สิงหาคม 2556

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
12 สิงหาคม 2556
All Blog
Shisendo (Jozan-ji) : Kyoto, Japan
คนที่ชอบสวนญี่ปุ่น คิดว่าน่าจะต้องรู้จัก Shishi-odoshi หรือภาษาอังกฤษว่า "deer scarer"  ภาษาไทยแปลว่า อุปกรณ์ไล่กวาง

ตัวอย่างแบบนี้ 



คือไม้ไผ่ตัดปลายข้างหนึ่งให้แหลมเอาไว้รองรับน้ำ ไม้ไผ่นี้ยึดอยู่บนเสา ที่ทำให้ตัวกระบอกไม้ไผ่ขยับไปมาได้  ถ้าวางไว้เฉยๆ ด้านที่รองรับน้ำได้จะแหงนขึ้น แต่เมื่อน้ำเต็มด้านนั้นจะตกลงมาเทน้ำออก หมดแล้วก็ตีกลับไปส่วนที่ไม่ได้รองรับน้ำก็จะกระแทกแท่นหินที่วางไว้ด้านหลังเกิดเป็นเสียงดัง 

สวนญี่ปุ่นที่ไม่ใช่สวนหิน มันจะมีเจ้า shishiodoshi ให้เห็นกันบ่อยๆ

และเจ้านี่เอง มีที่กำเนิดมาจากที่วัดแห่งนี้ที่เราจะไปกันค่ะ 

วัดนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเกียวโต ที่เรียกว่า Sakyo-ku
วัดนี้ มีชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า Shisendo   แต่ชื่อย่างเป็นทางการคือ Jozan-ji หรือ 

สร้างในปี 1641  (บางตำราว่า 1636) โดย Ishikawa Jozan โดยใช้เวลาถึง 30 ปี (จนเขาเสียชีวิตลง)


สำหรับชาวญี่ปุ่น ที่นี่ถือเป็น 1 ให้ The Must เมื่อมาเยือนเกียวโต  แต่อย่างไรไม่ทราบได้ กลับไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 


การเดินทางไป หากเริ่มจาก Kyoto  Station ให้นั่งรถ Kyoto City bus สาย 5  ใช้เวลาประมาณ 38-40 นาที ไปลงที่ป้าย Ichijoji-Sagarimatsu-cho หลังจากนั้นเดิน(ขึ้นเนิน)ต่อไปทางตะวันออกอีกประมาณ 10 นาที  ก็จะเจอประตูเล็กๆที่ทอดยาวไปยังทางเข้าวัด


Ishikawa Jozan (1583-1672) เป็นผู้สืบเชื้อสายซามูไร เดิมทำงานภายใต้ Tokugawa Ieyasu (1543-1616)

ในปี 1615 เขาได้ขโมยม้าจากเพื่อนร่วมรบเพื่อบุกไปยังปราสาทของศัตรูก่อน แม้ว่าผลการรบจะเป็นไปด้วยดี แต่ก็ถือว่า ไม่ทำตามกฏระเบียบของกองทัพ จึงได้ถูกไล่ออก


เมื่ออายุได้ 33 ปี Jozan ได้เริ่มใช้ชีวิตแบบนักวิชาการในเกียวโต

ศึกษากวีจีน และ ปรัชญาขงจื๊อ ต่อมา เขาเองก็ได้กลายเป็นกวีและนักวาดพู่กันจีนชื่อดัง


เมื่อแม่ของเขาล้มป่วยลง เขาโดนบังคับให้ไปทำงานหาเงินโดยอยู่ภายใต้ตระกูล Asano ที่ฮิโรชิม่า แต่หลังจากที่แม่ของเขาเสียชีวิตเขาก็กลับมาที่เกียวโตทันที และเริ่มการก่อสร้างอาศรมขนาดเล็กที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเกียวโต เพื่อเลียนแบบวิถีกวีสันโดษที่เขาชื่นชม เขาเรียกชื่อที่พักนั้นว่า Oto-tsuka (อาศัยอยู่บนพื้นที่ไม่เสมอ)

