้าน เพื่อให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีประโยชน์เพื่อห่างไกลยาเสพติด และออกทัวร์คอนเสิร์ตในที่ต่างๆ โดยเงินทั้งหมดที่ได้รับไปให้แม่เพื่อให้ครอบครัวใช้ปลดหนี้


*************************************************************




ประวัติวงนกแล จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เว็บไซต์ //monnoklae.com/

นกแล เป็นวงดนตรีสัญชาติไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 เจ้าของเพลง ‘หนุ่มดอยเต่า’ ที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากในปี พ.ศ. 2528

ประวัติ

วงนกแล มี อาจารย์สมเกียรติ สุยะราช อดีตอาจารย์ผู้สอนโรงเรียนพุทธิโสภณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ควบคุมวง โดยเริ่มต้นจากการคัดเด็กมาเป็นนักดนตรีวงดุริยางค์ และให้เด็กๆ แต่งกายชุดชาวเขา

ปี พ.ศ. 2526 นกแลเริ่มตั้งเป็นวงสตริง โดยหาเครื่องดนตรีมาให้เด็กๆ เล่นดนตรีกันเอง จนเริ่มเข้าตาแมวมอง และได้ขึ้นเวทีใหญ่แห่งแรก คือ รายการ 'โลกดนตรี' ที่มี เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ เป็นโฆษก แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลา ทำให้วงมีโอกาสแสดงเพียง 3 เพลง
เมื่อกลับจากกรุงเทพฯ มาถึงเชียงใหม่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ อาจารย์สมเกียรติก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่อให้นำวงดนตรีนกแลไปเล่นแบบเต็มวงที่ลานโลกดนตรีช่อง 5 สนามเป้า และวันนั้นเองที่ เรวัต พุทธินันทน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี่ ได้มีโอกาสชมการแสดง จึงนำมาสู่การทำอัลบั้มเพลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 โดยใช้ชื่อชุด ‘หนุ่มดอยเต่า’ จนสร้างปรากฏการณ์กลายเป็นเพลงฮิตไปทั่วประเทศ

นกแลมีอัลบั้มเพลงกับแกรมมี่จำนวน 5 ชุด คือ หนุ่มดอยเต่า (2528), อุ๊ย (2529), สิบล้อมาแล้ว (2530), ช้าง (2531) และ ทิงนองนอย (2532) ด้วยเสียงร้องกวนๆ ของทินกร ศรีวิชัย เจ้าของเพลง หนุ่มดอยเต่า หรือความน่ารักสดใสของ ‘ตุ๊ดตู่’ ในเพลง ‘อย่าลืมน้องสาว’ กับการเล่นดนตรีของสมาชิกทั้งหมดซึ่งอยู่ในวัยเด็ก ทำให้ชื่อของนกแล กลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของวง

ภาพยนตร์เรื่อง ‘แฟนฉัน’ (2546) ที่มีเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2528 โดยผู้กำกับทั้ง 6 คน ได้เลือกใช้เพลง ‘คอนเสิร์ตคนจน’ ของวงนกแล มาประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

สมาชิกวงนกแล มีมาแล้ว 15 รุ่น หมุนเวียนเข้าออกผลัดเปลี่ยนกันไป
สมาชิกวงในยุคแกรมมี่ (2528-2533)

ครูสมเกียรติ สุยะราช : ควบคุมวง, กีตาร์
นพดล สุยะราช (แจ๊ด): กีตาร์
สุวิทย์ ไชยช่วย (หนึ่ง 1): กลอง, ร้องนำ
ปรัชญา ปัญจปัญญา (หนุ่ม 1): คีย์บอร์ด, ร้องนำ
โสฬส สุขเจริญ : กีตาร์
ทิพย์พร นามปวน (นก): เบส
ทินกร ศรีวิชัย (ยัน): บองโก้, ร้องนำ
อุดร ตาสุรินทร์ (ดร): กลอง, ทอมบ้า
ศิริลักษณ์ จุมปามณีวร (น้อย): ร้องนำ, จังหวะ
ดาราภรณ์ ศรีวิชัย (หนึ่ง 2): ร้องนำ, จังหวะ
แพรวพราว ไชยทิพย์ (ตุ๊กตา): จังหวะ
อภิชาติ ขันแข็ง (เอ): ร้องนำ
ศรัญญา อุปพันธ์ (ตุ๊ดตู่): ร้องนำ
สุพรรณิการ์ เขธาปริญญา (กุ๊กไก่): ร้องนำ


-นกแล เป็นภาษาถิ่นเหนือ แปลว่า นกแก้ว ตั้งชื่อวงเป็นทางการโดย จรัล มโนเพ็ชร
-นกแลคืนรัง 26 ปี แห่งความหลัง (ครั้งเรายังเด็ก) โดย ผู้จัดการรายวัน 8 กรกฎาคม 2550 -นกแล โครงการดนตรีเพื่อเยาวชน
-“นกแล” สร้างตำนานวงดนตรีเยาวชนไทย 30 ปี

ที่มา //www.manager.co.th
https://www.youtube.com
//th.wikipedia.org/wiki




 

Create Date : 26 พฤษภาคม 2555
1 comments
Last Update : 26 พฤษภาคม 2555 16:25:32 น.
Counter : 4428 Pageviews.

 

คุณตุ๊ดตู่สบายหรือเปล่าครับ ผมไม่รู้ชื่อจริงของคุณรู้เเต่ชือเล่นนี่เเหละ
ผมก็ชอบเพลงของคุณโดยเฉพาะเพลง อย่าลืมน้องสาว ผมเห็นคุณตอนเด็กๆถ้าจำไม่ผิดก็ประมาณในปี 1987 น่ะเพราะฟังเพลงนี้ของคุณทีไรก็นึกถึงปีนั้นทุกบอกกันตรงๆว่าอยากจะย้อนกลับไปในปีนั้นไหม่เเต่มันก็ย้อนเวลากลับไปไม่ได้อยู่ดี เพราะเห็นคุณตอนเด็กๆคุณขึ้นเวที คุณร้องเพลงนี้ทีไรคุณก็ร้องไห้ทุกทีถ้าจำไม่ ทำไมคุณร้องเพลงนี้เเล้วคุณต้องร้องไห้ด้วย หรือว่า พี่สาวของคุณหายตัวไปจริงๆหรือ ถาหายไปจริงๆเเล้วคุณหาพี่สาวของคุณเจอเเล้วหรือยังครับ ยังไงซะสักวันนึงพี่สาวคุณก้ต้องกลับไปหาคุณเเน่ เขาคงไม่ลืมคุณหร็อก

 

โดย: กบในขวด IP: 171.6.221.10 28 กรกฎาคม 2558 16:32:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kanyong1
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]




เป็นคุณแม่ลูกสอง วัย42ปี สนใจการทำอาหาร และการท่องเที่ยวค่ะ ยินดีต้อนรับทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมบล็อคนะคะ หรือสามารถติดตามการทำอาหารได้ที่เฟสบุค Kannika Roddee

******************************
******************************

ไม่ต้องบินให้สูงอย่างใครเขา…

จงบินเอาเท่าที่เราจะบินไหว

ท่าที่บินไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

แค่บินไปให้ถึงฝัน เท่านั้นพอ

ทำเท่าที่เราจะทำได้ และทำให้ดีที่สุด สักวันหนึ่ง ฝันของเราจะเป็นจริง :)

*****************************
*****************************
: จำนวนคนที่กำลังออนไลน์
online
Blackjack Online
free counters
New Comments
Friends' blogs
[Add kanyong1's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.