. . เ ส รี ภ า พ แ ห่ ง ค ว า ม คิ ด . .
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
14 มกราคม 2553
 
 
ส ะ ก ด ร อ ย ลู ก นั ก ก า ร เ มื อ ง ค น ดั ง . . สิ้นยุคพ่อเรืองอำนาจ ธุรกิจ-การเมืองเจ๊งระนาว

.



- ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ
- บรรดาทายาทเครือข่าย'ไทยรักไทย'ต่างเติบโตทั้งในด้านธุรกิจ-การเมือง
- โด่งดังเคียงคู่ 'โอ๊ค -เอม- อุ๊งอิ๊ง'
- ต่อเมื่อ 'พ่อ'สิ้นอำนาจบารมี คนพวกนี้หายไปไหนกันหมด
- ธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองแบบยุค'พ่อดัง-ลูกดัง'ได้กลายร่างเป็น 'พ่อดับ-ลูกดับ'
- จับตาหลายตระกูลมาเฟียการเมืองถึงกาลอวสาน!?....

บรรยากาศบนเวทีการเมืองตลอดระยะเวลาเกือบ 10ปีที่ผ่านมานั้นดูจะเต็มไปด้วยความคึกคักและสีสันจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เป็นลูกหลานจากนักการเมืองและนักธุรกิจใหญ่ ต่างพากันประกาศตัวแจ้งเกิดอาสาเข้ามาสู่อาชีพนักการเมืองอย่างคับคั่ง ในครั้งนั้นอาจถือได้ในช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำพาพรรคไทยรักไทยให้โดดเด่นเหนือคู่แข่งบนถนนการเมืองในปี 2544 เป็นช่วงเวลาแห่งของมิติใหม่ๆทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่พลันหลังจากที่อดีตนายกฯ ทักษิณ กลายเป็นผู้สูญสิ้นอำนาจรัฐในปัจจุบัน บรรดาลูกหลานนักการเมือง-นักธุรกิจเหล่านั้น ต่างมีอันต้องลดบทบาทและหายหน้าไปจากสังคมไปโดยปริยาย

ย้อนเส้นทาง "รุ่งโรจน์"
ก๊วน "ลูกทักษิณ"

ในยุคธุรกิจการเมืองเฟื่องฟูย่อมไม่พ้น กลุ่มลูกอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร อย่าง "พานทองแท้-พิณทองทา-แพรทองธาร" สามพี่น้องที่อยู่ท่ามกลางแสงสปอร์ตไลท์จับจ้องอยู่ตลอดเวลา ทั้งในวันวานที่อำนาจของผู้เป็นพ่อ รุ่งโรจน์จนถึงขีดสุดตั้งแต่ปี 2544 จนถึง ณ ปัจจุบันที่พ.ต.ท.ทักษิณ สูญสิ้นอำนาจวาสนา กลายเป็นนักโทษทางการเมืองที่เร่ร่อนตามประเทศต่างๆ แต่ยังดูเหมือนว่ามีบ่อยครั้งที่เกิดคำถามว่า วันนี้พวกเขาหายไปไหน หรือ ใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร ?

เมื่อย้อนกลับไปถึงเส้นทางการโลดแล่น ตระกูลชินวัตรนั้นต้องถือว่ามีครบทุกรสชาด มีทั้งวันเวลาที่ถูกห้อมล้อมจากนักการเมือง นักธุรกิจ เพื่อนพ้องของพ.ต.ท.ทักษิณ จนทำให้ทั้ง "โอ๊ค-เอม-อุ๋งอิ๊ง" กลายเป็นบุคคลสำคัญ แวดล้อมไปด้วยชื่อเสียง อำนาจ เงินทอง โดยเฉพาะบุตรชายคนโตอย่างโอ๊ค ที่กลายเป็นหนุ่มเนื้อหอม สาวๆต่างเสนอตัวอยากเป็น "สะใภ้นายกฯ" และทำให้เพลง "สะใภ้นายกฯ" ดังกระหึ่มทั่ววงการเพลงลูกทุ่งมาแล้ว ขณะเดียวกัน

ไม่เพียงแต่โอ๊ค เท่านั้นที่กลายเป็นบุคคลของสังคม แต่บรรดาผองเพื่อนของเขายังพากันทยอยเปิดตัว ในฐานะ "เพื่อนลูกนายกฯ"กันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น "กึ้ง" เฉลิมชัย มหากิจศิริ บุตรชายประยุทธ์ มหากิจศิริ เจ้าพ่อเนสกาแฟ , "น้ำนิ่ง" ไอยคุปต์ กฤตบุญญาลัย, มดดำ - สุศิษฎา ตันเจริญ,นันทสิทธิ์ แจ่มสมบูรณ์ ซึ่งทั้งโอ๊คและกลุ่มเพื่อนนั้นได้รวมตัวกันเพื่อร่วมกันทำธุรกิจในประเภทต่างๆ โดยอาศัยความได้เปรียบในฐานะที่เป็นที่รู้จักในแวดวงเป็นจุดขายและประชาสัมพันธ์ธุรกิจต่างๆของพวกเขาได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่า "กลุ่มเพื่อนโอ๊ค" จะขยับไปจับกิจการใด มักจะเป็นข่าวคราวเรียกความสนใจได้อยู่ตลอดเวลา

กิจการที่ฮือฮาสุดของกลุ่มโอ๊คและเพื่อน คือการเปิดบริษัท ฮาว คัม จำกัด ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสารและโฆษณา มีโอ๊ค รับหน้าที่เป็น "ประธานบริษัท" และภายในเวลาไม่กี่ปี บริษัท ฮาวคัม ได้ขยายกิจการ แตกบริษัทลูกเพิ่มขึ้นอีกหลายบริษัท อาทิ ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ , ฮาวคัมมีเดีย,ฮาวคัมสตูดิโอ ฮาวคัมไอพี เป็นต้น โดยในส่วนบริษัท ฮาว คัม มีเดียส์ ซึ่งรับทำธุรกิจโฆษณาได้ถูกจับตาอย่างมาก ว่าได้ใช้เส้นสายของพ.ต.ท.ทักษิณ ขณะเป็นนายกฯ เข้าไปรับงานใหญ่จัดทำสื่อโฆษณารถไฟฟ้าใต้ดิน หรือการที่บริษัทลูกของฮาวคัม อย่าง ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ทำหน้าที่ผลิตรายการทีวี และใช้ช่องไอทีวี ซึ่งเสมือนธุรกิจของพ่อ ออกอากาศ ดังนั้นภาพที่ทับซ้อนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มโอ๊คและเพื่อนตลอดระยะเวลาที่พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งจึงถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันระหว่างพ่อกับลูกมากกว่าที่จะขับเคลื่อนให้กิจการเติบโตและก้าวหน้าอย่างจริงจัง

อำนาจหมด-เพื่อนหนี!

