January winds: กี่หมื่นพันล้านความทรงจำที่มี ไม่เคยไม่คิดถึงเธอ
Group Blog
 
 
กันยายน 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
19 กันยายน 2548
 
All Blogs
 
ตามรอยก๊อกน้ำ 1-2

นี่เป็นเรื่องที่ นึกอยากจะเขียน ก็เขียน ไม่อยากเขียน ก็ไม่เขียน แต่จะพยายามเขียนให้ได้เรื่อยๆ ครับ เป็นเรื่องต่างๆ นาๆ ตามใจผมเอง ลองดูเรื่องแรกนะครับ

อันที่จริง ผมก็เป็นคนที่นับว่า อ่านหนังสือเยอะเหมือนกัน ทั้งไทย ทั้งเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไทย เพราะว่าถนัดกว่ากันเยอะ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็พอไหว แต่ไม่ได้อรรถรสด้านภาษาเลย ที่นี้ ก็เลยอยากเขียนบ้าง แต่พอจับปากกา (ที่จริงคือคีย์บอร์ด) ก็มีคำถามเข้ามาตัวเบ่อเร่อ

"จะเขียนอะไรดีล่ะ"

นั่นน่ะสิครับ จะเขียนอะไรดี นึกไปนึกมา ก็เอาเป็นว่า ผมอยากเขียนอะไรก็เขียนละกัน เอาสิ่งละอัน พันละน้อยใกล้ๆ ตัว มาถักทอเรื่องราว อย่างน้อย ก็คงฝึกนิสัยของผมเอง ให้มีความประณีต เพราะความจริง ผมเป็นคนใจร้อน อย่างการอ่านนิยาย ผมน่ะ ถ้าซื้อเรื่องไหนมาละก็ ประเภท ไม่จบ ไม่นอน ก็ไอ้ความที่อยากรู้ตอนต่อไปไง ก็เลยอ่าน หลายๆ เรื่อง อ่านจนฟ้าแจ้งจางปาง เสียงานเสียการหมด

ผมยังเรียนอยู่ ความจริง ก็เรียนมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ปัจจุบัน ก็นับเลขได้เยอะพอควร ก็ยังเรียนอยู่ มีใครมาจ้างผมเรียน ผมก็เรียน เพราะว่าผมเคยทำงานในโรงงานมาแล้ว ก็หลายปี รู้สึกว่าไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่ก็ทำได้นะ สนุกด้วย ตอนนั้น จำได้ว่ายุ่งทั้งวัน ไม่ค่อยมีเวลาว่างๆ นั่งเหม่อ ก็ตอนนั้น ผมทำงานเป็นวิศวกร ประจำโรงหล่อ (อย่างว่า คนมันหล่อ ก็เลยได้ไปทำโรงหล่อ)

ความจริงผมจบวิศวะ เครื่องกล แต่ไปทำโรงงาน ซึ่งเป็นสายอุตสาหการเค้าทำกัน แต่ผมดันไปบอกตอนสัมภาษณ์ ผมไม่อยากอยู่ซ่อมบำรุง เค้าก็เลยจับผมลงฝ่ายผลิต ตอนนั้นไอ้เราก็ตื่นตาตื่นใจนะ เพราะเรียนมาจนอายุ 22 จบปริญญาตรี ก็ยังไม่รุ้เลยว่า เค้าจะเอาวิศวกรไปทำอะไรในโรงงาน ความจริงเค้าก็มีฝึกงาน แต่ผมไปฝึกงานที่ด้านตรวจสอบการใช้พลังงานของโรงงาน สิบกว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท เรื่องอนุรักษ์พลังงาน ใครพูดขึ้นมา เป็นได้เงียบกันทั้งวงสนทนา เพราะไม่มีใครรู้จัก ไอ้นี่ พูดอะไรมาวะ ไม่รู้เรื่อง อนุรักษ์กันไปทำไม อะไรแบบนี้ เรื่องฝึกงาน เป็นอีกเรื่องที่จะเล่าให้ฟังครับ เพราะว่าเกี่ยวพันกับสิ่งทีผมเรียนอยู่ตอนนี้เลย และเป็นเรื่องฮิตมากในปัจจุบัน ที่ทุกอย่างเพิ่มหมด ยกเว้นเงินเดือน (ไม่ลดก็บุญแล้ว)

