"แก้พอร์ต" เรื่องง่ายที่ทำใจยาก
"แก้พอร์ต" เรื่องง่ายที่ทำใจยาก
โดย กาญจนา หงษ์ทอง กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2547

ว่ากันว่า การลงทุนในตลาดหุ้น ก็เปรียบเสมือน "การขับรถ" ด้วยตัวเอง เมื่อไม่ไว้ใจให้ใครขับ ก็ย่อมเผชิญหน้าด้วยตัวเอง และเมื่อเกิด "อุบัติเหตุ" ขึ้นมา คุณเองนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง สำหรับนักลงทุนที่มีทักษะดี เกาะติดข้อมูลและสถานการณ์ และลงทุนอย่างรู้ลึกรู้จริงคงหายห่วง แต่ดูเหมือนว่าสำหรับนักลงทุนโดยทั่วไปแล้ว การรับมือกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ช่างยากเย็นเหลือเกิน การแก้พอร์ต และการคัทลอสไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แล้วจะทำอย่างไรดี เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการลงทุน

เรื่อง เทคนิคการแก้พอร์ตนั้น ลองฟังผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากหลายฝ่าย ว่าพวกเขาเหล่านี้มีวิธีการแก้พอร์ตอย่างไร หลากวิธี หลายสูตรที่แตกต่างกันไป

"สุกิจ อุดมศิริกุล" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเพกซ์ มองว่า ก่อนที่จะมาถึงการแก้ไขพอร์ตการลงทุนนั้น ก่อนอื่นเลยจะต้องไปแก้ไขที่ "ต้นเหตุ"

คือ นักลงทุนจะต้องสำรวจดูตัวเองก่อนว่า ตัวเองเป็นนักลงทุนประเภทไหน มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนอย่างไร มีเป้าหมายในการลงทุนแบบไหน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งนักลงทุนทุกคนจะต้องรู้เป็นอันดับแรก และไม่อยากให้หลอกตัวเอง ทุกคนต้องตอบตัวเองแบบซื่อสัตย์ให้ได้

บางคนบอกว่าเป็นนักลงทุนระยะยาว แต่กลับซื้อเช้าขายเย็น วันหนึ่งซื้อขายหลายครั้ง บางคนพอเห็นราคาหุ้นขึ้นมากก็รีบขายเสียแล้ว แบบนี้ไม่ใช่นักลงทุนระยะยาวแล้ว แบบนี้ก็ไม่ใช่อีกเหมือนกัน คือ ต้องซื่อสัตย์กับตัวเองก่อน

สำหรับ "นักเก็งกำไร" ที่ซื้อขายรายวัน คติของนักเก็งกำไร ก็คือ "ต้องมีสภาพคล่อง" เพราะถ้าไม่มีสภาพคล่อง ก็จะไปเล่นเก็งกำไรไม่ได้

ดังนั้น ถ้าหุ้นที่ถืออยู่ไม่เป็นไปตามอย่างที่คาดคิดเอาไว้ คือ ราคาไม่ปรับขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องตัดขาดทุนให้เร็วที่สุด และ "Stop Loss" หรือ "Cut Loss" ให้เป็น

"คุณอาจจะไปได้ข่าวดีมาเกี่ยวกับ หุ้นตัวหนึ่ง คุณก็เข้าไปซื้อเก็งกำไร เพราะคุณคิดว่าราคาจะขึ้น แต่เมื่อไม่เป็นไปตามคาดก็ต้องขาย จริงๆ แล้วราคาลงมา 4-5% ก็ควรขายได้แล้ว เพราะแสดงว่าผิดปกติจากที่คุณคิดแล้ว ยอมขาดทุน 5% ดีกว่า เพราะคุณยังมีโอกาสที่จะไปเก็งกำไรตัวอื่นถูก ซึ่งสามารถที่จะเอาเงินที่ขาดทุนไป 5% คืนมาได้"

สิ่งที่สุกิจเห็นคือ ส่วนใหญ่นักเก็งกำไรจะไม่ทำเช่นนั้น คือ เมื่อได้ข่าวดีมา ก็เข้ามาซื้อหุ้นเก็งกำไร พอราคาหุ้นไม่ขึ้น แทนที่จะตัดใจขายขาดทุนให้เร็ว เพราะหัวใจของการเก็งกำไร คือ สภาพคล่อง กลับถือต่อ ทำให้ "ติดหุ้น"

"แทนที่จะตัดใจขายให้เร็วที่ 5% กลับต้องไปตัดใจขายตอนราคาลงไป 50% แบบนี้ก็ยากที่จะเล่นหุ้นให้ได้เงินส่วนที่ขาดทุนไปกลับคืนมา ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบนั้น"