นอกเหนือไปจากการเปิดบริษัท ฮาว คัมฯ เพื่อหวังครอบคลุมธุรกิจการด้านสื่อสารและโฆษณาเท่านั้น แต่ยังพบว่า โอ๊คและเพื่อนๆมักหากิจการใหม่ๆเข้ามาเสริมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสตูดิโอถ่ายภาพ ,การเปิดร้านกาแฟหรูสำหรับคนรุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อ "คาแฟอีน" หรือการเปิดสวนสนุกขนาดใหญ่ กลางเมือง The Amazing Fun Park บนถนนรัชดาภิเษก ในราวปลายปี2547 ก่อนที่จะประสบกับปัญหาขาดทุนในปี 2548

กิจการหลายด้านในเครือฮาวคัม ของโอ๊คและกลุ่มเพื่อน ประสบกับปัญหาการขาดทุน แต่เงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มก๊วนเพื่อนพานทองแท้ ต้องทยอยลดบทบาทและแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทางมาจากการที่พ.ต.ท.ทักษิณ หมดอำนาจ และกลายเป็นนักโทษหนีคดี เป็นบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัวมากที่สุด ด้วยเหตุนี้จากกลุ่มที่เคยแสดงตัวเป็นเพื่อนโอ๊คเริ่มหายหน้ากันไป จะเหลือเพื่อนรักที่ยังเหนียวแน่นกับโอ๊ค คือลูกๆของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และดาราสาว "ลิเดีย" ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิ์ธาดา ที่แวะเวียนไปร่วมปาร์ตี้ที่บ้านพักในประเทศอังกฤษ ขณะที่ฮาน่า ทัศนวลัย องอาจสิทธิชัย ดาราสาวที่เคยมีชื่อเป็นหุ้นส่วนสำคัญ ได้ถูกเสื้อแดงโจมตีผ่านเวบบอร์ด ในกลุ่มเรด โซน ว่ามีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลังจากที่แต่งงานกับ จุลจักร จักรพงษ์ ดาราที่ประกาศตัวเป็นเสื้อเหลือง ต้านระบอบทักษิณ

"โอ๊ค" ขยาดพิษการเมือง

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองได้แปรเปลี่ยนไป อำนาจและบารมีทางการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ถูกท้าทายจากฝ่ายตรงข้าม ทั้งจากในสภาผู้แทนฯและ จากมวลชนเสื้อเหลืองอย่างหนัก จนนำไปสู่การยึดอำนาจในปี 2549 เป็นต้นมา ลูกๆทั้งสามคนต่างตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากการ "ตกสวรรค์" จากคนที่เคย แวดล้อมไปด้วยผู้คนห้อมล้อม กลับต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง โดยเฉพาะทั้งโอ๊คและเอม ต้องเดินทางไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการคตส. ในคดีความต่างๆ และใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักต่างประเทศที่อังกฤษ ทิ้งบ้านพัก "จันทร์ส่องหล้า"ให้เหลือเพียงตำนาน ในซอยจรัญสนิทวงศ์

แม้ทั้งสามพี่น้อง จะเลือกพำนักในบ้านพักต่างแดน จนดูเหมือนว่าพวกเขาหายหน้าไปจากสังคมไทย แต่ทว่าในความป็นจริงแล้ว ยังพบว่าพานทองแท้ ในฐานะบุตรชายคนโตยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองควบคู่ไปกับพ.ต.ท.ทักษิณ มาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการเดินทางไปช่วยผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยหาเสียงก่อนการเลือกตั้งซ่อมที่จ.มหาสารคาม ที่ผ่านมาร่วมกับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยทีก่อนหน้านี้พานทองแท้ ได้ออกมาปรากฎตัวแถลงข่าวร่วมกับน้องสาวทั้งสอง ในงานเปิดตัวเปิดตัวพ็อกเกตบุ๊ก ''คนอื่นเรียกนายกฯ แต่เราเรียกพ่อ'' ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นพ็อกเกตบุ๊กที่เขียนร่วมกัน 3 คนพี่น้องตระกูล ''ชินวัตร'' ในเดือนเม.ย.2552

และล่าสุด "โอ๊ค-เอม" ได้สร้างความฮือฮาต่อวงการสื่ออีกครั้งด้วยการแถลงข่าวเปิดตัว "วอยซ์ ทีวี" เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2552 ที่ผ่านมา โดยวอยซ์ ทีวี นั้นเป็นทีวีอินเตอร์เนต ใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาท มีเป้าหมายคืนทุนภายใน 5 ปี โดย"โอ๊ค" นั่งแท่นหัวเรือใหญ่ ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ (Executive Vice President) บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ส่วน " เอม" รั้งตำแหน่งกรรมการ ปัจจุบันวอยซ์ ทีวี ได้ออกอากาศผ่านระบบอินเตอร์เนต กลายเป็น "สื่อใหม่"ที่สร้างสีสัน ร่วมกับการทวิตเตอร์ ของพ.ต.ท.ทักษิณ

แหล่งข่าวจากแวดวงนักการตลาด มองว่า การเปิดตัววอยซ์ ทีวีของพานทองแท้ และน้องสาวครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นการสร้างความน่าสนใจในแง่ของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ผ่านสื่อของพ.ต.ท.ทักษิณ เพิ่มมากขึ้น แต่ควาฒโดดเด่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการศักยภาพของพานทองแท้ หรือบุตรสาว เพราะในความเป็นจริงแล้วคนที่วางรูปแบบและเนื้อหาทั้งหมดคือลูกน้องของพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างทรงศักดิ์ เปรมสุข อดีตกรรมการผู้จัดการไอทีวี ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด

"แต่การที่คุณทักษิณ เลือกที่จะวางตัวให้พานทองแท้และคุณพิณทองทา เข้ามารับตำแหน่งนั้นเพื่อให้เป็นตัวแทนในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่ทุกคนรู้ดีว่าลูกๆของคุณทักษิณ ทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน"

ส่ง "เอม-อิ๊ง"
เดินตามรอย "ยิ่งลักษณ์"

มีการเปิดเผยจากแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวยืนยันว่า จากการพูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ไม่ต้องการให้ครอบครัวเข้ามามีบทบาทหรือเกี่ยวข้องในทางการเมืองอีกต่อไป เพราะเจ็บปวดกับการเมืองมากพอ รวมทั้งลูกๆทั้งสามคน และคุณหญิงพจมาน เองก็ไม่มีความสนใจและต้องการลงมาเล่นการเมือง แต่ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถออกหน้าเคลื่อนไหวเพื่อช่วยลูกพรรคหาเสียงได้เองนั้น จึงต้องอาศัยลูกๆและพี่น้อง มาทำหน้าที่แทน

" เคยคุยกับคุณโอ๊ค เขาบอกเลยว่าไม่เอา ไม่ชอบการเมือง ยิ่งมาเจอพ่อถูกรังแกแบบนี้ ไม่มีทางเลย แต่ถ้าจะให้ไปเดินสายหาเสียงแทนพ่อ หรือเปิดวอยซ์ ทีวี รวมทั้งกิจกรรมต่างๆทางการเมือง เพื่อต้องการดึงเรทติ้งให้พ่อ ให้ลูกพรรคเกิดความมั่นใจเท่านั้น"

แกนนำกลุ่มเสื้อแดง กล่าวต่อว่า ด้วยธรรมชาติของครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ ที่มาจากนักธุรกิจ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะวางบทบาทให้กับลูกๆในด้านธุรกิจเช่นเดียวกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว ที่มีภาพนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จมากกว่า

ส่วน "กึ้ง" เฉลิมชัย บุตรชายของประยุทธ์ มหากิจศิริ เพื่อนรักของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ดูจะมีความโดดเด่นอย่างมาก เนื่องจากมีโอกาสมาทำหน้าที่เป็น "รองเลขาธิการ รองนายกฯ และสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยนายกฯสมชาย ถือเป็นเก้าอี้สุดท้ายทางการเมืองก่อนที่จะปิดฉากรัฐบาลนอมินีสองสมัย ปัจจุบันคาดว่าเฉลิมชัยจะเข้าไปช่วยงานธุรกิจของครอบครัว ทั้งแบรนด์เนสกาแฟ และอุตสาหกรรมเหล็กในนาม ไทยน๊อค สแตนเลส จำกัด (มหาชน)

สำรวจทายาท
"ราชครู"- "ศิลปอาชา"

กลุ่มลูกนักการเมืองที่อยู่ในความสนใจ และมักถูกพูดถึงมาโดยตลอด ในฐานะกลุ่มการเมืองเก่า ที่เคยก่อตั้งพรรคชาติไทย คือกลุ่ม "บ้านราชครู" มีการสืบต่อทายาททางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่ยุคพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จนถึงมายุคปัจจุบัน เห็นได้ว่าคนในบ้านราชครูได้แยกย้ายกันไปเติบโตต่างพรรค ต่างขั้วกันอย่างชัดเจน บุตรชายคนโต "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ปองพล อดิเรกสาร เลือกเส้นทางสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ มาตั้งแต่แรก แต่เมื่อมาถึงรุ่นลูก คือ ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร กลับประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าเขาพร้อมย้ายออกจากพรรคเพื่อไทย และมาสังกัดพรรคภูมิใจไทยของเนวิน ทันทีที่โอกาสเปิด ขณะที่สองพี่น้อง "บี" พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ ทายาทบ้านราชครู รุ่นหลาน เลือกเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ "บรู๊ค"ดนุพร ปุณณกันต์ ขอยืนหยัดหนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ปัจจุบันเป็นส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย

บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่กลายเป็นสมาชิกบ้านเลขที่109 จากคดียุบพรรครอบสอง อาจถือเป็นบุคคลที่ถูกคดีการเมืองจำกัดพื้นที่มากที่สุด เพราะทั้งตัวบรรหาร เองไปจนถึงลูกๆทั้งสอง อย่างกาญจนา -วราวุธ ศิลปอาชา จนทำให้บรรหาร ต้องดึงน้องชายอย่าง ชุมพล ศิลปอาชา เข้ามาทำหน้าที่เสมือนตัวตายตัวแทนรับตำแหน่งรัฐมนตรีในครม.ปัจจุบัน แต่จนถึงเวลานี้ย่อมไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าภาพทางการเมืองของพรรคชาติไทยพัฒนา นั้นถูกบดบังและครอบงำโดยบรรหาร อย่างเบ็ดเสร็จ และแน่นอนว่าทั้งกัญจนาและวราวุธ ยังคงมีบทบาทในฐานะบุคคลสำคัญของพรรค ที่ต้องทำหน้าที่เป็นทายาททางการเมืองให้กับผู้เป็นพ่อ เพื่อรักษาผลประโยชน์ทั้งในทางการเมืองและธุรกิจก่อสร้างของครอบครัว

ภายในพรรคชาติไทยพัฒนานั้น นอกจากตระกูลศิลปอาชา ที่ได้วางรากฐานให้ลูกๆทั้งสอง ต้องทำหน้าที่รับไม้ต่อทางการเมือง มาตั้งแต่แรกแล้ว ยังมีตระกูล "ปริศนานันทกุล" ของสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย แม้วันนี้ต้องหยุดชะงักทางการเมืองในความผิดจากคดียุบพรรคเช่นเดียวกับบรรหาร แต่วันนี้สมศักดิ์ ได้ส่งทายาทหนุ่ม "ภราดร ปริศนานันทกุล" เข้ามาโลดแล่นบนเส้นทางการเมืองแทนและดูเหมือนว่า ภราดร กำลังจะกลายเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ถูกจับตามองว่าสามารถเดินตามทางที่พ่อต้องการได้อย่างน่าพอใจ เพราะแม้จะเพิ่งเข้ามาเป็นส.ส.สมัยแรก ในจ.อ่างทอง แต่ภราดร ถือเป็นกำลังสำคัญของพรรคชาติไทยพัฒนา ในการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ

"เลือดใหม่"
เผยสูตร "พ่อดี+ลูกเก่ง"

ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองของคนรุ่นใหม่ หรือใครก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือความตั้งใจจริง ที่จะอาสาเข้ามาแบกภาระแทนประชาชน เพราะหากใครก็ตามที่หวังเพียงอำนาจ และเกียรติยศ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา และแรงกดดันทางการเมือง
แล้ว ในที่สุดคนเหล่านี้จะทนต่อไม่ได้

ทั้งนี้ ยอมรับว่า สำหรับเขาแล้วในการเข้ามาเล่นการเมืองนั้นมาจากพื้นฐานจากการปลูกฝังของพ่อ บวกกับความชอบส่วนตัวของเขาเองและยอมรับว่าการที่เป็นลูกของนักการเมือง ซึ่งมีฐานเสียงที่เข้มแข็งนั้นมีส่วนช่วยให้สนับสนุนการทำงานให้เขาอย่างแน่นอน แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ด้วยตัวเองอย่างเต็มตัวแล้ว เราต้องเป็นคนเผชิญหน้ากับปัญหาและหาทางแก้ไขเอง โดยส่วนตัวแล้วเขามองว่าการได้ "ต้นทุน"ทางการเมืองจากพ่อที่สั่งสมเอาไว้บวกกับความสามารถ และความตั้งใจจริงของตนเอง ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีลูกนักการเมืองหลายต่อหลายคนที่สูญเสียโอกาสในการทำงานให้กับประชาชน ทั้งที่มีแรงสนับสนุนและฐานทางการเมืองที่เข้มแข็งก็ตาม เนื่องจากบางคนไม่มีความตั้งใจจริงที่จะเข้ามาเป็นนักการเมืองตั้งแต่แรก

"เพราะหากพ่อเราดี แต่เราหรือคุณสมบัติส่วนตัวเราไม่ดี ก็อยู่ไมได้นาน ประชาชนทุกวันนี้เขาฉลาด รู้ทันนักการเมือง ถ้าลงมาเล่นการเมืองแบบฉาบฉวยไม่เข้าถึง และไม่จริงจัง รอบหน้าก็จะไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีก"

ภราดร กล่าวต่อว่า อาชีพนักการเมืองนั้นมีความต่างไปจากอาชีพอื่น ไม่สามารถส่งต่อกันได้ เหมือนกับการเป็นนักธุรกิจ ที่ให้ลูกหลานมาสืบทอดกิจการต่อ ความเป็นนักการเมืองไม่ใช่ "สมบัติ" อย่างที่ใครหลายคนมอง เนื่องจากเมื่อลงสู่สนามด้วยตัวเองแล้ว ต้องใช้ความมุ่งมั่น และศรัทธาในการต่อสู้กับปัญหา ด้วยเหตุนี้หากใครก็ตามที่ต้องการเป็นนักการเมืองต้องถามตัวเองก่อนว่า ชอบหรือไม่ ถ้าไม่ชอบก็อยู่ได้ไม่นาน หรือหากหวังเพียงเข้ามากอบโกย ดูแลผลประโยชน์ของตนเอง เมื่อกอบโกยเสร็จคนเหล่านี้ก็จะพากันออกไปจากระบบ

"เนวิน-สุวัจน์"
รอโอกาสเปิดส่งไม้รุ่นลูก

สำหรับบรรหาร -สมศักดิ์ หรือแม้แต่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อย่างว่าที่ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ที่แม้ตนเองจะติดล็อคทางการเมือง แต่ได้ส่งทั้งภรรยา "ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี" เข้าไปยึดเก้าอี้รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ "พลพีร์ สุวรรณฉวี" ลงยึดเก้าอี้ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อแผ่นดิน แล้วยังมีบรรดาลูกหลานของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอีกหลายคนที่มีแนวคิดและท่าทีทางการเมืองในลักษณะที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง คือคนรุ่นใหม่กลุ่มดังกล่าวเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่พวกเขาพอใจ ไปศึกษาในต่างประเทศ และเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเป็นครั้งคราวพร้อมกับพาเองตัวเองเข้าไปเป็นข่าวด้านบันเทิงมากกว่าแวดวงทางการเมือง

ทั้ง "มดดำ" สุศิษฎา ตันเจริญ บุตรชายคนเดียวของสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ พรรคเพื่อแผ่นดิน , "หลวง" พสุ ลิปตพัลลภ บุตรชายคนโตของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา รวมถึงบรรดาลูกๆของเนวิน ชิดชอบ -สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่แทบไม่เคยปรากฎชื่อลูกๆของคนกลุ่มนี้เกี่ยวข้องในทางการเมืองแต่อย่างใด

แต่หากในวันข้างหน้า เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่เหมาะสมลงตัว ทั้งในแง่ของบรรยากาศความขัดแย้งที่ลดระดับลง รวมไปถึงวันที่แกนนำเหล่านี้ได้บ่มเพาะ สร้างความพร้อมทางการเมืองให้กับลูกของตนเองในทุกทางแล้ว ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เห็นลูกชายของแกนนำเหล่านี้เดินสายหาเสียงร่วมพ่อ

แกนนำจากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การที่นักการเมืองต่างหาทางส่งลูกเข้ามาเล่นการเมืองอย่างต่อเนื่องนั้น อาจมาจากเหตุผลหลายด้าน ทั้งในแง่ของความต้องการสืบทอดเกียตริยศ ศักดิ์ศรี ตระกูลนักการเมืองเก่า ไปจนถึงการมองไปถึงการรักษาผลประโยชน์ในธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากนักการเมืองรุ่นเก่า ส่วนใหญ่มีพื้นฐานอาชีพมาจากผู้รับเหมาก่อสร้าง จากรายเล็กสู่รายใหญ่ มีความจำเป็นต้องอาศัยช่องทางอำนาจเพื่อเอื้อต่อธุรกิจ ขณะที่นักธุรกิจขนาดใหญ่ต่างพากันส่งบุตรหลานเข้ามาลงสนามการเมือง เพื่อหวังการประชาสัมพันธ์และปกป้องผลประโยชน์ในทางธุรกิจ

