Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
13 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
อัมพาตด้านนโยบายการเงินของประเทศร่ำรวยและไอเอ็มเอฟ

สฤณี อาชวานันทกุล





ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงบทความของ รากุราม ราจัน เรื่อง “พัฒนาการด้านการเงินทำให้โลกเสี่ยงกว่าเดิมหรือไม่ ?” (Has Financial Development Made the World Riskier ?) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ผู้เล่นฝ่ายต่างๆ ในระบบการเงินโลกจะมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่โครงสร้างผลตอบแทนและตัววัดที่ใช้ในการคำนวณผลตอบแทนของผู้จัดการการลงทุนแทบทุกประเภท โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนรวมซึ่งเป็น “ผู้จัดสรรทุน” สมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลมากกว่าผู้จัดการธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม กลับส่งผลให้ “...พฤติกรรมของผู้จัดการการลงทุนมีความคล้ายคลึงกันมากกว่าที่ทฤษฎีพยากรณ์ไว้ ระบบการเงินอิงกับวัฏจักรธุรกิจ (pro-cyclicality) มากกว่าในอดีต และทำให้เราไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเงินขั้นรุนแรงได้ทั้งหมด”

ต่อคำถามที่ว่า ในเมื่อระบบการเงินโลกยังมีความเปราะบางและความเสี่ยงสูงขนาดนี้ เหตุใดจึงยังไม่มีประเทศใดหรือองค์กรโลกบาลใดรับเป็น “เจ้าภาพ” ในการร่วมกันคิดหาทางออกจากภาวะล่อแหลมต่างๆ ในปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่าบทความเรื่อง “หนทางข้างหน้าของนโยบายการเงินโลก” (The Way Forward for Global Financial Policy) ที่เขียนโดย เคนเน็ธ โรกอฟ (Kenneth Rogoff) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งตีพิมพ์ ใน Project Syndicate เมื่อเดือนเมษายน 2550 (//www.project-syndicate.org/ commentary/rogoff29/English) ได้สรุปลักษณะสำคัญๆ ของ “อัมพาตของนโยบายการเงิน” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหานี้ไว้อย่างดีเยี่ยม จึงขอแปลและเรียบเรียงลงคอลัมน์ในวันนี้

...กระแสโลกาภิวัตน์ในภาคการเงินกำลังโหมกระพือไปทั่วโลก แต่ในขณะที่รัฐมนตรีคลังและ ผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศพัฒนาแล้วมาประชุมกันที่ไอเอ็มเอฟทุกครึ่งปี อัมพาตทางนโยบายก็ยังคงดำเนินต่อไป ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครตกลงกันได้ว่าจะจัดการกับปัญหาใหญ่ๆ อย่างไร ตัวอย่างของปัญหาเหล่านั้นได้แก่ การขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาที่เปราะบางขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาระบบการเงินอ่อนแอในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ

อัมพาตทางนโยบายที่ผมพูดถึงนี้เกิดขึ้นในสามระดับด้วยกัน กล่าวคือ ในระดับแรก ประเทศร่ำรวยไม่เต็มใจอย่างยิ่งที่จะตกลงใช้นโยบายร่วมใดๆ ก็ตามที่อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายในประเทศ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่แย่ที่สุดในแง่นี้ รัฐมนตรีคลังอเมริกันชอบเทศน์ให้เพื่อนชาวต่างชาติฟังว่าระบบเศรษฐกิจของอเมริกานั้นสมบูรณ์แบบอย่างไร และเหตุใดประเทศอื่นๆ จึงควรเอาอย่างอเมริกา แต่ตรรกะนี้เริ่มฟังไม่ค่อยขึ้นเมื่อเราดูปัญหาที่กำลังปะทุขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกา เงินจำนวนกว่า 900,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่อเมริกาจะต้องกู้จากต่างประเทศภายในปีนี้ (ค.ศ. 2007) คงไม่ใช่สัญญาณบ่งบอกความแข็งแกร่งของอเมริกาหรือความอ่อนแอของประเทศอื่นแน่ๆ

เป็นเรื่องยากที่เราจะสรุปความคิดเห็นอันแตกแยกภายในทวีปยุโรป ฝรั่งเศสมองโลกาภิวัตน์อย่างระแวง ราวกับว่ากระแสนี้เป็นกองกำลังของผู้บุกรุก ในขณะที่อังกฤษกลับมีมุมมองตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม ชาวยุโรปโดยมากดูเหมือนจะเห็นพ้องต้องกันว่าสังคมของพวกเขาผลิตวิถีชีวิตที่ดีที่สุด แม้ว่าระบบเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าอเมริกา นั่นเป็นสาเหตุที่รัฐมนตรีคลังในยุโรปจะไม่ยอมรับง่ายๆ ว่าพวกเขาจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายบางด้านกันขนานใหญ่ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากโลกาภิวัตน์ในภาคการเงิน

