space
space
space
<<
มีนาคม 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
20 มีนาคม 2558
space
space
space

เล่าเรื่องจากการแข่งดนตรีที่ไต้หวัน
เล่าเรื่องจากการแข่งดนตรีที่ไต้หวัน (1)



เอาหละ! ห่างเหินจากแป้นพิมพ์ไปเสียนาน ต้องกราบขอโทษท่านผู้อ่านทุกท่านที่มิได้เพิ่มเติมข้อเขียนบทความเรื่องเล่าใหม่ๆ เลย เนื่องด้วยหลังจากกลับมาจากไต้หวันนั้น ชีวิตได้ระเห็จไปที่นั่นที่นี่อีกถึงสองครั้งสองครา คือ ที่ Eastman School of Music, Rochester, New York เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์และที่ Fort Wayne Philharmonic, Fort Wayne, Indiana เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง การจะไปทั้งสองแห่งนี้ก็ต้องการการเตรียมตัวศึกษาเพลงต่างๆ เช่นเดียวกันกับการไปแข่งขันดนตรีที่ไต้หวันจึงมิได้มีเวลามาเขียนเพิ่มเลยครับ

หากนับจากวันที่เดินทางกลับจากประเทศไต้หวันมาที่ Ann Arbor, Michigan นั้น ก็นับเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มแล้ว สรุประยะทางไปกลับรวมๆ แล้วประมาณ 18,000 ไมล์เท่านั้นเอง นั่งเครื่องบินกันก้นชาเลยหละครับ ต้องขอขอบคุณ American Airlines อีกครั้งหนึ่งที่นำผมไปและกลับมาอย่างปลอดภัย แต่ขอบ่นเสียหน่อยว่า American Airlines ขาจาก Chicago กลับมา Detroit โดนยกเลิกอีกแล้วครับ จึงได้ไปสิงสถิตอยู่ที่โรงแรม Westin O'Hare 1 คืนเต็ม ซึ่งมิใช่เรื่องไม่ดีแต่อย่างใด หากภรรยาต้องขับรถออกมารับคืนนั้น คงจะแย่น่าดูชม เนื่องจากพายุหิมะลงในคืนนั้นและวันรุ่งขึ้นได้ค้นพบว่ายางรถนั้นถูกตะปูตำ รั่ว แบนสนิท หากนำออกมาขับท่ามกลางพายุหิมะในคืนนั้นอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ ขอบคุณพระเจ้ามา ณ ที่นี้

ในขณะที่กระผมกำลังแก่ตัวลงทุกวัน (เพิ่งครบ 29 ปีบริบูรณ์) จึงกลัวที่จะลืมประสบการณ์ที่ได้รับจากชีวิต 2 สัปดาห์ที่ประเทศไต้หวัน จึงอยากนำมาเล่าเป็นข้อคิด ความรู้แก่ผู้อ่านและเก็บไว้สำหรับตัวเองในยามแก่เฒ่า

ขอกล่าวถึงผลการแข่งขันเลยแล้วกัน คือ "ตกรอบแรก" อิอิ แบบไม่ต้องลุ้นทีเดียวเชียว . . . แอบเสียใจเป็นแน่ แต่ไม่ถึงกับเลือดตกยางออก ต้องใช้เวลานั่งเลียบาดแผลในใจอยู่นานทีเดียว กระซิกๆ 

จริงแล้ว อาจารย์ได้เคยกล่าวเตือนกระผมไว้ดีเกี่ยวกับโลกแห่งการแข่งขันคอนดั๊กติ้งเมื่อครั้งกระผมยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Missouri-Kansas City ว่า "ปริญญา การแข่งขันเหล่านี้มักมีการกำหนดผู้ชนะเอาไว้ก่อนแล้ว ผู้ชนะมักเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับกรรมการ กับผู้จัดการแข่งขัน กับอำนาจมืดนอกการแข่งขัน ผู้ที่สามารถเอาไปปลุกปั้นเป็นดารา (เพิ่ม - โลกคอนดั๊กติ้งก็มีดารานะครับ) ต่อไปได้ ผม [อาจารย์] เองเคยไปแข่งขันเมื่อครั้งอดีตกาล เห็นกับตาว่าคนเก่งถูกตัดสิทธิ์ออกแต่เนิ่นๆ ในรอบปฐม เพื่อคนที่ถูกกำหนดไว้แล้วจะได้เป็นผู้ชนะ จะได้ไม่ถูกมองว่ากรรมการไม่ยุติธรรมในรอบชิงชนะเลิศ เป็นการกำจัดตัวเลือกนั่นเอง นั่นคือความจริงที่คุณต้องรับรู้" 