วกกลับมาโรงหล่อดีกว่าครับ โรงงานที่ผมทำ ขอสงวนนาม ดีกว่า เพื่อไม่ให้ใครใช้สิทธิพาดพิง เอาเป็นว่าเป็นโรงงานที่ดีโรงหนึ่งในประเทศไทย เป็นผู้ผลิตก๊อกน้ำครับ ยี่ห้อที่ใครได้ยิน ก็ต้องรู้จัก แน่ล่ะ ของเค้าดี (ผมทำมากะมือ ไม่ดีได้ไง)

กระบวนการทำก๊อกน้ำ เรื่องด้วย scrap หรือ ingot ต่างๆ ที่ทำด้วยทองเหลือง นำเข้าเตาหลอม เตาหลอมมันเป็นเตาไฟฟ้า เป็นลวดทองแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว กลวงครับ สำหรับให้น้ำหล่อเย็นไหลผ่าน พอใส่กระแสไฟฟ้าเข้าไป จะเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เหนี่ยวนำให้พวก scrap หรือ ingot หลอมละหลายครับ

scrap คืออะไร หลายๆ คนคงสงสัย มันก็คือเศษทองเหลืองครับ พวกที่รับซื้อมาจากพวกรับซื้อของเก่าน่ะครับ ราคาเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ซื้อขายกันกิโลกรัมละประมาณ 40 บาท ปัจจุบันผมไม่ได้อยู่ในวงการนี้แล้ว ก็เลยไม่รู้ว่าราคาเป็นเท่าไหร่แล้ว

แล้ว ingot ล่ะ คืออะไร มันคือทองเหลืองแท่งครับ เป็นทองเหลืองที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ตอนนั้น ตลาดทองแดง ถูกควบคุมโดยบริษัท ซูมิโตโม ของญี่ปุ่น เป็นผู้ควบคุมปริมาณทองแดงของโลก คงคล้ายๆ กับเดอเบียร์ (Der beer) ที่ควบคุมตลาดเพชรกว่า 90% ของโลกเอาไว้ คือเค้าจะเป็นคนควบคุมอุปสงค์และอุปทานของเพชรทั่วโลก เพราะถ้าปล่อยให้เพชรเข้าสู่ตลาดมากเกินไป ราคาก็จะตก หรือว่าถ้าน้อยเกินไป คนก็ไม่ซื้อ แต่ปัจจุบันนี้ โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ข้อมูลอันนี้ ก็คงใช้ไม่ได้แล้ว

พอหลอมเสร็จ ก็ต้องมีการปรับปรุงส่วนผสม เพราะส่วนผสมทั้งหลาย มีผลต่อคุณภาพของงานหล่อโดยตรง และต้องใส่พวก impurities ต่างๆ เช่นอลูมิเนียม ตะกั่ว เพื่อคุณภาพงานหล่อที่ดี แต่ตะกั่ว มีข้อเสียคือเป็นพิษต่อร่างกายครับ ถ้าโดนความร้อน มันจะระเหย จำพวกหมูกะทะได้หรือไม่ครับ กะทะที่เป็นทองเหลือง จะมีส่วนผสมของตะกั่วหยู่ ถูกความร้อน ก็จะระเหยออกมา ไปอยู่ในหมูบ้าง ในน้ำบ้าง หายไปในอากาศบ้าง แล้วเราก็กินหมูพวกนั้นไป แต่จำได้ว่ามีมาตรฐานกำหนดอยู่นะครับ ว่าไม่เกินกี่เปอร์เซนต์ ถามว่าไม่ใส่ตะกั่วได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้ครับ จำได้ว่าตะกั่วทำให้น้ำทองเหลืองไหลดีขึ้น คือไปลดความหนืดของน้ำทองเหลือง ทำให้พอเทใส่ในแบบแล้ว ก็จะได้งานหล่อที่เต็มแบบครับ (ข้อมูลอันนี้ผมเองก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ครับ นานแล้วล่ะ ถ้ามีผู้รู้ผ่านมา โปรดให้คำแนะนำด้วยครับ)

คราวที่แล้ว แฟนานุแฟนทั้งหลายบอกว่า วิชาการจ๋าไปหน่อย อืม จะพยายามทำให้ง่ายละกันครับ เพื่อจะได้เข้าใจว่า กว่าจะมาเป็นก๊อกน้ำที่เราใช้ๆ กันอยู่ จะต้องผ่านอะไรมาบ้าง

พูดถึงการหล่อ อย่างแรกที่สำคัญที่สุด คือการทำทองเหลืองให้เป็นของเหลว ถ้านึกภาพเตาอั้งโล่ ที่ใช้กันตามบ้าน เตาหลอมก็จะคล้ายๆ กัน แต่ผนังเตาจำด้วยลวดทองแดงพันเป็นวงกลม รอบแกนซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณหนึ่งเมตร แล้วถอดแกนออก ฉาบด้วยปูนทนไฟ ทั้งด้านในด้านนอก ก็จะได้เตารูปทรงคล้ายท่อ นำไปตั้งบนฐานแล้วฉาบปูนทนไฟอีกครั้ง มันก็จะมีรูปร่างคล้ายหม้อที่ไม่ได้ปิดฝา เวลายกเทน้ำทองเหลืองภายในหม้อ ก็จะใช้วิธีพลิกตะแคง (ใช้เครื่องจักรพลิกนะครับ ไม่ใช่แรงคน) การหลอมหนึ่งครั้ง เริ่มด้วยเทวัตถุดิบลงไป คือก็ scrap กับ ingot โดยมีอัตราส่วนแน่นอน และที่สำคัญ ห้ามมีน้ำปน แล้วปิดฝา ฝาก็ทำด้วยปูนทนไฟเหมือนกัน เอาไปบังไว้ด้านบนเฉยๆ ไม่ได้ปิดสนิท มีแกนสำหรับเลือนเข้าเลื่อนออกจากเตาได้ เคยมีกรณี scrap มีน้ำปน ทำให้เตาระเบิดได้ เนื่องจากน้ำถูกความร้อนสูง จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่ผนังโรงงานหายไปแถบหนึ่งเลย

พอทองเหลืองพร้อมนะครับ ในขณะเดียวกัน เราก็จะเตรียมแบบหล่อไปพร้อมกัน แบบหล่อ จะมีหลายแบบ ที่ถูกที่สุด คือมีต้นทุนต่ำที่สุดคือแบบหล่อที่ทำด้วยทรายชื้นครับ วิธีการง่ายมาก คือเอาทราย ผสมกับน้ำ และตัวประสาน มีอัตราส่วนแน่นนอน วิธีการคือเอาแม่แบบ กดในทราย โดยทรายนั้น ทำเป็นทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ก่อนครับ แม่แบบ จะมีรูปร่างแบบเดียวกับก๊อกน้ำเปี๊ยบเลย แบ่งเป็นสองด้าน คือด้านบน กับด้านล่าง ที่เหมือนกันทุกประการ แต่กลับด้านกัน เหมือนเงาในกระจกเงาครับ แบบด้านล่าง กดที่ลูกบาศก์ทราย แบบด้านบน ก็กดที่ลูกบาศก์ทรายอีกลูกหนี่ง นำเอาลูกบาศก์ทรายดังกล่าว มาประกบกัน ก็จะได้ช่องว่างภายในลูกบาศก์ ที่มีรูปร่างเป็นก๊อกน้ำพอดี แล้วก็เทน้ำทองเหลืองลงไป ทิ้งให้เย็น ก็จะได้ก๊อกน้ำออกมาครับ

จากนั้นก็นำไปกะเทาะเอาทรายออก แต่ก็ยังมีทรายติดที่ตัวก๊อกบ้าง ก็เอาในทำความสะอาด วิธีการก็คือใช้ลูกเหล็กขนาดประมาณ 2 – 3 มิลลิเมตร ยิงเข้าไปที่ก๊อกครับ ทั้งนี้ ต้องมีตู้มิดชิดนะครับ ไม่งั้นอันตราย เพราะลูกเหล็กจำนวนหลายกิโลกรัม ในการยิงทำความสะอาดน่ะครับ พอนำก๊อกออกจากตู้ ก็จะได้ตัวก๊อกน้ำทองเหลือง สีสันสวยงาม ก็คือสีทองเหลืองน่ะแหล่ะครับ แล้วก็นำมาตกแต่งอีกเล็กน้อย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกลึงครับ

กระบวนการกลึง เป็นการทำเกลียวขึ้นที่ตัวก๊อกน้ำ ตามแบบที่วางไว้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่จะต้องมีอุปกรณ์อื่นๆ มาติด เช่น ปากทางน้ำออก เอาไว้ติดตัว Foaming Cap สำหรับเพิ่มอากาศลงในน้ำ ทำให้สายน้ำมีความนุ่มขึ้น และตัวด้ามที่ติดกับอ่างน้ำ เป็นต้น

พอจบกระบวนการกลึง ก็จะเข้าสู่กระบวนการขัดครับ เป็นการขัดตัวก๊อก ให้มันวาว เคยเห็นแจกันทองเหลืองขัดมัน หรือเปล่าครับ วาวแบบนั้นเลย ดูเผินๆ นึกว่าทองคำซะอีก กระบวนการนี้สำคัญมาก เพราะคุณภาพของตัวก๊อก จะอยู่ที่ผิว ถ้าไม่เงา ก็จะใช้ไม่ได้ ต้องนำกลับไปหลอมใหม่ เพราะส่วนที่เงา เวลาชุบผิว มันก็จะเงาไปด้วยครับ

กระบวนการชุบ เป็นกระบวนการที่สำคัญสำหรับคุณภาพผิวของตัวก๊อก ผิวทองเหลือง จะอ่อน เคาะก็เป็นรอย ดังนั้น พอขัดแล้ว ต้องห่อด้วยกระดาษชิสชู่ไว้เลย กันการเกินสนิมทองแดงด้วยครับ แล้วก็ต้องรีบนำไปเข้ากระบวนการชุบก่อน ในกระบวนการนี้ เริ่มด้วยจุ่มลงในน้ำสะอาด เน้นว่าสะอาดมากกว่าน้ำที่เรากิน เรียกว่า น้ำ RO (Reverse Osmosis) แล้วก็ไปจุ่มในบ่อกรด เพื่อล้างคราบไขมัน จุ่มน้ำสะอาด จุ่มในบ่อด่างอีกที แล้วก็จุ่มน้ำสะอาดอีกที แล้วก็เข้าบ่อชุบนิกเกิล เพื่อรองพื้น ผิวนิกเกิลอันนี้จะหนาหน่อยนะครับ สุดท้ายจะเป็นโครเมียม เพื่อให้ผิวแข็งแรง เป็นมันวาว

วิธีการชุบ ก็ใช้วิธีแยกสารละลายด้วยไฟฟ้าครับ ก๊อกน้ำเป็นขั้วไฟฟ้า พอปล่อยกระแสไฟฟ้าลงในบ่อชุบ สารละลายก็จะเกิดการแยกตัวออก พวกนิกเกิล และโครเมียม ก็จะมาเกาะที่ตัวก๊อกน้ำนั่นเองครับ กระบวนการกลึง ขัด ชุบนี้ ผมสัมผัสมาแต่ผิวเผินนะครับ จะมีกระบวนการชุบ ที่รู้ระเอียดมากหน่อย เพราะว่าผมต้องดูแลการคำนวณต้นทุนของกระบวนการนี้ด้วย

ตอนนี้ก๊อกน้ำ ก็พร้อมสำหรับการประกอบเข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว ก็จะไปพักเก็บเอาไว้ ที่ คลังชิ้นส่วน รอเวลาสำหรับแผนการประกอบเป็นตัวก๊อกน้ำที่สมบูรณ์แบบ อาจมีคำถามว่าประกอบกับอะไร ตอบได้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ จะต้องมี เพื่อให้ได้ก๊อกน้ำที่สมบูรณ์ แน่นอนครับ พวกมือจับ (handle) ซีลยางต่างๆ สำหรับกันรั่ว วาล์วน้ำด้านใน ก๊อกน้ำตัวนึง จะประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายสิบชิ้น ก๊อกน้ำบางรุ่น โดยเฉพาะพวกก๊อบน้ำแบบผสมน้ำเย็นน้ำร้อนในตัว ที่ใช้ตามโรงแรม หรือบ้านเรือนที่มีอ่างอาบน้ำ จะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนต่างๆ เกือบๆ ร้อยชิ้นทีเดียวครับ

อย่างที่บอกในตอนที่แล้ว ว่าผมอยู่โรงหล่อ อยู่ไปอยู่มาประมาณ 2 ปีเห็นจะได้ หัวหน้าผม ซึ่งก็คือผู้จัดการโรงงาน เห็นว่าผมหล่อไม่เสร็จซะที ก็เลยย้ายผม เข้าไปดูแลคลังชิ้นส่วน ก็คือโกดังเก็บพวกชิ้นส่วนต่างๆ นั่นเองครับ

ในโรงงานผม คลังชิ้นส่วน ไม่ได้เป็นแค่ที่เก็บของ แต่จะต้องเป็นคนวางแผนการประกอบตัวก๊อกด้วย ขอบข่ายงานของผมจึงกว้างขึ้น งานมากขึ้น (แต่เงินเท่าเดิม cry) กล่าวคือกว่าจะประกอบเป็นก๊อกน้ำ ผมจะต้องคุยกับผจก ฝ่ายการตลาด (ด่ากันประจำ ในห้องประชุม) บ่อยมาก บางทีคุยเช้า สาย บ่าย แล้วก็เย็น พอรู้ว่าทางตลาดจะขายตัวอะไร ผมจะมาเช็คชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อดูว่า สามารถประกอบก๊อกรุ่นนี้ เพื่อขายได้ทั้งหมด กี่ตัว อาจจะร้อย สองร้อย หรือพันตัวก็ได้ แต่ถ้าไม่มี ผมต้องไปเฉ่งแผนกจัดซื้อ เพื่อตรวจสอบว่าชิ้นส่วนที่ขาด จะได้เข้ามาเมื่อไหร่ จะได้คำนวณเวลาเพื่อประกอบส่งให้ลูกค้าได้

คลังชิ้นส่วน มีเป็นส่วนหนึ่งของแผนกวางแผนการผลิตครับ มีโปรแกรมใช้วางแผน ทางวิศวอุตสาหการจะรู้จักดี คือระบบ MRP (Material requirement planning) คือการวางแผน ด้วยวัสดุที่มี วิธีการก็คือ ทางการตลาด จะส่งแผนการขายประจำเดือนมาให้ ในตอนกลางเดือน เป็นแผนการขาย สำหรับเดือนถัดไป พร้อมกับพยากรณ์การขายล่วงหน้าอีก 4 เดือน ซึ่งจะมีการปรับแผนทุกเดือน แต่แผนของเดือนถัดไปจะพยายามให้แน่นอนมากที่สุด แผนนี้ จะถูกป้อนเข้าสู่โปรแกรมวางแผน โปรแกรม จะแตกผลิตภัณฑ์ออกเป็นชิ้นส่วนๆ ต่าง ตามที่เรากำหนดไว้ตั้งแต่ต้น แต่ละชิ้นส่วนจะมีระยะเวลาการผลิตของตัวมันเองซึ่งแต่ละชิ้น ต้องการเวลาในการผลิตไม่เท่ากัน โปรแกรมจะเช็คชิ้นส่วนที่มีในคลังสินค้าสำเร็จรูปก่อน ว่าจะต้องผลิตเพิ่มเท่าไหร่ จำนวนที่ผลิตเพิ่มนี่ จะคำนวณออกมาเป็นชิ้นส่วนๆ โปรแกรมก็จะตรวจสอบยอดที่มีในคลังชิ้นส่วน เพื่อคำนวณยอดที่จะต้องผลิตจริงๆ ออกมา บางส่วนจะออกเป็นแผนผลิตในโรงงาน บางส่วน จะต้องออกมาเป็น PR (Purchase Requirement) ไปยังแผนกจัดซื้อเพื่อทำการซื้อชิ้นส่วนๆ ต่างๆ เข้ามาให้ทันกับการขาย

จากทั้งหมด พบว่าโรงงานจะผลิตงานเป็นบางส่วนเท่านั้น ส่วนที่เหลือ จะเป็นการสั่งซื้อเข้ามา ทำให้สามารถรับรู้ต้นทุนได้แน่นอน และเป็นทำให้โรงงานมีความชำนาญ ในเรื่องการผลิตมากขึ้น อย่างโรงงานที่ผมเคยอยู่ ก็จะชำนวญเรื่องงานหล่อ เป็นหลัก ส่วนชิ้นส่วนๆ อื่นๆ เช่นพวกพลาสติก จะเป็นการสั่งซื้อทั้งหมดเลยครับ

ตั้งแต่ผมมาอยู่แผนกนี้นะ ผมปากจัดขึ้นเยอะ โลกก็กว้างขึ้นเยอะ ได้รู้ได้เห็นอะไรต่างๆ มากมาย ได้รู้ถึงกลไกตลาด การวางแผนการขาย การทำโปรโมชั่นสินค้า ซึ่ง ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลยครับ และแน่นอนว่า พวกแผนธุรกิจ วิชั่น medium term plan และ action plan ทั้งหลาย ก็มีทำการ พวก KPI หรือ CRM พวกนี้มาที่หลัง อีกอันนึงที่น่าจะเป็นมาตรฐานของโรงงานคือ QC ครับ ไว้โอกาสเหมาะๆ จะมาเล่าให้ฟังละกัน

หลังจากอยู่เป็นยามเฝ้าโกดังมานานอีกเกือบสองปี ผมก็ลาออก มาเรียนต่อในระดับปริญญาโท แล้วก็เรียนต่อๆ มาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังเรียนไม่จบซะที่ครับ นานจัง //wink