ประเทศญี่ปุ่นพยายามอยู่เฉยๆ ซึ่งนั่นก็เป็นปกติวิสัยของพวกเขา ในฐานะ “ผู้ชนะ” รายใหญ่จากกระแสโลกาภิวัตน์ ญี่ปุ่นพยายามหลีกเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการค้าและการเงินของพวกเข า ซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบายที่ “ปิดกั้น” (protectionist) กว่านโยบายของประเทศร่ำรวยอื่นๆ และแน่นอนว่าพวกเขาย่อมไม่อยากถูกกดดันให้ขอโทษประชาคมโลกที่ตุนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 800,000 เหรียญสหรัฐเอาไว้ เพื่อต้านทานการแข็งค่าของเงินเยน

ประเทศกำลังพัฒนาก็มีส่วนผิดเหมือ นกัน ผู้ดำเนินนโยบายจำนวนมากยังปักใจเชื่อผิดๆ ว่า การเปิดประเทศให้ทุนไหลเข้าออกจากต่างประเทศโดยเสรีเป็นตัวการหลักของวิกฤตการเงินในทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นมุมมองที่ถูกนักวิชาการหัวเอียงซ้ายบางคนทำให้ฟังดูน่าเชื่อถือกว่า ความเป็นจริง [ความเห็นเพิ่มเติมของผู้เขียน: เพื่อความเป็นธรรมต่อนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยปฏิเสธนโยบายเปิดเสรีทางการเงินอย่างสิ้นเชิง โรกอฟน่าจะขยายความต่อด้วยว่า นักคิดหัวเอียงซ้ายหลายคนไม่ได้มองว่านโยบายเปิดเสรีภาคการเงินเป็นตัวการหลักของวิกฤตการเงิน หากมองว่า “การดำเนินนโยบายเปิดเสรีภาคการเงินในภาวะที่โครงสร้างเชิงสถาบันยังอ่อนแอ” ต่างหาก ที่เป็นความเสี่ยงซึ่งเอื้อต่อการเกิดวิกฤตการเงิน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาควรเร่งพัฒนาโครงสร้างเชิงสถาบัน เช่น กลไกการกำกับดูแลของภาครัฐ และประสิทธิภาพของกลไกบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคาร ให้มีความแข็งแกร่งก่อนที่จะเปิดตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ ในแง่นี้ ประสบการณ์ของประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของกรณีดังกล่าว เพราะความอ่อนแอของโครงสร้างสถาบันในไทยก่อนเกิดวิกฤตการเงินปี 2540 ทั้งในภาครัฐ (การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์หละหลวมเกินไป และนโยบายตรึงอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เกิดภาวะ capital ease หรือ “กู้ง่าย” และทำให้ภาคเอกชน “เคยตัว” เพราะสามารถกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ในอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าเงินกู้บาท โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน) และภาคเอกชน (ธนาคารพาณิชย์และบริษัทไฟแนนซ์หลายแห่งปล่อยกู้แบบไม่รัดกุมเท่าที่ควร และบริษัทจำนวนมากก็นำเงินกู้ไป “จับเสือมือเปล่า” โดยไม่ได้เพิ่มผลผลิตที่แท้จริง เช่น เก็งกำไรที่ดิน หรือเล่นหุ้น) เป็นสาเหตุสำคัญที่นำประเทศไปสู่วิกฤตการเงิน]

อันที่จริง ถ้ารัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนายอมให้ค่าเงินของตัวเองลอยตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แทนที่จะใช้นโยบายตรึงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเข้มงวด พวกเขาจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตส่วนใหญ่ หรืออย่างน้อยก็บรรเทาให้มันรุนแรงน้อยกว่าเดิมมาก แต่ในความเป็นจริง พวกเขากลับใช้ “อันตรายของโลกาภิวัตน์ภาคการเงิน” เป็นข้ออ้างที่จะปกป้องระบบการเงินภายในประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยการผูกขาดต่อไป การที่ระบบการเงินที่ล้าหลังไม่สามารถจัดสรรการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ คือสาเหตุใหญ่ที่ผลักดันให้ทุนไหลออกจากประเทศยากจนและไหลเข้าสู่อเมริกา

