<<
กรกฏาคม 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
8 กรกฏาคม 2556

ชมวัดเก่า เล่าความหลัง เมืองสุพรรณฯ




















สุพรรณบุรี เป็นเมืองสมัยโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดีมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวาราวดี ศรีวิชัย และกลายเป็นเมืองหน้าด่านยามศึกสงครามสมัยก่อน


"เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม"


สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง"
จากกรุงเทพฯ สู่สุพรรณบุรี ใช้ถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340) มีป้ายทางหลวงบอกเป็นระยะ ใช้เวลาไม่นานนัก ที่เขาว่า "ถนนเรียบกริ๊บ เมื่อเข้าเขตเมืองสุพรรณฯ รถกระโดกกระเดกเมื่อไหร่ หมายถึงพ้นเมืองสุพรรณ" เห็นท่าจะจริง


ใครไปสุพรรณบุรี มักแวะวัดป่าเลไลยก์ วัดใหญ่ใจกลางเมือง แต่อาทิตย์นี้ อยากพาไปตามถนนหมายเลข 3057 ก่อนถึงตัวเมืองสุพรรณ ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่ มีเรื่องราวน่าสนใจหลายแห่ง อ้อ... ถ้าใครอยากจะไปทำบุญไหว้พระ 9 วัด ช่วงเข้าพรรษาที่ใกล้เข้ามา ไปที่นี่รับรองคุ้มค่า ครบ 9 วัดสบายๆ ในครึ่งวันสำหรับคนมีเวลาน้อย และไม่ต้องเหนื่อยมาก อิ่มบุญ อิ่มใจ แล้วยังเห็นพระพุทธรูป Unseen อีกด้วย จนน่าจะเรียกถนนเส้นนี้ว่า ถนนสายบุญ ซะจริงๆ


จุดหมายแรกที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดพระธาตุ วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ต้นตำรับ “พระผงสุพรรณ” อันเลื่องชื่อ และยังมีพระเครื่องที่มีชื่อเสียง อาทิ พระกำแพงศอก พระมเหศวร วัดนี้ถือได้ว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของสุพรรณบุรี มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง หรือไม่ก็ในสมัยสมเด็จพะรามาธิบดีที่ 2


ปัจจุบัน สร้างโบสถ์ใหม่ขึ้นมา แต่ก็ยังบำรุงรักษาโบสถ์เก่าไว้ในสภาพดีและเป็นที่ประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ และพระพุทธรูปหินทราย ที่ตั้งเรียงรายอยู่รอบโบสถ์ ถึง 279 รูป ด้านหลังมีปรางค์องค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เปิดให้พุทธศาสนิกชนได้ขึ้นไปกราบไหว้ด้วย


จากวัดพระพระศรีรัตนมหาธาตุ เลยไปราว 2 กม. จะถึง วัดแค อยู่ฝั่งขวามือ นี่ก็เป็นวัดเก่าแก่มีชื่อปรากฏในวรรณคดี เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ภายในวัดมีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ราว 10 เมตร เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามจากต้นมะขามต้นนี้ให้เป็นตัวต่อตัวแตน ไว้โจมตีข้าศึก ซึ่งทางวัดได้สร้าง "คุ้มขุนแผน" เรือนไทยทรงโบราณ ไว้ใกล้กับต้นมะขามยักษ์ด้วย นอกจากนี้ ที่วัดยังมีวัตถุโบราณอีกมาก ทั้งพระพุทธบาทสี่รอย พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบศิลปะรัตนโกสินทร์ จีวรและอังสะเป็นดอกพิกุลงดงาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสวัดแคเมื่อ พ.ศ. 2447


จากวัดแค ไปตามถนนสาย 3057 ซึ่งอยู่บนถนนเดียวกันนี้ มีวัดตั้งอยู่เรียงราย อาทิ วัดหน่อพุทธางกูร, วัดพระลอย ก่อนจะไปถึงวัดพระนอน ที่ห่างออกไปราว 4.1 กม.


วัดพระนอน อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวิหารริมน้ำ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักจากหิน มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น คือ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในลักษณะนอนหงาย ที่เรียกว่า ปางถวายพระเพลิง ขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ 2 เมตร อยู่ในท่านอนหงาย คล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และถูกจัดเป็น Unseen Thailand ด้วย โบสถ์ไม่ใหญ่มาก หากไปกันกลุ่มใหญ่ ก็ต้องทยอยกันเข้าไปปิดทององค์พระกันล่ะ ปิดทองไหว้พระเสร็จยังลงไปเดินเล่นให้อาหารปลาที่แพท่าน้ำได้


ไหนๆ มาถึงวัดพระนอน ก่อนกลับ ขอขับรถเลยไปอีกหน่อย ถึง อ.สามชุก แวะเที่ยวตลาดเก่าแก่อายุ 100 กว่า ปี ที่ขึ้นชื่อในการรักษาสภาพให้คงอยู่แบบเดิมๆ จนมีชื่อเสียง ผู้คนเดินทางไปเที่ยวชม จนกลายเป็นต้นตำรับตลาดเก่าร้อยปี ไปโดยปริยาย


ตลาดสามชุก ในช่วงวันหยุดจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว มีทุกเพศทุกวัย เข้าตรอกนั้น ออกซอยนี้ แวะบ้านนั้น พักร้านนี้ นักท่องเที่ยวเยอะขนาดว่าต้องขยายลานจอดรถ ข้ามฝั่งคลองไปอีก แต่ถ้าไปวันธรรมดา ชีวิตดูจะวุ่นวายน้อยลง