การตามรอยก๊อกน้ำ คงยุติแค่นี้ มันมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย เช่นการทำ ISO 9000 การทำ ISO14000 ต่างๆ ไว้ว่างๆ จะทยอยมาเล่าให้ฟังแล้วกันครับ สำหรับสัปดาห์นี้ ขอตัวไปทำภารกิจประจำก่อน ซึ่งก็คือการเรียน จะได้จบเร็วๆ ครับ





Create Date : 19 กันยายน 2548
Last Update : 19 กันยายน 2548 21:55:58 น. 11 comments
Counter : 3377 Pageviews.

 
ก็อกน้ำยี่ห้อที่ชอบใช้นางแบบเซ็กซี่อ๊ะเป่าคับพี่ดิน อิอิ


โดย: ธามาดา IP: 210.246.64.126 วันที่: 23 กันยายน 2548 เวลา:1:27:07 น.  

 
ฮ่วย มาแนว metallurgy เลยเรอะพี่


โดย: ซิ IP: 68.0.132.176 วันที่: 23 กันยายน 2548 เวลา:10:43:11 น.  

 
มาแอบติดตาม เขียนเก่งจัง ว่างๆ มาสอนผมทำบ้างนะครับ อยากมีกะเค้าบ้างง่ะ


โดย: H2O IP: 62.252.32.16 วันที่: 27 กันยายน 2548 เวลา:7:19:26 น.  

 


โดย: ศาลาไทย (salathai ) วันที่: 27 กันยายน 2548 เวลา:7:47:36 น.  

 
ธามาดา: มะจ่ายอ่ะ ก๊อกนี้เป็นก๊อกในห้องน้ำอย่างเดียว ก๊อกสนามไม่มีอ่า

ซิ: มาแนวเครียดจ้า

H2O: เอ อยากมีก๊อกน้ำหรืออยากมีบล็อกอ่ะ

ศาลาไทย: อ้าว หนูศ. ขอบคุณทีแวะมาเยี่ยมเยียนครับ


โดย: กริช (กริชครับผม ) วันที่: 27 กันยายน 2548 เวลา:21:23:13 น.  

 
ชอบก็อกของGROHEแพงดี อิอิอิ


โดย: พ่อน้องโจ วันที่: 28 กันยายน 2548 เวลา:16:16:23 น.  

 
ของคนไทยก็สวยนะครับ ถูกกว่าด้วย แต่ถ้าชอบของแพงก็แนะนำชุดสองกษัตริย์ คือทองกับโครเมี่ยม หรือชุดทองไปเลย


โดย: กริช IP: 61.91.119.150 วันที่: 28 กันยายน 2548 เวลา:23:51:34 น.  

 
ทำมะเป็น สอนมั่งดิ ว่าจะต่อเอกอ่ะ แนะนำหน่อยดิคับว่าที่ไหนทำพวกวัสดุศาสตร์บ้าง


โดย: -:{><}:- IP: 203.188.9.215 วันที่: 1 ตุลาคม 2548 เวลา:17:18:15 น.  

 
ก๊อกๆๆ มาสวัสดีครับ..


โดย: นายเจย์ (JaYGUY ) วันที่: 1 ตุลาคม 2548 เวลา:20:33:44 น.  

 
ขอบคุนมากนะคะ สำหรับข้อมูลดีๆ
พอดีว่าแวะเข้ามา จะหาข้อมูล ไปออกแบบ product เกี่ยวกับ metal อยู่เลยค่ะ กำลังเรียนวิชา material อยู่
อ. พาไปดูโรงงานมาเหมือนกัน ที่ สยามซานิทารี่ฟิตติ้งส์
กระบวนการเดียวกันเลย..


โดย: คนผ่านมา IP: 58.9.93.184 วันที่: 2 ธันวาคม 2550 เวลา:20:02:06 น.  

 
ขอบคุณสำหรับขีอมูลดีๆ ครับ
เขึยนอีกนิด รับรองเงินเดือนเพิ่ม แน่ๆ (เพราะเจ้านายสงสาร 55)

ขอบคุณอีกครั้งครับ


โดย: Closer black IP: 101.109.113.144 วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:15:21:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กริชครับผม
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




กี่หมื่นพันล้านความทรงจำที่มี ไม่เคยไม่คิดถึงเธอ
Friends' blogs
[Add กริชครับผม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.