ซึ่งคือการอ้างถึงทำเลที่อยู่บนเนินเขานั่นเอง 


ภาพเก่าแก่สมัยก่อน




ปัจจุบัน




ทางเข้าบริเวณที่ติดกับถนนเป็นประตูขนาดเล็ก แม้ว่าจะไม่เล็กขนาดที่ต้องก้มหัวแบบห้องพิธีชงชา แต่ก็เข้าใจว่า ทำโดยจุดประสงค์เดียวกันกับ ประตูทางเข้าของห้องพิธีชงชา ที่เรียกว่า Nijiri-guchi (ห้องชงชาจะมีประตูที่เล็กจนต้องก้มตัวเพื่อเข้าไปข้างใน ให้ความรู้สึกเสมอภาคกับคนที่มาเข้าพิธี ไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์แค่ไหน หรือเป็นใครมาก่อน ก็ต้องเจียมตัว และยังทำให้ความรู้สึกเมื่อเข้าไปในห้องชงชาที่มีพื้นที่เล็กนิดเดียว ดูเหมือนไม่เล็กอย่างที่คิดด้วย) เพื่อทำให้พื้นที่ด้านในมีความรู้สึกเหมือนกว้างขวาง ทั้งที่ที่จริงแล้ว Shisendo เอง มี scale ที่ค่อนข้างเล็ก


ด้านหลังจะเห็นทางเดินที่เป็นส่วนแรกชัดเจน สูงพอสมควรทีเดียว




หลังจากผ่านส่วนประตู ที่เปรียบได้กับ Hole มาแล้ว ก็จะเดินผ่านส่วนที่เป็นดังอุโมงค์ นั่นคือ ทางเดินเข้าไปยังวัด ส่วนแรกคือบันได ที่มีหินปูเต็มแนว หลังจากนั้นจะเป็นทางเดินแนวระนาบที่ทอดยาว โดยบริเวณที่สำหรับเดินจะเล็กแคบ ปูด้วยหินยาวไปตลอดแนว สองข้างทางเป็นรั้วไม้ไผ่ขนาบไปด้วยต้นไม้รกทึบ จนถึงสุดทางเดินจะเป็นพุ่มไม้ปิดทึบ ทำให้บดบังส่วนภายในที่เป็นจุดหมายที่แท้จริง


ภาพสมัยก่อน






และปัจจุบัน 


(ภาพนี้เป็นตอนเดินกลับนะคะ ที่เห็นสุดทางคือประตูทางเข้าค่ะ ให้สังเกตต้นไม้สองข้างทางว่าไอเดียของมันคือการบังแสง และปิดทึบค่ะ)




ไอเดียของทางเดินนี้ คล้ายกับที่ Ginkakuji คือ เป็นการปลีกวิเวกทางจิตใจ ก่อนเข้าไปสู่ส่วนของพื้นที่ภายใน


ด้วยทางเดินที่ "น่าเบื่อ" นี้แหละ ที่กำหนดให้มีสิ่งกระตุ้นจิตใจน้อย

เพื่อส่งผมให้เกิดได้สองอย่าง คือ เมื่อเบื่อแล้ว คนเดินเร็วขึ้นเพื่อให้หลุดพ้นจากความเบื่อนั้น หรือ สอง เดินเท่าเดิม แต่เพิ่มสิ่งกระตุ้นในจิตใจตนเอง คือ "คิด" มากขึ้น


พื้นทางเดินส่วนที่สอง จะแคบๆแบบนี้ ถ้าคนเยอะก็ต้องหลบไปเดินข้างทาง (ซึ่งที่จริงแล้ว มันไม่ควรหรอกนะ)


(ภาพนี้เป็นตอนเดินเข้า จะเห็นว่าสุดทางเป็นต้นไม้ และซี่ไผ่ บังตาไว้ ทำให้มองไม่เห็นภายใน)



สิ้นสุดส่วนทางตรง จะเป็นทางบันไดสูงขึ้นไปอีกเล็กน้อย ที่ตั้งแต่ตอนเริ่มขึ้น ก็จะเห็นส่วนประตูเล็กที่สองได้บางส่วน


คือส่วนนี้




ขึ้นบันไดไปแล้ว ก็จะกำลังเหนื่อยพอดี มีการจัดให้เป็นพื้นที่เปิดด้านบน ให้รู้สึกถึงความเข้าถึง ความสำเร็จของการพยายาม และหยุดเพื่อชื่นชมกับมัน ก่อนก้าวเข้าไปในพื้นที่วัด


ขณะที่ก้าวผ่านประตูที่สอง จะให้ความรู้สึกคล้ายกับตอนที่เข้าประตูหลักแรกที่ถนน แต่ต่างกันที่ความรู้สึก (เพราะได้ผ่านการ "คิด" มาแล้ว)