สิ่งที่อาจารย์เล่ามานั้นอาจจะจริงหรือไม่จริงสำหรับการแข่งขันที่ไต้หวัน ผมไม่อาจทราบได้เลย แต่เมื่อดูผู้เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแล้วก็ยังสงสัยอยู่ในใจน้อยๆ ของกระผมว่ากรรมการเลือกเขาเหล่านั้นเข้ามาได้อย่างไร แต่ละคนก็ดูฝีมือธรรมดา แต่อย่างไรกระผมก็ดีใจกับทั้ง 3 คนนะครับ ได้เงินรางวัลมากโขทีเดียว

หลายๆ คำถามเกิดขึ้น หากสิ่งที่อาจารย์เล่ามาเป็นความจริง แล้ว อะไรคือเก่ง? อะไรคือไม่เก่ง? อะไรคือความจริง? อะไรคือความไม่จริง? อะไรคือไม่สำเร็จ? อะไรคือความสำเร็จ? โลกดนตรี โลกคอนดั๊กติ้งนี่ก็มายาใช่เล่นนะ? และอื่นๆ . . .

กระผมยังคิดไม่ออกว่าตัดสินใจไปแข่งทำไม? อาจจะไม่เชื่อคำสอนของอาจารย์จึงต้องการไปพิสูจน์หรือ? หรือว่าเพียงต้องการพิสูจน์ตัวเอง? หรือว่าเพียงต้องการค้นหาคุณค่าแห่งชีวิต? เพราะเงินรางวัลหรือเปล่า?

นั่น เป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่กระผมได้เรียนรู้จากการแข่งขัน . . . ยังไม่มีคำตอบกับคำถามเหล่านั้น ปล่อยให้กาลเวลาและประสบการณ์เป็นเครื่องพิสูจน์


(อาคาร Taipei 101 ครับ)

เรื่องที่ 2 คือ กระผมช่างไม่มีประสบการณ์ในการแข่งขันเอาเสียเลย จึงไม่ทราบว่าเมื่อขึ้นไปบน Podium แล้วควบคุมวงนั้นกรรมการกำลังมองหาสิ่งใดในตัวของกระผม ท่าทางสวยงามหรือ? คำพูดฉะฉานหรือ? เอิ่ม . . . ไม่มีความคาดหวังใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่กระผมมี คือ รู้จักเพลงดีมาก รู้ว่าตัวเองมีฝีมือในการคอนดั๊ก รู้ว่าจะต้องแก้ไขให้วงเล่นได้ดีขึ้นอย่างไร รู้ว่าจะต้องเป็นมิตรและให้เกียรติสมาชิกของวงออเคสตรา กระผมจึงตัดสินใจที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองเป็น คือ ฟัง คอนดั๊กให้น้อยที่สุด มีปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไขไปทีละจุด ร้องเรียกเอาส่ิงใดสิ่งหนึ่งด้วยคำพูดที่นิ่มนวล หยุดให้น้อย เมื่อหยุดจะพูดให้ได้ใจความชัดเจนไม่คลุมเครือ พยายามไม่เอาตัวเองไปยุ่งเกี่ยวมากเพราะสิ่งสำคัญ คือ "ตัวดนตรี" นั่นคงมิใช่สิ่งที่กรรมการมองหากระมัง ย้อนกลับไปปัญหาแรก และ เป็นปัญหาสืบเนื่องมาถึงเรื่องที่ 3 

