ธารธรรมใสเย็นยิ่ง สุขได้
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 

ฝากคำถาม พูดคุยสนทนาธรรม ที่นี่

อาจมีบางเรื่องที่ยังเข้าใจน้อย
แต่อยากรู้ อยากเข้าใจ ฝากคำถามไว้ก็แล้วกันนะครับ
หากเป็นสมาชิกจะนำไปตอบให้ที่เวปของท่าน และในกระดานนี้
สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจะนำมาตอบในกระดานนี้เท่านั้น
สิ่งใดที่ข้าพเจ้า พอรู้ พอเข้าใจ จากคำสอนของพระพุทธเจ้าจะนำมาตอบให้

จักนำมาเพื่อเจริญปัญญาเราท่านด้วยกัน..
ใจพรานธรรม




 

Create Date : 30 กรกฎาคม 2552
62 comments
Last Update : 30 กรกฎาคม 2552 13:40:44 น.
Counter : 1513 Pageviews.

 

ทำไมต้องยิ้ม เพื่อให้ใจใสๆ...

 

โดย: wbj 31 กรกฎาคม 2552 4:07:56 น.  

 

ยิ้ม เพื่อให้ใจใสๆ...เป็นยิ้มเพื่ออยากสุขปลอบทุกข์
แต่ใจใสแล้วจึงยิ้มนั้น เป็นยิ้มจากสุขเพื่อสุขยิ่งขึ้น

สุขจากการ ลดกิเลส ใจจึงใส
สุขจากการ ละกิเลส ใจจึงใส
สุขจากการ ทำลายกิเลส ใจจึงใส

ให้(รอย)ยิ้ม คือ(ร่อง)รอยของสุข

 

โดย: ใจพรานธรรม 31 กรกฎาคม 2552 6:54:37 น.  

 

เคยได้ยินคำสอนจากหลายๆที่ว่า ให้ดูความคิด ดูจิต เวลามีความรู้สึกอะไรก็ตาม เช่น ความโกรธ ก็ให้ดูมัน ไม่ต้องห้าม ดูไปเรื่อยๆ
ทีนี้ ก็เคยได้ยินคำสอนอีกแหละจากอีกหลายๆ ที่ว่า จิตเป็นผู้สั่งสม เรื่องดีไม่ดีอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น จิตจะเก็บหมด ดังนั้นจึงควรฝึกสติให้มาก เมื่อมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้น เช่น ความโกรธ ก็ให้รู้แล้วระงับมันเสีย อย่าให้มันเพิ่มขึ้น

สองความเห็นที่ต่างกันแบบนี้ คิดว่ายังไงคะ

 

โดย: good thinking 2 สิงหาคม 2552 15:44:03 น.  

 

ความจริงจิตนี้ก็ไม่ใช่ของเรา ถ้าจิตนี้เป็นของเราจริง
เราคงบังคับได้ เหมือนที่เรามีรถเป็นของเรา เราก็บังคับไปในทิศทางต่างๆได้ จะขายทิ้งก็ได้ เปลี่ยนสีรถก็ย่อมทำได้ เพราะมันเป็นของๆเรา แล้วถ้าจิตนี้เป็นของเราอย่างนั้นจริงเวลาเรามีความทุกข์ใจอันเนื่องมาจากสิ่งที่รัก
เราก็คงบังคับจิตนี้ว่า จิตอย่าโศกจิตอย่าทุกข์ จิตจงมีความสุข แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ จิตก็สุขก็ทุกข์ ก็มีกิเลสไปตามอารมณ์ที่จิตเข้าไปรู้ และเราก็ไปยึดเอาจิตนั้นว่าเป็นของเรา เราก็ทุกข์ไปตามจิต ที่เรายึดว่าทุกข์ว่าสุขหรือเฉยๆนั้น

การห้ามจิตไม่ให้เกิดอกุศลต่อไปนั้นเป็นอุบายหนึ่ง สำหรับผู้ที่ยังมีปัญญาน้อย
คือยังมีความยึดมั่น ถือมั่นอยู่มากในจิตของตน และก็ได้ผลอย่างรวดเร็ว
เพราะอาศัยความยึดมั่นถือมั่นนั้น จิตจึงสงบอารมณ์นั้นได้
แต่สิ่งจะไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นหากปฏิบัติตามทางนี้คืออะไร
ตอบว่าคือปัญญา ปัญญาที่จะเข้าไปรู้ การเกิด การตั้งอยู่ และ การดับไปของจิต
ตรงนี้เป็นปัญญาในขั้นที่สูงกว่า เพราะเป็นปัญญาในวิปัสสนา คือการรู้แจ้ง ในนามหรือ รูป ว่ารูปไม่เที่ยง นามไม่เที่ยง รูปเป็นทุกข์ นามเป็นทุกข์ รูปเป็นอนัตตา นามเป็นอนัตตา

หากจะเปรียเทียบก็ดั่งสองคนที่ติดบุหรี่อยู่ช้านาน แล้วจะเลิกสูบด้วยกัน
คนแรกคิดและตั้งใจมุ่งมั่น ว่าจะเลิกบุหรี่ให้ได้ เอามันให้ได้ เมื่อเวลาอยากสูบขึ้นมาก็หน้าดำหน้าแดง วันๆเค้าเอาแต่ตั้งใจคิดจะเลิกบุหรี่ เลิกบุหรี่ เลิกบุหรี่ เลิกบุหรี่ ทำให้ได้ ทำให้ได้ ต้องทำให้ได้!!!!!

กับอีกคนที่ตั้งใจจะเลิกเหมือนกัน แต่เค้าไม่ได้คิดอย่างคนแรก วางตัววางใจสบายๆ
เค้าไม่ได้คิดจะเลิกบุหรี่ และเค้าไม่ได้คิดจะสูบบุหรี่ เค้าวางเฉยในความรู้สึกที่เกิดอยู่กับบุหรี่ ไม่ได้มีความพอหรือไม่พอใจในบุหรี่เลย เมื่อความอยากสูบเกิดขึ้น เค้าก็รู้
ว่าอยาก แต่เค้าก็ไม่กดดัน มีเสพบ้างโดยอาการที่รู้และวางเฉย พิจารณาอยู่ว่าก็แค่จิตมันอยาก ไม่ใช่เราอยาก เค้าก็อาจสูบ แต่ดูรู้อยู่อย่างนี้ ไม่นานเค้าก็ต้องทิ้งบุหรี่ โดยที่ยังสูบไม่หมดนั้นล่ะ

ทั้งสองคน เลิกบุหรี่ได้
คนแรกเลิกบุหรี่ได้เพราะความยึดมั่น ถือมั่น
คนที่สองเลิกได้เพราะความวางเฉย
แต่วิธีที่คนที่สองคิดและทำนั้น ใช้เวลาประสบความสำเร็จที่สั้นกว่าคนที่หนึ่ง

คนแรกก็เหมือนคนที่โกรธแล้วรู้ตัว ก็กำหนดไม่ให้เกิดอกุศลต่อไป โดยอาการนั้น
คนที่สองก็เหมือนคนที่คอยกำหนดรู้ตามดูอยู่ ไม่ได้ยึดในความสุข ความทุกข์นั้นเลย ไม่นานอกุศลจิตนั้นก็ดับ ไปเอง

การรู้ความโกรธ รู้แล้วระงับมันเสีย อย่าให้มันเพิ่มขึ้น
- รวดเร็วดับได้ทันใจ
- อาจกลับมาโกรธได้อีกครั้ง เพราะที่ข่มได้ อาศัยบังคับกดไว้ไม่ให้เกิด
- เมื่อตนมีความสุขก็คงไม่อยากจะไประงับ ก็อาจกลายเป็นผู้ประมาท
- อัตตาในตนสูงขึ้น เพราะเชื่อว่าจิตบังคับได้อย่างแท้จริง
- หลุดพ้นไปจากสังสารวัฏไปไม่ได้ เพราะยังยึดมั่นถือมั่นในจิตของตนอยู่

เวลามีความรู้สึกอะไรก็ตาม เช่น ความโกรธ ก็ให้ดูมัน ไม่ต้องห้าม ดูไปเรื่อยๆ
- อาจดับได้ช้า และอาจพอกพูนมากขึ้นหาก ไม่พิจารณาด้วยปัญญา
- เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามความจริงของกฏไตรลักษณ์
- ปัญญาเกิดขึ้นทันที ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
- ความยึดมั่น ถือมั่น ลดหายไปกว่าครึ่ง เพราะเห็นจริงในกฏแห่งไตรลักษณ์นั้น
-แม้มีความทุกข์ก็ไม่ขาดสติ แม้จะสุขก็ไม่หลงระเริง แม้เฉยก็ไม่ประมาท เพราะรู้ถึงความไม่แน่นอน จิตจึงไม่เกาะติดอยู่กับ สุข-ทุกข์-เฉยๆ
- เมื่อไม่มีความยึดมั่น ถือมั่นใดๆในตนและโลกแล้ว จิตก็พ้นจากความเป็นปถุชน
ก้าวขึ้นสู่อริยชน หลุดพ้นไปจากสังสารวัฏที่หมู่สัตว์ยังยึดติดอยู่

จากที่กล่าวมาทั้งหมดอาจดูตรงข้ามกับความเป็นจริงที่โลกนั้นคิด
แต่หากได้ลองปฏิบัติเนืองๆ ไปสักระยะหนึ่ง จะเห็นความจริงดังที่พระพุทธองค์
ทรงตรัส ทรงแสดงไว้ ตามที่กล่าวมานี้

 

โดย: ใจพรานธรรม 2 สิงหาคม 2552 23:00:01 น.  

 

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: good thinking 3 สิงหาคม 2552 14:13:58 น.  

 

สวัสดีคะ.ยินดีที่ได้รู้จักคะ มีคำถามที่สงสัยมานานแล้วเกี่ยวกับพุทธศาสนา
1.เหตุใดผู้คนในสมัยพุทธกาลจึงบรรลุธรรมได้เร็วเกิด ดวงตาเห็นธรรม แม้ฟังเพียงประโยคสั้นๆ
2.หลักปรัชญาเกี่ยวข้องกับคำสอนในพุทธศาสนาอย่างไร
3.จำเป็นหรือไม่ที่ผู้สนใจศึกษาธรรมะในพุทธศาสนาจะต้องศึกษาคำสอนทั้งหมดในพระไตรปิฏกที่ประกอบด้วย
พระวินัยปิฏก พระสุตันตปิฏก พระอภิธรรมปิฎก

ขอบคุณคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.150.175 20 กันยายน 2553 16:35:19 น.  

 

ขอสวัสดีและอนุโมทนาเช่นกันครับขอตอบเป็นข้อๆดังนี้ครับ

๑.เพราะบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นได้สั่งสมอบรมบ่มบารมีอยู่ก่อนหน้านั้นเป็นเวลาช้านานแล้ว คือได้ฟังธรรมมาจนเกือบจะต็มเปี่ยมแล้ว พอได้ฟังอีกเพียงนิดหน่อยบารมีที่เคยสั่งสมก็หลั่งหลอมรวมเป็นหนึ่งเกิดปัญญาญาณครับ

๒.มีความเกี่ยวข้องกันคือสอนให้เข้าใจ ให้รู้ ให้ปฏิบัติในเหตุ และ เข้าใจในผล
เหตุคือ ธรรมชาติที่ทำให้เกิดผล
ผลคือธรรมชาติที่กิดมาจากเหตุ

แต่พระพุทธศาสนาสอนในเหตุและผลที่เป็นจริงอย่างเดียว
ส่วนนอกนั้นอาจผิดพลาดได้เพราะเค้าเหล่านั้นยังมีกิเลสในจิตใจ

๓.พระสังฆราชองค์ปัจจุบัน(สมเด็จพระญารสังวร)พระองค์เคยตรัสสอนว่าถ้าจะเอาแค่เพียงปฏิบัติ ขอเพียงรู้เข้าใจ และปฏิบัติแค่เพียงในศีล ในสมาธิ และในปัญญาก็พอ

แต่หากว่าต้องการจะตอบแทนและเผยแพร่พระธรรมของพระพุทธเจ้าก็ต้องร่ำเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสอน เพราะอาจร้ายแรงทำให้ผู้ฟังธรรมที่ไม่ใช่ธรรมนั้นเกิดความเห็นผิด ปฏิบัติผิดๆ ซึ่งก็จะเกิดโทษแก่ผู้กล่าวและผู้ฟัง
ที่ร้ายแรงที่สุดคือทำให้ศาสนาเสื่อมเพราะความเห็นผิดนั่นเอง

ขออนุโมทนากับคุณรุ่งทิวาครับ

 

โดย: ใจพรานธรรม 20 กันยายน 2553 16:48:09 น.  

 

ขอขอบพระคุณสำหรับคำตอบในข้อสงสัยนะคะ
คราวนี้ยังมีประเด็นที่น่าขบคิดอย่างหนึ่งที่อยากจะขอทำความเข้าใจเพิ่มเติม คือ
ในการศึกษาธรรมะในพุทธศาสนาเราจะมีข้อบ่งชี้อะไรบ้างหรือเปล่าคะที่จะทำให้รู้ว่า สิ่งนี้ แนวทางนี้เป็นหนทางให้เราสามารถละคลายกิเลสได้อย่างแท้จริง ที่พอจะรู้ได้ว่า นี่เป็นสัมมาทิฐิ

ขอบพระคุณมากคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.146.249 20 กันยายน 2553 18:39:56 น.  

 

ในทุกๆคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอเน้นนะครับว่า"ทุกคำ"
นั้นล้วนแต่เป็นคำสอนก็เพื่อลด เพื่อละ เพื่อทำลายกิเลส ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
จะไม่มีคำตรัสใดๆเลยที่เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส เพื่อยึดติดกับกิเลส หรือเพื่อยึดมั่นถือมั่น

เพราะฉะนั้นถ้าการศึกษาที่เป็นของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริงนั้น เมื่อผู้ศึกษาเล่าเรียนอยู่จะต้องเกิดปัญญา เกิดความหยั่งรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่สำคัญคือลดกิเลสได้ ละกิเลส จนถึงที่สุดคือทำลายกิเลสได้

ถ้าศึกษาหรือปฏิบัติแล้วมีความโลภ มีความโกรธ มีความหลงไม่ลดลง หรือเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งแน่นิ่ง นั่นก็หมายความว่ายังมิใช่ทางปฏิบัติตามธรรมเพื่อการหลุดพ้นอย่างแน่นอน
และอีกประการหนึ่งที่สำคัญอาจนับได้ว่าสำคัญยิ่งก็ว่าได้คือ สำหรับการศึกษาและปฏิบัติธรรม ผู้ศึกษาและผู้ปฏิบัตินั้นจักต้อง มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เสมอกัน

กล่าวคือ มีความเชื่อ มีความเพียร มีความระลึก มีความตั้งใจมั่น มีปัญญาพิจารณาไตร่ทวน อย่าง"เสมอกัน"
เพราะถ้าอย่างหนึ่งอย่าใดมากไปเช่น ศรัทธามาก ก็มักจะเชื่อโดยตามๆเขาหมดเท่าไหร่เท่ากัน หากความเพียรมากก็จะเหมือนอย่างอดีตที่พระพุทธเจ้าของเราได้บำเพ็ญทุกรกริยาไม่เกิดผล ปัญญามาก ก็จะเชื่อตัวเองมาใครกล่าวธรรมผิดหมด ตัวเองถูกคนเดียวยึกมั่นถือมั่นในตน ในธรรม เป็นต้น

ขอให้ศึกษาพุทธวัจนะมากๆ ครูอาจารย์ หรือแม้แต่ตัวกระผมเองก็อย่างพึ่งปลงใจเชื่อ เราจะได้มีหลักในการศึกษา ซึ่งจะดีมากกว่ามีเพียง"แนว"
แล้วให้เพียรปฏิบัติมากๆ ศีลต้องรักษา เมตตาต้องเจริญ ธรรมอื่นๆใดที่สมควรแก่การปฏิบัติของเราก็ให้พึงเจริญรักษาไว้

...ไม่ช้านานเลย ก็จักพบ จักเห็น จักได้รับความสุขตามสมควรแก่ธรรมตามที่ตนได้ปฏิบัติอย่างแน่นอน

ขออนุโมทนาครับ

 

โดย: ใจพรานธรรม 20 กันยายน 2553 20:00:05 น.  

