"Be the change you want to see in the world." - महात्मा (Mahatma Gandhi)

จอมเยอะเล่า
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




สิ่งที่น่านับถือในจอมยุทธ์หาใช่วิทยายุทธไม่
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
2 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add จอมเยอะเล่า's blog to your web]
Links
 

 
Love: ความรัก อาการ เคมี กลไก และ รักเขาข้างเดียว

(บทความ มีเนื้อหาที่ผู้ปกครอง ควรพิจารณา)


“เรามักจะแพ้ในเกมส์ที่เราไม่เข้าใจ” …
“รู้เรา รู้เขา รู้จักสนามรบ ท่านจักมิเป็นอันตราย ในการ ศึกร้อยครั้ง” – ซุนหวู่


ใครๆ ก็ได้ยิน รู้จักกันมานานแล้ว ที่เขาเรียกกันว่า “ความรัก” แต่กลไกของมันเป็นยังไง เบื้องหลังการถ่ายทำของมันเป็นอย่างไร มีอะไรคอยบงการมัน
ผมสงสัยก็เลย หาอ่านดูว่า คนที่เขาศึกษาเรื่องนี้กันเขาว่ายังไงกันบ้าง เรื่องการวิจัย เกี่ยวกับ สมอง ความคิด หรือ เรียกรวมๆว่า จิต พวกนี้ เท่าที่อ่านๆดู ยังต้องการ การศึกษาอีกเยอะนะครับ เพราะ ฉะนั้นก็แล้วแต่วิจารณญาณด้วยนะครับ ตอนท้ายของบทความ ผมใส่ลิงค์เอาไว้ให้หาอ่านลองศึกษาเพิ่มเติมเองนะครับ
ความรัก ผมจะเล่าถึงนี้ คือ ความรักแบบหนุ่มสาว (romantic love) นะครับ
ความรัก เป็น กลไก ของธรรมชาติ ที่ทำให้มนุษย์ ดำรงเผ่าพันธ์ ต่อไปได้ เป็น กลไกที่ถูกโปรแกรมไว้ให้ เราต้องหาใครสักคน ผูกพันกับเขา และอยู่กับเขานานพอ ที่จะเลี้ยงดูชีวิตใหม่ให้เติบโตและแข็งแรงพอ จะอยู่รอดด้วยตัวเองได้


(รูปจาก //en.wikipedia.org/wiki/File:Chemical_basis_of_love.png)

อาจารย์ เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher, Rutgers University) นักวิจัยเรื่องความรักที่มีชื่อเสียง ได้เสนอทฤษฏีของความรักว่า อาการของความรักนั้นมี 3 ระยะ แต่ละระยะนั้นเราจะถูกอิทธิพลของ สารเคมีในสมอง และ ฮอโมน ต่างๆกันไป

ระยะที่หนึ่ง ราคะ (Lust) ระยะแรกนี้ เป็น ระยะของการพยายามหาคู่ การอยากได้ความรัก ที่ถูกขับเคลื่อนโดย ความต้องการทางเพศ จากอิทธิพลของ ฮอโมนเพศ ทั้ง เทสทอสเตอโรน (Testosterone) กับ เอสโตรเจน (Estrogen)

ระยะที่สอง เสน่หา (Attraction) ระยะนี้ เป็นระยะที่เรียกว่า ตกหลุกรัก มีอาการ ตื่นเต้น หัวใจเต้นเร็ว เริ่มเหงื่อแตก เชื่อกันว่า มีสารสื่อประสาทหลักๆที่เกี่ยวข้อง คือ โดพามีน (dopamine), สารสื่อประสาท ของ การตอบสนองสู้หรือหนี (fight-or-flight response) เช่น โนเรปเปนเนปฟริน (norepinephrine) หรือ อะดรีนาลีน (adrenaline), และ เซอโรโทนิน (Serotonin) เมื่อเรามีความเสน่หา โดพามีน กับ สารสื่อประสาทสู้หรือหนีจะเพิ่มขึ้น แต่ระดับของเซอโรโทนินจะลดลง

โดพามีน เป็นสารสื่อประสาทที่ใช้บ่งบอกความพอใจ และ ใช้เป็นการให้รางวัลในระบบการเรียนรู้ของสมอง การที่โดพามีนหลั่งออกมามาก ก็จะทำให้เกิดความอิ่มเิอิบสุขใจ

