Thailand
Group Blog
 
 
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
21 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
มุมมองมาตรการแก้วิกฤติ วิพากษ์ประชานิยมฉบับ “โอบามาร์ค” [19 ม.ค. 52 - 14:35]

มุมมองมาตรการแก้วิกฤติ วิพากษ์ประชานิยมฉบับ “โอบามาร์ค” [19 ม.ค. 52 - 14:35]

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 18 ข้อ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 116,700 ล้านบาท ของรัฐบาลโดยการนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งอ้างว่าเป็นมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นกำลังซื้อ ด้วยการทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นจากการลดแหลกแจกแถมที่รัฐบาลให้ กำลังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า อาจจะเป็นมาตรการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหนักกว่าโครงการ “มิยาซาว่า” ที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำในอดีต


และสร้างผลเสียมากกว่าโครงการประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกโจมตีอย่างหนักว่า ทำให้ประชาชนเสพติด


ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเช็คเงินสดรายละ 2,000 บาทให้แก่ผู้ประกันตนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 14,999 บาท หรือแก่ข้าราชการที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท และแม้แต่การจัดการศึกษาฟรี 15 ปี และการแจกเงินแก่คนชราที่มีอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไปรายละ 500 บาท


และแม้รัฐบาล โดย นายอภิสิทธิ์ จะยืนกรานว่า รัฐบาลทำตามคำแนะนำของนักเศรษฐศาสตร์ ชื่อดังที่เชื่อว่า การแจกเงิน เป็นวิธีที่ดีที่สุด และเร็วที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์และกูรูที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงคนทำงาน และในหมู่คนวางมาตรการเศรษฐกิจมหภาคอย่างบรรดาผู้ที่จบปริญญาเอกทั้ง 4 คนเหล่านี้ ให้มุมมองที่แตกต่างออกไปกับ“ทีมเศรษฐกิจ”



ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย


มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการทางการคลัง ที่มีทั้งข้อดีและข้อสงสัย ที่พอใช้ได้และดีคือ โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อน แต่ช่วงที่ออกแบบมาตรการนี้ มีปัญหาเงินเฟ้อและน้ำมันแพง ถ้าถามว่าจะใช้แก้ปัญหากระตุ้นเศรษฐกิจขณะนี้โดยตรงหรือไม่ จำเป็นต้องแก้ไขมาตรการก่อน


โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน ต่อยอดมาจากโครงการหมู่บ้านเอสเอ็มแอล ดีที่ทำต่อเนื่องและเพิ่มเงินให้อีกเท่า และการให้เงินเพิ่มกับโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องดี ด้านโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนดี แต่เงินที่ให้ 6,900 ล้านบาท น้อยไปหรือไม่ และเงินที่ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ก็ดีและเป็นการช่วยสังคมเชิงอ้อม


แต่ที่ถูกวิจารณ์กันมาก คือ โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ ที่ให้เงินคนละ 2,000 บาท เป็นการช่วยเฉพาะกลุ่มข้าราชการและผู้ประกันตน ถ้าถามว่ากระตุ้นได้ไหม เงินเท่านี้กระตุ้นได้ไม่มาก น่านำเงินส่วนนี้ไปสร้างงานมากกว่า เพราะปัญหาใหญ่ตอนนี้คือคนตกงาน แต่กลับนำเงินไปให้คนที่มีงานทำอยู่แล้วและเป็นกลุ่มที่มีรายได้ดีพอสมควร ไม่ได้นำเงินเข้าไปช่วยแรงงานขั้นต่ำ และกลุ่มที่ได้รับเงินนี้อาจไม่ได้นำเงินออกมาใช้ทันที


โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี ต้องใช้เงิน 19,000 ล้านบาท เข้าใจได้ว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการศึกษา แต่งบนี้ไม่ใช่งบกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องการให้เกิดผลในระยะสั้น ที่ผิดหวังน่าเป็นการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาครูมากกว่า เพราะเป็นผู้มีรายได้น้อย ในวันนี้คนในเมืองไม่ต้องการเรียนฟรี ยังสามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้อยู่ การเน้นใส่เงินตรงนี้ไม่รู้ไปสร้างงานตรงไหน


“มาตรการที่รัฐบาลออกมายังเป็นชิ้นๆ ส่วนๆ แก้ไขไม่ตรงจุด หากต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจริง ต้องโฟกัส ไม่ใช่สะเปะสะปะ โดดไปโดดมาแบบนี้ ทำให้การใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาท ไม่คุ้มค่า ที่สำคัญ ฝนยังตกไม่ทั่วฟ้า หากต้องการแก้ไขให้ตรงประเด็น ต้องใส่เงินลงไปในชนบท ให้กับผู้มีรายได้น้อย และคนจนในเมืองให้มากกว่าที่กำหนดไว้ เพราะจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนหลายๆรอบ และเกิดการซื้อของจากภาคการผลิตจริงๆ”


ขณะเดียวกัน มาตรการที่ออกมายังไม่ช่วยสนับสนุนภาคส่งออก ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการว่างงาน วิธีการแก้ไขก็ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถให้สินค้าของไทยราคาถูกลงแต่คุณภาพเท่าเดิม ขณะที่นโยบายทางการเงินก็ควรจะสนับสนุนการส่งออกเหมือนกับเวียดนามที่ลดค่าเงินด่องลง 3% แต่ไทยยังไม่มีมาตรการใด


การสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้งบมาเพียง 500 ล้านบาท ทั้งๆที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แล้วจะไปแก้ไขตรงนี้ได้อย่างไร และไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเน้นออกเดินสายโรดโชว์ และประชาสัมพันธ์ให้มาซื้อสินค้าไทย เพราะตอนนี้ต่างประเทศจะดูที่ราคาสินค้าถูกกว่าคนอื่นหรือไม่มากกว่า


นอกจากนี้ ต้องมาดูโครงการธงฟ้าราคาประหยัด ที่รัฐจะนำสินค้าราคาถูกออกมาขาย จะกลายเป็นการแข่งกับพ่อค้าแม่ค้า จะซ้ำเติมให้เราขายของไม่ได้


วิธีการคิดของรัฐบาลนี้คล้ายคลึงกับการใช้เงินในโครงการมิยาซาว่า ที่เน้นนำเงินใส่ภาคราชการ ที่จะไม่สำเร็จ เพราะต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้เวลาหลายเดือน ขณะที่ภาคเศรษฐกิจต้องการถูกกระตุ้นในเวลานี้


“รัฐบาลต้องใส่เงินในชนบทและช่วยคนจนมากขึ้น เน้นสร้างงานมากกว่านี้ และในครั้งนี้ไม่ได้ช่วยภาคส่งออกและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงเลย”


ดร.ทนง พิทยะ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ดูแล้วเป็นมาตรการเฉพาะหน้า เป็นมาตรการที่เคยทำกันอยู่เพียงแต่ใส่เข้าไปให้มากกว่า สิ่งที่เคยเอาใจประชาชนก็เอาใจประชาชนมากขึ้น


“วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้มองที่สาเหตุ มาตรการที่ออกมาจึงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เป็นมาตรการประชานิยมที่ได้เสียง ถือเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่คุ้มค่ากับเศรษฐกิจ”


ตรรกที่เกิดขึ้นเรื่องของการแจกเงินข้าราชการ ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ข้าราชการไม่เดือดร้อน เงินเดือนไม่ได้ถูกปรับลดลง รายได้ยังคงเท่าเดิม และไม่ได้ตกงาน ผลประโยชน์ที่ราชการได้รับยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่รู้ว่าใส่เงินเข้าไปแล้วได้ผลอะไร เรื่องนี้ไม่เข้าใจวิธีคิดของผู้ออกมาตรการ