 

ขอบพระคุณมากคะสำหรับการแบ่งปันความรู้และความเข้าใจที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่ามาก

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.146.249 21 กันยายน 2553 9:24:02 น.  

 

รุ่งรู้สึกว่า การฟังเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะ ฟังเท่าไรก็รู้จักคำว่าเพียงพอ อาจเพราะเป็นผู้ที่ยังมีปัญญาอยู่น้อยนิด ยังต้องศึกษาให้เกิดสติและปัญญาแตกฉานอีกมาก จึงขอถามคำถามเพิ่มเติมนะคะ
1. การสังเกต พิจารณา ความคิด การพูด และการกระทำของตนเองในแต่ละวัน จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดสติปัญญาเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
2. รุ่งจะมีจริตอย่างหนึ่ง คือ ตั้งใจทำอะไรจะต้องลงมือทำเมื่อโอกาสเหมาะสม แต่จะเป็นลักษณะที่พูดอะไร สัญญากับใครไว้ก็ทำไม่เคยขาด จึงไม่แน่ใจนักว่าจะเป็นกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นของเราเองหรือไม่
3. หลายครั้งก็รับรู้ว่า จิตของเราเป็นกุศล และเป็นอกุศลสลับกัน ขัดแย้งกันในตัวเองเกิดขึ้นรวดเร็ว และหายไป ซึ่งบ้างครั้งก็รู้สึกว่าจะเลือกทำไปอย่างใดอย่างหนึ่ง บางครั้งก็แค่รู้แล้วผ่านเลยไป พอจะทราบหรือไม่คะว่า สภาวะระหว่างการรับรู้ตรงนั้นเป็นจะเป็นสภาวะอะไรบ้าง
คือรุ่งมีความเข้าใจในเบื้องต้นว่า สิ่งเหล่านี้แต่ละคนต้องศึกษารู้จิตใจของตัวเองในปัจจุบันขณะ แต่รุ่งเป็นผู้ที่ศึกษามาน้อยจึงไม่ค่อยมีความรู้ชัดเจนเรื่องสภาวะธรรม เช่น เรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน

ขอบพระคุณมากคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.146.249 21 กันยายน 2553 12:27:14 น.  

 

ดีแล้วครับ แม้พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนธรรมเรื่องสันโดษ แต่พระองค์ก็ทรงมิเคยตรัสสอนให้สันโดษในธรรม สันโดษในการศึกษา สันโดษในการปฏิบัติธรรมนี้เลย
แต่ให้สันโดษในผลที่ตนได้ ตนมี
ส่วนคำถามที่ถามมาขอเรียนแสดง"ความคิดเห็น"ดังนี้ครับ
๑.ช่วยได้มากครับ แต่ขอให้อยู่ใน"ปัจจุบัน"มาก ถึงมากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นต่อไปก็เป็นเหมือนกับผมหรืออีกหลายๆคนที่"ติด" อยู่กับการครุ่นคิด จนลืมสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่เฉพาะหน้า ทำให้ขาดสติหลงๆลืมๆได้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนธรรมเรื่องอานาปาณสติหรือสติปัฏฐาน๔ ผมว่านี่ล่ะเป็นปัจจุบันธรรมของจริงที่สุด และจะเป็นสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนเรื่องของปัญญาได้อย่างมากทีเดียว
การครุ่นคิดพิจารณามันก็ดี แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตพอสมควร มากไปก็อาจจะไปติดอยู่กับอดีต ติดอยู่กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงได้ครับ

๒.ดีมากเลยครับ ผมขออนุโมทนาสาธุด้วย ในกรณีอย่างนี้ถ้าก่อนที่จะรับปากหรือสัญญากับใคร เรารู้เหตุและรู้ผลก่อนแล้วว่าได้หรือไม่ได้ สมควรหรือไม่สมควร ก็ถือว่าเป็นการรักษา "สัจจะ" ไม่ใช่การยึดติด และเพราะสัจจะ นี้เองที่พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงเคยบำเพ็ญเพียรมาประกอบกับไม่เคยโกหกหลอกลวงใคร ผลหรืออานิสงส์ทำให้พระองค์ได้ทรงตรัสรู้เป็นถึงพระพุทธเจ้า คือได้พบสัจจะธรรม และธรรมที่ทรงพบนั้นไม่ใช่สิ่งหลอกลวงเป็น อริยะสัจจะธรรม

๓. อย่างแรกที่เราต้องเข้าใจก่อนว่า จิตนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไปบังคับอะไรมันไม่ได้ หน้าที่การปฏิบัติของเราคือการเป็นผู้รับรู้ในสิ่งที่มันเกิดขึ้น ในสิ่งที่มันตั้งอยู่ จนถึงในสิ่งที่มันดับไป ไม่ไปปรุงแต่งในสิ่งที่มันเป็นของมันอย่างนั้นๆ เพียรไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตก้เกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่าย ก็ย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดเสียได้จิตก็ย่อมหลุดพ้นได้

สำคัญที่ว่าเรามักจะดู จะรู้แต่จิตที่ดีๆงามๆ อยากได้แต่จิตที่เป็นกุศลๆ ติดอยู่กับธรรม ติดอยู่กับรสของพระธรรมที่หลงยึดถือจนมิอาจปล่อยวางได้ เมื่อปล่อยวางไม่ได้ธรรมก็มิอาจก้าวหน้าไปได้ อันนี้คงลึกไปถ้าจะกล่าวในเวลานี้

จึงขอให้สหายธรรมคือคุณรุ่ง ให้เราลองมาเป็นเพียงผู้ดูรู้จิตอย่าไปปรุงแต่งยึดให้มันตั้ง ให้มันดับ หรือให้มันมี ดูๆรู้ๆในจิตปัจจุบันเรื่อยๆ เมื่อใดที่ญาณเกิด จะพบความอัศจรรย์บางอย่าง เข้าใจในสิ่งที่ตนสงสัยได้ทันทีด้วยตนเอง

ส่วนสภาวะที่คุณเล่ามานั้นเป็นผลเบื้องต้นของการปฏิบัติผู้ของมีปัญญา คือเริ่มรู้เริ่มเห็น แต่ก็อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วม อยากเข้าไปปรุงแต่ง โดยมีกิเลสตัณหานั่นล่ะที่เป็นผู้สนับสนุน
เรื่องการที่เกิดดับไปอย่างรวดเร็วนั้นก็เป็นธรรมดา

 

โดย: ใจพรานธรรม 21 กันยายน 2553 15:30:22 น.  

 

เรายังไม่มีปัญญาญาณแกร่งกล้าพอในขนาดที่จะเห็นการเกิดดับของจิต แต่จะเห็นอย่างชัดเจนในญาณที่๔
ก็ขอแต่เพียงเลือกที่รู้จิตในสิ่งที่เราพอจะรู้ได้ก็พอ อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ปล่อยไป สำคัญขอให้เป็นอยู่ใน"ปัจจุบัน"

สำคัญที่รู้อยู่ ที่เข้าใจ ที่พิจรณา คือ"ปัจจุบัน" ครับ

ยินดียิ่งที่ได้ร่วมสนทนาธรรมกัน มีข้อสงสัยประการใดเพิ่มเติม หรือต้องการทำความเข้าใจในส่วนใหน
เรียนถามเพิ่มเติมได้ครับ
ขออนุโมทนาสาธุ

 

โดย: ใจพรานธรรม 21 กันยายน 2553 15:35:11 น.  

 

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับคำอธิบายที่ทำให้เกิดความเข้าใจธรรมะมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ การอยู่กับปัจจุบัน
และการระลึกรู้สภาวะจิต
สำหรับข้อสังเกตเรื่องการระลึกรู้สภาวะจิตแต่ในด้านดีนั้น คงเป็นความปกติธรรมดาของปุถุชนที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลสน่ะคะ รุ่งเองมักรับรู้ถึงจิตไม่ดีของตัวเองบ่อยๆโดยเฉพาะในช่วงหลังๆมานี้มันผุดขึ้นมาให้รับรู้ แต่ก็ไม่ได้เกิดขัดแย้งอะไรว่าเราจะต้องคิดดีอย่างนั้นอย่างนี้แทน เพียงแต่เกิดความเข้าใจว่า อ๋อ นี้ธรรมชาติของจิตเป็นแบบนี้มีแบบนี้ด้วย เป็นการเริ่มต้นศึกษาจิตใจของตัวเอง เพิ่งเริ่มต้นจริงๆคะ
ในการใช้ชีวิตแต่ละวันได้สังเกตตนเอง พบว่าจะเลือกสิ่งที่เป็นคุณค่าของแก่นมากกว่าเปลือก เช่น ใช้สิ่งของแต่ที่จำเป็น เน้นเรื่องจิตใจมากกว่าสิ่งอื่นๆ แต่ก็เห็นถึงความสำคัญและความมีอยู่ของเปลือกที่รุ่งมองว่า ก็เป็นสัจจธรรมเช่นเดียวกันเพราะไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลต่างก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
ทุกวันนี้จึงรู้สึกอิ่มเต็มกับชีวิต และมีกำลังใจใน การศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เพราะทำให้รุ่งได้คำตอบว่า ชีวิตคืออะไร มีหน้าที่มีเป้าหมายอะไร และเวลาที่ผ่านไปแต่ละขณะมีคุณค่าอย่างไร
จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความรู้ใหม่ และได้สนทนาธรรมกับคุณใจพรานธรรมในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งความตั้งใจก่อนหน้านี้ได้พยายามหาโอกาสในการสนทนาธรรม
ซึ่งพื้นที่ที่รุ่งอาศัยหรือบุคคลที่ใกล้ชิดกันตอนนี้ ก็ยังไม่พบใครที่สนใจศึกษาธรรมะหรือพอที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้เลย แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกอย่างหนึ่งว่า รุ่งได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนที่เป็นนับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องศาสนาที่ตนนับถืออยู่บ้าง หลายสิ่งหลายอย่างที่เพื่อนสงสัยหรือถามรุ่งก็ยังไม่มีคำตอบให้กับเพื่อน โดยเฉพาะเรื่องคำสอน การปฏิบัติธรรม ก็ด้วยเหตุผลเดิม คือ รุ่งยังเป็นผู้ที่จะต้องศึกษาธรรมะต่อไปจนตลอดชีวิต และอย่างที่คุณใจพรานธรรมบอกว่า การกล่าวธรรมะในสิ่งที่ตนเองไม่ได้รู้อย่างท่องแท้ จะทำให้เกิดโทษแก่ผู้ที่กล่าวและผู้ฟัง จนอาจเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อมเพราะมีมิจฉาทิฎฐิ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.10.117 21 กันยายน 2553 17:56:46 น.  

 

ไม่แน่ใจว่าจะถามคำถามบ่อยไป จนรบกวนเวลาทำงานของคุณใจพรานธรรมมากหรือเปล่า คือรู้สึกเกรงใจที่ได้กรุณาตอบคำถาม อธิบายมาอย่างละเอียด


 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.10.117 21 กันยายน 2553 18:08:50 น.  

 

สวัสดีตอนเช้าวันที่อากาศสดใสคะ
ขอเรียนถามเรื่อง การรักษาศีล 5 คะ ว่าคุณใจพรานธรรมพอจะมีหลักการรายละเอียด หรือมีเว็ปไซด์ใดที่กล่าวถึงการรักษาศีล 5 โดยละเอียดบ้างคะ คือ รุ่งจะศึกษาและเพื่อน้อมนำมาฝึกฝนขัดเกลาตนเองน่ะคะ

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง


 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.10.117 22 กันยายน 2553 9:03:23 น.  

 

ครับ ขอสวัสดีคุณรุ่งทิวาด้วยเช่นกัน
เรื่องการรักษาศีลห้านั้นถ้าอยู่ในขั้นเริ่มต้นก็ขอเพียงรักษาไว้ให้ครบทั้งห้าข้อก่อนครับ

คุณรุ่งทิวารักษาไปเรื่อยๆ ๆ ๆ ไม่นานอานุภาพของศีลจะชักนำพาความรู้ นำพาปัญญา ให้เราได้รู้ได้เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์
ศีลนั้นมองเผินๆก็เพียงแค่ข้อรักษาห้าข้อ แต่ศีลนั้นก็รักษาแค่เพียง กายและวาจา ให้เป็นปรกติแค่นั้น
แต่หัวใจจริงๆของศีลนั้นมุ่งอยู่ที่เป็นพื้นฐานพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆขึ้นไป ใช่แค่เพียงรักษาเพียงกาย เพียงวาจา

เคล็ดไม่ลับเพียงอย่างเดียวในการรักษาศีล โดยที่ผู้ที่เริ่มรักษาศีลนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าไปศึกษาทำความเข้าใจให้อาจยุ่งยากหรือสับสน ก็คือ "การมีปรกติจิตที่ประกอบด้วยเมตตา" แค่นี้เอง

ขอเพียงมีเมตตาอย่างจริงใจ จะศีลห้า ศีลแปด ศีล๒๒๗ ก็ย่อมจะรักษาศีลนั้นได้ ความเป็นผู้มีเมตตานี้เองครอบคลุมไปทุกๆศีล ครอบคลุมไปทุกๆสิ่งในการปฏิบัติธรรม

นั่นก็เพราะการมีเมตตานั้นลดทิฏฐิ ลดความโกรธอาฆาต พยาบาท ห่างไกลจากความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางในสิ่งที่ตนยึดตนถือเสียได้ เมื่อมีเมตตาจะฆ่าทำร้ายใครก็ไม่ได้ จะลักทรัพย์ใครก็ไม่ได้ จะผิดข้อกาเมก็เมตตาสงสารเขา
จะโกหกหลอกลวงใครก็ไม่ได้ เพราะเมตตาสงสารเขา กลัวเขาจะเข้าใจผิดไป จะดื่มสุราติดยาเสพติดก็ไม่ได้เมตตาสงสารตัวเองที่อุส่าต์ดิ้นรนเกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา

การไม่ผิดศีลเพราะตนมีเมตตา ยังดีกว่าการไม่ผิดศีลเพราะตนแค่เพียงหวังจะรักษาศีลอย่างมากทีเดียว

ผมจึงใคร่ขอฝากข้อคิดให้กับคุณรุ่งทิวาในเบื้องต้นว่าหากจะรักษาศีลก็ขอให้เริ่มศึกษา เริ่มปฏิบัติ เจริญเมตตานี้ก่อน ฝึกแผ่เมตตา ฝึกเจริญเมตตา ฝึกรักษาเมตตา จนจิตเสพคุ้นกับความเมตตา และเกิดขึ้นเองโดยมิต้องกำหนด ไม่ต้องสรรสร้าง เห็นว่าเป็นปรกติในจิตของตนแล้ว

ถึงเวลานั้นลองย้อนกลับมาอ่านทบทวนหัวข้อศีลทั้งห้าอีกครั้ง ก็จะพบด้วยตนเองว่าเรามีพร้อมครบสมบูรณ์ในศีลทั้งห้าข้อนี้อยู่แล้ว
เพราะองค์รวมของศีล หยั่งลงหลอมรวมอยู่ที่ "เมตตา" นี้เอง

จากนั้นก็หมั่นระลึกนึกถึงศีลทั้งห้า เอาจิตที่เมตตานั้นล่ะมากำหนดให้ศีลเกิดมี เกิดขึ้น ในจิต ในกายในวาจาเพื่อการพัฒนาตนเองในธรรมที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

 

โดย: ใจพรานธรรม 23 กันยายน 2553 0:58:52 น.  

 

เรื่องการให้ตำตอบในทางธรรมแล้ว
ผมมีความยินดียิ่งที่จะได้ร่วมช่วยแสดงความคิดเห็น อันอาจจะพอเป็นประโยชน์แต่เพียงบ้างไม่มากก็น้อย ผิดพลาดไปประการใดต้องขออภัยด้วย

ทุกวันนี้ยังรู้สึกเหมือนคนเห็นแก่ตัวมีความรู้ มีปัญญาแต่กลับเก็บกินแต่เพียงผู้เดียวไม่คิดจะเผยแผ่ตอบแทนพระพุทธเจ้าเสียด้วยซ้ำ
ความรู้ ความมีปัญญาก็ได้มาจากการสืบทอดต่อๆกัน คงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งหากได้ร่วมเผยแผ่ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความถูกต้องในพระพุทธศาสนา ให้คนที่เขาไม่รู้เหมือนเราในอดีต ได้รู้ได้เข้าใจเหมือนอย่างเราที่พอจะรู้อยู่บ้างในปัจจุบัน

ความสงสัยนั้นมันติดอยู่กับเราทุกคนมีหลายแสนล้านปี กิเลสก็หลอกลวงให้เราหลงยึดติดอยู่กับการเวียนเกิด เวียนตายไม่รู้จักจบสิ้น

ถ้าเว้นไปจากพระพุทธเจ้าเสียแล้วจะมีใครเล่าจะช่วยเราท่านทั้งหลายได้ท่านทุกข์ทนสั่งสอน กว่าจะตรัสรู้ก็เป็นเวลาช้านาน เราเหมือนไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องลำบากอะไรเลย พระพุทธองค์ก็ทรงหวังแค่เพียงให้เรามาศึกษาและปฏิบัติตามเท่านั้น เมื่อรู้เมื่อเข้าใจ ก็ไม่ควรยึดติดแบกถือเอาธรรมนั้นมาไว้เพื่อตน เป็นผู้ตระหนี่ในธรรม ไม่เอื้อเฟื้อแก่ผู้ปฏิบัติธรรมหวังความพ้นทุกข์

การได้ตอบ ได้ช่วยแสดงความคิดเห็นให้รู้ถุก ให้เข้าใจถูกนั้นจึงเป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง และเป็นปรกติธรรมดาทุกๆคนที่มาถึงในระดับหนึ่งที่จิตได้ผูกติดกับพระพุทธศาสนาอย่างหนักแน่น ก็ย่อมอยากจะช่วยให้ผู้อื่นได้รู้ตามไป และผู้นั้นที่ตนได้เคยช่วยเหลือไว้อาจปฏิบัติสำเร็จบรรลุก่อนเรา ก็จักช่วยดึงจูงชักนำเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ไปด้วยกัน
ขออนุโมทนาสาธุครับ

 

โดย: ใจพรานธรรม 23 กันยายน 2553 1:13:30 น.  

 

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงคะ
และขออนุโมทนาสำหรับความเมตตา ในการสร้างความเข้าใจเรื่องธรรมะกับผู้ที่มีความรู้น้อย ด้วยคำอธิบายที่รับรู้ได้ถึงความปรารถนาดี และด้วยความเคารพในพระสัทธรรมอย่างแท้จริง
สำหรับเรื่องการรักษาศีลนั้น ที่รุ่งพยายามศึกษาเพราะต้องการรู้ถึงเหตุ และรู้ผลของการกระทำ เพื่อจะได้เป็นความเข้าใจที่จะเป็นปัจจัย ให้เกิดการระลึกในจิตแต่ละขณะ มิใช่มีเป้าหมายเพื่อให้ตนเองเป็นคนดี มีศีลธรรมหรือมุ่งแต่จะทำทุกวิถีทางเพื่อละกิเลสโดยเร็ว เพราะเมื่อใดที่เราคิดว่าเราเป็นคนดี ขณะนั้นก็เกิดการแบ่งแยกว่ามีคนอื่นที่ไม่ดี มีคนที่ดีน้อยกว่าเรา และเราเป็นคนดี ก็จะไม่สามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรมะตามความเป็นจริงได้
ซึ่งสอดคล้องกับที่คุณใจพรานธรรมกล่าวในข้างต้นหลายสิ่งหลายอย่างหากเรามีเมตตาแล้ว จะครอบคลุมไปทุกๆศีล เกิดเป็นความตระหนักในใจตัวเองว่า ควรทำอย่างไร เช่น รุ่งตั้งสัจจะว่าจะไม่รังแกหรือทำร้ายสัตว์ทุกชนิด เพราะรู้สึกว่ามนุษย์ไม่ควรรังแกสัตว์อื่นๆ ที่เขาก็รักชีวิตเหมือนกัน ขอยกตัวอย่างว่า ในขณะที่มียุงมาเกาะแขน ก็ไม่ได้คิดว่าจะรักษาศีลแต่ประการได้ มีจิตที่เข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติของการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และจะไม่ทำร้ายกลับซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ บางครั้งก็ปล่อยให้ยุงกินเลือดจนอิ่ม แต่ไม่ใช้ด้วยความรู้สึกว่าจะผิดศีล ที่ทำให้กลายเป็นคนไม่บริสุทธิ์
ทว่า ความเมตตา(ความเป็นมิตรเป็นเพื่อน)ดังกล่าว ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับจิตตลอดเวลา เพราะจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีเหตุและปัจจัยพร้อม และรุ่งมองว่า การเจริญเมตตาได้ต้องประกอบด้วยปัญญาที่ระลึกรู้ได้ว่า เหตุและผล ปัจจัย ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไรคะ
สำหรับวันนี้รุ่งก็มีคำถาม ที่จะขอทำความเข้าใจเรื่องเพิ่มเติม เรื่อง "ความกลัวในจิตใจของเรา" เช่น กลัวว่าเขาจะไม่รัก กลัวตกงาน กลัวอด กลัวหิว กลัวความไม่มั่นคง กลัวเจ็บป่วย กลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวการอยู่โดดเดี่ยว กลัวเหงา ฯลฯ เหล่านี้ ในพุทธศาสนาได้กล่าวถึงจิตในลักษณะนี้ว่าอย่างไรบ้าง และมีสิ่งใดที่สามารถทำให้ความกลัวละคลายลง และดับลงได้โดยสิ้นเชิงคะ






 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.157.149 23 กันยายน 2553 11:28:52 น.  

 

เรื่องความกลัว ถ้ากล่าวในปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ เราไม่ได้ทำปัจจุบันให้ดีพร้อมไว้ จึงทำให้เกิดความรู้ว่าในอนาคตคงต้องได้ประสบพบเหตุอย่างนั้นๆ จึงควรเร่งทำปัจจุบันให้ดีที่สุด การทำปัจจุบันก็คือ การมีสติไม่ประมาทนั่นเอง กลัวในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็ควรสร้างเหตุในปัจจุบันเพื่อป้องกันระวังไม่ให้เรื่องในอนาคตที่กลัวเกิดขึ้นมา ถึงเกิดขึ้นแม้จะทำดีที่สุดแล้วในปัจจุบัน ก็สันโดษพอใจในสิ่งที่ตนได้รับ ว่าเป็นอดีตกรรมที่ตนได้กระทำมา

เหมือนว่าเรากลัวตกนรก ก็มารักษาศีลเจริญเมตตา
หากจะเชื่อว่านรกไม่มีเราก็ได้ความสุขจากศีลจากเมตตาในปัจจุบัน เป็นต้น

และหากจะกล่าวให้ชัดเจนลึกลงไปในธรรม ผมขอเวลาคืนนี้จะมาเจาะลงเข้าไปถึงตัวเหตุแห่งความกลัว นะครับ

 

โดย: ใจพรานธรรม 23 กันยายน 2553 13:34:38 น.  

 

การเจริญเมตตาได้ต้องประกอบด้วยปัญญาที่ระลึกรู้ได้ในเรื่องของความปราถนาดีในตนและผู้อื่น สัตว์อื่น
ทั้งยังต้องมีความเสมอภาคไม่เจาะจงยึดติดกับคำว่ารักว่าชัง หรืออคติ เพราะนั่นเป็นกิเลสคือความโกรธ เป็นข้าศึกของเมตตา ทั้งยังให้มีปรกติวาจาไพเราะไม่ใช่หมายถึงอ่อนหวาน มีกริยาอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อม การกราบการไหว้ การนอบน้อมทั้งหมดเป็นเหตุให้เมตตาเกิดขึ้นได้

สหายธรรมท่านหนึ่งได้เคยยกอุปมาไว้
ว่าการมีเมตตาก็ประดุจดังใจชุ่มชื่น ถอดถอนกิเลสได้โดยง่าย
อุปมากิเลสก็เปรียบเหมือนหญ้าที่ขึ้นในดินที่ชุ่มชื้น จะถอดถอนก็ย่อมทำได้โดยง่าย

 

โดย: ใจพรานธรรม 23 กันยายน 2553 14:07:52 น.  

 

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงคะ
และขออนุโมทนาบุญสำหรับความเพียรพยายามใน การอธิบายธรรมะที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย
ซึ่งก็รุ่งไม่ขอรบกวนเวลาในการพักผ่อนของคุณใจพรานธรรมในคืนนี้หรอกคะ ไว้เวลาสะดวกจริงๆ ค่อยตอบ
จะเป็นการดีมากกว่า
อืม ไม่ทราบว่าเว็ปนี้สร้างมานานหรือยังคะ และมีกัลยาณมิตรที่เข้ามาร่วมพูดคุยกันมากไหมคะ ถ้ารุ่งจะสนทนากับท่านอื่นๆ สามารถเข้าไปที่ไหนได้บ้างคะ หรือว่าจะต้องสมัครเป็นสมาชิก

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.157.149 23 กันยายน 2553 19:44:49 น.  

 

เวปนี้สร้างมาได้ประมาณสองปีครับโดยมีสหายธรรม 2 ท่านได้อยากให้ผมเขียนลงไว้ เพราะเห็นว่าน่าเสียดายหากความรู้ที่เราได้ตอบหรือมีไม่ได้มีบันทึกไว้ ก็จะเลือนหายไปได้ตามกฏของไตรลักษณ์ ขออย่าได้เกรงใจหรือถือว่าเป็นการรบกวนเลยครับ ผมมีความยินดียิ่งเพราะจะช่วยให้ผมได้มีจิตที่เป็นกุศลธรรมบ้าง ถ้าไม่มีใครสงสัยความรู้ที่เรามีมันก็ทื่อ เหมือนมีดที่ไม่ได้ลับนั่นล่ะครับ

มาว่ากันต่อในเรื่องความกลัว เราจะกล่าวถึงเหตุก่อน
ความกลัวนั้นเป็นผล ส่วนมากจากอะไร ก็ขอเรียนชี้แจงว่า มาจากความไม่รู้นั่นเอง สมมติถ้าเราจะต้องกระโดดลงไปในสระสระหนึ่ง โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าในน้ำนั้นมีอะไรหรือไม่ เช่นสัตว์มีพิษ สัตว์กินเนื้อ สัตว์น้ำที่ดุร้าย เราก็กลัว แต่หากบุรุษคนหนึ่งที่เป็นคนในท้องถิ่นนั้น เค้าอยู่เค้าอาศัยในท้องถิ่นนั้นมานาน เค้าก็ย่อมรู้ย่อมเข้าใจว่ามีอะไรที่ดีที่ร้ายในสระๆนั้นถ้าสระนั้นปลอดภัยแก่เขา เขาก็ไม่กลัวที่จะกระโดดเพราะเค้า"รู้" นั่นเอง
ถ้าจะให้โยงเข้ามาในธรรมความไม่รู้ ก็คือ"อวิชชา"
ตัวรู้และเข้าใจในสิ่งที่รู้ คือ"ปัญญา"

อีกประการหนึ่งเหตุของความกลัวก็คือความ"อยากไม่กลัว" ฟังๆอ่านๆเหมือนแปลกๆ ใช่ครับมันคือความอยาก "อยาก"เป็นนั่น "อยาก"เป็นนี่ "อยาก"ไม่เป็นนั่น "อยาก"ไม่เป็นนี่

ความอยากไม่กลัว เลยทำให้เกิดความกลัว
เพราะรู้ในเหตุของบางสิ่ง จึงคิดคาดปรุงแต่งเดาๆ ว่าต้องเป็นอย่างนั้นๆ น่าจะเป็นอย่างนี้ๆ

ความอยากนั้นก็คือ ตัณหา นั่นเอง และตัณหาความอยากเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัย อวิชชาความไม่รู้ จึงได้อยากเป็น อยากไม่เป็น นานเข้าก็เริ่มสั่งสมขึ้นเป็นความคาดหวัง หวังขอให้เป็น หรือหวังขอให้อย่าได้เป็น อย่างนั้นๆ



 

โดย: ใจพรานธรรม 23 กันยายน 2553 23:59:04 น.  

 

เมื่อหวังอยู่ ความสมหวัง ความผิดหวังก็ย่อมมีอยู่คู่เสมอ ถ้าเหตุสร้างไว้ที่คิดว่าดี ผลที่คาดหวังก็ย่อมคาดคิดว่าดี แต่ถ้าเหตุที่สร้างไว้คาดคิดไว้ว่าไม่ดี ผลที่คาดหวังก็ย่อมคาดคิดว่าไม่ดี เช่นกัน เช่นตั้งใจอ่านหนังสือสอบอย่างมากๆ ก็ย่อมคาดหวังว่าน่าจะได้คะแนนดีมากๆ หรือโจรลักทรัพย์ไว้มาก ก็ย่อมหวังน่าจะถูกจับได้ ถูกรุมทำร้ายในสักวันหนึ่ง

ย่อมสุข ย่อมทุกข์ ล่วงหน้าไปก่อนที่ผลจะเกิดเสียด้วยซ้ำ พระพุทธศาสนาจึงทรงตรัสเน้นสอนการมีสติไม่ประมาทในปัจจุบัน นี่ล่ะคือสิ่งที่ควรกระทำและใส่ใจให้มาก เรื่องที่ยังมาไม่ถึงสำหรับเราท่านนั้นอยู่เกินไปกว่ากำลังความรู้ในปัจจุบันที่จะเข้าไปเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ว่าเป็นนั่นเป็นนี่อย่างถุกต้องแม่นยำ อย่างนี้นั้นเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากเกินไป
แต่ถ้าได้กำลังของสมาธิในระดับที่รู้เห็นได้ก็พอจักเชื่อถือได้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นไปกว่าการมีสติไม่ประมาทในปัจจุบัน เพราะถึงรู้ไปก็อาจประมาท ผลก็เปลี่ยนไป

ความกลัว จึงเสมือนเป็นดั่งสมุนของกิเลส เพราะที่กลัวก็เพราะตนยังไม่รู้ ที่ไม่รู้ก็เพราะไม่ได้ศึกษา มัวประมาท ย่อหย่อนความเพียรเห็นแก่ความสุขสะดวกสบาย เมื่อพอจะรู้เดียงสาก็เห็นเหตุในปัจจุบันที่ไม่ดี ก็นึกวาดฝันว่าต้องให้ได้ดี แต่ก็ขัดแย้งกับความรู้สึกที่เป็นอยู่จริงว่าไม่ได้สอดคล้องกันเลย ก็ยิ่งทับถมความกลัวหมักดองในจิตของตนมากขึ้นๆ

โดยแท้จริงเมื่อความกลัวเกิด เราต้องควรไปหาสาเหตุว่าสิ่งที่เรากลัวนั้นมาจากสาเหตุอะไร เช่นกลัวตกงาน นั่นอาจเพราะความรู้ความสามารถที่เราจะตอบแทนให้กับนายจ้างน้อยไป เราก็ควรเร่งแสดงความสามารถตามกำลังตามความรู้ที่เรามีให้ยิ่งๆขึ้น ถ้าทำถึงที่สุดแล้วก็ยังถูกไล่ออกเพราะเข้าไม่เห็นความดีของเรา เราก็ควรเข้าใจว่านี่คงเป็นผลกรรมในอดีตที่เราไม่ได้เคยเห็นความดีของคนอื่นไม่ได้เคยร่วมอนุโมทนาความดีของคนอื่นเค้าไว้ ก็เร่งเข้าอ่านตามกระทู้ศาสนากล่าวในใจอนุโมทนาเห็นดีกับเขา เห็นใครทำบุญให้ทานรักษาศีล เราก็มีจิตยินดีอนุโมทนาเห็นความดีไปกับเขาด้วย

เรากลัวความเจ็บป่วย เราก็ต้องหาวิธีบำรุงรักษาสุขภาพร่างกายหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะบั่นทอนกาย ออกกำลังกายบ้าง
ถ้าทำแล้วก็ยังเป็นโรคร้ายแรง ก็มีปัญญาเข้าใจว่า อ้อนี่เราเคยไปเบียดเบียน ไปทำร้ายชีวิตอื่นเค้าไว้จึงต้องมารับกรรมอย่างนี้ๆ

กลัวเหงา ก็เพราะเราอยากมีคนอื่นให้เห็นว่าเรามีค่า อยากเข้ามาหา มาพูดคุย ไม่ให้จิตว่างเว้นจากความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิง กลัวการทอดทิ้ง กลัวการอยู่คนเดียว
ทั้งหมดก็เพราะตนคิดว่า ตนสำคัญมากสำหรับคนอื่น แต่สำหรับตนเองเมื่ออยู่คนเดียวกลับมองคิดว่า ชีวิตของตนหมดความหมายให้กับตัวเองไปเสียอย่างนั้น
สำหรับเรื่องความเหงาผมไม่ขอสนับสนุนให้ไปรื่นเริงบันเทิงกิเลส แต่อยากให้เห็นคุณค่าของชิวิตของตน เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบวช พระองค์ก้ไปเพียงผู้เดียวไม่ได้มีความกลัวในสิ่งใดๆเลย ไม่กลัวแม้ความเหงา เพราะพระองค์ทรงทราบและตระหนักในชีวิตของพระองค์เองว่ามีค่ามากพอสำหรับพระองค์แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมาได้รับการบำรุง บำเรอจากใครๆ พระองค์ทรงกระทำให้กายและจิตของพระองค์มีค่าจนถึงได้บรรลุตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง และผู้อื่นก็เห็นความมีค่านั้นสืบมา

 

โดย: ใจพรานธรรม 24 กันยายน 2553 0:25:32 น.  

 

เพราะฉะนั้นการที่จะไปดับความกลัวในแบบผู้ครองเรือนได้นั่นก็คือ
๑. การเข้าไปรู้เหตุและผลในเรื่องนั้นๆด้วยปัญญา
๒.วางแผนจัดการ ตลอดจนถึงแผนการดำเนินการปรับปรุง พัฒนา แก้ไข
๓.เปิดใจยอมรับด้วยจิตที่เป็นอุเบกขาวางเฉย เมื่อได้รับผลแม้จะดีหรือร้าย สุขหรือทุกข์ก็ตาม มีปรกติของใจเสมอกัน

การขจัดความกลัวในระดับผู้ออกจากเรือน
๑.ศึกษาและปฏิบัติกิจภาวนาให้มากๆ รู้ทั้งเหตุ และรู้ทั้งผล
๒.คบบัณฑิตเพื่อที่จะช่วยให้กระจ่าง จากความสงสัยจนคลายความกลัวนั้นออกไป
๓.ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงด้วยปัญญา เห็นทุกสิ่ง ทุกอย่างในโลก นอกโลก ในจิต นอกจิต ที่เป็นเป็นจิต ที่ไม่ใช่จิต สิ่งทั้งหลายทั้งปวง สักแต่ว่าเป็นเพียง "ความว่างเปล่า" ไม่ได้มีอะไรให้หวัง ไม่ได้มีอะไรให้ยึด ไม่ได้มีอะไรๆจากสิ่งๆนั้น
จิตก็จะไม่ไปเพ้อปรุงแต่งต่อ เพราะเห็นว่าเป็นความว่าง เป็น สุญญตา จะเอาอะไรๆไปปรุงแต่ง ไปคาดหวังในสิ่งที่ว่างนั้น เพราะปราศจาก รูป รส กลิ่นเสียง สัมผัส มีเพียงแต่จิตที่เข้าไปรู้ว่า "ว่าง" แม้จิตที่รู้ก็ว่าง ปราศจากอะไรๆที่คิดว่ามีอยู่เลย สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็น ความว่าง สุขทุกข์ กลัว สนุก บันเทิง รื่นเริง หรือแม้แต่ความสงบ จักมีได้จากที่ใหน จิตก็ว่าง เป็นจิตที่ปราศจากการปรุงแต่ง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ละเสียได้ในสิ่งทั้งปวง มีเพียงรูปและนาม สักแต่ว่าเป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็ย่อมพ้นเสียได้จากความกลัวถึงซึ่งสุขสวัสดีนี้ได้

 

โดย: ใจพรานธรรม 24 กันยายน 2553 0:47:32 น.  

 


นโมตสฺส ภควโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ขอขอบพระคุณคุณใจพรานธรรมเป็นอย่างสูงคะ
ที่ให้ความกระจ่างเรื่อง ความกลัว ซึ่งความรู้ที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ หากรุ่งพบผู้ใดที่สนใจ ก็จะแบ่งปันให้
ได้รู้ตาม
ขออภัยที่ขอจะเรียนถามว่า คุณใจพรานธรรมเป็นพระคุณเจ้า หรือเป็นฆราวาส คะ


ขออนุโมทนาสาธุคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.149.208 24 กันยายน 2553 11:59:28 น.  

 

ถ้าความกลัวกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็ขอให้มีสตินะครับ
เช่นไฟไหม้ อะไรประมาณนี้

ถ้าความกลัวเกิดขึ้นเพราะในอดีตหรือเพราะคาดหวังในอนาคต ก็เร่งความเพียรให้มาก เพื่อความสำรวมระมัดระวังในกาลเบื้องหน้า

สำหรับตัวผมนั้นเป็นผู้ครองเรือน แต่จิตนั้นใคร่ออกจากสังสารวัฏ
ธรรที่แสดงกล่าวไปก็อย่างหนึ่ง ตัวตนจริงๆที่มีกิเลสอยู่เต็มหัวใจก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ก็เหมือนจะใคร่หวังเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสอนบุคคลอื่นอยู่เต็มหัวใจ เป็นความณุ้สึกแรก เมื่อครั้งที่ได้เข้ามารู้จัก พระพุทธศาสนา

ขอความเคารพในธรรม ขององค์พระพุทธศาสดาจงบังเกิดมีแก่เราทุกเมื่อ
มีข้อสงสัยเพิ่มเติมเรียนถามได้เสมอครับ

 

โดย: ใจพรานธรรม 24 กันยายน 2553 12:33:42 น.  

 

นโมตสฺส ภควโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

รุ่งมีข้อคำถามอีกข้อ ซึ่งเป็นทัศนะในการปฏิบัติธรรมของพี่สาวคนหนึ่ง ที่ต้องการปลีกตัวเองจากสังคม ไปบวชสักระยะ เพื่อไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ที่สงบ เพราะคิดสำรวจตัวเอง จะได้ผลดีกว่าจะอยู่ในแวดล้อมบริบทเดิม ซึ่งไม่สามารถสำรวม กาย วาจา ใจได้ จึงต้องหากุศโลบายในการทำให้ตนเองสงบมากขึ้น
รุ่งได้ให้ความเห็นไปว่า "ทุกคนสามารถบวชได้ที่บ้าน"
ในความหมายก็คือ การตั้งสัจจะในการประพฤติพรหมจรรย์อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเคร่งครัด
จึงขอเรียนถาม คุณใจพรานธรรม ว่าควรจะแนะนำพี่สาวในการปฏิบัติอย่างไร ที่ทำให้ใจสงบได้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับโอกาสและสถานที่น่ะคะ

ขอบพระคุณคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.1.111 26 กันยายน 2553 18:00:42 น.  

 

ขอกล่าวเป็นสองกรณีนะครับ
ในกรณีที่พี่สาวคนหนึ่ง คนนั้นเป็นผู้ที่ได้สั่งสมบารมีมาพอสมควร และมีจิตใคร่จะออกกองแห่งทุกข์กิเลสโดยสิ้นเชิง กุศลบารมีของเขาจะชักพา นำจูงให้เข้าไปหาที่สงบ แสวงหาการปฏิบัติธรรม ใคร่เป็นผู้ออกจากเรือน มีบารมีที่ไกล้เข้าถึงแห่งความหลุดพ้น ก็สมควรแล้วที่เขาจะคิดเป็นไปอย่างนั้นๆ โดยมากบุคคลประเภทนี้มักจะมีที่อยู่อาศัยและฐานะที่สุขสบาย และการออกบวชหรือปฏิบัติจะไม่สร้าง ไม่ทิ้งภาระแก่คนข้างหลัง จะมีก็เพียงแต่อาจไปทำลายความหวังของพ่อแม่ ของสามีบุตรภรรยา หรือบริวาร ที่หวังพึ่งพิง และเมื่ออกบวชปฏิบัติไม่นานก็มักจะสำเร็จได้ดวงตาเห็นธรรม มีปัญญาและสามารถโปรดบิดา มารดา หรือบุคคลอื่นให้ได้เป็นสัมมาทิฏฐิได้

ทีนี้มาพูดถึงในกรณีที่สอง คือบารมีที่สั่งสมมานั้นยังไม่แก่กล้า แต่อาศัยภูมิธรรมที่ตนพอรู้ พอทราบแต่เพียงน้อย แต่หลงไปติดกับความอยากของ"ตัณหา" อยากได้ดวงตาเห็นธรรม อยากบรรลุ อยากสำเร็จ อยากสงบ อย่างนี้ ก็ออกปฏิบัติด้วยกิเลสตัณหาอย่าง"ละเอียด"
บางพวกก็อยากออกบวชออกปฏิบัติเพื่อหวังติดสุขอยู่กับความสงบ เพราะเบื่อหน่ายกับคนหรือวัตถุที่เคยพอใจ รวมไปถึงเบื่อหน่ายกับบุคคลหรือวัตถุที่ตนกำลังไม่พอใจ

 

โดย: ใจพรานธรรม 28 กันยายน 2553 0:14:15 น.  

 

ก็ออกบวช ออกปฏิบัติธรรมเพื่อหลีกหนีอารมณ์ที่ตนไม่พอใจ(โทสะ) ก็ออกบวช ออกปฏิบัติธรรมเพื่อหาอารมณ์ที่ตนพอ(โลภะ) โดยมากบุคคลประเภทนี้มักไม่ได้รับผลของการปฏิบัติธรรมอย่างสมควรได้รับ เพราะขาดปัญญา
และอย่างที่ผมได้เคยเรียนให้ทราบว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องอาศัย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา นั้นต้องมีอย่างเสมอกัน การได้ผลได้อานิสงส์แห่งธรรมในการปฏิบัติจึงจะเกิดผลได้ และเมื่อเขาได้ออกบวชได้ปฏิบัติธรรมนั้นๆแล้วด้วยเพราะกิเลสนำไป แม้จะมีความรู้มาก ศึกษามากก็ย่อมหลง ย่อมติด ในลาภ ในยศ ในคำสรรเสริญ ในสุขที่หลงติดอยู่ในธรรม ไม่อาจที่จะสามารถทำลายถอดถอนกิเลสทั้งหลายออกไปได้เลย

 

โดย: ใจพรานธรรม 28 กันยายน 2553 0:28:43 น.  