ประตูที่สอง




หลังจากผ่านประตูที่สองไปจะพบว่าเป็นพื้นที่เปิด มองเห็นตัวอาคารหลักตรงๆ ส่วนทางเดินเป็นหินแผ่น ที่ดูธรรมชาติ วางเรียงตัวแบบเอียงๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับตอนที่เราเข้ามาทั้งหมด (ทางเดินแคบ ยาว ทึบ มืด และเป็นเส้นตรง)


สมัยก่อน




ปัจจุบัน




Jozan และนักปราชญ์ Hayashi  Razan (1583-1657) ได้ร่างรายชื่อของเอกกวีในสมัยฮั่นและซ่งของจีนมา 36 คน แล้วว่างจ้าให้ Kano Tan’Yu (1602-74) ซึ่งเป็นศิลปินชื่อดังของ Kano school (เป็นโรงเรียนสอนวาดภาพที่วางพื้นฐานให้แก่ศิลปะภาพวาดสมัยเอโดะ) ให้วาดภาพเหมือน (ในจินตนาการ) ของกวีเหล่านั้นออกมา และมีกลอนบรรยายภาพเหล่านั้น ซึ่ง Jozan แต่งเอง ภาพเหล่านี้ได้รับการแขวนแสดงไว้ในห้องที่มีชื่อว่า Shisen-no-ma ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดที่เรียกกันทั่วไปในปัจจุบันคือ Shisendo (Hall of the Hermit/Great/Immortal Poets)


ภาพที่แขวนแสดงไว้ในปัจจุบัน เป็นของทำเลียนแบบ เพราะของจริงนั้น ซีดจางจนไม่สามารถนำมาแสดงไว้ได้แล้ว


ทุกส่วนของ Shisendo มีความเป็น "ศิลปิน" (= เข้าใจยาก) อยู่มากทีเดียว


เรียกได้ว่า ผู้สร้าง Shisendo ได้ ใส่ทุกอย่างที่เป็นตัวเขาเอง ความเป็นศิลปิน และกวี ลงไปในการสร้างวัดด้วย

เห็นได้จาก "ชื่อ" ของส่วนต่างๆของวัดที่มีความหมายเฉพาะตัว

เช่น เริ่มจากประตูที่เดินเข้ามา มีป้ายที่มีความหมายว่า "Grotto of small possessions" หลังจากนั้น ทางเดินที่เข้ามาก็เรียกว่า "Ancient Plum Barrier" แล้วทอดต่อไปยัง "Wasp's waist" ก่อนจะเข้าไปสู่ "Hall of the Poetry Immortals (Shisen-no-ma)" ที่มีส่วนต่อเรียกว่า "Persuit-of-art Nest"  

เรียกได้ว่า แต่ละส่วนมีชื่อเฉพาะที่มีความหมายและตีความได้(ยาก) สมกับความเป็นศิลปินโดยแท้จริง แม้กระทั่ง Shishi-odoshi ที่นี่ก็มีชื่อเฉพาะ ให้เก๋ๆ ว่า Souzu (Archbishop)

แม้แต่คนญี่ปุ่นเอง ก็ไม่เข้าใจว่า จุดกำเนิดของชื่อเหล่านี่มาได้อย่างไร ภาษาที่ใช้ก็ใช่จะอ่านเข้าใจได้ในปัจจุบัน ดังนั้น เราชาวต่างชาติก็ไม่ต้องกังวลไป ถ้าไม่เข้าใจ 555


ตัวอาคาร สร้างตามแบบ Shoin เป็นหลัก แต่ก็ผสมผสานกับแบบ Sukiya บ้าง เช่นบริเวณ cupola (ยอดกลมบนหลังคา) ที่มีหน้าต่างกลมอยู่ Jozan เรียกชื่อมันว่า Shogetsuro ซึ่งมีความหมายว่า "หอคอยชมจันทร์ท่องบทกวี “  


Floor Plan :






ป้ายชื่อ เก่าแก่มาก






มีไกด์อาสาสมัครอาวุโสมาบรรยายประวัติของวัด และ point ที่น่าสนใจต่างๆ

แต่ใช้ภาษายากมาก ขนาดที่คนญี่ปุ่นที่ไปด้วยกันก็ยังงง แต่ก็หยักหน้าหงึกๆระหว่างฟังไปด้วยกันอ่ะนะ 555




