เตรียมตัวให้พร้อมก่อนตั้งครรภ์

Smiley การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนตั้งครรภ์ " Smiley


เมื่อชีวิตครอบครัวเริ่มต้นด้วย การแต่งงาน สิ่งหนึ่งที่คู่สามีภรรยาทุกคู่คงคิดถึงก็คือ การมีลูกตัวน้อยๆ เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิต เพื่อให้ครอบครัวสมบูรณ์เต็มที่ และแน่นอนว่าทุกคนคงอยากมีลูกที่แข็งแรงสมบูรณ์ด้วยใช่ไหมครับ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ ถ้าเพียงแต่คุณทั้งคู่เตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด " และที่อยากให้ทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีลูกนั่น ก็เพราะเราจะพบว่า หลายกรณีที่อาจเกิดความผิดปกติหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นในครรภ์นั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้ผลของการตั้งครรภ์ออกมาดีที่สุด แต่ในบางครั้งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงหรือไม่สามารถรักษาได้ และที่สำคัญกว่านั้นคือ อาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติ พิการ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นเสมือนฝันร้ายของพ่อและแม่ทุกคน ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตนเอง!!! ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่ตั้งครรภ์อยู่ และไม่สามารถป้องกันได้ แต่ในหลายกรณีก็สามารถป้องกันและรักษาได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ครับ การป้องกันเป็นสิ่งที่ดี และมีประโยชน์มากกว่าการรักษาอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังที่หลายๆ ท่านคงทราบกันอยู่แล้ว แต่ที่เกิดความผิดพลาดไม่ได้ป้องกันนั้น อาจเป็นเพราะความไม่รู้ถึงการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม หรืออาจเกิดจากความเข้าใจผิดในหลายๆ ประเด็น


Smiley เตรียมตัวก่อนท้อง หัวใจสำคัญของครรภ์ที่สมบูรณ์


จริงๆ แล้วการฝากครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์วิธีนี้นับว่า เป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดหรอกครับ เพราะเมื่อมาฝากครรภ์และตรวจพบว่า มีความผิดปกติหรือมีโรคแทรกซ้อน คุณแม่ก็ตั้งครรภ์ไปเรียบร้อยแล้วใช่ไหมครับ... เพราะอย่างนี้ที่เราคิดว่าเร็วแล้วก็ยังอาจจะสายเกินไป เอ...แล้วถ้าอย่างนั้นต้องตรวจกันตั้งแต่ยังไม่ท้องเลยหรือนี่ ? ใช่แล้วครับ ต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่ตอนก่อนท้องโน่นเลยครับ จึงจะดีที่สุดสำหรับการป้องกัน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีเพียงส่วนน้อยของคุณแม่เท่านั้น ที่จะมาพบแพทย์เพื่อปรึกษา และขอรับการตรวจต่างๆ ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ หลายท่านอาจมีความสงสัยว่า แล้วถ้าอยากจะไปตรวจก่อนตั้งครรภ์ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับอะไรบ้าง ? เพราะการไปพบแพทย์แต่ละครั้งนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าสนุกสนานนัก เราลองมาดูรายละเอียดกันหน่อยเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยังไงล่ะครับ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า การมาพบแพทย์เพื่อเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์นั้น จำเป็นต้องมาทั้งสองฝ่ายนะครับ แต่คุณสามีน่ะมักจะไม่ค่อยอยากมา ใครที่มีสามีอยู่ในโอวาทก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ยอมจริงๆ ก็คงต้องอธิบายให้เข้าใจถึงความจำเป็นเสียหน่อย ก็ลูกที่กำลังจะมีนั้นเขาเป็นลูกของเราทั้งคู่ไม่ใช่หรอกหรือครับ...


Smiley ทำไมต้องซักถามประวัติ


เริ่มตั้งแต่ซักถามประวัติของคุณทั้งคู่เกี่ยวกับความผิดปกติ หรือโรคประจำตัวต่างๆ ใครที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรช่วยบอกด้วยก็ดีนะครับ อย่าไปคิดเอาเองว่า เป็นเรื่องเล็กน้อยหรือรักษาหายแล้ว เพราะบางโรคอาจกลับเป็นขึ้นมาใหม่ได้ในขณะตั้งครรภ์ ส่วนในกรณีที่คุณเคยตั้งครรภ์มาก่อนหน้านี้แล้ว คุณหมอจะซักถามถึงความผิดปกติต่างๆ ที่ผ่านมา เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด การคลอดทารกน้ำหนักน้อย ฯลฯ รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย ส่วนประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องก็ได้แก่ ประวัติการมีประจำเดือนว่าปกติหรือไม่อย่างไร รวมทั้งประวัติการคุมกำเนิดต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งในเรื่องนี้อาจช่วยให้คุณหมอแนะนำคุณถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่จะเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์ได้ นอกจากนั้นยังต้องถามถึงประวัติของคนอื่นในครอบครัวอีกด้วย ถึงโรคบางอย่างที่อาจมีความเป็นไปได้ที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคเบาหวาน โรคเลือด ความพิการต่างๆ ครรภ์แฝด เป็นต้น เพราะอาจมีการถ่ายทอดมายังคู่ของคุณและส่งต่อไปยังลูกน้อยของคุณได้ จะเห็นว่าประวัติส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องของทางฝ่ายคุณแม่เสียมากกว่า ส่วนประวัติทางคุณพ่อนั้นก็คงเป็นเพียงคร่าวๆ เท่านั้น แต่ถ้ามีอะไรที่คุณหมอไม่ได้ซักถาม คุณก็ควรต้องบอกให้คุณหมอทราบให้หมดนะครับ อย่าได้ปิดบังอะไรเชียว


การตรวจร่างกาย


โดยทั่วไปแล้ว ก็ต้องตรวจร่างกายอย่างครบถ้วนทุกระบบ เพื่อยืนยันความสมบูรณ์แข็งแรงของคุณทั้งคู่ แต่ถ้าสงสัยความผิดปกติอะไร ก็อาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมบ้างตามความจำเป็นครับ ส่วนการตรวจอีกอย่างที่คุณผู้หญิงกลัวนักหนาก็คือ การตรวจภายในครับ... ส่วนใหญ่แล้วคุณผู้หญิงมักจะถามเสมอว่าจำเป็นไหม ? ถ้าตามหลักการแล้วนั้นก็ต้องตอบว่าจำเป็นครับ เพราะความผิดปกติบางอย่าง โดยเฉพาะภายในอุ้งเชิงกรานนั้น หลายกรณีจะไม่มีอาการแสดงอย่างชัดเจน แต่จะวินิจฉัยได้จากการตรวจภายใน เช่น เนื้องอกของมดลูก หรือรังไข่ ซึ่งขนาดไม่โตมากนัก ความผิดปกติของปากมดลูก เป็นต้น แต่ถ้าจะต่อรองกับคุณหมอในเรื่องนี้ ก็คงพอจะยอมความกันได้บ้างเหมือนกัน ซึ่งก็คงแล้วแต่คุณกับคุณหมอของคุณเจรจากันเองนะครับ ส่วนการตรวจเต้านมนั้น คงเพียงแค่ตรวจทั่วไปตามปกติเท่านั้น ไม่จำเป็นถึงกับต้องตรวจแมมโมแกรมหรอกครับ ยกเว้นในกรณีที่สงสัยว่าจะมีก้อนเนื้อหรือถุงน้ำเท่านั้น