 

และโดยความคิดเห็นส่วนตัวกระผมเองนั้นมีความคิดอยู่ว่า
หากบุคคลใดที่ใคร่จะออกบวชหรือออกปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายถึงพี่สาวคนนั้น หรือใครๆ แต่ขอกล่าวภาพสรุปทั้งหมดของนักปฏิบัติธรรม ที่หวังให้ได้ผลตามสมควรแก่ธรรมนั้นๆ ควรจะเริ่มที่เข้าไปทำความรู้จักกับสิ่งที่ตนกำลังเป็นอยู่ กำลังได้รับอยู่ กำลังเผชิญอยู่ รู้จักความสุข รู้จักความทุกข์ รู้จักความรู้สึกที่เฉยๆ รู้แล้วเข้าใจแล้ว ก็เข้าไปทำความรู้แจ้งด้วยปัญญาว่าความรู้นั้นที่ตนรู้ ตนเข้าใจ มีความหลงติดยึดอยู่หรือเปล่า ยังใคร่ที่จะติดอยู่ในสุข ในทุกข์ หรือแม้กระทั่งเฉยๆ เรายังมีความยอมรับหรือปฏิเสธด้วยจิตแบบใหนที่เป็นกุศลหรืออกุศล ในวันหนึ่งๆเรารู้เราเข้าใจ เราปรุงจิต รู้จิต ของเราอย่างถูกต้องแค่ใหน
ทั้งอุปสรรค ทั้งปัญหา ทั้งความสุขบำรุงบำเรอ ทั้งคำนินทาหรือคำสรรเสริญ ลาภ ยศ บุคคล สัตว์ ภพ ชาติ เทวภูมิ พรหม อรูปพรหม รวมไปถึงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงยังสามารถมีอำนาจให้เราหลงยึดติดอยู่หรือเปล่า
ลองวัดใจ สำรวจใจว่า เราสามารถเห็นสัจจะความจริงในใจได้แล้วมากเกินกว่า 80% หรือยัง 80%ที่คิดว่าได้ มีคงอยู่ในใจของเราได้นานพอแค่ใหน ยังหวั่นไหวได้หรือเปล่า

เพราะฉะนั้นหากได้เห็น ได้พิจารณาก่อนที่ตนจะออกบวช ออกปฏิบัติทำไม ไม่ลองศึกษาสิ่งที่กำลังมีอยู่ก่อน ให้เข้าใจก่อน เสมือนเป็นสนามสอบอารมณ์ก่อนบวช ถ้ายังเห็นว่ายังหนาไปด้วยกิเลส หรือหวังไปบวชไปปฏิบัติเอาน้ำบ่อหน้านั้น อย่าได้ดำริอย่างนั้น ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสทรงแสดงมีอยู่ทุกๆที่ที่มีเรา พระองค์ไม่ได้ทรงบอกว่ากิเลสอยู่ที่วัดนั้น สำนักนั้น ไปปฏิบัติแล้วเธอจะบรรลุได้ดวงตาเห็นธรรมนะ เราปฏิบัติธรรมก็เพื่อหวังทำลายกิเลสอย่างหยาบและอย่างละเอียด และกิเลสในขณะที่เรายังอยู่ครองเรือน หรือ ออกจากเรือนมันก็คือกิเลสตัวเดียวกันของเรา เราอยู่ครองเรือนยังได้เห็นกิเลสชัดเจนกว่า เพราะมันมีสิ่งเร้ามีสิ่งตอบสนองมากกว่า อาจชัดเจนกว่าไปวัด ไปสำนักด้วยซ้ำ แต่ก็น่าเสียดายที่รู้ ที่เห็นแล้วกลับยังไม่ยอมรับที่จะเรียนรู้ ที่จะฝึกตนที่จะชนะครองตนอยู่เหนือกิเลส กลับเห็นกิเลสแล้ว รู้กิเลสแล้ว ถูกกิเลสเหยียบย่ำ ยัดเยียดให้ออกหนี หลีกหนี ไปหาสิ่งอื่น ไปปฏิบัติเพื่อหวังคาดหวังว่าในอนาคตตนจะได้รับความสุข ได้รับความสบาย ก็เมื่อกิเลสในปัจจุบันยังละเสียมิได้ จะกล่าวไปใยกิเลสในอนาคตที่ตนจักสามารถทำลายถอดถอน เกิดความสุขความสงบได้เลย ถ้าจะสุขจะสงบ ก็เป็นความสุขเป็นความสงบก็เป็นความสงบที่จิตนี้หลง ไม่ใช่สุขสงบที่จิตนี้หลุดพ้น

 

โดย: ใจพรานธรรม 28 กันยายน 2553 0:56:21 น.  

 

การครองเรือน ก็สามารถที่จะปฏิบัติธรรมได้แม้อาจยากลำบากอยู่มาก แต่ก็ถือว่าถ้าสามารถผ่านสำเร็จในการปฏิบัติธรรมนี้ไปได้ เมื่อออกบวช ออกปฏิบัติย่อมยังให้เกิดประโยชน์ตามสมควรแก่ธรรมนั้นอย่างแน่นอน

เราจะถอดถอนกิเลส ก็ด้วยจิตของเราเองในปัจจุบัน ไม่ได้มีสถานที่ใดๆจะไปทำลายถอดถอนได้ อย่าได้หลงติดกับความอยาก ถามตัวเองในปัจจุบันยังไม่ดีพร้อมอีกหรือ ทำไมถึงยังเหมือนรู้สึกว่าขาดสิ่งนั้น สิ่งนี้อยู่ ก็ในเมื่อธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็มี ก็เกิดขึ้น ก็ตั้งอยู่ ก็ดับไป อยู่ในขณะปัจจุบันนี้แล้ว ทำไมเราจึงต้องรอให้ได้ไป ให้ได้ไปอยู่ ไปพบสิ่งนั้นๆ ตามสนองความต้องการอะไรอยู่อีก

เมื่อเราคิดว่าพร้อมที่จะไป มันก็ไปแต่เพียงกายแต่จิตนี้ก็ยังข้องอยู่เสพอยู่กับความหลงติดปราถนา สุขก็ได้เพียงศีล เพียงทาน ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากที่ผ่านมาเลย

เริ่มหันมาสนใจ จิตของตนในปัจจุบันดีกว่าที่จะคาดหวังสิ่งที่หลงติดในอนาคต ให้จิตเป็นอิสระไม่ผูกมัดการปฏิบัติธรรมด้วยความหลงยึดถือว่าต้องอย่างนั้นๆ จึงจะได้ผล อย่างนี้ๆปฏิบัติไม่ได้ผล

นักปฏิบัติธรรม จึงต้องไม่มีความหลงติดอยู่กับใคร หรือสิ่งๆใด จะอยู่ที่ใด จะมีอารมณ์ดีๆร้ายๆเฉยๆ อย่างไรๆ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากไปกว่าการที่ตนได้เข้าไปรู้ เข้าไปทำความเข้าใจในความจริงของสิ่งที่เป็นสัจธรรมนั้นๆอยู่

ทุกอย่างนั้นล้วนสำเร็จด้วยจิต เกิดที่จิต ตั้งอยู่ที่จิต และดับที่จิตนี้ นิพพานก็นิพพานที่จิตนี้ไม่ได้ที่ใหนๆ ไม่ได้ที่จิตของใคร แต่เป็นของตนเท่านั้น

แล้วลองเปลี่ยนพลิกการปฏิบัติธรรมเห็นว่าที่ทำงาน ที่บ้าน คนที่พบปะ พูดคุย เป็นสนามสอบการปฏิบัติของเรา เป็นเสมือนสำนัก เป็นวัดที่เราเข้ามาปฏิบัติเพื่อให้รู้เห็นกิเลสของเรา แล้วเมื่อเราเข้ามาอยู่ในเวลานี้ ขณะนี้ ปัจจุบันนี้ เราก็เห็นกิเลส เห็นความพอใจไม่พอใจ เห็นความเป็นไตรลัษณ์ วันคืนก็ล่วงไปๆเรายังรอ ยังคอยอะไรอยู่อีก ก็ควรยิ่งที่จะปฏิบัติเมื่อรู้ เมื่อเห็นแล้วก็สมควรที่จะปฏิบัติตามสมควรแก่ธรรมนั้น ตามนี้

หากท้ายที่สุดแห่งการปฏิบัติ ด้วยเจริญจนจิตสามารถวางใจเห็นว่าวัด สำนัก บ้านเรือน ประเทศ รวมไปถึงทั้งโลก ทั้งนอกโลก ภพภูมิทั้งหลาย ก็สรุปรวมหยั่งลงเป็นสถานที่การปฏิบัติธรรมของเรา
จะอยู่ที่ใดๆก็ตาม ก็ไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่อุปสรรคในการปฏิบัติธรรมของเราเลย

หากเราพิจารณาได้จริงตามนี้ เราก็จะสามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างมีความสุข เพลินไปกับการปฏิบัติที่ไม่คับแคบ เป็นอิสระ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ
จะอยู่บ้าน หรืออยู่ที่ใหน ก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาท พร้อมที่จะปฏิบัติธรรมให้แจ้งได้ตามสมควร

ไม่จำกัดกาลและสถานที่ "อกาลิโก"
ไม่นาน...มันก็จะไปตามทางของมันเอง ไม่ต้องไปเร่ง ไปบังคับ มันพ้น มันก็พ้นเองนั่นแล

 

โดย: ใจพรานธรรม 28 กันยายน 2553 1:35:42 น.  

 

นโมตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

ขอขอบพระคุณในความกรุณาของคุณใจพรานธรรม ที่อธิบายได้ละเอียดและมีความชัดเจน ซึ่งรุ่งเชื่อว่า ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยังเข้าใจผิด หลงยึดติดกับเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นรุ่งจะนำคำอธิบายของคุณใจพรานธรรมเหล่านี้ ให้พี่เขาได้รู้ตามด้วยคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.151.158 28 กันยายน 2553 9:12:54 น.  

 

นโมตสฺส ภควโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระเจ้าพระองค์นั้น
ขอสวัสดีคุณใจพรานธรรมคะ
รุ่งมีข้อคำถามที่เกิดขึ้น ในระหว่างที่คุยกับเพื่อนเรื่องการใช้ชีวิตและการศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า ทำให้เข้าใจว่าเพื่อนมีทัศนะเรื่องการปฏิบัติธรรมว่า เป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลก ผู้คน ไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง และบางครั้งการที่เราตั้งใจว่าจะศึกษาและปฏิบัติหรือปฏิบัติในสิ่งที่เป็นสัจจะก็อาจเป็นการยึดมั่นถือมั่นของเราเอง เขาจึงเลือกเอาคำสอนบางส่วนของพระพุทธเจ้ามาใช้ เช่น กาลามสูตร เพื่อนมีความเห็นว่าการมองโลกในแง่ดี ก็ช่วยละคลายกิเลสได้ส่วนหนึ่ง ในส่วนตัวของเพื่อนเองเขาก็ชอบทำบุญ ให้ทาน งดเว้นการกินสัตว์ในวันพระ คือ ในมุมมองของรุ่งเขาก็ปฏิบัติธรรม เพียงแต่ว่าเขาปฏิบัติตามความตั้งใจในมุมมองของเขาเองไม่มีทฤษฏี ไม่มีรูปแบบการกำหนดกฎเกณฑ์ ซึ่งในบางครั้งก็พอมองเห็นข้อดีที่ช่วยให้เราไม่ยึดติดในบางอย่าง
มีอยู่ครั้งหนึ่งรุ่งเคยแนะนำให้เพื่อนเลือกที่จะกล่าวคำจริง มากกว่าการเลือกพูดสิ่งที่เพ้อเจ้อ ไม่เป็นความจริงเพราะเชื่อว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เรียนรู้ และพบกับสัจจะ ที่ตัดสินใจกล่าวแนะนำเพราะเพื่อนมีปกตินิสัยพูดทีจริงทีเล่น ไม่รู้ว่าอันไหนเท็จอันไหนจริง เป็นเรื่องที่เป็นความสนุกสนาน หลังจากแนะนำไปพบว่าเขามีความคิดเห็นแย้งเชิงว่าจะทำสิ่งใดต้องเลือกตัดสินใจเอง ไม่ใช่เพราะใครมาบอกให้ทำเช่นนั้นเช่นนี้ จึงได้ถาม ว่าเขามีเป้าหมายสูงสุดในการดับกิเลสหรือไม่ เพื่อนตอบปฏิเสธ
รุ่งจึงมิได้กล่าวอะไรต่อหลังจากนั้น เนื่องจาก เรื่องการปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบุคคลจริงๆ คำตอบที่ดีที่สุดของชีวิตคนๆหนึ่ง อาจไม่ใช้คำตอบที่ดีที่สุดของชีวิตของคนอื่นๆ และรุ่งก็ไม่เคยมีความคิดหรือความรู้สึกว่าตนเหนือ หรือดีกว่าคนอื่นๆ เป็นแค่คนปุถุชนคนธรรมดาที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส แต่ได้ตั้งเป้าหมายสูงสุดคือการดับกิเลสอย่างสิ้นเชิง อธิษฐานไว้ในใจ และกำลังปฏิบัติตามที่อธิษฐาน ค่อยๆสะสม อบรมขัดเกลาตนเองไปตามกำลังสติและปัญญา
รุ่งก็เลยขอถามถึงทัศนะของคุณใจพรานธรรมว่ามีความคิดเห็นในประเด็นที่เล่ามาเบื้องต้นอย่างไรบ้างคะ

ขอขอบพระคุณมากคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.52.168 30 กันยายน 2553 10:20:23 น.  

 


ขอนอบน้อมนมัสการแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศรียรเกล้า

หลักของพระธรรม อันเป็นคำสั่งและสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้หมายเอาถึงให้ใส่ใจหรือไม่ใส่ใจ แต่หมายถึงให้เข้าใจในสิ่งที่มีอยู่ มีสมมติว่าโลกก็ให้เข้าใจโลก มีสมมติว่าตนก็ให้เข้าใจตน และการเข้าใจนี้จักเข้าใจได้ก็คือต้องอยู่ในความเป็นจริง เป็นสัจจะอันบุคคลใดๆ ทั้งในโลกหรือนอกโลก จะคัดค้านไม่ได้เลย
บุคคลผู้ฉลาดมีปัญญา จึง"ใส่ใจ"ในพระธรรมคำสั่งสอนเพื่อที่จะไป"เข้าใจ" ในสิ่งที่เป็นสัจจะเพื่อการรู้แจ้ง เพื่อที่สุดแห่งการหลุดพ้น แต่ผู้ไม่ฉลาดหรือผู้ที่ยังติดข้องอยู่กับโลก อยู่กับนอกโลกกลับหาได้เข้าใจไม่

การเรียนรู้ในพระธรรมโดยการเลือกถือเอาเพียงบางส่วนหรือไม่ทั้งหมดนั้นก็จำเพาะศีล อยู่ในการปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ตนๆ แต่จิตของผู้นั้นนั้นหากหวังเพื่อการหลุดพ้น ธรรมใดอันเป็นประโยชน์ เขาย่อมฉลาดในการเลือกศึกษาปฏิบัติตามธรรมนั้นแม้ทั้งหมด

การมองโลกในแง่ดี เป็นการมองของผู้ตาบอดข้างหนึ่ง
การมองโลกในแง่ร้ายก็ดุจเดียวกัน เพราะไม่ได้"รู้แจ้ง" ในความเป็นจริงของสิ่งที่มีอยู่ คือสุขทุกข์ เป็นต้น
ดวงตานั้นจึงมีไว้สองข้างเพื่อให้ได้เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต ที่มีทั้งสุขทุกข์
พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย แต่สอนให้"เข้าใจ" ให้"เรียนรู้" ให้"ปฏิบัติ" ในสิ่งที่มีอยู่และทั้งหมดก็อยู่ที่กาย ยาววา หนาศอก ไม่ได้มากมายอะไรเลย เมื่อเข้าใจและปฏิบัติจนเกิดผลได้หมด ก็ละได้ทั้งหมด ที่มองโลกในแง่ดี จนคิดว่าช่วยละคลายกิเลสได้ส่วนหนึ่ง นั้นต้องหมายถึงบุคคลนั้นหรือเรากำลังประสบกับความทุกข์ ประสบรับกรรมที่เป็นอกุศล เช่น ตนเป็นคนจนอดอยากมาก แต่มองโลกในแง่ดีว่า ที่เป็นอย่างนี้ก็ดีที่ไม่ต้องมีทรัพย์ให้ระวังภัยจากโจร หรือมีศรัทธาจนคิดว่าขออกบวชเพื่อตอบแทนชีวิตที่ได้เกิดมาดีกว่า ในวันหนึ่งข้างหน้าอาจเป็นเศรษฐีพันล้าน เราอาจจะหลงประมาทมัวเมาในชีวิตไป เป็นต้น

 

โดย: ใจพรานธรรม 3 ตุลาคม 2553 23:52:22 น.  

