Group Blog
 
 
กันยายน 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
14 กันยายน 2548
 
All Blogs
 
เสียมราฐ นครวัด นครธม




ได้มีโอกาสไปเยือนนครวัด นครธมมาเมื่อเดือนที่แล้ว เลยเรียบเรียงไว้ เพราะประทับใจมาก เลยนำมาเขียนไว้ในไดอะรี่ ฝากให้เพื่อนๆค่ะ กันลืมด้วย

ก่อนที่จะไป กลัวเหมือนกัน เพราะสมัยเป็นนักศึกษา ได้ยินข่าวชาวต่างชาติโดนลักพาตัวบ่อยๆ
แต่นั่นมันเกือบสิบกว่าปีมาแล้ว หาหนังสือมาอ่าน หาข้อมูลก่อนไปพอสมควร

ไปกันเอง ไม่ได้ไปกับทัวร์เพราะพ่อบ้าน เคยไปมา สามครั้งแล้ว เลยจัดตารางเที่ยวกันจะได้สบายหน่อยค่ะ เพราะมีเด็กๆไปด้วย






เพิ่งมีเวลาเอามาให้อ่าน หาเวลาและ ย่อรูปเขียนไม่ค่อยจะได้ค่ะ เลยกว่าจะเสร็จ มาให้อ่านต้องใช้เวลานานหน่อย พิมพ์ผิดตรงไหน เพื่อนๆผู้อ่านช่วยแก้ให้ด้วยนะคะ

เที่ยวเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

การเดินทาง

เดินทางไปโดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ออกจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ระยะเวลาในการเดินทางก็ราวๆ 45 นาทีเท่านั้น หรือคุณจะไปโดยทางรถบัสก็ได้ค่ะ ที่ถนนข้าวสารมีทัวร์หลายที่เสนอขายตั๋วรถบัสไปยังเมืองเสียมราฐ ราคาถูกกว่าเดินทางโดยเครื่องบินมาก แต่เรามีเด็กๆไปด้วยเลยเดินทางโดยเครื่องบินดีกว่า
ท่าอากาศยานของเขานั้นเล็กมาก เมื่อพวกเราไปถึง ต้องกรอกเอกสารเข้าเมือง คล้ายๆ ใบกรอก ตม. ของไทย และซื้อวีซ่าตรงนั้นเลย ผู้ใหญ่ คนละ 20 ดอลล่าร์อเมริกันค่ะ เด็กอายุตำกว่า 12 ปีไม่ต้องเสีย
( ต้องขอเตือนนิดหนึ่ง ขาออกต้องจ่ายเงินในการเดินทางออกจากราชอาณาจักรเขมรด้วยนะคะ คราวนี้ ผู้ใหญ่เสียคนละ 25 ดอลล่าร์ และเด็กต้องเสียด้วยคนละ 13 ดอลล่าร์ด้วย ซึ่งสร้างความไม่พึงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนทีเดียว บางคนบอกนี่ล่ะ เมืองคอรัปชั่น เพราะตอนเดินทางเข้าไม่มีป้ายบอกว่าขาออกต้องเสียอีก เราก็โมโหเหมือนกัน เพราะ เงินดอลล่าร์เราหมด มีแต่เช็ค หาที่แลกใกล้ๆไม่ได้ ดีที่ยายหนู ลูกสาวมีเงินดอลล่าร์อเมริกันเหลือ และคุณย่า มีอีกนิดหน่อย เลยผสมกันได้จนครบ เราไม่โวยวายนะ เดินไปบอกที่เคาน์เต้อร์ของสายการบิน เขาบอกว่าเราต้องกรอกใบประเมิณ แต่เขาหาใบประเมิณของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการบริการของท่าอากาศยานไม่ได้ เลยแนะนำเราว่าให้เราไปบอกหัวหน้าเขาเลยดีกว่า เขาเป็นแค่ลูกน้อง มิบังอาจไปบอกเรื่องนี้เดี๋ยวมิสบอารมณ์เจ้านาย เขาจะแย่ เราเลยบอกหัวหน้าแผนกเขา บอกว่าชอบเมืองเขมรมากไม่อยากให้เขาเสียภาพพจน์ในเรื่องนี้ เขารับฟังนะ ตอนแรกหน้าหงิกเชียว พอเราชมเขามากๆแล้วติทีหลัง เขาเลยไม่ค่อยทำหน้าดุ แล้วบอกว่าจะให้ทำป้ายบอกนักท่องเที่ยวเรื่องนี้ ติดไว้ในส่วนที่นักท่องเที่ยวเข้ามาตอนแรก )

เมื่อตรวจเอกสารเสร็จเราก็เดินออกมาหน้าท่าอากาศยาน เขาจะมีคิวรถแท็กซี่จัดไว้ คนจัดคิวเลือกรถแวนให้เราเนื่องจากสัมภาระเยอะ ค่ารถไปในเมืองรวมกับขับตระเวณหาโรงแรม เกสต์เฮ้าส์หลายแห่งรวมทั้งหมด 6 ดอลล่าร์ค่ะ ซึ่งเราใช้ระบบขอดูห้องก่อน ไม่ถูกใจก็ไปที่อื่น คุณต้องเข้าไปดูในห้องนะคะ อย่าดูแต่ภายนอก
จนได้ของซากุระวิล่าร์ซึ่งต่อได้ห้องละ 20 ดอลล่าร์ต่อคืน โล่ง สะอาดไม่มีพรม เราชอบโรงแรมที่ไม่มีพรม โล่งๆ มีพรมปูพื้นจะเหม็นอับ และ มีบริการอินเตอร์เน็ต ชม.ละ 1 ดอลล่าร์
มีเกสต์เฮ้าส์สวยๆแค่ 15 ดอลล่าร์รอบๆเสียมราฐด้วยค่ะ แต่ตอนนั้นเขาไม่มีห้องว่างเลยต้องมาอยู่ซากุระ ใกล้ๆตลาดเก่าแทน

ที่นี่มีโรงแรมและเกสต์เฮ้าส์ให้เลือกมากจริงๆ หากคุณโชคดีมาในช่วงนักท่องเที่ยวไม่เยอะอาจประหยัดค่าที่พักโดยไปพักตามเกสต์เฮ้าส์สะอาด ถูกๆได้ค่ะ อย่าลืมนะคะ ราคานั้นต่อรองได้ค่ะ หากคุณพักอยู่กันหลายห้องและหลายคืน ยิ่งมาเป็นกลุ่มได้ยิ่งดีเฉลี่ยค่าห้อง ค่าเที่ยว ค่ารถ ดีออก

รู้จักกัมพูชาโดยสังเขปค่ะ


กัมพูชา หรือ เขมร หนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน มีชื่อเรียกเต็ม ๆ อย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Combodia) มีพื้นที่ 181,035 ตร.กม. มีพรมแดนทิศเหนือกับตะวันตกติดประเทศ ไทยบริเวณ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด ทิศใต้ติดอ่าวไทย ทิศตะวันออกและ ทิศใต้บางส่วนติดประเทศเวียดนาม ทิศเหนือติดประเทศลาว

ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย มีพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมเป็นประมุข และนาย ฮุนเซน เป็นนายกรัฐมนตรี

เมืองหลวงคือ กรุงพนมเปญ

90 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร เป็นคนเชื้อ สายเขมร และ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นชนชาติอื่นที่ตั้งรกรากอยู่ใน กัมพูชา อาทิ เวียดนาม จีน และมุสลิมเชื้อสายจาม ตลอดจนชนกลุ่ม น้อยซึ่งเป็น ชาวเขาเผ่า ต่าง ๆ ประชากรส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท


หน่วยเงิน

ชาวเขมรใช้เงิน เรียว เงินดอลล่าร์อเมริกัน 1 ดอลล่าร์ เท่ากับ 4000เรียล
บางแห่งใช้เงินไทยได้แต่ เขารับแต่ธนบัตร หลักร้อยขึ้นไปค่ะ เงินเหรียญไม่เห็นยอมรับเลย


