. . ไ ม่ มี ใ ค ร เ ข้ า ใ จ ทุ ก อ ย่ า ง . .
บ๋ายบาย พลูโต

มีใครบางคนเคยบอกไว้ว่า หากเกิดบนดาวพลูโต เธอจะมีโอกาสจัดงานวันเกิดได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิต ซึ่งก็คือในวันที่เธอเกิดนั่นเอง

เนื่องจากดาวพลูโตมีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นระยะเวลาประมาณ ๒๔๘ ปีของโลก และถึงแม้ว่าจะมีอายุยืนยาวถึงขนาดนั้นจริง งานวันเกิดก็อาจจะกร่อยและเงียบเหงาสักหน่อย เพราะเพื่อนๆคงล้มหายตายจากกันไปจนหมด กระทั่งตัวเธอเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีแรงเป่าเทียนวันเกิดนั่นหรือเปล่า

ในวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1930 ณ หอดูดาวโลเวลล์ รัฐอาริโซนา สหรัฐอเมริกา ชายหนุ่มผู้ผ่านการเป่าเทียนวันเกิดมายี่สิบกว่าครั้ง ได้ค้นพบดาวพลูโตด้วยกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งไขปัญหาข้องใจของนักดาราศาสตร์ในยุคนั้นเกี่ยวกับวงโคจรของดาวเนปจูนที่คลาดเคลื่อนไปจากการคำนวณ โดยเชื่อว่าจะต้องมีดาวเคราะห์หรือเทหวัตถุที่อยู่ถัดจากดาวเนปจูนออกไปและส่งผลกระทบต่อวงโคจร แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสิ่งใด

ไคลด์ ทอมบอห์ อายุ 24 ปี ชาวอเมริกัน ผู้กำลังย่างเข้าเบญจเพส เป็นคนแรกที่ค้นพบดาวพลูโต ซึ่งทำให้ระบบสุริยะของเรามีน้องใหม่ใบจิ๋ว เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับที่ 9 ดาวพลูโต(Pluto) ตั้งชื่อตามเทพผู้ครองใต้พิภพในตำนานโรมัน เนื่องจากอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มาก จนมีแสงสว่างเพียงเล็กน้อยที่ส่องไปถึง เสมือนอยู่ในดินแดนที่มืดมิด

ดาวพลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 2,300 กิโลเมตร (ระยะทางพอๆกับการขับรถจากโอเคเบตง จ.ยะลาไปถึงอ.แม่สาย จ.เชียงราย แล้วย้อนลงมากรุงเทพอีกที) ใช้เวลาหมุนรอบตัวเองครบหนึ่งรอบเท่ากับหกวันครึ่งของโลก มีความหนาแน่นเป็นสองเท่าของน้ำ และอุณหภูมิแบบเย็นสุดขั้วเกินจินตานาการที่ลบสองร้อยองศาเซลเซียส

มีดวงจันทร์บริวารชื่อ แครอน(Charon) ตามตำนานโรมันโบราณเป็นชื่อของคนพายเรือพาผู้โดยสารข้ามแม่น้ำแห่งความตายไปสู่อาณาจักรของพลูโต ดวงจันทร์แครอนกับดาวพลูโตจะหันด้านเดียวเข้าหากันเสมอ เช่นเดียวกันกับดวงจันทร์และโลกของเรา

หากเธอต้องการไปเยี่ยมเยือนพลูโตสักครั้ง เธอต้องเดินทางผ่านความมืดมิดของอวกาศไปเป็นระยะทางเจ็ดพันสี่ร้อยล้านกิโลเมตร (เท่ากับการทัวร์สายเบตง-แม่สาย-กรุงเทพ สามล้านเที่ยว..) และต้องไม่ลืมหยิบเสื้อกันหนาวติดมือไปด้วย

หาโอกาสเช่นนั้นได้ยากเต็มที หรือแทบจะไม่มีเลย กระทั่งการได้เห็นพลูโตสักครั้งในชีวิต การได้มองแครอนสักช่วงสายตา มนุษย์กระจ้อยอย่างเราไม่มีสิทธิ์ที่จะครอบครองหรือแม้แต่ตั้งกฏเกณฑ์ใดๆด้วยซ้ำ

จากการประชุมสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU-International Astronomical Union’s) เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประกอบไปด้วยนักดาราศาสตร์กว่า 2,500 คนจาก 75 ประเทศทั่วโลก ได้ลงมติถอดดาวพลูโตออกจากสถานภาพของดาวเคราะห์ชั้นเอก(classical planet) ให้เป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ(dwarf planet) ด้วยเหตุผลและนิยามที่กำหนดกันขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับขนาดของดวงดาว แรงดึงดูดและลักษณะการโคจร

นิยามใหม่..

อาจบางที มนุษย์เราคุ้นชินกับการพยายามอธิบายความจริงด้วยนิยาม เราตามหา สืบค้นสิ่งจริงต่างๆรอบตัว และให้สัญลักษณ์ออกมาเป็นอักษรหรือตัวเลข เราต้องการรูปธรรมของความจริง ทั้งที่มันอาจไม่เคยมี

เราซ้อนทับนิยามจนกลายเป็นนิยาย สร้างชื่อเรียก กำหนดรูปพรรณ ลักษณะ เท่าที่ผัสสะของมนุษย์จะสามารถบอกความหมายหรือจินตนาการได้ถึง แต่เราคงลืมไปว่าเมื่อใดที่เริ่มนิยาม มันก็ได้เข้าไปแทนที่ความจริงตั้งแต่ตอนนั้น และไม่ว่าดาวพลูโตจะเป็นดาวเคราะห์เอก โท ตรี แคระหรือไม่แคระ เราก็ไม่มีวันที่จะรู้จักมันจริงๆ

เราไม่สามารถใส่ความจริงให้กับสิ่งที่จริงได้

ฉันหลบสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์สว่างจ้า ออกไปยังท้องฟ้ามืดมนภายนอกหน้าต่าง นึกถึงใครบางคนบนดาวพลูโตที่อาจกำลังสับสนกับความจริงที่มองไม่เห็นอยู่เช่นกัน คิดโบกมือบ๋ายบายให้กับดาวเคราะห์หรือแคระดวงนั้น ซึ่งเพิ่งจะถูกนิยามให้ออกจากอาณาเขตสมมุติ แต่ก็ยั้งมือไว้

เอาไว้ค่อยหาโอกาสไปเยี่ยมเยือนและเอ่ยคำทักทายสักครั้งดีกว่า..



Create Date : 22 กันยายน 2549
Last Update : 22 กันยายน 2549 19:49:40 น. 2 comments
Counter : 732 Pageviews.

 
แล้วทีนี้ ดาวที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะของเราจะเป็นดาวอะไรละครับ ตอบให้ผมทีที่ neung_gg@hotmail.com


โดย: อยากรู้ครับ IP: 61.19.32.235 วันที่: 27 มิถุนายน 2550 เวลา:9:56:38 น.  

 
บ่ายบาย


โดย: สัส IP: 125.24.130.222 วันที่: 23 มกราคม 2551 เวลา:9:11:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jeeraa's
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
กันยายน 2549
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
22 กันยายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add jeeraa's's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.