มีคุณลุงคนหนึ่งที่ตั้งใจฟังมาก และจดยิกราวกับจด lecture เลยทีเดียว




ลุงยังจดกลอนในภาพที่แขวนอยู่ด้วย โดยที่เราต่างก็สงสัยกันว่าลุงจะจดให้เสียเวลาทำไม เพราะลุงก็เอากล้องมา ถ่ายรูปแล้วค่อยไปลอกทีหลังก็ได้ แต่ก็นะ นี่อาจจะเป็นวิถีแบบชาวญี่ปุ่น(ละมั้ง) 



มีแค่เพียงห้อง Shisen-no-ma และ Shogetsuro นี้เท่านั้น ที่เป็นอาคารดั้งเดิมตั้งแต่สมัย Jozan ส่วนอาคารส่วนอื่นๆ ล้วนได้รับการต่อเติม หรือซ่อมแซมสร้างใหม่ในสมัยหลัง  (ซ่อมแซม ในปี 1748 และ 1967 แต่คงไว้ซึ่งตัวอาคารแบบเดิม)


บริเวณสวน ได้รับการออกแบบโดย Jozan เอง ทำเลียนแบบ lanscape ที่มีชื่อเรียกว่า ten locales และ twelve scene โดยตัวสวนอยู่บริเวณเชิงเขา Uryu

สร้างในแบบ Karayo style (Chinese style หรือเีรียกว่า Zen style ก็ได้) มีทรายสีขาว ตัดกับพุ่ม Satsuki azalea ที่จะบานในเดือนพฤษภาคม และในฤดูใบไม้ร่วงก็จะตัดกับสีแดงของใบเมเปิ้ลที่ปลูกไว้ด้านหลัง


( ชื่อ Satsuki azalea เอง ที่จริงก็มีที่มาจากเดือนที่จะออกดอก เพราะคำว่า Satsuki เป็นภาษาเก่าของญี่ปุ่นที่แปลว่า เดือนห้า (พฤษภาคม) นั่นเอง --> นึกถึงคู่พี่น้องในเรื่อง Totoro ที่ชื่อ May กับ Satsuki ที่จริงก็มีความหมายเหมือนกัน แต่คนละภาษา)




เบื้องหลัง แน่นอนว่า ทุกคนก็ถ่ายรุปกันอย่างเอิกเกริก

ก็เพราะว่า มุมนี้เป็นมุมเด็ดที่มักจะได้ขึ้นปกนิตยสาร หรือหนังสือเกี่ยวกับสวนญี่ปุ่นน่ะสิ




ลุกเดินมาทางซ้ายของห้อง เพื่อเดินลงไปยังสวน Stroll garden ด้านหลัง ก็จะผ่านมุมมองสวยๆอีกหลายมุม แบบนี้




สวนส่วนที่เป็น Stroll garden สวยงามน่าลงไปสัมผัส




ที่นี่มีการเตรียมรองเท้าแตะสำหรับให้ใส่ลงไปในสวน บริเวณใกล้ที่วางรองเท้า มีบังตาไม้ไผ่อันแสนสวยแบบนี้




รองเท้าวางเรียงสะอาดดี




มองกลับมาอีกครั้งที่สวนหลัก ก่อนจะเดินลงไปยังทรายขาวส่วนที่ให้เดินชมได้




เดินลงไปยังสวนที่ปูด้วยทรายขาวสะอาด 


พุ่มต้นอาซาเลียสูงกว่าที่คิดมากๆ เรียกได้ว่า สูงท่วมหัว  จนไม่น่าเชื่อ 




เทียบกับขนาดมือ




มองกลับมายังตัวอาคาร ที่คนอื่นๆกำลังเตรียมลงมาเดินกัน




เงยขึ้นไปอีกนิด จะเห็นส่วนที่เรียกว่า Shogetsuro แล้ว




ก่อนจะค่อยๆเดินลัดเลาะต่อไป




ใบไม้เปลี่ยนสีแล้ว








พุ่มต้นอาซาเลียใหญ่มากจริงๆ เทียบกับเราเอง




สวนส่วนหลังนี้ จะมีระดับต่ำกว่าสวนหลักด้านหน้า ดูเหมือนว่าจะได้รับการสร้างต่อเติมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ไม่แน่ใจ)