ส่วน "นักลงทุนระยะยาว" นั้น สุกิจแนะนำว่าถ้าหุ้นที่คุณถืออยู่เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีจริง ก็ไม่ต้องกังวล เพราะตลาดหุ้นมีขึ้นมีลง ถ้าพอร์ตการลงทุนติดลบอยู่ก็ไม่เป็นไร ถ้ามั่นใจว่าหุ้นที่ถืออยู่เป็นหุ้นที่ดีจริง แต่ก็อยากจะฝากไปถึงนักลงทุนด้วยว่าภาพการปรับขึ้นของดัชนีจากนี้ไป คงไม่มีเหมือนกับในปี 46 ที่ปรับขึ้นมาเป็น 100% แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนระยะยาว ระหว่างทางถ้ามีกำไรสัก 15% ก็ควรจะมีการขายหุ้นในพอร์ตออกมาบ้างบางส่วน เพื่อจะได้มีกำไร และเป็นการเฉลี่ยต้นทุนไปด้วยในตัว ไม่เช่นนั้นถือไปอาจจะไม่ได้อะไรเลย เพราะกว่าหุ้นจะ "ขึ้นยาก" แต่จะ "ลงง่าย" ซึ่งตลาดต่อจากนี้ไปจะเป็นลักษณะเช่นนั้น ก็ควรจะมีการขายทำกำไรออกมาบ้าง ยกเว้นผู้ที่ลงทุนยาวจริงๆ เป็น 10 ปีขึ้นไป ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

"หรือถ้าหุ้นที่ถืออยู่ตกลงมามาก จริงๆ ก็อาจจะต้องตัดขายออกไปเพื่อเปลี่ยนกลุ่มเล่น ภาพของการปรับขึ้นของหุ้นหลังจากนี้ ไม่ใช่จะขึ้นเหมือนกันทุกกลุ่มเช่นในปีก่อน ดังนั้น ถ้าเราถือหุ้นในกลุ่มที่ไม่ขึ้น บางครั้งก็ต้องตัดใจขายเพื่อเปลี่ยนไปลงทุนในกลุ่มที่มีโอกาสจะปรับตัวขึ้น ได้จะดีกว่า เพราะการขายหุ้นนั้น จะขายเมื่อหุ้นแพงหนึ่ง หุ้นมันจะลงหนึ่ง และเมื่อหุ้นมันไม่เป็นไปตามที่เราคิดอีกหนึ่ง"

"อัจฉรา สุทธิศิริกุล"รักษาการกรรมการผู้จัดการ บลจ.นครหลวงไทย แนะนักลงทุนว่า ก่อนจะเริ่มลงทุนอย่างแรกควรมุ่งไปสู่หัวใจสำคัญ คือ "การกระจายความเสี่ยง" อย่างน้อยควรจะมีหุ้นไม่น้อยกว่า 5 ตัว แต่ขึ้นอยู่กับเงินของแต่ละคน นอกจากนี้ ยังควร "กระจายอุตสาหกรรม" และจะต้องรู้ว่าซื้อหุ้นไปเพราะอะไร บางคนซื้อเพราะเทคนิเคิล

"ถึงได้บอกว่าวินัยสำคัญ บางคนตัดใจขายไม่ได้ สิ่งสำคัญคือขายไม่ขายก็ขาดทุนไปแล้ว ถ้าไม่ขายก็ไม่ขาดทุน"

เมื่อพบว่าขาดทุน เราคิดว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นเป็นทางเลือกใหม่ดีกว่า เช่น ซื้อ 10 บาท ลงไป 9 บาท ถ้าถือต่อไปแล้วมีตัวอื่นที่ดีกว่า ถ้าเราคิดว่าหุ้นเอจะขึ้นไปได้ดีกว่าหุ้นบี เราก็ขายบีมาซื้อเอ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการวิเคราะห์ของแต่ละคนด้วย

"ถึงที่สุดแล้วฟันด์ แมเนเจอร์มักแก้พอร์ตเก่งกว่า โดยมากลูกค้ารายย่อยทั่วไปไม่อยากขาย เพราะกลัวขาดทุน ตอนขาดทุนน้อยไม่กล้าขาย กว่าจะไปทำใจขายได้ ก็ขาดทุนไปเยอะแล้ว ลูกค้าบางคนถ้าแก้ไขปัญหาด้านจิตวิทยาไปแล้วก็น่าจะทำใจได้ อีกอย่างฟันด์ มีข้อมูลมากกว่า สามารถเช็คและคอมพานี วิสิทได้ เราทำอาชีพนี้ เราติดตามข่าวสาร ใช้เวลากับมัน 100% การตัดสินใจทำได้รวดเร็วกว่ารายย่อยแน่นอน"

"ธีรนาถ รุจิเมธาภาส" หัวหน้าธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล บลจ.ทิสโก้ ให้คำแนะนำในการแก้พอร์ตว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น อย่างแรกคงต้องประเมินดูว่าสถานการณ์ย่ำแย่ "ชั่วคราว" หรือ "ถาวร" ซึ่งนโยบายในการคัทลอสของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนขาดทุนแค่ 5% ก็อาจจะยอมคัทลอสแล้ว แต่บางคน 20% ถึงจะลงมือ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นเรื่องของมุมมองและเงื่อนไขของแต่ละคน

