. . เ ส รี ภ า พ แ ห่ ง ค ว า ม คิ ด . .
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 มกราคม 2553
 
 
ต อ ก ฝ า โ ล ง ไ ล่ 3 น า ย พ ล . .




"มาร์ค" ปิดประตูไม่รับมติ ก.ตร.อุทธรณ์อุ้ม 3 นายพลรอบสองเข้า ครม. ยันต้องยึดกฤษฎีกาตีความ รักษาระบบองค์กรอิสระให้ศักดิ์สิทธิ์ ไล่คนถูกลงโทษไปร้องศาลปกครองเอาเอง ระบุฝ่ายบริหารต้องรู้จักจำกัดขอบเขตอำนาจตัวเอง ตำรวจแก่โวยสีกากีไม่ได้รับความเป็นธรรม "เรืองไกร" หนุนส่งศาล รธน.วินิจฉัย อ้างเกรงสังคมสับสน "การเมืองใหม่" เตรียมฟ้อง ก.ตร.ใช้อำนาจมิชอบ "เพื่อไทย" ซัดแค่ละครการเมือง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ถึงปัญหากรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติเห็นแย้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.ภ.จ.อุดรธานี ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า อาจจะเป็นข่าวคราวซึ่งเกิดความสับสนกันอยู่ในเรื่องของอำนาจระหว่าง ก.ตร.กับ ป.ป.ช.

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้มีการชี้มูลเหตุการณ์ดังกล่าวว่ามีตำรวจทำผิดวินัยร้ายแรงอยู่ ต่อมาได้ส่งเรื่องให้รัฐบาล ตนและรักษาการ ผบ.ตร.ได้สั่งลงโทษตามมติของ ป.ป.ช.จากนั้นมีบุคคลที่ถูกลงโทษใช้สิทธิในการอุทธรณ์ตามกฎหมายของตำรวจ โดย ก.ตร.พิจารณาเรื่องการอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับมติของ ป.ป.ช. เมื่อตนเป็นคนหนึ่งที่ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.และได้ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ป.ป.ช.มาโดยตลอด จึงสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็ตรงกับความเข้าใจมาโดยตลอด คือ ในกฎหมาย ป.ป.ช.เขียนว่ากระบวนการอุทธรณ์ตามกฎหมายบริหารงานบุคคลทั้งหมดทำได้ แต่จะอุทธรณ์ได้เฉพาะในเรื่องดุลพินิจของการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชา ไม่สามารถที่จะไปอุทธรณ์ในประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยไปแล้ว

มาร์คชี้รู้ขอบเขตตัวเอง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก.ตร.หรือผู้เกี่ยวข้องอาจจะมีความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยไป แต่ระบบที่จะไปคานอำนาจกับ ป.ป.ช. สามารถทำได้โดยให้บุคคลเหล่านี้ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งในอดีตก็มีหลายครั้งที่ศาลปกครองกลับมติของ ป.ป.ช. ที่จะต้องเป็นเช่นนี้ก็เพราะเราต้องให้ ป.ป.ช. ศาลปกครอง หรือองค์กรอิสระทั้งหลายมีความศักดิ์สิทธิ์ ฝ่ายบริหารถ้าหากสามารถที่จะไปลบล้างคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระได้ นั่นเท่ากับว่าองค์กรอิสระจะไม่มีความหมาย

"เรื่องนี้ผมจะต้องดำเนินการเพื่อยืนยันหลักอันนี้ มิฉะนั้นแล้วปัญหาในเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่น หรือการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เราก็จะไม่มีกลไกที่เป็นองค์กรอิสระที่มีความศักดิ์สิทธิ์เลย เรื่องนี้ไม่ว่าใครจะมีความเห็นในเรื่องของข้อเท็จจริงอย่างไร เรามีความจำเป็นที่จะต้องรักษาระบบให้องค์กรอิสระนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อที่จะให้องค์กรเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และฝ่ายบริหารต้องรู้จักในการที่จะจำกัดขอบเขตอำนาจของตัวเอง ส่วนความเป็นธรรมอย่างที่เรียน ยังมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรอิสระด้วยกันเองได้" นายกรัฐมนตรีกล่าว

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า จะส่งเรื่องที่ ก.ตร.เสนอมากลับไปให้ ก.ตร.และชี้ให้เห็นว่ามตินี้น่าจะเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย เมื่อส่งกลับไป ก.ตร.จะพิจารณาอย่างไรก็อยู่ที่ ก.ตร. ซึ่งถ้ายังยืนยันมติเดิมก็เป็นเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียจะเป็นผู้พิจารณา จะไปใช้สิทธิ์กันอย่างไร แต่สิ่งที่ตนเรียนคือหากจะทำให้ง่ายที่สุด ก.ตร.ควรจะยึดถือตามกรอบของรัฐธรรมนูญและบอกให้บุคคลที่ถูกลงโทษทั้งหมดไปร้องที่ศาลปกครอง ตรงนั้นเป็นทางออกที่เป็นมาตรฐานที่ทำกันมา จะได้ไม่เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมาใหม่