ท้ายที่สุด ไอเอ็มเอฟ ในฐานะองค์กรโลกบาลซึ่งมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโลก จะต้องแสดงความเป็นผู้นำให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในเมื่อตอนนี้ไอเอ็มเอฟเป็นองค์กรเดียวที่มีความชอบธรรมทั้งในแง่การเมือง และในแง่ความรู้ความเชี่ยวชาญ ที่จะหาทางออกที่ทุกประเทศจะสามารถร่วมมือกันทำ เพื่อรับมือกับโลภาภิวัตน์ในภาคการเงิน

โชคร้ายที่ปัจจุบันไอเอ็มเอฟเองก็เป็นอัมพาตด้วยปัญหาภายในเกี่ยวกับธรรมาภิบาลขององค์กร และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ การไร้วิธีที่ดีที่จะคำนวณสัดส่วนสิทธิการออกเสียงของประเทศต่างๆ เสียใหม่ เมื่อระดับอิทธิพลของประเทศต่างๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดในประเด็นนี้คือการเพิ่มสัดส่วนสิทธิออกเสียงของทวีปเอเชีย

ประเทศร่ำรวยรู้ดีว่ามีชุดนโยบายหลักๆ ที่เราได้ยินจนชินเพียงไม่กี่ข้อสำหรับการจัดการกับความไม่สมดุลของดุลการค้า เช่น การเพิ่มวินัยทางการคลังของอเมริกา การเพิ่มขีดการพึ่งพาอุปทานในประเทศของยุโรปและเอเชีย และระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นกว่าเดิมในเอเชีย

แต่ตอนนี้เป็นเวลาที่เราจะต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาเร่งเปิดเสรีภาคการเงินให้เร็วขึ้น งานวิจัยส่วนใหญ่เสนอว่า ประเทศกำลังพัฒนาควรเปิดเสรีทางการค้าก่อนที่จะเปิดเสรีทางการเงิน ในขณะเดียวกันกับที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ และหลีกเลี่ยงนโยบายตรึงอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากกำลังดำเนินนโยบายไปในทิศทางนั้น แต่สิ่งที่เป็นตลกร้ายก็คือ ความทรงจำอันเลวร้ายเกี่ยวกับความพยายามที่เร่งด่วนเกินขนาดของไอเอ็มเอฟในการส่งเสริมให้ประเทศเหล่านี้เปิดเสรีตลาดทุน ยังเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีในปัจจุบัน ความพยายามในช่วงวิกฤตการเงินคุกรุ่นของไอเอ็มเอฟที่จะบรรจุ “นโยบายเปิดเสรีตลาดทุน” ลงในกฎบัตรขององค์กร กลายเป็นความล้มเหลวด้านประชาสัมพันธ์ แต่ตอนนี้คือเวลาที่ทุกฝ่ายควรจะหวนกลับมาทบทวนแนวคิดนี้กันใหม่ อย่างน้อยก็ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น ระบบการเงินที่อ่อนแอในประเทศกำลังพัฒนาคืออุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอย่างมีสมดุล และระบบการเงินที่อ่อนแอก็เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความไม่สมดุลของดุลการค้าโลกด้วย

การผลักดันให้โลกเปิดเสรีตลาดทุนมากขึ้นหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินกลางทศวรรษ 1990 จะเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันมากมาย แต่แก่นของไอเดียนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งในตอนนั้นและในปัจจุบัน ในเมื่อเรายังไม่มีกลไกจัดสรรทุนที่ดีกว่าตลาด อัตราความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในศตวรรษนี้จะถดถอยลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ผู้ออกแบบนโยบายไม่สามารถหลีกหนีจากความจริงข้อนี้ไปได้ตลอดกาล

.......

ปัญหาเรื่องความเสี่ยงของระบบการเงินโลก ในปัจจุบันที่ราจันสรุปให้เห็นภาพ และปัญหาภาวะอัมพาตทางนโยบายการเงินของประเทศร่ำรวยและไอเอ็มเอฟที่โรกอฟอธิบายข้างต้นนั้น เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและยากต่อการคาดคะเนว่าผลกระทบจะเป็นเช่นไร เมื่อใดที่โลกประสบวิกฤตการเงินรอบใหม่ ผู้เขียนคิดว่า นักการเงินและนักธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นสูงมากในประสิทธิภาพของระบบตลาดการเงินหลายคน ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าตลาดการเงินนั้นทำงานอย่างไร พวกเขามักจะเข้าใจผิดว่าความผันผวนของตลาดล้วนเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นแต่นานๆ ครั้งเท่านั้น (exogenous shocks) แต่ในความเป็นจริง ตลาดการเงินปัจจุบันผันผวนบ่อยครั้งและค่อนข้างรุนแรงจนสามารถทำความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั้งระบบ โรกอฟเองถึงกับเคยกล่าวว่า “ในขณะที่เรายังไม่มีบทพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าการเปิดเสรีภาคการเงินนั้นเป็นประโยชน์ต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีข้อแม้ เราก็มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การเปิดเสรีภาคการเงินนั้น ทำให้หลายประเทศประสบความผันผวนมากกว่าเดิม”

นอกจากโรกอฟ ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายคนที่ย้ำเตือนให้เราระวังภัยจากระบบการเงินยุคโลกาภิวัตน์ เช่น เจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) เคยพูดว่า “ตลาดสินเชื่อโลกมีความเสี่ยงที่จะประสบกับวิกฤตที่พวกเขาเป็นผู้ก่อ ในแง่ที่ว่าถึงแม้เจ้าหนี้แต่ละรายอาจมีพฤติกรรมที่สมเหตุสมผล ผลลัพธ์โดยรวมที่เกิดขึ้นในตลาดก็อาจนำไปสู่การไหลกลับของทุนที่มีต้นทุนสูง รุนแรง เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และเกิดจากความตื่นกลัวเป็นหลัก”

โรเบิร์ต รูบิน (Robert Rubin) วาณิชธนกรชื่อดังและอดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีคลินตัน เคยกล่าววาทะน่าจำว่า “เมื่อใดที่เศรษฐกิจกำลังไปได้สวย ผู้คนก็ปรารถนาที่จะมีมากกว่าเดิม และเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น ไม่ช้าก็เร็วพวกเขาก็จะเริ่มละโมบโลภมาก และความละโมบนั้นเองก็จะนำเราไปสู่วิกฤตในที่สุด”

แม้กระทั่งลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส (Lawrence Summers) อดีตรัฐมนตรีคลังของอเมริกาสมัยคลินตันอีกคนหนึ่ง หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ “ฝ่ายขวา” ที่ทรงอิทธิพลที่สุด ยังกล่าวว่า “ถ้าปล่อยให้ตลาดทำงานด้วยตัวมันเอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเก็งกำไรมากเกินไป และความพยายามน้อยเกินไปที่พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ” ซัมเมอร์สยังกล่าวเสริมด้วยว่า “การเก็งกำไรระยะสั้นทำให้ตลาดมีเสถียรภาพน้อยลง”

ผู้เขียนหวังว่าทั ้งหมดที่กล่าวมานี้คงทำให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพในระดับหนึ่งว่า คำกล่าวทำนอง “ตลาดการเงินทำงานไม่สมบูรณ์แบบ” เป็นคำกล่าวที่ไม่ค่อยมีประโยชน์กับใครเท่าไรนัก สิ่งที่มีประโยชน์กว่าคือ การใช้ความพยายามที่จะวิเคราะห์และแจกแจงว่าโลกาภิวัตน์ในภาคการเงินมี “คุณ” และ “โทษ” อะไรบ้าง โดยคำนึงถึงบริบทด้านโครงสร้างเชิงสถาบัน (เช่น ประสิทธิภาพของกฎหมาย และประสิทธิภาพขององค์กรกำกับดูแล) ของแต่ละประเทศ ซึ่งย่อมมีพัฒนาการไม่เท่ากัน เป็นตัวตั้งที่ขาดไม่ได้ในการวิเคราะห์

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2550 เผยแพร่ต่อใน onopen.com



Create Date : 13 ตุลาคม 2550
Last Update : 13 ตุลาคม 2550 12:35:28 น. 2 comments
Counter : 1180 Pageviews.

 
ชอบบทความนี้มากเลยค่ะ ถ้าสนใจเรื่อง Depression economics ลองหาอ่าน
The Return of Depression economics, Paul Ormerod.
Globalization and its discontent, Joseph Stiglitz ดูนะคะ เป็นประโยชน์มาก


โดย: PPpIRCU วันที่: 28 ตุลาคม 2550 เวลา:5:00:07 น.  

 
ขอบคุณครุบคุณ PPpIRCU


โดย: Darksingha วันที่: 29 ตุลาคม 2550 เวลา:17:00:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.