เรื่องที่ 3 คือ กระผมคิดว่าเวลา 15 นาทีนั้น ไม่สามารถถูกใช้ในการตัดสินคนหนึ่งคนว่าดีหรือไม่ดี สิ่งนี้สามารถนำไปประยุกต์ได้กับหลายๆ สิ่งในสังคมที่เป็นอยู่นี้ คงจะเป็นเรื่องประหลาดหากกระผมได้คุยกับใคร 15 นาทีแล้วจะบอกได้ว่าคนนั้นเป็นคนดีหรือคนเลว จนกว่าที่กระผมจะได้ไปทำความรู้จัก สนิทชิดเชื้อให้มากขึ้น จึงจะตัดสินสิ่งใดๆ ได้ กระผมจะพูดในแง่มุมของคอนดั๊กติ้ง ว่า เป็นปรากฎการณ์เดียวกับคำอธิบายข้างต้น ส่วนตัวแล้วนั้นการเป็นคอนดั๊กเตอร์ที่ดี นอกจากเรื่องที่จะต้องมีฝีมือทางดนตรีแล้ว เรื่องของบุคลิกภาพ สัมพันธภาพของคอนดั๊กเตอร์กับวงดนตรีเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เวลา 15 นาทีคงจะบอกไม่ได้ว่ากระผมเป็นคอนดั๊กเตอร์ที่ดีหรือเลว

กระผมมีวิธีการทำงานกับวงออเคสตราที่ต้องใช้เวลาสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพื่อจะรู้จักสมาชิกแต่ละคน เพื่อจะรู้ว่าแต่ละคนแต่ละ Section ต้องการหรือไม่ต้องการสิ่งใด หลังจากการซ้อมนั้น (กี่ครั้งก็ว่ากันไป) สุดท้ายแล้วในการแสดงกระผมจะปล่อยให้ออเคสตรานั้นมีชีวิตของตัวเองราวกับว่ากำลังเล่น Chamber Music กันอยู่โดยที่กระผมจะคอนดั๊กให้น้อยที่สุดและมุ่งไปที่การฟังและสนุกไปกับสมาชิกของวงมากกว่าที่จะยืนโบกกำกับเป็นตำรวจจราจรอยู่ตลอดเวลา อธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่า "Do not get in the orchestra's way" แล้วกัน เพราะฉะนั้นเวลา 15 นาที ไม่พอที่กระผมจะสามารถเป็นในตัวตนที่กระผมเป็นได้เลย กว่าที่ออเคสตราจะเล่นเข้ากับเทคนิคของกระผมได้นั้น ก็ปาเข้าไป 10 นาทีแล้ว นกกระจอกยังไม่ทันกินน้ำเลยครับ เอ๊ะ! หรือว่าผมทำอะไรผิดครับ เขาอยากให้ผมเป็น Hitler กระมัง คอยชี้นิ้วสั่งว่าให้ทำอะไร (หวังว่าจะไปเป็นอย่างนั้น)

"กริ๊ง! เสียงกระดิ่งบอกหมดเวลาดังขึ้น ผมยังทำงานไปได้ไม่จบเพลงเลย ต้องจรลีจากทุกๆ คนไปเสียแล้ว . . . "

หลังจากรู้ผลการแข่งขัน กระผมเสียศูนย์ไปพักใหญ่ ต้องโทรหาภรรยา อีเมล์คุยกับอาจารย์และใช้เวลาสงบนิ่งอยู่นานกว่าจิตใจที่ชอกช้ำจะได้รับการรักษาเยียวยาให้เข้าที่เข้าทางและดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเป็นปกติได้ ขอขอบคุณคุณพ่อและคุณแม่ที่เป็นกำลังใจให้มา ณ ที่นี้ด้วย ได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า ความล้มเหลวในการแข่งขันในฐานะคอนดั๊กเตอร์มิได้เป็นเครื่องบ่งชี้คุณค่าแห่งชีวิตแต่อย่างใด ทุกๆ คนยังรักและเป็นห่วงกระผมอยู่วันยังค่ำในฐานะสามี ลูก ลูกศิษย์ หรือเพื่อน และไม่ได้แปลว่ากระผมไม่สามารถเป็นคอนดั๊กเตอร์ที่ดีได้ ถ้าผู้อ่านได้คิดตามคำถามต่างๆ นาๆ ที่กระผมได้ตั้งไว้ คงอาจเข้าใจได้มากขึ้น