 

ทฤษฏี ไม่มีรูปแบบการกำหนดกฎเกณฑ์ ซึ่งในบางครั้งก็พอมองเห็นข้อดีที่ช่วยให้เราไม่ยึดติดในบางอย่าง
มีอยู่ครั้งหนึ่งรุ่งเคยแนะนำให้เพื่อนเลือกที่จะกล่าวคำจริง มากกว่าการเลือกพูดสิ่งที่เพ้อเจ้อ ไม่เป็นความจริงเพราะเชื่อว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เรียนรู้ และพบกับสัจจะ ที่ตัดสินใจกล่าวแนะนำเพราะเพื่อนมีปกตินิสัยพูดทีจริงทีเล่น ไม่รู้ว่าอันไหนเท็จอันไหนจริง เป็นเรื่องที่เป็นความสนุกสนาน หลังจากแนะนำไปพบว่าเขามีความคิดเห็นแย้งเชิงว่าจะทำสิ่งใดต้องเลือกตัดสินใจเอง ไม่ใช่เพราะใครมาบอกให้ทำเช่นนั้นเช่นนี้ จึงได้ถาม ว่าเขามีเป้าหมายสูงสุดในการดับกิเลสหรือไม่ เพื่อนตอบปฏิเสธ
รุ่งจึงมิได้กล่าวอะไรต่อหลังจากนั้น เนื่องจาก เรื่องการปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบุคคล

ในเรื่องของการปฏิบัติถ้าไม่มีการศึกษาไม่มีรูปแบบ จะปฏิบัติก็ย่อมกระทำได้ แต่ก็จะเป็นการปฏิบัติที่ผิด ผลที่ได้ก็ได้ที่ผิดๆได้ เพราะกิเลสมานะ เพราะทิฏฐิความเห็นผิดของตน หลงตน ทะนงตนอย่างนี้ล่ะคืออิสระไม่ผูกมัดยึดติดกับธรรม คงจะถูกการปฏิบัติจะได้สบายๆ ก็อาจเป็นความสงบในความหลง
พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสสอนรูปแบบไว้ทั้งหมด ไม่มากไป ไม่น้อยไป สิ่งใดกระทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ หรือเกิดโทษก็ไม่ทรงตรัสสอนให้กระทำ ผู้มีปัญญาฉลาดจึงควรเชื่อควรศรัทธา เชื่อในพระธรรมนั้นและปฏิบัติตามธรรมไม่ไปปฏิรูปธรรมใดๆ ก็จักได้รับผลตามการปฏิบัติธรรมนั้นๆ อย่างแน่นอน

ยิ่งหากเป็นคนรักสนุก ชอบการพูดเล่น พูดเพ้อเจ้อจิตของบุคคลประเภทนี้ มักเป็นจิตที่ไม่มั่นคง และมีความหวั่นไหวต่ออารมณ์ที่มากระทบกายและใจของเค้าได้อย่างง่ายดาย ถ้าจะรักใครก็รักจนหลง ถ้าจะโกรธก็โกรธแบบคลั่ง ถ้าดีก็จะดีอย่างน่าชื่นชมประทับใจ
แต่โลกนี้มากไปด้วยกิเลส ถ้าเขาอยู่ในสถานที่สมควรแก่การปฏิบัติบุคคลประเภทนี้จะก้าวไปได้ไกล เพราะมีความหวั่นไหวอยู่แล้ว พร้อมที่จะโอนเอนไปตามอารมณ์ที่มากระทบสัมผัส ถ้าอยู่ทางโลกจำต้องฝึกสมาธิภาวนาเนืองๆ เพื่อเป็นยาต้านทาน สร้างภูมิคุ้มกันความหวั่นไหวจิตของตน

และเป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติศึกษาที่จะมีความชอบพอใจในธรรมต่างๆกัน เพราะแต่ละบุคคลมีการสั่งสม มีการอบรม มาไม่เหมือนกัน ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จึงมีความแก่กล้ามีบารมีต่างๆกัน จึงเลือกเฟ้นธรรมในจำเพาะที่ตนมี หรือพอจะมี ตามอุปนิสัยที่เคยรับเคยชอบใจพอใจ บางคนมีศรัทธามากก็ออกบวช มีศรัทธาน้อยก็รักษาศีลห้า มีวิริยะมากก็บำเพ็ญเพียรทางกายทางใจมาก เดินจงกรมตลอดวัน-คืน นั่งสมาธิโดยไม่ให้ง่วงหลับตลอดคืน เป็นต้น ซึ่งก็เป็นปรกติ
เราไม่มีญาณหยั่งรู้ที่จะไปรู้ได้ว่าบุคคล คนนั้นเค้าสั่งสมอะไรมาเค้าชอบไม่ชอบอะไร
เวลาที่พระพุทธเจ้าจะทรงเสด็จไปโปรดใคร พระองค์ก็ต้องตรวจดูจริต ดูอุปนิสัยว่าเค้ามีลักษณะอย่างไรๆ แล้วก็ทรงเลือกเฟ้นธรรมที่สมควรแก่เขา เมื่อเขาได้ยินได้ฟังก็เกิด"ศรัทธา" เมื่อเกิดศรัทธาแล้วมีความเชื่อแล้วก็มีสมาธิตั้งใจ เมื่อฟังแล้วก็เกิด"วิริยะ"ความเพียรในกายในจิต จนเกิดสติ เมื่อ"สติ"เกิดก็เกิดการระลึกรู้ได้อย่างใหนดีไม่ดี ควรไม่ควร ก็เกิด"สมาธิ" มีความตั้งใจ มีความตั้งใจในศรัทธา ในวิริยะ ในสติ และในสมาธิ จนเกิด"ปัญญา" ปัญญาก็แก่กล้าๆๆๆ จนเกิด"ญาณ" ญาณก็แก่กล้ามีพลังในการที่จะทำลายถอดถอนกิเลส ตามกำลังของญาณ
เขาจึงพ้นได้ เพราะพระพุทธองค์ทรงเป็นผู้รู้ เผ็นผู้ที่เข้าใจในบุคคลคนนั้น นั่นเอง

หันมามองตัวเรา ตัวเราเองแท้ๆ กิน นอน เสพ ถ่าย อยู่มาตลอดชีวิต เรายังไม่อาจจะเข้าใจตัวเองได้ทั้งหมดเลย เมื่อยังไม่เข้าใจก็ต้องมาศึกษา มาปฏิบัติ เพื่อให้เข้าใจ ดังเช่นพระอริยะที่เข้าใจรู้แจ้งทั้งหมดแล้ว พ้นแล้วจากความสงสัยในสิ่งทั้งปวง พ้นแล้วจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย

ที่ศึกษา ที่ปฏิบัติ ที่เข้าใจ ที่เป็นทัศนะ ของผู้มีปัญญา ทั้งหมดก็เพื่อการหลุดพ้นออกจากสังสารวัฏ ออกจากวนเวียนความทุกข์เท่านั้นเอง หาใช่เพื่อลาถ ยศ ชื่อเสียง หรือต้องการไปเกิดเป็นเทพ เป็นพรหม อรูปพรหม หรือเพื่อให้มีความสุขเลย เพราะสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงไม่ได้มีค่าเหนือไปกว่า "ความทุกข์"เลย

ขออนุโมทนาสาธุกับคุณรุ่งทิวาด้วยครับ ยิ่งคุณปฏิบัติไปเรื่อยๆ คุณจะเห็นความแตกต่าง เห็นระดับ ในตน ในผู้อื่นชัดเจนมากขึ้นๆ อยากจะให้คนอื่นได้รู้ได้เข้าใจเหมือนเรา ซึ่งก็ยากมากๆ ท้ายที่สุดก็จะรู้สึกว่า ที่แท้แล้วก็มีแต่เราเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้ไม่มีอะไร ทุกอย่างเป็นเพียงความว่างเปล่า หาสาระอะไรๆ ไม่ได้เลยหนอ

...เป็นธรรมสังเวช ของโลก ของธรรม และของเราเท่านั้นเอง

 

โดย: ใจพรานธรรม 4 ตุลาคม 2553 0:25:06 น.  

 

นโมตสฺส ภควโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

อรุณสวัสดิ์ยามเช้าคะ
และขออนุโมทนาสำหรับความกรุณาเข้ามาขยายความให้เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรมมากขึ้น
สำหรับเรื่องเพื่อนนั้น ลืมให้ข้อมูลคุณใจพรานธรรมไปว่า เขามี 2 บุคคลิก อยู่ต่อหน้าผู้อื่นจะเป็นอย่างที่เล่า แต่เมื่ออยู่กับรุ่ง หรือคนเดียวจากการสังเกตจะเป็นอีกบุคลิกหนึ่ง
เงียบๆ ไม่พูดหยอกเล่น ในลึกๆแล้วเขาเคยเล่าว่าเขาไม่ต้องการให้ใครรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา และมักทำให้คนรอบข้างเข้าใจตนเองผิดว่า เป็นคนไร้สาระ
เอาล่ะคะ คำถามหลายคำถามที่ผ่านมา รู้สึกจิตใจจะวุ่นวายไปในเรื่องของผู้อื่นเสียมาก ก็คงเป็นธรรมดาที่ยังมีจิตผูกพันกับเพื่อนๆ ผู้คนที่อยู่รายล้อมตัว อยากแบ่งปันสิ่งดีๆให้ ทว่า ควรตรวจสอบก่อนว่าเขาต้องการหรือเปล่า นี้สำคัญ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ อยู่กับตนเอง อยู่กับปัจจุบันประเสริฐสุด ใช้เวลาที่ผ่านไปเพ็งเล็ง สงสัยในการปฏิบัติของผู้อื่น ไม่เกิดประโยชน์อะไรรุ่งเข้าใจว่าอย่างนี้ล่ะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.19.239 4 ตุลาคม 2553 7:25:22 น.  

 

นโมตสฺส ภควโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

สวัสดีอีกครั้งหนึ่งคะ
รุ่งมีคำถามหนึ่งที่จะขอให้คุณใจพรานธรรมช่วยอธิบาย เกี่ยวกับเรื่องการเกิดเป็นมนุษย์ เคยได้ยินมาว่า เป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่คนคนหนึ่งจะได้เกิดเป็นมนุษย์ รุ่งไม่ชัดเจนว่า มันยากอย่างไร และอีกคำพูดหนึ่งที่เคยได้ยินว่า เกิดเป็นมนุษย์มีโอกาสในการสั่งสมบุญบารมี ขัดเกลากิเลสของตนเองได้มากกว่าเทวดาเสียอีก ตรงส่วนนี้ในพระพุทธศาสนามีคำอธิบายไว้ว่าอย่างไรบ้างคะ

ขอขอบพระคุณมากคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.143.11 4 ตุลาคม 2553 10:03:09 น.  

 

ขอนอบน้อมนมัสการ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศรียรเกล้า

ภพภูมิมนุษย์นั้นมีภพเดียวและมีลักษณะจำเพาะเพียงอย่างเดียว
ถ้าคุณรุ่งจะมองภาพภพชาติรวมทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แค่เพียงสัตว์เดรัจฉานแม้เพียงอย่างเดียวก็มีเป็นล้านๆ มีทั้งสัตว์เล็กน้อยใหญ่ มีขา ไม่มีขา มีมากขา สี่เท้า สองเท้า
ยังแยกไปเป็นสัตว์ปีกอีกหลายชนิด สัตว์น้ำอีก สัตว์บกอีก

ข้ามไปนรกก็ยังมีอีกหลายขุม ในแต่ละขุมก็ยังมีปลีกมีย่อยลงไปอีก

ข้ามไปเปรต อสูรกาย ก็ยังมีจำแนกเปรตที่สร้างกรรมมาหนักเบา

ข้ามไปสวรรค์ ก็ยังมีจำแนกไปอีกหกชั้น

ข้ามไปพรหม มีอีกถึง20 ชั้น เป็นอรูปพรหม 4 ชั้น เป็นรูปพรหม 16 ชั้น

ทั้งหมดล้วนเป็นที่เวียนเกิดเวียนตาย จะเห็นว่ามนุษย์ภูมิมีเพียงหนึ่ง ถ้าลองคำนวนแยกเอามาจำแนกทั้งหมดก็นับเป็นแสนเป็นล้านในการเกิดเป็นอย่างนั้นๆ
ข้อแตกต่างประการหนึ่งมนุษย์นั้นเป็นภพที่"สร้าง"กรรมและรับผลของกรรม ต่างจากภพภูมิอื่นที่ต้องรับผลของกรรมเพียงอย่างเดียว เช่นสัตว์นรก หรืออรูปพรหมเป็นต้น
การเกิดมาเป็นมนุษย์จึงได้เปรียบกว่าที่มีรูปขันธ์ครบถ้วนสมบูรณ์ในอันที่จะก่อกรรม ทั้งที่ดีและไม่ดี ประดุจเสมือนดังสนามสอบ ถ้าทำบุญกุศลไว้มากก็ติดอันดับเข้าไปสู่สุคติ ถ้าสอบตกก็ไปอบายภูมิ เทวดาท่านมีร่างขันธ์ที่เป็นสมมติ ต่างจากมนุษย์ที่เป็นธาตุขันธ์อย่างหยาบรู้ชัดเห็นทุกข์สุข มีการเปลี่ยนแปลงในสังขารให้อาจเห็นแจ้งความเป็นจริงตามธรรมคำสั่งสอนได้มากกว่า สามารถที่จะกระทำกิจหน้าที่ ปฏิบัติธรรมด้วยความเพียรของตนๆ ไม่ใช่ด้วยอำนาจฤทธิ์ เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้น เจตนาในกรรมจึงมีมากกว่าได้เปรียบมากกว่าเทวดา เทวดาโดยมากได้บุญแต่เพียงอนุโมทนา และก็หลงเสพติดอยู่ในผลของบุญ เพราะสุขกว่า เป็นสุขที่ละเอียดปราณีตกว่ามนุษย์ จึงยากที่ไม่หลงติด

"อุปสรรค"ในการปฏิบัติธรรมในโลกมนุษย์นั้นมีมากต่างจากสรรค์ พรหม ที่เอื้อเฟื้อมากเกินกว่าที่จะต่อสู้กับอุปสรรค การตั้งใจเพียรเผากิเลสในโลกมนุษย์จึงชัดเจน มีกำลัง และความตั้งอย่างมาก ปัญญาก็จึงมาก ความเพียรก็จึงมาก ธรรมทั้งหลายก็ต้องเรียนรู้เพื่อต่อสู้เพียรเผากิเลสอย่างยิ่งด้วยความอุตสาหะ เมื่อกระทำนั่นล่ะ เขาจึงเรียกว่า "บารมี" มีบารมีด้วยเพราะความต่อสู้กับอุปสรรค จิตจึงแกร่งกว่า มั่นคงกว่า เพราะผ่านรู้เห็นเข้าใจกิเลสได้ทั้งหมด ก็ย่อมละได้ทั้งหมดง่ายกว่า

การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยากเพราะอย่างที่ได้เรียนไปแล้วเราจะไปเกิดเป็นอะไรก็ได้ ในที่ๆเกิด ก็มีตัวเลือกมากมาย แต่ถ้าจะเกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องเป็นมนุษย์อย่างเดียว จะมาเกิดเป็นมนุษย์มีสี่ตา ห้าแขน หรือไปเป็นมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ นั้นไม่ได้ ถ้าจะเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตก็เป็นอย่างนี้ๆ มีสองตา หนึ่งหัว สองแขน มีความคิด มีเหตุมีผล รู้ดีชั่ว เป็นต้น

และที่ยากนั้นก็คือเมื่อทำบุญกุศลบุญก็จะพาไปสู่ที่ๆสูงกว่าดีกว่า ไปเป็นเทวดา เป็นต้น กลับกันถ้าทำบาป กรรมก็จะพาไปอบาย นรกเปรต เป็นต้น

ที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่นั้นจึงยากยิ่งก่อนจะตายจิตกวัดแกว่งหวั่นไหว ก็ย่อมเคลื่นไปตามอำนาจของจิตของกรรมของตนๆ แค่เพียงเศษเสี้ยวครึ่งหนึ่งของความคิดที่จิต ตวัดไป ก็สามารถชักนำพาเราไปเกิดตามอารมณ์ที่จิตนั้นได้รับรู้อย่างง่ายดาย

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์ก็สามารถปฏิบัติธรรมเพื่อลดภพชาติให้สั้นลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ดีกว่าไปเกิดเป็นเทพ เป็นพรหม ไปนั่ง ไปนอนสุขแช่ ร้อยพันล้านแสนปี หมดบุญก็ต้องกลับมาเกิดรับทุกข์ อันหนีไม่พ้นนี้ใหม่ รังแต่จะเนิ่นช้า ยิ่งอยู่นานมากเท่าไหร่ ก็หมายถึงยิ่งต้องรับทุกข์มากไปเรื่อยๆอย่างนั้นๆ

อุปมาดังคนไข้ที่นอนป่วยในห้องอันหรู ประดับด้วยเครื่องใช้สอยทองคำมากมาย มันจะสุขอะไรนักหรือ

ขออนุโมทนาสาธุครับ

 

โดย: ใจพรานธรรม 5 ตุลาคม 2553 0:55:44 น.  

 

ขอขอบพระคุณมากคะ
และขออนุโมทนาสาธุ สำหรับความเมตตาและความกรุณาอธิบายขยายความ ซึ่งรุ่งได้รับความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอในทุกครั้งที่ได้ถามคำถาม หรือจากการพูดคุย

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.150.29 5 ตุลาคม 2553 8:51:18 น.  

 

นโมตสฺสภควโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
สวัสดีคะ คุณใจพรานธรรม

รุ่งสังเกตตัวเองว่าช่วงนี้ เกิดโทสะบ่อย และมีความก้าวร้าวในใจวุ่นวาย ตึงเครียด
คงเป็นผลมาจากการสะสมของโทสะและความเป็นตัวตน
เมตตาเกิดน้อยมากต่อบุคคลรอบข้าง
ยังหาสาเหตุไม่เจอว่าเพราะอะไรคะ และ
ไม่อยากอ้างว่าเป็นเรื่องฮอร์โมนที่มีผลต่ออารมณ์
ไม่อยากอ้างว่าเหนื่อยเรื่องงาน
ไม่อยากอ้างถึงผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม
ไม่อยากอ้างเหตุผลใดๆ เพราะอาจไม่ใช่ความเป็นจริง
ที่เป็นอยู่
แต่รับรู้ได้ว่าตนเองกำลังประมาท แม้ในขณะนี้
จึงขอสอบถามคุณใจพรานธรรมเรื่องความประมาท
ในพระพุทธศาสนากล่าวไว้อย่างไรบ้าง เพื่อพิจารณาดูว่า
รุ่งกำลังประมาทในข้อธรรมใดบ้าง

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.53.102 6 ตุลาคม 2553 17:42:17 น.  

 

นมตสฺส ภควโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
รุ่งพอพบคำตอบบ้างแล้วว่า...ที่เกิดโทสะนั้นเป็นเพราะอะไร
เกิดโทสะที่ตนเองมีโทสะ
เกิดหงุดหงิดในความหงุดหงิดของตัวเอง
ไม่พอใจกับความก้าวร้าวที่มีอยู่ในตน
เกิดโทสะในความโลภ อยากได้ใคร่มีของผู้อื่น
จึงเกิดเป็นความขัดแย้งในใจวุ่นวายอย่างที่อาการปรากฎ
ซึ่งเป็นอยู่บนความประมาททั้งนั้น

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.17.99 6 ตุลาคม 2553 18:51:48 น.  

 


ก่อนอื่น ขอโมทนาต่อการปฏิบัติของคุณใจพรานธรรม
ผมเริ่มปฏิบัติมาจริงจังมา 2 ปีประสบการณ์ ผมเหมือนของคุณ
ใจพรานธรรม 90% ได้ เห็นทุกสิ่งเป็นสมมุติ เสื่อม ทุกข์เท่านั้น
จิตเกิดดับตลอดเวลา หนึ่งขณะจิตนั้นอุปทาน กิเลส ตัณหา
ภพ ชาติอยู่ในนั้นหมด ถ้าละเสียได้อย่างเดียวจบหมด ปัญหาของผมคือ ทรงไว้มั่นคง ไม่ได้ เท่าที่ตรวจดูคือ สมาธิ - สติ กำลังยังอ่อน ส่วนศีล คงไม่ต้องพูดละ เป็นปกติศีล( ศีล 5 )
สรุป ขอคำชี้แนะว่าจะคงผลขอสภาวะธรรมนั้นๆ( เหมือนของคุณ ) ไว้ได้อย่างไร

ขอบคุณครับ

 

โดย: อ้วน IP: 110.49.205.162 8 ตุลาคม 2553 21:16:09 น.  

 

พระพุทธ คือ รากแก้วและลำต้น
พระธรรม คือ กิ่งและใบ
พระอริยสงฆ์ คือ ผลและเมล็ด

ธรรม มีอยู่ทุกมุมโลก มีอยู่เกลื่อนโลก ทุกที่ ทุกเวลาคือธรรม

ขอนอบน้อมพระธรรมที่ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดีแล้ว

 

โดย: อ้วน IP: 110.49.205.162 8 ตุลาคม 2553 21:26:05 น.  

 

นโมตสฺส ภควโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

วันนี้รุ่งประมาทในศีลอีกแล้ว
ที่เป็นสาเหตุให้งูตัวหนึ่งต้องตาย
เพราะตนเองบังเอิญเห็นงู กำลังกินคางคก อยู่หน้า office ด้วยความกลัวงูตัวนั้นจะไปกัดทำร้ายคนอื่นๆ รุ่งกับเพื่อนๆจึงตัดสินใจบอกให้เพื่อนผู้ชายมาจัดการ
เพื่อนผู้ชายนั้นเอาไม้มาตีงูเห่าตัวนั้นจนตาย

รู้สึกสะเทือนใจมาก ที่รุ่งเป็นสาเหตุให้เพื่อนชายต้องทำบาปและทำให้งูต้องเจ็บปวดเสียชีวิตไป

แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ลงมือกระทำเองก็ตาม แต่ก็เหมือนลงมือตีงูตัวนั้นด้วยตนเอง

ปกติที่ผ่านมาถ้าเห็นงูรุ่งจะหลีกหนีไปที่อื่น ไม่เอ่ยถึงให้ใครรับรู้ เพราะต้องมีการจัดการอะไรแบบนี้ และด้วยความเชื่อที่ว่า สัตว์กลัวมนุษย์และจะไม่ทำร้ายใครก่อน ถ้าไม่กล้วอันตราย สัตว์กับเราก็ไม่แตกต่างกัน แต่คราวนี้รุ่งประมาทไปมากจริงๆ

ได้แต่ระลึกถึงความรู้สึก ในปัจจุบัน และปล่อยวางทำได้แค่นั้น

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.1.88 9 ตุลาคม 2553 15:02:49 น.  

 

ซึ่งรุ่งต้องขอรับคำแนะนำจากคุณใจพรานธรรมว่า
หากเจอสถานการณ์เช่นนี้อีก รุ่งควรจะทำอย่างไรดี
ที่ไม่ต้องมีการทำร้ายงู และทุกคนปลอดภัยพ้นจากการทำอกุศลกรรม และไม่ประมาทในการรักษาศีล

ขอขอบพระคุณมากคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 113.53.1.88 9 ตุลาคม 2553 15:37:46 น.  

 


ต้องขออภัยอย่างสูงครับ อยากจะตอบตั้งนาน แต่ติดที่หน้าที่การงาน แต่ก็เกรงว่าจะไม่ครบถ้วนตามเนื้อความ ต้องขออภัยด้วยครับ

สำหรับคุณอ้วนนั้น ขอเรียนว่าตราบใดที่เรานั้นยังไม่สามารถทำลายกิเลสได้ ไม่มีทางที่จิตนี้จะสงบมั่นคงได้ตลอดไปหรอกครับเพราะจิตนี้ก็ไม่เที่ยง มีตั้งมั่น เกิดขึ้น ตั้ง และดับไป แต่จะพอข่มระงับได้ก็ได้เพียงชั่วครั้งคราวด้วยสมาธิ ผมเองนั้นก็หวั่นไหวบ้างตามประสาคนมีกิเลส
แต่หากมีศรัทธาอยู่ได้ ความมั่นคงในธรรมก็คงอยู่ได้สืบไป เพราะธรรมทั้งหลายอาศัยศรัทธาเป็นแกนนำ ขาดศรัทธาเสียแล้วแม้มีปัญญามาก ก็ไร้ซึ่งประโยชน์ เหมือนรถที่ขาดน้ำมัน ย่อมดำเนินขับเคลื่อนไปไม่ได้เลย
ขออนุโมทนาสาธุครับ

สำหรับคุณรุ่งทิวา เราต้องฉลาดในเรื่องกรรมครับ บางเรื่องที่เรานั้นช่วยได้ก็ควรช่วย แต่ที่ไม่สามารถช่วยได้ก็ให้รู้ว่าเป็นผลของกรรม มีสำนวนว่าไว้ "เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด"
ถ้าเจอเหตุการณ์นี้อีก ก็ให้เฉลียวจิตใจ ดูซิว่ามีกิจที่ควรทำอย่างไร ธรรมดาคนที่มักโกรธอาฆาตเป็นพาล เมื่อเขาตายเขาก็อาจย่อมไปเกิดเป็นสัตว์ร้ายด้วยจิตที่เป็นโทสะนำไป เกิดเป็นสัตว์มีพิษบ้าง เป็นสัตว์มีกำลังชอบกินเนื้อฆ่าสัตว์อื่นมาเพื่อตน เราเห็นสัตว์ทั้งหลายสิ่งแรกที่ควรเข้าใจคือ เขานั้นมากด้วยโมหะคือไม่รู้ จึงต้องระวังในการช่วยเหลือ ที่จะไม่ให้เกิดโทษแก่เราด้วย ขึ้นชื่อว่าพาล ย่อมทำความเสียหายในประโยชน์ทั้งสิ้น
มองเห็นงูหรือสัตว์ร้ายมีพิษ ก็ให้ประดุจเห็นเหมือนว่าเป็นคนพาล ถามตนเองว่าจะมีทางใดบ้างล่ะที่จะช่วยปลดปล่อยความเป็นพาลแก่เขาได้ ซึ่งก็ต้องขอตอบว่ายากมาก เว้นแต่ตนจะเป็นผู้ที่สามารถอบรมสั่งสอนได้ รู้จิตของสัตว์ได้ ซึ่งก็ยากในหมู่เราท่านที่จะทำได้ และสัตว์พวกนี้โดยมากก็มักถูกตีทำร้ายจนตาย ไม่ใช่เพราะเขามีพิษหรือเป็นอันตราย แต่สาเหตุเริ่มต้นของกรรมจริงๆคือการเป็นพาลของเขาในอดีตนั่นเอง ที่เคยทำร้ายผู้อื่นเห็นเป็นศัตรูจึงได้นำเกิดมาเป็นสัตว์ร้าย คนบางคนจึงเห็นเป็นศัตรูจึงได้กระทำการดังกล่าว

ถ้าเจออีกครั้งก็ขอให้คิดเป็นกรรมของสัตว์ คางคกตนนั้นก็ได้เคยกระทำอย่างนี้ เคยฆ่ากินทำร้ายแมลงอย่างนั้นๆ ผลกรรมนั้นจึงได้ทำให้ได้รับผลอย่างนี้
จากนั้นก็ให้แผ่เมตตาไปที่งูและคางคก ว่าสัตว์เอ๋ยขอท่านอย่าได้เบียดเบียนกันเลย ที่ท่านได้เกิดมาเป็นสัตว์นี้ก็ลำบากพอตัวอยู่แล้ว ยิ่งจะเพิ่มกรรมทุกข์ต่อไป ก็จะมีแต่ความทุกข์มากขึ้นๆ ท่านกระทำกรรมใดๆแล้ว ผลของกรรมนั้นแลจะเป็นสิ่งที่ท่านพึงได้รับในกรรมนั้นๆด้วยตัวของท่านเอง
แล้ววางจิตให้เป็น......อุเบกขาเสีย
ถ้าสัตว์นั้นได้ตายลง ให้เห็นความตายของสัตว์นั้นว่า แม้เราก็ไม่พ้นความตายไปเช่นกัน สัตว์ที่จะเกิดมาแล้วไม่ตายย่อมไม่มีเลย

ผมลองๆค้นหาข้อมูล เค้าว่ามันไม่ชอบน้ำมันเครื่อง คงอาจเป็นเพราะสารเคมีหรือกลิ่น อาจลองนำไปใช้ก็ได้นะครับ
แต่ก็รู้ว่ายาก แต่ถ้าไม่มีทางเลี่ยงจริงๆในกรณีที่ถูกทำร้าย ไม่รู้ คำว่า "ความจำเป็น" มีน้ำหนักพอที่จะอ้างในเรื่องกรรมได้มากสักแค่ใหนเหมือนกัน

 

โดย: ใจพรานธรรม 16 ตุลาคม 2553 23:58:29 น.  

 

ขอขอบพระคุณมากคะคุณใจพรานธรรม
จากที่อ่านทำให้รู้ว่า ในแต่ละขณะหากมีสติระลึกรู้เกิดขึ้น ใจก็เป็นไปในทางกุศลได้ และควรฉลาดเรื่องของกรรมที่มีเหตุและปัจจัย แต่ละคนมีกรรมของตนต้องรับผิดชอบกรรมของตนเอง

ขออนุโมทนาบุญด้วยคะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 118.173.148.212 18 ตุลาคม 2553 8:55:36 น.  

 

งานทอดกฐินที่ผ่านมามีเรื่องที่ทำให้ประหลาดใจ พระเจ้าอาวาส องค์เก่าท่านได้มรณะภาพไปนานแล้วได้มาเข้าร่างของเจ้าภาพ มาว่าบอกกล่าวญาติโยม ถึงเรื่องเก่าๆๆในอดีตที่มีโยมโกงเงินวัดไป แล้วบอกให้ทำความสะอาดรูปเหมือนของท่านและกุฎิที่ท่านเคยพักอยู่ เป็นไปได้ไม๊คะมันเป็นเรื่องเล่าเมื่องานกฐิน ถ้าเราได้ยินเราควรใช้ธรรมมะข้อใดพิจารณาให้เกิดปัญญาดีคะ ช่วยชี้แนะด้วยคะ

 

โดย: ปติมา IP: 118.172.245.34 16 พฤศจิกายน 2553 10:35:11 น.  

