แนวโน้มเศรษฐกิจกับแนวโน้มตลาดหุ้น
วันนี้ขอนำบทความที่เขียนโดย ดร. ศุภวุฒิ สายเชี้อ มาให้อ่านกัน เห็นว่า เป็นอีกแง่มุมหนึ่ง ที่น่ารับฟัง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 พฤษภาคม 2554

ใน 6 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อธิบายได้ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เงินต่างชาติไหลเข้ามาซื้อหุ้น

ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทำให้หุ้นพลังงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1/3 ของตลาดหุ้นไทยปรับสูงขึ้น ตลอดจนผลประกอบการของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้น เพราะสินเชื่อขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยรวมแล้วตลาดหุ้นสะท้อนว่าทุกอย่างดูดี เสียงส่วนใหญ่ จึงคาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะปรับขึ้นได้อีกในปีนี้

ผมขอเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่กล้าเชื่อว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวดีขึ้น และขอยอมรับก่อนเลยว่าเคยคาดการณ์ผิดคิดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะไม่สามารถขยับเกิน 900 จุด แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 1,100 จุดแล้ว และยังเชื่อว่ามีปัจจัยลบอยู่รอบตัว ทำให้ผมเห็นว่าตลาดหุ้นมีแนวโน้มลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้นในเวลาที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค หรือ "ภาพใหญ่" เป็นหลัก ต่างจากนักลงทุนบางกลุ่ม ที่จะเน้นการดูความมูลค่าของหุ้นแต่ละตัว (valuation) มากกว่าเน้นปัจจัยมหภาค เพราะตั้งใจที่ถือหุ้นยาว 5-10 ปี

ผมขอเริ่มดู "ภาพใหญ่" ที่สหรัฐอเมริกาก่อน การปรับขึ้นของหุ้นที่อเมริกานั้น กล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่น่าจะมาจากนโยบายการเงินมากกว่า พูดกันง่ายๆ และตรงไปตรงมา คือ นโยบายการเงินของสหรัฐขณะนี้ คือ พิมพ์เงินออกมาให้ล้นระบบ ทำให้การกู้เงินข้ามคืนหรือข้ามเดือนจะจ่ายดอกเบี้ยไม่ถึง 0.10% ต่อปี นอกจากนั้น ธนาคารกลางของสหรัฐยังดำเนินนโยบายพิมพ์เงินไปซื้อตราสารหนี้ รวมทั้งพันธบัตรรัฐบาล 2 ระลอกที่เรียกกันว่า QE1 และ QE2 ในช่วง 2009 ถึงปัจจุบันเพื่อ "อุ้ม" ราคาสินทรัพย์และที่สำคัญ คือ เพื่อ "ไล่" นักลงทุนออกจากการลงทุนที่ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้ไปลงทุนที่เสี่ยงกว่า เช่น ซื้อหุ้น จากวันที่นายเบอร์นันเก้ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐกล่าวสุนทรพจน์ในเดือนสิงหาคมส่งสัญญาณว่าจะพิมพ์เงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ ตลาดหุ้นเอส แอนด์พีของสหรัฐปรับขึ้นไป 23.3% แต่ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นไป 43.7% (ราคาน้ำมันปรับตัวใกล้เคียงกัน) ราคาทองคำปรับขึ้นไปทำสถิติสูงสุด ฯลฯ กล่าวคือ นายเบอร์นันเก้พิมพ์เงินดอลลาร์ออกมามากพอที่จะสร้างความฟุ้งเฟ้อในราคาหุ้นและราคาทรัพยากรทั่วโลก คำถาม คือ ราคาต่างๆ ที่ปรับสูงขึ้นนั้นเป็นการปรับขึ้นบนปัจจัยพื้นฐานที่ยั่งยืนหรือเป็นเพียงการ "ปั่นเศรษฐกิจ" โดยการพิมพ์เงินออกมาอย่างล้นหลาม

ในสหรัฐอเมริกานั้นการสำรวจล่าสุดพบว่าประชาชนกว่า 70% มองว่าประเทศสหรัฐกำลัง "เดินผิดทาง" ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นในเมื่อตลาดหุ้นและกำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นมาตลอด ผมคิดว่าประชาชนคงมองเห็นปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. การว่างงานกว่า 8% และส่วนใหญ่ว่างงานมานานกว่า 6 เดือน ทำให้ยากต่อการจะหางานใหม่ เพราะฝีมือและประสบการณ์ในอดีตจะล้าหลังพัฒนาการที่รวดเร็วในสมัยนี้

2. ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ประชาชนยังถูกยึดบ้านและมีบ้านเก่าเหลือรอขายทอดตลาดได้อีก 8-9 เดือน โดยราคาบ้านเริ่มปรับตัวลดลงรอบสองแล้ว

3. รัฐบาลสหรัฐขาดดุลประมาณ 10% ของจีดีพีติดต่อกันมา 3 ปี ทำให้หนี้สาธารณะกระโดดขึ้นมาที่ 100% ของจีดีพีแล้ว (14.3 ล้านล้านดอลลาร์)

4. ในขณะเดียวกัน จีดีพีในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาขยายตัว 3.5% แต่ก็ได้ชะลอตัวลงแล้วในไตรมาส 1 โดยขยายตัว 1.8% และเนื่องจากสหรัฐต้องเริ่มรัดเข็มขัดทางการคลังเพื่อลดการสร้างหนี้สาธารณะ แต่ก็จะเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงต่อเนื่องอีก ครั้นจะให้นายเบอร์นันเก้พิมพ์เงินเพิ่มต่อไปอีก (QE3) ก็จะยิ่งเร่งสร้างเงินเฟ้อที่ปัจจุบันทำให้ประชาชนเดือดร้อนและความนิยมของประธานาธิบดีโอบามาลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐพยายามอธิบายว่าให้ดูเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อหักพลังงานกับอาหาร) ของสหรัฐซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.3% และสินค้าบางประเภท เช่น โทรศัพท์มือถือ ไอโฟนและนวัตกรรมใหม่ เช่น ไอแพดก็เป็นสินค้าคุณภาพที่เพิ่มกำลังซื้อของประชาชน แต่ก็ถูกตอกกลับว่าไอโฟนและไอแพดนั้นกินไม่ได้