สิ่งสุดท้ายที่ผมเรียนรู้ คือ ผมได้ลองแข่งขันแล้ว และต่อไปนี้ผมคงจะไม่ได้แข่งขันอะไรใดๆ อีก เนื่องจากความเป็นมายานั้นบดบังความเป็นจริงไปเสียฉิบ และกระผมไม่ถูกจริตกับสิ่งนั้นเสียด้วย ที่แย่ไปกว่านั้น มายาคติและความสำเร็จนำมาซึ่งการละเลยเรื่องที่สำคัญที่สุดไป คือ "ดนตรี" 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันต่างๆ มักนำมาซึ่งมากกว่าผลของการแข่งขัน การแข่งขันเฉกเช่นเดียวกันดนตรี เป็นเพียงเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ ศึกษาชีวิต พัฒนาตน

การเดินทางรอบนี้ทำให้ผมได้กลับมาอาศัยอยู่ในทวีปเอเชียอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้เป็นเวลาสั้นๆ เพียงสองสัปดาห์ ถือว่าได้กลับมาใกล้บ้านขึ้นอีกนิดแม้ว่าจะไม่ได้กลับประเทศไทยก็ตาม กระผมไม่เคยมาประเทศไต้หวันมาก่อน ประสบการณ์กับประเทศไต้หวันและชาวไต้หวันนั้นมีอยู่บ้างจากชีวิตชาวเมืองกรุงฯ เนื่องจากคุณแม่ส่งไปเรียนภาษาจีนไต้หวันแถวๆ ย่านพระราม 4 เมื่อครั้งยังอยู่ชั้นมัธยมและโบสถ์ที่กระผมไปเป็นประจำที่เมืองไทยนั้นมีสมาชิกชาวไต้หวันร่วมอยู่กันเป็นจำนวนมาก และอีกอย่างคือไต้หวันมักมีข่าวเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชกต่อยกันเป็นประจำ

การได้เดินทางรอบนี้ทำให้กระผมได้ฝึกพูดภาษาจีน ได้ลองชิมอาหารท้องถิ่น ได้สังเกตุชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไต้หวัน ได้จ้องมองใคร่ครวญดูโบราณสถานและโบราณวัตถุ ได้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศเขา ได้ชมคอนเสิร์ทของวงดนตรีท้องถิ่น ได้พบปะกับเพื่อนจาก UMKC ที่กลับมาพำนักที่บ้านเกิด ที่สำคัญที่สุด คือ ได้มีเวลาให้กับตัวเองคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตอีกครั้ง เป็นช่วงเวลา Enlighthenment สั้นๆ 

แถมอีกหน่อยว่าระหว่างช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่อยู่ที่ไต้หวัน กระผมได้มุ่งลงใต้ไปยังประเทศฮ่องกงอีกด้วยครับ

มาอ่านต่อกันวันพรุ่งนี้นะครับ จะเล่าให้หมดเปลือกไปเลย วันพอแค่นี้ก่อน ต้องออกไปทำภารกิจข้างนอกบ้านครับ




Create Date : 20 มีนาคม 2558
Last Update : 20 มีนาคม 2558 2:12:34 น. 0 comments
Counter : 964 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

drparinyamusic
Location :
Ann Arbor, Michigan United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




I am a classical musician who conducts, arranges, composes, performs, and administers musical events. Besides classical music, I am an avid cook who specializes in Thai comfort food, as well as an amateur stock-market investor. I live in Ann Arbor, Michigan but spend summer months in Bangkok, Thailand.

Please visit https://www.joeparinya.com to learn more about me.

space
space
[Add drparinyamusic's blog to your web]
space
space
space
space
space