สารสื่อประสาทสู้หรือหนี ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ตื่นตัว ตื่นเต้น

เซอโรโทนิน เป็นสารที่เกี่ยวอารมณ์ ระดับของเซอโรโทนินที่ต่ำ ของคนที่กำลังตกหลุมรักนี้ คล้ายๆกับ คนที่มีอาการของโอซีดี (OCD: Obsessive-Compulsive disorder โรคหมกหมุ่น/ย้ำคิดย้ำทำ) และ ก็เป็นคำอธิบายว่า เวลาเราตกหลุมรักแล้ว เรามักจะคิดถึงแต่เขา/เธอ โดยไม่ค่อยคิดถึงอะไรอย่างอื่น ดังที่ เซอร์ เจมส์ บาร์รี่ (Sir James M. Barrie ) กล่าวว่า “If you have it [Love], you don't need to have anything else, and if you don't have it, it doesn't matter much what else you have.”; หากคุณมีความรักแล้ว คุณจะไม่ต้องการสิ่งใดอีก หากคุณไม่มีมันแล้ว ไม่ว่าอะไรที่คุณมีมันก็ไม่สำคัญแล้ว
ระดับของเซอโรโทนินที่ต่ำ ยังทำให้ เรามองข้ามข้อเสีย หรือ มีข้อแก้ตัวให้กับข้อบกพร่องของเขา/เธอคนนั้น หรือ ที่เรียกกันว่า ความรักทำให้คนตาปอด

รวมๆแล้วทำให้เวลาที่เราอยู่ในความรัก เราจะอิ่มเิอิบสุขใจ กระปรี้กระเปร่า สดชื่น ตื่นเต้น มีพลัง กล้าๆกลัวๆ ต้องการกินหรือนอนน้อยลง และจะ หมกหมุ่นกับเสน่หาใหม่นี้เป็นพิเศษ คิดถึงแต่เขา/เธอมากเป็นพิเศษ บางครั้งมองข้ามหรือละเลยอะไรหรือคนอื่นๆไป
อาการเหล่านี้ จะดึงดูดให้เราพยายามที่จะไปใกล้ชิด กับ คนที่เรารัก และ อาการหมกหมุ่นมองข้ามของเสียของคนรักนั้น เป็นกลไกที่ธรรมชาติสร้างมา ให้เราจะเข้าไปอยู่กับเขา/เธอได้นานพอที่จะฟูมฟักความสัมพันธ์(ถ้ามันไปได้) เพื่อที่จะเข้าสู้ระยะที่สามของความรัก

ระยะที่สาม ความผูกพัน (Attachment) ระยะนี้ เป็นความผูกพัน ซะมากกว่า เชื่อกันว่า ออกซิโทซิน (oxytocin) กับ วาสโซเพรสซิน (vasopressin) เป็นสารเคมีที่หลั่งออกมา จากการมีเพศสัมพันธ์ มันช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันขึ้น
ออกซิโทซิน ถูกรายงานถึงความสัมพันธ์ของมันกับ การคลอดลูก และ การให้นม ซึ่งช่วยอธิบายความผูกพันระหว่างแม่กับลูก อีกด้วย


นอกจาก ออกซิโทซิน กับ วาสโซเพรสซิน แล้ว เอนดอร์ฟินส์ (Endorphins) ยังถูกเชื่อว่า มีส่วนสำคัญกับ ความรักใคร่ผูกพัน โดย เอนดอร์ฟินจะสร้างความรู้สึกของ ความสุขสบาย ความรู้สึกผ่อนคลาย สงบสุขเบาใจ และ ปลอดภัย
ซึ่ง เอนดอร์ฟินส์ จะถูกหลั่งออกมาระหว่างการสัมผัส และ การออกกำลังกาย

ความรักเสน่หา (ระยะที่สอง) นั้นจะลดลงตามเวลา จากการศึกษาพบว่า ความรักเสน่หาจะลดลง จนเกือบหายไปหมด ภายในเวลา สองถึงสามปี ตอนนั้น โดพามีน สารสื่อประสาทสู้หรือหนี และเซอโรโทนิน ก็เกือบจะกลับเข้าระดับปกติ
ณ ตอนนั้น คนรัก ก็จะเริ่มมีข้อเสียขึ้นมา คุณอาจจะรู้สึกว่าเขาเปลี่ยนไป แต่จริงๆแล้วเขาอาจจะไม่ได้เปลี่ยนเลยก็ได้ เพียงแต่คุณไม่ได้ถูกปิดตาด้วย ความเสน่หาแล้วเท่านั้น ถึงจุดนี้ที่ความผูกพันจะเข้ามาเพื่อรักษาความสัมพันธ์แทน

แล้วอะไรหละที่ทำให้เราตกหลุมรัก เชื่อกันว่า เราแต่ละคน มีแม่พิมพ์ของคนที่เราอยากเป็นแฟนด้วยฝั่งอยู่ใต้จิตสำนึกกัน ไอ้แม่พิมพ์ที่ว่านี้ อาจจะมีเรื่อง หน้าตา บุคคลิกภาพ บางทฤษฏีบอกว่า เรามีแนวโน้มที่จะหาแฟนที่คล้ายๆ พ่อแม่ ของเรา บ้างบอกว่าจริงๆแล้วเราจะชอบคนที่คล้ายๆเราเองต่างหาก อาจารย์เดวิด เพอเรตต์ (David Perrett, University of St. Andrews) ได้ทดลองโดย อาจารย์แปลงภาพของผู้ร่วมทดลองเองให้เป็นหน้าของเพศตรงข้าม แล้วให้ผู้ทดสอบเลือกคนที่คิดว่าน่าสนใจดึงดูดที่สุด ผลคือว่า ผู้เข้าร่วมทดสอบมักจะเลือก รูปหน้าของตัวเอง ที่ถูกแปลงเป็นเพศตรงข้าม (โดยผู้เข้าทดสอบไม่รู้มาก่อน)
มีบางทฤษฏีที่กล่าวถึง กลิ่น ในบทบาทของ ฟีโรโมนส์ (Pheromones) โดยให้เหตุผลว่า จิตใต้สำนึก จะช่วยเลือกกลิ่นที่นำไปสู่ คู่ที่มีภูมิคุ้มกันที่ต่างกับตัวเราที่สุด ซึ่งถ้าเกิดการสมรสจะนำไปสู่บุตรที่มีภูมิคุ้มกันดีที่สุด
พอเข้าใจกลไกของความรักคร่าวๆแล้ว หัวข้อต่อไปที่จะพูดกันก็คือ อาการรักเขาข้างเดียว (Unrequited love) ที่เป็นหนึ่งในปัญหาหลักๆ ของความรัก

รักเขาข้างเดียว เป็น ความรัก ของผู้ที่รักแล้วไม่ได้รับการรักตอบ ถึงแม้ว่า ผู้รักจะอยากได้การรักตอบเป็นอย่างมาก โดยที่ คนที่ถูกรักอาจจะรู้หรือไม่รู้ ก็ได้
การที่ความต้องการความรักไม่ได้ถูกตอบสนอง อาจจะนำไปสู่ ภาวะเศร้าซึม ความเชื่อมั่้นในตัวเองต่ำ กังวล อารมณ์แปรปรวนเปลี่ยนไปมาระหว่างเศร้าซึมกับร่าเริงเป็นพิเศษ
แม้ว่าบางครั้ง สื่อ นิยาย หนัง หรือ ว่าค่านิยมบางอย่าง จะทำให้เรารู้สึกว่า การรักเขาข้างเดียวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่การรักเขาข้างเดียวเป็นผลเสียอย่างมากต่อตัวเราเองนะครับ ทั้งสุขภาพจิต ความมั่นใจในตัวเอง สุขภาพกาย และโอกาสอื่นๆที่เรามองข้ามไป รวมทั้งเสียเวลาและพลังงานที่ใช้ไปกับ การวิเคราะห์ท่าทางคำพูดว่าคนที่เรารักนั้นแอบมีใจให้เราหรือไม่, การวางแผนสร้างความประทับให้เขา/เธอ, การใช้เวลาฝันกลางวัน

“But maybe, love shouldn't be such hard work.” Dorothy Boyd (Jerry McGuire 1996)