การแจกเงิน 2,000 บาทให้กับพนักงานเอกชนผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 14,999 บาทก็เช่นกัน มีคำถามว่าทำไมแจกเงินให้กับคนที่มีงานทำอยู่ ทำไมไม่ช่วยเหลือคนตกงาน หรือคนกำลังจะตกงาน หรือใส่เงินเข้าไปช่วยธุรกิจที่มีปัญหา เพื่อประครองไว้ไม่ให้เกิดการเลิกจ้างงาน


“เงินที่เอาไปแจกไม่เข้าใจช่วยแล้วได้อะไร ผมเห็นว่าการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เชื่อว่าหลังจากนี้รัฐบาลคงมีมาตรการใหม่ๆออกมา น่าจะได้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากกว่านี้”


ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เกิดจากเศรษฐกิจโลกถดถอย เป็นผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ประเทศไทยได้รับผลกระทบอันดับแรกคือ ตลาดทุน เห็นจากราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง ตามมาด้วยปัญหาส่งออกและท่องเที่ยว


ถ้าปล่อยให้อุตสาหกรรมส่งออกได้รับผลกระทบ ก็จะลามต่อไปยังอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการส่งออก จะทบต่อการว่าจ้างงาน ทำให้เกิดการตกงาน ถ้าปล่อยให้คนตกงานมากๆ เศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะเข้าสู่วิกฤติ เกิดการลามไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ท้ายที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน


“เราต้องดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เห็นแล้วก็ต้องแก้ให้ถูกจุด เมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมส่งออก และท่องเที่ยว ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือในกลุ่มนี้ ต้องหามาตรการออกมาบล็อกเอาไว้ ประคองไว้ไม่ให้เกิดการตกงาน”


ธุรกิจส่งออกที่เข้าไปช่วยก็ต้องเป็นธุรกิจของคนไทย ต้องช่วยให้อยู่รอดได้ ถ้าเป็นธุรกิจส่งออกของต่างชาติไม่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพราะต่างชาติมีทางออกอยู่แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องรีบหามาตรการออกมาบล็อกให้ได้ ประคองไม่ให้เกิดการปลดคนงาน และถ้าเกิดความเสียหายควรให้เสียหายน้อยที่สุด เรื่องของการปลดพนักงานเป็นปัญหาใหญ่มากของเศรษฐกิจไทย


วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ต้นตอของวิกฤติเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อลดค่าเงินบาท ธุรกิจส่งออกดีขึ้น ทุกอย่างกลับขึ้นมาเร็ว ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะนี้วิกฤติเกิดขึ้นจากต่างประเทศ ภาคธุรกิจในประเทศไทยยังแข็งแกร่ง เมื่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง ในจุดนี้ต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะหยุดยั้งไม่ให้เศรษฐกิจปรับลดลงเร็ว หรือชะลอการลดลง

เมื่อภาคธุรกิจไทยยังแข็งแกร่ง เป็นจุดที่ได้เปรียบต่างชาติที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก น่าจะใช้ความได้เปรียบเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนธุรกิจไทย หาโอกาสแข่งขันในตลาดโลกให้ได้ “สถานการณ์เศรษฐกิจในแบบนี้ผมเชื่อว่า เศรษฐกิจจะซึมยาว ถ้าจะทำนายว่ายาวขนาดไหนทำนายได้ยาก หากเศรษฐกิจไทยโต 0-2% เป็นอัตราที่น้อยเกินไป ไม่เพียงพอสำหรับประเทศกำลังพัฒนา”


ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


มหาวิทยาลัยทำวิจัยเรื่องผลกระทบของครัวเรือนไทยจากปัญหาการเมืองกับกลุ่มประชาชนตัวอย่าง 1,400 คนทั่วประเทศ พบว่า มีคนจำนวนมากถึง 40% ไม่มีความสามารถจะไปกู้จากที่ไหนได้ ที่สำคัญก็คือ คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงระบบการประกันสังคมที่รัฐบาลกำลังมีมาตรการให้เงินช่วยเหลืออยู่ในปัจจุบัน


“ดิฉันเห็นด้วยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และใช้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหดตัว แต่เงินจำนวนเกือบ 20,000 ล้านบาท ควรจะต้องใช้กับประชาชนให้ถูกกลุ่ม...