ในขณะเดียวกัน หากมองออกไปนอกสหรัฐอเมริกาก็จะเห็นว่าปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศชายขอบของยุโรป (ที่เรียกว่าประเทศ PIGS) ก็ยังไม่ได้แก้ไขเพราะพยายามยืดหนี้ แต่เมื่อหนี้มากเกินรับภาระ จึงเกิดความปั่นป่วนทำให้พันธบัตร 2 ปีของรัฐบาลกรีกนั้นต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า 20% กล่าวคือ นักลงทุนกำลังกลัวว่ากรีกจะชำระหนี้ไม่ได้ ดังนั้น จึงเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมาก เป็นการซ้ำเติมภาระหนี้ของกรีก ทำให้มีการเสนอให้มีการลดหนี้ ซึ่งจะทำให้เจ้าหนี้เสียหาย แต่หากไม่ทำอะไรประเทศ PIGS ก็จะมีแต่จะทรุดตัวลง

ในทำนองเดียวกันปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในกลุ่มประเทศ MEMA (Middle East and North Africa หรือตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ) ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข สงครามกลางเมืองในลิเบียก็ไม่ทราบว่าจะจบลงเมื่อใด อียิปต์ก็ยังแก้ปัญหาไม่เสร็จ ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น ซีเรียและเยเมน ฯลฯ ก็ยังเผชิญกับความไม่สงบทางการเมืองที่จะดูรุนแรงยิ่งขึ้น โดยรวมแล้วไอเอ็มเอฟประเมินว่าในระยะยาวเป็นไปได้มากว่าอุปทานน้ำมันดิบอาจจะขยายตัวไม่ถึง 1% ต่อปี ในขณะที่อุปสงค์น่าจะขยายตัว 2% ต่อปี ทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวขึ้นได้มากถึง 200% ใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งผมได้เคยเขียนถึงในครั้งที่แล้วสำหรับวิกฤติที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นก็มองได้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่ (เกือบ 10% ของจีดีพีโลก) ดังนั้น จึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ดังนี้ คือ

1. ในระยะสั้นลดอุปสงค์ของโลก และแม้ว่าอุปสงค์จะปรับเพิ่มขึ้นกลับคืนได้ เพราะรัฐบาลจะต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่อย่าลืมว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะกว่า 200% ของจีดีพีแล้วและประชาชนของญี่ปุ่นก็กำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การฟื้นตัวของอุปสงค์ญี่ปุ่นอาจไม่สูงมากอย่างที่คิด

2. ผลกระทบต่อ Supply chain ของโลกรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังที่เห็นชัดในประเทศไทย ซึ่งบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นประกาศลดการผลิตและคาดว่าปีนี้การผลิตรถยนต์อาจลดลงกว่าแสนคัน หรือ 5-7% ของการผลิตทั้งหมด

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้นก็กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตอกย้ำว่าจะต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ธปท.อธิบายว่าเงินเฟ้อเกิดจากอุปสงค์เป็นหลัก (ไม่ใช่ต้นทุนการผลิตหรืออุปทาน) แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มุ่งเน้นจะออกมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและประชานิยมเพื่อเอาใจประชาชน เพราะกำหนดจะเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม พรรคฝ่ายค้านก็นำเสนอนโยบายประเภทเดียวกัน ซึ่งล้วนแต่จะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อทั้งสิ้น อันจะยิ่งทำให้ ธปท.ต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปอีก กล่าวคือ ในสภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มร้อนแรงและรัฐบาลยังเติมแรงกระตุ้นเข้าไปอีก ก็ยิ่งจะเป็นการยื้อแย่งทรัพยากรกับภาคเอกชน

ประเด็นสุดท้าย คือ มุมมองของนักลงทุนว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (เพราะนักการเมืองต้องทำกิจกรรมหาเสียง) และจะช่วยนำพาประเทศไปสู่ความสมานฉันท์และปกติสุขทางการเมือง แต่หากมองให้ลึกซึ้งก็จะเห็นว่ามีหลายเสียง (รวมทั้งนักการเมือง) แสดงความเป็นห่วงว่าอาจไม่มีการเลือกตั้งก็ได้เพราะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนสูง และล่าสุด ก็เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่ชายแดนกับเขมร ดังนั้น เมื่อรัฐบาลยุบสภาและเกิดสภาวะสุญญากาศทางอำนาจแล้ว ก็อาจเป็นช่วงที่อ่อนไหวต่อข่าวลือ การขับเคลื่อนเพื่อกดดันของกลุ่มต่างๆ จะเพิ่มขึ้น อันจะบั่นทอนความมั่นใจโดยรวมได้ เพราะในช่วงระหว่างการยุบสภาและก่อนวันเลือกตั้งนั้น รัฐบาลก็เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ (อำนาจอยู่กับข้าราชการ) และสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีแล้วเหลือแต่วุฒิสภาที่ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งครับ



Create Date : 09 พฤษภาคม 2554
Last Update : 9 พฤษภาคม 2554 5:43:04 น.
Counter : 499 Pageviews.

0 comments

Depulis
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



พฤษภาคม 2554

1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog