โลกนี้แสนสวยงาม... อยากให้เธอได้อยู่ร่วมชม...............
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
13 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 

ชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ที่ชำรุด



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

จากหนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10474

//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act04131149&day=2006/11/13


ก ่อนหน้าการรัฐประหาร กระแสการปฏิรูปการเมืองแพร่หลายและมีพลังอยู่แล้ว จนแม้แต่หัวหน้าพรรค ทรท.ในขณะนั้นก็ไม่ปฏิเสธ (และทำให้คณะรัฐประหารเอามาใช้เป็นชื่อของตัว)

ในช่วงนั้น ท่านประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าควรแก้รัฐธรรมนูญให้ผู้สมัครอิสระสามารถสมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.ได้ ท่านให้เหตุผลว่า เพื่อเปิดโอกาสให้คนดีได้ลงสมัครรับใช้บ้านเมือง นัยยะที่ไม่ต้องกล่าวก็คือพรรคการเมืองไม่สามารถเลือกสรรคนดีมารับใช้บ้านเม ืองได้

ผมเห็นด้วยกับท่านเต็มที่ แต่ด้วยเหตุผลคนละอย่างกัน

ผ ู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความคิดประหลาดว่า เราสามารถได้พรรคการเมืองที่เข้มแข็ง (ซึ่งไม่ได้แปลว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาล แต่สามารถควบคุม ส.ส.ในสังกัดได้) จากการตรากฎหมาย ฉะนั้นจึงกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค, รัฐให้เงินอุดหนุนพรรคการเมือง เพื่อช่วยไม่ให้พรรคตกไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองของพ่อค้านายทุน, เป็นรัฐมนตรีแล้วต้องออกจาก ส.ส.,รวมทั้งที่เรียกกันว่า"ล็อค 90 วัน"

กฎหมายลูกทั้งหลายก็ออกมาภายใต้แนวคิดที่จะให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพื่อควบคุม ส.ส.ไม่ให้เล่นสัปดนทางการเมือง

ค วามคิดประหลาดนี้ ว่าที่จริงก็ไม่ได้ลอกฝรั่งมาแต่อย่างใด (ตรงกันข้ามกับที่พวกจารีตนิยมชอบอ้างว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ลอกตำราฝรั่งมาทั้งดุ้น) แต่เป็นความพยายามจะตอบปัญหาของการเมืองไทยโดยตรง เพราะ ส.ส.อิสระและสังกัดพรรคในสภาไทยนั้น รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากรัฐบาลมาตลอด รวมทั้งเล่นสัปดนอื่นๆ ด้วย โดยไม่มีใครคุมได้เลย จนหัวหน้ารัฐบาลต้องยึดอำนาจตัวเองเพื่อล้มสภามาหลายครั้งแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงหาทางที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยการให้อำนาจการควบคุมที่คิดว ่ามีประสิทธิภาพแก่พรรค จนพรรคกลายเป็น "คุก" ในทรรศนะของคุณเสนาะ เทียนทอง และบริวาร

(พูดเรื่องลอกฝรั่งแล้ว ผมก็ขอออกนอกเรื่องตรงนี้นิดหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญที่พวกจารีตนิยมร่างขึ้นต่างหาก ที่ลอกฝรั่งมาโดยตรง กล่าวคือไม่ได้มีปัญหาการเมืองของไทยเป็นโจทย์เลย เพียงแต่ว่าแก้ไข, ตัดตอน, ทำให้เป็นหมัน, ฯลฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญฝรั่งที่ตัวลอกมา เพื่อจะปกป้อง, รักษา และขยาย อำนาจกับผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยเท่านั้น)

พรรคการเมือ งนั้นเป็นการรวมตัวกันโดยธรรมชาติของนักการเมือง กล่าวคือเมื่อรวมตัวกันแล้วย่อมได้มากกว่าเสีย นักการเมืองจะรวมตัวเป็นพรรคอยู่อย่างนั้น ตราบเท่าที่ตัวคิดว่าจะได้มากกว่าเสีย

ได้ที่สำคัญที่สุดของนักการเม ืองคืออะไร ก็ได้รับเลือกตั้งสิครับ ฉะนั้น พรรคการเมืองจึงสร้างสมรรถภาพของตัวไปในทางที่จะทำให้สมาชิกได้รับเลือกตั้ง เป็นสำคัญ สมรรถภาพอันนี้ประกอบด้วยเงินทุน (ซึ่งไปรีดไถหรือได้รับการอุดหนุนมา) รวมทั้งประชาชนที่ศรัทธาพรรคหรือนโยบายบางประการของพรรค จนเป็นอาสาสมัครทำงานรณรงค์ให้, นโยบายที่ถูกใจประชาชน, บุคลิกที่ไม่ฝืนมติมหาชน (ซึ่งในเมืองไทยเรียกว่าปลาไหล), เส้นสายที่พรรคมีกับส่วนอื่นๆ ของสังคม นับตั้งแต่สื่อ, นักวิชาการ, นายทุน, ผู้นำสหภาพ, ชาวนา และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งช่างตัดผมและแท็กซี่ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เพื่อประโยชน์ของตัวเองนี่แหละครับ ผลักดันให้พรรคการเมืองต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอยู่บ้าง มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรณี ในทางตรงกันข้าม ประชาชนเองก็มองเห็นว่า การผลักดันนโยบายสาธารณะของตัวหากผ่านพรรคการเมืองก็มีทางประสบความสำเร็จมา กกว่าและง่ายกว่าทางอื่น

ฉะนั้น พรรคการเมืองจึงเป็นเครื่องจักรใหญ่สำหรับการเลือกตั้ง จนกระทั่งทำให้ส.ส.อิสระเสียเปรียบหากไม่สังกัดกับเครื่องจักรใดเลย แม้กระนั้นตราบเท่าที่เขตเลือกตั้งยังเล็กอยู่ ก็เป็นไปได้ที่ผู้สมัครพรรคเล็กหรืออิสระจะฟันฝ่าเอาชนะเครื่องจักรไปเป็น ส.ส.จนได้ แต่ถ้าเขตเลือกตั้งใหญ่ ก็ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยในบางสังคม เพราะกำลังของคนกลุ่มเล็กจะไปสู้กับเครื่องจักรใหญ่นั้นเป็นไปไม่ได้

ข อให้สังเกตนะครับว่า ผู้สมัครพรรคเล็กหรืออิสระสามารถเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรอเมริกันได้บ้าง แต่หมดหวังสำหรับวุฒิสภาซึ่งมีเขตเลือกตั้งใหญ่ทั้งมลรัฐ ในอังกฤษ เพราะเขตเลือกตั้งเล็ก (เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40) สภาอังกฤษจึงไม่เคยขาด ส.ส.พรรคเล็ก (หรือเคยใหญ่แต่กลายเป็นเล็กในภายหลัง) หรือ ส.ส.อิสระเลย

อ ย่างไรก็ตาม เครื่องจักรเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองกำลังกลายเป็นเครื่องจักรที่ตอบสนองต่ อเสียงเรียกร้องของประชาชนน้อยลงทุกที เหตุที่เป็นเช่นนี้มาจากสองด้าน คือด้านพรรคการเมืองเอง กลไกของเครื่องจักรใหญ่เทอะทะจนเกินกว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรได้ง่ายๆ กว่าพรรคเดโมแครตจะออกมาฟันธงว่า สงครามอิรัคเป็นความผิดพลาด ก็เล่นเอาชีวิตของอเมริกันและอิรักสูญเสียไปเป็นแสน และทำให้ไฟลามภูมิภาคนี้ไปทั่ว โดยมิตรของอเมริกันในโลกลดลง และอันตรายต่ออเมริกันกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อน 9/11 เสียอีก อีกด้านหนึ่งก็คือเพราะสื่อและระบบเศรษฐกิจ-สังคมที่ดึงดูดให้ประชาชนเข้ามา ร่วมในสังคมชาติและสังคมโลกอย่างแนบแน่นกว่าเก่า ประชาชนได้เปลี่ยนไปแล้ว

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วไปกว่าครึ่งโลกนะครับ ไม่ใช่เฉพาะในอเมริกา และผมแน่ใจว่าเกิดในเมืองไทยด้วย

ค นรุ่นใหม่ในสังคมตะวันตกสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยลง (รวมทั้งไปเลือกตั้งน้อยลงด้วย) คนที่เลือกผู้สมัครจากพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็หายไปด้วย เพราะพรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายนั้น ไม่ได้ต่างกันในเชิงนโยบาย พรรคเลเบอร์ภายใต้นายแบลร์เป็นเสรีนิยมใหม่ยิ่งกว่านางแทตเชอร์อีกซ้ำ พรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างเพิ่มอำนาจของรัฐบาลกลางเหมือนๆ กัน

ใ นขณะที่ "พลเมืองสกรรม" ทางการเมือง (แหะๆ หมายถึง active citizens น่ะครับ) ไม่เคยได้รับการสนองตอบจากพรรคการเมืองใดๆ ไม่ว่าคนที่แคร์ปัญหาโลกร้อน, การกระจุกตัวของรายได้, การศึกษาที่เสื่อมคุณภาพลง, สวัสดิการรัฐที่กำลังหายไป, อำนาจที่ปราศจากการทัดทานถ่วงดุลของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่, สิทธิสตรี, เอฟทีเอ, การจัดการน้ำด้วยเขื่อนขนาดใหญ่, ระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม, การกระจุกตัวของทรัพยากรการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน ฯลฯ ต่างพบว่า ล้วนเป็นปัญหาที่พรรคการเมืองใหญ่ไม่เคยรับเข้าไปในนโยบาย เพราะมัน "ร้อน" เกินไป เครื่องจักรเลือกตั้งจะไหม้

แปลกอะไรล่ะครับ ที่เขาเลือกนักกล้ามเป็นผู้ว่าการรัฐ, เลือกคนหน้าตาธรรมดาเป็นประธานาธิบดีแทนคนหน้ายาว, และเลือกคุณสมบัติ เมทะนี เป็น ส.ว.

ความพยายามจะสถาปนาอำนาจของพรรคการเมืองขึ้นมาคุม ส.ส. นอกจากเป็นความคิดที่ก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว (เพราะถ้าทำให้พรรคการเมืองไทยกลายเป็นเครื่องจักรเลือกตั้งขนาดใหญ่สำเร็จ ก็ทำให้พรรคการเมืองไม่สนองตอบประชาชนเท่าเดิมนั่นเอง) ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในการเมืองไทยด้วย เพราะมุ้งของ ส.ส.ต่างหากที่เป็นเครื่องจักรเลือกตั้งตัวจริง ฉะนั้น มุ้งต่างหากที่คุมส.ส.ได้ ไม่ใช่พรรค

แล้วเขาตั้งมุ้งขึ้นมาทำไมหรือครับ ก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละ เพื่อเล่นสัปดนทางการเมือง ไม่ต่างจาก ส.ส.อิสระนั่นแหละ

ฉ ะนั้น การห้ามผู้สมัครอิสระจึงไม่เกิดผลอะไรทั้งสิ้น แต่กลับปิดโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาการเมืองไทย ไม่ใช่กีดกันคนดีคนเก่งอะไรหรอกนะครับ ที่ผมเป็นห่วงมากกว่าคือกีดกันประเด็นทางการเมืองที่มีความสำคัญแก่ 1/ประชาชนระดับล่างที่ไม่เคยมีพื้นที่ของตนในการเมืองระดับชาติ 2/ประเด็นทางการเมืองของเหล่า "พลเมืองสกรรม" ทั้งหลายซึ่งพรรคการเมืองไม่กล้าสนองตอบ

ส.ส.อิสระที่ไม่ต้องการเล่น สัปดนทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ผมคิดว่าได้ หากเรารักษาเขตเลือกตั้งให้เล็กเอาไว้ แม้ไม่ใช่ทั้งหมดของ ส.ส.อิสระก็ตาม และคนเหล่านี้แหละที่จะสามารถประสานความร่วมมือกับ ส.ส.อิสระและ ส.ส.สังกัดพรรค เพื่อผลักดันประเด็นการเมืองร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิผู้ป่วยเอดส์, สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร เช่น กฎหมายป่าชุมชน, สิทธิของประชาชนในท้องไม่สำเร็จทุกเรื่องไปหรอกครับ และไม่สำเร็จตามเป้าหมายร้อยเปอร์เซ็นต์สักเรื่องเดียวนะครับ แต่ในระยะยาวแล้ว จะสำเร็จบางเรื่อง และแม้ไม่ได้ตามเป้าเต็มร้อย ก็ได้มากกว่าครึ่ง พอที่จะผลักดันกันต่อๆ ไปได้ ทำเป็นเล่นไป เสียงของ ส.ส.อิสระในสภาที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคหมด อาจดังกว่า ส.ส.ธรรมดาหลายเท่าตัว ถ้าเรียนรู้ว่าจะเปล่งเสียงอย่างไร

ส.ส.อิสระ ซึ่งต้องรักษาฐานเสียงของตัวให้เหนียวแน่นไว้ จะไม่สามารถพยุงรัฐบาลฉ้อฉลไปได้นานนัก พูดอีกอย่างหนึ่งจะอ่อนไหวต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนมากกว่า แน่นอนประชาชนเองก็ต้องจัดตั้งทางการเมืองเพื่อทำให้การเรียกร้องของตนมีพลั งด้วย แต่การจัดตั้งทางการเมืองเพื่อกดดัน ส.ส.อิสระย่อมง่ายกว่าและเป็นไปได้มากกว่ากดดันพรรคการเมืองแน่

ประช าชนไทยก็เปลี่ยนไปเหมือนประชาชนในสังคมที่เต็มไปด้วยการสื่อสารอื่นๆ แต่ชนชั้นนำไทยไม่เคยเปิดโอกาสให้ระบบการเมืองได้ปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ ยนแปลงของสังคม ไม่ชอบใจอะไรก็ไม่ยอมลงมาต่อสู้ในเวทีการเมือง แต่กลับไปยุให้ทหารยึดอำนาจ และเพราะทหารไม่ได้มีอำนาจเหมือนแต่ก่อนแล้ว จึงเท่ากับล้มกระดานเพื่อเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำได้ปกป้อง, รักษา และขยายอำนาจและผลประโยชน์อันไม่เป็นธรรมของตัวเท่านั้น

หน้า 6<




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2549
2 comments
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2549 8:52:16 น.
Counter : 471 Pageviews.

 

ณ ที่นี่หมอกหนักจักหนาวเหน็บ
ณ ที่นั่นเธอได้เก็บหมอกไหม
ณ ที่นี่ฉันนั่งอ่านกวีไป
ณ ที่นั่นฝันใฝ่ร้ายหรือดี

เติมรอยยิ้มให้ทุกเช้านะสหาย
บทกวียังระบายได้ทุกที่
ฝันของฉันบางครั้งก็งามดี
แต่ก็มีนะบางครั้งก็พังพินท์

แต่มีฝันย่อมรู้ใฝ่ไปเติมฝัน
เช่นกวีเติมใจฉันไม่จบสิ้น
เติมให้เธอเช่นกันฝันกวินทร์
เพลงกวีเธอได้ยินในดวงใจ


แวะเอาบทกวีเล็กๆมาฝากเด็กชายก้อง
วันนี้บลอคบ้านนี้สาระเยอะจังเลยอะ อิอิอิ

 

โดย: กวิสรา 17 พฤศจิกายน 2549 9:06:20 น.  

 

มาทักทายยามเช้านะครับ

 

โดย: jeakja 18 พฤศจิกายน 2549 8:47:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


เด็กชายก้อง
Location :
แพร่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แม้วันนี้เติบใหญ่
มาได้หลายฝนแล้ว
แต่ในใจก็ยังคง
เผื่อพื้นที่เล็กๆ
ไว้ให้เป็น
"เด็กชาย"

ดังนั้น ในบางครั้ง
พื้นที่บล็อกนี้
จึงมีพื้นที่
ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว
และในบางพื้นที่
ยังคงเก็บไว้บ้าง
ให้สำหรับ
"เด็กชายก้อง"


.................

เพลง Lemon Tree
โดย Fools Garden
Get this widget | Share | Track details



















Friends' blogs
[Add เด็กชายก้อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.