การแจกเงินให้แก่ผู้ประกันตนทุกรายที่มีรายได้ประจำไม่เกิน 14,999 บาท หรือข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำไม่เกิน 15,000 บาท รายละ 2,000 บาท ไม่น่าจะใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะคนเหล่านี้มีเงินเดือน และรายได้ประจำซึ่งเป็นรายได้ที่แน่นอนอยู่แล้ว ในขณะที่คนซึ่งไม่ได้อยู่ระบบประกันสังคม หรือระบบปกติที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ มันคงไม่ถูกแน่ๆ”


ดร.เสาวณีย์ กล่าวด้วยว่า จริงๆแล้ว การมองหาความยากจนในประเทศไทย ไม่ได้เป็นเรื่องยาก ที่ไหนๆเกือบทุกที่ เราต่างก็มองเห็น ล่าสุดที่เราๆท่านๆได้เห็นจากข่าว ก็คือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายไปเพราะความหนาว ถ้าตั้งใจมองเข้าไปในปัญหาก็จะพบว่า คนเหล่านั้นตายเพราะยากจน ไม่มีเสื้อผ้า หรือเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอ


ทีนี้ถ้าจะมองจากการสำรวจวิจัยจะพบว่า มีคนไทยจำนวนมากถึง 5.4 ล้านคนทีเดียวที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจน หรือที่มีรายได้เพียงเดือนละ 1,443 บาท ถ้าคนเหล่านี้ได้รับเงินที่รัฐบาลแจกให้รายละ 2,000 บาท มันจะมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับพวกเขา


“ข้ออ้างที่บอกว่า รัฐบาลทำตามคำแนะนำของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อก้องโลกที่ว่า การแจกเงินเป็นวิธีที่ดี และเร็วที่สุดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ คงต้องโต้เถียงกันหน่อยว่า ไม่ใช่ เพราะอย่างแรก ประเทศไทยไม่ได้พิมพ์แบงก์ได้เองอย่างสหรัฐฯ ถึงจะมีเงินมากพอไปแจก ขณะที่การแจกเงินโดยวิธีนี้ ก็ไม่เคยมีการทำกันมาก่อนในประวัติศาสตร์ แต่ก็อย่างที่บอก ถ้าอยากจะแจกจริงๆ ก็แจกได้ภายใต้หลักการให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน ประชาชนในระดับรากหญ้า และเกษตรกร ซึ่งเป็นการแจกอย่างตรงจุด และถูกกลุ่มเป้าหมาย...


แต่ไม่ใช่แจกให้แก่คนมีเงินเดือนกินอยู่แล้ว อย่างที่เจ้าหน้าที่ที่ห้องทำงานของมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับเงินคนละ 2,000 บาท จากรัฐบาลเกือบหมด”


ดร.เสาวณีย์ เสนอว่า ถ้าต้องการทำโครงการเร่งด่วนที่สามารถจะกระจายเงินออกไปได้ รัฐบาลอาจอาศัยจังหวะนี้ว่าจ้างนักศึกษาจัดทำบัญชีคนจนให้เสร็จภายใน 3 เดือน “อย่างที่บอก ข้อมูลคนจนน่ะหาไม่ยาก จริงๆหาได้ง่ายมาก ถ้าเข้าไปเก็บข้อมูลกับคนในท้องถิ่น ก็จะทราบได้ทันทีว่า บ้านไหนรวย จน ข้อมูลที่ได้มาจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในระยะยาวเพื่อใช้เป็นฐานในการวางแผนให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อมาตรการรัฐบาลเอง และต่อประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริง”


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
กรรมการผู้อำนวยการ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนไทยพาณิชย์


มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมา ถือว่าดีและมีความจำเป็นสูงที่ต้องเร่งมีมาตรการออกมาเพื่อฟื้นฟูดูแลเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่กังวลคือกลัวว่ารัฐบาลจะมองสถานการณ์เศรษฐกิจดีกว่าความเป็นจริง เพราะจากตัวเลขของทางการที่ออกมาว่าปีนี้จีดีพีจะขยายตัวได้ถึง 0.6-2% แต่ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะแย่หนักกว่านี้


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่าคือการมองโลกในแง่ดีเกินจริง มาตรการที่ออกมาจึงอาจยังไม่เพียงพอ การมองแง่ดีเกินไปทำให้เมื่อภัยมาถึงตัวแล้วจะทำให้การแก้ปัญหาจะล่าช้า


และจากการพิจารณามาตรการที่รัฐบาลได้ออกมานั้นเหมือนเป็นยาที่กระตุ้นได้ระยะสั้นช็อตเดียว ไม่ได้ให้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหรือยั่งยืน เช่น มาตรการแจกเงิน ไม่ได้ทำให้เกิดการสร้างงาน แต่จะให้ผลเพียงแค่กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขึ้นมาได้เพียงระยะสั้นแล้วหายไป


“สิ่งที่อยากเห็นคือมาตรการที่ทำระยะสั้นแต่ช่วยภาพรวมระยะยาว เช่น หากมองว่าทิศทางการโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะมาจากธุรกิจการเกษตร ธุรกิจบริการและท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีอนาคตมีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวและจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญหรือเป็นตัวนำในการผลักดันเศรษฐกิจในอนาคต”


หนทางออกของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมี 3 ทาง คือจากภาษี, รายจ่ายภาครัฐและการกระตุ้นภาคการเงินปล่อยสินเชื่อ เห็นด้วยที่รัฐไม่ไปแตะมาตรการภาษีมากเกินไป โดยเฉพาะการลดภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งไม่เห็นด้วย เพราะแตะแล้วจะปรับกลับมาเหมือนเดิมได้ลำบาก


อย่างไรก็ตาม อยากแนะให้รัฐเตรียมเงินไว้อีกก้อน หากจำเป็นต้องมีก๊อก 2 กรณีที่สถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่กว่าที่ประเมินไว้ เพราะจนถึงขณะนี้ก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะลงไปต่ำสุดเมื่อไรและจะแย่แค่ไหน


โดยแนะให้ใช้เงินจากนอกงบประมาณ มาใช้กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกู้เงินจากองค์การต่างประเทศที่มีทั้งเวิลด์แบงก์หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เหมือนวิกฤติเมื่อครั้งก่อนที่มีโครงการต่างๆซึ่งมีงบจากโครงการมิยาซาว่า หรือเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (SAL) ควรเจรจาขอเงินกู้ไว้ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อม


หากไม่ใช้ก็ไม่เสียหายอะไร และรายจ่ายนอกงบประมาณก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ติดกรอบอะไร.

ทีมเศรษฐกิจ


//www.thairath.co.th/news.php?section=economic02&content=119687



Create Date : 21 มกราคม 2552
Last Update : 21 มกราคม 2552 5:14:59 น. 1 comments
Counter : 439 Pageviews.

 
ถูกต้อง

ทั่วโลกเขาทำกันคิดน้อยไปหน่อย บริบทสังคมต่างกัน

เป็นคูปองก็แจ่ม ให้ไปทุกคนใครเดือดร้อนก็เอาไม่เดือดร้อนก็ไม่ต้อง

ร้านค้า หรือหน่วยบริการต่างๆ นำคูปองไปขึ้นเงินได้เช็คได้ว่าประชาชนต้องการจุดไหนมากที่สุด

เสียงเค้าว่ากันพรรณนั้น จ๊ะ


โดย: บ้าได้ถ้วย วันที่: 21 มกราคม 2552 เวลา:8:41:34 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

จอบศักดิ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Thailand
Friends' blogs
[Add จอบศักดิ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.