โดยกลุ่มนักธุรกิจที่ส่งคนลงมาเล่นการเมือง คือกลุ่มซีพี และกลุ่มบุญรอด ซึ่งในส่วนของบุญรอด นั้นมีความชัดเจนว่า "ตั๊น" จิตรภัสร์ ภิรมย์ภักดี บุตรสาวจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด ฯ และอดีตสว.กทม. เตรียมสวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ลงสนามเลือกตั้งในรอบหน้า หลังจากที่ต้องตัดใจลาออกจากตำแหน่งข้าราชการ การเมือง กรณีแจกปฏิทินลีโอ ล่าสุด

แกนนำจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วนอกเหนือไปจากความชอบและความตั้งใจจริงทางการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสนามการเมืองนั้นเต็มไปด้วยเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ที่หลายคนหวังครอบครองด้วยกันทั้งสิ้น แต่การที่ "ตัวแทน"ของนักการเมืองเหล่านี้จะประสบความสำเร็จในทางการเมืองจนมีความเข้มแข็งได้มากเท่ากับรุ่นพ่อ เคยทำไว้ได้หรือไม่ ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย นอกเหนือไปจากฐานเสียงที่มีอยู่และอำนาจทางการเงินในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง นั่นคือการที่ "ตัวแทน" นั้นมีศักยภาพในตัวเองมากน้อยแค่ไหน เพราะหากคนรุ่นใหม่คนใดมีความสามารถที่โดดเด่น บวกกับได้รับการผลักดันจากฐานอำนาจ ก็จะถือว่าประสบความสำเร็จได้

เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนว่า ในรายของพานทองแท้ นั้นที่เคยรุ่งเรือง ได้รับหนุนจากพ.ต.ท.ทักษิณ ที่เอื้อทั้งในด้านการเมือง และธุรกิจให้กับลูกก็ตาม แต่เมื่อบุตรชาย ไม่มีความสามารถด้วยตนเองอย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องของการศึกษาและประวัติส่วนตัวก็เป็นการยากที่จะทำให้พานทองแท้ กลายเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่สมบูรณ์แบบได้ ขณะที่คนรุ่นใหม่บางคนที่มีความสามารถ แต่ขาดแรงหนุนจากพรรค ด้วยเหตุที่ไม่มีกลุ่ม ไม่มีกำลังเงิน ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการเติบโต แต่สำหรับในรายของภราดร ปริศนานันทกุล นั้นยอมรับว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานที่ดีจากผู้เป็นพ่อบวกกับคุณสมบัติส่วนตัวในด้านการศึกษาและความขยัน ทำหน้าที่ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ โดยมีพ่อเป็นโค้ชให้ จึงกลายเป็นความได้เปรียบที่มาจากฐานเดิมและจากตัวเองสร้างขึ้น

และแม้ว่าในเวลานี้บรรดาลูกของนักการเมืองชื่อดัง ทั้งสุวัจน์ -เนวิน หรือสมศักดิ์ จะยังไม่ประกาศเจตนารมณ์เดินตามรอยพ่อก็ตาม แต่แกนนำพรรประชาธิปัตย์ เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วคนเหล่านี้จะพยายามหาทางผลักดันลูกๆให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองในที่สุด เพื่อปกป้องสิ่งที่รุ่นพ่อได้สร้างเอาไว้ แต่เนื่องจากในสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และที่สำคัญนักการเมืองกลุ่มเก่ายังคงมีบทบาทอยู่ ในฐานะแกนนำพรรคการเมือง ดังนั้นจึงยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะส่งลูกหลานลงมาทำงานแทน

" สัญชาติของเสือ สิงห์ โดยเฉพาะคนอย่างคุณเนวิน คุณสุวัจน์ ไม่มีทางที่จะหันหลังให้กับการเมืองแน่นอน เพราะถึงแม้จะไม่คำนึงถึงเรื่องธุรกิจ แต่คนเหล่านี้จะไม่ยอมให้ใครมารังแก หรือล้ำเส้นเด็ดขาด ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด ต้องหาทายาทเข้าไปอยู่ใกล้กับอำนาจ เพื่อป้องกันตัวเอง"

"แม้ว" การเมืองทรุดธุรกิจเซ

ทางด้านนักวิชาการ อย่าง รัตพงษ์ สอนสุภาพ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธรรมภิบาล มหาวทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม ประเมินว่า ทายาทในทางธุรกิจและทางการเมืองที่จะมารับไม้ต่อนักการเมืองนั้น อาจจำเป็นต้องมีการแยกสายกันอย่างชัดเจนระหว่าง ทายาททางการเมือง และทายาททางธุรกิจที่จะสานต่อธุรกิจของครอบครัว

กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่เมื่อยามการเมืองผกผันและทำให้ธุรกิจประสบปัญหาด้วยนั้น คือ กรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ระหว่างธุรกิจและการเมืองมีความใกล้เคียงกันมากจนยากที่จะแยกออกจากกัน ซึ่งเมื่อรุ่งเรืองธุรกิจในเครือก็เติบโตอย่างสูงแต่เมื่อประสบปัญหาทางการเมือง ธุรกิจในเครือก็ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด

"นักการเมืองคนอื่นๆทราบดีว่าธุรกิจครอบครัวจะต้องใช้บารมีทางการเมืองในการผลักดัน จึงพยายามประครองให้สามารถอยู่ในเวทีไปได้เรื่อยๆ

ที่ชัดเจนคือคุณบรรหารที่พยายามเกาะขั้วรัฐบาล หรือบ้านเลขที่ 111 -109 ที่รักษาระยะห่างธุรกิจกับการเมืองไว้อย่างดีจึงได้รับผลกระทบไม่มากนัก หากเทียบกับคนที่เจ็บหนักที่สุดอย่างคุณทักษิณ"

ดังนั้น จึงเห็นว่า บรรดาเซียนการเมืองทั้งหลาย มักประเมินสถานการณ์การเมืองไว้ทั้งในยามที่รุ่งสุดหรือเลวร้ายอย่างที่สุดโดยพยายามแยกส่วนการเมืองกับธุรกิจให้ออกจากกันแต่มีความเชื่อมโยงกันให้มากที่สุดเพราะ สังเกตดูจะพบว่าบรรดาบ้านเลขที่ 111 และ 109 ล้วนแล้วแต่มีธุรกิจตัวเองซึ่งทุกคนต่างก็หลบไปทำธุรกิจโลว์โปรไฟล์เพื่อรอวันที่โอกาสทางการเมืองมาถึงจึงกลับมาอีกครั้ง ซึ่งในรายของพ.ต.ท.ทักษิณนั้นทำเช่นนั้นไม่ได้

*************

'4 คุณสมบัติ'ดึงคนดีสู่การเมือง
ลบภาพลักษณ์คนพันธ์เก่า'ทุน-ก๊วน'นั่งรมต.

