Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
13 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
นักการเมืองควรเป็นสินทรัพย์ของพรรคการเมืองหรือไม่?


The Politician - 16"x20", mixed media 2005 form //www.zenvironments.com


รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์



ไมเคิล โอเวน (Michael Owen) ดาราฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ย้ายจากสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลไปสู่สโมสรฟุตบอลรีลแมดริดแห่งสเปน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการย้ายสโมสรครั้งนี้ล้วนมีความสุขความพอใจ

ไมเคิล โอเวน พอใจที่ได้รับเงินเดือนค่าจ้างและผลตอบแทนอื่นๆ เพิ่มขึ้น

สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพอใจที่มีรายได้จากการขายโอเวนอันนำไปใช้ปรับปรุงทีมได้ มิฉะนั้นหากปล่อยให้เนิ่นนานออกไปจนสัญญาการจ้างโอเวนสิ้นอายุ สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลจะมิได้รับรายได้ใดๆ จากการที่โอเวนย้ายออกจากลิเวอร์พูลเลย

สโมสรฟุตบอลรีลแมดริดพอใจที่ได้โอเวนมาเสริมศักยภาพในการแข่งขันของทีม แม้ว่าการซื้อโอเวนจะมีสภาวะความเสี่ยงที่โอเวนจะไม่สามารถทำประตูได้มากดังที่คาดหวัง หรือมีอาการบาดเจ็บรุนแรงในอนาคตก็ตาม แต่รีลแมดริดต้องประเมินว่าคุ้มกับความเสี่ยง จึงตัดสินใจซื้อโอเวนดังที่ปรากฏ

บัดนี้ โอเวนกลายเป็น "สินทรัพย์" ของรีลแมดริดมูลค่าตลาดของโอเวน จะปรากฏในบัญชีสโมสรฟุตบอลรีลแมดริดในข้างสินทรัพย์ ในขณะเดียวกัน "สินทรัพย์" ของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลต้องลดลง อันเนื่องจากการที่โอเวนย้ายออกจากลิเวอร์พูล

สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลมิได้กล่าวหาสโมสรฟุตบอลรีลแมดริดว่า แอบมา ดูด นักฟุตบอลของตน เพราะการซื้อขายกระทำผ่านกลไกตลาด และบรรลุข้อตกลงเมื่อทั้งสามฝ่าย อันประกอบด้วยตัวนักฟุตบอล สโมสรต้นสังกัด และสโมสรผู้ซื้อ มีความพอใจร่วมกัน

การย้ายสโมสรของนักฟุตบอลอาชีพเป็นพฤติกรรมปกติ การย้ายพรรคของนักการเมืองก็เป็นพฤติกรรมปกติ แต่เสียงประณามนักการเมืองที่ย้ายพรรคดังขรม ในขณะที่เสียงประณามนักฟุตบอลที่ย้ายสโมสรกลับบางเบา แฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลไม่พอใจที่สโมสรขายไมเคิล โอเวน แต่ถ้าอันดับของสโมสรใน Premier League ดีขึ้น ความไม่พอใจอาจดับสูญไปได้ แฟนบางกลุ่มอาจไม่พอใจที่โอเวนเห็นแก่เงิน ทั้งๆ ที่โอเวนเติบโตจากการสร้างของลิเวอร์พูล ทุกวันนี้เมื่ออาร์เซนัลต้องไปแข่งในสนาม White Hart Lane โซล แคมป์เบล จะถูกแฟนสโมสรท็อตแนม ฮอต สเปอร์โห่เสมอ ในฐานที่ไม่ภักดีและทรยศต่อสโมสร

ตลาดนักการเมืองเหมือนกับตลาดนักฟุตบอลในข้อที่เป็นตลาดแรงงาน ต่างกันเฉพาะพัฒนาการของตลาดเท่านั้น โดยที่ตลาดนักฟุตบอล "พัฒนา" ไปไกลกว่าตลาดนักการเมืองหลายช่วงก้าว

ตลาดนักฟุตบอลเป็นตลาดค่อนข้างเปิด อย่างน้อยที่สุด มีการซื้อขายนักฟุตบอลอย่างเปิดเผย ตลาดนักฟุตบอล "ก้าวหน้า" ไปถึงกับมีธุรกิจนายหน้าซื้อขายนักฟุตบอล นักฟุตบอลอาชีพระดับดาราล้วนต้องใช้บริการธุรกิจประเภทนี้ กติกาการซื้อขายนักฟุตบอลค่อนข้างชัดเจนและโปร่งใส การว่าจ้างนักฟุตบอลอาชีพเป็นการว่าจ้างโดยมีการทำสัญญา (Contract Employment) สัญญาการว่าจ้างนักฟุตบอลจะระบุพันธะของแต่ละฝ่าย และกำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีการละเมิดสัญญาอย่างชัดเจน เงินเดือนค่าจ้างและผลตอบแทนอื่น รวมตลอดจนสวัสดิการที่นักฟุตบอลได้รับล้วนต้องระบุในสัญญา นักฟุตบอลเป็นสินทรัพย์ของสโมสรจวบจนสัญญาสิ้นอายุ

ตลาดนักการเมืองมิได้ "ก้าวหน้า" เท่าตลาดนักฟุตบอล แม้พลังทุนนิยมจะเติบใหญ่ในสังคมประชาธิปไตยตะวันตก แต่ลักษณะทุนนิยมของตลาดนักการเมืองมีน้อยกว่าตลาดนักฟุตบอล ส่วนสำคัญเป็นเพราะการเมืองในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งอุดมการณ์ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Partisan Politics โดยชัดเจน การย้ายพรรคจึงเกิดขึ้นน้อยมาก หากมีความขัดแย้งในหมู่ผู้นำ ก็เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ภายในพรรค หากการต่อสู้ถึงขั้นแตกหัก อาจต้องมีการแยกพรรค

ด้วยเหตุที่การย้ายพรรคของนักการเมืองมีน้อย ธุรกิจนายหน้าซื้อขายนักการเมืองไม่ก่อเกิด การสังกัดพรรคเป็นไปโดยสมัครใจและด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำสัญญาการจ้างงาน นักการเมืองในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกยึดติดกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดเพียงพรรคเดียว จวบจนสิ้นอายุขัยทางการเมือง

พรรคการเมืองในเมืองไทยมิได้มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน และมิได้มีเมนูนโยบายที่แตกต่างกันในขั้นรากฐานเสนอขายแก่ประชาชน บางพรรคไม่มีเมนูนโยบายเลย การรวมตัวเป็นพรรคการเมืองมิได้แตกต่างจากการรวมกลุ่มการเมืองที่หวังประโยชน์จากธุรกิจการเมือง

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นักการเมืองย่อมมิอาจย้ายพรรคได้ หากไม่มีพรรคการเมืองที่ต้องการซื้อ การซื้อขายนักการเมืองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีผู้เสนอขาย (นักการเมือง) กับผู้เสนอซื้อ (พรรคการเมือง) โดยที่ราคาที่ซื้อขายขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของทั้งสองฝ่าย

การซื้อขายนักการเมืองเริ่มปรากฏในสังคมการเมืองไทยในยุคที่กลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยเรืองอำนาจ เมื่อกลุ่มขุนศึกจำเป็นต้องเล่นเกมการเลือกตั้ง และต้องจัดตั้งพรรคการเมือง การดูดนักการเมืองด้วยสิ่งจูงใจต่างๆ จึงเกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยพรรคเสรีมนังคศิลาในปี 2500 พรรคชาติสังคมและพรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พรรคสหประชาไทยของกลุ่มถนอม-ประภาส และพรรคสามัคคีธรรมของคณะรสช. ในการเลือกตั้งปี 2535

ในยุคสมัยที่กลุ่มยียาธิปไตยเรืองอำนาจ การดูดนักการเมืองโดยจ่ายค่าตัวเป็นตัวเงินและ/หรือตำแหน่งทางการเมืองยังดำเนินสืบต่อมา บางพรรคเมื่อสิ้นสายป่าน นักการเมืองในสังกัดพากันหน่ายหนี ดังเช่นพรรคปวงชนชาวไทยของพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และพรรคความหวังใหม่ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคที่มีแรงดูดนักการเมืองสูงย่อมต้องเป็นพรรคที่ยึดกุมอำนาจรัฐได้ พรรคการเมืองที่มีแรงดูดเหล่านี้ล้วนเคยมีประวัติการซื้อนักการเมืองทั้งสิ้น รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

การย้ายพรรค หรืออีกนัยหนึ่งการซื้อนักการเมือง กลายเป็นวัตรปฏิบัติเมื่อใกล้ฤดูการเลือกตั้ง พรรคที่สูญเสียนักการเมืองมักจะก่นประณามพรรคผู้ซื้อ และนักการเมืองที่ย้ายพรรคมักถูกก่นประณามว่าขายตัวและไม่มีอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่ไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดมีอุดมการณ์ที่ชัดเจน ทุกพรรคมีอุดมการณ์ร่วมกันในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการยึดกุมอำนาจรัฐ แม้พรรคที่ยึดกุมอำนาจรัฐได้จะมีแรงดูดนักการเมืองมากกว่าพรรคอื่นๆ และการย้ายพรรคส่วนใหญ่มุ่งสู่พรรคประเภทนี้ แต่การย้ายไปสู่พรรคที่มีชะตากรรมเป็นพรรคฝ่ายค้านปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง

สัญญาการซื้อขายนักการเมืองเป็นสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ (Incomplete Contract) นอกจากไม่มีลายลักษณ์อักษรแล้ว ยังมิได้ระบุพันธะที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องปฏิบัติ ในประการสำคัญมิได้ระบุบทลงโทษหรือเงินชดเชยความเสียหายที่ต้องจ่ายให้แก่คู่สัญญาในยามที่มีการละเมิดสัญญา ในยามที่พรรคผู้ซื้อ "เบี้ยว" สัญญา นักการเมืองผู้ย้ายพรรคมิอาจเรียกร้องเงินชดเชยได้ เพราะเกรงการลงประชาทัณฑ์จากประชาสังคมที่พร้อมจะแสดงอาการสมน้ำหน้า ในอีกด้านหนึ่ง พรรคผู้ซื้ออาจเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ หากนักการเมืองที่ซื้อมาแพ้การเลือกตั้ง หรือเมื่อชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ลงมติสนับสนุนนโยบายและกฎหมายของพรรคในรัฐสภา หรือตีจากพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยที่พรรคมิอาจเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายได้

สัญญาการซื้อขายนักฟุตบอลมีลักษณะตรงกันข้ามกับการซื้อขายนักการเมือง เพราะเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ (Complete Contract) นอกจากจะเป็นสัญญาที่มีลายลักษณ์อักษรแล้ว ยังระบุพันธะที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติและระบุบทลงโทษ หรือเงินชดเชยความเสียหาย ที่ต้องจ่ายในยามที่มีการละเมิดสัญญาอย่างชัดเจนอีกด้วย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรค เพราะมีมิจฉาทิฐิว่า ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคสามารถลอยตัวเพื่อขายตัวได้ บัดนี้ กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่า การบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคมิอาจป้องปรามการขายตัวหรือการซื้อขายนักการเมืองได้ ความเชื่อที่ว่า การบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคจะเกื้อกูลการพัฒนาการเมืองระบบพรรค นับเป็นมิจฉาทิฐิโดยแท้ การเมืองระบบพรรคมิอาจพัฒนาได้เพียงด้วยการกำหนดกฎกติกาในรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองจะมีอุดมการณ์หรือไม่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการเมือง ซึ่งต้องอาศัยเวลายาวนานในการพัฒนา รัฐธรรมนูญมิอาจ "สั่ง" ให้พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ได้

ในเมื่อการย้ายพรรค และการซื้อขายนักการเมืองเป็นพฤติกรรมที่อยู่คู่สังคมการเมืองไทยอีกตราบนานเท่านาน สมควรที่จะเพ่งพินิจการปฏิรูปตลาดนักการเมือง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปการเมืองด้วย

จุดประสงค์หลักของการปฏิรูปตลาดนักการเมืองอยู่ที่การเปลี่ยนสัญญาการซื้อขายนักการเมืองให้เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ ยุทธวิธีอยู่ที่การแปลงนักการเมืองให้เป็นสินทรัพย์ (Assetization) พรรคการเมืองต้นสังกัดเป็นเจ้าของนักการเมือง นักการเมืองจะเป็นสินทรัพย์ของพรรคการเมืองก็ต่อเมื่อมีสัญญาการจ้างงานที่ชัดแจ้ง (Explicit Contract) พรรคการเมืองต้องจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ แก่นักการเมืองในสังกัดตามแต่จะตกลง ในขณะเดียวกัน นักการเมืองได้ประโยชน์จากทุนยี่ห้อและฐานการเมืองของพรรคต้นสังกัด การย้ายพรรคนอกจากจะมีข้อตกลงระหว่างนักการเมืองกับพรรคที่ต้องการซื้อแล้ว ยังต้องมีข้อตกลงระหว่างพรรคเจ้าของนักการเมืองกับพรรคที่ต้องการซื้อด้วย ข้อตกลงทั้งปวงต้องเป็นสัญญาที่ชัดแจ้ง ด้วยวิธีการเช่นนี้ สัญญาการซื้อขายนักการเมืองจะเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ เพราะมีการระบุพันธะของคู่สัญญาและบทลงโทษหรือเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสัญญาโดยชัดแจ้ง

การแปลงนักการเมืองให้เป็นสินทรัพย์พรรคการเมืองช่วยให้การจัดสรรมูลค่าเพิ่มทางการเมืองมีความเป็นธรรมมากขึ้น ในระบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มูลค่าเพิ่มแบ่งปันกันระหว่างพรรคผู้ซื้อกับนักการเมืองผู้ย้ายพรรค พรรคต้นสังกัดเดิมหาได้ประโยชน์ใดๆ ไม่ ทั้งๆ ที่นักการเมืองผู้นั้นมีมูลค่าเพิ่มทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากการใช้ทุนยี่ห้อของพรรคต้นสังกัดเดิม โดยที่บางคนเป็น "เด็กสร้าง" ของพรรคต้นสังกัดเดิมด้วยซ้ำ แต่กลับถูกพรรคการเมืองที่มีอำนาจซื้อฉกตัวไป โดยที่มิได้รับผลตอบแทน ภายใต้ระบบใหม่ที่แปลงนักการเมืองเป็นสินทรัพย์ พรรคที่เป็นเจ้าของนักการเมืองได้รับส่วนแบ่งมูลค่าเพิ่มทางการเมืองอันเกิดจากการย้ายพรรคของนักการเมืองในสังกัดด้วย

ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการแปลงนักการเมืองเป็นสินทรัพย์พรรคการเมือง ก็คือ การซื้อขายนักการเมืองจะเป็นไปโดยโปร่งใส และการบัญชีพรรคการเมืองต้องเผชิญกับการตรวจสอบมากกว่าเดิม ในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประชาสังคมมิอาจทราบได้ว่า พรรคการเมืองซื้อนักการเมืองในราคาเท่าไร ในประการสำคัญ มิอาจทราบได้ว่า นำเงินจากแหล่งใดไปใช้ซื้อนักการเมือง เป็นเงินจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่ เมื่อนักการเมืองกลายเป็นสินทรัพย์พรรคการเมือง พรรคจักต้องลงรายการสินทรัพย์ให้ถูกต้อง เมื่อมีการลงรายการสินทรัพย์ในงบดุล ก็ต้องมีการลงรายการรายจ่ายในการซื้อสินทรัพย์ (นักการเมือง) ในงบการเงินให้สอดรับกันด้วย