ตรวจทางห้องปฏิบัติการ


ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการตรวจเลือดนั่นเองครับ ซึ่งต้องตรวจกันทั้ง 2 ฝ่ายเช่นกัน แต่เชื่อไหมครับว่า ส่วนใหญ่แล้วคุณผู้หญิงจะเป็นฝ่ายที่ยินดีให้ตรวจ แต่ทางคุณผู้ชายเสียอีกที่มักจะเป็นฝ่ายกลัวการตรวจเลือด...พอบอกว่าจะต้องเจาะเลือดเท่านั้น บางคนก็หน้าซีด เหงื่อแตกทันที...แถมพอเจาะเลือดเสร็จเรียบร้อยก็โม้อีกต่างหากว่าไม่กลัว แหม...น่าหมั่นไส้จริงเชียว การตรวจเลือดนั้นจะตรวจอะไรบ้างหรือครับ ปกติแล้วจะตรวจเลือดทั่วไป เพื่อตรวจการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง ได้แก่ เบาหวาน การทำงานของตับ การทำงานของไต ไขมันในเลือด เป็นต้น นอกจากนั้นก็จะตรวจระดับความเข้มข้นของเลือด เพื่อดูว่ามีภาวะซีดหรือไม่ ตรวจจำนวนของเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด ตรวจหมู่เลือด และหมู่เลือด Rh การตรวจเลือดนั้นอาจไม่ได้ทำในวันแรกที่ไปพบคุณหมอก็ได้นะครับ เนื่องจากบางครั้งจำเป็นต้องงดอาหารก่อนที่จะมาตรวจ โดยเฉพาะการตรวจเบาหวาน ดังนั้นคุณหมออาจนัดคุณมาตรวจในภายหลังอีกที ในปัจจุบันนี้ คุณหมอมักนิยมที่จะตรวจคัดกรองโรคทาลัสซีเมียเพิ่มเติมด้วย โรคนี้เป็นโรคเลือดชนิดหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังลูกคุณได้ ทั้งที่คุณพ่อคุณแม่อาการปกติครับ เนื่องจากคุณทั้งคู่อาจมีโรคนี้แฝงอยู่โดยที่คุณไม่รู้มาก่อนเลย คือคุณเป็นพาหะนั่นเอง สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สำคัญทั้งหลาย ได้แก่ ซิฟิลิส ตับอักเสบบี และเอดส์ครับ เนื่องจากเจ้าโรคต่างๆ นี้สามารถติดต่อไปยังลูกได้ และถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อ ความพิการ หรืออันตรายถึงชีวิตได้ด้วย เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคุณสามีมักจะบ่ายเบี่ยงที่จะตรวจ... อาจกลัวความลับในอดีตเปิดเผย อะไรทำนองนั้น ...ถ้าทำผิดไปแล้วก็ยอมรับเสียดีกว่านะครับคุณผู้ชายทั้งหลาย ดีกว่าที่จะไปเสียใจในภายหลัง นอกจากนั้นก็คงจะต้องตรวจปัสสาวะอีกด้วย เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ เช่น เบาหวาน หรือโรคไต เป็นต้น แต่การตรวจปัสสาวะอย่างเดียวนั้นคงบอกแน่นอนถึงโรคดังกล่าวไม่ได้ อาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป


โรคทางพันธุกรรม


คู่สมรสบางคู่ อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคทางพันธุกรรมบางอย่างในลูกได้ นอกจากเรื่องของโรคทาลัสซีเมียที่กล่าวมาแล้ว หลายท่านคงเคยได้ยินหรือทราบมาบ้างเกี่ยวกลุ่มอาการดาวน์ (Down's Syndrome) ซึ่งมีผลทำให้ลูกที่เกิดมามีพัฒนาการช้าหรือปัญญาอ่อน และอาจมีความพิการทางร่างกายอื่นๆ ร่วมด้วย โรคนี้พบได้บ่อยขึ้นในคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป (นับถึงวันคลอด) โดยโอกาสเกิดโรคนี้จะพบสูงขึ้น เมื่อคุณแม่อายุมากขึ้นครับ ในกรณีที่พบว่าคุณแม่มีความเสี่ยงสูงนั้น คุณหมอจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจ เพื่อวินิจฉัยก่อนคลอด สมัยก่อนจะใช้วิธีเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซม ซึ่งจะทำในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 4-5 เดือนครับ แต่ปัจจุบันนี้สามารถตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นวิทยาการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนสามารถตรวจได้ ไม่มีอันตรายและสามารถทราบผลได้รวดเร็ว ซึ่งถ้าคุณแม่สนใจก็สามารถติดต่อในโรงพยาบาลรามาธิบดีได้ครับ กรณีที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคทางพันธุกรรมนั้น ได้แก่ การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรค เคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิดหรือเป็นโรค หรือตัวคุณเองเคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิด เป็นต้น ในกรณีต่างๆ เหล่านี้คุณหมออาจแนะนำให้คุณไปพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้คำปรึกษาที่เหมาะสมและถูกต้อง รวมทั้งอาจจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมอีกตามความจำเป็นครับ การฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนนั้นเป็นการป้องกันโรคที่ใช้มานานและได้ผลดีวิธีหนึ่ง ดังนั้นการฉีดวัคซีนในช่วงก่อนที่จะตั้งครรภ์ก็น่าจะมีประโยชน์ใช่ไหมครับ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ตรงไปตรงมาเสมอไป วัคซีนหลายชนิดนั้นปลอดภัยแม้จะให้ในระหว่างตั้งครรภ์ แต่วัคซีนบางชนิดกลับก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะวัคซีนชนิดตัวเป็น คือ วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อโรคที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลงนั่นเองครับ และเจ้าวัคซีนที่ฉีดเข้าไปนี่เอง ที่กลับจะไปก่อให้เกิดโรคกับลูกในท้อง ซึ่งบางกรณีอาจรุนแรงจนถึงกับทำให้เกิดความพิการได้หลายอย่างทีเดียว ที่มักจะกล่าวถึงกันบ่อยๆ ก็คือ วัคซีนโรคหัดเยอรมัน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกนั้น สามารถก่อให้เกิดความพิการต่อทารกได้ในหลายระบบ ดังนั้นจึงมีการพูดถึงการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคนี้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่ก็มีข้อพึงระวังที่สำคัญ คือ ไม่ควรตั้งครรภ์ภายใน 3 เดือนหลังจากที่ฉีดวัคซีนนี้ไปครับ เพราะวัคซีนนี้เป็นชนิดตัวเป็น ซึ่งแทนที่จะเกิดประโยชน์อาจเกิดโทษต่อลูกในท้องได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าคุณสมควรฉีดวัคซีนนี้หรือไม่ ก็ลองปรึกษาคุณหมอดูนะครับ คุณหมออาจตรวจเลือดเพื่อดูระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมันก่อน ถ้ามีภูมิแล้วก็สบายใจได้ แต่ถ้ายังไม่มีภูมิ จึงจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนและแนะนำการคุมกำเนิดที่เหมาะสม ในช่วง 3 เดือนแรกด้วย ส่วนวัคซีนชนิดอื่นๆ นั้น แนะนำให้ปรึกษากับคุณหมอดูถึงความจำเป็น และความปลอดภัยก่อนที่จะตัดสินใจฉีดนะครับ การใช้ยา เรื่องนี้หลายท่านคงเข้าใจดีว่า การใช้ยาบางชนิดในระหว่างตั้งครรภ์ก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกได้ แต่ยาหลายชนิดก็ปลอดภัยครับ ดังนั้นในช่วงที่ไปพบคุณหมอควรแจ้งให้ทราบถึงยาที่กำลังใช้อยู่เป็นประจำ เพื่อดูว่ายาชนิดไหนปลอดภัยหรือไม่อย่างไร แต่ไม่แนะนำให้หยุดยาต่างๆ เองนะครับ โดยเฉพาะยาที่คุณต้องรับประทานเพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่งอยู่ ไม่เช่นนั้นโรคดังกล่าวอาจกลับเป็นมากขึ้นได้ ส่วนถ้าจำเป็นต้องใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์คุณหมอก็อาจปรับเปลี่ยนชนิดและขนาดยาเพื่อความเหมาะสมให้อีกครั้งครับ ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงเรื่องราวคร่าวๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัว และเตรียมความพร้อมของคุณและคู่ของคุณก่อนตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเคยตั้งครรภ์มาก่อนหรือไม่ก็ตาม ซึ่งถ้าเป็นไปได้ คู่สมรสทุกคู่ควรที่จะต้องรู้และตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ในปัจจุบันหลายคู่ก็ให้ความสนใจ มาปรึกษาและมารับการตรวจต่างๆ ที่กล่าวมา มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตั้งแต่ก่อนแต่งงานเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีอีกมากที่ยังไม่ทราบ หรือยังไม่เข้าใจถึงกระบวนการดังกล่าว ทำให้ยังเกิดปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ขึ้นมา ทั้งที่น่าจะป้องกันได้ ดังนั้น ก็หวังว่าท่านผู้อ่านที่กำลังวางแผนที่จะตั้งครรภ์หรือกำลังจะแต่งงานคงจะได้ความรู้และประโยชน์บ้างนะครับ ที่สำคัญน่าจะช่วยในการตัดสินใจด้วยนะครับ คุณแม่หลายท่านมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่า จะพยายามปฏิบัติตนและทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ที่สุด สำหรับเป็น “คุณแม่คุณภาพ” เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของลูกน้อยที่กำลังจะเกิด ดังนั้นแค่เพียงตัวคุณกับสามีสุดที่รักเพิ่มความพยายามอีกเล็กน้อย ด้วยการเตรียมความพร้อมดังกล่าว ครอบครัวของคุณก็สามารถที่จะเป็น “ครอบครัวคุณภาพ” ที่มีความสุขและความสมบูรณ์ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก การตรวจหลังคลอด หลังจากที่การคลอดเสร็จสิ้นผ่านพ้นไปได้ด้วยดีแล้ว โดยทั่วไปคุณหมอก็จะให้คุณนอนพักในโรงพยาบาล จนแข็งแรงดีทั้งแม่และลูกแล้วจึงอนุญาตให้กลับไปพักต่อที่บ้านได้ ก่อนกลับนั้นคุณหมอจะนัดคุณแม่ตรวจอีกครั้ง หลังจากคลอดประมาณ 4-6 สัปดาห์ คุณแม่อาจมีความสงสัยถึงความจำเป็นของการตรวจดังกล่าว รู้สึกว่าพอคลอดแล้วก็กลับมาแข็งแรงดีนี่นา ทำไมต้องมาตรวจอะไรกันอีก หลายท่านก็เลยไม่สนใจกับนัดดังกล่าว แล้วไม่มาเสียอย่างนั้น จริงๆ แล้ว เป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ การตรวจหลังคลอดนั้นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งทีเดียว เพราะระหว่างตั้งครรภ์นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเกี่ยวกับร่างกายของคุณแม่ ซึ่งพอคลอดแล้วก็จะต้องใช้เวลาสักหน่อยกว่าที่ทุกอย่างจะกลับเข้าที่เข้าทางเหมือนเดิมครับ การตรวจหลังคลอดนั้นจะเป็นการตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างนั้นกลับเป็นปกติแล้วนั่นเอง การตรวจก็จะประกอบด้วย การตรวจร่างกายทั่วไปตามความจำเป็น และการตรวจภายในครับ การตรวจภายในนั้น นอกจากจะตรวจมดลูกว่ากลับเป็นปกติ หรือ “เข้าอู่” แล้วหรือไม่ นอกจากนั้นก็เป็นโอกาสอันดีสำหรับคุณผู้หญิงทุกท่านอีกด้วยที่จะได้ตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะการตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกครับ ถ้าอยู่เฉยๆ ให้มาตรวจเองก็รอไปเถิดครับ นอกจากนั้นก็ยังเป็นจังหวะที่ดีอีกด้วยที่จะเริ่มต้นการคุมกำเนิดที่เหมาะสมครับ


[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 21 ฉบับที่ 247 สิงหาคม 2546 ]






Free TextEditor




 

Create Date : 15 มกราคม 2553
0 comments
Last Update : 15 มกราคม 2553 13:44:26 น.
Counter : 382 Pageviews.


กระจุ๋มกระจิ๋ม
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Photobucket
Group Blog
 
 
มกราคม 2553
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
15 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add กระจุ๋มกระจิ๋ม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.