 

เป็นไปได้ครับ
พระเจ้าอาวาสรูปนี้ เมื่อครั้งมีชีวิตท่านคงเป็นพระนักสร้าง มากกว่าเป็นพระปฏิบัติ
ไม่ว่าใครๆเมื่อมีความผูกพันกับสิ่งใดๆ จิตก็ย่อมเกาะเกี่ยวผูกพันกับสิ่งๆนั้น เมื่อตายจิตที่ดับไปด้วยอำนาจของโลภะยินดีติดใจก็ย่อมนำไปเกิดในที่ๆนั้น ห้องนั้นบ้างๆ บ้าน ที่ดินนั้นๆบ้าง รถ เรือนบ้าง ที่อาศัยของพระรูปนี้ก็เป็นรูปเหมือนของท่านที่เค้าสร้างถวาย เป็นกุฏิที่ท่านเคยพักบ้าน ทั้งติดในทรัพย์ที่ถูกโกงนั้นด้วย

ก็ให้พิจารณาให้เห็นว่าแม้ท่านนั้นได้บวชเป็นพระแล้ว แต่หากไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้ปล่อยวาง ไม่ได้เจริญปัญญา ไม่อาจลด ไม่อาจละ ไม่อาจทำลายกิเลสได้ หากมีความยินดีติดใจ พอใจ ด้วยอำนาจของกิเลส ด้วยอำนาจของตัณหา จิตที่เศร้าหมองนี้เมื่อตายไปก็ย่อมนำพาไปสู่ทุคติภูมิอันเศร้าหมอง
แม้เราเองหากเป็นเช่นเดียวกันกับท่าน ก็ย่อมไม่พ้นไปอย่างนี้ เราจึงควรเร่งความเพียร เจริญสติ เจริญปัญญา ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ทั้งปวงจนเกินไป รู้จักปล่อยวางเข้าใจในเรื่องกรรม ในเรื่องผลของกรรม ให้จิตนี้ไม่เศร้าหมอง ให้จิตนี้ผ่องใส นำพาไปสู่สุคติ จนถึงที่สุดแห่งความพ้นทุกข์ได้..

ขออนุโมทนาสาธุครับ

 

โดย: ใจพรานธรรม 16 พฤศจิกายน 2553 23:23:38 น.  

 

ขอบคุณสำหรับคำตอบคะ
ทุกวันนี้เราต้องทำงานเพื่อครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบทำให้เราละวางสิ่งที่มีอยู่และทำอยู่ให้เบาบางได้ยากมาก ควรเริ่มต้นจากสิ่งใหนก่อนดีคะ โดยเฉพาะครอบครัวและภาระที่เราแบกไว้ มากมายรวมทั้งปัญหา หนี้สิน อื่นๆๆอีกมากมาย บางครั้งก็เบื่อ แต่มันหยุดทำไม่ได้ทำให้เครียดจนหาความสุขไม่ได้ มันเป็นกรรมอย่างหนึ่งรึเปล่าคะ

 

โดย: ปติมา IP: 118.172.252.44 17 พฤศจิกายน 2553 12:21:52 น.  

 

ทำไปเถอะครับ ต่อสู้มันไปกับชีวิตนี้ ให้มันลำบากแต่เพียงกายก็พอ อย่าไปทำให้มันลำบากใจ การปล่อยวาง การยึดถือนั้นมันเป็นส่วนของเรา ทรัพย์ งาน ภาระหน้าที่ หรืออื่นๆสิ่งต่างๆนี้เค้าไม่ได้บอกเราเลยว่าเราต้องยึดติดกับเขาเลย เขาไม่เคยบอกว่าต้องอยู่เพื่อเขา ต้องเครียดกับเขา

มันเป็นสิทธิ เป็นอำนาจส่วนตัวของเราที่เราจะยึดจะปล่อย จะรู้จักประมาณตนเอง รู้จักความพอเพียง
ต่อให้เราเครียดจนบ้า หรือสุขจนหลงระเริง มันก็เป็นธรรมดาของโลกอยู่อย่างนั้น การปล่อยวางไม่ใช่ทอดทิ้ง แต่เป็นการไม่ยึดถือเอาในสิ่งที่เป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา เครียดมันเป็นโทษ เราก็ปล่อยวาง สุขก็อาจหลงระเริงขาดสติ เราก็ปล่อยวาง ความวางเฉยเห็นเป็นธรรมดาของโลกเราตายไปอีกกี่ร้อยพันล้านปี มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ เป็นธรรมดาอย่างนี้

เมื่อจะหันตนเองเข้ามาสู่ร่มเงาอันอุ่นเย็นในพระพุทธศาสนา ก็ให้เห็นโลกเป็นเพียง"ของเล่น"ของชีวิต ของเล่นนี้เราก็เล่นสนุกๆ เราไม่เคยไปคิดจริงๆจังๆว่าเป็นของจริงๆเลยใช่ไหม เมื่ออยู่กับโลกเราก็ให้เห็นเป็นอย่างนั้น จะไปจริงจังอะไรมากกับโลกเขาไม่ได้ เขาไม่ได้มีอะไรให้ยึดถืออย่างแน่นอนมั่นคง เขามีแต่ความเปลี่ยนแปลง มีแต่ความทุกข์ เมื่อเราเห็นสมมติอยู่ว่าเป็น"ของเล่น" ใจเราก็จะพอมีความสุขอยู่ได้บ้าง จะทำงานก็ให้เห็นว่างานก็เป็นสมมติว่าเป็นของเล่นเป็นเกมสนุกๆเบาๆสมอง จะได้ทำงานอย่างสนุกมีความสุข ครอบครัวก็เห็นว่าเป็นของเล่นชิ้นรักของเรา เราจะได้ดูแลครอบครัวอย่างมีความสุข
...คงไม่มีใครเล่นของเล่นแล้วมีใจมีความทุกข์หรอกว่าไหม

ผมอุปมาวิธีนี้แค่เป็นอุบายวิธีหนึ่งในทางโลกเท่านั้น
แท้จริงมีวิธีอื่นอีกมาก ในทางธรรม แต่เห็นว่าจิตของคุณอาจยังไม่พร้อมถึงตรงนั้น หากสงสัยหรือเห็นว่ามีความสมควรก็จะขอให้คุณปติมาบอกกล่าวหรือตั้งคำถามเพิ่มเติมได้เสมอครับ
ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

 

โดย: ใจพรานธรรม 17 พฤศจิกายน 2553 15:14:01 น.  

 

ขอบคุณสำหรับกำลังใจในการให้ถึงธรรมคะ ประทับใจในคำชี้แนะนะคะ กำลังพยายามจะหาเวลาที่จะพาตัวเองให้ไปถึงจุดที่หวังว่าธรรมจะช่วยให้พบหนทาง ในชีวิตได้บ้างในเวลาไม่ช้าก็เร็ว คงต้องฝึกจิตตัวเองให้มากกว่านี้โดยการฟังเพื่อนำไปสู่การ ลงมือปติบัติให้ตัวเองสงบนะคะ
ชีวิตมันน่าเบื่อแต่เราก็ต้องทนใช่ใม๊

 

โดย: ปติมา IP: 125.27.4.52 17 พฤศจิกายน 2553 16:02:07 น.  

 

ครับ แต่ก็น่าแปลกไหมที่เราทำไมไม่เคย"เบื่อ" ความน่าเบื่อนี้เลย

เราเบื่อสิ่งใดเราก็ต้องพยายามออกจากสิ่งนั้น แต่ความน่าเบื่อ ทั้งๆที่มันน่าเบื่อ แต่เราก็ยังติดความเบื่อ ทำเรายิ่งเบื่อ ยิ่งเบื่อมากเท่าใหร่ ก็ยิ่งติดความน่าเบื่อ ทำให้เบื่อมากขึ้น

พระพุทธเจ้าท่านก็เบื่อ พระองค์ท่านไม่เบื่อเพียงอย่างเดียว แต่ทรงหน่ายด้วย จึงพ้นได้

ส่วนเราเบื่อ แต่ก็ไม่เคยหน่ายเลย...จึงต้องทน(ทุกข์)กันต่อไป

 

โดย: ใจพรานธรรม 18 พฤศจิกายน 2553 13:18:59 น.  

 

สาธุ สาธุ สาธุ กำลังชดใช้กรรมอยู่คะ

 

โดย: ปติมา IP: 118.172.245.6 19 พฤศจิกายน 2553 9:12:02 น.  

 

สวัสดีตอนเช้า ๆ ครับ ไม่ได้แวะมาเยี่ยมเสียนาน สบายดีน่ะครับ

 

โดย: อัสติสะ 23 ธันวาคม 2553 8:22:28 น.  

 

แวะมาอ่านจร้า bigeye

 

โดย: CIA (tewtor ) 14 เมษายน 2554 0:29:05 น.  

 

ขอสวัสดีคุณพรานใจธรรมและสหายธรรมทุกท่านค่ะ
นานมากทีเดียวที่ไม่ได้เข้ามาสอบถามปัญหาธรรมะ
แต่ก็ได้ศึกษาสมควรกับโอกาสและเวลาด้วยการอ่านและการฟัง และการพิจารณาในชีวิตประจำวัน ตอนนี้กำลังพยายามหาหนังสือที่รวบรวมพุทวจนของพระพุทธเจ้า มาเพื่อศึกษา ทราบว่าหลวงพ่อพุทธทาส(วัดสวนโมกข์)ได้พยายามรวมรวมไว้ส่วนหนึ่ง จึงขอสอบถามคุณพรานใจธรรมและสหายธรรมท่านอื่นๆ ว่าหนังสือที่รวบรวมพุทวจน(ธรรมและวินัย)ดังกล่าวมีอยู่ในที่ใดบ้าง

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 182.53.176.155 18 สิงหาคม 2554 11:08:45 น.  

 


//www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y10928842/Y10928842.html

ลองอ่านและพิจารณาด้วยปัญญาดูนะครับ
ขออนุโมทนาสาธุๆ

 

โดย: ใจพรานธรรม 21 สิงหาคม 2554 0:26:39 น.  

 

ขอพระคุณมากค่ะ

 

โดย: รุ่งทิวา IP: 182.53.187.151 22 สิงหาคม 2554 11:40:03 น.  

 

ขอฝากคำถามด้วยค่ะ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานศพ งานศพควรจัดกี่วัน 3 วัน,5 วัน,7 วัน หรือวันเดียว (ศาสนาพุทธค่ะ) การเก็บศพ100วัน การฝัง,การเผา เหล่านี้(หากตัดเรื่องกำลังทรัพย์ออกไป) ในด้านของอานิสงฆ์ผลบุญแตกต่างกันมากน้อยอย่างไร สิ่งที่คนไปงานศพจะได้รับ ,สิ่งที่คนตาย หรือ ญาติจะได้รับ ดิฉันไปงานศพมามาก บางงานสวด 3 วัน บางงาน7 วัน เลยทำให้คิดว่า 3 วันจะได้บุญน้อยกว่า7วันหรือไม่ การบวชหน้าไฟ ถ้ามีคนบวชให้ 1 คนกับ 3 คนได้บุญต่างกันหรือไม่บางงานเห็นเด็กไม่เต็มใจบวชแต่ขัดพ่อแม่ไม่ได้ก็มีดิฉันถามเพราะรู้สึกว่าแก่นแท้ของการจัดงานศพในสังคมปัจจุบันน้อยคนนักที่จะเข้าใจ รวมทั้งตัวดิฉันเองซึ่งเคยคิดว่าเข้าใจแต่เอาเข้าจริงๆงานศพปัจจุบันทำให้ดิฉันคิดว่า โลกมันเปลี่ยน หรือเรากันแน่ที่ไม่เข้าใจ

 

โดย: ไข่นุ้ย IP: 115.67.129.94 23 สิงหาคม 2555 9:13:22 น.  

 

ในด้านบุญกุศลถ้าทำถูกต้อง ยิ่งหลายวันยิ่งดีครับหมื่นวันพันวันก็ได้หรือนาทีเดียวก็ได้ ขอให้ถูกต้อง

แต่ที่จัดกัน3 5 7 ก็ขึ้นอยู่กับญาติ ที่จัดนานหลายวันก็เพื่อให้โอกาสหมู่ญาติได้มาร่วมธรรมสังเวช ญาติน้อยก็น้อยวัน ญาติมากก็หลายวัน หรือมีศรัทธา มีกำลังทรัพย์มากก็จัดหลายวัน หรือน้อยวัน ตามกำลังทรัพย์กำลังศรัทธาก็ตามแต่

ส่วนการบวชหน้าไฟ ถ้าเด็กไม่ศรัทธาก็ได้อานิสงส์แค่เพียงสืบทอดพระพุทธศาสนา
แต่ถ้าเด็กมีศรัทธา ก็ได้อานิสงส์เพิ่มขึ้นในฐานะเป็นแบบอย่างที่ดี และทำให้ผู้อื่นเกิดความเลื่อมใสในพระัพุทธศาสนา เพราะได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า


แก่นแท้ การจัดงานศพนั้นก็เพื่อ
๑.เพื่ออุทิศบุญกุศลไปให้ผู้ตาย
๒.เป็นมรณานุสติแก่หมู่ญาติ
เพียงสองข้อนี้เท่านั้นเอง

-------------------------------------------------
ทีนี้จะขอนอกเรื่อง
ผมเคยถามผู้มีจิตสมาธิ เรื่องของการจัดงาน 3วัน 7วัน 100วัน

ท่านกล่าวว่า ผู้ตายนั้น วิญญาณเค้าจะยังไม่รู้ตัว ว่าตัวเองตาย บางคนยังวนๆเวียนๆเหมือนว่าตนเองยังมีชีวิต คิดว่ายังไม่ตาย
จึงต้องใช้เวลา 3 5 7 วันเพื่ออาจให้ได้เกิดสำนึกว่าตนนั้นตายไปแล้ว
ส่วน100วันนั้น ท่านกล่าวว่า ดวงวิญญาณจะกลับมาขอรับส่วนบุญจากหมู่ญาติ
หากว่าวิญญาณไปเกิดในภพบางประเภท

***ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลนะครับ

 

โดย: ใจพรานธรรม 9 ตุลาคม 2555 16:19:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ใจพรานธรรม
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




มีหลายเรื่องที่ควรสงสัย แต่เราไม่สงสัยในสิ่งต่างๆนั้นแล้ว
เราศรัทธาแต่ในพระรัตนตรัย

..แม้เทวดา มารหรือพรหม จะมีหรือไม่มีอยู่จริง
เราก็มีธรรม มีปัญญารู้ในสิ่งต่างๆนั้นด้วยตนเองแล้ว
ทั้งปัญญา ทั้งศรัทธา เป็นสิ่งที่ท่านต้องสร้างให้เกิดขึ้นเอง
ใครสร้างท่านไม่ได้

พระพุทธเจ้า พระองค์ดุจผู้บอกทางให้เท่านั้น
จะเดินหรือไม่ เรามิได้กล่าวโทษตำหนิท่านแต่อย่างใดเลย
ท่านเชื่อ ท่านก็เดิน ท่านไม่เชื่อก็ควรแล้ว ที่ท่านจะสงสัยควรแล้วที่ท่านจะปฏิบัติ เพื่อคลายความสงสัยนั้น
S! Radio
Express 4
เพลง ทานตะวัน ---ฟอร์ด
ศิลปิน รวมศิลปิน : Express
อัลบั้ม Express 4
ดูเนื้อเพลงคัดลอกโค้ดเพลงนี้
ขอบคุณ code และ ภาพ จากคุณ aggie_nan ตามลิงค์ที่อยู่ ด้านล่างครับ
Friends' blogs
[Add ใจพรานธรรม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.