ข้อมูลการซื้อขายนักการเมืองที่ปรากฏในงบดุลและงบการเงินของพรรคการเมือง จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการตัดสินใจว่าสมควรเลือกนักการเมืองที่มีการย้ายพรรคด้วยความถี่สูงหรือไม่

ข้อคัดค้านประการเดียวที่มีต่อข้อเสนอข้างต้นนี้ ก็คือการแปลงนักการเมืองเป็นสินทรัพย์มีผลเท่ากับการแปลงนักการเมืองให้เป็นสินค้า สังคมการเมืองในอุดมคติมิควรส่งเสริมให้นักการเมืองเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาด ข้อโต้แย้งข้อคัดค้านดังกล่าวนี้มีอยู่ว่า นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา นักการเมืองทำตัวเป็นสินค้าโดยสมัครใจ และนับวันลักษณะความเป็นสินค้าของนักการเมืองมีแต่จะมากขึ้น โดยมิอาจสกัดกั้นได้ ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ สมควรที่จะพิจารณา "พัฒนา" ตลาดนักการเมืองเพื่อให้กลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ตลาดนักการเมืองมีความโปร่งใสมากขึ้น แทนที่จะเป็นตลาดที่มีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ (Quasi-Market) ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


ที่มา จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง วันที่ 18 สิงหาคม 2547


Create Date : 13 ตุลาคม 2550
Last Update : 13 ตุลาคม 2550 12:03:21 น. 1 comments
Counter : 1386 Pageviews.

 
นักการเมืองในฐานะสินค้า
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นิตยสารผู้จัดการ ( กันยายน 2547) //www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=24546

--------------------------------------------------------------------------------

นักการเมืองกลายเป็นสินค้าในตลาดการเมืองไทยนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 เมื่อกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยจำต้องเล่นเกมเลือกตั้ง และพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดูดนักการเมืองไปใช้งาน

ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย เมื่อขุนศึกไทยจำต้องเล่นเกมการเลือกตั้ง การกว้านซื้อนักการเมืองเข้าคอกก่อเกิดเป็นระลอก ดังจะเห็นได้จากกรณีพรรคชาติสังคมและพรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อต้นทศวรรษ 2500 พรรคสหประชาไทยของกลุ่มถนอม-ประภาส เมื่อต้นทศวรรษ 2510 และพรรค สามัคคีธรรมของคณะ รสช. เมื่อกลางทศวรรษ 2530

การที่นักการเมืองย้ายเข้าคอกของ กลุ่มขุนศึกที่ทรงอำนาจทางการเมือง แสดง ให้เห็นว่า อำนาจทางการเมืองเป็นแรงดูดนักการเมืองที่ทรงพลัง เพราะอำนาจทางการเมืองเป็นที่มาของทรัพย์ศฤงคาร

ภายใต้ระบอบยียาธิปไตย นักการ เมืองยังคงย้ายเข้าคอกของพรรคการเมือง ที่ทรงพลังทางการเมือง พรรคการเมืองขนาดใหญ่ในอดีตล้วนมีประสบการณ์ในการดูดนักการเมือง แต่การดูดนักการเมือง มิได้กระทำอย่างโจ่งแจ้ง เพราะตระหนักดีว่า ประชาสังคมไทยต่อต้านนักการเมือง ขายตัว ในยามที่พรรคประชาธิปัตย์ 'ดูด' นักการเมือง พรรคประชาธิปัตย์กระทำด้วยอาการกระมิดกระเมี้ยน ตรงกันข้ามกับพรรคไทยรักไทยที่ 'ดูด' อย่างเปิดเผย แม้จะไม่โปร่งใส เพราะมิได้แจ้งราคาที่จ่าย