ที่นี่ก็เหมือนตลาดทั่วไป มีทั้งร้านขายของกินของใช้ แต่ที่แตกต่างไป ก็คือการอนุรักษ์ข้าวของต่างๆ ให้คงอยู่ ของใช้สมัยก่อนบางอย่างหาที่ไหนไม่ได้ ก็อาจจะมาหาซื้อได้ที่นี่เหมือนกัน ร้านขายของเล่นแบบเก่าๆ หรือของเล่นสังกะสี ไปจนถึงของเล่นสมัยใหม่ และของประเภทไอเดียร้านถ่ายรูปที่ยังมีเครื่องถ่ายรูปแบบเก่าให้นักท่องเที่ยวใช้บริการภาพถ่ายย้อนยุค หรือร้านขายยาจีน ที่ยังเก็บรักษาเครื่องบดยาโบราณไว้ให้ดูเล่น และสำคัญเห็นจะเป็น "บ้านขุนจำนงจีนารักษ์" ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมสภาพของบ้านเดิม ที่เมื่อก่อนเป็นโรงฝิ่น แต่เมื่อมีกฎหมายยกเลิกการสูบฝิ่น ที่นี่ก็เป็นเพียงบ้านพัก และวันนี้เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าความเป็นมาของสามชุก ให้คนรุ่นหลังได้ทราบกัน


ขึ้นไปบนบ้านของขุนจำนงจีนารักษ์ จะเห็นได้ทั้งบรรยากาศของบ้านแบบเก่า และเรื่องราวความเป็นไปของ "สามชุก" ที่จัดเป็นภาพถ่ายประดับข้างฝาบ้าน ให้เราๆ ได้รู้จักเมืองนี้กันมากขึ้นด้วย ทั้งที่มาของชื่อ และการติดต่อค้าขายทางเรือกับพื้นที่อื่นๆ เป็นแหล่งรวมการคมนาคมทางน้ำที่ติดต่อกับพื้นที่ป่าเขาเช่น สวรรคบุรี ชัยนาท และสิงห์บุรี


ก่อนจะมาเป็นสามชุกในวันนี้ เมื่อก่อนชื่อ "อำเภอนางบวช" เคยย้ายที่ตั้งมาหลายครั้ง และรวมถึงย้ายไปตั้งที่บ้านสำเพ็ง เป็นแหล่งติดต่อค้าขายสำคัญ ไม่แพ้สำเพ็งในปัจจุบัน และย้ายหลังสุดคือมาอยู่ริมลำน้ำสุพรรณบุรี หรือแม่น้ำท่าจีน ในสมัยรัชกาลที่ 8 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นสามชุก ส่วนที่มาของชื่อ ต้องไปอ่านจากบ้านขุนจำนงจีนารักษ์นี่แหละ ได้อารมณ์ที่สุด


ที่ตลาดสามชุก ยังมีร้านกาแฟท่าเรือส่ง ที่วันนี้ไม่ได้อยู่ติดท่าเรือแล้ว แต่รสชาติยังเป็นที่ติดใจไม่เปลี่ยนแปลงในการชงแบบเดิม ที่เขานิยมเรียกกันว่า "กาแฟโบราณ" ไม่ไกลกันมีร้านขายเป็ดย่างขึ้นชื่อ ร้านขายข้าวห่อใบบัวที่ฝีมือไม่มีตกหล่นมาจนถึงวันนี้


อีกเรื่องที่บอกเล่าถึงความเป็นตลาดคึกคักของเมืองสามชุกในสมัยก่อน คือโรงภาพยนตร์กลางตลาด รวมถึงโรงแรมที่พักขนาดเล็ก ที่ทุกวันนี้เป็นที่ติดต่อ พบปะ หลังจากเดินตลาดมาเหนื่อย แวะจิบกาแฟ พักขาที่นี่ก็ดีไม่น้อย แต่ถ้าจะพักกันจริงจัง แนะนำลองมองหารีสอร์ทขนาดเล็ก ริมน้ำ ไม่ไกลจากตลาดร้อยปีอยู่หลายแห่งให้เลือกใช้บริการ ได้กลิ่นอายธรรมชาติและบรรยากาศเก่าๆ กลับมาให้รู้สึกว่า ชีวิตไม่ได้จำเป็นต้องเร่งรีบทุกวัน


จริงๆ สุพรรณบุรียังมีสถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองอีกมากมาย ถ้ามีเวลามากกว่า 1 วัน แต่ถ้าโอกาสไม่มาก ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย ยิ่งในช่วงฤดูฝนแบบนี้ ท่องเที่ยวใกล้บ้าน อิ่มท้อง อิ่มบุญ อิ่มใจ สบายที่ซู้ดดด




ข้อมูลโดย คม ชัด ลึก















 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2556
1 comments
Last Update : 8 กรกฎาคม 2556 21:15:04 น.
Counter : 2839 Pageviews.

 

 

โดย: ญามี่ 8 กรกฎาคม 2556 21:16:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ญามี่
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 260 คน [?]






อัพบล็อกครั้งแรก ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑
free counters
who's online
คนพูดน้อยคิดบ่อยแต่ไม่เงียบ
ไร้ระเบียบเคลิ้มครุ่นอณูคุ้นฝัน
ไม่ประวิงหากทิ้งจักลืมวัน
พลัดผ่านพลันหากจากยากฝากคอย...











[Add ญามี่'s blog to your web]