"อย่างในส่วนของทิสโก้เราไม่ขีดเส้น ว่าเราจะคัทลอสเท่าไหร่ แต่เราจะขายก็ต่อเมื่อหุ้นไร้อนาคต เพราะคุณไม่สามารถอยู่กับหุ้นที่ไร้อนาคตได้ จริงอยู่เรื่องคัทลอสสำหรับรายย่อยอาจจะทำใจยาก แต่สำหรับกองทุนเราต้องหยุดความเสียหาย ต้องยอมคัทลอส จึงต้องมองไปข้างหน้าเสมอ เพื่อสร้างผลตอบแทน เพราะในการบริหารพอร์ตกองทุน เราจะไม่มองไปข้างหลัง"

จริงอยู่บางคนอาจจะรับไม่ได้เมื่อ ขาดทุน ไม่ยอมขายขาดทุน เพราะเสียศักดิ์ศรีหรืออะไรก็ตาม แต่การลงทุนมันเหมือน "เกม" ที่ต้องอาศัยความไว และคิดอย่างมีหลักการ ไม่ใช่นำ "อารมณ์" เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ

ธีรนาถแนะว่า ก่อนอื่นเมื่อต้องการจะแก้พอร์ต คงต้องดูว่าหุ้นที่ตก เป็นหุ้นพื้นฐานดีหรือเปล่า หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพตลาดจะเป็นผลกระทบระยะยาวหรือไม่ ไม่เพียงติดตามดูหุ้นที่ถือ แต่ยังต้องดูหุ้นในกลุ่มที่ลงทุนด้วย ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร

"บุคคลทั่วไปอาจจะวิเคราะห์ สถานการณ์ลำบาก แต่ถ้าเป็นกองทุนจะเหมือนหมอ บางครั้งถึงเวลาผ่าตัดก็ต้องทำ ผมว่ารายย่อยบางทีซื้อแต่ขายไม่เป็น แทนที่จะขายก็ไม่ขาย ไม่ขายเพราะกลัวขาดทุน บางทีลงทุนตอนหุ้น 10 บาท แต่พอราคาตกลงไป 8 บาท หากประเมินแล้วว่าควรขายก็ขาย ยอมขาดทุนแล้วเอาเงินไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่อาจจะได้ผลตอบแทนดีกว่า"

"ต้องใจ ธนะชานันท์-มาริอง" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการลงทุน บลจ.อยุธยาเจเอฟ ให้ข้อคิดสำหรับการแก้พอร์ตไว้ 2-3 ข้อ ว่าอันดับแรกในแง่ของการ "มองหุ้น" ต้องมองไปข้างหน้า ไม่ใช่มองย้อนหลัง อย่าไปดูว่าขาดทุนไปแล้วเท่าไหร่ เพราะนั่นสำคัญน้อยกว่าตัวเลขขาดทุนที่จะเกิดเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

จากนั้น ต้องตัดสินใจขายหุ้นที่ขาดทุนและ "หุ้นที่ไม่ค่อยเห็นอนาคต" ออกจากพอร์ต เช่น หุ้นที่ผลกำไรของบริษัทอาจดูไม่ดีขึ้นและไม่ชัดเจน หรือไม่ก็ธุรกิจนั้นดูเริ่มอิ่มตัว

และถ้ายังอยากลงทุนในหุ้นต่อ ต้องใจแนะว่าต้องเลือกหาและลงทุนในหุ้นที่มีอนาคตดีกว่า และมีโอกาสทำกำไรได้สูง เช่น หา warrant ของบริษัทที่ดีและค่อนข้างแน่ใจว่าจะทำกำไรได้ แต่ถ้าหากกลัวว่าจะขาดทุนซ้ำ ก็ควรออกจากตลาดหุ้นบ้างบางส่วน แล้วนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรักษาเงินต้น

"ควรจำไว้ว่า ใครแนะนำการลงทุนเมื่อรอบที่แล้วที่ทำให้เราขาดทุน และควรระวังความผิดพลาดแบบเดิมๆ ในรอบต่อไป"

เหล่านี้เป็นข้อคิดและคำแนะนำในการแก้ พอร์ตของเหล่าผู้รู้ และผู้ที่มีประสบการณ์การแก้พอร์ตมาอย่างโชกโชน เชื่อไม่เชื่อ ทำตามหรือแค่นั่งเฉย นั่นเป็นเรื่องที่คุณต้องตัดสินใจเอง



Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2553 21:10:32 น.
Counter : 1294 Pageviews.

1 comments
  
ใช้เงินเย็น
ก็ทำใจง่ายแล้ว
โดย: jejeeppe วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:16:07:19 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Depulis
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



กุมภาพันธ์ 2553

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
20
21
24
26
27
28
 
 
All Blog