พรรคไทยรักไทยเติบใหญ่เป็นอภิมหาพรรค ด้วยวิธีการที่วงการธุรกิจเรียกว่า M&A (Merger and Acquisition) เมื่อพรรคไทยรักไทยตั้งเป้าที่จะมีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร 400 คน ในการเลือกตั้งปี 2547 พรรคไทยรักไทยกระทำการ 'ดูด' และกว้านซื้อนักการเมืองเข้าคอกขนานใหญ่

เมื่อนักการเมืองในสังกัดพรรคต่างๆ ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย ผู้นำพรรคต้นสังกัดล้วนไม่พอใจ และมักจะเก็บอาการความ ไม่พอใจไม่อยู่ เมื่อ ส.ส.ในสังกัดพรรคประชา ธิปัตย์ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทยจำนวนมาก ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ต่างดาหน้าออกมาก่นประณามพรรคไทยรักไทยว่าเป็น 'ไอ้ตัวดูด' หลงลืมวีรกรรมของตนเองในอดีตอันรุ่งเรืองที่ 'ดูด' ส.ส.จากพรรคอื่นเฉกเช่นเดียวกัน

ผู้นำสังคมและคอลัมนิสต์จำนวนมาก ประณาม ส.ส.ที่ย้ายพรรคว่าขายตัว แท้ที่จริง แล้ว การย้ายพรรคเป็นพฤติกรรมของสัตว์เศรษฐกิจ ไม่ต่างจากการตัดสินใจย้ายบริษัทของพนักงาน หรือการตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน การตัดสินใจย้ายงาน หรือเปลี่ยนอาชีพจะเกิดขึ้นเมื่องานใหม่หรืออาชีพใหม่ให้ผลตอบแทนดีกว่างานเดิมหรืออาชีพเดิม ผลตอบแทนดังกล่าวนี้ครอบคลุมทั้งผลตอบแทนในรูปตัวเงิน (Pecuniary Returns) และผลตอบแทนที่มิใช่ตัวเงิน (Non-Pecuniary Returns)

ในทำนองเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ นักการเมืองย่อมต้องการย้ายจากพรรค ที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่พรรคที่ให้ผลตอบแทน สูง ผลตอบแทนดังกล่าวนี้มีองค์ประกอบอย่างน้อย 5 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ ค่าตัวที่ได้รับจากการย้ายพรรค เงินค่าตัวนี้มักจะจ่ายเป็นก้อน มีสภาพเสมือนหนึ่งรายจ่ายสำหรับ Goodwill หรือ 'ทุนยี่ห้อ' (Brand Name Capital)ของนักการเมือง 'ทุนยี่ห้อ' ต้องใช้เวลาสั่งสม นักการเมืองแต่ละคนมี 'ทุนยี่ห้อ' แตกต่างกัน นักการเมืองคนใดสามารถอำนวยการให้ประชาชนมีภักดีต่อ 'ทุนยี่ห้อ' (Brand Loyalty) นักการเมืองคนนั้นย่อมมีโอกาสชนะการเลือก ตั้งสูง ค่าตัวของนักการเมืองจะสูงต่ำมากน้อย เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับฐาน 'ทุนยี่ห้อ' และความภักดีของประชาชนในเขตการเลือกตั้ง

ส่วนที่สอง ได้แก่ เงินช่วยเหลือการใช้จ่ายในการรณรงค์ทางการเมือง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองย้ายพรรค ก็คือ พรรคต้นสังกัดเดิมกระสุนหมด ดังนั้น จึงต้องแสวงหาพรรคการเมืองที่สามารถฝากอนาคตได้

ส่วนที่สาม ได้แก่ เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประจำเดือน การจ่าย 'เงินเดือน' ให้ ส.ส. มิได้กระทำกันทุกพรรค โดยทั่วไปมีเฉพาะพรรคที่มีฐานะดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรครัฐบาลที่สามารถดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการกำหนดและบริหารนโยบายเศรษฐกิจ