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความสุข ถ้าความรักใดที่ไม่นำไปสู่ความสุข ความรักนั้นไม่ถูกต้องแล้วครับ ความรักที่ถูกต้อง ควรจะต้องไม่ยาก ควรจะต้องสร้างสรรค์ ควรจะนำไปสู่ความสุข
รักเขาข้างเดียว แม้จะถูกเอาไปเล่นในนิยายหลายเรื่อง และเชื่อกันว่าในช่วงชีวิตของคนส่วนใหญ่จะต้องประสบกัน แต่เรามีสิทธิเลือกได้ครับ เราไม่จำเป็นต้องอยู่กับความทุกข์ เราเรียนรู้ และเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเองได้

แล้วจะรู้ได้ไง ว่าเราไม่ได้ทิ้งโอกาสไป เขา/เธอ อาจจะคิดแบบเดียวกันก็ได้ … ถ้าเขา/เธอ คิดแบบเดียวกัน คุณน่าจะรู้ เขา/เธอ ก็จะอยากคุย อยากอยู่ อยากไปไหนมาไหน อยากทำกิจกรรมกับคุณ พอๆกับที่คุณรู้สึก ถ้าไม่อย่างนั้น เขา/เธอไม่ได้รู้สึกกับคุณ แบบเดียวกัน

แล้วจะรู้ได้ไงว่า เขา/เธอ อยากไปไหนมาไหนกับเรา … ก็คุยซิครับ หาดูว่ามีอะไรที่ชอบร่วมกัน แล้วลองชวนดู ถ้า เขา/เธอ มีใจ เดี๋ยวยังไงมันต้องได้ไปจนได้ ถ้ามีข้อแก้ตัวอยู่เรื่อย ก็แปลว่า ไม่มีใจ อาจจะลองใช้กฏสามสไตรค์ออกก็ได้ครับ คือ สามที ไม่ไปเลย แปลว่า จบ

ก็บางทีเธอ ก็เหมือนมีใจ บางทีก็ไม่ ตกลงเธอมีใจกับผม หรือเปล่า … คำตอบ คือ 1. ไม่มี 2. เธออาจจะไม่ว่าง เช่น มีแฟนอยู่ไกล มีใครอยู่แล้ว หรือ กำลังมองหาอยู่ แต่คุณไม่ใช่ … แต่ไม่ว่าจะเป็น เธอไม่มีใจ หรือ เธอมีใครอยู่แล้ว สรุปคือ ทำใจเถอะครับ คราวนี้ไม่ใช่คราวของคุณ คนนี้ไม่ใช่คนของคุณ

คำแนะนำในการจัดการกับความรักข้างเดียว คือ (1) ยอมรับว่า เขา/เธอ ไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกัน ตัดใจ และ ก้าวไปข้างหน้า (2) พยายามมองโลกในแง่ดี การผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดา มีคนอีกหลายคนที่ร่วมชะตากับคุณ ยังมีโอกาส มีอะไรดีๆให้เจออีกมากมาย มีคนที่เป็นเพื่อนคุณ เป็นห่วงคุณ อีกมาก (3) พยายามไม่คิด ไม่นึกถึงเขา/เธอคนนั้น พยายามหาอะไรทำที่สร้างสรรค์ (4) นึกถึงข้อดี ของตัวเอง เชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง และ มีความหวังที่ดี กับอนาคตที่จะมาถึง (5) อย่าเลี้ยงจิตมาร คือ อย่าใช้เวลาเศร้านานเกินไป ไม่ควรเกิน หนึ่ง หรือ สอง สัปดาห์ ถ้าเราใช้เวลาคิดเรื่องเศร้าๆมากๆนานๆ เท่ากับ เราได้ฝึกสมองของเรา ให้ชำนาญในการคิดและรู้สึกเศร้า (6) พยายามเปลี่ยนสภาพจิตออกจากสภาวะเศร้า เช่น ลองหัวเราะหลายๆแบบรวมทั้งแบบจอมมารวางแผนครองยุทธจักร เฮือ ฮ่า ฮ่า ๆ (7) บอกตัวเอง ทุกวัน วันละ 30 ครั้งว่า เรารักตัวเรา ในแบบที่เราเป็นอยู่ เราจะมีชีวิตที่ดี และ มีความสุข (8) หาทำกิจกรรที่สร้างสรรค์ การเรียนรู้อะไรใหม่ๆก็จะช่วยสร้างโดพามีนออกมา การออกกำลังกายก็จะช่วยสร้างเอนดอร์ฟินออกมา แสงแดดและอากาศบริสุทธิ์ ก็จะช่วยให้จิตใจปรอดโปร่งแจ่มใสขึ้นครับ