สไตล์ต่างจากสวนหลักอย่างมาก


Point คือ ตรงบริเวณส่วนต่อระหว่างสวนหลักกับพุ่มอาซาเลีย และสวนส่วนขยายด้านล่างนี้ มี Shishi-odoshi ที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของ Shisendo ด้วย ซ่อนอยู่




แต่จะเรียกว่าซ่อนได้ไหมนะ เพราะว่าที่จริง ตั้งแต่เริ่มเดินมาตรงสวนนี้ก็จะได้ยินเสียงของมันเป็นระยะๆอยู่แล้ว




เสียงน้ำไหล และเสียงกระทบหินของ Shishi-odoshi เป็นองค์ประกอบที่ทำให้สวนแห่งนี้สมบูรณ์ขึ้น




สวนส่วนต่อขยายนี้
มีสระน้ำตื้นๆ ที่ปลาคาร์ป และที่หลบภัยให้ปลาคาร์ปแบบนี้ น่ารักดี


มีต้นไม้พุ่มบ้างยืนต้นบ้างกระจัดกระจาย





และมีอาคารซ่อนอยู่หนึ่งหลัง ที่ไม่อนุญาตให้เข้าชม




สวนส่วนนี้ ไม่ได้มีเอกลักษณ์นัก จึงไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง 


เดิมแล้ว ที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นวัด แต่เป็นเหมิอนที่ปลีกวิเวกเท่านั้นเอง 

แต่ในปี 1966 Shisendo ก็ได้ถูกรวมเข้าเป็นวัดภายใต้สังกัดของวัด Eihei-ji (Fukui prefecture) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองวัดหลักของพุทธนิกาย ​Soto Zen (Soto shu sect Zen)


เป็นวัดที่การเดินทางอาจจะลำบากสักหน่อย และดูจากภาพอาจจะรู้สึกเฉยๆ

(ก่อนหน้านี้เราเองดูภาพก็เฉยๆ และยังเคยสงสัยว่าทำไมสวนนี่มันถึงได้ลงปกหนังสือเยอะนักวะ) แต่ได้มาเห็น มาสัมผัสของจริงแล้วจะพูดไม่ออกเลยทีเดียว

ตอนนี้ก็ขึ้นแท่นเป็นวัดและสวนที่ชอบอันดับต้นๆของเราไปเรียบร้อยแล้วค่ะ


=========================================================

เวลาทำการ

เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 9:00-17:00 น. (ขายตั๋วปิดเวลา 16:45 น.) ยกเว้นวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของ Jozan

ค่าเข้าชม 500 yen

นักเรียนมัธยาปลาย 400 yen, นักเรียนประถมและมัธยมต้น 200 yen

หากเด็กวัยยังไม่ได้เข้าเรียน สามารถเข้าชมได้ฟรี


============================================

บริเวณใกล้เคียงกัน ยังมีสถานที่น่าสนใจ (และตรงกันข้ามด้าน scale งาน) คือ Shugakuin Rikyu (Detached palace) ซึ่งต้องจองกับทางสำนักพระราชวังก่อนเข้าชม และต้องตรงเวลา เพราะต้องเข้าพร้อมกรุ๊ปมีไกด์ตลอดเวลา


ภาพทั้งหมดเป็นของเราเอง ถ้าใครจะยืม ขอให้แจ้งหรือให้เครดิตด้วยค่ะ


Reference :

- Photo of Floor plan and black-and-white photo  : //kyotojournal.org/gardens/space-tunnels/

- Thomas Daniell, Houses and gardens of Kyoto, Tuttle publishing

https://kb.osu.edu/dspace/bitstream/handle/1811/652/V6N1Pollack.pdf;jsessionid=C27CBE00720A96393FB553AC7A1635A9?sequence=1




Create Date : 12 สิงหาคม 2556
Last Update : 14 สิงหาคม 2556 19:16:41 น.
Counter : 3295 Pageviews.

1 comments
  
ดูเรียบๆ ธรรมดาจริงด้วยค่ะ แต่แอบเห็นบรรยากาศในคลิป
น่าสนใจมากทีเดียวค่ะ
ดุสงบ ร่มรื่น และสวยงามมากเลยโน๊ะ ^ ^
โดย: ณ ปลายฉัตร วันที่: 15 สิงหาคม 2556 เวลา:14:58:57 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

blueschizont
Location :
ประจวบคีรีขันธ์  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



รักญี่ปุ่น