ส่วนที่สี่ ได้แก่ ตำแหน่งทางการเมือง นับตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงเลขานุการรัฐมนตรี นักการเมืองย่อมหวังตำแหน่งทางการเมือง เพราะนอกจากจะเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลและได้รับเงินประจำตำแหน่งแล้ว หากตำแหน่งนั้นมีอำนาจที่ให้คุณให้โทษได้ ย่อมมีโอกาสดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากการใช้อำนาจได้

ส่วนที่ห้า ได้แก่ คะแนนนิยมทางการ เมืองที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจาก Goodwill หรือทุนยี่ห้อของพรรคที่ต้องการย้ายเข้า พรรคดังกล่าวอาจประสบความสำเร็จในการผลิตนโยบายสนองความต้องการของประชาชน และสามารถสะสมทุนยี่ห้อจนมั่นคง โดย ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อ พรรคเพิ่มขึ้นตามลำดับ การย้าย เข้าพรรคไทยรักไทยขนานใหญ่ในปี 2547 นับเป็นอุทาหรณ์ของความข้อนี้

แต่การย้ายพรรคมิได้มีแต่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้เท่านั้น ยังมีต้นทุน ที่ต้องสูญเสียอีกด้วย ต้นทุนที่ประจักษ์แจ้งก็คือ บรรดาผลตอบแทนที่ได้รับจากพรรคเดิม ย่อมต้องอันตรธานไปเมื่อมีการย้ายพรรค ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่สามารถได้ประโยชน์จากฐานเสียงและเครือข่ายทางการเมืองของพรรคเดิมอีกต่อไป ต้นทุนที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ การต้องทนรับการประณามว่าเป็นนักการเมืองขายตัว หรือไร้อุดมการณ์ การย้ายพรรคเป็น 'อาชญากรรม' ทางการเมืองหรือไม่ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ แต่นักการเมืองที่ย้ายพรรคย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของตนเองในสังคมการเมือง เพราะแสดงให้เห็นถึงการขาดความภักดีต่อพรรคและการขาดความสำนึกในการร่วมเป็นร่วมตายกับพวกพ้อง ผู้นำพรรคใหม่ที่เข้าสังกัด ก็ต้องระแวดระวังว่า หากพรรคอยู่ในภาวะ ตกต่ำ คนเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะย้ายออกจากพรรคในอนาคตเพราะมีประวัติปรากฏมาแล้วว่า ไม่มีความภักดีต่อพรรค หากแต่ย้ายพรรคตามสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ และสิ่งจูงใจทางการเมือง

ในขณะที่ต้นทุนที่ต้องแบกรับจากการย้ายพรรคปรากฏอย่างชัดแจ้ง ผลตอบ แทนที่คาดว่าจะได้มีสภาวะความไม่แน่นอน อย่างสูง ผลตอบแทนที่ได้รับทันที ก็คือ การใช้ยี่ห้อของพรรคใหม่ในการหาเสียง หากพรรคใหม่เป็นประชานิยม ผู้ย้ายพรรค ย่อมได้รับประโยชน์จากกระแสประชานิยม ของพรรคด้วย ผลตอบแทนอีกประเภทหนึ่งที่อาจได้รับทันที ก็คือ ค่าตัวในการย้ายพรรค แต่ผลตอบแทนประเภทนี้จะได้รับก็ต่อเมื่อมีการยื่นหมูยื่นแมว ส่วนผลตอบแทนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนการใช้จ่ายในการหาเสียง เงินอุดหนุนประจำเดือน และตำแหน่งทางการเมือง เป็นผลตอบแทนที่มีความไม่แน่นอนอย่างสูง พรรคใหม่ที่ย้ายเข้าไปสังกัดอาจรักษาสัญญาบางเรื่อง แต่อาจมิได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาเต็มตามข้อตกลง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ

นักการเมืองที่มีเหตุมีผล ย่อมต้องประเมินประโยชน์และต้นทุนอันเกิดจากการย้ายพรรค ดังที่พรรณนาข้างต้นนี้ การย้ายพรรคจะเกิดขึ้น หากผลการประเมินปรากฏว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการย้ายพรรคมีมากกว่าต้นทุนที่ต้องเสียไป ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่พรรคที่ต้องการย้ายเข้า 'เบี้ยว' สัญญาด้วย

การซื้อนักการเมืองของพรรคการเมือง ไทย แม้ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้ สะท้อนความเป็นจริงที่ว่า ยี่ห้อและนโยบายพรรคการเมืองไม่เพียงพอแก่การยึดเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จำเป็นต้องอาศัยยี่ห้อและฐานการเมืองของนักการเมืองด้วย

พรรคการเมืองที่ต้องการซื้อนักการเมืองต้องทำแบบฝึกหัด Cost-Benefit Analysis ไม่แตกต่างจากนักการเมืองที่ต้องการย้ายพรรค

พรรคการเมืองย่อมต้องการนักการเมืองที่มีทุนยี่ห้ออันมั่นคง นักการเมืองแต่ละคนย่อมมีทุนยี่ห้อแตกต่างกัน

ทุนยี่ห้อทางการเมืองมิอาจก่อเกิดโดยฉับพลัน หากแต่ต้องมีการสะสมระยะยาว เพราะต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายทางการเมืองในเขตการเลือกตั้ง รวมทั้งการกระชับสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ นักการเมืองผู้เป็นที่ต้องการของพรรคการเมืองมักเป็นผู้ที่ประชาชนในเขตการเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อ นักการเมืองจะประสบความสำเร็จในการสร้างความภักดีของประชาชนในเขตการเลือกตั้งที่มีต่อยี่ห้อของตน ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า สามารถส่งมอบ 'บริการความสุข' แก่ประชาชนในเขตการเลือกตั้งของตน นักการเมืองประเภทนี้ที่อภิมหาพรรค อย่างไทยรักไทยต้องการซื้อ เพราะยี่ห้อของพรรคเครดิตของพรรคและนโยบายของพรรค ไม่เพียงพอแก่การเจาะเขตการเลือกตั้งเหล่านี้ได้

พรรคการเมืองจะตัดสินใจซื้อนักการเมืองก็ต่อเมื่อผลการประเมินปรากฏว่า นักการเมืองที่ต้องการซื้อช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มทาง การเมือง (Political Value-Added) ของพรรค และช่วยให้พรรคยึดพื้นที่ในรัฐสภาได้มากขึ้น

ราคานักการเมืองที่พรรคการเมืองต้องจ่ายขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองระหว่างพรรคการเมืองที่ต้องการซื้อกับนักการเมืองที่ต้องการย้ายพรรค

นักการเมืองที่ไม่มีทุนยี่ห้อหรือมีทุนยี่ห้อน้อย ย่อมหวาดหวั่นต่อกระแสประชานิยม ของพรรคไทยรักไทย หากมิได้ยี่ห้อไทยรักไทยช่วยเสริม อาจต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง นักการเมืองกลุ่มนี้ย่อมต้องตะกายเข้าพรรคไทยรักไทย

นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทุนยี่ห้อ และประชาชนในเขตการเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อของตนอย่างมั่นคง อาจไม่มีความจำเป็นในการย้ายพรรค นักการเมืองกลุ่มนี้ที่ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทยก็ด้วยเหตุผลของสัตว์เศรษฐกิจโดยแท้ เพราะ ไม่ต้องการเหนื่อยยากในการรณรงค์สู้กับพรรคไทยรักไทย มิหนำซ้ำยังสามารถแปลงทุนยี่ห้อให้เป็นเงินสดในราคาสูงอีกด้วย

กระบวนการแปลงนักการเมืองให้เป็นสินค้า ซึ่งเริ่มต้นในปลายทศวรรษ 2490 บัดนี้มีพลวัตอันสูงยิ่ง



โดย: Darksingha วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:12:05:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.