เราไม่อาจเข้าใจการดิ่งพสุธาโดดร่ม เพียงการเรียน อากาศพลศาสตร์ โดยปราศจาก การลองโดดร่ม ฉันใด เราก็มิอาจเข้าใจความรัก เพียงเข้าใจ การทำงานของสารสื่อประสาท โดยปราศจาก ความรักฉันนั้น
ความรักในภาคปฎิบัตินั้นสนุกมันส์ฮาไม่แพ้ ภาคทฤษฎีเลย และยังเป็นจุดขายที่นิยาย หนัง เพลง และ งานศิลปะในรูปแบบต่างๆนำไปใช้มากที่สุด
เดิมทีผมว่า ผมจะสรุป เคล็ดความรักภาคปฎิบัติ ของ Practical Happiness ออกมา แต่มันมีรายละเอียด และ มีข้อความที่ผมอาจจะสื่อสารได้ไม่ดีเท่าไร ก็เลยว่า ไม่ดีกว่า จริงๆแล้วเรื่องของการดึงดูดเพศตรงข้าม มันเป็นทักษะในเรื่อง คนและความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วย ถ้าเราเป็นคนที่ดี มีทัศนคติที่ดี มีทักษะระหว่างบุคคลที่ดี โอกาสจะเข้ามาหาเราเอง
มันเป็นการฝึกฝน และ เหมือนคำที่เขาพูดกันว่า ... บางครั้งการเดินทางนั้นก็น่าสนุกไม่แพ้จุดหมาย

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าท่านจะอยากมีความรักหรือไม่ กำลังมีอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเราก็คือ การมีชีวิตที่ดี และ มีความสุข
และผมเชื่อว่า เราแต่ละคนสามารถที่จะเลือกที่จะมีชีวิตที่ดี และมีความสุขได้ ครับ

ขอปัญญา ความกล้า พลัง และ ความรักที่สร้างสรรค์และสมหวัง จงมีแก่ทุกท่าน

ขอบคุณครับ

ดูเพิ่มเติม

กลไกของความรัก
Discovery Channel: Science of Sex appeal มีวีดิโอคลิปให้ดู
//www.youramazingbrain.org/lovesex/sciencelove.htm
//www.time.com/time/magazine/article/0,9171,1704672,00.html
//people.howstuffworks.com/love.htm
//en.wikipedia.org/wiki/Love
//ngm.nationalgeographic.com/ngm/0602/feature2/index.html

อาการรักเขาข้างเดียว
Wikipedia: รักเขาข้างเดียว
//www.physics.ohio-state.edu/~sstoneb/agony/
//www.ehow.com/how_2054274_deal-unrequited-love.html

เสริม
Broken hearts: The nature and risks of romantic rejection, Helen Fisher
CNN LARRY KING LIVE: Change Your Mind, Change Your Life, Aired August 2, 2008

free counters


Create Date : 02 กรกฎาคม 2552
Last Update : 17 สิงหาคม 2552 1:33:11 น. 3 comments
Counter : 2707 Pageviews.

 
อิอิ...บ้านนี้วิชาการเยอะจังเล้ยยยยย...


โดย: น้องข้าวเหนียวกะพี่หมูปิ้ง (MooBamBam ) วันที่: 2 กรกฎาคม 2552 เวลา:11:29:06 น.  

 


โดย: nanajazz วันที่: 3 กรกฎาคม 2552 เวลา:0:13:34 น.  

 
อ่านแล้วได้คิดอะไรเยอะเลยค่ะ ขอบคุณ จขบ. ค่ะ


โดย: ปูเป้ (Suphasateankul ) วันที่: 4 กรกฎาคม 2552 เวลา:2:07:07 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.