ฟันธง!การเมืองเข้าจุดเสื่อม เส้นทางถึงดวงดาวของนักการเมืองรุ่นใหม่ต้องอาศัย 2 ปัจจัยหลักได้แก่ "กลุ่มทุนการเมือง-ก๊วนอิทธิพล" ถึงจะมีโอกาสเข้าถึงตำแหน่งรัฐมนตรี คนยุคใหม่โปรไฟล์ดี-นามสกุลดัง แม้เก่ง แต่ไม่เข้าพวกก็หมดโอกาสเกิด นักการเมืองอาวุโสแนะ4 คุณสมบัตินักการเมือง "น้ำดี" ชวนคนยุคใหม่ลงสนามเลือกตั้งทำงานให้ชาติ ชี้โอกาสเติบโตในคณะนิติบัญญัติมีมาก สร้างชื่อเสียงให้วงษ์ตระกูลได้

"นักการเมือง" อาชีพนี้เป็นอาชีพพิเศษที่จะอาศัยเพียงแต่การเรียนในตำราไม่ได้ และการที่จะเป็น "นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ"ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะก้าวขึ้นสู่ดวงดาว โดยเฉพาะการไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรีได้นั้น ต้องมีปัจจัยเสริมหลายประการ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ โฟร์ไฟล์ดัง ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่แวดวงนี้กันจำนวนมากต้องศึกษา

ฐานการเมือง
จากพ่อดันลูกรุ่ง

เมื่อ 10 ปีก่อนขึ้นไป คนที่ก้าวสู่สนามการเมือง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นลูกหลานนักการเมือง หรือผู้ที่มีฐานะครอบครัวดี คนเหล่านี้มักจะได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ได้ไม่ยาก แต่ปัจจุบันยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไป คนที่เรียนดี จบการศึกษาดี และบ้านมีฐานะดี ได้มีเพิ่มขึ้นในสังคมไทยจำนวนมาก ทำให้การแข่งขันเพื่อก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองมีมากขึ้นตามไปด้วย

"การเป็นลูกนักการเมืองเป็นสิ่งที่ได้เปรียบคนอื่นๆ เพราะมีฐานการเมือง และผลงานที่พ่อสร้างไว้ให้แล้ว ถ้าลูกมีความสนใจ และไม่เกเรมากเกินไป โอกาสที่จะประสบความสำเร็จทางการเมืองก็มีอยู่มาก"

แหล่งข่าวในแวดวงการเมือง กล่าวว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่น่าจับตามองคือ "ภราดร ปริศนานันทกุล" ลูกของสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และ "ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์" หรือ "ลูกยอด" ลูกชายของ สนั่น ขจรประศาสน์ 2 คนนี้มีสิทธิ์ที่จะไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรีถ้าไต่จากฐานที่พ่อวางไว้ให้ได้

แต่สำหรับคนยุคใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่การเมืองมากขึ้นในทุกวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนนามสกุลดังๆ หากตั้งเป้าว่าจะเข้าสู่แวดวงการเมือง เพื่อเป้าหมายในการเป็นถึงระดับรัฐมนตรีนั้น ต้องบอกว่าเป็นงานหิน

ทุนการเมืองปัจจัยแรก
สู่ตำแหน่งรมต.

แหล่งข่าวนักการเมืองอาวุโส กล่าวว่า การเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคสมัยที่พรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล จนกระทั่งมาสู่ยุคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำรัฐบาล แต่การเปลี่ยนแปลงนี้กลับกลายไปในทางที่ทำให้คนมองภาคการเมืองเสื่อมลงเรื่อยๆ

เดิมประมาณ 10-20 ปีก่อนหน้านี้ การเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี จะมีการพิจารณาคนจากผลงาน จากความอาวุโสในพรรคการเมืองต่างๆ และตำแหน่งรัฐมนตรีถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญเปรียบได้กับตำแหน่งเสนาบดีในสมัยก่อน คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีได้ จึงต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีต้นทุนทางสังคมที่ดี โดยเฉพาะเรื่องความสามารถที่จะต้องประจักษ์กับสังคม โดยเฉพาะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากข้าราชการ เพราะนักการเมืองจะไม่สามารถทำงานสู้ลูกหม้อที่อยู่กับงานเหล่านี้มาตลอดชีวิตไม่ได้ การยอมรับจากข้าราชการจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก

ปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญของคนที่จะก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี กลับไม่ได้คำนึงถึงสิ่งเหล่านั้น แต่มีอยู่แค่ 2 ประการเท่านั้นที่จะทำให้ก้าวสู่ตำแหน่งนี้ได้คือ เป็นกลุ่มทุนทางการเมือง หรือ ได้รับการผลักดันจากกลุ่มก๊วนต่างๆ

กลุ่มทุนการเมืองเข้ามาในฐานะธุรกิจการเมือง ใครมีอำนาจเงินมากก็จะมีอิทธิพลในการเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆ สูง ที่ผ่านมาจึงมีรัฐมนตรีหลายคนที่เป็นตัวแทนกลุ่มทุน ใครสนับสนุนเงินกับพรรคการเมืองนั้นๆ ก็เป็นรัฐมนตรีได้ 1 คน แต่คนเหล่านี้อยู่ในแวดวงการเมืองได้ไม่นาน

กลุ่มทุนการเมืองเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีมากที่สุดในสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคไทยรักไทย สมัยนั้นลักษณะพิเศษที่เด่นกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ คือ มีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง จน 5 ปีในการบริหารงาน มีคนที่ได้เป็นรัฐมนตรีเกือบ 100 คน ตรงนี้เป็นไปตามนโยบายพรรคไทยรักไทย ที่มีเป้าหมายคือเพื่อทำให้คนหลายๆ คนมีฐานะทางการเมืองที่สูงขึ้น เช่น คนๆ นี้เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีมาแล้ว ซึ่งนอกจากจะเป็นการเตรียมหาเสียงเลือกตั้งแล้ว ยังเป็นการตอบแทนกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคด้วย ไม่ได้มีการดูคุณสมบัติตามความเหมาะสม แม้กระทั่งเปลี่ยนขั้วมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มทุนที่เข้าสู่ภาคการเมืองก็ยังมีอยู่

70% รมต.มาจากอิทธิพลมุ้ง

ส่วนในเรื่องกลุ่มก๊วนนั้น ปัจจุบันนี้มีคนที่มาจากกลุ่มก๊วนต่างๆ ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีมากถึง 70% โดยเฉพาะในสมัยประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลในขณะนี้

พรรคประชาธิปัตย์นั้นมีภาพลักษณ์มาตลอดว่ามีการให้ความสำคัญกับคนที่ผลงาน กับประสบการณ์การทำงาน แต่ทุกวันนี้ ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์มีการผลัดใบเกิดขึ้น กล่าวได้ว่ากลุ่มทศวรรษใหม่ หรือกลุ่มชวน 2 ไม่มีใครได้เกิด ทั้งเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นคณะผู้บริหารรัฐบาล คนที่เข้ามามีบทบาทในรัฐบาลเวลานี้ จึงกลายเป็นคนยุคใหม่เกือบทั้งหมด และเป็นคนรุ่นใหม่

"เดี๋ยวนี้ประชาธิปัตย์มีแต่เด็กๆ ระดับล่างๆ ใครเหมาะสมกว่าใคร ใครเก่งกว่าใครจะวัดกันที่ไหน เลือกใครขึ้นมาก็มีปัญหาเพราะตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้"

กรณีล่าสุด เมื่อตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขว่างลง คนที่เหมาะสมที่สุดคือ เทอดพงษ์ ไชยอนันต์ เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคนตั้ง อสม. และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขให้การยอมรับ แต่ทุกวันนี้กลับไม่ได้รับการพูดถึง มีแต่การหาคนยุคใหม่มาเป็นรัฐมนตรี และขึ้นอยู่กับว่าคนยุคใหม่คนนั้นใกล้ชิดกับใครเสียด้วย

ตรงนี้ทำให้คนเก่ง และมีประสบการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เกือบ 20 คน หายไป และทำให้ภาพที่ประชาชนเคยเห็นความแข็งแรงของพรรคหายไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น พิชัย รัตตกุล,ศุภชัย พานิชภักดิ์,ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ,ปราโมทย์ สุขุม,สุทัศน์ เงินหมื่น,โพธิพงษ์ ล่ำซำ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะกระแสความนิยมของพรรคก็เสื่อมถอยลงไป

กรณี จุติ ไกรฤกษ์ ทำไมไม่ได้เป็นรัฐมนตรีเสียที ทั้งๆ ที่มีฐานการเมืองที่แน่นจากรากฐานที่พ่อ (โกศล ไกรฤกษ์) วางไว้ให้อย่างดี อีกทั้งมีการศึกษาดี มีฐานะครอบครัวดี ทำงานให้พรรคมานาน แต่ไม่ได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีเหตุผลอาจเป็นเพราะ จุติเป็นคนแข็ง ไม่เก่งเรื่องประจบใคร ไม่เก่งเรื่องเอาอกเอาใจใคร ทุ่มเทพาใครไปสำมะเลเทเมาไม่เป็น ตรงนี้จึงเสียเปรียบคนอื่น

หนักไปกว่านั้น ภายนอกพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีแรงกดดันส่วนนี้มาก เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำรัฐบาล แต่ไม่ได้กุมเสียงข้างมากในรัฐบาล มาเป็นรัฐบาลจากการสลัดขั้วทางการเมือง ตรงนี้กลายเป็นกลุ่มอิทธิพลขึ้นมา ทำให้แกงค์ หรือ ก๊วนต่างๆ มีพลังในการเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีได้มาก เช่น สุวิทย์ คุณกิตติ แม้เป็น ส.ส.สอบตก แต่มีส.ส.ในกลุ่ม 5 คน ก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง หรือกรณี มานิต นพอมรบดี เพิ่งเป็น ส.ส. 1 สมัย ถือว่ายังไม่มีภาษีทางการเมือง ตอนที่เป็นกมธ.งบประมาณ คนก็รู้กันดีว่า เก่ง หรือไม่เก่ง แต่ปรากฎว่าได้เข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นสามี ส.ส.กอบกุล นพอมรบดี ซึ่งเป็นญาติ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ หรือ รัฐมนตรีช่วยคนใหม่ ก็เป็นคนใกล้ชิด สมศักดิ์ เทพสุทิน

"นักการเมืองใหม่ที่จะเข้ามา ต้องรู้ว่าโลกของการเมืองหรือ การไปถึงดวงดาว จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย ที่ไม่ใช่แค่เก่ง จะก้าวถึงจุดสูงสุดได้"

ดังนั้น ในยุคสมัยนี้ หากไม่ใช่กลุ่มทุน และไม่มีกลุ่มก๊วนทางการเมือง การจะเป็นรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องยาก แต่ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ที่เก่ง มีความสามารถท้อใจ เพราะดวงดาวไม่จำเป็นแค่ว่าจะต้องเป็นรัฐมนตรี แต่ในตำแหน่งสำคัญทางนิติบัญญัติอื่นๆ ก็ทำชื่อเสียงให้กับวงศ์ตระกูลเช่นกัน เช่น ชัย ชิดชอบ ไม่เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนเลย แต่วันนี้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดทางนิติบัญญัติ เทียบเท่ากับตำแหน่งรัฐมนตรี ตอนรับตำแหน่งใหม่ๆ คนมองแต่ว่าเป็นตัวแทน แต่สุดท้ายก็พิสูจน์ตัวเองได้ หรือตำแหน่งในกรรมาธิการ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการ หรืออนุกรรมาธิการ ล้วนมีความสำคัญต่อประเทศชาติ

"ไม่ต้องเสียใจถ้าเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ อยู่ที่ว่าต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ทำแต่สิ่งดีๆ และจะเป็นภาพลักษณ์ติดตัวไปตลอด อย่างบางคน ผมเคยเตือนว่าอย่าเอะอะโวยวาย หรืออย่าค้านอย่างเดียวเวลาอยู่ในสภาฯ เพราะมันจะติดตัวเป็นภาพลักษณ์ของคนๆนั้นไปตลอด"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะดูสิ้นหวังสำหรับนักการเมืองหน้าใหม่ ที่ไม่ใช่กลุ่มทุนการเมือง หรือสังกัดกลุ่มก๊วนต่างๆ แต่ก็ยังมีโอกาสสร้างความสามารถในเวทีการเมืองอื่นๆได้

4 ปัจจัยก้าวสู่
การเป็นนักการเมือง "น้ำดี"

แหล่งข่าวในแวดวงการเมือง กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่แวดวงการเมือง ทั้งคนที่นามสกุลดัง โปรไฟล์ดี และคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาดีๆ แต่ไม่ใช่ลูกหลานนักการเมืองรุ่นเก่าสายตรง จำเป็นจะต้องทำอันดับแรกคือพิสูจน์ตัวเอง

"เรียนจบมาแล้ว มาเล่นการเมืองเลยไม่ได้ คนเหล่านี้ต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่า ตัวเองมีความสามารถพอที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตของตัวเองก่อน"

กล่าวคือ หากใครเก่งด้านธุรกิจ ก็ควรทำธุรกิจขึ้นมาให้ประสบความสำเร็จก่อน หรือถ้าเรียนมาด้านการเงินการคลัง ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองในสายที่ตัวเองถนัด รวมถึงการสาธารณสุข หรือในด้านๆอื่นๆ เพราะต้องทำให้คนในสังคมยอมรับในความสามารถให้ได้ก่อน โดยเฉพาะการที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี

"ประชาชนสมัยใหม่ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว ยิ่งยุคเหลืองแดง จะเห็นได้ว่าประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมาก อีกทั้งจะเลือกคนจากความสามารถมากกว่าจะเลือกคนเพราะมีนามสกุลดังเท่านั้น ดังนั้นถ้าไม่พิสูจน์ตัวเอง โอกาสจะประสบความสำเร็จก็ยาก"

ตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จเพราะการสร้างตัวของตัวเองมาก่อน ได้แก่ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เคยถูกดึงมาเป็นรมว.คมนาคม ปี 2537-2538 และ

วุฒิภาวะดี-ความคิดไกล

ปัจจัยที่ 2 ต้องมีวุฒิภาวะทั้งด้านความคิด และทางอารมณ์ที่ดี ต้องเป็นคนที่นิ่ง เข้าใจเรื่องจริยธรรม และมีวิสัยทัศน์ เนื่องจากนักการเมืองจะต้องเป็นผู้นำ กำหนดนโยบายที่เป็นการกำหนดชีวิตของคนทั้งประเทศ ดังนั้น เรื่องวุฒิภาวะจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยส่วนนี้จะต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานด้วย

"คนรวยมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะไม่เดือดร้อนในการทำมาหากิน ก็จะทุ่มเทภารกิจให้การเมืองได้มาก แต่ถ้าไม่มีวุฒิภาวะพอ โอกาสขึ้นตำแหน่งสูงๆ ก็ไม่มี"

กรณีที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของ "คุณปลื้ม" หรือ "หม่อมหลวงณัฎฐกรณ์ เทวกุล" คุณปลื้มนั้นมีการศึกษาดี มีพ่อที่เป็นคนเก่งหาตัวจับยากในสังคม แต่คุณปลื้มก็ยังไม่สามารถผ่านกระแสนิยมจากประชาชนเพื่อก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัวได้

"คุณปลื้มมีปัญหาตรงที่มีความคิดแบบที่สังคมไทยไม่ยอมรับ แม้จะโปรไฟล์ดี แต่คนในสังคมมองว่าเมื่อมาเป็นผู้นำพวกเขาแล้ว จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะไม่เข้าใจรากฐานสังคมไทย"

กล้าตัดสินใจแม้ผิดพลาด

ปัจจัยที่ 3 ที่สำคัญคือต้องเป็นคนกล้า คนจะก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญและไปได้ไกลต้องเป็นคนกล้าตัดสินใจ ในเรื่องต่างๆ อย่างกรณี ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม เป็นคนมีฐานะดี การศึกษาดี ได้รับโอกาสดี คือได้เป็นถึงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ต้องมาเสียโอกาสเพราะเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ไม่เหมือน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เป็นคนกล้าตัดสินใจมากกว่า

"คุณหญิงสุดารัตน์ไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นคนดีหรือไม่ มีวิธีการไต่เต้าทางการเมืองอย่างไร แต่คุณหญิงฯเป็นคนเก่ง เก่งในการบริหารคน และกล้าตัดสินใจ ไม่ใช่แค่ตัดสินใจว่าจะทำอะไร แต่เมื่อทำผิดพลาด คุณหญิงฯจะเป็นคนที่กล้าที่จะแก้ไขความผิดพลาดนั้นอย่างรวดเร็ว ตรงนี้ทำให้คุณหญิงฯดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาหลายครั้ง"

จิตใจมั่นคงต่อการทุจริต

ปัจจัยที่ 4 ซึ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เป็นนักการเมืองที่ดีได้ คือต้องมีความเด็ดขาดทางจริยธรรม สิ่งที่ต้องถามตัวเองก่อนเข้าสู่แวดวงการเมืองคือ มีแรงต้านทานต่อการทุจริตได้แค่ไหน ต้องตั้งคำถามว่า ถ้ามีคนมาให้ 100 ล้านบาท จะยอมไหม ถ้าไม่ยอม มีคนมาให้ 1,000 ล้านบาท ยอมไหม แล้ว 10,000 ล้านบาทยอมไหม ถ้ายอมก็อย่าเป็นนักการเมืองเลย เพราะทุกวันนี้การทุจริตมีการต่อรองผลประโยชน์กันอยู่ในระดับ 1,000-10,000 ล้านบาท ถ้าใจไม่แข็งพอ ก็จะเป็นนักการเมืองที่ดีไม่ได้

ดังนั้น หากคนรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ข้อถ้าต้องการก้าวสู่สนามการเมืองก็น่าจะเป็นโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญได้เพียงแต่ต้องไม่ลืมศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองไทยเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งด้วย

*************




Create Date : 14 มกราคม 2553
Last Update : 14 มกราคม 2553 11:28:38 น. 0 comments
Counter : 1386 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

jirachon
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add jirachon's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com