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาเกิดปัญหาในการประชุม ก.ตร.หลายครั้ง จำเป็นหรือไม่ที่นายกฯ จะดึงอำนาจในการดูสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาดูแลเอง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนจะสอบถามนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร.อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร เพราะตั้งแต่มีมติของ ก.ตร.เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีโอกาสพบกับนายสุเทพเลย

"ผมเห็นใจ เพราะรองฯ สุเทพก็ปรารภกับผมเองหลายครั้งว่าการจะหาข้อยุติหรือความคิดร่วมกันใน ก.ตร.เป็นเรื่องยากเกือบทุกเรื่อง และความขัดแย้งก็มีสูง แต่รองฯ สุเทพก็พยายามอยู่ ซึ่งผมก็เห็นใจไม่ใช่ไม่เห็นใจ แต่ความถูกต้องกับระบบมันต้องรักษาเอาไว้ ฉะนั้นต้องหาความพอดีตรงนี้ให้ได้" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ปิดประตูไม่รับอุทธรณ์

ซักว่า นายกฯ ยืนยันจะไม่ส่งเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่เห็นเรื่อง ถ้าจะเสนอต่อ ครม.ก็ต้องเสนอมาที่ตนเองเพื่อที่จะอนุมัติให้นำเข้า ถ้าจะเป็นวาระจรก็ต้องให้ตนเซ็นเข้า แต่ที่ขอความเห็นกฤษฎีกาไปนั้นกฤษฎีกาเคยชี้ว่า ครม.เองก็ไม่มีอำนาจในการที่จะไปส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการจะส่งศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องขัดแย้งกัน ก.ตร.ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็น ครม.นั้นใช่ แต่ ครม.ไม่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เพราะเรื่องนี้เป็นอำนาจระหว่าง ป.ป.ช.กับ ก.ตร.

ถามว่า ทางพันธมิตรฯ เตรียมที่จะร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ถอดถอน ก.ตร.ทั้งชุด เพราะจงใจทำผิดรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนคิดว่านี่จะเป็นปัญหาที่ลุกลามออกไป ถ้าเราไม่ยึดเอาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถึงบอกว่าดีที่สุดการให้ความเป็นธรรม คือไปผ่านกระบวนการของศาลปกครอง

ด้าน พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ กรรมการ ก.ตร.และเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการอุทธรณ์ ซึ่งเป็นผู้พิจารณาคำอุทธรณ์ของ 3 นายพล รวมทั้งเสนอให้ ก.ตร.ว่าทั้งหมดไม่มีความผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นกรณีนายกฯ ไม่เห็นด้วยกับมติ ก.ตร.อีกครั้ง โดยระบุว่า เรื่องนี้เป็นมติของที่ประชุม ก.ตร.คงไม่สะดวกที่จะพูดตอนนี้ และในการประชุม ก.ตร.ที่ผ่านมาได้อภิปรายในประเด็นนี้อย่างหลากหลายแล้ว

พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร.และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มติของ ป.ป.ช.ไม่ถูกต้อง เพราะ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องทุจริต แต่ถามว่านายตำรวจที่ถูกชี้มูลกระทำทุจริตหรือไม่ ปัญหานี้เกิดจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลากเรื่องนี้เข้าไปทำ แต่ทำไมไม่มีใครหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ไม่รู้ไปกลัวอะไรกัน ตำรวจก็ไม่กล้าพูด อย่างกรณี พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ชัดเจนว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะตามระเบียบหน้าที่แรกของข้าราชการตำรวจคือถวายการอารักขา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเป็นลำดับแรก ถึงจะมีเหตุการประทะกันระหว่างมวลชนสีเหลืองและแดงก็จริง แต่ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ได้เลือกไปทำหน้าที่สำคัญกว่าคือการเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายการอารักขา

"คณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับไม่ให้ความสำคัญในเหตุผลที่ชี้แจง หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่าหน้าที่การถวายการอารักขาไม่มีความสำคัญ อยากให้จะตอบว่าหน้าที่ไหนสำคัญกว่า เพราะ ผบก.ภ.จว.อุดรธานีไม่สามารถทำทั้งสองสิ่งได้ในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับกรณีเรื่องการสลายการชุมนุม 7 ต.ค. ที่ พล.ต.อ.พัชรวาทและ พล.ต.ท.สุชาติ ที่ ป.ป.ช.เองก็ไม่ได้ฟังเหตุผลอะไร ป.ป.ช.ใช้กฎหมายที่ผิดในการพิจารณา และยังไม่ยอมรับเหตุผลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แล้วจะให้คนมาปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช.ได้อย่างไร" พล.ต.อ.สุวรรณกล่าว

พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ นายกสมาคมตำรวจ กล่าวว่า ก.ตร.เป็นองค์กรของรัฐมีอำนาจตามกฎหมาย ย่อมมีน้ำหนักในการค้านการตัดสินของ ป.ป.ช. เรื่องนี้ตำรวจไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องมีผู้ชี้ดูตามกฎหมายและอำนาจในการเสนอเรื่องนี้ ครม.จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ขาด

ตำรวจแก่โวยไม่เป็นธรรม

"ผมเห็นด้วยจะต้องเข้าศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นองค์กรสูงสุดที่ตัดสินใจ ไม่อย่างนั้นใครจะเป็นคนตัดสินในเรื่องนี้ อยากขอให้นายกรัฐมนตรีนำเรื่องนี้เข้า ครม.โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ยื่นขอคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวชี้ขาด ซึ่งจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต ก่อนที่จะมีปัญหามากไปกว่านี้" นายกสมาคมตำรวจกล่าว

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารไม่มีสิทธิ์ไปล้มล้างคำสั่งของ ป.ป.ช. เนื่องจากองค์กรอิสระมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่อยากเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรียื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อให้รู้ขอบเขตการทำหน้าที่ที่ชัดเจนระหว่าง ป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรอิสระและ ก.ตร. หาก ป.ป.ช.วินิจฉัยโดยชอบธรรมแล้ว องค์กรอื่นๆ จะยื่นคัดค้านได้หรือไม่ เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต

"การที่นายกรัฐมนตรีบอกไม่จำเป็นต้องยื่นตีความ ผมเกรงว่าจะยิ่งทำให้สังคมเกิดความสับสน ว่าแนวทางใดคือแนวทางที่ถูกต้อง ไม่ควรปล่อยให้แต่ละฝ่ายคิดเอาเอง เพราะคงไม่ได้ข้อสรุป" นายเรืองไกรกล่าว

ขณะที่นายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่ แถลงว่า พรรคการเมืองใหม่ขอยืนยันไม่เห็นด้วยกับมติ ก.ตร.ที่มีความเห็นสวนทางกับมติ ป.ป.ช. เพราะเป็นการช่วยเหลือนายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม

"พรรคเชื่อว่ามีพลังแฝงทางการเมือง ที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือและทดสอบพลังของฝ่ายนายกรัฐมนตรี กรณีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยฉวยโอกาสสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังถูกชุมนุมขับไล่มาเป็นจังหวะต่อรอง ซึ่งกรณีนี้อาจกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลได้" โฆษกพรรคการเมืองใหม่กล่าว

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า ต้องชื่นชมความเห็นของนายกรัฐมนตรีที่เห็นว่า ก.ตร.มีมติเช่นนี้ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญยังไม่มีผู้นำฝ่ายบริหารให้ความเคารพกับองค์องค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมือง

"เชื่อว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นเงื่อนไขในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยปรากฏการณ์นี้จะเป็นเกมประลองกำลังในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.จากขั้วพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์" นายสุริยะใสกล่าว

เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่กล่าวว่า พรรคจะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.และหน่วยงานอื่นๆ ทำการตรวจสอบ ก.ตร.ชุดนี้ทั้งหมดว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ภายในสัปดาห์หน้า" นายสุริยะใสระบุ

ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งเรื่องการชี้มูลความผิด 3 นายพลว่า เป็นละครทางการเมือง เพราะจากข้อมูลเชิงลึกทราบว่านายสุเทพต้องการซื้อใจ ก.ตร.ก่อน จึงมีคำสั่งให้ 3 นายพลกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง แท้จริงมีเป้าหมายหวังผลทางการเมือง เนื่องจากเดือน ก.พ.นี้จะมีการโยกย้ายตำรวจระดับรอง ผบก.-สว.ทั่วประเทศ นายสุเทพจึงทำเป็นซื้อใจ ก.ตร.ก่อน เพื่อหวังย้ายคนของตัวเองเข้ามาเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้า

"งานนี้นายสุเทพยอมเสียหน้าเล็กน้อย ทำเหมือนงัดกับนายอภิสิทธิ์ แต่ไม่ใช่ แท้จริงเป็นการอุ้มมากกว่า และยังเป็นการสร้างภาพภาวะผู้นำให้นายอภิสิทธิ์ดูดีอีกด้วย ขอเรียกร้องให้ 3 นายพลใช้สิทธิ์ยื่นหนังสือไปถึงศาลปกครองเป็นผู้พิจารณา" นายพร้อมพงศ์กล่าว.




Create Date : 18 มกราคม 2553
Last Update : 18 มกราคม 2553 12:35:48 น. 0 comments
Counter : 699 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

jirachon
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add jirachon's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com