เมืองเสียมราฐ ( Siem Reap)

เป็นเมืองสำคัญเนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งของปราสาทนครวัด นครธมอันเลื่องชื่อ ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงเมืองนี้ด้วยนะคะ

ตลาดแห่งเมืองเสียมราฐ มีทั้งตลาดใหม่และตลาดเก่าค่ะ



ตลาดใหม่ ( Psah Loe) นั้นน่าสนใจมาก กว้างใหญ่อยู่ติดถนน เราชอบเนื่องจากคล้ายตลาดสดของไทย มีเครื่องเทศ ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ผัก ผลไม้ขาย กล้วยทอด ฝักบัวเราให้คิม คนขับรถแท็กซี่ พาไปเกือบทุกวัน เนื่องจากชอบซื้อ ผลไม้ เช่น แก้วมังกร มารับประทาน นอกจากนี้มีมังคุด กล้วยไข่ น้อยหน่าจากเมืองไทยวางขายที่ทราบว่ามาจากเมืองไทยเพราะบางเข่งมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยถูกขยำใส่ไว้ในเข่งไม่ให้ผลไม้ช้ำวางรองอยู่ จะขอแม่ค้าไปอ่านก็ เกรงใจแม่ค้าเขมร

ตลาดเก่า( Psah Chah) ใกล้ๆที่เราพัก ค่อนข้างเงียบ ตลาดนี้ได้ถูกเขมรแดงภายใต้การนำของ นาย พล พต ทำลาย ปัจจุบันนี้มีร้านรวงมากมายขายสิ่งของที่ระลึก เครื่องเงินแก่นักท่องเที่ยว พาหนะ

มีสามล้อตุ๊กตุ๊ก ( TUk Tuk) บริการระยะใกล้ๆต้องต่อราคา ไกลหน่อย ก็ราว 1 ดอลล่าร์ หากเช่าทั้งวัน ก็ 7-10 ดอลล่าร์ สมัยก่อนเขามีสามล้อถีบ เรียกว่า cyclo ตอนเราไปไม่เห็นเลย เห็นแต่ตุ๊กตุ๊ก
ส่วนพวกเราใช้บริการเช่าแท็กซี่พร้อมคนขับ 20 ดอลล่าร์ต่อ 24 ชั่วโมง ซึ่งเขาจะพาเราไปทั่วเท่าที่เราต้องการ หากไปเที่ยวกันเป็นกลุ่มหลายคน หารกันออกคงคุ้มค่ะ


หากออกจากเขตุเสียมราฐ ต้องจ่ายเพิ่ม เราไปเมืองบันทายศรีต่อ ซึ่งขับออกจากเมืองเสียมราฐอีก 21 กม.เพื่อชมวัด และภูมิประเทศนอกเมือง จ่ายค่าน้ำมันเพิ่มอีก 10 ดอลล่าร์ค่ะ รวมเป็น 30 ดอลล่าร์ค่ะ


Siem Reap River

แม่น้ำสายเล็กๆที่ไหลผ่านเมืองเสียมราฐ ในตัวเมืองจะมีที่ตั้งของพรรคการเมือง สถานที่ราชการอยู่ริมแม่น้ำ หากเดินออกมารอบนอกหน่อยจะเห็นบ้านเรือนที่ปลูกริมน้ำรายเรียง ตอนเราไปเดือนกรกฏาคม น้ำแดง ขุ่นคลั่กมากเลย

อาหาร

โดยมากอาหารไทยและเขมรนั้นคล้ายกันมาก ในภัตราคารหลายแห่งมีเมนูอาหารไทยด้วย อาหารพวกต้มๆ ผัดๆนั้นทานได้เพราะรสและส่วนประกอบคล้ายกัน หากไม่ถูกปากปรุงรสได้ มีนำปลาไทย ซอสพริกจากเมืองไทยวางบนโต๊ะเกลื่อนค่ะ
ที่น่าสนใจคือบาร์บีคิวแบบเขมร หากไปอย่าลืมแวะรับประทานนะคะ


มีชาวไทยไปเปิดบริการร้านอาหารที่นั่นมากเช่นร้าน ชีวิตไทย และ ร้านอื่นๆ



แต่สนนราคาร้านอาหารไทยบางร้านนั้นแพงมากเลยค่ะ ที่ไปทานเป็นร้านบาร์บีคิวของพี่คนไทยท่าหนึ่งบังเอิญเห็นร้านของพี่เนื่องจากอยู่ใกล้ที่พัก วันที่เข้าไปทานวันแรกเป็นวันที่เขาเปิดให้บริการวันแรกเสียด้วย อาหารถูกมากกว่าร้านอาหารอื่นหลายร้าน และอร่อย ถูกสุขลักษณะอนามัยเสียด้วย เพราะ เราย่างอาหารเอง ต้มอาหารเอง เป็นอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ มีของหวานไทยๆเสียด้วย ขอเชียร์หน่อยเพราะราคาไม่แพง พนักงาน และเจ้าของร้าน น่ารักค่ะ
หากมีโอกาส ลองแวะไปอุดหนุนนะคะ ชื่อร้าน King BBQ อยู่ข้างหน้า Pasea Hotel ค่ะ


นอกจากนี้มีร้าน Marpolor ซึ่งเป็นภัตตาคารญี่ปุ่นแต่มีอาหารฝรั่งขายด้วย สนนราคาตำกว่าที่อื่นมาก พิซซ่าจานเล็ก ราคา 1.25 ดอลล่าร์ อาหารจานเดียวมีตั้งแต่เมนูละ 1 ดอลล่าร์ สำหรับเราชอบไปเพราะสะอาด มีอาหารเด็กๆทานได้ มีมันฝรั่งทอด ไก่ทอด รสดีเสียด้วย ที่สำคัญ ร้านนี้ทำงานร่วมกับหน่วยงานของญี่ปุ่น NGO ซึ่งนำเงินส่วนหนึ่งที่ขายได้ไปช่วยคนจน คนพิกาลในเขมรค่ะ ในร้านจะมีรูปผู้พิการใบหน้ายิ้มแย้ม มีรถเข็น ขาเทียม ราวจะป่าวร้องว่า ข้าฯพร้อมที่จะสู้ชีวิตต่อไป ติดอยู่ที่ผนัง

แหล่งท่องเที่ยว

ที่น่าดูน่าชมคือปราสาทหินนครวัด นครธม และปราสาท วัด อื่นๆ หากต้องการเข้าชมนั้นต้องไปซื้อบัตรที่ Checkpoint เปิด ขายบัตรตั้งแต่ 5.00 น. ถึง 18.00 น. จ่ายเป็นวัน วันละ 20 ดอล่าร์ หากเข้าชมสามวันจ่าย 40 ดอล่าร์ หากต้องการแบบ หนึ่งอาทิตย์ก็ 60 ดอลล่าร์ แต่ขอบอกหน่อยนะคะ หากให้คุ้มต้องอย่างน้อยสามวันค่ะ เราซื้อตัว สามวัน บอกตรงๆ หากรู้ว่าความอลังการณ์ของปราสาทหลายแห่งประทับใจแบนี้ คงซื้อตั๋วล่วงหน้า แบบตั๋ว7 วัน และตั๋วนี้ คุณจะเข้าชมปราสาท วัดน้อยใหญ่รายเรียง รวมถึงวัดในเมืองบันทายศรี ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มอีกค่ะ



เมื่อจ่ายค่าตั๋วแล้วก็ต้องเข้าทำบัตรผ่านซึ่งจะต้องใช้รูป 1 ใบ เป็นขนาดรูปติดพาสปอร์ต เราเตรียมรูปไปเพราะสามีซึ่งไปกัมพูชามาสามครั้งแล้วบอกว่าเตรียมไปจะเร็วกว่า แต่เราเสียดายรูปเลยให้ทางเขมร เขาถ่าย บริการด้วยกล้องดิจิต้อลซึ่งไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ช่วงเราไปนักท่องเที่ยวไม่มาก ไม่ต้องคอยรูปนาน
บัตรผ่านหรือตั๋วเขาจะนำไปเคลือบพลาสติก เก๋ดี เป็นที่ระลึกจากนครวัด นครธม ด้วยค่ะ ในบัตรเขาจะประทับไว้ว่าใช้ได้กี่วัน หากใครจะโกงต้องระวังหน่อย

ก่อนเข้าไปชมปราสาทนครวัดควรเตรียมรองเท้าที่ใส่เดินได้สะดวก ปีนป่ายได้สบายๆไปด้วยนะคะ เขาห้ามนำอาหารเข้าไปทาน แต่หากนำนำดื่มติดกระเป๋าเข้าไปก็ไม่มีใครว่าหรอกค่ะ อย่าลืมนำยาหม่อง ยาดม ยาดม ยาทากันยุงกัด ไปด้วยนะคะ


หากคุณต้องการมัคคุเทศก์

หากคุณต้องการมัคคุเทศก์ที่เมืองเสียมราฐ ต้องไปที่องค์การท่องเที่ยวของเขา Guide Asociation เขาจะมีไกด์พูดภาษาเก่งๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่นอังกฤษ ไทย ฝรั่งเศส เสปญ
ตอนแรกเราว่าจะจ้างไกด์ซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ แต่คิดอีกที ภาษาเยอรมันดีกว่าเพราะลูกๆ คุณปู่ คุณย่าซึ่งพาไปด้วยจะได้เข้าใจที่มาแห่งนครวัดมากขึ้น
ปรกติ มัคุเทศก์ภาคภาษาอังกฤษ จ้างเปนรายวัน 25 ดอล่าร์ แต่ ภาคภาษาเยอรมันนั้น 30 ถึง 35 ดอล่าร์อเมริกัน เนื่องจากผู้พูดภาษาเยอรมัน และสอนภาษาเยอรมันในกัมพูชานั้นมีน้อย

มัคุเทศก์ของเราชื่อคุณเมตตา เขาพูดภาษาไทยได้ด้วยนิดหน่อย เราคุยกันสนุกแลกเปลี่ยนความรู้กันไปในตัว

การเรียนมัคคุเทศก์ในประเทศกัมพูชานั้น ต้องเรียนเป็นหลักสูตร เป็นปีๆ เมตตาบอกเขาเรียนภาษาเยอรมันสามปี และต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ มีการฝึกงาน ซึ่งกว่าจะสอบผ่านได้ใบรับรองจากกรม ยากมาก


คนขับแทกซี่ของเราชื่อ คุณคิม เขาพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก เสริมว่าเขาได้เรียนจนเกือบจบหลักสูตร แต่ไม่ผ่านเลยมาขับรถแทกซี่

เราจ้างไกด์วันเดียว แต่คุ้มมาก ที่เหลือ เอาตำราท่องเที่ยวไปด้วย อ่านเอง และ คิมช่วยเราได้มากเนื่องจากเขาเคยฝึกงาน เขายังจำได้คล่องว่าวัดไหนสร้างสมัยใด ใครเป็นผู้สร้าง น่าทึ่งมากเลย

หน้าปราสาทด้านในมีแหล่งขายของที่ระลึก และ เครื่องดื่ม ต้องต่อรองราคานะคะ เราซื้อมะพร้าวแช่เย็น 2 ใบจ่ายไป 1 ดอลล่าร์ หากไม่ต่อต้องจ่าย 1ดอลล่าร์ต่อ 1 ลูก

มีหนังสือน่าอ่านขายด้วยค่ะ เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับเขมรในยุคเมืองแตกบ้าง พลพตบ้าง บางเล่มเห็นที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯราคาแพง ไปที่นั่นจะถูกกว่า แต่ต้องต่อราคานะคะ บางทีเขาให้เด็กขายคนซื้อใจอ่อนจ่ายแพงก็มี


แนะนำหน่อยค่ะ เรื่องห้องน้ำ ห้องท่า นั้นค่อนข้างจะหาได้ลำบากหน่อย ทางที่ดี หากเข้าไปรับประทานอาหารที่ไหนก็ควรชำระกิจที่นั่นให้เรียบร้อยค่ะ เพราะ เวลาเข้าไปในวัดแล้ว เกิดปวดเข้ามาจะยุ่ง มีสุขาค่ะ แต่อยู่ใกล้ๆทางเข้า ตอนแรก ข้างในวัด ไม่เห็นมีเลย ต้องหาที่ไม่มีคนพลุกพล่านเอา เรามีเด็กไปด้วย เหนื่อย เพราะต้องพาวิ่งเข้าป่าปลดทุกข์ขนานเบาบ่อย

ปราสาทนครวัด

ถูกค้นพบโดยนาย Henri Mouhot ชาวฝรั่งเศส ในปี คศ. 1860
นาย Adolf Bastian ชาวเยอรมันได้ค้นพบในปี 1863 ว่า ศิลาจารึกที่พบในนครวัดนั้นเป็นภาษาสันสกฤต และได้พบอีกด้วยว่านครวัดถูกสร้างโดยตามความเชื่อในศาสนาฮินดู



ปราสาทนครวัด สร้างโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในตอนต้นศตวรษที่ 12 ใช้เวลาในการก่อสร้างราว 37 ปี ซึ่งนักโบราณคดีชาวต่างประเทศหลายท่านเชื่อว่า พระองค์ทรงสร้างปราสาทขึ้นมาเพื่อทรงใช้เป็นพระสุสานหลังจากท่านสิ้นพระชนม์แล้ว
สร้างโดยยึดแบบเทวสถานในศาสนาฮินดู ด้านหน้าปราสาทจะมีบึงน้ำใหญ่ซึ่งตามความเชื่อตามศาสนาฮินดูนึ้นเป็นบึงน้ำอัมฤติซึ่งไหลมาจากเขาพระสุเมรุ ปราสาทนครวัดต่างจากเทวสถานฮินดูอื่นๆ เนื่องจากหันหน้าไปทางทิศตะวันตกในขณะที่ปราสาทฮินดูส่วนใหญ่จะสร้างให้หันหน้าเข้าสู่ทิศตะวันออก


ปราสาทนครวัดนั้นสร้างด้วยหิน เนื่องจากชาวเขมรสมัยนั้น การสร้างเทวสถานต้องใช้วัสดุซึ่งอยู่คู่โลกาได้นาน ซึ่งสมัยนั้นวัสดุที่หาได้ก็คือ หิน มีการใช้ช้างเป็นพาหนะลากหินมาใช้ในการก่อสร้างปราสาท

การที่รอบนครวัดมีบึงใหญ่ล้อมนั้นจำลองมาตาม ความเชื่อของศาสนาฮินดูในเรื่องสุริยจักรวาล บึงนำคือสัญลักษณ์ของมหาสมุทร (บางแหล่งกล่าวว่าเป็นบึงนำอัมฤติซึ่งไหลมาจากเขาพระสุเมรุ)
ส่วนระเบียงหินประวัติศาสตร์ที่เชื่อมกันเรียงรายนั้นในนครวัดนั้นคือสัญญลักษณ์ของเทือกเขาพระสุเมรุ ส่วนปราสาทนั้นคือที่สิงสถิตย์ของเหล่าทวยเทพ



มัคคุเทศก์ชาวเขมรผู้เชี่ยวชาญภาษาเยอรมันแนะนำให้เราชมภาพหินสลักจากซ้ายไปขวา

ลองดูตามแผนผังนะคะ จะได้ไม่งง

เมื่อเดินเข้าไปชมปราสาท ต้องเดินข้ามสะพานซึ่งยาวราวๆ150 เมตร และผ่านเข้าป้อมปราสาท ด้านขวา และด้านซ้าย( ด้านขวาจะมีรปปั้นพระวิษณุ 8 กร แต่ไร้เศียร เนื่องจากทางกรมศิลป์ของเขมรนำไปเก็บป้องกันขโมย ด้านหน้ามีพระวิษุณุ 10 กร จะมีคนยื่นธูปเทียนให้ และ เมื่อเรารับและเผลอจุดต้องจ่ายเงินด้วยค่ะ ( เอ ทางที่ดี คราวหน้าต้องพกธูปเทียน ไฟแช๊คไปด้วย ทุ่นเงินหน่อย เพราะ พระพุทธรูป และเทวรูปเยอะเหลือเกินหากต้องจ่ายทุกที่หมดตัวตรงนั้นเลย )
รอบปราสาทจะมีรูปสลักหินของอัปสรา เรียงราย บางองค์ส่วนที่เป็นถรรค์มันเลี่ยม มัคคุเทศก์บอกเนื่องจากคนชอบไปลูบๆคลำๆ เขาเลยห้ามจับ แต่ละที่จะมีผ้ดูแลรักษาปราสาทใส่เสื้อสีเทาฟ้าเป็นจำนวนมากคอยคุมอยู่



เมื่อผ่านปราสาทนี้มาได้ก็จะมีทางเดินกว้างทอดสู่ปราสาททั้งห้าที่งดงาม ระเบียงทางเดินนี้เขาทำเปนรูปพญานาค (เขมรเรียก นาคา )บางส่วนผุพังเรียงรายอยู่ตามทางเดิน ระหว่างทางขึ้นระเบียงจะมีเทวรูปเทพตามความเชื่อของศาสนาฮินดู และ พระพุทธรูป ของศาสนาพุทธ เรียงราย บางองค์ไร้เศียรเนื่องจากถูกลอบตัดนำไปขาย มัคคุเทศก์บอกหากเดินไปที่สุดปลายระเบียงและตะโกนอกมาดังๆจะมีเสียงสะท้อนให้ได้ยินด้วย
และจะมีบันไดพาเราขึ้นไปยังชั้นที่สองมีหมู่ปราสาท ห้าปราสาทเรียงรายอยู่ ระหว่างหม่ประสาทนี้จะมีระเบียงหินเชื่อม ในระเบียงนี้จะมีรูปสลักนางอับสรามากมาย มัคุเทศก์บอกมีผู้นับได้ 1600นาง และบอกด้วยว่าแต่ละนางจะมีอะไรต่างๆกันไป เช่นมงกุฏประดับเศียร ผ้านุ่ง (เราสังเกตุดูก็ใช่ แต่ไม่ได้เปรียบเทียบกันจนครบทุกนางนะคะ )
หากจะขึ้นไปบนปราสาทประธานต้องปีนป่ายบันไดชันๆขั้นเล็กๆ บางที่ผุพัง ขึ้นไป ดีที่เขามีราวเหล็กให้เกาะ ตอนขึ้นเราไม่เคยมีปัญหาเลย แต่ตอนลงใจหวิวทุกที ตอนขึ้นคิดไปว่าดีนะ ได้ไต่เขาพระสุเมรุ มัคคุเทศก์เราไม่ยอมไต่ด้วย เรากับลูกๆอายุ 9 ปี และ 5 ปี มาเที่ยวเขมรเที่ยวนี้ ไต่ที่สูง ปีนบันไดคุมจริงๆ บางวัดบางปราสาทชันกว่าที่นครวัดมาก

ภาพหินจำหลักในระเบียงประวัติาสตร์แห่งนครวัด
มัคุเทศก์แนะนำให้ดูจากซ้ายมือเรียงไป

2 a การยกทัพยาตราทำสงครามระหว่าง ฝ่ายเทพ และ ฝ่ายมาร ซึ่งมาจาก มหากาพย์ภารตะ ทางซ้ายมือเป็นกองทัพของฝ่ายอธรรม ทางขวามือเป็นกองทัพของฝ่ายธรรม มาทำสงครามกันตรงกลางแผ่นหินสลัก และตรงนี้จะเห็นแม่ทัพฝ่ายอธรรมถูกศรเสียบอก

2 b การแห่พยุหยาตราของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กลับคืนสู่นครวัด

2 c ด้านขวามือของระเบียงประวัติศาสตร์ด้านใต้มีรูปสลักหินแบ่งเป็นสามคาบ
คาบนเป็นภาพสลักแสดงให้เห็นสรวงสวรค์

ตรงกลางเป็นเมืองมนุษย์

คาบล่างเป็นเมืองนรก แสดงกลุ่มคนซึ่งไปนรก และได้รับการตัดสินโทษจากพยายมราช ( Yama)

2 d การกวนเกษียรสมุทร
เหล่าเทวดา และอสูรได้ร่วมกันทำพิธีกวนเกษียรสมุทร เพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำอัมฤติ เทวดาจับพญานาคส่วนหาง เหล่าอสูรจับส่วนตัวและเศียร เพื่อทำพิธี (เคยอ่านเรื่องนี้สมัยเด็กๆ จำไม่ได้ว่าจากไหน เขาว่าพญานาคสำรอกพิษอกมาพ่นดนอสูร พวกอสูรเลยหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว



2 e พระวิษณูประทับทรงพญาครุฑ รบกับหมู่อสูร

2 f แสดงตำนาน แห่งเทพของศาสนาฮินดู

2 g ศึกกรุงลงกา
พระราม ทรงรบกับราวณะ ( ทศกรรณ์)ซึ่งมี 10เศียร 20 กรเพื่อชิงนางสีดาคืน



ปราสาทบายน

สร้างในต้นศตวรรษที่ 12 โดยสัณณิษฐานว่าถูกสร้าง หลังจากที่ปราสาทนครวัดถูกสร้างแล้วเสร็จ 100 ปี

พระเจ้าชัยวรมัณที่ 2 ได้ทรงเปลี่ยนแปลง ปราสาทบายนจากเทวาลัยในความเชื่อของศาสนาฮินดู เป็น วัดทางศาสนาพุทธ ปราสาทบายนมีสามฐาน แต่ละฐานมีความสูงต่างกัน มีปราสาททั้งหมด 54 ยอด แต่ละยอดมีพระพักต์ของพระโพธิสัตย์อวโลกิเตศวรสลักจากหิน ทุกๆ 4 ด้าน เปรียบว่าพระองค์ทรงหอดพระเนตรไปทุก 4 ทิศ
พระเจ้าชัยวรมัณทรงเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด และท่านเชื่อว่า พระองค์ท่านและพระโพธิสัตย์อวโลกิเตศวร คือองค์เดียวกัน
รอบระเบียงด้านนอกมีระเบียงประวัติศาสตร์หินจารึก แสดงวิถีชีวิตของชาวเขมรสมัยโบราณ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมัณที่ 7 และ พระเจ้ายโสวรมัณที่ 1



ที่น่าสนใจก็คือ มีรูปเล่าหินสลัก แห่งสงครามไทย เขมรในสมัยศัตวรรษที่ 13 สงครามเขมรกับพวกจาม

ระเบียงลานช้าง
มีความยาวราว 350 เมตร จัดให้มีพิธี ชนช้าง หรือ พิธีเฉลิมฉลองที่ลานนี้ มีรูปหินสลัก เป็นรูปช้าง และ ที่ฐานมีรูปครุฑ และ นาค



ลานกษัตริย์โรคเรื้อน

ชาวเขมรเชื่อว่าลานนี้สร้างเพื่อเป็นที่ระลึกแห่งพระเจ้ายโสวรมัณ ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงด้วยโรคเรื้อน รอบๆลานมีภาพหินสลักของพระเจ้าชัยวรมัณทรงดาบพาดเฉียง และมีนางสนมกำนัลนั่งข้างพระองค์รายเรียงสวมสร้อยไข่มุก ที่ลานข้างบน มีรูปปั้นพญายมราชนั่งอยู่ สวยงามมากค่ะ

วัดตาพรหม
สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมัณเพื่อพระราชมารดาของพระองค์ เป็นวัดทางพุทธศาสนาเนื่องจากพระองค์ทรงรับความเชื่อในทางพุทธศาสนาไปเผยแพร่ในเขมรสมัยนั้น

ที่วัดตาพรหมมีหมู่ ปราสาทไม่ใหญ่โตนักหลายยอด ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน รอบหมู่ปราสาทเป็น กำแพงศิลาแลง ที่น่าทึ่งคือต้นไทร( Ficus gibose)ที่สูงใหญ่มหึมา ทอดรากจากยอดปราสาทย้อยห้อยลงดิน และรากไทรมหึมาที่ชอนไชไปในระเบียงคด รอบๆปราสาทมีแมกไม้หนา สูง เขียวขจี
เท่าที่อ่านๆมา นักโบราณคดี ลงความเห็นพ้องว่า บูรณะได้ไม่มากเพราะเสี่ยงมากกับการที่หินจะถล่มลง บางที่เขานำไม้แปขนาดใหญ่ บางที่เสริมโครงเหล็กเสียด้วย มาตรึงไม่ให้โครงวัดล่ม จะเดินตรงไหนก็ดูๆทางนะคะ
ที่ผนังในวัดมีรอยสลักหินเป็นภาษาสันสกฤตให้เห็น มัคคุเทศก์แปลให้เราฟังเป็นภาษาเยอรมันว่า คนสลักจารึกไว้ว่าในสมัยนั้นในวัดตาพรหมมีคณาพระภิกษุสูงศักดิ์ 18 รูป พระภิกษุ 2700 รูป นางอัปสรา 600 นาง และข้าราชบริพาร 1200 คน

ระหว่างเดินชมวัด ระวังนะคะ บางแห่งมีนก และค้างคาวบินผ่าน มีนักท่องเที่ยวบางคนได้อุจจาระค้างคาวจากวัดตาพรหมติดเสื้อไปเป็นที่ระลึกแบบไม่พึงประสงค์ด้วย

Sras Srang

ไม่ทราบว่าจะเขียนเป็นภาษาไทยอย่างไร หากให้เราเขียนคง สระ สร้าง
เป็นท่าน้ำทำจากหินชั้น มีหินสลักผุพังรูปนาคา และราชสีห์ มีบันไดทอดลงไปในสระขนาดใหญ่ยาว 700 เมตร กว้าง 30 เมตร
สร้างเพื่อเปนที่ลงสรงน้ำแห่งกษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์
ตรงกลางเป็นเกาะ เคยมีพระราชอาศย์เล็กๆทำด้วยไม้เชื่อว่าพระเจ้าชัยวรมัณที่ 7 ทรงประทับนั่งสมาธิที่นั่น

ตอนเราไปมีบึงบัวบานมากมาย มีเด็กๆตัวเล็กตัวน้อยวิ่งอ้อนให้ซื้อข้าวของ กำไลไม้สานเป็นลาย บางคนขายโปสการ์ด เราปฎิเสธไป เรื่อยๆ สงสารเด็กๆก็สงสาร แต่ทำอย่างไรได้หากใช้จ่ายไม่ระวัง เดี๋ยวไม่มีเงินกลับไปเที่ยวเมืองไทยต่อ

มองเด็กสองคนในบึงสระสร้าง เพลินๆ เด็ก ก็เดินมาถึงตัว เอาดอกบัวมาแจก ยายหนูเรารับมาชม แล้วดีใจ เราบอกให้ลูกเอาดอกบัวคืนเขา เด็กหญิงคนที่ให้ดอกบัว บอกเราว่าให้นะ ไม่เอาเงินหรอก เขาอยากจะให้เท่านั้น ดวงตาเศร้าๆคู่นั้นทำให้เรารับดอกไม้และคุยกับเขา เขาบอกเราว่าชื่อ โสคาณ อายุ 14 ปี เราตกใจมากเพราะเขาตัวเท่ายายหนูของเรา และยายหนูของเราอายุเพียง 9 ควบ โสคาณตัวเล็กมาก มีร่องรอยขาดอาหาร เราคิดว่าไม่แน่เขาอาจจะติดวัณโรคในกระดูกด้วยก็ได้ แบบที่เด็กเขมรเป็นกันโดยมากก็ได้ เห็นแล้วเศร้าใจ และทึ่งในน้ำใจเปี่ยมไมตรีของเขามาก

อีกวันต่อมาเราหาซื้อเสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องเขียน และให้คิมพาขับไปหาโสคาณ เอาของไปให้ โสคาณเล่นอยู่ในบึงเช่นเคย ขึ้นมาได้ดีใจใหญ่ ตอนนี้เราเลยมีเพื่อนทางจดหมายเพิ่มขึ้นอีกคน

พนมบาเค็ง

เป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวไปชมพระอาทิตย์ตกดิน เขาว่าสวยมากเชียวเมื่อแสงแดดสีทองฉายส่องปราสาทนครวัดและปราสาทอื่นๆที่รายเรียง
สองวันแรก ฝนตกเราไปดูกันไม่ได้ พอวันที่สามหลังจากออกจากปราสาทนครธมก็ตรงไปที่พนมบาเค็งกันเลย คิม ถามแบบเป็นห่วงว่าจะไปกันไหวหรือ เพราะเดินๆ ปีนป่ายกันมาทั้งวัน ลูกๆเราไม่บ่นเหนื่อย คงเป็นเพราะหลับในรถเป็นช่วงๆ เลยตกลงไปต่อ คิมชมว่าไม่เคยเห็นครอบครัวฝรั่งช่างเดินแบบนี้เลย ตั้งแต่ สามโมงเช้ายันหนึ่งทุ่ม เราบอก ไม่ได้เดินตลอดนะ มีบางช่วงได้นั่งในรถปรับอากาศของคิมเหมือนกัน คิมหัวเราะเห็นฟันขาวเชียว
คิมบอกความสูงของพนมบาเค็งนั้นราวๆ 67 เมตร แต่ทางขึ้นนั้นเป็นเขาลาด ไม่ราดยาง เดินลำบากหากไม่ระวัง หกล้มมีแผลถลอกแน่ คิมไม่ขึ้นด้วย ปรกติคิมจะช่วยดูลูกๆเราด้วย ช่วยจูงมือเดิน ปีนป่าย เขาเพิ่งมีลูกชายคนแรกวัย 6 เดือน เที่ยวนี้คิม ขอเฝ้ารถอยู่ที่ที่จอดรถ มีบริการนั่งช้างไปถึงปราสาทบนเขา ขาขึ้นคนละ 15 ดอลล่าร์ ขาลงถูกหน่อย 13 ดอลล่าร์
ส่วนพวกเราเลือกที่จะเดินเพราะแพงเหลือเกิน พาลูกไปขึ้นที่เชียงใหม่จะถูกกว่า
เมื่อขึ้นเขาพ้นก็เห็นปราสาท เที่ยวนี้ต้องปีนบันไดอีกหลายขั้นสูงชันทีเดียว เราทึ่งลูกๆวัยเก้าขวบ และห้าขวบมากที่ไม่บ่นกันเลย ร่วมเดิน ร่วมปีนกันมาทุกวัดเลย คงเป็นเพราะตอนอยู่เยอรมนีพวกเราเดินป่ากันบ่อย เขาเลยชินกัน
ที่นี่บันไดแต่ละขั้นนั้นแคบจริงๆต้องปีนแบบตะแคง ห้ามมองลงมาข้างล่างนะคะ เดี๋ยวใจหวิว เป็นลม จะหาว่าไม่บอก

เมื่อขึ้นมาถึงยอด ตะวันยังไม่เชิงพลบ ไม่ตกดิน ต้องคอยอีก ยี่สิบห้านาที ช่วงนี้ชมวิวสวยๆจากยอดปราสาทเต็มที่ หลังจากนั้นฝนเริ่มตั้งเค้า ตอนนี้เราไม่เสี่ยงกันแล้ว ไม่ดูแล้วตะวันตกดินที่พนมบาเค็ง หาทางพาลูกลงเขาดีกว่า สามีเราเคยมาสำรวจที่นี่สองครั้งแล้วบอกปีนลงปราสาทแล้วให้ดูทางที่ช้างเดินลงเขาให้เลือกทางนั้นจะได้ไม่ต้องเดินลงเขาทางเดิมที่ชันและฝนตนจะลื่นอันตราย
ได้ผล ทางที่เดินแกมวิ่งเป็นทางลัดไม่ชันเลย เวลาช้างเดินสวนเราก็ยังมีทางเดินแอบเลี่ยงได้ นักท่องเที่ยวหลายคนถามว่าทางนี้ลงเขาไปลานข้างล่างได้แน่นะ เมื่อสามีบอกว่าได้เขาก็แห่มากันใหญ่ หันหลังไปดูที่ปราสาทอีกที นักท่องเที่ยวหลายคนกำลังปีนบันไดลงมาอย่างโกลาหลทีเดียว

เป็นประสบการณ์ที่สนุกแกมเครียด และเหนื่อยค่ะ ถึงรถโดยปลอดภัยไม่เปียก เมื่อรถออกประมาณ 5 นาทีแล้ว ฝนเริ่มตกแรงมาก นึกห่วงนักท่องเที่ยวข้างบนนั้น กลัวว่าจะมีคนลงไม่ทันเหมือนกัน เวลาฝนตก การปีนป่ายบันไดหินนั้นคงจะเป็นไปได้ยากเย็นแน่นอน ยิ่งถ้ามืดด้วยแล้วคงยุ่งใหญ่ คราวหน้าทางที่ดีนำไฟฉายเล็กๆติดไปด้วยคงจะดี เวลาฝนใกล้ตกวันนั้น อยู่ๆ ก็มืดฟ้ามัวดินจริงๆค่ะ ระหว่างทางเห็นฝูงลิงวิ่งหลบฝนเหมือนกัน ลูกๆดูไปหัวเราะไป


บันทายศรี ( Banteay Srei)




ห่างจากนครวัดไปราวๆ 21 กม. ต้องเพิ่มค่าว่าจ้างอีก 10 ดอลล่าร์ รวมเป็น 35 ดอลล่าร์ในวันนั้น ระหว่างทางที่ไปได้เห็นบ้านเรือน ทุ่งนา บางแห่งเขาไม่มีไฟฟ้าใช้
ตามทางมีแผงแตงโม กล้วยน้ำว้า อ้อย ขายรายเรียง
วัดนี้สร้างขึ้นในพ.ศ. 1510 สมัยราเชนทรวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่างพ.ศ.1487-1511) โดยพราหมณ์ “ยัชญวราหะ”ปุโรหิตย์โดยได้รับพระโองการจากพระเจ้าอยู่หัวสมัยนั้น เป็นศาสนสถานแบบพราหมณ์ที่บูชาพระศิวะ

ถูกค้นพบเมื่อปี 1914 โดยนายทหารชาวฝรั่งเศสนาม Marec โดยบังเอิญ
เป็นวัดที่ไม่ต้องปีนป่าย ขึ้นไปดู ชม หรือ นมัสการ มีรูปสลักหินสวยงามให้ดูค่ะ


นอกจากนี้เรายังได้ไปดู ไปชม ไปปีนป่าย นมัสการ วัดอื่นๆรอบๆ เป็นสิบๆจนจำจะไม่ได้แล้วเมื่อมาดูรูปว่าวัดอะไรเป็นวัดอะไร

บึงทะเลสาป ( Ton le sap)
เป็นทะเลสาปน้ำจืดขาดใหญ่ ในเดือนมีนาคม ถึงกรกฏาคมระดับนำจะลดลง และในเดือนตุลาคมระดับนำจะเริ่มขึ้นสูง

คิมแท็กซี่พาเราขับออกไปยังด่านซื้อตั๋วชมทะเล ค่าตั๋ว เด็ก และผู้ใหญ่ราคาเท่ากัน คนละ 10 ดอลล่าร์อเมริกัน ทางที่ไปด่านขายตั๋ว และไป ทอนเลซัป หรือบึงทะเลสาปนี่ ลุ่มๆดอนๆเหลือเกิน คิม คนขับรถบอกว่า ถนนนี่เลื่องชื่อว่าเป็น Dancing Road ใครนั่งรถไปจะหัวสั่นหัวคลอน เต้นไปเกือบตลอดทาง เพราะถนนไม่เรียบเลย
เมื่อไปถึงท่าก็มีคนมารับเราไปลงเรือกัน ที่ท่ามีหมู่บ้านรายเรืองปลูกเป็นกระต๊อบใบจาก บางบ้านมีชานเรือนยื่นไปในท่าน้ำ มีเสาสูงให้เห็นเพราะเป็นช่วงน้ำลด

ตามชายฝั่งมีเรือนแพมากมาย เรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านเรือนแพ มีโรงเรียน แหล่งสุขาภิบาล โรงพยาบาล โบสถ์คริสตจักรตั้งอยู่บนแพ
เราอดแปลกใจไม่ได้ว่าระบบการระบายนำเขาจะเป็นแบบไหน ทางโรงพยาบาลระบายน้ำเสียลงในน้ำหรือไม่
น้ำขุ่นคลั่ก ระดับน้ำลดกว่า เรือโดยสารที่พาเราชมแพ จะผ่านหมู่บ้านชาวแพออกไปยังกลางทะเลสาปได้ ใจหายใจคว่ำกันใหญ่เพราะ บางช่วงทางแคบ เรือโดยสารสองลำสวนกัน บางทีกระทบกัน เรือโคลงเคลง นั่งจับกาบเรือกันแน่น

มีเด็กหลายคนเขานั่งกะละมังซักผ้าเอาไม้มาแจวกะละมังออกไปสู่ทะเลสาปโดยที่ไม่กลัวอะไรเลย เขาพายเข้ามาขอเงิน เราไม่ให้เพราะหากให้พวกเด็กๆจะทำตามกัน และทำบ่อยๆ หากเกิดอุบัติเหตุกะละมังล่ม ไม่รอดแน่ ว่ายไม่ถึงฝังอยู่แล้ว







พิพิฑธภัณฑ์แห่งสงคราม

ค่าเข้าชม คนละ ห้าดอลล่าร์ นักท่องเที่ยวคนอื่นบอกว่าไม่คุ้ม ไม่น่าไปดู แต่เราอยากดูนะ ไหนๆมาแล้ว ชายหนุ่มที่ออกมาต้อนรับ อายุราวยี่สิบเศษๆ พูดภาษาอังกฤษได้ไพเราะมาก หน้าตาคม แต่ไร้ แขน ลูกๆเรามองเขาแบบตลึง อ้ปากค้างต้องสะกิด เขาเล่าให้เราฟังว่าเขาสูญเสียแขนไปในวัยเด็กเนื่องจากแรงระเบิด

ไกด์ที่นำเราชม พวกรถถัง อาวุธยุทโธปกรณ์นั้น เป็นคนละ


สำนักนวดของผู้พิกาลทางตา
หากผ่านไปตามท้องถนน จะมีสำนักนวดหลายสำนัก เราไปนวดกับคนตาบอด มา ครึ่งชั่วโมง 3 ดอลล่าร์ ไม่ได้ปวดเมื่ออะไรหรอก แต่อยากไปหาประสบการณ์ดู เคยแต่นวดคนอื่น เพิ่งทราบว่า การถูกนวดนี่ก็เพลินดีเหมือนกัน เกิดมาเพิ่งจะถูกนวดก็ครั้งนี้นี่ละ สบายตัวดี และได้สนับสนุนผู้พิการให้มีรายได้ด้วย สามีเราไปติดๆกัน 5 คืนเลย เอาลูกสาวไปให้เขานวดด้วย สาวๆที่ตาบอดเข้ามาคุยกับยายหนู ลูบหน้าลูบหัวยายหนูหัวเราะคิกๆ สนุกกันดี

การเลี้ยงรวมญาติของเจ้าของเกสต์เฮ้าส์

เจ้าของเกสต์เฮ้าส์เขาเลี้ยงรวมญาติซึ่งนัดพบกันปีละครั้ง เขามีหมูหัน เนื้อวัวอบ เบียร์เลี้ยงด้วย เสียดายเราติดไปดูคอนเสิร์ทของนายแพทย์ Beat Richner เลยไม่ได้อยู่ร่วมทั้งๆที่เขาเชิญไว้


นายแพทย์นักดนตรีใจบุญ Dr. Beat Richner และคอนเสิร์ทของท่าน

นายแพทย์ เป็นชาวสวิสโดยกำเนิดใช้ชีวิตอยู่ในเสียมราฐ ตั้งแต่ยุคพลพตโจมตีรัฐบาล ท่านอยู่ที่นั่นได้ด้วยอุดมการณ์ มุ่งมั่นช่วยชีวิต รักษาผู้ป่วย ท่านได้จัดหาเงินสร้างโรงพยาบาลเด็ก และเล่นคอนเสิร์ทเก็บเงินบริจาคทีได้จาการเล่นเชลโล่มาใช้เป็นค่ายา ค่าอุปกรณ์ ต่างๆ เนื่องจากท่านรักษาเด็กๆโดยไม่คิดค่ารักษา โรงพยาบาลจึงอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค

ที่น่าสลดใจผู้ป่วยเด็กๆที่เป็นโรคไข้เลือดออก อัตรารอดน้อย ประเทศนี้ อยู่ได้ด้วยเงินจากนักท่องเที่ยว ช่วงที่ข่าวไข้หวัดนก ระบาด แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเลย คนที่นั่นลำบากมาก ท่านขอร้องให้ช่วยกันบริจาคโลหิตด้วย สำหรับเด็กๆ คนเขมรโดยมากจะติดเชื้อโรคตับอักเสบกัน ดังนั้นเลือดบริสุทธิ์ไร้เชื้อ จึงเป็นที่ต้องการของทางโรงพยาบาลมาก แต่หากใครไม่พร้อมจะบริจาคเป็นเงินก็ได้ค่ะ คุณหมอพูดถึงเด็กๆที่ต้องทรมาณทรกรรมด้วยโรคร้ายไปฉายสไลด์ไป บอกตรงๆนำตาเราไหล เช็ดน้ำตาอย่างไม่อายเลย
ลูกสาวเราเองน้ำตาซึมตามไปด้วย และบอกเราว่าเมื่อกลับไปเยอรมนีเมื่อไรจะเล่นไวโอลินข้างถนนเก็บเงินไปช่วยหมอรักษาเด็ก
ลองไปดูเว็บไซด์ของคุณหมอได้ที่ //www.beatocello.com
หากใครที่อยากช่วยตามกำลังทรัพย์ อย่ารีรอเลยค่ะ



โรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง เราเดินเข้าไปถ่ายรูป พวกคุณครูออกมาคุยด้วยความมีไมตรี ประทับใจมากค่ะ ครูพาไปดูห้องเรียนอีกด้วย


ระหว่างทางเดินไปดูตลาดเลียบริมนำ เดินเลาะถนนซอกเล็กซอกน้อยได้พบได้คุยกับสาวๆหนุ่ม ที่มาเรียนพิเศษภาษาอังกฤษที่เพิงมุงหลังคาใบจาก เรียกว่าเพิง จริงๆ มีฝาสามด้าน เขาคอยครูมาสอน เขาจ่ายเงินเดือนละ 3 ดอลล่าร์กันเพื่อที่จะได้เรียนภาษาเพิ่มเติม ในขณะที่โรงเรียนสอนภาษาในเมือง เก็บค่าสอนเดือนละ 6 ถึง 10 ดอลล่าร์ต่อเดือน มีเด็กๆตัวเล็กๆ หกเจ็ดขวบนั่งเรียนอยู่ด้วย

เจดีย์ Attiksmosan Pagoda บรรจุกระโหลกศีรษะ ของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงที่เขมรแดง ภายใต้การนำของพลพต เข้าครอบครองเขตุนี้ มีกระดานแผ่นป้าย แสดงรูปภาพของผู้ถูกทรมาณ และ หลายคนที่ตกเป็นเหยื่อ มีเด็กๆด้วย น่าอนาถใจมากค่ะ และข้างเจดีย์นี้มีโบสถ์ และ ที่พำนักของท่านพระครู เจ้าอาวาส Suy Vuth Ven
ท่านพูดไทยได้เก่ง พอๆกับภาษาอังกฤษ ท่านเคยไปเรียนักธรรม ที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ท่านสอนภาษาไทยให้แก่เด็กๆที่โรงเรียนด้วย
หากเพื่อนๆพี่ๆ น้อง ท่านใดสนใจอยากไปสอนติดต่อท่านได้ที่ Daruna Volunteer School, E-mail : darumahctr-99@yahoo.com

แต่ไม่มีค่าแรง ค่าชั่วโมงนะคะ เพราะเป็นโรงเรียนวิทยาทานไร้ทุนค่ะ

Les Artisans d´Angkor
หรืออาจเรียกว่า เป็นแหล่งเพาะช่างศิลป์ของเขมรก็ได้ ก่อตั้งโดยชาวฝรั่งเศส โดยนำพวกมีความสามารถทางการช่าง มาอบรม หลังจากหมดหน้าทำนา ว่างงาน เขาก็จะมาหารายได้ ที่นี่กัน ให้แท็กซี่ไปดูได้ค่ะ ไม่ต้องเสียค่าเข้าชม หากต้องการไกด์ ติดต่อได้ ให้สินนำใจตามมี



วันสุดท้ายที่เสียมราฐ ได้พบกลุ่มกรีนพีซ ( Green Peace) มาชวนคนร ณรงคใช้พลังานจากแสงแดด มีชาวญี่ปุ่น และมีคนไทยรวมอยู่ด้วย เสียดายลืมชื่อค่ะ เอารูปมาฝาก


จำลาด้วยอาลัย เขมรและไทยไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องร่วมโลกกัน

ไม่กี่วันที่อยู่ที่นั่นประทับใจมากเลย กับประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ที่ผูกพันสองชาติเราไว้ และประทับใจในความอลังการณ์ของนครวัดนครธม และวัด ปราสาทอื่นๆ
ขนบธรมเนียมที่คล้ายคลึง และภาษาที่ฟังคล้ายๆกัน นำใจ และรอยยิ้ม ชีวิตที่เรียบๆง่าย


หากจะเที่ยวเขมรให้สนุก ควรหาข้อมูลไปก่อนนะคะ อย่าได้ตั้งอคติไว้ก่อนว่าเขมรจะเห็นไทยเป็นศัตรู มิฉะนั้น เที่ยวไม่สนุกแน่ อย่าลืมนะคะ คนที่มีความศรีวิไล อิๆ civilized แล้วควรลืมอดีต ทำปัจจุบันให้ดี อดีตบางอย่าง หากก่อให้เกิดความไม่สงบสุขในสังคม เป็นภัยต่อชาติ ลืมได้ควรลืมเสีย

คนเขมรกว่าจะได้อยู่แบบนี้ ที่เห็นเขาต้องสูญเสียอะไรสังเวยลัทธิความเชื่อของเขมรแดงไปมาก หากคุณได้เห็น ได้ไป ตูแสลง ทุ่งลานทม คงจะเข้าใจว่าเราหมายความถึงอะไร

ค่ะ สันติ อย่างไรละคะ ไม่อยากให้โลกนี้มีสงครามเลย อย่าให้คนบริสุทธิ์ต้องสูญเสีย เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สิน หรือชีวิต





แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจในการเที่ยวเมืองเสียมเรียบ ไปหาดูได้ที่นี่นะคะ

//www.aaguidebook.com


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9470000069839



//www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E2917522/E2917522.htmlหนังสือนำเที่ยว Kambodcha ของ Andreas Neuhauser สำนักพิมพ์ Reise Know-How



Create Date : 14 กันยายน 2548
Last Update : 14 กันยายน 2548 21:02:02 น. 17 comments
Counter : 958 Pageviews.

 
ยังนำรูปมาให้ชมได้ไม่หมด ไม่ค่อยมีเวลาค่ะ ลงได้ น้อยตามเวลาที่มีมานั่งหน้คอมพ์ได้น้อย เดี๋ยวคงต้องทะยอยส่งรูปมาเป็นระยะๆ


โดย: อิตถี IP: 84.139.73.1 วันที่: 14 กันยายน 2548 เวลา:2:30:20 น.  

 
เป็นที่ๆอยากไปมากเลยล่ะค่ะ
ขอเข้ามาอ่านนำทางก่อนนะคะ


โดย: ธูปหอมเทียนสว่าง วันที่: 14 กันยายน 2548 เวลา:2:39:42 น.  

 
น่าไป ก่อนที่อาจะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบอีกก็ได้นะคะ เท่าๆที่คุยกับคนที่นั่น มีหลายคนไม่พอใจระบบการปกครองภายใต้การนำของ พณ ท่าน ฮุนเซน มากเหลือเกินค่ะ แต่ไม่ได้คาดการณ์ร้ายอะไร อิๆ


โดย: อิตถี IP: 84.139.125.34 วันที่: 14 กันยายน 2548 เวลา:3:20:33 น.  

 
หากไปมา อย่าลืมกลับมาแลกข้อมูลกันนะคะ เพราะคิดว่าจะไปอีกให้ได้ค่ะ


โดย: อิตถี IP: 84.139.125.34 วันที่: 14 กันยายน 2548 เวลา:3:22:09 น.  

 
แวะมาขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมที่บล็อกค่ะ ชอบบล็อกของคุณมากค่ะ เป็นคนหนึ่งที่บ้านอยู่ติดกับชายแดนกับพูชาแต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสนครวัดเลยค่ะ ได้อ่านเรื่องราวจากบล็อกของคุณแล้ว ได้ความรู้เยอะมากค่ะ

เคยได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับนครวัดจากพ่อเมื่อสมัยเด็ก ๆ แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้เห็นกับตาเลย คุณเจ้าของบล็อกโชคดีจริง ๆ เลยนะค่ะที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมนครวัดค่ะ ภาพประกอบสวยงามดูเป็นธรรมชาติมากเลยค่ะ ถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยว คงต้องรบกวนข้อมูลจากคุณเจ้าของบล็อกแน่นอนค่ะ เดี๋ยวจะแวะมาเยี่ยมบ่อย ๆ นะค่ะ


โดย: roslita วันที่: 9 พฤศจิกายน 2548 เวลา:13:11:35 น.  

 
อยากมีผิวขาวใสทั่วทั้งตัวภายใน 2 อาทิตย์
ด้วยกลูตาไธโอน 500 มก. เมลล์มาคุยกันนะ
Pobiiz_28@hotmail.com


โดย: 11 IP: 125.24.166.186 วันที่: 26 พฤษภาคม 2550 เวลา:2:18:26 น.  

 
คุณIt-ta-tee คะ ตอนนี้ดิฉันเป็นนักศึกษาได้ทำทริปท่องเที่ยวคะ ไปเขมรคะ และไปเที่ยวคล้ายๆคุณคะ ต้องการคำปรึกษาเป็นอย่างมากคะเพราะไม่เคยไปเขมรเลยคะจะติดต่อคุณได้อย่างไร เรื่องไกด์-คนขับรถ คะขอคำแนะนำด้วยนะคะ E-mail: kwangee8@hotmail.com เป็นตัวจบด้วยคะต้องการได้ข้อมูลให้มากที่สุดคะข้อรบกวนช่วยติดต่อกลับด้วยนะคะ ขอเวลารบกวนด้วยจริงๆ เพระไม่รู้จักใครที่รู้เรื่องเขมรเลยคะ


โดย: กวาง IP: 124.157.237.209 วันที่: 10 มิถุนายน 2550 เวลา:16:39:26 น.  

 
ผมก็กะลังว่าจะไปเที่ยวพอดีครับ ขอบคุณมากครับที่ให้ข้อมูล เด๋วสงกรานต์ผมจะไปไม่รู้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเยอะไหมครับ
แล้วถ้าผมเดินทางโดยรถส่วนตัวเข้าทางศีรษะเกษ จะใช้เวลาในการเดินทางนานไหมครับ อยากได้ข้อมูลเพิ่มน่ะครับ ขอบคุณมากครับ เด๋วกลับมาจะมาเล่าให้ฟังเหมือนกันนะครับ


โดย: wasin IP: 58.9.172.243 วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:18:24:22 น.  

 
น่าสนใจดีนะคะ วันหลังจะไปมั่ง แต่แม่จะให้ไปรึป่าวก็ไม่รู้


โดย: นักปราชญ์ IP: 61.19.166.148 วันที่: 18 เมษายน 2551 เวลา:14:28:56 น.  

 
นัดกับเพื่อนไว้หลายเดือนก่อน ว่าจะไปเขมรกัน เดือนตุลาคม ที่จะถึง แต่วันนี้มีเรื่องกันอีกแล้ว ระหว่างไทยกับกัมพูชา เลยต้องงดไปก่อน

เราไปมาแล้วเมื่อต้นปี ยังไม่จุใจค่ะ ตั้งใจว่าคราวนี้จะไปอยู่สักสิบวัน จะได้รู้จักเขมรให้ลึกซึ้ง ชอบเมืองนี้มากๆค่ะ


โดย: หินทิเบตก้อนสุดท้าย IP: 203.170.208.171 วันที่: 5 สิงหาคม 2551 เวลา:22:14:26 น.  

 
สวยงามมากอยากไปเห็น


โดย: พอลพต IP: 117.47.74.121 วันที่: 6 ตุลาคม 2551 เวลา:13:56:03 น.  

 
อยากไปมั่งจัง


โดย: wuddy IP: 118.175.78.101 วันที่: 19 มีนาคม 2552 เวลา:14:47:19 น.  

 
คนเขมรนี่เขาเกรงเราจริงๆนะ เขาถึงต้องใช้ชื่อจังหวัดว่า"เสียมเรียบ" ถึงอย่างไรเสียมก็ยังอยู่ในชื่อนั้นแหละไม่ได้เรียบหายไปใหนหรอก...จริงใหม


โดย: siamdheva IP: 125.27.80.126 วันที่: 25 พฤษภาคม 2552 เวลา:11:46:06 น.  

 
ได้เห็นแค่รูปก็อยากไปสุดๆแล้วคร้าบ


โดย: คนไม่มีชื่อ IP: 115.67.246.211 วันที่: 19 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:11:17 น.  

 
ได้เห็นแค่รูปก็อยากไปสุดๆแล้วคร้าบ


โดย: คนไม่มีชื่อ IP: 115.67.246.211 วันที่: 19 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:12:06 น.  

 
อยากไปบ้างจังเลย


โดย: คนไม่มีชื่อ IP: 115.67.246.211 วันที่: 19 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:24:30 น.  

 
บ้านผมอยู่ ศรีสะเกษ แต่ผมก็ไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวนครวัดสักที


โดย: โอ้ IP: 202.149.25.235 วันที่: 12 กันยายน 2552 เวลา:11:28:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

It-ta-tee
Location :
กรุงเทพฯ Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






บันทึก และ มุมมองแห่งชีวิต ของ เรา ผู้เป็น แม่และพยาบาล

ในโลกนี้มีอะไรสำคัญกว่าที่ต้องทำมากว่าการนั่งหน้าจอ PC เช่น ขึ้นเวร เวลาขาดคน ถึงได้หยุดก็เถิด หรือ การเล่นและสอนลูกๆ บางครั้งได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้คนไทยด้วยกัน
เท่านี้ เราก็มีความสุขมาก
เราเขียนบล๊อกเมื่อมีเวลา หากเพื่อนๆแวะมา comment เราขอบคุณค่ะ
และจะตามไปเยือน เมื่อ โอกาส อำนวยค่ะ
ขอบคุณสำหรับมิตรภาพที่มอบให้

กระทู้ล่าสุด



Thai-deutsches Familienleben




free counter
widget
Friends' blogs
[Add It-ta-tee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.